fbpx

ข้อถกเถียงเรื่องสิทธิแต่งงานเพศเดียวกันในศาลสูงอเมริกา: ค้านอย่างไรไม่ไร้สมอง?

ประเด็นเรื่องสิทธิแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันเป็นประเด็นสาธารณะทั้งในไทยและเทศ ในอเมริกาเอง ประเด็นดังกล่าวถูกจุดขึ้นต่อเนื่องมาหลายสิบปี ก่อนกระแสเรื่องนี้ขึ้นสู่จุดสูงสุดในปี 2015 เมื่อศาลสูงสหรัฐอเมริกา (supreme court)[1] รับเรื่องดังกล่าวเข้าพิจารณา ก่อนมติเสียงข้างมาก 5-4 ลงความเห็นว่าการกำจัดสิทธิการแต่งงานไว้เฉพาะชายกับหญิงนั้นขัดรัฐธรรมนูญ ย้อนกลับมาที่ไทย เดือนพฤศจิกายน 2020 ศาลรัฐธรรมนูญไทยก็เพิ่งมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าการจำกัดสิทธิแต่งงานไว้ให้เฉพาะแต่ชายกับหญิงไม่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 

ศาลสองฝั่งโลกชี้ขาดไปคนละทาง แต่นอกเหนือไปจากผลลัพธ์แล้ว อีกมิติความต่างที่น่าสนใจคือคุณภาพคำอธิบายและการให้เหตุผลรองรับคำตัดสิน เมื่อผมได้อ่านคำอธิบายของศาลรัฐธรรมนูญไทย ก็อดไม่ได้ที่จะนึกย้อนเทียบไปถึงคำพิพากษาของศาลอเมริกา ที่ทั้งละเอียดอ่อน สนุก และชาญฉลาดในการให้เหตุผล

‘ดูเขาดูเรา’ ในเรื่องนี้จึงอาจช่วยให้เราสามารถเทียบเคียง วิพากษ์วิจารณ์เรื่องการให้เหตุผลและบทบาทศาลในกรณีของบ้านเราได้ดียิ่งขึ้น ผมเลยถือโอกาสนี้ลองชวนผู้อ่านดูกันนะครับ ว่าเขาเถียงเรื่องแต่งงานเพศเดียวกันอย่างไรในบริบทศาลสูงอเมริกา

สิทธิแต่งงานเพศเดียวกัน: คำร้องว่าด้วย “สิทธิพื้นฐาน” และ “ความเท่าเทียมทางกฎหมาย”

ในอเมริกา ประเด็นเรื่องการแต่งงานเพศเดียวกันเป็นข้อถกเถียงทางประชาธิปไตยในระดับมลรัฐ ที่ผ่านมารัฐบาลระดับมลรัฐบางแห่งขยายสิทธิการแต่งงานสู่คนต่างเพศ ในขณะที่บางรัฐยังคงปฏิเสธเรื่องดังกล่าว การฟ้องคดีสู่ศาลสูงในปี 2015 เกิดขึ้นจากกรณีคู่รักชาย-ชายคู่หนึ่งเดินทางไปแต่งงานตามกฎหมายในรัฐแมรี่แลนด์ซึ่งรับรองสิทธิดังกล่าว แต่กลับถูกปฏิเสธสิทธิที่คู่สมรสพึงได้เมื่อเดินทางกลับสู่รัฐโอไฮโอบ้านเกิด โดยรัฐบ้านเกิดอ้างว่าสิทธิดังกล่าวยังไม่ได้รับการรับรองในพื้นที่ตน

Obergefell หนึ่งในคู่สมรสตัดสินใจร้องเรื่องดังกล่าวสู่ศาล ภายหลังคู่สมรสตนเสียชีวิต แต่รัฐโอไฮโอยังคงยืนยันไม่มอบสถานะ ‘ผู้เป็นม่าย’ ให้ ภายหลังคดีขึ้นสู่ศาล ศาลระดับมลรัฐและรัฐบาลกลางล้วนยืนยันสิทธิของรัฐบาลระดับมลรัฐในการนิยามคำว่าแต่งงานของตัวเอง การต่อสู้ขั้นสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อเรื่องดังกล่าวเคลื่อนเข้าสู่การพิจารณาโดยศาลสูง โดยรวบยอดเข้ากับคดีอื่นที่มีเนื้อหาลักษณะเดียวกันอีกสามคดี

โดยสรุป หัวใจหลักของคำร้องของ Obergefell และผู้ร้องร่วมคือสิทธิในการแต่งงานของคนเพศเดียวเป็นสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 14 ซึ่งกำหนดให้

(1) บุคคลต้องไม่ถูกพราก ‘สิทธิพื้นฐาน’ โดยปราศจากกระบวนการทางกฎหมายอันควร (due process) และ 

(2) ไม่ว่าจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานหรือไม่ก็ตาม หากรัฐมอบและคุ้มครองให้ให้กับประชาชนแล้ว ทุกคนจะต้องได้รับการคุ้มครองสิทธินั้นอย่างเท่าเทียมตามกฎหมาย (equal protection)

ดังนั้นการจำกัดสิทธิแต่งงานไว้ให้เฉพาะชายหญิงจึงเป็นทั้งการพรากสิทธิพื้นฐาน และสร้างความไม่เท่าเทียมทางกฎหมาย จึงขัดรัฐธรรมนูญตามบัญญัติข้างต้น

จากมุมของศาลสูงฯ ที่รับคดี ประเด็นพิจารณาในเรื่องนี้คือ (1) การจำกัดการแต่งงานไว้เฉพาะชายกับหญิงนั้นขัดรัฐธรรมนูญตามที่ผู้ร้องว่าหรือไม่ และ (2) หากคนเพศเดียวกันแต่งงานตามกฎหมายในรัฐหนึ่งแล้ว ควรจะต้องได้รับสิทธิอันพึงได้ของคู่สมรสเมื่อย้ายไปอยู่ในรัฐที่ไม่อนุญาตการแต่งงานเพศเดียวกันหรือไม่ 

ประเด็นที่สองเป็นประเด็นรองและผมจะข้ามไป เนื่องจากภายหลังศาลพิจารณาประเด็นแรกแล้วเห็นว่าการแต่งงานเพศเดียวกันเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นทุกรัฐจึงต้องรับรองสิทธิดังกล่าว คำถามที่สองจึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาโดยปริยาย

ฝ่ายไม่เห็นด้วยค้านอย่างไร?: ข้อถกเถียงว่าด้วยเรื่องอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย

จากมุมผู้สนับสนุนสิทธิการแต่งงานเพศเดียวกัน (เช่นผม) การจำกัดสิทธิคนเพศเดียวกันนั้นฟังยังไงก็ไม่สมเหตุสมผล แต่ข้อถกเถียงของฝ่ายไม่เห็นด้วยนั้นก็เรียกได้ว่าชาญฉลาด และไม่ง่ายที่จะปฏิเสธเลย โดยข้อคัดค้านเริ่มจากประเด็นพื้นฐานก่อนไปสู่ประเด็นหลัก เรียงดังนี้

1. สิทธิการแต่งงานเพศเดียวกันไม่ใช่สิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ เอาเข้าจริงรัฐธรรมนูญไม่ได้พูดถึงสิทธิการแต่งงานด้วยซ้ำ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงสิทธิการแต่งงานเพศเดียวกัน (ฝ่ายไม่เห็นด้วยจงใจตั้งประเด็นเจาะจงให้เป็นเรื่อง ‘สิทธิแต่งงานเพศเดียวกัน’ เพื่อให้เชื่อมโยงสิทธินี้เข้ากับรัฐธรรมนูญได้ยากขึ้น)

2. เนื่องจากสิทธิดังกล่าวไม่ได้เป็นสิทธิพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ทุกคนพึงมีโดยทั่วไป เราจึงต้องตั้งต้นจากสมมติฐาน (baseline) ว่าคนไม่มีสิทธิดังกล่าว ดังนั้นสิทธิในการแต่งงานของคนต่างเพศจึงถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลพิจารณา ‘สร้างเพิ่ม’ ให้ด้วยเหตุผลเชิงนโยบาย (ประเพณี วัฒนธรรม ความมั่นคง) ไม่มีการรุกรานเข้าไป ‘พรากสิทธิ’ ใดๆ เกิดขึ้น ดังนั้นคนที่ไม่ได้รับสิทธิจึงไม่สามารถร้องเรียนเรื่องการถูกพรากสิทธิตามหลัก due process

3. กฎหมายแต่งงานที่กำหนดให้มีแต่ชายหญิงเท่านั้นที่แต่งงานกันได้ คุ้มครองสิทธิทุกคนเท่าเทียม เพราะทุกคนยังสามารถเลือกแต่งงานกับคนต่างเพศได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เรื่องนี้จึงไม่เหมือนกับการกีดกันทางสีผิว ที่คนผิวสีหมดสิทธิอันเท่าเทียมไปโดยปริยายเพราะไม่สามารถเปลี่ยนสีผิวของตนได้ ดังนั้นจึงไม่มีการละเมิดหลัก Equal protection  

ผู้นำเสนอข้อถกเถียงเหล่านี้  รวมถึงตุลาการเสียงข้างน้อยที่เห็นว่าการสมรสเท่าเทียมไม่ใช่สิทธิแต่ละท่านอาจเรียงและให้น้ำหนักประเด็นแตกต่างไปจากที่ผมสรุป รวมถึงยังมีข้อโต้แย้งยิบย่อยอื่นๆ มากมาย ที่ไม่สามารถกล่าวถึงหมด ณ ที่นี้ แต่ทั้งหมดที่ผมสรุปนี้ถือเป็นการจับใจความหลัก ซึ่งจะปูสู่ประเด็นคัดค้านหลักที่แท้จริงของพวกเขา

แล้วอะไรคือประเด็นคัดค้านหลักที่แท้จริงที่ว่า

เอาเข้าจริงประเด็นที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ฝ่ายค้านไม่ได้คาดหวังอย่างหัวชนฝาว่าการตีความของพวกเขาถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เป้าหมายสูงสุดของพวกเขาคือการชี้ว่าการกำหนดตีกรอบสิทธิแต่งงานไว้ให้เฉพาะชาย-หญิงนั้น ต่อให้ไม่แน่ว่าถูกสมบูรณ์ ก็ไม่ถือว่าผิดรัฐธรรมนูญอย่างจะแจ้ง และเอาเข้าจริงก็ มีเหตุผลบางมุมรองรับอยู่

ขอเพียงพิสูจน์ได้เท่านี้ก็ถือว่าเริ่มเห็นเค้าลางแห่งชัยชนะ เพราะหากเป็นตามที่ว่ามาแล้ว ประเด็นขัดแย้งในเรื่องดังกล่าวก็จะต้องถือว่าเป็นข้อเห็นต่างที่มีเหตุมีผล (reasonable disagreement) กล่าวคือคุณมีเหตุผลของคุณ เราก็มีเหตุผลของเรา ทั้งสองมุมต่างฝ่ายต่างรับฟังได้ โดยหลักแล้ว เมื่อเรื่องเป็นเพียงความเห็นต่าง ไม่ใช่การทำผิดหลักรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ก็ควรจะเป็นเรื่องที่ต้องไปถกเถียงตัดสินตามกระบวนการทางประชาธิปไตยในระดับรัฐสภา ไม่ใช่ประเด็นทางรัฐธรรมนูญที่ศาลมีสิทธิก้าวก่าย มิเช่นนั้นจะเท่ากับว่าศาลที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนนั้น กำลังทำตนเป็นเผด็จการทางปัญญา ถือความคิดตนเหนือประชาชน เข้ามาชี้ขาดประเด็นข้อถกเถียงในระบอบประชาธิปไตย

โดยปกติแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญนั้นถือครองอำนาจที่คาบลูกคาบดอกระหว่างการเป็นผู้ปกป้องและทำลายประชาธิปไตยไปพร้อมกัน โดยหน้าที่แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญคือการเป็นกรรมการกำกับเส้น ป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญโดยเสียงข้างมากหรือกระแสสังคม  ซึ่งแน่นอนว่าบทบาทนี้สำคัญ เพราะระบอบประชาธิปไตยนั้นอยู่ไม่ได้หรืออยู่ได้ไม่ดีแน่นอนถ้าไม่มีกรรมการกำกับเส้นปกป้องสิทธิพื้นฐานอย่างเช่นสิทธิการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือความเท่าเทียมทางกฎหมาย 

แต่ในมุมกลับ ปัญหาหลักหนึ่งของสถาบันนี้คือ การไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนเท่าสถาบันหลักอื่นที่มาจากการเลือกตั้ง หากพวกเขาใช้อำนาจเกินเลยก็จะมีลักษณะเป็นเผด็จการอย่างที่กล่าวไปแล้ว เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว กลไกทางการเมืองในอเมริกาจึงพยายามถ่วงดุลยึดโยงอำนาจศาลกับประชาชนด้วยกลไกต่างๆ เช่น ให้ตุลาการศาลสูงมีที่มาจากการเสนอชื่อโดยประธานาธิบดีและรับรองโดยวุฒิสภา คำตัดสินที่ออกมาก็ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ รวมถึงกลไกสนุกสนานอื่นๆ มากมาย (เช่น court packing) ซึ่งไม่พอสาธยาย ณ ที่นี้ 

แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังไม่พอ หลักหนึ่งที่ตัวศาลเองต้องคำนึงถึงและใช้ตลอดเวลาคือก็คือการจำกัดอำนาจตัวเองให้มากที่สุด เพื่อป้องกันการก้าวก่ายอำนาจของรัฐบาลประชาธิปไตย การใช้อำนาจเช่นนี้ก็คือการที่ศาลจะเข้าตัดสินเฉพาะในประเด็นที่ชัดเจนจริงๆ ว่ามีเนื้อหาคาบเกี่ยวประเด็นรัฐธรรมนูญ (ตีความอย่างจำกัด) อย่างเช่น กรณีนโยบายไม่ให้คนดำเข้าเรียนหนังสือร่วมกับคนขาว (Brown v. Board of Education of Topeka) และการไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับประเด็น ‘ข้อเห็นต่างที่มีเหตุผล’

ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญอเมริกาเคยประสบวิกฤตมาแล้ว จากการขยายอำนาจเข้ายุ่งเกี่ยวกับการตีความสิทธิในกรณีความเห็นต่างทางประชาธิปไตย เช่นการเข้า ‘ตีความ’ ว่ารัฐบาลของนิวยอร์คไม่มีสิทธิออกกฎหมายจำกัดเวลาทำงาน (Lochner v. New York) โดยตีความว่าสิทธิในการเขียนสัญญาจ้างเป็นสิทธิพื้นฐานที่งอกเงยจากสิทธิเหนือทรัพย์สินของเอกชนซึ่งต้องได้รับการปกป้องโดยสมบูรณ์ บทบาท ‘ตุลาการภิวัตน์’ เช่นนี้นำมาสู่การปะทะกันระหว่างศาลกับประธานาธิบดี แฟลงคลิน ดี รูสเวลต์ ที่มองว่าศาลกำลังทำตัวเป็นเผด็จการทางความคิด ลุกลามเป็นวิกฤตรัฐธรรมนูญที่หนักหนาที่สุดครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์อเมริกา ในระดับกรึ่มๆ จะเกิดจลาจลกลางเมือง ในเวลาต่อมาศาลจึงหลีกเลี่ยงบทบาทเช่นนี้ และรับตัดสินเฉพาะกรณีที่มีการละเมิดในเชิงกระบวนการหรือละเมิดสิทธิแบบดำสนิทหรือเทาเข้มๆ เท่านั้น

กล่าวโดยสรุป กลยุทธ์หลักขั้นสุดท้ายของฝ่ายคัดค้านเรื่องสมรสเท่าเทียม ได้แก่ การชี้ประเด็นให้เห็นว่า ความเห็นแย้งเรื่องสมรสเท่าเทียมเป็นความเห็นต่างที่ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลของตัวเอง และหากพิสูจน์ได้แล้ว ศาลก็ควรยกคำร้อง ไม่พิจารณาคดี บนฐานที่ว่า เรื่องนี้อยู่นอกเหนือคำถามในระดับรัฐธรรมนูญ (no substantial constitutional questions) มิเช่นนั้นจะเท่ากับว่าศาลกำลังสร้างบทบาทเผด็จการตามที่กล่าวไป

ศาลตัดสินอย่างไร?: การตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญในระดับเนื้อหา

แต่ถึงที่สุดแล้ว ตุลาการเสียงข้างมากเห็นว่าการจำกัดสิทธิสมรสของคนเพศเดียวกันนั้นขัดรัฐธรรมนูญตามคำร้อง

ในเหตุผล 4 ข้อที่ศาลให้เป็นฐานในการสนับสนุนการแต่งงานเพศเดียวกัน สองข้อแรกตั้งประเด็นว่า (1) สิทธิการแต่งงาน แม้จะไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็ถือเป็นสิทธิที่งอกเงย (derives) และอนุมานได้จากสิทธิที่มีความสำคัญในระดับรัฐธรรมนูญในเรื่องการปกครองเหนือตนเอง (personal autonomy) และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (personal dignity) และ (2) สิทธิแต่งงานนี้สำคัญมากจากมุมมองดังกล่าว เพราะการแต่งงานคือรูปแบบการปกครอง การเลือกเส้นทางชีวิตและการได้รับการยอมรับในระดับสูงสุดรูปแบบหนึ่งที่มนุษย์จะมีได้  ดังนั้นสิทธิดังกล่าวที่งอกเงยต่อเนื่องจากสิทธิในรัฐธรรมนูญนี้จึงควรถูกพิจารณาเป็นสิทธิพื้นฐาน 

และเนื่องจากสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เราจึงต้องตั้งต้นจากสมมติฐานว่าทุกคนมีสิทธิโดยทั่วไปในการแต่งงานกับคนเพศใดก็ได้ เมื่อ baseline เริ่มต้นเป็นเช่นนี้แล้ว กฎหมายแต่งงานเฉพาะชาย-หญิง จึงต้องถือเป็นการพรากสิทธิโดยไม่มีเหตุผลทางกฎหมาย และทำให้คนบางกลุ่มได้รับการคุ้มครองสิทธิด้อยกว่าคนอื่น จึงละเมิดทั้งหลัก due process และ equal protection

โดยละเอียดแล้ว หลักทั้งสองที่ว่าเปิดให้มีการจำกัดสิทธิได้หากมีเหตุผลอันสมควร ดังนั้นเพื่อให้คำตัดสินสมบูรณ์ ศาลเสียงข้างมากจึงแถมข้อถกเถียงมาอีกสองข้อ ว่าเหตุผลในการจำกัดสิทธิการแต่งงานของคนเพศเดียวกันที่ฝ่ายคัดค้านให้ไว้นั้น ไร้เหตุผลอันควรโดยสิ้นเชิง โดยเรื่องนี้ศาลชี้ไว้ในเหตุผลข้อ (3) และ (4) รวมใจความได้ว่า การจำกัดสิทธิเพศเดียวกันสร้างความเดือดร้อน ความไม่มั่นคงในชีวิตคู่ของคนเพศเดียวกัน รวมถึงลูกของพวกเขา (หากมี) ก็จะไม่มีพ่อแม่อย่างเป็นทางการตามกฎหมาย รวมถึงนำไปสู่การไม่ยอมรับทางสังคมและผลเสียในรูปต่างๆ มากมาย

นอกจากนี้ ศาลยังชี้ว่าการอ้าง ‘ประเพณีวัฒนธรรม’ มานิยามว่า ‘คนกลุ่มใดควรได้รับสิทธิหรือไม่’ ตามที่ผู้ค้านเสนอมานั้นทำไม่ได้ เพราะหากทำเช่นนั้นแล้ว เราจะอธิบายไม่ได้ว่าคนกลุ่มแรกที่ได้รับสิทธิมาจากไหน และจะเป็นการอนุญาตให้มีการทำซ้ำเรื่องที่เคยทำมาโดยปราศจากการใคร่ครวญทางเหตุผล อีกทั้งยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าการแต่งงานของคนเพศเดียวกันจะนำไปสู่การทำลายคุณค่าเชิงวัฒนธรรม การสืบเผ่าพันธุ์ทำให้คนแต่งงานน้อยลง หรือผลร้ายอื่นใดทั้งสิ้นตามที่ผู้ค้านเสนอ 

และยังย้ำในหน้าแรกๆ ของคำพิพากษาว่าการร้องขอสิทธิการแต่งงานของคนเพศเดียวไม่ได้เป็นการทำลายคุณค่าเชิงวัฒนธรรม เพราะการร้องขอสิทธินั่นแหละชี้ว่า ฝ่ายสนับสนุนเห็นคุณค่าและให้ความสำคัญกับสถาบันแต่งงาน

มติเสียงข้างมากถือว่าน่าสนใจ กลยุทธ์การลากตีความโยงสิทธิแต่งงานและตีความในบริบทสิทธิที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองและยอมรับ (autonomy and dignity) นั้นถือว่าแหลมคม และวิธีการปฏิเสธเหตุผลเชิงวัฒนธรรมก็ถือว่าชาญฉลาด แต่ปัญหาใหญ่ที่ค้านสายตาฝ่ายค้านก็คือในคำตัดสินดังกล่าว ศาลได้เข้ามาตีความในเชิงเนื้อหาเพื่อตัดสินข้อขัดแย้ง ขั้นที่หนึ่งคือการตีความโยงสิทธิแต่งงานเพศเดียวกันให้เชื่อมกับสิทธิที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ และสองคือการชี้ว่าเหตุผลเชิงประเพณี วัฒนธรรม ที่รัฐบาลระดับมลรัฐยึดถือนั้นไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง

ดังนั้นในสายตาฝ่ายค้าน เรื่องนี้ศาล ‘เล่นเกินบท’ ขั้นต่ำที่ควรจะเป็น ก้าวล่วงเข้าไปพิจารณาเรื่องระดับนโยบาย

ผู้ที่กังวลเรื่องนี้ไม่ได้มีแต่เฉพาะฝ่ายอนุรักษนิยมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนักกฎหมายฝ่ายก้าวหน้าบางคนด้วย เพราะขณะนี้ตุลาการส่วนใหญ่ในศาลรัฐธรรมนูญมีจุดยืนแบบอนุรักษนิยม พวกเขากลัวว่าบทบาทเช่นนี้จะทำให้ตุลาการเข้ามาตีตกกฎหมายเสรีนิยมอย่างเช่นการทำแท้งเสรีที่กำลังจะเข้าสู่ศาลในเร็ววันนี้ เจเรมี วัลดรอน (Jeremy Waldron) หนึ่งในนักกฎหมายชั้นนำที่ผมติดตามอย่างต่อเนื่อง และเป็นผู้สนับสนุนสิทธิ LGBT อย่างแข็งขันมาโดยตลอดก็ยังให้ความเห็นว่าที่จริงกรณีสมรสเท่าเทียมควรถูกผลักดันผ่านกระบวนการรัฐสภามากกว่า

ในทางกลับกัน ฝ่ายที่สนับสนุนก็อาจยืนยันว่าความเห็นต่างในเรื่องสิทธิแต่งงานเพศเดียวกันนั้นไม่ใช่ความเห็นต่างที่มีเหตุผล และการตีความของศาลนั้นไม่ใช่การชี้ขาดทางความเห็น แต่เป็นเหตุผลที่ถูกต้อง ชัดเสียยิ่งกว่าชัด และมีแต่คนไร้เหตุผลเท่านั้นที่จะเห็นต่าง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่ผมอยากชวนดูในเรื่องนี้ไม่ใช่การชี้ประเด็นว่าฝ่ายใดถูกผิดแบบแน่นอนขาวดำ อันนั้นก็ต้องถกเถียงกันเชิงลึกต่อไป (และนี่คือเหตุผลที่ทำไมระบอบศาลสูงอเมริกาใช้กระบวนการการปรึกษาหารือและโหวตพร้อมเหตุผลในท้ายที่สุด ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะทุกเรื่องมันเป็นเรื่องหลักการสูงสุดที่กำหนดตัวบทอีกที ดังนั้นจึงไม่มีตัวบทชัดเจนให้ประยุกต์ตัดสินอย่างตรงไปตรงมา และหลายเรื่องก็ยากเกินกว่าจะมีถูกผิดแบบขาว-ดำนั่นแหละครับ) แต่ที่อยากชวนสังเกตก็คือ กระบวนการการถกเถียงทางปัญญาที่ฉลาดนั้น โดยตัวมันเองช่วยยกระดับภูมิปัญญาของคนในสังคมได้ไม่น้อย ข้อโต้แย้งของฝ่ายค้านนั้น ต่อให้เราไม่เห็นด้วยก็ยังทำให้เราเอะใจ ต้องมานั่งคิดทบทวนตัวเอง และเหลาข้อถกเถียงของเราก่อนตอบโต้กลับไป

ย้อนกลับมาเทียบเคียงกับกรณีของไทยก็น่าคิดว่า ข้อถกเถียงและการให้เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญไทยมีคุณภาพพอจะกระตุ้นสมองได้เช่นนี้บ้างหรือไม่


[1] ในสหรัฐอเมริกา ศาลสูงทำหน้าที่ตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญคล้ายกับศาลรัฐธรรมนูญของไทย บทความนี้จึงใช้คำว่าศาลสูงและศาลรัฐธรรมนูญสลับกันไปมาในความหมายเดียวกัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save