fbpx

ประเทศคอมมิวนิสต์ขี้เมาจริงหรือ?

เมื่อครั้งที่ผู้เขียนเดินทางไป สปป.ลาว และเวียดนามเมื่อสิบปีก่อน สหายร่วมทางท่านหนึ่งเปิดข้อสงสัยว่า “ทำไมคนในประเทศคอมมิวนิสต์ถึงกินเบียร์-สูบบุหรี่เยอะ?” ทั้งยังพูดถึงจีนที่คนดื่มเหล้าสูบบุหรี่เยอะ แม้คำถามจากวันนั้นจะเป็นมุมมองอัตวิสัยที่ยึดโยงกับภาพจำเสียมาก แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าประเทศคอมมิวนิสต์ดื่มเยอะจริงหรือ  

วัฒนธรรมการดื่มซึมอยู่ในสายเลือดของมนุษย์ทั่วทุกมุมโลกมาเนิ่นนาน แต่เมื่อกาลเวลาผันเปลี่ยน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลายเป็นสิ่งที่ไม่ดีและขัดหลักศีลธรรมในหลายประเทศ โดยมีรัฐเป็นตัวแสดงสำคัญที่พยายามสร้างวาทกรรมด้านลบเกี่ยวกับการดื่ม พร้อมปรามและโยนความผิดให้นักดื่มที่ไร้ความรับผิดชอบแบบเหมารวมจนกลายเป็นบรรทัดฐานสังคม

สังคมไทยเองก็เป็นสังคมที่มีการดื่มอย่างแพร่หลาย ถึงแม้ว่าภาพลักษณ์ต่อการดื่มของมึนเมาจะไม่ค่อยดีนักในสายตาคนหมู่มาก เมื่อสื่อมักจะนำเสนอข่าวด้านลบเกี่ยวกับการดื่ม ส่วนภาครัฐก็พยายามไล่ตีกรอบกลุ่มนักดื่ม รวมถึงผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หน้าใหม่ ไม่ว่าจะออกกฎหมาย ขึ้นภาษี ห้ามโฆษณา ห้ามต่างๆ นานา รวมถึงการสร้างวาทกรรมที่ทำให้การดื่มดูเลวร้าย ไม่ว่าจะเป็นคำพูดที่ว่า “จน เครียด กิน เหล้า” ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจที่ว่า การดื่มเหล้าทำให้ออกไปไม่พ้นวงจรความยากจน

มองลึกลงไปแล้วคงปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐไทยยึดโยงอยู่บนความเชื่อแบบพุทธ ดังนั้นการดื่มจึงกลายเป็นสิ่งที่ขัดกับความต้องการของรัฐและถูกมองว่าเป็นเรื่องบาป ซึ่งสิ่งที่ปรากฏชัดคือการประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางศาสนาพุทธ และโครงการที่หน่วยงานรัฐประโคมตลอด อย่างเลิกเหล้าเข้าพรรษา

ไม่แปลกที่บางประเทศมีทัศนคติแง่ลบต่อการดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะประเทศที่นำวิธีคิดทางศาสนาเข้ามาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการออกกฎหมาย กฎกติกาบ้านเมือง อย่างประเทศที่มีผู้นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ที่ใช้หลักศาสนาเป็นส่วนประกอบในการออกกฎหมาย เช่น ซาอุดิอาระเบียที่มีกฎหมายกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ครอบครองหรือนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนบรูไนมีกฎหมายกำหนดชัดว่าห้ามประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึงกล่อมเกลาประชากรให้มีทัศนคติด้านลบเกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์

ผู้เขียนจึงคิดต่อไปว่า หากเป็นกรณีของรัฐคอมมิวนิสต์ ทางการจะใช้เหตุผลทางวัฒนธรรมและศาสนาเข้ามาห้ามปรามผู้คนในการดื่มเหมือนรัฐพุทธหรือรัฐอิสลามบางแห่งหรือไม่ แล้วมีปัจจัยใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับทัศนคติด้านการดื่ม

รัฐกับบริษัทน้ำเมา

สำหรับประเทศที่มีรูปแบบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ อย่างเวียดนาม ลาว จีน หรือกลุ่มอดีตประเทศคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกที่วัฒนธรรมการดื่มฝังตัวเข้าไปในสังคมทุกชนชั้นและผู้คนในสังคมไม่ได้มุมมองลบต่อการดื่มมากนัก ในเวียดนามตัวเลขการดื่มแอลกอฮอล์ (รวมเบียร์) ในปี 2016 อยู่ที่ 8.3 ลิตร/คน/ปี[1] และมีทีท่าว่าจะเพิ่มขึ้นจากยอดการดื่มเบียร์ (ไม่รวมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ) ที่เพิ่มขึ้นจาก 0.9 ลิตร/คน/เดือน ในปี 2018 สู่ 1.3 ลิตร/คน/เดือน ในปี 2020[2]  ซึ่งคิดเป็น 15.6 ลิตรต่อปี

ขณะที่ สปป.ลาว เป็นประเทศที่มีพื้นฐานศาสนาพุทธเช่นเดียวกับประเทศไทย แต่การดื่มเบียร์หรือแอลกอฮอล์อื่นๆ ก็แฝงตัวอยู่ในวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็นประเพณีต่างๆ งานแต่งงาน หรือการดื่มเพื่อสังสรรค์ทั่วไป โดยในปี 2016 มีข้อมูลการดื่มแอลกอฮอล์อยู่ที่ 10.4 ลิตร/คน/ต่อปี[3] ส่วนไทยข้อมูลในปี 2016 และ 2017 ไม่ต่างกันมากโดย อยู่ที่ 8.3 และ 8.29 ลิตร/คน/ปี ตามลำดับ[4]

เมื่อพูดถึงการดื่ม หนึ่งในประเทศที่คนนึกถึงคือเยอรมนีที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมการดื่มมาอย่างยาวนาน แต่หากดูจากสถิติในปี 2016 ประเทศเพื่อนบ้านที่มีวัฒนธรรมการดื่มคล้ายเยอรมนีคือ สาธารณรัฐเช็ก ซึ่งเป็นอดีตรัฐคอมมิวนิสต์ มีปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 14.4 ลิตร/คน/ปี มากกว่าเยอรมนีซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 13.4 ลิตร/คน/ปี[5] และจากสถิติในปีเดียวกันนั้น อดีตประเทศคอมมิวนิสต์อื่นๆ ก็ติดอันดับต้นๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็น มอลโดวา ลิทัวเนีย ลัตเวีย บัลแกเรีย สโลวีเนีย รัสเซีย เอสโตเนีย และโปแลนด์ ที่ล้วนติดอยู่ใน 20 อันดับแรกของประเทศที่ดื่มแอลกอฮอล์เยอะที่สุด

สถิติการดื่มแอลกอฮอล์ในปี 2016 จาก Our World in Data

ดูเหมือนว่ารัฐบาลคอมมิวนิสต์จะไม่ได้ทำในลักษณะเดียวกับรัฐไทยหรือรัฐที่ใช้หลักศาสนาสร้างภาพผู้ร้ายให้กับนักดื่ม แต่เพียงแค่เตือนนักดื่มอย่างเป็นมิตร และไม่ได้ใช้เทคนิคข้อห้ามทางศาสนาเข้ามาห้ามนักดื่ม อย่างที่เหงียน กง ตุง (Nguyễn Công Tùng) ชาวเวียดนามซึ่งปัจจุบันเป็นนักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในไต้หวัน บอกว่า เมื่อก่อนเวียดนามมีแค่แคมเปญเมาไม่ขับและคำว่า ‘เมาไม่ขับ’ เป็นเพียงแค่บรรทัดฐานในสังคมเท่านั้น แต่เดิมยังไม่มีกฎหมายควบคุม และรัฐไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเอาศาสนามาปรามผู้ดื่ม 

อย่างไรก็ตามนอกจากที่ เหงียน กง ตุง พูดแล้ว ส่วนใหญ่แคมเปญเมาไม่ขับขับเคลื่อนโดยภาคประชาสังคม จนกระทั่งเกิดไวรัลในโลกอินเตอร์เน็ตกับภาพเหตุการณ์เด็กร้องไห้ข้างผู้เป็นแม่ที่ถูกรถชนจนนำไปสู่การประท้วงย่อมๆ ในฮานอย หลังจากนั้นรัฐก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวอย่างการออกกฎหมายดื่มห้ามขับและบังคับใช้เมื่อต้นปี 2020 ที่ผ่านมา[6] [7]

อีกหนึ่งข้อสังเกตคือเรื่องทางเศรษฐกิจ เมื่อมีปัจจัยส่งเสริมหนึ่งคือรัฐคอมมิวนิสต์เป็นเจ้าของกิจการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เสียเอง เช่น เบียร์ฮานอย ของบริษัทฮาเบโก (Habeco- Hanoi Beer Alcohol and Beverage Joint Stock Corp) ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าและบริษัทคาร์ลสเบิร์ก ส่วนบริษัทเบียร์ยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของเวียดนามอย่างเบียร์ไซ่ง่อน ของบริษัทซาเบโก (Sabeco – Saigon Alcohol Beer and Beverage Joint Stock Corporation) แต่เดิมผู้ถือหุ้นใหญ่คือกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ก่อนที่จะถูกบริษัทเครื่องดื่มไทยแห่งหนึ่งซื้อหุ้นกิจการไป

เช่นเดียวกับเบียร์ลาวที่ถือหุ้นโดยรัฐบาล สปป.ลาวร้อยละ 50 คาร์ลสเบิร์กร้อยละ 25 และผู้ถือหุ้นอื่นๆ อีกในจำนวนที่เหลือ ส่วนในจีนคือกรณีเบียร์ชิงเต่า (Tsingtao) ที่รัฐยึดบริษัทมาเป็นของรัฐในปี 1961 ก่อนที่จะแปรรูปเป็นเอกชนในปี 1990 มีข้อสงสัยว่า ในรัฐคอมมิวนิสต์นั้น นอกจากรัฐจะเป็นเจ้าของบริษัทผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว ยังมีนักการเมืองในพรรคคอมมิวนิสต์หรือสมาชิกโปลิตบูโรเข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจดังกล่าวด้วย จึงอาจส่งผลเชิงนโยบายที่ทำให้มีการห้ามปรามการดื่มน้อย

อย่างไรก็ตามอาจมีข้อโต้แย้งสำหรับรัฐที่เป็นเจ้าของกิจการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ แต่ไม่เป็นปัจจัยส่งเสริมการดื่มของผู้คน เช่น ในกรณีไต้หวันที่มีรัฐวิสาหกิจชื่อ Taiwan Tobacco & Liquor Corp หรือ TTL อย่างไรก็ตามรัฐบาลไต้หวันไม่ได้เข้าไปสั่งการหรือแทรกแซงกิจการของ TTL แต่ปล่อยให้รัฐวิสาหกิจของตัวเองแข่งขันในตลาดอย่างเสรี และด้วยกฎขององค์การการค้าโลกที่รัฐจะต้องเปิดเสรีในการแข่งขัน โดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐ (เรื่องนี้เกี่ยวกับการพัฒนาไต้หวันโดยเป็นลักษณะรัฐนำในการพัฒนา ประกอบกับการทำประเทศให้เป็นประชาธิปไตยในทศวรรษ 1980 ซึ่งจะแตกต่างกับคอมมิวนิสต์ที่รัฐต้องเป็นเจ้าของกิจการการผลิตทุกอย่าง ตามแบบลัทธิเลนิน) ดังนั้นรัฐวิสาหกิจในไต้หวันไม่ได้มีส่วนเกี่ยวโยงกับการออกกฎหมายห้ามดื่มจากรัฐแม้แต่น้อย

สังคมไต้หวันโดยทั่วไปยังมีภาพลบต่อการดื่มอยู่ โดยเฉพาะในบรรดาคนรุ่นใหม่ที่ผ่านการกล่อมเกลาจากสถาบันทางสังคม อย่างโรงเรียน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกของรัฐ ซึ่งภาครัฐได้ใช้กลไกของสถาบันในสังคม อย่างสถาบันการศึกษาหรือการรณรงค์ดื่มไม่ขับ เพื่อกล่อมเกลาให้คนในสังคมตระหนักรู้ รวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดและรุนแรง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนที่ดื่มแล้วขับรถยนต์หรือจักรยานยนต์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงยานพาหนะทุกชนิด เช่น จักรยาน โดยโทษปรับสูงสุดคือ 120,000 ดอลลาร์ไต้หวันใหม่ (ราว 140,407 บาท) และระงับใบขับขี่สองปี รวมถึงสภาพสังคมที่รักษาภาพลักษณ์ยึดติดอยู่กับขนบธรรมเนียมขงจื้อที่อย่างน้อยที่สุดคือผู้น้อยต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ เคารพกฎกติกาบ้านเมือง และสุดท้ายคือบทบาทของสื่อที่นำเสนอภาพลักษณ์ในแง่ลบของการดื่มแล้วนำไปสู่เหตุการณ์ไม่คาดฝัน อย่างช่อง TVBS ที่มักจะเสนอข่าวอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นประจำ

ดังนั้น ผู้เขียนมองว่ารัฐกับการผลิตแอลกอฮอล์มีความสัมพันธ์กัน ในกรณีของรัฐคอมมิวนิสต์ที่เป็นเจ้าของกิจการการผลิต ประกอบกับมีผลประโยชน์ทับซ้อนกันระหว่างนักการเมืองในพรรคคอมมิวนิสต์ (ในฐานะผู้กำหนดนโยบายและกฎหมาย) กับบริษัท ซึ่งจะกระทบต่อการออกนโยบายภาครัฐ อย่างเวียดนามที่กว่าจะได้กฎหมายห้ามดื่มแล้วขับก็ต้องรอถึงปี 2020 ส่วนไต้หวันที่รัฐไม่ได้เข้าไปแทรกแซงกิจการ แต่ปล่อยให้เกิดเสรีในการแข่งขันธุรกิจน้ำเมา แต่ใช้การห้ามผ่านกลไกรัฐ สถาบันของรัฐเพื่อควบคุมการดื่ม และสร้างภาพลักษณ์เสียมากกว่า ลักษณะเช่นนี้คล้ายกับกรณีของไทย อย่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับการรณรงค์ห้ามดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ทั้งๆ ที่รัฐเป็นเจ้าของโรงงานยาสูบ แต่รัฐใช้กลไกอื่น เช่นเดียวกับไต้หวันในการห้ามปรามนักดื่ม-สิงห์อมควันแทน

การส่งต่อวัฒนธรรมการดื่มในประวัติศาสตร์

หลายประเทศมีประวัติศาสตร์การดื่มมาอย่างยาวนาน แม้แต่ดินแดนที่ผู้คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามก็มีประวัติศาสตร์ในการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในบางพื้นที่ของจีนหรือแม้แต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากจะดื่มเพื่อสังสรรค์แล้ว การดื่มยังเข้าไปเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อ เช่น การเซ่นไหว้เจ้าที่ ไหว้ผี เป็นต้น

แต่เครื่องดื่มบางชนิด อย่างเบียร์ที่มีพื้นเพมาจากยุโรป ก็มีการส่งทอดต่อกันมาจากเจ้าอาณานิคมที่เข้าไปปกครองพื้นที่นั้นๆ นอกจากนี้กลุ่มชนชั้นนำหรือชนชั้นผู้ปกครองก็ยังเอาวัฒนธรรมการดื่มเข้าไปด้วย

ฝรั่งเศสนำเอาวิทยาการการบ่มไวน์เข้าไปในเวียดนามและสร้างไร่องุ่น พร้อมโรงบ่มไวน์ที่เมืองดาลัต รวมไปถึงการตั้งโรงงานผลิตเบียร์ครั้งแรกในเวียดนามเมื่อปี 1890 โดยชาวฝรั่งเศส ส่วนที่จีนเริ่มการบ่มเบียร์ครั้งแรกในปี 1903 โดยชาวเยอรมันที่เมืองชิงเต่า ซึ่งเดิมเป็นเมืองท่าที่ปกครองโดยเยอรมนี เช่นเดียวกันกับที่อินโดนีเซียมีบริษัทไฮเนเก้นเข้าไปตั้งโรงงานเบียร์ที่เมืองสุราบายา ในปี 1929

สำหรับรัฐที่เอารูปแบบคอมมิวนิสต์ไปใช้ปกครอง วัฒนธรรมท้องถิ่นที่เกี่ยวกับศาสนาอาจจะถูกกีดกันออกไปบ้าง แต่การดื่มก็ยังคงอยู่ สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือรัฐแรกๆ ที่ใช้ระบอบคอมมิวนิสต์อย่างในยุโรปตะวันออก ในงานของ Gintare Malisauskaite และ Alexander Klein บอกไว้ว่าในช่วงที่รัสเซียปฏิวัติกลายเป็นสหภาพโซเวียต ในช่วงเวลานั้นโซเวียตได้กลายเป็นแกนกลางอำนาจของบรรดารัฐคอมมิวนิสต์ต่างๆ ในยุโรปตะวันออก ซึ่งโซเวียตไม่ได้ส่งต่อระบอบการเมืองเท่านั้น แต่ยังส่งวัฒนธรรมการดื่มของชาวรัสเซียที่นิยมชมชอบในการดื่มจนซึมซับอยู่ในวัฒนธรรม หลังสงครามโลกครั้งที่สองชาวรัสเซียจำนวนไม่น้อยอพยพไปยังประเทศอื่นๆ ในยุโรปตะวันออกและนำวัฒนธรรมการดื่มติดตัวไปด้วย[8]

อย่างไรก็ตามการดื่มหนักในรัฐคอมมิวนิสต์เป็นไปได้ว่ามาจากการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมผ่านตัวบุคคล จากการที่โซเวียตเปิดโอกาสให้คนในรัฐคอมมิวนิสต์อื่นๆ ทั้งแรงงาน นักเรียน หรือกระทั่งผู้บริหารพรรคระดับสูงเข้าไปศึกษา อาศัย ดูงาน หรือแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่สหภาพโซเวียต ซึ่งคนเหล่านั้นอาจซึมซับวัฒนธรรมการดื่มกลับไปยังประเทศต้นทางคล้ายกับในประวัติศาสตร์ไทยที่กลุ่มชนชั้นสูง หรือกลุ่มคนบางกลุ่มที่นำวิทยาการ รวมไปถึงแฟชั่นสมัยนิยมจากต่างประเทศเข้ามาในไทย

อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจคือวัฒนธรรมการดื่มในโลกคอมมิวนิสต์ของเยอรมนีตะวันออก Thomas Kochan นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมันระบุในหนังสือของเขาว่า คนเยอรมันตะวันออกติดเหล้ามาก กระทั่งการติดสินบนเจ้าพนักงานก็สามารถใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทดแทนสิ่งของมีค่าได้ สถิติในปี 1988 ชาวเยอรมันตะวันออกดื่มไวน์ 12 ลิตรต่อปี ส่วนเบียร์ 146 ลิตรต่อปี

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นของที่มีทุกบ้าน ยิ่งในช่วง 1980 แอลกอฮอล์มีอิทธิพลอย่างมากในสังคม จนถึงขนาดที่นิตยสารสุภาพสตรีในเยอรมันตะวันออกแนะนำผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักว่าให้ดื่มวอดก้าและรับประทานแค่ไส้กรอกเท่านั้น[9] ในช่วงเวลาดังกล่าวเยอรมนีตะวันออกไม่กล้าพูดถึงผลร้ายที่มากับแอลกอฮอล์เท่าไรนัก จนกระทั่งจำนวนผู้ดื่มลดลงหลังเยอรมันตะวันออกเริ่มตระหนักและพูดถึงพิษภัยการดื่มแอกอฮอล์มากขึ้น

รัฐและขนบกำหนดสังคมการดื่ม

หนึ่งในสองปัจจัยสำคัญต่อการดื่มในสังคม คือ บทบาทจากรูปแบบของรัฐ เมื่อรัฐคอมมิวนิสต์ดูเหมือนว่าจะออมชอมกับการดื่มมากกว่า นอกจากรัฐจะเป็นเจ้าของกิจการผลิตสุราและเบียร์แล้ว รัฐคอมมิวนิสต์อาจรู้สึกอิหลักอิเหลื่อหากอ้างวัฒนธรรมโบราณหรือความดีงามทางศาสนา (ซึ่งมักจะแฝงเรื่องการแบ่งชนชั้นมาด้วย) มาเป็นเครื่องมือห้ามประชาชนดื่มและทำให้การดื่มดูเลวร้าย ซึ่งขัดกับหลักการความเท่าเทียมระหว่างชนชั้น

อย่างในไต้หวันที่สังคมการดื่มแตกต่างจากจีนแผ่นดินใหญ่อย่างมาก อันเนื่องมาจากรูปแบบของรัฐ เมื่อจีนผ่านการปฏิวัติวัฒนธรรม ส่วนไต้หวันยังคงรูปแบบสังคมแบบขนบธรรมเนียม แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาแต่ก็ยังมีกลิ่นอายของสังคมพื้นฐานขงจื้ออยู่ ขณะเดียวกันบทบาทของรัฐในการห้ามปรามและหน้าที่ของสถาบันต่างๆ ในสังคมก็ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อภาพลักษณ์ของนักดื่มซึ่งจะสะท้อนสู่ค่านิยมและลักษณะของวัฒนธรรมการดื่มในสังคมนั้นๆ

อีกปัจจัยคือประวัติศาสตร์สังคม ประเพณีและวัฒนธรรมการดื่มในประเทศหรือดินแดนนั้นๆ อย่างยุโรปตะวันตกที่วัฒนธรรมการดื่มหยั่งรากลึกลงไปนับหลายร้อยปีและเป็นไปอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎควบคุมการผลิตเบียร์ (Reinheitsgebot) ตั้งแต่ปี1516 ในบาวาเรีย เยอรมนี หรือย้อนกลับไปสู่วิทยาการการบ่มไวน์ตั้งแต่ยุคโรมัน

ในเอเชีย วัฒนธรรมการดื่มถูกส่งต่อจากตะวันตกสู่ตะวันออก และมีการปรับเปลี่ยนจากกระแสพลวัตทางสังคมในประเทศนั้นๆ เช่นในเอเชียตะวันออกที่นอกจากวัฒนธรรมการดื่มจะเป็นการดื่มสังสรรค์ระหว่างเพื่อนฝูงแล้วยังมีส่วนสำคัญในหน้าที่การงานอีกด้วย แต่กระนั้นก็ตามวัฒนธรรมการดื่มก็เป็นสิ่งที่ส่งต่อมาจากประวัติศาสตร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในกรณีเวียดนามที่ฝรั่งเศสเข้าไปมีอิทธิพลต่อความนิยมในการดื่มปัจจุบัน หรือกรณีประเทศอดีตคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกที่ส่งต่อวัฒนธรรมการดื่มมาจากประเทศต้นทางคืออดีตสหภาพโซเวียต

ทั้งนี้ การดื่มแอลกอฮอล์ล้วนอยู่ในทุกอารยธรรมบนโลกใบนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากภายนอกก็ส่งผลต่อการดื่มเช่นกัน ส่วนความเข้มงวดในการห้ามปรามการดื่มขึ้นอยู่กับค่านิยมในสังคม ศาสนา และผู้กำหนดนโยบาย ดังนั้นคำถามที่ว่าประเทศคอมมิวนิสต์ขี้เมาจริงหรือไม่ อาจไม่สำคัญเท่าการได้รู้จักความเป็นมาทางวัฒนธรรมและการกล่อมเกลาจากสถาบันทางสังคมที่ส่งผลต่อรสนิยมการดื่มในแต่ละสังคม


[1] Alcohol consumption across the world today.

[2] Tiêu thụ rượu bia ở Việt Nam tăng bất chấp dịch Covid-19 (คนเวียดนามบริโภคเบียร์เยอะขึ้นในช่วงโควิด-19).

[3] เรื่องเดียวกัน

[4] Alcohol consumption across the world today. และ รายงานสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสังคมไทย ประจำปี 2560

[5] Alcohol consumption across the world today.

[6] Vietnam’s Tough New Drunk-Driving Law Is Hurting Beer Sales.

[7] Directive on drunk driving prevention.

[8] Gintare Malisauskaite, Alexander Klein (2018). Drinking under communism: Why do alcohol consumption habits in Eastern Europe differ from the west in the long-run?.  Journal of Comparative Economics. 46. หน้า 821-837

[9] Research reveals widespread alcoholism in communist East Germany

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save