fbpx

‘ดับชีวิน ไม่สิ้นศรัทธา’ ต่อต้านการถูกลืม สถาปนาความทรงจำต่อ ‘ครอง จันดาวงศ์’ และ ‘ทองพันธ์ สุทธิมาศ’

สว่างแดนดิน, สกลนคร

พระอาทิตย์ใกล้ตกดิน สว่างแดนดินปกคลุมด้วยฟ้าที่กำลังเปลี่ยนสีตัวเองให้มืดลง ถนนเส้นใหญ่ในตัวอำเภอมีรถวิ่งสัญจรคล่องตัว กวาดสายตารอบๆ ที่นี่ดูเป็นเมืองที่ผู้คนไม่พลุกพล่าน แม้เป็นอำเภอใหญ่ แต่ไม่ได้วุ่นวายหรือคึกคักอย่างที่คิด

ยิ่งเลี้ยวรถเข้าถนนย่อยๆ ตามคำสั่งของแอปพลิเคชันแผนที่ หมู่บ้านต่างๆ ไม่มีสัญลักษณ์บ่งบอกถึงกิจกรรมสำคัญที่จะเกิดขึ้นในช่วงนี้ จนกระทั่งรถเข้ามาถึงพื้นที่กลางซอยหนึ่งที่มีแสงไฟนีออนสว่างกว่าที่อื่นๆ และน่าจะเป็นเพียงสถานที่เดียวในละแวกนี้ที่มีรถจอดเรียงรายอยู่ด้านหน้า เป็นเหมือนสัญลักษณ์บอกคนต่างถิ่นให้รู้ว่าจุดหมายที่ปักหมุดไว้อยู่ตรงหน้าแล้ว ก่อนเสียงดนตรีจะเรียกให้คนลงจากรถไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงาน

เวทีติดป้ายไว้ว่า ‘วีรบุรษประชาธิปไตยครูครอง จันดาวงศ์ ดับชีวิน ไม่สิ้นศรัทธา’ นี่คืองานรำลึกครบรอบ 61 ปีการประหารครอง จันดาวงศ์ และทองพันธ์ สุทธิมาศ ครูประชาบาลผู้เป็นปากเป็นเสียงให้กับความทุกข์ยากของชาวบ้าน 

ชื่อของครองเป็นที่รู้จักและพูดถึงมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีมานี้ หลังจากคนรุ่นใหม่หยิบเอาวาทะ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” มาใช้ในขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง จึงเป็นดั่งการปลุกให้คำพูดของครูที่สนับสนุนแนวคิดประชาธิปไตยได้มีลมหายใจอีกครั้ง 

เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเกือบ 6 ทศวรรษที่ผ่านมา เรื่องราวของ ‘ครูครอง’ และ ‘ครูทองพันธ์’ เหมือนแดนต้องห้ามที่ไม่มีใครกล้ากล้ำกรายเข้าถึง หลังจากมีคำสั่งประหารชีวิตพวกเขาในข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดนและคอมมิวนิสต์ ลงนามโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2504 ทำให้ญาติสนิทมิตรสหายไปจนถึงชาวบ้านผู้เคยศรัทธาเริ่มหวาดกลัวจะถูกเหมารวมเป็นพวก ‘คอมมิวนิสต์’ ผู้คนจึงถอยห่าง ไม่กล้ายุ่งแม้แต่กับร่างกายของผู้สูญเสียในวาระสุดท้าย เสียงปืน 90 นัดในวันนั้นจึงเป็นการส่งเสียงให้ประวัติศาสตร์ครูแห่งลุ่มน้ำโขง ชี มูล เงียบสงบไปพร้อมๆ กับความทุกข์ยากของชาวบ้านไปจนถึงหมู่มวลของความยุติธรรมในสังคม

การจัดงานรำลึกในวาระ ‘ดับชีวิน’ ของครูประชาบาลแห่งสว่างแดนดินนี้ จึงเกิดจากจุดมุ่งหมายที่ไม่ต้องการให้อาการ ‘สิ้นศรัทธา’ เกิดขึ้นในสังคมที่ยังคงต้องต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่ ผู้คนจากต่างพื้นที่จึงเดินทางมารวมตัวกัน ขับเคลื่อนความเชื่อ แสดงความศรัทธาต่อ ‘ผู้มาก่อนกาล’ ด้วยกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม ทั้งขับร้องบทเพลง บรรเลงดนตรี อ่านบทกวี ในค่ำคืนก่อนวันครบรอบการประหารครูครองและครูทองพันธ์ 

“ในฐานะคนที่อยู่พื้นที่นี้มานานพอสมควร ขอแสดงความต้อนรับพี่น้องทั้งที่มารวมกัน ณ วันนี้ รวมทั้งที่ติดตามในโซเชียล วันนี้ดีใจได้เจอพี่น้องมากหน้าหลายตา” วิชาญ ฤทธิธรรม อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร หนึ่งในหัวเรือใหญ่ของการจัดงานครั้งนี้กล่าวบนเวที 

“กิจกรรมที่จะเกิดต่อไปนี้ขอให้เป็นไปตามอุดมคติ อุดมการณ์ในหัวใจของเราที่มาเติมต่อเชื่อมโยงกัน วันนี้มาตุ้มโฮมรำลึกถึงวีรบุรุษประชาธิปไตย เต็มไปด้วยงานศิลปะ งานความคิดที่มาร่วมกัน” เขากล่าวย้ำ และส่งต่อหน้าที่ทางวัฒนธรรมให้วงดนตรีต่างๆ ได้ขับกล่อมอุดมการณ์ค่ำคืนนี้ ก่อนที่วันถัดไปจะเริ่มพิธีการรำลึกที่จัดให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมและลงพื้นที่ไปยังดินแดนประหารเมื่อ 61 ปีที่แล้ว

ฉากชีวิต อุดมการณ์ความคิดของ ‘ผู้มาก่อนกาล’  

เช้าวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ผู้คนทยอยเดินทางมายัง ‘ศูนย์การเรียนรู้ครูครอง จันดาวงศ์’ ตามนัดหมาย จากพื้นลานกว้างที่มีแต่เก้าอี้สีขาวว่างเปล่าเมื่อค่ำคืนที่ผ่านมา ตอนนี้เต็มไปด้วยนักเรียนวัยประถมฯ และมัธยมฯ ยืนพูดคุยกัน จุดสนใจของทุกคนคือป้ายข้อมูลในเต็นท์สีขาวที่บอกเล่าเรื่องราวครูครองและครูทองพันธ์ในวันเข้าสู่หลักประหาร

“ในฐานะที่ผมเป็นครู ได้สัมผัสกับเด็กรุ่นใหม่ที่สนใจการเมืองมากขึ้นๆ ถามว่าเด็กเคยได้ยินชื่อครูครอง จันดาวงศ์ไหม เคยนะ เพราะคำขวัญอำเภอสว่างแดนดินบันทึกเรื่องครูครองไว้เลยว่า ‘ถิ่นวีรชนคนกล้า’” อาทิตย์ บัญชา ครูโรงเรียนสว่างแดนดินผู้พานักเรียนมาร่วมงานรำลึกตอบคำถาม

“แต่ถ้าถามถึงเรื่องราวของครูครองเป็นอย่างไร เด็กไม่รู้เท่าไหร่ น้อยคนมากๆ ที่จะรู้ว่าครูครองทำอะไร ผลักดันเรื่องอะไร และสร้างคุณูปการต่อคนในสว่างแดนดินอย่างไร” ครูหนุ่มวัย 29 ปียอมรับ 

อาทิตย์ บัญชา ครูโรงเรียนสว่างแดนดิน

เนื้อหาที่ผู้มาร่วมงานจะได้อ่านนั้นมีตั้งแต่ประวัติจังหวัดสกลนคร การเกิดขึ้นของขบวนการสันติภาพ ซึ่งครูครองเป็นกำลังหลักในการดำเนินงานในภาคอีสาน และประวัติโดยสังเขปของครูครองที่เล่าตั้งแต่การเติบโตในครอบครัวเชื้อสายไทย้อ เข้าเรียนโรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล จนจบประโยคครูมัธยม และได้เป็นครูประชาบาลหลังจากนั้น  

การเข้าสู่การเมืองของครูครองนั้นเริ่มต้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เมื่อมีกระบวนการเลือกตั้งผู้แทนอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นในปี 2480 ทำให้ข้าราชการครู นักหนังสือพิมพ์ และอดีตข้าราชการระดับสูงได้ร่วมลงเลือกตั้ง หนึ่งในนั้นคือเตียง ศิริขันธ์ เพื่อนของครูครองที่ลงสมัครในตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสกลนคร[1] 

ครูครองไม่ได้มีความสนใจหรือมีความรู้เรื่องการเมืองมาก่อน การตามติดและให้ความช่วยเหลือเพื่อนในการหาเสียง ทำให้เขาได้ทำความรู้จักกับการเมือง ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่สนามเต็มตัวมากขึ้นด้วยการเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยจากการเชิญชวนของเพื่อนผู้เป็น ส.ส. สกลนคร[2]

“ตอนนั้นผมนั่งฟังพ่อพูด ความคิดทางการเมืองอย่างเดียวที่แกแสดงออก คือชื่นชมครูเตียง เพื่อนว่าอะไรดีก็ดี เพื่อนว่าอะไรถูกก็ถูก แล้วกลุ่มครูเตียงเป็นผู้แทนที่ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ความคิดแกก็เลยสังกัดอยู่กลุ่มนี้” วิทิต จันดาวงศ์ ในวัย 83 ปี ลูกชายครูครอง จันดาวงศ์ ย้อนความทรงจำเมื่อ 60 ปีที่แล้ว เขายังคงจำเรื่องราวต่างๆ ได้ดี และยินดีพูดคุยถึงเรื่องในอดีตก่อนเริ่มพิธีรำลึกในวันนี้ 

วิทิต จันดาวงศ์ ลูกชายครูครอง จันดาวงศ์

ปี 2484 รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตัดสินใจเข้าร่วมกับญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ปรีดี พนมยงค์ และ ส.ส. กลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วย จึงเคลื่อนไหวใต้ดินในนาม ‘ขบวนการเสรีไทย’ โดยเตียงช่วยดูแลในเขตภาคอีสาน ในงานนี้ ครูครองจึงได้รับมอบหมายให้ช่วยเหลือในหลายด้าน โดยเฉพาะการชวนชาวบ้านเข้าฝึกอาวุธ การจัดตั้งค่ายฝึกพลพรรคเสรีไทย ลำเลียงอาวุธ ทำสนามบินลับ ด้วยงานที่ต้องรับผิดชอบและความศรัทธาต่อเพื่อน ครูครองจึงลาออกจากการเป็นครูใหญ่โรงเรียนสว่างวิทยา และปิดการทำงานเป็นความลับจากครอบครัว ถึงอย่างนั้น เขาก็นำทรัพย์สินหลายอย่างในบ้านออกขายเพื่อนำเงินมาทำงานให้กับขบวนการเสรีไทย[3] จนทำให้ชีวิตครอบครัวที่มีฐานะพลิกผันกลายเป็นความขัดสน 

การทำงานกับเสรีไทยเป็นแหล่งสะสมทุนทางความรู้และการเมืองชั้นดีให้กับครูครอง หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ภารกิจของขบวนเสรีไทยสำเร็จลุล่วง ครูครองไม่เลือกกลับไปรับราชการครูดังเดิม แต่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมร่วมกับเพื่อนที่ทำงานเสรีไทยด้วยกัน พร้อมทำงานการเมืองช่วยเหลือปรีดีและเตียง โดยเฉพาะการประสานความช่วยเหลือ จัดหาที่พักและแหล่งทำกินให้กับเพื่อนบ้านอย่างลาวและเวียดนามที่กำลังถูกรุกรานจากต่างชาติ จากงานศึกษาของสมชัย ภัทรธนานันท์ได้สัมภาษณ์วิทิต จันดาวงศ์ไว้ในปี 2549 ระบุว่าการให้ความช่วยเหลือเวียดนามทำให้ครูครองได้รู้จักแนวคิดสังคมนิยม ซึ่งทำให้ความคิดและความรู้ทางการเมืองของเขากว้างมากขึ้น

“หลังจากเขารัฐประหารปี 2490 เขาก็จับกลุ่มสายท่านปรีดี คือกลุ่มครูเตียง พ่อผมก็อยู่ในสายครูเตียง” วิทิตในวัย 82 ช่วยเล่าเรื่องให้ฟังอีกครั้ง เขากำลังพูดถึงเหตุการณ์รัฐประหารครั้งแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก่อนหน้านั้นปรีดีชนะการเลือกตั้งได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2489 ต่อมาถูกกล่าวหาในคดีลอบปลงพระชนม์ ร.8 จึงเกิดรัฐประหารขึ้น ขณะนั้นเตียงต้องหนีการจับกุมไปยังภูพาน โดยมีครูครองช่วยเหลือ 

“แกเข้าไปสู้คดีที่กรุงเทพ ตอนนั้นเขาให้ประกันได้” วิทิตเล่าถึงวันที่พ่อของเขาถูกจับขังพร้อมกับเตียงอยู่ 48 วัน และได้รับการประกันตัว ก่อนจะสู้คดีอยู่ 3 ปี แล้วศาลจึงยกฟ้อง “[ช่วงนั้น] แกก็มีโอกาสได้พบนักศึกษารุ่นใหม่ๆ ที่เขาก้าวหน้า ศึกษาลัทธิทางฝ่ายซ้าย แกจะสัมพันธ์กับพวกนักศึกษาทางปักษ์ใต้เยอะ ตอนนั้น [นักศึกษา] ทางปักษ์ใต้น่าจะก้าวหน้ากว่านักศึกษาทางอีสาน” วิทิตว่า

นอกจากนี้ ครูครองยังได้รู้จักกับกลุ่มคนในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) จนในปี 2492 เริ่มมีสมาชิกจาก พคท. เข้ามาพักอาศัยด้วย ความสัมพันธ์เหล่านี้ทำให้ความคิด ความเชื่อทางการเมืองของครูประชาบาลแห่งสว่างแดนดินก่อตัวเป็นของตัวเอง แตกต่างจากตอนแรกที่ยังเชื่อและคิดตามไปกับเพื่อนอย่างเตียง วิทิตกล่าวถึงพ่อว่า “ครูเตียง ความคิดแกไปถึงแค่ปฏิรูป ไม่ถึงกับปฏิวัติ แต่ครูครองเชื่อเรื่องปฏิวัติ”

ความกระตือรือร้นในเรื่องการเมืองทำให้ครูครองตัดสินใจลงสมัคร ส.ส. เขตสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ในปี 2493 และได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้ทำงานเป็น ส.ส. ด้วยหลักคิดและประสบการณ์ทางการเมืองที่สะสมมาเกือบ 10 ปี ทำให้เขาทุ่มเทและปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ ผลักดันให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในสว่างแดนดิน เช่น การสร้างถนนจากอำเภอสว่างแดนดินไปบ้านโคกสีระยะทาง 19 กิโลเมตร และครองยังรับร้องเรียนปัญหาและให้คำแนะนำกับชาวบ้านในการติดต่อราชการในสมัยนั้น ทำให้ประชาชนชื่นชมเขาอย่างมาก [4] 

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศตะวันตกเริ่มรุกรานและก่อสงครามในประเทศเพื่อนบ้านของไทย ขณะนั้นเกิดกระแสขบวนการสันติภาพ เรียกร้องยุติสงคราม ส่วนรัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ส่งทหารไทยเข้าร่วมรบในสงครามเกาหลี ทำให้เกิดกระแสต่อต้าน โดยครูครองเป็นหัวเรือหลักในการเคลื่อนไหวขบวนการสันติภาพในพื้นที่สกลนครและศรีสะเกษ ทั้งเดินทางปราศรัย รณรงค์ต่อต้านนโยบายรัฐบาลไทยและสหรัฐอเมริกา มีการรวบรวมรายชื่อผู้เข้าร่วมกับคณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย โดยมีบ้านจันดาวงศ์เป็นศูนย์กลางของการทำงานหลัก 

จนกระทั่งวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 ครูครองถูกจับจากการเคลื่อนไหวดังกล่าวในข้อหา ‘กบฏสันติภาพ’ ศาลตัดสินจำคุก 13 ปี 4 เดือน โดยปลายปี 2499 จอมพล ป. ได้ประกาศยุบสภา จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ครูครองยื่นคำร้องศาลอาญากรุงเทพฯ เดินทางไปสมัคร ส.ส. สกลนคร และกลับมาถูกคุมขัง มีโอกาสได้หาเสียงเพียงแค่ 1 สัปดาห์หลังได้รับการประกันตัว แต่สุดท้ายไม่ได้รับเลือกตั้ง [5] 

ต่อมาครูครองได้รับนิรโทษกรรมในวาระกึ่งพุทธกาลเมื่อปี 2500 เป็นช่วงเวลาที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ยึดอำนาจ หลังจากเกิดความไม่พอใจในวงกว้างที่จอมพล ป. ทำทุกวิถีทางเพื่อให้พรรคตัวเองได้ชนะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มีการจัดการเลือกตั้งอีกครั้ง โดยครูครองลงสมัครในนามพรรคเศรษฐกร ที่มีแนวคิดสังคมนิยม [6] ด้วยความทุ่มเทในการหาเสียง แม้มีเพียงแค่จักรยาน ครูครอง ทองพันธ์ สุทธิมาศ สวาสดิ์ ตราชู และผู้ช่วยอีก 3 คน ก็ปั่นจักรยานพร้อมเครื่องขยายเสียงไปอำเภอต่างๆ จนกระทั่งได้รับเลือกให้เป็นผู้แทน ก่อนที่จอมพลสฤษดิ์จะตัดสินใจรัฐประหารอีกครั้งในปี 2501 และตามกวาดล้างจับกุมนักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ และนักเขียนที่เป็นปฏิปักษ์กับผู้มีอำนาจ ครูครองต้องหลบซ่อนตัวก่อนกลับมาบ้านในปี 2502 

แม้จะไม่สามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ด้วยกฎอัยการศึก แต่เขายังคงทำงานช่วยเหลือชาวบ้านอยู่ วิทิตเล่าว่าหลายครั้งชาวบ้านก็เดินทางมาหาที่บ้านเพื่อให้ครูครองดูแลพูดคุยเมื่อต้องติดต่อราชการ เขาอธิบายว่ายุคนั้น ข้าราชการถือตัวว่ามีหน้าที่การงานตำแหน่งสูง มีความรู้มากกว่าชาวบ้าน ในสถานที่ราชการไม่มีพื้นที่รองรับการติดต่อของประชาชน คนต้องเข้าไปนั่งพื้นและถูกข้าราชการกลั่นแกล้ง

“ตอนครูครองยังมีชีวิตอยู่ หลังจากสฤษดิ์ยึดอำนาจ แกไม่ได้ไปไหน ไม่ได้เป็นผู้แทนแล้ว ก็ใช้วิธีว่าทำไงจะแก้ปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนของชาวบ้านได้ เพราะตอนเย็นมา ชาวบ้านจะมาหา มาคุย เพราะว่าความลำบากทางเศรษฐกิจมันสูง” ลูกชายแห่งบ้านจันดาวงศ์กล่าว

นอกจากนี้ ครูครองยังคงทำงานทางความคิดกับชาวบ้านเสมอ ผ่านกิจกรรมในวิถีชีวิตของชาวบ้านเพื่อให้คนยังคงตื่นตัวทางการเมือง และคอยช่วยเหลือกันทางเศรษฐกิจและสังคมจนเกิดเป็นกลุ่มก้อนได้ 

“[ตอนนั้น] บรรดาความเชื่อในสังคมยังเป็นความเชื่อตามฝ่ายอำนาจการปกครอง มันไม่ใช่เรื่องง่าย [ที่จะเปลี่ยนความคิด] บางทีเราต้องหาวิธีคือ เริ่มจากเศรษฐกิจก่อน แก้ไขปัญหาความทุกข์ยากใช้การรวมกลุ่ม ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ครูครองก็อาศัยประเพณีอีสาน ซึ่งเป็นประเพณีที่เขาเรียกว่าลงแขก ใช้ตรงนี้ไปแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ พอทำงานช่วยเหลือซึ่งกันและกันไป พอพักเที่ยงกินข้าวก็คุยกัน นี่คือสิ่งที่ทำตั้งแต่ตอนนั้น” วิทิตเล่า

ด้วยวิธีการลงแขกทำนาด้วยกัน ทำให้ชาวบ้านเกิดการช่วยเหลือกันในหลายเรื่อง ครูครองเชื่อในแนวคิดการทำงานขับเคลื่อนทางความคิดไปพร้อมกับการจัดตั้งกลุ่ม แก้ไขจุดอ่อนและสร้างความร่วมมือให้ชาวบ้านช่วยเหลือกัน เช่น สมาชิกต้องช่วยเหลือกันให้ครบทุกครอบครัว และให้นำอาหารมาทานเองเพื่อแบ่งเบาภาระไม่ให้ครอบครัวเจ้าของนาที่อาจจะมีกำลังทรัพย์ไม่มากต้องคอยเลี้ยงอาหารให้ผู้มาช่วยเหลือ ตามเป้าหมายที่ต้องถือประโยชน์ความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานของผู้คนก่อน ทำให้มีคนอยากเข้าร่วมกลุ่มลงแขกเพิ่มมากขึ้น[7] ระหว่างการลงแขกก็จะสำรวจปัญหาและพูดคุยความต้องการของแต่ละคนอย่างที่วิทิตเล่า

การจัดตั้งและดำเนินงานทางการเมืองผ่านวิถีชีวิตประจำวันเช่นนี้จึงนับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ผู้คนมีความเชื่อใจและศรัทธาต่อครูครองมากขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเกิดความไม่พอใจ ในสายตาพวกเขา การรวมกลุ่มของครูครองเป็นการสั่นคลอนความมั่นคงสำหรับรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ เนื่องจากความหวาดระแวงว่าการเคลื่อนไหวในอีสานจะนำมาซึ่งการแบ่งแยกดินแดนไปอยู่กับลาว ผ่านการประสานงานกับกลุ่ม พคท. ท่ามกลางสถานการณ์ที่กองกำลังกู้ชาติในเวียดนามกับลาวต่อสู้สงครามกลางเมืองจนได้รับชัยชนะ [8] 

ครูครองได้หลบไปอยู่กับครูทองพันธ์ที่อำเภอวานรนิวาส มีประชาชนแวะเวียนมาหาเขามากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดต้องหลบหนีที่ดงพระเจ้า ก่อนจะเดินทางกลับบ้านในปี 2504 และถูกจับตัวในวันที่ 6 พฤษภาคม ถูกนำตัวเข้ากรุงเทพในวันที่ 16 พฤษภาคม พร้อมกับครูทองพันธ์ ขณะนั้นนักข่าวถามว่าต้องการพูดอะไรกับนายกฯ บ้าง ครูครองตอบว่า “เมื่อไหร่จะเปิดสภาให้มี ส.ส. สักที” แสดงออกว่าเขาไม่ได้รู้สึกอะไรกับการจับกุม เพราะกลายเป็นเรื่องเคยชินแล้ว ก่อนจะถูกนำตัวไปพบจอมพลสฤษดิ์ในวันที่ 30 พฤษภาคม 

หลังจากนั้นหัวหน้ารัฐประหารใช้คำสั่งมาตรา 17 ตัดลมหายใจสุดท้ายของสองครูประชาบาล ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2504 ทันที

ความเงียบงันจากเสียงปืน 90 นัด 

“ที่นี่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องให้ประหารนายครอง จันดาวงศ์ นายทองพันธ์ สุทธิมาศ ด้วยมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์แบ่งแยกดินแดนเป็นอันตรายต่อราชบัลลังก์ ให้ประหาร 31 พฤษภาคม 2504 ข้าพเจ้าจะรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ลงชื่อ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะรัฐประหาร” 

คำขึ้นต้นเพลงครูครอง จันดาวงศ์ โดยวงสะเลเตที่ได้แสดงไว้คืนก่อนหน้านี้ หวนกลับมาสู่ห้วงคำนึง เมื่องานรำลึกเดินทางมาถึงหลักประหาร บริเวณสนามบินลับของเสรีไทย ปัจจุบันได้กลายเป็นศูนย์ราชการของอำเภอสว่างแดนดินไปแล้ว หลักประหารที่เป็นไม้เหลือเพียงหลักเดียวที่ยังคงตั้งอยู่ โดยมีการหล่อปูนเอาไว้เพื่อสร้างความมั่นคงของประวัติศาสตร์นี้ท่ามกลางกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลง

ชายใส่เสื้อยืดสีขาวสกรีนคำว่า ‘ครอง จันดาวงศ์’ พร้อมใส่หมวกดาวแดง เขาคือลุงจ่อย ทายาทลูกหลานสมาชิกขบวนการเสรีไทยค่าย A ที่ผูกพันกับครอบครัวจันดาวงศ์มาเกือบ 6 ทศวรรษ เขายืนอยู่ข้างหน้าหลักประหาร พูดคุยกับถนอม ชาภักดี นักปฏิบัติการศิลปะแห่งลุ่มน้ำโขง ชี มูลที่มาร่วมเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการจัดงานรำลึกครั้งนี้[9] 

ลุงจ่อย คนสนิทของครอบครัวจันดาวงศ์

“พ่อผมเคยมาวันประหารครูครองกับครูทองพันธ์ พ่อผมยังเป็นวัยรุ่นประมาณ 18-19 ปี เขาบอกว่าเข้าใกล้ไม่ได้ มีแต่หน่วยงานของรัฐ” ลุงจ่อยเล่าจากความทรงจำของพ่อที่มาเฝ้าดูสถานการณ์ในช่วงสายของวันที่ 31 พฤษภาคม

ก่อนการประหาร คนในเหตุการณ์เห็นตรงกันว่าครูครองและครูทองพันธ์ไม่ได้มีท่าทีหวาดกลัวความตายแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม เขาแสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อยืนหยัดในสิ่งที่ทำมากกว่า ครูครองได้พบกับคาน พิลารักษ์ สมาชิกเสรีไทย เขากล่าวว่า “ขอให้น้องทุกคนสบายใจได้ ไม่เป็นไรดอกตายก็คือตาย ทุกคนก็ต้องตายเหมือนกัน” เมื่อเดินเข้าแดนประหาร ทั้งสองเดินด้วยท่าทีสบาย ครูครองโบกมือให้ช่างภาพข่าว ยิ้มแย้มแจ่มใส หมอเข้ามาจับชีพจรทั้งสองคน ซึ่งผลออกมาว่าปกติดี ท่าทีกล้าหาญของครูประชาบาลนี้กลายเป็นภาพจำสุดท้ายในวันประหารครั้งนั้น[10]  

เจ้าหน้าที่รัฐกำหนดให้มีการใช้กระสุน 45 นัดในการยิงครูครองและครูทองพันธ์ รวมแล้วการประหารครั้งนี้ใช้กระสุนทั้งหมด 90 นัด    

“[หลังจากนั้น] แม่แตงอ่อน (ภรรยาครูครอง) กับญาตินำศพใส่เกวียนไปฝังไว้ในป่าช้าของวัดศรีสว่าง เพราะทำอะไรไม่ได้ ปี 2537-2538 ถึงได้นำศพมาทำพิธีฌาปนกิจตามประเพณีทางศาสนา” ลุงจ่อยเล่าให้ทุกคนฟัง 

เจดีย์บรรจุอัฐิครูครอง จันดาวงศ์ตั้้งอยู่ข้างที่พักครอบครัวจันดาวงศ์และด้านหลังศูนย์การเรียนรู้ครูครอง จันดาวงศ์

สิ้นลมของครูครอง ทุกอย่างรอบตัวเขาถูกทำให้หยุดนิ่งเช่นเดียวกัน ทางการเข้าคุกคามครอบครัวจันดาวงศ์อย่างหนัก ต่างคนต่างต้องหนีเอาตัวรอดไปคนละทิศละทาง วิทิตให้สัมภาษณ์กับสมชัย ภัทรธนานันท์ในปี 2553 ว่า ธำรง น้องชายของเขาต้องหนีไปลาวและเดินทางไปเรียนต่อที่เวียดนาม ส่วนควรครอง น้องสาว ต้องเดินทางไปยังจีน ในขณะที่วิทิตถูกคุมขังอยู่ในคุกหลังจากถูกจับในเวลาใกล้เคียงกับพ่อ และวันประหารนั้นก็ตรงกับวันเกิดของเขาด้วย ส่วนมารดาของวิทิต คือแตงอ่อน จันดาวงศ์ถูกจับในปี 2506 ข้อหาเดียวกันกับครูครอง หลังได้รับการปล่อยตัวในปี 2507 ก็ถูกกลั่นแกล้งจากกฎหมายสารพัด เธอจึงหลบหนีเข้าป่าร่วมกับ พคท. และหลบหนีไปยังจีน[11]

ในขณะที่ชาวบ้านคนอื่นๆ หากใครให้ความช่วยเหลือหรือเกี่ยวข้องแม้แต่เพียงเล็กน้อย ก็จะถูกติดตามเช่นเดียวกัน อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับผู้ที่ตั้งใจจะบวชอุทิศส่วนกุศลให้ทั้งสองครูในระยะเวลา 1 พรรษา แต่บวชได้ 3 วันก็ต้องตัดสินใจสึกออกมา[12]

ปฏิบัติการศิลปะด้านหน้าหลักประหารเพื่อรำลึกครบรอบ 61 การประหารครูครอง จันดาวงศ์และครูทองพันธ์ สุทธิมาศ

“พอจับกุม ยิงเป้า ก็ทำให้ชาวบ้านกลัว บางส่วนก็เห็นคล้อยตามไปกับข้อกล่าวหา สื่อ [ตอนนั้น] ก็มีของรัฐฝ่ายเดียว” วิทิตเอ่ยถึงชีวิตหลังจากการประหารของพ่อ 

“ชาวบ้านส่วนใหญ่แถวนี้จะมองว่าครูครองเป็นคอมมิวนิสต์ ตอนออกจากคุก ผมกลับมาอยู่บ้านใหม่ๆ อาการโดดเดี่ยวจะมีสูง ไปขอแรงเพื่อนบ้านที่เคยนับถือมาปลูกบ้าน เขามาช่วยถึง 4 โมงเย็น ก็รีบกลับ ผมถามว่า “รีบกลับไปทำไม กินข้าวก่อน ข้าวเย็นยังไม่ได้เลี้ยงเลย” เราก็แปลกใจ เพราะสมัยที่พ่ออยู่ คนเหล่านี้ก็เป็นคนที่ให้ความเคารพนับถือกันตลอดมา ตอนแรก [ผม] ก็ไม่ค่อยพอใจเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ได้แสดงออกอะไร” เขากล่าวด้วยน้ำเสียงเรียบเฉย

“ตอนหลัง ผมได้ไปคุยกับผู้เฒ่าคนหนึ่ง เขาบอกว่าอย่าไปโกรธเลย เขากลัว รัฐก็ปล่อยข่าวว่า เขาปล่อยนกต่อมาล่อเอางู อย่าให้การสนับสนุนด้านการเงิน หรือด้านต่างๆ ถ้าคุยด้วยจะทำให้ถูกเพ่งเล็ง ถูกจับ เพราะฉะนั้น พวกชาวบ้านเขาก็ไม่ค่อยกล้าเข้าใกล้” วิทิตเว้นจังหวะการเล่าก่อนจะกล่าวตอนท้าย

“มันก็ค่อนข้างทำให้สภาพจิตใจโดดเดี่ยวสักหน่อย” 

วิทิต จันดาวงศ์ ลูกชายครูครอง จันดาวงศ์

ต่อต้านการลืมด้วยการจำ

หลังการพูดคุยหน้าหลักประหาร มีปฏิบัติการศิลปะเพื่อแสดงความศรัทธาและรำลึกถึงครูครองและครูทองพันธ์ จากนั้นพิธีรำลึกใกล้ถึงช่วงสุดท้าย ก่อนผู้คนต่างแดนที่มาจะทยอยเดินทางกลับ ร่ำลากันด้วยมิตรภาพของอุดมการณ์ บ้างคนเดินทางกลับไปยังศูนย์การเรียนรู้ครูครอง จันดาวงศ์ สดับรับฟังเสียงดนตรีที่ยังคงบรรเลงขับกล่อมความเชื่อ ความศรัทธาของการจัดงานครั้งนี้

“ถ้าเทียบกับที่ผมเข้ามาหาลุงวิทิตช่วงแรกๆ เมื่อ 15-16 ปีก่อน งานรำลึกเงียบงันกว่านี้นะ” วิชาญ อาจารย์แห่งรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ผู้จัดงานครั้งนี้กล่าวในอาคารศูนย์การเรียนรู้ฯ สู้กับเสียงดนตรีที่อยู่ด้านนอก “มีแต่กลุ่มคนที่เป็นลูกน้องเก่าของครูครอง เป็นลูกน้องเก่าของลูกชายครูครองบ้าง มานั่งกัน 5-10 คน คุยกันว่าจะทำอะไรบ้าง หนังสือที่มีเอามาอัดก๊อปปี้โรเนียวแบ่งปันกันอ่าน เหมือนที่เขาทำงานความคิดกันในยุคก่อน”

วิชาญ ฤทธิธรรม อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

ในความเห็นของวิชาญมองว่าที่ผ่านมา ถ้าภาคการศึกษา อย่างคณะอาจารย์มหาวิทยาลัยหรือครูโรงเรียนต่างๆ ไม่ได้เข้ามาศึกษา พูดคุย เก็บข้อมูลอาจทำให้ความสนใจครูครองเกิดขึ้นยาก เขาเองอาศัยว่าเป็นอาจารย์สอนทางด้านสังคมศาสตร์ จึงชวนนักศึกษาให้มาเรียนรู้ และสัมผัสได้ว่าพลังของการให้คนรุ่นใหม่ได้มาทำงานที่นี่ช่วยฟื้นเรื่องราวความอยุติธรรมในอดีตให้ส่งเสียงอีกครั้งได้

“แต่ก็จะมีกลุ่มคนที่เขาตั้งคำถามว่า ทำไมไปจัดงานยกย่องคอมมิวนิสต์ ถ้าเขาดี เขาจะถูกฆ่าเหรอ นี่คือกลุ่มที่ไม่ได้ศึกษาและรับรู้เรื่องราวมาจากความกลัว ซึ่งมีทุกพื้นที่ อาจารย์ไปนาบัว ไปบ้านนาทรายที่จิต ภูมิศักดิ์อยู่ก็มีเรื่องนี้” วิชาญเล่าจากประสบการณ์ที่ไปร่วมงานรำลึกจิตร ภูมิศักดิ์ “แต่เวลาผ่านไป กลุ่มที่จะหายไปคือกลุ่มที่สงสัยว่าทำไมต้องเชิดชู คนรุ่นใหม่สนใจเรื่องนี้มีมากขึ้น ครูครองถือว่าเป็นที่รู้จักในระดับประเทศและดังในโซเชียลนะ แต่ยอมรับว่าคนในพื้นที่อาจจะยังไม่ได้มาเข้าร่วมกับเรามาก” 

อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครคนนี้มองว่า โจทย์ของการจัดงานรำลึกคือการทำให้คนสว่างแดนดินเห็นความสำคัญของวันนี้ เขายอมรับว่าเป็นโจทย์ยากที่ฝ่ายทำงานต่างตกตะกอนความคิดช่วยกันว่าจะมีแนวทางไหนที่ดึงให้วันที่ 31 พฤษภาคม คือวันสำคัญสำหรับอำเภอสว่างแดนดินได้

“เราจะเห็นว่าคนสว่างฯ มาร่วมงานน้อย ซึ่งเป็นแบบนี้ทุกปี ส่วนใหญ่มาจากต่างถิ่น ซึ่งเราต้องยอมรับจริงๆ ว่ายังหาโจทย์ไม่เจอว่าทำไมเขาไม่มา ซึ่งไม่เหมือนงานจิตร ภูมิศักดิ์ ที่วาริชภูมิหรือที่หนองกุ่ม ตรงนั้นใครๆ ก็อยากรำลึก แต่ตรงนี้แปลกก็เลยต้องหาคำตอบร่วมกันว่า ทำอย่างไรให้คนสว่างแดนดินเป็นถิ่นนักสู้ในสายตาคน”

“เราอยากให้เห็นความสำคัญว่าครูครองเป็นนักสู้สว่างแดนดิน สว่างแดนดินต้องเป็นถิ่นนักสู้ที่เราจะต้องเชิดชูขึ้นมาให้เป็นอีกพื้นที่หนึ่ง เหมือนที่อื่นๆ อย่างที่ภูพานมีครูเตียงแล้ว จิตรมีอนุสรณ์ที่หนองกุ่มแล้ว กลุ่มพวกเราก็พยายามค่อยๆ ขยับ เริ่มจากมีศูนย์การเรียนรู้ก่อน แล้วเราก็อยากทำงานต่อไปให้มีอนุสรณ์ มีรูปปั้นนักสู้สว่างแดนดิน”

วิชาญมองว่าในฐานะอาจารย์สอนรัฐศาสตร์ที่มุ่งเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองท้องถิ่น การทำงานทางประวัติศาสตร์ให้เห็นเป็นรูปธรรมจะทำให้มีพลังส่งต่อการรับรู้ไปถึงคนรุ่นใหม่ ต่อจุดบุคคลในประวัติศาสตร์การต่อสู้ในอีสานทีละคนๆ เมื่อร้อยเรียงกันแล้วจะเห็นพลังบางอย่างที่เกิดขึ้นในแถบลุ่มน้ำโขง ชี มูลได้

“เราจะเห็นภาพว่าเผด็จการทำอะไรกับอีสาน ทั้งหมดนี้ทำให้มันเป็นซอฟต์พาวเวอร์ เป็นเรื่องเล่า เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ เป็นงานอาร์ต เป็นบทเพลง เป็นซีรีส์ทุกอย่าง” วิชาญกล่าว ซึ่งตรงกับสิ่งที่ถนอม หนึ่งในผู้ผลักดันให้งานรำลึกประกอบไปด้วยศิลปะและวัฒนธรรมได้สื่อสารเอาไว้ในวันเปิดงานรำลึกถึงเพื่อปลุกเร้าให้ผู้ร่วมอุดมการณ์ได้เห็น

“แผ่นดินเทือกเขาแห่งลุ่มน้ำโขง ชี มูล อย่าสิไปสงบง่ายๆ อย่าสิไปย่าน กฎหมายเขียนมากดทับเราสื่อๆ อย่าสิไปเห็นว่าโตเองเป็นผู้นั่นผู้นี่ เฮาเป็นประชาชนคนธรรมดา เฮ็ด ทุกคนเป็นนักปฏิบัติการศิลปะได้” น้ำเสียงเข้มแข็งของถนอมกล่าวข้อความเหล่านี้ด้วยภาษาลาว-อีสานในวันนั้น

ถนอม ชาภักดี นักปฏิบัติการศิลปะแห่งลุ่มน้ำโขง ชี มูล

อีกสิ่งที่เป็นเจตนารมย์ของการจัดงานรำลึกครูครองและครูทองพันธ์ คือการสานสัมพันธ์กับคนรุ่นใหม่ วิชาญเล่าว่าโจทย์นี้เป็นเป้าหมายของวิทิต จันดาวงศ์ หลังจากเล็งเห็นว่าในช่วงที่ครูครองยังมีชีวิต ไม่ค่อยได้ทำงานสื่อสารกับคนรุ่นใหม่มากนัก จึงอยากให้การจัดงานรำลึกทุกครั้งประกอบไปด้วยการฟังเสียงจากคนรุ่นใหม่มากขึ้น

“ลุงวิทิตติดตามข่าวตลอด รักเยาวชน แกเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นปัญญาชน แกบอกเห็นใจคนรุ่นใหม่ เข้าใจ แต่ห่วง ห่วงก็จะไปบอกไปเตือน เขาคงไม่ได้ เพราะเขาสุกงอมกว่าเรา ลุงเป็นคนเข้าใจคนรุ่นใหม่นะ”

“เราก็คิดว่าถ้าไม่มีคนรุ่นใหม่ในงานก็ไม่รู้จะจัดงานรำลึกไปทำไม เราเลยชวนนักเรียนมา มีการมอบทุนการศึกษา เพราะต้องการให้เยาวชนมาแมตช์กับวีรชน โดยเอากาลเวลาเป็นตัวเชื่อม วันนี้หนูยังไม่รู้ แต่วันหน้าหนูจะได้รู้ว่าทุนครูครองมาจากอะไร วัยรุ่นเขาจะเริ่มอ่านแล้ว มูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ก็แจกทุน พอโตขึ้นมัธยม เด็กได้เรียนรู้ เขาภูมิใจที่ได้เป็นเยาวชนจิตร ภูมิศักดิ์ เราก็ใช้โมเดลนั้นมาทำกับที่นี่” วิชาญกล่าว

ผลลัพธ์ของการชวนนักเรียนมาศึกษาในวันนี้ อาจจะเป็นเสี้ยวเล็กๆ ของจุดเริ่มต้นอะไรบางอย่าง แต่เท่าที่ได้รับฟังและสำรวจด้วยสายตาแล้ว ไม่มากก็น้อย คนรุ่นใหม่ที่ยืนรายล้อมรอบแผ่นป้ายข้อมูล วิ่งขึ้นเวทีไปตอบคำถามระหว่างประวัติศาสตร์กับพิธีกร จะมีเรื่องราวนี้อยู่ในความทรงจำและเติมเต็มเนื้อหาบางอย่างที่อาจขาดหายไปในหน้าบทเรียนประวัติศาสตร์

“จริงๆ ก็ได้ยินชื่อครูครองมานานนะคะ เพราะเป็นคนที่นี่ แต่ก็เพิ่งรู้ลึกวันนี้เลยค่ะว่าประวัติครูครองเป็นมาอย่างไร” มณีบุษย์ แก้วก่า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสว่างแดนดินบอกเล่าความรู้สึกระหว่างมาร่วมงาน แม้ว่าการมาที่นี่จะเป็นส่วนหนึ่งของวิชาเรียนที่คุณครูให้มาศึกษา แต่เธอก็ยอมรับว่าการรับรู้เรื่องราวทำให้ความสนใจทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น 

“แต่ฟังแล้วก็รู้สึกฮึกเหิมดีค่ะ บางทีเราก็ต้องสู้เพื่อสิทธิของตัวเองเหมือนกัน” เธอกล่าว ก่อนจะขอตัวไปนั่งรวมกลุ่มพูดคุยกับเพื่อนๆ

มณีบุษย์ แก้วก่า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสว่างแดนดิน

เช่นเดียวกับ อัยการ ศรีดาวงศ์ นักศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎร้อยเอ็ด ผู้เดินทางมาร่วมงานนี้โดยเฉพาะ เขาเป็นนักครูฝึกสอนในวิชาดนตรี เรียนเอกเครื่องเป่า และนำคลาริเน็ต (clarinet) เครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าลมไม้มาร่วมเวทีกับวงสะเลเต พร้อมกล่าวว่าเขามีครูครองเป็น ‘ไอดอล’ ในฐานะคนทำอาชีพเดียวกัน

“ผมได้ยินเพลงที่เกี่ยวกับครูครอง ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับครูครองและครูทองพันธ์ ฟังแล้วก็เป็นแรงบันดาลใจ เลยหยิบเอาเพลงนั้นมาสอบในวิชาเรียนตอนปี 3 มันเป็นสัญลักษณ์บางอย่างที่ผมอยากแสดงออกว่ามีครูคนหนึ่งที่ได้นามว่าเป็นครู ชื่อว่าครอง จันดาวงศ์ แต่ว่าในระบบการศึกษาทำเป็นลืมเลือนชื่อนี้ไป เพียงเพราะเขาเป็นคนที่เคลื่อนไหวกับเสรีไทย เพียงเพราะเขาอยู่ฝ่ายอาจารย์ปรีดี แล้วถูกฆ่าตัดตอนไปในช่วงสฤษดิ์” 

อัยการมีมุมมองต่อครูครองที่มากกว่าการเป็นครูสอนหนังสือ แต่ทำงานร่วมกับชุมชน ไม่ได้ทำตัวเป็นข้าราชการระดับสูงที่อยู่เหนือกว่าชาวบ้าน เขายอมรับว่าในปัจจุบัน การปฏิบัติงานแบบครูครองมีข้อจำกัดมาก แม้เขาจะพยายามทำงานหลายอย่างที่สอดแทรกแนวคิดเพื่อประชาชนในการฝึกสอนบ้าง แต่ก็อาจจะไม่สู้กับสิ่งที่ไอดอลของเขาเคยทำ

อัยการ ศรีดาวงศ์ นักศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎร้อยเอ็ด

“ผมมองว่ามันเป็นปัญหาที่ระบบด้วย เราอยู่กับอำนาจนิยมกันมานาน ตั้งแต่เด็กมีกฎ ข้อห้ามมากมายเต็มไปหมด ห้ามไว้ทรงผมนี้ ห้ามแต่งตัวแบบนี้ บางคนอาจจะมองเป็นเรื่องเล็กน้อย ถ้าเราไม่ต่อต้านคงไม่เป็นไร พอนานไปลึกๆ ทำให้คนเหล่านี้จบไปเป็นครู ก็คิดว่าไม่ต้องทำงานอะไรมากกว่าให้ได้เงิน ไม่ต้องไปดิ้นรน ไปเรียกร้องอะไร ข้อห้ามบางอย่างเขาก็ไม่ได้เดือดร้อนที่จะปฏิบัติตาม หลอมให้เราเป็นคนเชื่อง และยึดติดในระบบ สุดท้ายคนแบบครูครองก็เกิดขึ้นได้ยาก” 

“ตอนผมเรียน อาจารย์บางคนก็บอกว่าเรียนครูก็ทำหน้าที่ครูไปสิ เธอจะมาเรียกร้องอะไร มันทำให้เรารู้สึกว่าเราแปลกแยก มันทำให้กำลังใจอะไรต่างๆ ไม่เข้มแข็งพอ มันก็ส่งผลให้หลายคนเป็นโรคซึมเศร้า ทั้งๆ ที่เราสถาปนาตัวเองว่าอยู่ในระบอบประชาธิปไตย แต่คนกลุ่มหนึ่งที่เป็นนักศึกษาครูออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยกลับถูกมองว่าเป็นแกะดำ อันนี้มันบิดเบี้ยวมาก” อัยการบอกเล่าจากประสบการณ์ที่เขาเจอ

ส่วนอาทิตย์ ในฐานะครูโรงเรียนสว่างแดนดินที่พยายามสื่อสารเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เขาเล่าว่าในเนื้องานของครูก็มีข้อจำกัดที่ทำให้การจะเป็นครูแบบครูครองเกิดขึ้นได้ยาก 

“ผมว่าการเป็นครูทำให้เห็นปัญหาทุกข์ร้อนของชาวบ้าน ใกล้ตัวเลยคือนักเรียน บางวันเด็กหน้าเศร้ามาจะดูออกเลย ปัญหาเกิดจากอะไร พ่อแม่ไม่มีเงิน พ่อแม่ต้องบ้านแตกสาแหรกขาด แม่ไปทำงาน เสร็จแล้วไม่ได้เงินกลับมาบ้าน มายืมเงินครู คำถามเหล่านี้มันย้อนกลับมาที่เราหมดเลย”

อาทิตย์ บัญชา ครูโรงเรียนสว่างแดนดิน

“ผมก็อยากทำแบบที่ครูครองทำ แต่ต้องยอมรับว่ามีหลายส่วนที่ติดขัด ทั้งส่วนตัวผมเองที่ยังไม่ได้มีคอนเน็กชันลงลึกกับชาวบ้าน และความเป็นข้าราชการที่มีทั้งเรื่องที่เราทำได้และทำไม่ได้ บางทีภาระงานก็บีบให้เราทำงานได้แค่ในรั้วโรงเรียน ไม่เหมือนสมัยก่อนที่รั้วโรงเรียนกับบ้านชาวบ้านไปมาหาสู่กันได้ง่าย” อาทิตย์ยอมรับ

สำหรับอัยการ ความหวังของการทำงานทางความคิดแบบครูครองยังมีอยู่ และยังสำคัญต่อการทำหน้าที่ครูที่เขาได้ร่ำเรียน เพราะระบบการศึกษาเป็นหนึ่งในฟันเฟืองการเรียนรู้ของคนทั่วประเทศ ถ้าหากครูคงทำงานผ่านการใช้อำนาจนิยมก็ดูจะเป็นการควบคุมสังคมได้

“ผมเลยคิดต่อไปว่าแล้วถ้าครูในเจ็นต่อๆ ไปไม่ได้คิดแบบนี้ล่ะ ไม่ได้ใช้อำนาจนิยมในสถานศึกษา ถ้าครูมีเหตุผล นักเรียนไม่ได้รู้สึกถูกคุกคามเสรีภาพ ถ้าครูมีทัศนะมองนักเรียนเป็นมนุษย์ด้วยกัน เราต่างมีเสรีภาพและไม่คุกคามกัน ทุกคนรู้ว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ มันจะเป็นสังคมเสรีประชาธิปไตยได้เลย สังคมก็จะก้าวหน้าไปอีก” 

ในขณะเดียวกัน อัยการก็คิดว่า การทำงานให้เรื่องราวของครูครองเป็นประวัติศาสตร์ที่คนจดจำก็เป็นเรื่องที่จะต้องทำไปคู่กัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ของคนในอดีตที่ถูกเรื่องเล่าหลักจากรัฐกลบให้การสูญเสียเลือนหายไป

“สำหรับผม ไม่ได้มองว่าเรื่องนี้เป็นการยึดติดกับตัวบุคคลนะครับ แต่เราต้องการบอกว่า มีคนๆ นี้ที่อยู่บนโลกใบนี้ ไม่ใช่ทำให้เขาหายไป ถ้าเผด็จการต้องการลบล้างสิ่งที่เขาไม่อยากให้มี การสู้กลับก็คือ ทำสิ่งที่เขาลบล้างให้มันเด่นชัดขึ้นมา” 

References
1 ประวิทย์ สายสงวนวงศ์. พัฒนาการของการตื่นตัวทางการเมืองของชาวอีสาน พ.ศ. 2433-2489. หน้า 261
2 สมชัย ภัทรธนานันท์. ครอง จันดาวงศ์กับการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของชาวนาอีสาน, วารสารสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 กรกฎาคม-ธันวาคม 2557, หน้า 6
3 สมชัย ภัทรธนานันท์. ครอง จันดาวงศ์กับการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของชาวนาอีสาน, วารสารสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 กรกฎาคม-ธันวาคม 2557, หน้า 8
4 คมสรร มาตุคาม. ครอง จันดาวงศ์ เขาคือใคร. 2521, กรุงเทพฯ: พิทักษ์ประชา. อ้างใน สมชัย ภัทรธนานันท์. 2557. หน้า 12
5 วิทิต จันดาวงศ์. 2552 อ้างถึงใน สมชัย ภัทรธนานันท์. 2557. หน้า 16
6 สมศักดิ์ ภู่สุวรรณ์. 2546. อ้างถึงใน สมชัย ภัทรธนานันท์. 2557. หน้า 17
7 สมชัย ภัทรธนานันท์. 2557. หน้า 24
8 Keyes, Charles F. 1967 . Isan: Regionalism in Northeast Thailand. อ้างถึงใน สมชัย ภัทรธนานันท์. 2557. หน้า 26
9 ดาวดิน สามัญชน Daodin Commoners. ย้อนรำลึกวันประหาร ครูครอง จันดาวงศ์ ครูทองพันธ์ สุทธิมาศ. 2565
10 เสรีไทย ภูพาน ครอง จันดาวงศ์. 2546 อ้างถึงใน สมชัย ภัทรธนานันท์. 2557. หน้า 30
11 แตงอ่อน จันดาวงศ์ : ความรักของนักสู้ซึ่งอยู่อย่างยากลำบาก.  กษิดิศ อนันทนาธร. 2565
12 อนุสรณ์งานฌาปนกิจศพนางแแตงอ่อน จันดาวงศ์ อ้างใน สมชัย ภัทธธนานันท์. 2557. หน้า 32

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save