รวมผลงานครบชุด สารคดี "ณ" - บ้านของเขา เรื่องเราทุกคน

รวมผลงานครบชุด สารคดี “ณ” – บ้านของเขา เรื่องเราทุกคน

เมื่องานศิลปะบอกเล่าปัญหาสังคม

 

หากบางคนหายไป ชีวิตของเราจะสะดุดสะเทือนและไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

นี่ไม่ใช่คำโปรยหนังโรแมนติก หากเป็นความจริงของชีวิตคนเมือง ชีวิตปกติในแต่ละวันของเราขับเคลื่อนไปได้เพราะการมีอยู่ของผู้คนจำนวนมาก เราต่างเป็นหน่วยย่อยๆ ที่เชื่อมประสานกันเป็นวงจรใหญ่ เราอาจไม่รู้สึกว่าการมีอยู่ของเพื่อนร่วมเมืองบางคนมีผลต่อชีวิตเรา เพราะผู้คนเหล่านั้นไม่เคยหายไป แต่ถ้าลองจินตนาการถึงเช้าวันหนึ่งที่ตื่นมาแล้วไม่มีคนขับรถเมล์ ไม่มีวินมอเตอร์ไซค์ ไม่มีคนเก็บขยะ ไม่มีพ่อค้าแม่ขายที่เข็นรถเข็นริมทาง ไม่มียามรักษาความปลอดภัย เราน่าจะนึกภาพออกว่าชีวิตจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน

เพื่อนร่วมเมืองที่ช่วยกันขับเคลื่อนชีวิตของเราต่างใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่แห่งนี้ด้วยกัน เราพบเห็นตอนเขาทำงาน แต่ไม่ค่อยได้รับรู้ถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา โดยเฉพาะปัญหา

ในเมืองใหญ่ ในประเทศเดียวกัน มีคนจำนวนมากที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มคนรายได้น้อย และที่น้อยไปตามรายได้คือโอกาสและอำนาจในการต่อรอง บ่อยครั้งพวกเขาถูกกระทำโดยอำนาจที่สูงกว่าใหญ่กว่าอย่างอำนาจรัฐ ที่มักปรารถนาดีต่อ ‘คนส่วนใหญ่’ โดยออกนโยบายการจัดการแบบบนลงล่างและเอ่ยอ้างให้คนเล็กคนน้อยต้องคอยเสียสละอยู่เสมอ

การสร้างรถไฟฟ้าจึงเกิดขึ้นบนการไล่ที่ชาวบ้าน การสร้างเขื่อนกันน้ำท่วมจึงเกิดขึ้นบนการรื้อถอนบ้านคนจน ถนนเส้นใหม่ ทางด่วนยกระดับจึงตัดผ่านบ้านคนตัวเล็กตัวน้อย หรือการรักษาป่าก็เกิดขึ้นโดยการไล่ชาวบ้านที่อยู่กินมาเนิ่นนานให้ออกไปจากอาณาเขตที่เพิ่งขีดเส้นขึ้น และยังมีตัวอย่างอีกมากมาย

ปัญหาเหล่านี้ หากรีบตัดสิน เราอาจชี้ถูกชี้ผิดกันง่ายๆ แต่ถ้าลองใช้เวลา รับฟังเหตุผลให้ครบถ้วน สืบค้นประวัติความเป็นมา รวมทั้งมองปัญหาให้มากไปกว่าปัญหาเฉพาะหน้า แต่เชื่อมโยงไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่หมักหมมถมทับมาเนิ่นนาน เราอาจพบว่าแต่ละปัญหานั้นซับซ้อน และไม่ง่ายนักที่จะบอกว่าใครผิด

เช่นนี้จึงต้องใช้เวลา ต้องใจกว้าง ต้องเปิดใจ เปิดหู แล้วรับฟังที่มาของปัญหากันให้ถ้วนถี่ ก่อนที่จะรีบบอกว่าใครผิด

ไม่แน่ ตัวเราเองอาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ว่านี้ด้วยก็เป็นได้

ความยากอยู่ตรงที่ ชีวิตทุกวันนี้ถ่างเราออกจากกัน เรามีชีวิตของเรา เขามีชีวิตของเขา ลำพังปัญหาส่วนตัวก็ปวดหัวจะแย่แล้ว ทำไมต้องเสียเวลาไปฟังปัญหาของคนอื่นอีก

ปัญหาของคนจนจึงเป็นปัญหาที่คนจนต้องแก้เอง ต้องต่อสู้เอง นี่เป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายสำหรับคนที่ต้องการสื่อสารประเด็นนี้ให้ทุกคนเข้าใจ และอยากเข้าใจ

เมื่อ 101 ร่วมกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) และเครือข่ายที่ดินแนวใหม่ ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองแห่งชาติ (คทช.) ทำรายการสื่อสารปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจน จึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับพวกเราเป็นอย่างมาก แน่นอน เราคิดว่าเมืองของเรา ประเทศของเราจะน่าอยู่ยิ่งขึ้น หากผู้คนในสังคมมีจิตใจแบบพี่น้อง ร่วมรับรู้ถึงปัญหาของเพื่อนร่วมสังคมเดียวกัน และช่วยกันแก้ไข

แต่แค่ ‘รับรู้’ คงไม่พอ

ต้อง ‘รู้สึก’ ด้วย

เราขบคิดว่าจะสื่อสารอย่างไรให้ปัญหาที่ทั้งซับซ้อนและไกลตัวจะกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่คนสนใจ สิ่งหนึ่งที่คิดถึงคือ การสุนทรียะในการสื่อสาร ว่าง่ายๆ คือ สื่อยังไงให้สวยงาม น่าสนใจ และสนุก

สารคดีปัญหาคนจนไม่จำเป็นต้องเครียดและน่าเบื่อ

เราจึงเชิญชวนเพื่อนนักสร้างสรรค์สารพัดแขนงมาร่วมด้วยช่วยกันสร้างสรรค์สารคดีชุดนี้ขึ้นมา

ตั้งแต่ช่างภาพยียวนกวนเท่อย่างชาติฉกาจ ไวกวี ซึ่งจะรับหน้าที่เล่าเรื่องชุมชนคลองเตย และชุมชนที่ใช้ชีวิตอยู่กับกองขยะที่อ่อนนุชผ่านภาพถ่ายไอเดียกระฉูดของเขา

ศิลปินสื่อผสมแห่งยุคอย่าง Eyedropper Fill ที่จะมาสร้างสรรค์โปรเจ็กต์น่าตื่นตาเพื่อจะบอกเล่าความทุกข์ของชาวบ้านชุมชนเลียบรางรถไฟแถวพระรามหก ชุมชนโรคเรื้อนที่เนินสมบูรณ์ และความสำเร็จของชุมชนชุมแพ จ.ขอนแก่น

นักแต่งเพลงอย่างจุ๋ย จุ๋ยส์ ที่ลงพื้นที่จนได้แรงบันดาลใจในการเขียนเพลงขี้นมาจากดงขี้เหล็ก จ.ปราจีนบุรี และคลองหินปูน จ.สระแก้ว

บุ๊ค-บุญสมิทธิ์ พุกกะณะสุต เชฟที่เดินทางไปเยือนแม่ทา จ.เชียงใหม่ แล้วคิดเมนูอาหารจากวัตถุดิบพื้นถิ่น

กลุ่มละครเข้มข้นลึกซึ้งอย่างบีฟลอร์ ลงพื้นที่ชุมชนบางปู จ.ปัตตานี และเทือกเขาบูโด จ.นราธิวาส ชวนชาวบ้านมาทำการแสดงร่วมกัน

และชาว 101 ที่สร้างสรรค์สารคดีจากการลงพื้นที่คลองบางบัว โดยมีโตมร ศุขปรีชา เขียนบท และสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ ดำเนินรายการ

เราตั้งใจให้ศิลปะสร้างสะพานที่สวยงามเพื่อเชื่อมโยงเพื่อนในสังคมเข้าหากัน เพราะเชื่อว่าการรับรู้ปัญหาของกันและกันนั้นจะทำให้สังคมมีความเข้าอกเข้าใจและแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

ด้วยความเชื่อเช่นนั้น เราจึงมีสโลแกนสารคดีชุดนี่ว่า ‘บ้านของเขา เรื่องของเราทุกคน’

ในฐานะผู้จัดทำ พวกเราเห็นการผสมผสานผลงานของเหล่าศิลปินทั้งหลายแล้ว ต้องบอกว่ารสชาติจัดจ้านอย่างยิ่ง ตื่นเต้นอยากให้ผู้ชมได้ลิ้มรสกัน

สารคดีชุดนี้มีชื่อว่า ‘ณ’ ครับ

ณ ประเทศเดียวกัน ณ เมืองเดียวกัน ยังมีปัญหาอีกมากที่เราไม่เคยรู้ และน่ารู้ เพราะปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาของเพื่อนร่วมสังคม นั่นหมายความว่า เป็นปัญหาของเราเช่นกัน

ปัญหาเรื่องบ้านของเขา จึงเป็นเรื่องของเราทุกคน

สารคดี ‘ณ’ ออกอากาศทางช่อง Now 26 ทุกวันอาทิตย์ บ่ายโมงครึ่ง และทาง The101.world ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน จนถึงวันที่ 16 กรกฎาคม 2560 รวม 13 ตอนจบ

สะพานสร้างเสร็จแล้ว ข้ามไปมาหาสู่กันเถอะครับ

– นิ้วกลม –

………………..

 

โฮมเมด: อาหาร บ้าน เรา

 

 

สร้างสรรค์รายการ: เชฟบุ๊ค-บุญสมิทธิ์ พุกกะณะสุต และทีมงานยานแม่ ผู้ผลิตรายการ foodwork

ออกอากาศ: 23 เมษายน 2560

ร่วมสร้างศิลปะสะท้อนสังคมกับเชฟบุ๊ค – บุญสมิทธิ์ พุกกะณะสุต นักปรุงอาหารที่จะชวนคุณบุกป่าฝ่าดง พบเรื่องราวการจัดการผืนป่าแม่ทา และการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ พร้อมๆ กับการค้นหาวัตถุดิบระหว่างทางเพื่อสร้างสรรค์เมนูที่คุณไม่เคยเห็นจากที่ไหน

รับรองดูจบแล้วคุณจะรู้สึกอิ่ม และพร้อมลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงบ้านของคุณเอง

 

 

ข้างหลังภาพ ข้างหลังเมือง

 

 

สร้างสรรค์รายการ: ชาติฉกาจ ไวกวี

ออกอากาศ: 30 เมษายน 2560

ว่ากันว่า เมืองทุกเมืองมีสลัม! ยิ่งเมืองใหญ่เท่าไหน สลัมก็จะใหญ่ตาม ยิ่งเมืองพัฒนาเร็วเท่าใด สลัมก็จะขยายเร็วเป็นเงาตามตัว ในหลายเมือง ตึกใหญ่อาคารหรู กับ ‘แหล่งวิบัติ’ มีเพียงแค่ถนนกั้น

ภาพของพื้นที่ยากจนที่สุดในเมืองจึงบอกอะไรเกี่ยวกับเมืองและคนที่อยู่ในเมืองนั้นได้อย่างคาดไม่ถึง

‘กรุงเทพฯ’ กับ ‘คลองเตย’ ก็เป็นเช่นนั้น

ชาติฉกาจ ไวกวี ช่างภาพผู้มีสายตาเป็นอาวุธ จะชวนคุณลัดเลาะเข้าไปในชุมชนคลองเตยเพื่อถ่ายภาพของผู้คนในคลองเตย …. ภาพที่มีพวกเราทุกคนอยู่ในนั้น

 

 

ย้ายรัง

 

 

สร้างสรรค์รายการ: Eyedropper Fill

ออกอากาศ: 7 พฤษภาคม 2560

ในสังคมบิดเบี้ยว ชีวิตสบายๆ ของคนกลุ่มหนึ่งมักแลกมาด้วยความยากลำบากของคนอีกกลุ่มอยู่เสมอ ไม่ว่าความลำบากนั้นจะหมายถึงเรื่องใหญ่อย่างการจากบ้านเกิดมาเป็นแรงงานรับจ้างค่าแรงต่ำในเมือง หรือเรื่องรูปธรรมอย่างการสละที่ซุกหัวนอน ไม่ว่าจะโดยสมัครใจหรือไม่ ในนามแห่ง ‘ความเจริญของเมือง’ ก็ตาม

ชาวชุมชนพระราม 6 เป็นหนึ่งในนั้น พวกเขาต้องย้ายบ้านไม่ต่ำกว่า 4 ครั้งในรอบ 3 ปี เพื่อรถไฟฟ้าสายสีแดงที่ ‘คนกรุงเทพมหานคร’ (น่าสนใจว่าคำนี้นับรวมใคร หรือคัดใครทิ้งไปบ้าง?) เฝ้ารอคอย

วิถีชีวิตและความสะดวกสบายของคนเมืองถูกสร้างทับบนอะไรและใครบ้าง

Eyedropper Fill มัลติมีเดียดีไซเนอร์ที่น่าจับตาที่สุดในยุคนี้ ชวน ปัท – ปรัชญพร วรนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะบำบัด ลงพื้นที่สำรวจชีวิต ความจริง และความฝัน ของชาวชุมชนพระราม 6 เมื่อ สารคดี + มัลติมีเดีย + ศิลปะบำบัด งานสร้างสรรค์ชิ้นนี้จะออกมาเป็นเช่นไร และบอกอะไรกับเรา

 

 

เสียงของคลอง

 

 

สร้างสรรค์รายการ: นิ้วกลม-สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ และทีมงาน 101

ออกอากาศ: 14 พฤษภาคม 2560

ในเมืองใหญ่คลองเป็นอะไรได้หลายหลาก ตั้งแต่ตลาด ทางสัญจร สถานที่หย่อนใจ กระทั่งเป็น ‘ท่อระบายน้ำ’ ก็ยังได้หากวิสัยทัศน์ของเมืองเป็นแบบนั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไร สำหรับคนริมคลองแล้ว คลองคือ ‘บ้าน’

หลังเผชิญวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ชาวบ้านริมคลองลาดพร้าวประมาณ 70,000 คนต้องย้ายออกจาก ‘บ้าน’ ของตัวเอง เพราะ ‘คลองลาดพร้าว’ กำลังจะถูกแปลงสภาพให้กลายเป็น ‘เขื่อน’ หรือ ‘ทางระบายน้ำ’ เพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือปกปักรักษาพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน ยับยั้งความเสียหายไม่ให้กล้ำกรายศูนย์กลางเศรษฐกิจใหญ่ของประเทศ

ชุมชนริมคลองลาดพร้าวกลุ่มหนึ่งได้รวมตัวกันต่อสู้ ต่อรอง และพิสูจน์ให้เห็นว่า คน คลอง และการพัฒนาเมือง สามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้ หากว่า ‘เสียงของคลอง’ ไม่โดน ‘เสียง’ ของเครื่องจักรที่ไล่รื้อถอนบ้านกลบไปเสียก่อน

นิ้วกลม-สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ นักเขียน ครีเอทีฟ และผู้กำกับ จะชวนพวกเราเดินทางไปฟัง “เสียงของคลอง” ในวันที่ความเปลี่ยนแปลงเข้ามาเขย่า ณ ประตูบ้านของพวกเขา เสียงที่ต้องใช้ ‘หัวใจ’ ในการฟัง และร่วมกันค้นหาคำตอบเกี่ยวกับทางออกของชีวิตผู้คนที่ร่วงหล่นบนเส้นทางการพัฒนา

 

 

ขีด/ข้าม/เส้น

 

 

สร้างสรรค์รายการ: B-Floor Theatre

ออกอากาศ: 21 พฤษภาคม 2560

ในนามของความหวังดี รัฐมักสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนแบบไม่รู้ตัว

การอนุรักษ์ป่าเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า รัฐเชื่อว่าคนเป็นต้นเหตุของการทำลายป่า การอนุรักษ์ป่าจึงเป็นการทำให้ป่าปลอดจากคน โดยการกำหนดเขตพื้นที่ป่าและพื้นที่คน ‘มัก’ ทำแบบ ‘ง่ายๆ’ ด้วยการกางแผนที่แล้วขีดทับ โดยไม่สนใจว่าในพื้นที่จริงคนและป่าอยู่กันอย่างไร

ผู้คนในเทือกเขาบูโด – สุไหงปาดี อยู่ร่วมกับป่าและใช้ประโยชน์จากป่ามากว่า 300 ปี แต่เพียงแค่รัฐลากเส้นไม่กี่ที พวกเขากลับกลายมาเป็นผู้บุกรุกในดินแดนที่อยู่กันมาหลายชั่วคน และตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา ชาวบ้านบูโด-สุไหงปาดีลุกขึ้นมาต่อสู้กับ ‘เส้นแบ่ง’ ที่ถูกแบ่งจากคนข้างนอก โดยไม่ได้ฟังเสียงคนข้างใน

B-floor Theatre กลุ่มละครเวทีแนววิพากษ์สังคมจะพาเราไปรู้จักเทือกเขาบูโดและเรื่องราวของผู้คนที่นั่น เพื่อสร้างสรรค์การแสดงร่วมกับคนในพื้นที่ … และบางทีเราอาจได้เห็นว่า ‘เส้นแบ่ง’ ที่ชัดที่สุด คือ ‘เส้น’ ในหัวของเรานั่นเอง

 

 

ทำนองน้ำ

 

 

สร้างสรรค์รายการ: จุ๋ยจุ๋ยส์ – สุทธิพงศ์ สุทินรัมย์ และทีมงานยานแม่

ออกอากาศ: 28 พฤษภาคม 2560

ในทางทฤษฎี น้ำเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่สุดของชีวิต หากไม่มีน้ำคงไม่มีใครอยู่ได้ แต่ในชีวิตจริง น้ำแต่ละพื้นที่กลับมีความหมายแตกต่างกันอย่างคาดไม่ถึง

ในบางพื้นที่ น้ำคือ ‘ชีวิต’ ที่หล่อเลี้ยงผู้คน และเป็น ‘สายใย’ ที่เชื่อมร้อยคนในพื้นที่เข้าด้วยกัน การจัดการปัญหาเรื่อง ‘น้ำ’ ไม่ว่าน้ำท่วม น้ำแล้ง หรือน้ำเน่า แยกไม่ออกจากการจัดการชีวิตและความสัมพันธ์ของผู้คนรายรอบสายน้ำนั้น

‘ทำนองน้ำ’ ของพื้นที่แบบนี้จึงมีเสน่ห์เฉพาะตัวที่น่าฟัง

จุ๋ยจุ๋ยส์ – สุทธิพงศ์ สุทินรัมย์ ศิลปิน นักร้อง นักแต่งเพลง ผู้เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขัน และทีมงานยานแม่ จะอาสาพาเราไปสำรวจท่วงทำนองของดงขี้เหล็ก เพื่อเรียนรู้การจัดการน้ำและที่ดินที่มีประสิทธิภาพ ทั้งยังช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้คนในชุมชน

ฟังเสียงน้ำของที่นี่ บางทีเราอาจนึกถึงเสียงน้ำในบ้านของตัวเอง

 

เสียงแคนในแผ่นดินอื่น

 

 

สร้างสรรค์รายการ: จุ๋ยจุ๋ยส์ – สุทธิพงศ์ สุทินรัมย์ และทีมงานยานแม่

ออกอากาศ: 4 มิถุนายน 2560

สำหรับวิถีชีวิตเมือง การไม่มีที่ทำกินคงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ คนเมืองเพาะปลูกความมั่งมีผ่านการทำมาหาได้ในอาคาร ทั้งยัง เข้าถึงอาหารผ่านทางระบบการผลิตที่ซับซ้อน

แต่ห่างออกไปในวิถีชีวิตชาวชนบทผืนแผ่นดินคือของจริง เพราะปัจจัยทุกอย่างที่จำเป็นในชีวิตของเขาล้วนตั้งอยู่บนดิน การไม่มีที่ทำกินจึงอาจหมายถึงการไม่สามารถมีชีวิตที่ดีได้

กระนั้น การรักษาผืนแผ่นดินภายใต้กระบวนการพัฒนาอันบิดเบี้ยวและระบบจัดการที่ดินที่ไม่เป็นธรรมก็ไม่ใช่เรื่องง่าย บทเรียนของผู้ที่ทำสำเร็จจึงมีค่าและควรศึกษาเรียนรู้

จุ๋ยจุ๋ยส์ สุทธิพงศ์ สุทินรัมย์ ศิลปิน นักแต่งเพลง จะชวนเราไปสัมผัสเสียงแคนจากแดนอีสาน ณ คลองหินปูน จังหวัดสระแก้ว เพื่อเรียนรู้การจัดการเงินและที่ดินซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นให้อีกหลายพื้นที่ได้มีความหวังในการสร้างอาชีพบนผืนดิน ทั้งยังช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้คนในชุมชน

 

 

ชีวิตที่ (ไม่) สมบูรณ์

 

 

สร้างสรรค์รายการ: Eyedropper Fill

ออกอากาศ: 11 มิถุนายน 2560

ใครก็รู้สึกไม่ดีกับการ ‘ไม่ถูกยอมรับ’ จากคนใกล้ตัวหรือกระทั่งจากสังคมกันทั้งนั้น

สายตาเหยียดหยามและรังเกียจ การถูกกีดกันโอกาส คือส่วนหนึ่งของความไม่ยอมรับที่ชาวบ้านจาก ‘ชุมชนโนนสมบูรณ์’ ต้องเผชิญ แม้ว่า ‘โรคเรื้อน’ อันเป็นที่กล่าวขานจะจางหายไปเนิ่นนานแล้วก็ตาม

กว่า 50 ปีมาแล้ว การต่อสู้เพื่อเรียกคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยลบคำว่า ‘นิคมโรคเรื้อน’ ให้เป็นชุมชน ‘โนนสมบูรณ์’ ยังคงต้องดำเนินต่อไป เพื่อเปลี่ยนพื้นที่ซึ่งเคยเป็นสถานกักกันโรคในอดีต ให้กลายเป็น ‘บ้าน’ ในปัจจุบันที่พวกเขาภูมิใจและกล้าเรียกบอกใครๆ ได้เต็มปาก

“เราใช้เวลาทั้งหมดนี้เพื่อเยียวยาพวกเขา -ผู้ป่วยโรคเรื้อน- ให้หายขาด หรือเพื่อเยียวยาพวกเราให้พร้อมต้อนรับผู้ป่วยเหล่านี้กลับสู่สังคม”

Eyedropper Fill กลุ่มศิลปินที่ใช้สายตาอันเฉียบคม และหัวใจที่พร้อมเรียนรู้และรับฟังเสียงของชาวบ้าน สร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่จะทำให้คุณเข้าใจความรู้สึกเบื้องลึกของอดีตผู้ป่วยโรคเรื้อน และเติมเต็มชีวิตของพวกเขาจนไม่เหลือช่องว่างระหว่างเราอีกต่อไป

 

 

บ้านคือชีวิต

 

 

สร้างสรรค์รายการ: Eyedropper Fill

ออกอากาศ: 18 มิถุนายน 2560

‘บ้าน’ คือหนึ่งในปัจจัยสี่ของคนทุกคน แต่เมื่อบ้านของหลายคนมารวมกันจนกลายเป็น ‘ชุมชน’ คำถามที่ตามมาคือ จะเป็นไปได้ไหมที่เราจะลองออกแบบชุมชน เหมือนกับการออกแบบบ้านของตัวเองบ้าง

ชุมแพ ชุมชนเล็กๆ ในจังหวัดขอนแก่น คือตัวอย่างของการร่วมมือกันออกแบบชุมชนระหว่างคนอาศัยและหน่วยงานรัฐ กลายเป็น ‘หุ้นส่วนการพัฒนา’ ระหว่างกัน

เพื่อเป้าหมายใช่เพียงแค่ชุมชนที่ดี ระบบอาหารแบบจัดการกันเอง เสริมความแข็งแกร่งของผู้คน แต่ยังเป็น ‘เมือง’ ที่พัฒนาขึ้นด้วย

พบกับบทสรุปจากการเรียนรู้ ‘บ้านของเขา’ ทั้งสามตอนของกลุ่ม Eyedropper Fill ว่าพวกเขาชวนพวกเราตั้งคำถาม สร้างบทเรียนใหม่ๆ ให้กับ ‘เรื่องของเราทุกคน’ ได้อย่างไร

 

 

ไอ เลิฟ บางปู

 

 

สร้างสรรค์รายการ: B-floor Theatre

ออกอากาศ: 25 มิถุนายน 2560

เมื่อชุมชนขยายตัวจนตึกรามบ้านช่องเริ่มจะแออัดและกลายเป็นสลัมที่มีสภาพไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิตได้อย่างที่ถูกที่ควร หลายคนคงเสนอทางแก้ด้วยการย้ายสมาชิกในชุมชนออกไปสร้างที่อยู่ใหม่ โดยหวังว่าจะช่วยลดความแออัดของชุมชน และยกระดับคุณภาพของชุมชนให้ดีขึ้น

แต่นั่นจะเป็นทางออกที่เหมาะสมจริงหรือ

หากในตอนนั้น ‘บางปู’ ได้เลือกที่จะจัดการปัญหาตามที่ว่าไปนี้ เราคงไม่มี ‘บางปู’ อย่างที่หลายคนรู้จักกันในปัจจุบัน

ในปัจจุบัน ‘บางปู’ คือ ชุมชนประมงชาวมุสลิมในจังหวัดปัตตานี ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและป่าชายเลนที่สำคัญของประเทศ แต่ใครจะรู้ว่าแต่เดิมนั้น บางปูประสบปัญหาจากการเป็นชุมชนแออัดอย่างมากจนทำให้คนในชุมชนแทบไม่เห็นทางออก ชาวบางปูเริ่มตั้งคำถามและหาความเป็นไปได้ใหม่ในการจัดการบ้านและชุมชน

B-floor Theater กลุ่มละครเวทีที่รักในการทำงานสะท้อนปัญหาสังคม จะพาพวกเราไปรู้จักกับชุมชนบางปู และวิธีการจัดการปัญหาด้านที่อยู่อาศัยของชาวบางปู ผ่านการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมกับชาวบางปูเพื่อส่งผ่านเรื่องราวการต่อสู้ของชุมชนไปสู่ลูกหลาน

และเราอาจจะได้เห็นว่า การแก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยสำหรับคนจน ยังมีอีกหลากหลายวิธีที่เป็นไปได้

 

 

ของที่ถูกทิ้ง คนที่ถูกขว้าง

 

 

สร้างสรรค์รายการ: ชาติฉกาจ ไวกวี

ออกอากาศ: 2 กรกฎาคม 2560

เมื่อ ชาติฉกาจ ลงพื้นที่ ณ ชุมชนกองขยะหนองแขม

ในขณะที่เมืองบริโภคอย่างมากมายราวกับว่าทรัพยากรที่ใช้ไม่มีวันหมด คนจำนวนไม่น้อยกลับต้องยังชีพด้วยขยะที่เมืองทิ้งไว้

สำหรับ ‘ชุมชนกองขยะหนองแขม’ ภูเขาขยะที่กรุงเทพทิ้งไว้อย่างไร้ค่า คือ แหล่งที่มารายได้ อาชีพ กระทั่งกลายเป็น ‘บ้าน’ ทั้งในเชิงกายภาพและในความผูกพัน

ชาติฉกาจ ไวกวี ช่างภาพผู้มีสายตาเป็นอาวุธจะชวนไปสำรวจว่า จากคนที่ถูกทิ้งจากกระบวนการพัฒนา ชาวชุมชนกองขยะหนองแขมตามหาความฝันที่จะมีบ้านของตัวเองได้อย่างไร

 

 

แบบบ้าน แบบชีวิต

 

 

สร้างสรรค์รายการ: นิ้วกลม-สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ และทีมงาน 101

ออกอากาศ: 9 กรกฎาคม 2560

เมื่อ นิ้วกลม ลงพื้นที่ ณ คลอง 22

ในเมืองใหญ่มีสิ่งปลูกสร้างมากมายหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรู ห้องแถว อาคารพาณิชย์ คอนโด ตึกขนาดใหญ่ทั้งรูปทรงธรรมดา หรือว่าตึกเก๋สุดล้ำ ทุกคนคงรู้กันดีอยู่แล้วว่า คนที่ออกแบบตึกและอาคารเหล่านี้ คือ สถาปนิก

สถาปนิกเลยมักเป็นเรื่องของคนเมืองและคนรวยเสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนคนรายได้น้อย การใช้บริการสถาปนิกดูจะเป็นเรื่องที่ไกลตัว

แต่นั่นยังไม่ใช่ทั้งหมดของอาชีพ ‘สถาปนิก’

ยังมีสถาปนิกอยู่กลุ่มหนึ่งที่ความเชื่อ ความคิด ความฝัน และความสุขของพวกเขา คือ การได้ใช้ทักษะและวิชาความรู้ในการออกแบบบ้าน ออกแบบชีวิต และออกแบบชุมชนให้กับคนที่มีรายได้น้อย คนกลุ่มนี้คือ “สถาปนิกชุมชน”

นิ้วกลม-สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ ชวนคุณผู้ชมไปสำรวจคุณค่าและความหมายของสถาปนิกชุมชน จากคน 3 รุ่น สถาปนิกรุ่นใหม่ คนหนุ่มสาวไฟแรงที่รู้สึกว่าอาชีพสถาปนิกกระแสหลักไม่ตอบโจทย์ สถาปนิกรุ่นกลางที่มองการทำงานกับชุมชนเป็นการค้นหาคำตอบของชีวิต และสถาปนิกรุ่นใหญ่ที่อิ่มตัวกับความสำเร็จกับการออกแบบรีสอร์ทหรูหลักร้อยล้านบาท

 

 

ขบวนการคนจนเมือง

 

 

สร้างสรรค์รายการ: B-floor Theatre

ออกอากาศ: 16 กรกฎาคม 2560

เมื่อ B-floor ลงพื้นที่ ณ บ้านของเรา

“ถ้าไม่มีบ้าน ชีวิตจะเป็นอย่างไร?”

หลายคนอาจจะตอบไม่ได้ เพราะไม่เคยตั้งคำถามหรือจินตนาการถึงมัน แต่คนกลุ่มหนึ่ง กลับต้องเผชิญกับคำถามนี้ตลอดเวลา ทุกวัน ทุกชั่วโมง และทุกนาที

คนกลุ่มนี้คือ “คนจนเมือง”

แม้จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองผ่านอาชีพการงานที่หลากหลาย ทว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ‘บ้าน’ ของพี่น้องคนเมืองมักโดนตีตราให้กลายเป็น ‘สลัม’ และกลายเป็นปัญหาสำคัญสำหรับการพัฒนาเมือง กระทั่งหลายต่อหลายครั้ง กลายเป็นเป้าหมายของการถูกไล่รื้อ

B-floor Theatre กลุ่มละครเวทีแนววิพากษ์สังคมจะพาพวกเราไปเข้าใจ ‘พวกเขา’ ในฐานะ ‘ขบวนการคนจนเมือง’ ให้มากขึ้น เพื่อไปสัมผัสถึงเรื่องราวการต่อสู้ของคนจนเมือง ซึ่งเป็นการต่อสู้เพื่อรักษาบ้านหลังสุดท้าย และยืนหยัดความเป็นคนของตนเอง

ทั้งหมดนี้อาจทำให้พวกเราเข้าใจได้ว่า ทำไม “บ้านของเขา จึงเป็นเรื่องของเราทุกคน”

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save