fbpx

“วันที่ล้มตัวลงตาย ต้องไม่มีโซ่ล่ามขา” : สำรวจชีวิต สวัสดิภาพ และปัญหาช้างไทยในต่างแดน

เมื่อช่วงปลายปี 2023 ที่ผ่านมา ท่ามกลางข่าวที่หลากหลาย มีหนึ่งเหตุการณ์ที่ดึงความสนใจของผู้คนได้มากในช่วงเวลาหนึ่ง คือเรื่องของ ‘พลายศักดิ์สุรินทร์’ ช้างทูตสันถวไมตรีของไทย ที่ถูก ‘ส่งกลับบ้าน’ เพื่อกลับมารักษาตัวที่ประเทศไทย หลังจากทำงานหนักในฐานะทูตสันถวไมตรีที่ประเทศศรีลังกามาเกือบ 22 ปี

จุดประสงค์แรกที่ทำให้พลายศักดิ์สุรินทร์ต้องเดินทางไปยังประเทศศรีลังกานั้น เนื่องจากในปี 2000 จันดริกา กุมาราตุงกะ (Chandrika Kumaratunga) ประธานาธิบดีแห่งศรีลังกาในช่วงเวลานั้นมีหนังสือกราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขอพระราชทานลูกช้างเพศผู้สองเชือก ได้แก่ ช้างพลายศักดิ์สุรินทร์ และช้างพลายศรีณรงค์ ไปจากประเทศไทย เพื่อนำไปฝึกใช้ในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ในงานแห่พระธาตุเขี้ยวแก้ว ซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปีของประเทศศรีลังกา และเพื่อส่งเสริม ‘ความสัมพันธ์อันดี’ ระหว่างประเทศไทยและศรีลังกาโดยพลายศักดิ์สุรินทร์ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘มธุราชา’ (Muthu Raja)

ทว่า การเดินทางครั้งนั้นของช้างไทยทั้งสองเชือกในฐานะของขวัญจากประเทศไทย กลับกลายเป็นการประสบพบเจอกับชะตากรรมอันยากลำบาก ไม่ว่าเป็นการใช้แรงงานช้างที่หนักหน่วง ถูกล่ามโซ่ จนมีสภาพผอมโซ และร่างกายได้รับบาดเจ็บอย่างมาก จึงเกิดกระแสเรียกร้องให้นำช้างไทยที่อยู่ในประเทศศรีลังกากลับมา

ครั้งหนึ่ง ดร.พลเดช วรฉัตร อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ได้จดบันทึกการเดินทางในสิ่งที่เขาพบเจอในประเทศศรีลังกา เมื่อปี 2012 ผ่านบล็อกที่ชื่อว่า ‘เรื่องเล่าจากโคลัมโบ’ ส่วนหนึ่งของบันทึกครั้งนั้นมีการกล่าวถึงหนึ่งในช้างพระราชทานที่อยู่ในวัด Kande Vihara ในบันทึกฉบับที่ 5 ชื่อ ตามหาช้างพระราชทาน ‘ราชา’ และ ฉบับที่ 6 ชื่อ ข่าวช้างพระราชทาน – ในวันนั้นเขาได้พบกับช้างเชือกหนึ่งที่ชื่อว่า ‘ราชา’ หรือ ‘พลายศักดิ์สุรินทร์’ เป็นครั้งแรก และเขาจดบันทึกไว้ว่า

“ผมและคณะเดินลัดเลาะไปด้านหลังวัด (Kande Vihara) หลังอาคารสูง 4 ชั้นซึ่งใช้เป็นสถานที่ฟังธรรมและกุฏิพระสงฆ์ ด้านหลังเป็นป่าละเมาะมีต้นมะพร้าวและต้นตาลมากมาย ผมเห็นช้าง 1 เชือก สวยงามด้วยงาขาวสองข้างกำลังกินซางมะพร้าวอย่างโดดเดี่ยว นี่หรือคือช้างพระราชทานที่ชื่อ ‘ราชา’ ไม่มีที่อยู่ที่เหมาะสมเลย มีแต่ต้นไม้รายรอบ ซางมะพร้าวที่ทับถมกันจนเป็นกองสูงเนิน พระสงฆ์ศรีลังกาพระลูกวัดได้เชิญให้ผมเข้าไปใกล้ๆ ผมจึงให้อาหารที่เตรียมไปคือกล้วย แตงโม แตงกวา แอปเปิ้ล ปรากฏว่าราชาใช้งวงมาหยิบไปทานอย่างชอบใจ

“ผมรู้สึกสงสาร ‘ราชา’ อย่างจับใจ นี่หรือช้างที่เป็นของขวัญจากประเทศไทย ที่นำไปใช้ในงานพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธแห่พระบรมสาริริกธาตุ ซึ่งพระศรีลังกาบอกผมว่าใช้ช้างปีละ 6 ครั้ง ผมอดนึกในใจไม่ได้ว่ายามฝนตก พายุกระหน่ำ เจ้าราชาจะอยู่ในสภาพใด ไม่มีหลังคาให้ได้หลบพักพิง ยามเจ็บป่วยหรือตกมันจะทำอย่างไร – วันนั้น ‘ราชา’ เพิ่งหายจากการตกมัน พวกเราพยายามจะทักทายด้วยการส่งเสียงภาษาไทย ราชาไม่ได้ตอบสนองภาษาไทยเท่าใดนัก นอกจากจะถูกใจกับอาหารที่เรานำไปให้  ผมตั้งใจว่าจะต้องหาทางให้ราชาได้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้ในฐานะที่ ‘ราชา’ เป็นตัวแทนของประเทศไทยในต่างแดน”

แม้พลายศักดิ์สุรินทร์จะได้กลับบ้านเกิดอีกครั้งและเข้ารับการกายภาพบำบัดอย่างเข้มข้นแล้วก็ตาม แต่เสียงเรียกร้องเกี่ยวกับเรื่องการส่งช้างไทยในต่างแดนกลับประเทศ ก็ยังไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ทั้งภาคประชาชนและภาคประชาสังคมกลับเรียกร้องดังขึ้น เพราะมีช้างอย่างน้อยอีก 2 เชือก ทั้ง ‘พลายประตูผา’ (หรือที่ชาวศรีลังกาเรียกว่า ‘ไทยราชา’) และ ‘ช้างพลายศรีณรงค์’ (หรือที่ชาวศรีลังกาเรียกว่า ‘คันธุระราชา’) ยังคงไม่ได้กลับบ้าน

“กรณีของพลายศักดิ์สุรินทร์เป็นเหมือน ‘น้ำลดตอผุด’ กว่าที่ความโหดร้ายที่พลายศักดิ์สุรินทร์ต้องเผชิญและทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสจะได้ยินมาถึงหูของคนไทย ก็ยาวนานกว่า 22 ปีแล้ว” แสงเดือน ชัยเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริบาลช้าง และประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม และผู้ก่อตั้ง (Elephant Nature Park) ศูนย์อภิบาลช้าง และศูนย์ช่วยเหลือช้าง ในอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงประเด็นช้างไทยทูตสันถวไมตรี

“ช้างเหล่านี้ถูกส่งไปยังประเทศศรีลังกาโดยเรามอบไปให้พวกเขาในฐานะทูตสันถวไมตรี และรัฐบาลไทยก็ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขกับประเทศปลายทาง หยิบยื่นให้เขาโดยที่เขาจะทำอะไรกับช้างอย่างตามใจชอบ อีกทั้งยังมอบช้างเหล่านี้ไปตั้งแต่ยังเล็ก จนถูกใช้งานอย่างหนัก ร่างกายผ่ายผอม สภาพจิตใจย่ำแย่จนแทบจะเดินไม่ได้”

แสงเดือนมองว่าถึงแม้จะมีการพาช้างบางเชือกกลับมาประเทศไทยแล้วนั้น แต่การทำงานในประเด็นของช้างไทยในต่างแดนยังคงต้องเดินหน้าต่อไป โดยเธอเล่าว่า

“พวกเราที่ทำงานเกี่ยวกับช้างไม่ใช่ทำเพื่อเพียงเกาะกระแส ไม่ใช่ว่าเมื่อกระแสเงียบลงแล้วทุกคนก็หันหลังให้กับช้างเหล่านั้น แต่พวกเราต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้เรามีโอกาสเข้าพบประธานาธิบดีศรีลังกา เพราะเราต้องการใช้กรณีของ ‘พลายศักดิ์สุรินทร์’ เป็นเหมือนสารตั้งต้นในการพาทั้งคันธุระราชาและไทยราชากลับบ้าน – พวกเราจะหันหลังให้กับพวกเขาไม่ได้ และต้องร่วมกันหาหนทางที่จะพาช้างไทยกลับบ้าน”

“ทุกชีวิตต่างมีค่าเท่ากัน” นี่คือสิ่งที่แสงเดือนตอบเรา ประโยคดังกล่าวย่อมสะท้อนถึงประสบการณ์การทำงานของแสงเดือนตลอดระยะเวลาสามทศวรรษที่ผ่านมา จนเกิดมาเป็น ‘มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม’

‘มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม’ เป็นมูลนิธิที่มีหน้าที่รับช้างที่ถูกทารุณกรรมจนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งปัจจุบันมูลนิธิมีช้างทั้งสิ้น 124 เชือก ส่วนใหญ่มูลนิธิได้รับจากการร้องเรียนเข้ามาของประชาชนทั่วไปที่แจ้งเบาะแสเข้ามา บางเชือกที่มูลนิธิรับไปดูแลก็มีทั้งช้างที่ตาบอดทั้งสองข้าง หรือช้างพิการ เป็นต้น

ตาย เหงา เศร้า : บางเรื่องราวที่ถูกจดบันทึกของช้างไทยในต่างแดน

หากย้อนไปในอดีตที่ผ่านมามีช้างไทยจำนวนมากที่ถูกส่งไปยังต่างแดน และถูกส่งมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน  แต่หลายครั้งเรื่องราวของช้างเหล่านั้นกลับถูกจดบันทึกในรูปแบบของตัวเลขแบบไร้เรื่องราว โดยที่หลายครั้งผู้คนกลับไม่รู้เรื่องราวของช้างเหล่านั้น และไม่รู้ว่าจุดจบของพวกเขาเป็นเช่นไร

มีช้างบางเชือกที่ได้รับการจดบันทึกเรื่องราวอยู่บ้าง ที่พอทำให้เราเห็นสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญในฐานะของขวัญจากแผ่นดินไทย

ครั้งหนึ่ง ไกรฤกษ์ นานา นักประวัติศาสตร์และคอลัมนิสต์ประจำนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เคยค้นคว้าและเรียบเรียงเรื่องราวในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่เกี่ยวกับช้างที่ถูกส่งไปเป็น ‘เครื่องบรรณาการทางการทูต’

ในช่วงเวลานั้นสยามได้ส่งช้างไปทั้งหมดสองเชือกเพื่อพระราชทานพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ถึงประเทศฝรั่งเศสหลังจากที่ช้างทั้งสองเชือกเดินทางไปถึงประเทศฝรั่งเศสแล้วนั้น พระเจ้านโปเลียนที่ 3 ได้พระราชทานชื่อใหม่ว่า คาสเตอร์และพอลลุกซ์ (Castor & Pollux) และได้มอบให้แก่หน่วยงานของสวนสัตว์กรุงปารีสเป็นผู้ดูแล – ไกรฤกษ์พบว่าช้างทั้งสองเชือกได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงเวลานั้น จนทำให้เมื่อไหร่ที่ผู้คนพูดถึงสวนสัตว์นี้ ภาพของช้างทั้งสองเชือกนี้ก็จะอยู่ตามใบปิดโฆษณาอยู่บ่อยครั้ง

จนกระทั่งปี 1870-1871 เกิดสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียซึ่งเป็นสงครามที่ส่งผลสืบเนื่องมาถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 ในเวลาต่อมา ผลจากสงครามครั้งนั้นทำให้ประเทศฝรั่งเศสพ่ายแพ้อย่างราบคาบ และพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ถูกโจมตีว่าเป็นต้นเหตุของสงคราม และเกิดภาวะข้าวยากหมากแพง คนจนต้องจับหนูหรือแมวที่เลี้ยงเอามากินเพื่ออยู่รอด และคนที่มีฐานะก็ต้องหาอาหารมาเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาส จนทำให้ในปี 1870 ทางการจึงตัดสินใจชำแหละเนื้อของสัตว์ในสวนสัตว์ เนื่องจากเป็นแหล่งเนื้อดีที่เหลืออยู่ – ช้างทั้งสองเชือกก็ไม่พ้นชะตากรรมนี้ พวกมันถูกฆ่าและชำแหละในร้านขายเนื้อ ณ ภัตตาคารในกรุงปารีส

นอกจากช้างที่ถูกส่งไปเป็นเครื่องบรรณาการในสมัยรัชกาลที่ 4 แล้วนั้น ยังมีเรื่องราวของ ‘ฮานาโกะ’ ช้างไทยที่ต้องเดินทางไปยังสวนสัตว์อุเอโนะ กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 2 กันยายน 1949 เพื่อเยียวยาเด็กที่ต้องสูญเสียพ่อแม่อันเป็นผลมาจากสงครามโลกครั้งที่สอง โดยหวังว่าช้างเชือกนี้จะทำให้เด็กๆ หายจากความหวาดกลัวสงคราม

การออกเดินทางจากแม่เพื่อมาอาศัยเพียงลำพังในประเทศญี่ปุ่นครั้งนั้นของฮานาโกะเกิดขึ้นเมื่อมันมีอายุเพียงสองปีเท่านั้น ในช่วงแรกฮานาโกะมีชีวิตที่ดี มีพื้นที่ในการเล่น แต่ในช่วงท้ายของชีวิตฮานาโกะต้องถูกล่ามโซ่และถูกขังในคอกคอนกรีต เนื่องจากเหตุการณ์ที่ฮานาโกะทำให้เจ้าหน้าที่สวนสัตว์เสียชีวิต

การถูกล่ามโซ่และขังในคอกครั้งนั้นเป็นการทรมานมันอย่างยิ่ง เนื่องจากช้างเป็นสัตว์สังคมที่ต้องการใช้ชีวิตในพื้นที่กว้าง จนทำให้ฮานาโกะถูกเรียกว่า ‘The World’s Loneliest Elephant’

เรื่องราวของฮานาโกะ – ช้างที่เหงา โดดเดี่ยว และเศร้าสร้อยที่สุดของโลก ส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นหันกลับมาถอดบทเรียนและให้ความสนใจในการดูแลช้างในสวนสัตว์มากขึ้น เพื่อไม่ให้ช้างเชือกไหนต้องพบเจอชะตากรรมเช่นฮานาโกะอีก ทว่าเรื่องราวของฮานาโกะไม่ได้ทำให้ประเทศไทยที่เป็นเหมือนประเทศต้นทางถอดบทเรียนแต่อย่างใด

“ฮานาโกะต้องตายอย่างโดดเดี่ยวในกรงคอนกรีต หากวันนั้นคุณตัดสินใจนำช้างซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตไปเป็นของขวัญหรือของกำนัลอันมีค่า ช้างเหล่านั้นก็ควรจะได้รับการดูแลให้สมแก่คุณค่าของมันหรือไม่ ไม่ใช่ว่าปล่อยให้พวกมันต้องใช้ชีวิตอย่างตามมีตามเกิด หรือช้างบางเชือกถูกนำไปขายต่อ” แสงเดือนกล่าว

“ช้างบางเชือกถูกนำไปขายต่อ” ส่วนหนึ่งจากคำตอบของแสงเดือนข้างต้นนั้น ทำให้เธอเล่าเรื่องช้างเชือกหนึ่งที่ชื่อ ‘ซากุระ’

พลายซากุระ เป็นช้างที่ถูกส่งไปยังประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2508 ในนามของรัฐบาล แต่เมื่อเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางแล้ว พลายซากุระถูกส่งต่อไปยังสวนสัตว์แห่งหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น

ทว่าแสงเดือนเล่าว่าเมื่อไม่นานมานี้เธอมีโอกาสเดินทางไปยังสวนสัตว์เกาหลี และพบว่าพลายซากุระถูกสวนสัตว์ในประเทศญี่ปุ่นขายให้กับคณะละครสัตว์ในเกาหลีใต้ และต่อมาก็ถูกส่งต่อไปยังสวนสัตว์ในกรุงโซล ประเทศเกาหลี

“ซากุระ ซึ่งเป็นช้างที่ถูกส่งไปในนามของรัฐบาลไทย แต่ทำไมถึงมีจุดจบอยู่ในคณะละครสัตว์ และปัจจุบันก็ถูกขายต่อไปอยู่ในสวนสัตว์ในกรุงโซลอีก ทำให้เห็นว่าช้างหลายเชือกถูกขายกันต่อไปเป็นทอดๆ เราจึงตั้งคำถามว่าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้อย่างไร ในเมื่อพวกมันถูกส่งไปเพื่อความสัมพันธ์ทางการทูต ทำไมถึงถูกส่งต่อและขายไปที่ไหนมาไหนก็ได้เช่นนี้”

นี่เป็นเพียงเรื่องราวบางส่วนของช้างไทยในต่างแดนที่ถูกจดบันทึกเพียงเท่านั้น – แต่ทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะเป็นกรณีของช้างทั้งสองเชือกที่ถูกส่งไปในสมัยรัชกาลที่ 4 และมีจุดจบชีวิตในภัตตาคาร หรือกรณีของฮานาโกะและซากุระ ย่อมทำให้เกิดคำถามต่อการส่งช้างไทยไปยังต่างแดนในนามของตัวแทนของรัฐ ตัวแทนของสถาบันกษัตริย์ หรือตัวแทนของรัฐบาล ไปยังพื้นที่ต่างๆ รอบโลก ภายใต้ข้ออ้างที่ว่าพวกมันเป็น ‘ทูตสันถวไมตรี’

‘ทูตสันถวไมตรี’ และ ‘การค้าช้าง’ อาจเป็นเรื่องเดียวกัน

ปัญหาการส่งช้างของประเทศไทยส่วนหนึ่งมาจากการที่ไม่มีหลักเกณฑ์แน่ชัด ทำให้ในหลายๆ ประเด็นของการส่งช้าง อาจนำไปสู่ความไม่รู้ว่าจะปฏิบัติตัวเช่นไร เมื่อเกิดปัญหาขึ้น เช่น ช้างบางเชือกถูกส่งไปในขณะที่ตั้งท้องซึ่งเป็นเรื่องที่อาจไม่ควรทำตั้งแต่ต้น แต่คำถามคือเมื่อช้างคลอดลูกช้างออกมาแล้วนั้น ประเทศไทยต้องนำลูกกลับมาที่ประเทศไทยหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีการที่ประเทศไทยส่งช้างไปให้ประเทศหนึ่ง แต่ท้ายที่สุดแล้วช้างตัวนั้นกลับถูกส่งต่อและขายต่อไปให้อีกที่หนึ่งของมุมโลก แสงเดือนอธิบายว่า

“ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยส่งช้างไปยังเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี แต่ช้างตัวนั้นกลับไปโผล่ที่หนึ่ง ซึ่งเกิดจากผู้ส่งช้างหรือประเทศต้นทางไม่ติดตามช้างหลังจากที่ส่งไปแล้วว่าพวกมันต้องเผชิญกับปัญหาอะไรบ้าง เรามีช้างไทยอยู่หลายที่มากๆ ไม่ว่าจะเป็นโซนทวีปอเมริกาเหนือ ญี่ปุ่น สวีเดน แต่บางทีการส่งช่างเหล่านั้นไม่เคยมีการระบุเลย

“เราที่ทำงานในประเด็นเรื่องการส่งช้างไทยในต่างแดน ซึ่งเมื่อประชุมกันไปเรื่อยๆ ก็พบกับทางตันอยู่เหมือนกัน เนื่องจากประเทศไทยไม่เคยมีการบันทึกจำนวนช้างไทยที่ถูกส่งไปยังต่างแดนเลย”

“ที่ไหนมีช้าง ที่ไหนมีสวนสัตว์ เราก็ไปหมด” นี่คือหนึ่งประโยคที่เล่าถึงการทำงานที่ผ่านมาของแสงเดือนได้ดี เนื่องจากเมื่อประเทศไทยที่อาจไม่เคยมีการจดบันทึกอย่างทางการ ทำให้เธอตัดสินใจเดินทางไปหลายประเทศเพื่อค้นคว้าและค้นหาช้างไทยในต่างแดน – ช้างบางเชือกที่เธอพบเจอก็ไม่รู้ว่าพวกมันมาจากที่ไหน เช่น ช้างหลายเชือกในกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน ที่พวกมันต้องติดอยู่ท่ามกลางระเบิดและเสียงปืน โดยเราไม่มีทางรู้เลยว่าช้างเหล่านั้นถูกส่งมาจากประเทศอะไร แต่พวกมันกำลังอยู่ด้วยภาวะเครียดจากดงสงคราม บางตัวแสงเดือนเล่าว่าเครียดจนตัดสินใจเอาหัวทุบซี่กรงจนหัวแตก เป็นต้น

“ก่อนหน้านี้เคยเกิดเหตุการณ์รถของคณะละครสัตว์คว่ำ โดยได้ขนช้างไปแสดงละครเร่ตามเมืองต่างๆ ทั่วยุโรปด้วย ทำให้ช้างที่อยู่บนรถนั้นเสียชีวิตและบาดเจ็บ และเมื่อสืบค้นไปเรื่อยๆ ก็เพิ่งมาพบว่าช้างเหล่านั้นเป็นช้างไทย ในฐานะที่เราเป็นคนรักช้างและเห็นภาพรถที่พลิกคว่ำและช้างนอนตาย เราใจหายกับภาพตรงหน้าของเรามากว่าทำไมพวกเขาต้องพรากจากครอบครัว พรากจากโขลงช้างไปอยู่ในเมืองหนาว และเร่ร่อนจนตาย”

นอกจากปัญหาที่มาจากประเทศต้นทางอย่างประเทศไทยแล้วนั้น ที่ไม่เคยมีหลักเกณฑ์ในการส่งช้างและไม่ติดตามชีวิตของพวกมันหลังจากที่เดินทางจากประเทศไทยแล้ว แสงเดือนยังชี้ว่าส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของความไม่รับผิดชอบของประเทศปลายทางด้วย ว่าทำไมจึงขนส่งช้างที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่ร้อนชื้น ไปยังพื้นที่ที่มีสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกันอย่างมาก พื้นที่อาศัยที่ไม่เหมาะสม และอาหารที่เปลี่ยนไป ว่าย่อมส่งผลต่อวิถีชีวิตของช้างตัวนั้นที่ต้องเดินทางไปต่างแดนเช่นกัน

“เราก็ตั้งข้อสงสัยเหมือนกันว่า ทำไมหน่วยงานของรัฐไทยไม่มีกติกาที่ชัดเจน ไม่ว่าประเทศไหนของโลกการส่งสัตว์ประจำชาติข้ามแดนนั้น เขาก็มีกติกาที่ชัดเจนและกฎหมายที่คุ้มครองเพื่อปกป้องไม่ให้การส่งออกไปยังนอกประเทศได้ง่าย แต่ทำไมช้างไทยที่เป็นสัตว์ใหญ่คู่บ้านคู่เมือง แต่กลับนำช้างที่เป็นสัญลักษณ์ไปเป็นของขวัญ ของกำนัลเช่นนี้

“เรื่องราวทั้งหมดก็ยืนยันแล้วว่าทูตสันถวไมตรีจึงเป็นเหมือนคำที่สวยหรูของการแปลกเปลี่ยนสัตว์เท่านั้นเอง มีใครกล้าพูดหรือไม่ว่าการส่งช้างแต่ละครั้งไม่มีตัวเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง หากวันใดที่มีเงินเข้ามาในสมการนี้ เมื่อนั้นก็คือการค้าแล้ว” แสงเดือนกล่าว

สิทธิสัตว์และข้อถกเถียงของการอนุรักษ์สัตว์

หลายครั้งสัตว์ถูกใช้เป็นหนึ่งสิ่งที่มีค่าเพื่อสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ หรือแม้แต่การขยายอิทธิพลทางอำนาจผ่านสัตว์ เช่น ประเทศจีนก็ใช้แพนด้าซึ่งเป็นสัตว์ประจำชาติไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก จนเกิดคำว่า  ‘การทูตแพนด้า’ (Panda Diplomacy) ผ่านการให้ยืมแพนด้าเพื่อแสดงถึงความเป็นมิตรที่ดีต่อกัน หรือแม้แต่เมื่อเกิดความไม่พอใจระหว่างประเทศจีนและประเทศผู้รับขึ้นมา ก็อาจจะนำไปสู่การริบแพนด้าคืนได้

สัตว์จึงกลายเป็นเหมือนหนึ่งในเครื่องมือทางการทูต ที่ทั่วโลกต่างใช้ ไม่ว่าไทย จีน รัสเซีย และในอีกหลายๆ ประเทศจนราวกับเป็นเรื่องปกติ บางครั้งสัตว์พวกนั้นต้องเดินทางภายใต้คำว่า ‘เพื่อการศึกษาและวิจัย’ หรือแม้แต่เป็น ‘แหล่งการเรียนรู้ที่มีชีวิต’ ของเยาวชนในประเทศผู้รับ

หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เมื่อ ‘หลินฮุ่ย’ ทูตสันถวไมตรีความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน เดินทางมาถึงไทยก็เกิดกระแส ‘แพนด้าฟีเวอร์’ กล่าวคือแพนด้าได้รับความนิยมอย่างมาก และได้รับการพูดถึงตามรายการบนโทรทัศน์อยู่บ่อยครั้ง รวมไปถึงสร้างความนิยมให้นักท่องเที่ยวต่างเดินทางไปสวนสัตว์เชียงใหม่เพื่อชมความน่ารักของหมียักษ์ขาว-ดำตัวนี้ให้ได้ คนส่วนหนึ่งก็มองว่าการที่ประเทศไทยมีแพนด้าเป็นของตัวเองนั้น ก็จะเป็นเหมือนแหล่งเรียนรู้ใหม่ให้เยาวชนไทยที่อาจไม่มีโอกาสไปพบเจอ ก็สามารถพบเจอได้โดยไม่ต้องเดินทางไกล และแพนด้าเหล่านั้นอาศัยอยู่ในสวนสัตว์พวกมันก็จะได้รับการดูแลอย่างดีและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัยได้

แม้ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีแพนด้าแล้ว แต่ใช่ว่ากระแสและความต้องการแพนด้าในสังคมไทยจะหดหายไปแต่อย่างใด เห็นได้จากเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี หารือกับ หวัง อี้ สมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนว่าประเทศไทยต้องการขอแพนด้าจากประเทศจีนอีกครั้ง เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ไทย-จีน 50 ปี และยังได้ออกมาสื่อสารว่า

ถ้ายังจำกันได้เดิมสวนสัตว์เชียงใหม่ เคยมีหมีแพนด้า แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว บังเอิญเมื่อ 2-3 วันก่อน ได้เข้าไปดูทวิตเตอร์เกี่ยวกับประเทศที่มีหมีแพนด้า ไล่ลงมาหลายประเทศพบว่าประเทศไทยเป็นศูนย์ ก็ไม่ได้เป็นกระจกสะท้อนที่ดีสำหรับสัมพันธ์ทางด้านการทูตที่เรามีมาอย่างดีกับจีนตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้ขอไป และทางจีนก็ให้การสนับสนุน

จึงเห็นได้ว่าการใช้สัตว์เป็นทูตสันถวไมตรีก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหลายครั้งก็สามารถแปรเปลี่ยนความน่ารักของสัตว์เหล่านั้น กลายเป็นต้นทุนทางการเมืองได้

“ไม่ว่าจะเป็นการส่งแพนด้ามาประเทศไทย ส่งโคอาลา หรือสัตว์อะไรก็ตาม ในยุคสมัยใหม่ที่เราสามารถหาความบันเทิงได้จากหลายที่หลากถิ่นแล้ว หรือการศึกษาที่เราสามารถท่องโลกผ่านสารคดี สื่อออนไลน์ต่างๆ แล้ว การนำสัตว์ต่างถิ่นมาอยู่ในพื้นที่ที่เปลี่ยนไปและกักขังมันยังเป็นสิ่งที่สมควรอยู่หรือไม่

“ในอนาคตเราควรส่งเสริมให้เยาวชนเรียนรู้สัตว์ผ่านถิ่นที่อยู่และธรรมชาติของมัน หากเรามองว่าเพื่อการศึกษา หรือแม้แต่การอนุรักษ์ คงต้องบอกว่าหมดเวลาแล้วที่เราจะตักตวงความทุกข์ยากจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ” แสงเดือนกล่าว

แม้การส่งสัตว์เพื่อไปเป็นทูตสันถวไมตรีนับเป็นเรื่องปกติสำหรับโลกการเมืองระหว่างประเทศ หรือแม้แต่เพื่ออนุรักษ์สัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธ์ุก็ตาม แต่การนำสัตว์มาอยู่ในต่างถิ่นต่างแดนเช่นนี้ก็ยังคงเป็นเรื่องผิดธรรมชาติของสัตว์ เช่น ช้างเป็นสัตว์ที่ต้องการพื้นที่ในการอยู่อาศัย หากสวนสัตว์ต้องการนำช้างไปดูแลก็ต้องมีความพร้อมด้านพื้นที่ กล่าวคือให้มันอาศัยอยู่ในพื้นที่เปิดและไม่ใช่พื้นซีเมนต์ เนื่องจากช้างเป็นสัตว์ที่มีน้ำหนักมาก การยืนเช่นนั้นทำให้เล็บของช้างจะหลุดออกมาทำให้ชีวิตของช้างเหล่านั้นก็จะสั้นลงตาม

“หลายคนมักมองว่าสัตว์นั้นเกิดมาเพื่อคน ถ้าคุณเคยเห็นแม่หมารักลูกหมา แม่ไก่รักลูกไก่ ย่อมแสดงว่าสัตว์ก็มีความสุขไม่ต่างจากคน หากคนมีสิทธิ สัตว์ก็ควรจะมีสิทธิเช่นกัน”

“หากเราดูสถิติช้างที่ทางมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อมรับมา ก็จะมีอัตราการตายที่เยอะมากเป็นผลมาจากหลายเชือกที่เรารับมาได้รับบาดเจ็บอย่างหนัก แต่เราตัดสินใจรับมาเพราะว่าถึงแม้เขาจะอยู่กับเราไม่นาน ไม่ว่าจะเป็นอาทิตย์เดียว เดือนเดียว หรือปีเดียว เราก็อยากให้เขาได้รับการดูแลอย่างเต็มที่” แสงเดือนกล่าว

หากถามถึงภาพฝันในการทำงานประเด็นช้างของแสงเดือนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น แสงเดือนตอบกลับมาอย่างสั้นๆ เพียงว่า “ก็คงอยากให้ช้างเหล่านั้นได้ตายอย่างสมศักดิ์ศรี และวันที่ล้มตัวลงตายจะต้องไม่มีโซ่ที่ล่ามขาของเขา”

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save