fbpx

How to Die – ออกแบบความตายให้เป็นนโยบายสาธารณะ

‘ทางเลือก’ เรามักรู้จักคำนี้ในฐานะหนทางแห่งการอยู่รอด การใช้ชีวิตหรือการตัดสินใจดำเนินกิจกรรมบางอย่างในชีวิต และให้ความรู้สึกไปในทางบวก เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเลือกได้ ในขณะที่สำหรับบางคน ‘ทางเลือกคือการวางแผน’ ยิ่งมีแผนสำรองมากเท่าไหร่นั่นยิ่งทำให้มีทางเลือกมากเท่านั้น และการวางแผนที่ดีก็จะทำให้เราสามารถตัดตัวเลือกที่ไม่ใช่ทิ้งออกไปได้เร็วมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เราไม่ค่อยพูดกันถึงทางเลือกในแง่ของการตายกันเลย – เรื่องนี้สำคัญ

“ฉันจะตายแบบไหนนะ?”

“ฉันมีสิทธิ์เลือกการตายได้ไหมนะ?”

น้อยคนมากที่จะเคยตั้งคำถามกับตัวเองและอาจจะมีเพียงหยิบมือที่เริ่มค้นคว้าหาคำตอบและพบว่า เมื่อวันนั้นมาถึงเราสามารถวางแผนการตายของตัวเองได้

‘ทางเลือก’ ของการตาย

หนังสือเรื่อง การตัดสินใจในระยะท้ายของชีวิตกับสังคมไทย: บทเรียนจากประสบการณ์ของต่างประเทศ[1] เขียนโดย รศ.ดร.นพพล วิทย์วรพงศ์ ได้ทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ กว่า 101 ชิ้น อีกทั้งยังมีการอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์กว่า 29 แห่งและวิเคราะห์ข้อมูลจาก World Values Surveys, Economist Intelligence Unit, LBGT เพื่อศึกษาทางเลือกการตายของคนว่ามีกี่แบบและแนวโน้มของการผลักดันทางเลือกของการตายให้เป็นนโยบายสาธารณะในประเทศไทย

งานวิจัยพบว่าการตัดสินใจระยะท้ายของชีวิตในผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้น มีทางเลือกหลัก 3 แนวทาง

ทางเลือก 1 การุณยฆาต (euthanasia) หมายถึง การยุติชีวิตของผู้ป่วยโดยแพทย์ ตามคำร้องขอและความสมัครใจของผู้ป่วยเอง (killing on request) โดยทั่วไปกระบวนการการุณยฆาตมักจะเริ่มจากการให้กลุ่มยาต้านอาเจียน (antiemetic drugs) ก่อน แล้วจึงให้ยาที่มีฤทธิ์ทำให้เสียชีวิตในจำนวนมาก (overdose of lethal drugs) เข้าไปในร่างกายผู้ป่วยจนกระทั่งผู้ป่วยสลบไป หยุดหายใจ และเสียชีวิตในที่สุด ผลลัพธ์ของการกระทำดังกล่าวคือการเสียชีวิตในทันทีของผู้ป่วย

ทางเลือก 2 การฆ่าตัวตายโดยความช่วยเหลือของแพทย์ (physician-assisted suicide) คือ การยุติชีวิตของผู้ป่วยด้วยตัวผู้ป่วยเอง โดยแพทย์ให้ความช่วยเหลือด้วยการจัดยาที่มีฤทธิ์ทำให้เสียชีวิตไว้ให้ตามคำร้องขอและความสมัครใจของผู้ป่วย ผลลัพธ์ของการกระทำดังกล่าวเหมือนกันกับการุณยฆาต นั่นคือการเสียชีวิตในทันทีของผู้ป่วย

ทางเลือก 3 การปฏิเสธการรักษาในวาระท้ายของชีวิต (non-treatment decisions) หมายถึง การที่ผู้ป่วยตัดสินใจที่จะงดหรือหยุดการรับบริการทางการแพทย์ที่มีวัตถุประสงค์ในการยืดชีวิตของตนเอง ในกรณีนี้กฎหมายในประเทศต่างๆ มักกำหนดให้ผู้ป่วยแสดงเจตนาดังกล่าวไว้ล่วงหน้าในสภาวะที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ โดยต้องระบุความประสงค์อย่างชัดเจนในหนังสือแสดงเจตนาหรือพินัยกรรมชีวิต (living will)

การรักษาพยาบาลที่สามารถปฏิเสธได้นี้รวมการรักษาที่ไม่จำเป็นและการใช้เครื่องพยุงชีพทั้งหมด เช่น การเจาะคอเพื่อใส่ท่อช่วยหายใจ การใช้เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น ซึ่งผลลัพธ์ที่ตั้งใจของการกระทำดังกล่าว คือ การเสียชีวิต ‘อย่างเป็นธรรมชาติ’ และป้องกันการยืดชีวิตอย่างไม่มีความจำเป็น

แม้ว่าการเลือกตัดสินใจยุติชีวิตด้วยวิธีการใดก็แล้วแต่ดูจะเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล แต่ถึงอย่างนั้นการตายก็ไม่ใช่แค่เรื่องปัจเจก แต่การตายของคนคนหนึ่งผูกติดอยู่กับครอบครัวซึ่งเป็นส่วนที่ใกล้ชิดที่สุดในแง่ที่พวกเขาต้องทำนิติกรรมบางอย่างแทนบุคคลนั้นและยังผูกอยู่กับหมอ พยาบาล บุคลากรการแพทย์ทุกคนที่ต้องดำเนินการยื้อชีวิตหรือเร่งการตายตามความต้องการของบุคคลนั้น รวมถึงระบบสาธารณสุขและกฎหมายที่ต้องรองรับทางเลือกเหล่านั้นด้วย เพราะฉะนั้น การตัดสินใจตายจึงเป็นเรื่องนโยบายสาธารณะ

การุณยฆาต – เสรีภาพในการตาย

คำถามสำคัญคือแล้วกฎหมายเปิดพื้นที่ให้เราออกแบบความตายได้มากน้อยแค่ไหน?

ทางเลือกการยุติชีวิตในประเทศไทยคงมีเพียงการทำ ‘พินัยกรรมชีวิต (living will)’ เท่านั้นที่มีกฎหมายรองรับซึ่งถูกระบุไว้ในมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550

การเขียนพินัยกรรมชีวิตหรือหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข อธิบายให้ง่ายขึ้นคือการแสดงเจตนาว่าไม่ขอให้แพทย์หรือบุคลากรทำการยื้อชีวิตเมื่อเกิดบาดเจ็บหรือมีโรคที่รักษาไม่หาย และแพทย์ได้วินิจฉัยแล้วว่าอาการเหล่านี้จะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันใกล้ ก็ขอให้แพทย์ไม่ต้องทำการยื้อชีวิตไว้

ในขณะที่การทำการุณยฆาตภายใต้กฎหมายไทยนั้นแตกต่างจากกฎหมายของหลายประเทศซึ่งรองรับการุณยฆาตในทางกฎหมายแล้ว เช่น เนเธอร์แลนด์ แคนาดา และเบลเยียม แต่ภายใต้กฎหมายไทยการทำการุณยฆาตยังคงผิดกฎหมายตามมาตรา 288 ซึ่งเทียบเท่าฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาแม้ว่าการฆ่าดังกล่าวนั้นจะเกิดจากการร้องขอของผู้ถูกฆ่าก็ตาม

ที่ผ่านมาการพูดคุยเรื่องการุณยฆาตมีการพูดถึงอยู่บ้างในสังคมไทยและเพิ่งมีกระแสความสนใจเมื่อราว 2 ปีที่แล้วแต่นั่นก็ไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงไปจนถึงระดับกฎหมายอยู่ดี แต่หนังสือเรื่องการตัดสินใจในระยะท้ายของชีวิตกับสังคมไทยได้เปิด 4 เหตุผลที่ประเทศไทยต้องพูดถึงเรื่องการุณยฆาตอย่างจริงจังเสียที

เหตุผลข้อแรก – คนไทยมีแนวโน้มที่จะเจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ใน พ.ศ. 2557 สาเหตุการเสียชีวิต 10 อันดับแรก ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคมะเร็งตับ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคมะเร็งหลอดลมและปอด การติดเชื้อเอดส์ การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง อุบัติเหตุทางถนน และภาวะตับแข็ง การเสียชีวิตทั้งหมดนอกจากอุบัติเหตุบนท้องถนนแล้ว ล้วนมาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (non-communicable diseases) เป็นหลัก

เหตุผลข้อสอง – โครงสร้างประชากรของประเทศไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้สูงอายุในประเทศไทยส่วนใหญ่มักมีโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและต้องพึ่งพาบุตรหลานทั้งในด้านการดูแลสุขภาพ ในขณะที่ประเทศไทยเองก็ยังไม่มีระบบการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายและสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุที่กว้างขวางและเพียงพอ การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุเช่นนี้ ย่อมหมายถึงความสามารถของครัวเรือนในการดูแลผู้สูงอายุที่ลดลงและมีโอกาสที่จะไม่ได้รับการดูแลก่อนตายของผู้สูงอายุที่สูงขึ้นในอนาคต

เหตุผลข้อสาม – การรักษาความเจ็บป่วยก่อนเสียชีวิตมีต้นทุนสูง ต้นทุนที่ว่านี้ประกอบไปด้วยต้นทุนที่จับต้องได้ (tangible costs) อย่างค่าใช้จ่ายทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนจากการดูแลแบบประคับประคอง และต้นทุนที่จับต้องไม่ได้ (intangible costs) อย่างต้นทุนทางด้านจิตใจและอารมณ์ของผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วยด้วย

แม้จะไม่มีการศึกษาในระดับมหภาคแต่ต้นทุนที่จับต้องได้ก็อาจประมาณได้จากการตั้งงบประมาณภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยพบว่างบประมาณที่ตั้งไว้สำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายราว 11,000 คนอยู่ที่ประมาณ 60 ล้านบาท ใน พ.ศ. 2559

ในระดับครัวเรือนพบว่า ค่ารักษาพยาบาลโดยเฉลี่ยในเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งภายใต้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นสูงถึง 44,974 บาท ใน พ.ศ. 2558

ข้อสุดท้าย คือ ความคาดหวังต่อสิทธิในการเลือกวิถีชีวิต สังคมไทยมีแนวโน้มที่จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการตัดสินใจในเรื่องส่วนบุคคลซึ่งหนึ่งในนั้นอาจสะท้อนถึงความต้องการในการเลือกวิถีการตายแห่งตนด้วย

ความเป็นไปได้ของกฎหมายการุณยฆาตในประเทศไทย

รศ.ดร.นพพล วิเคราะห์ไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่ามีหลายเหตุผลที่ทำให้การุณยฆาตเกิดขึ้นได้จริงในต่างประเทศ ในขณะที่ประเทศไทยยังมีหลายปัจจัยที่ทำให้กฎหมายไม่สามารถรับรองการุณยฆาตได้

ปัจจัยแรก – การวิพากษ์ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการุณยฆาตเป็นไปอย่างกว้างขวางและยาวนาน ซึ่งจะทำให้สังคมตกผลึกทางความคิดจนสามารถมีกฎหมายได้ในที่สุด ซึ่งทั้งประเทศเนเธอร์แลนด์และแคนาดาต้องใช้เวลานับยี่สิบปีในการถกเถียงประเด็นการุณยฆาต

หากเปรียบเทียบกับสังคมไทย การการุณยฆาตยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมอยู่มาก การวิเคราะห์ข้อมูลจาก Google Trends พบว่า ความสนใจของสังคมในประเด็นดังกล่าวเพิ่งเริ่มต้นขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมาเท่านั้น และยังกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่จำกัดและไม่ได้มีกระแสอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยที่สอง – ความเข้มแข็งของประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม (liberal democracy) ปัจจัยสนับสนุนกฎหมายการุณยฆาตที่สำคัญอย่างหนึ่งคือความเป็นเสรีนิยม โดยนิยามของเสรีนิยมนั้นครอบคลุมการมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่รัฐบาลมีบทบาทจำกัด มีการกระจายอำนาจ มีหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง มีการให้สิทธิและเสรีภาพกับประชาชน และมีความเคารพในความเป็นปัจเจกชน ซึ่งเราเห็นได้อย่างชัดเจนว่าระบบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมของเนเธอร์แลนด์และแคนาดานั้นมีความเข้มแข็งมากจึงทำให้ประชาชนมีความตระหนักรู้ถึงสิทธิที่ปัจเจกบุคคลมีต่อร่างกายของตนและสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ

ในขณะที่ความเป็นเสรีนิยมในประเทศไทยนั้นยังไม่ชัดเจน แม้จะไม่ได้มีบทสรุปถึงความเป็นเสรีนิยมในสังคมไทยว่าอยู่ในระดับใด แต่ก็มีการระบุไว้ว่าความเป็นเสรีนิยมในสังคมไทยไม่ยั่งยืนนักและเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่มีการคาดการณ์ว่าแนวคิดแบบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมจะขยายวงกว้างในอนาคต เพราะการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของรัฐในปัจจุบันจะทำให้เกิดการต่อต้านการครอบครองอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และจะทำให้ประชาชนต้องการแสดงออกทางความคิดมากขึ้น

อย่างไรก็ตามงานวิจัยก็สรุปว่า การมีประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมในประเทศไทยนั้นคงเกิดขึ้นได้ยากในอนาคตอันใกล้ ซึ่งทำให้การวิพากษ์และการทำความเข้าใจในเรื่องสิทธิและวัฒนธรรมความเป็นปัจเจกบุคคลที่มีผลต่อการเกิดขึ้นของกฎหมายการุณยฆาตนั้นจะยังมีอยู่อย่างจำกัดเช่นกัน

ปัจจัยสุดท้าย – กระแสสังคมในทางบวก ทำให้ความเป็นไปได้ทางการเมือง (political feasibility) ของการมีกฎหมายการุณยฆาตอยู่ในระดับสูง ซึ่งจากงานวิจัยพบว่ากระแสสังคมที่ยอมรับการการุณฆาตเป็นปัจจัยเดียวที่สังคมไทยมีอยู่ ซึ่งนั่นไม่เพียงพอที่จะทำให้การุณยฆาตเป็นนโยบายสาธารณะ แต่มีปัจจัยอื่นที่ช่วยหนุนเสริมอีกด้วย ทั้งผู้นำทางการเมืองที่เป็นกระบอกเสียงให้กับความต้องการของประชาชนในด้านนี้ หรือบุคลากรทางการแพทย์ในฐานะผู้ดำเนินนโยบายต้องให้การยอมรับต่อการุณยฆาตในระดับที่สูงเพียงพอ


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563 และ The101.world

References
1 หนังสือตีพิมพ์จากรายงานภายใต้แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2563

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save