fbpx

แตงอ่อน จันดาวงศ์ : ความรักของนักสู้ซึ่งอยู่อย่างยากลำบาก

แตงอ่อน จันดาวงศ์

“เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ”

คืออมตวาทะของนายครอง จันดาวงศ์ ก่อนถูกยิงเป้าประหารชีวิตด้วยอำนาจแห่งมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ในรัฐบาลของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังจากที่เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นพวกขายชาติ

ในห้วงเวลาที่มีการเคลื่อนไหวในสังคมเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายต่อหลายครั้ง ข้อความของนายครองกลับมากึกก้องในสังคมไทยอีกครั้ง เรื่องของเขาก็เป็นที่รับรู้กันมากขึ้น

แต่เรื่องชีวิตส่วนตัวของเขา เรื่องคู่ชีวิตของคนที่อยู่เคียงข้างเขา และอยู่ดูแลครอบครัวของเขาต่อมานั้น กลับเลือนหายไป


แตงอ่อน จันดาวงศ์
(10 พฤศจิกายน 2465 – 31 พฤษภาคม 2546)


ชีวิตของแตงอ่อน


แตงอ่อนเกิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2465 ณ บ้านหัน หมู่ 1 ตำบลสว่างแดนดิน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร  เป็นธิดาคนโตของนายสิ่ว แซ่เต็ง กับนางจูมมะลิ พงษ์สิทธิศักดิ์ และมีน้องอีก 4 คน

ฝ่ายมารดาของแตงอ่อนสืบเชื้อสายมาจากพระสิทธิศักดิ์ประสิทธิ์ นายอำเภอคนแรกของอำเภอสว่างแดนดิน ส่วนเถ้าแก่สิ่ว ผู้บิดานั้นประกอบอาชีพค้าขาย จึงนับได้ว่าเป็นครอบครัวที่มีฐานะดีพอสมควร

ด้านการศึกษา แตงอ่อนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนสว่างวิทยา อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เมื่อ พ.ศ. 2476

หลังจากนั้น สมรสกับนายครอง จันดาวงศ์ ครูใหญ่ที่มีหน้ามีตาในสังคม เมื่อ พ.ศ. 2480 มีบุตร 2 คน คือ วิทิต กับธำรง และบุตรี 1 คน ชื่อ ควรครอง


ครูครอง จันดาวงศ์
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร (2500-2501)


ชีวิตที่พลิกผัน


วิทิต บุตรชายคนโตของเธอ ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ชีวิตครอบครัวของพ่อกับแม่นั้นหักเหจากครอบครัวที่มีฐานะมาสู่ความยากลำบาก เมื่อบิดาของเขาเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นายครองลาออกจากราชการเพื่อไปปฏิบัติการเสรีไทย ร่วมกับนายเตียง ศิริขันธ์ และคณะ ในจังหวัดสกลนคร

แตงอ่อนกล่าวถึงสามีของเธอว่า “เขามีจิตใจที่เสียสละ เสียสละความสุขส่วนตัว เสียสละตำแหน่งหน้าที่การงานในสังคม ในการเคลื่อนไหวเสรีไทย ตอนแรกเขายังเป็นครูสอนอยู่ที่โรงเรียนสว่างวิทยา มีเงินเดือน 48 บาท แต่เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการเคลื่อนไหวของเสรีไทย เขาจึงตัดสินใจลาออกมา เขามาลองใจฉันโดยถามว่า ถ้าจะลาออกจากครูจะเห็นด้วยไหม กลัวลำบากไหม และเขาก็ไม่ได้บอกว่าจะออกไปทำมาหากินอะไร ฉันตอบไปว่า จะไปทำอะไรก็ทำ แม้จะกัดก้อนเกลือกินก็ไม่กลัว  รุ่งเช้าเขายื่นไปลาออกจากครู หลังจากนั้นก็ไม่ค่อยได้อยู่บ้าน หายไป 2-3 เดือน กลับมาบ้าน 2-3 วันก็หายไปอีก  ตอนหลังถึงมาบอกว่าทำงานกู้ชาติ

แต่การที่หัวหน้าครอบครัวหายไปนั้น นางแตงอ่อนบันทึกไว้ว่า “สภาพชีวิตครอบครัวมีความยากลำบากมากมาย เมื่อหัวหน้าครอบครัวไม่อยู่ ไม่มีรายได้อย่างอื่นมาจุนเจือครอบครัว

ระยะแรก นายครองปิดบังเรื่องนี้กับนางแตงอ่อน ออกจากบ้านไปนานจึงกลับมาสักที และในระหว่างนั้น แตงอ่อนแท้งลูกท้องที่สาม ครองก็มิได้มาอยู่ดูแล ทำให้เธอเสียใจมากจนคิดจะหย่าจากสามี แต่เคราะห์ดีที่ได้ปรับความเข้าใจกันก่อน โดยครองยอมเล่าความจริงเรื่องปฏิบัติการลับของขบวนการเสรีไทยในส่วนที่ตนเกี่ยวข้องให้เธอฟัง เธอจึงเข้าใจและสนับสนุนสามีอย่างเต็มที่ เพราะเห็นว่าไม่เพียงความรักที่มีต่อครอบครัวเท่านั้น เขายังนึกถึงประชาชนคนอื่นและประเทศชาติอีกด้วย

แต่การที่สนับสนุนการปฏิบัติงานของเสรีไทยอย่างเต็มที่นี้เองทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวย่ำแย่ลง เมื่อต้องรับรองพลพรรคเสรีไทย หมูไก่ในเล้าที่เคยเลี้ยงไว้ก็หมดลง จากที่ไม่เคยเป็นหนี้ก็เริ่มเป็นหนี้ และเมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง ก็ต้องขายบ้าน ขายม้าและรถม้า มาใช้หนี้  ขณะเดียวกันด้วยความผันผวนทางเศรษฐกิจหลังสงคราม บิดามารดาของแตงอ่อนก็ขาดทุนล้มละลาย ต้องเลิกกิจการไป กลายเป็นผู้ยากจนขัดสนไปด้วยกัน

หลังจากขายบ้าน เธอมาเช่าห้องแถวที่ตลาดสว่างแดนดิน ขายยาไทย แต่ต่อมาก็เลิกกิจการเพราะมียาจากต่างประเทศมาตีตลาด จึงกลับไปอยู่ที่หนองขอน ปลูกกระท่อม ทำนา เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เก็บผักขาย


แตงอ่อน นั่งกลาง แถวหน้า


แม่ค้าหาบเร่


หลังจากการรัฐประหาร 2490 มีการปราบปรามผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการเสรีไทย เพราะเห็นว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร นายครองก็อยู่ในข่ายที่ต้องคดีไปด้วย เนื่องจากเป็นคนสนิทของนายเตียง ศิริขันธ์  แม้ในระยะแรก นายครองจะหลบหนีการจับกุมได้ แต่ในที่สุดก็โดนจับในข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดน เคราะห์ดีที่ในที่สุดศาลยกฟ้อง เมื่อปี พ.ศ. 2494

ในระหว่างนั้นเอง นางแตงอ่อนต้องเปลี่ยนสภาพจากลูกเถ้าแก่ผู้มั่งคั่งในอำเภอ กลายเป็นแม่ค้าหาบเร่ ขายของอยู่ในตลาดสด เช่น ขายส้มตำ ซุปหน่อไม้ ผักดอง ข้าวต้มมัด เป็นต้น

แต่พ้นคดีเพียงไม่นาน ปลายปี 2495 นายครองถูกจับอีกครั้งในคดีกบฏสันติภาพ ทำให้นางแตงอ่อนต้องรับภาระหาเงินมาเลี้ยงลูก และส่งเงินไปเป็นค่าใช้จ่ายให้สามีขณะถูกจองจำที่คุกบางขวางอยู่หลายปี ก่อนที่จะได้รับการนิรโทษกรรมในโอกาสกึ่งพุทธกาล เมื่อ พ.ศ. 2500

ถึงจะต้องคดีการเมือง 2 ครั้งติดๆ กัน แต่นางแตงอ่อนก็ภูมิใจในสามีของเธอว่า “เขามีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ไม่กลัวเผด็จการ ไม่กลัวตาย แม้จะถูกจับข้อหากบฏ 2 ครั้ง … แต่เขาก็ยังมุ่งมั่นทำงานตามอุดมคติต่อไป

แม้นายครองจะได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2500 แต่ก็เป็นอยู่ได้ไม่ถึงปี เพราะมีสิ่งที่จอมพล ส. ธนะรัชต์ เรียกว่า ‘ปฏิวัติ’ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 และสมาชิกสภาพของนายครองก็สิ้นสุดลง

หลังจากนั้น ก็ประกอบอาชีพค้าขายกันต่อไป และมีฐานะดีขึ้นมาเล็กน้อย แต่แล้วในปี 2504 นายครองก็ถูกจับเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พร้อมลูกชายคนโต ส่วนลูกชายคนรองต้องหนีเตลิดไป และสิ้นเดือนนั้นเอง วันที่ 31 พฤษภาคม 2504 นายครอง จันดาวงศ์ ก็ถูกประหารชีวิต โดยไม่ได้ผ่านกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใด


ชีวิตในป่า


ภายหลังนายครองถูกประหารชีวิตด้วยมาตรา 17 ยุคจอมพล ส. ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2504 แล้ว ต่อมา ต้นปี 2506 แตงอ่อนถูกจับกุมในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และคุมขังในกองกำกับการตำรวจสันติบาล และศูนย์ฝึกนครบาล บางเขน จากนั้นจึงได้รับการปล่อยตัว ปลายปี 2507

เมื่อโดนรังแกด้วยน้ำมือของกฎหมาย แตงอ่อนจึงเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แล้วลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2508 ผ่านประเทศลาว เวียดนาม ไปพำนักในเขตคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในเดือนพฤษภาคม 2509 

ควรครอง ลูกสาวของเธอเล่าว่า “หลังจากแม่ออกจากคุกแล้ว แม่ก็เดินทางเข้าป่า ชีวิตในป่าแม้จะยากลำบากสักแค่ไหน สิ่งที่แม่ได้รับก็คือ การให้เกียรติ ความเคารพยกย่อง ความรักความเอาใจใส่ดูแลจากมิตรสหายทุกระดับชั้นในป่า มันเป็นดั่งน้ำทิพย์ชโลมใจให้แม่สู้ต่อไป เป็นความอบอุ่นที่หาได้ยากยิ่งในยามอ้างว้างเดียวดายเช่นนั้น

ขณะที่วิทิต บุตรชายคนโต ตั้งข้อสังเกตว่า ขณะเข้าป่านั้น แม่ของเขามีความคิดไปไกลกว่าตัวของเขาเสียอีก ดังจดหมายที่เขียนมาถึงเขาเมื่อต้นปี 2512 ความตอนหนึ่งว่า “เมื่อแม่ได้เข้ามาอยู่ในอ้อมแขนของพรรคฯ อ้อมแขนประชาชน แม่รู้สึกว่า แม่มีชีวิตใหม่ หากไม่มีพรรค ไม่มีประชาชนให้ความช่วยเหลือแล้ว แม่คงไม่มีลมหายใจจนถึงทุกวันนี้  ด้วยเหตุนี้ แม่คิดว่า ลูกต้องเป็นลูกที่ดีของพรรค ลูกที่ดีของประชาชน เราต้องกล้าสละทุกอย่างแม้ชีวิต เพื่อให้การต่อสู้ของประชาชนประสบชัยชนะ

จนในที่สุด แตงอ่อนได้เดินทางกลับมาตุภูมิเมื่อปี พ.ศ. 2532 และใช้ชีวิตอยู่กับลูกหลานจนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2546 วันเดียวกับวันตายของนายครอง สามีของเธอ แต่ห่างกัน 42 ปี


แตงอ่อนในยามลี้ภัย


ชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง


ป้าออนเป็นแบบอย่างของหญิงไทย คนธรรมดาสามัญชน “รักสามี รักลูก” ทำและเสียสละทุกอย่างแม้ชีวิตเพื่อความรัก ผ่านความยากลำบาก ทุกข์เข็ญ เจ็บปวดอย่างแสนสาหัส ทั้งชีวิต จิตใจ ตลอดชีวิต อย่างไม่น่าเชื่อว่าจะมีสตรีเหล็กเช่นนี้

ถ้อยคำรำลึกจากนายชัยวัฒน์ สุรวิชัย กล่าวถึงชีวิตของภรรยานายครอง จันดาวงศ์ ไว้ได้อย่างน่าสนใจ

แม้ชีวิตของนางแตงอ่อนจะต้องเผชิญกับความผิดหวังหลายครั้ง ประสบความผลัดพรากจากสิ่งที่รักอยู่เนืองๆ แต่ถึงที่สุดแล้ว เธอก็ภูมิใจในชีวิตของสามีของเธอ ดังความตอนหนึ่งว่า

อยู่ในความทรงจำตลอด เขาเป็นครูที่ดีของศิษย์ เป็นสามีที่ดีของภรรยา เป็นพ่อที่ดีของลูกๆ เขาปลูกฝังให้ใจคอกว้างขวาง โอบอ้อมอารีต่อพี่น้องชาวนาชาวไร่และคนยากคนจน  เขามีแนวคิดทางการเมืองที่มั่นคง แน่วแน่ ต้องการจะสร้างสรรค์ประเทศให้มีเอกราช มีสันติภาพ มีประชาธิปไตยที่แท้จริง…เขาต้องการให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม ให้พี่น้องคนยากคนจนมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง มีชีวิตที่อยู่ดีกินดีกันทั่วหน้า


บรรณานุกรม

  • ครอง จันดาวงศ์ ชะตากรรมที่เลือกไม่ได้, อนุสรณ์เนื่องในงานฌาปนกิจศพ นายครอง จันดาวงศ์  นายทองพันธ์ สุทธิมาศ วันเสาร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 ณ วัดป่าศรีสว่าง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร, พิมพ์ครั้งที่ 3 (2561).
  • อนุสรณ์งานฌาปนกิจศพ นางแตงอ่อน จันดาวงศ์ ณ วัดชลประทานรังสฤษฎ์ นนทบุรี วันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายน 2546 เวลา 17.00 น.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save