fbpx
“Digital Parenting” กับ ไผท ผดุงถิ่น

“Digital Parenting” กับ ไผท ผดุงถิ่น

 

เขาว่าเป็นพ่อแม่สมัยนี้ มันยาก

เพราะเมื่อเทคโนโลยีอย่างสมาร์ตโฟน อินเทอร์เน็ต เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต การเลี้ยงลูกในยุคดิจิทัลจึงมีเรื่องให้พ่อแม่ต้องคิดมากกว่าเดิม ตั้งแต่การดูแลเด็กเล็กกับหน้าจอ การบริหารความสัมพันธ์ในโลกจริง-โลกออนไลน์ การไล่ตามมุมมอง วิธีคิดของเด็กยุคนี้ให้ทัน และอีกสารพัดสารพัน

พ่อแม่ควรจะปรับตัวอย่างไร อะไรที่ครอบครัวควรตระหนักร่วมกัน 101 ชวน ไผท ผดุงถิ่น ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัป BUILK Thailand ตัวแทนคุณพ่อยุคใหม่ คุยเรื่องความเปลี่ยนแปลงของครอบครัวยุคดิจิทัล การเลี้ยงลูกกับเทคโนโลยีให้ไปด้วยกัน รวมถึงความช่วยเหลือที่รัฐควรจะจัดสรรแก่ครอบครัวในปัจจุบัน

 

 

::  การเลี้ยงลูกยุคดิจิทัล ::

 

ไผท ผดุงถิ่น

 

พ่อแม่ต้องเข้าใจว่าเด็กสมัยนี้ไม่เหมือนเรา ความคาดหวังที่ว่าลูกต้องเป็นเหมือนฉันตอนเด็กๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจจะไม่ถูก สิ่งที่ผมสังเกตได้จากลูกผมกับผม คือเขามีทักษะหลายๆ อย่างที่คนยุคเราไม่มี หรือถ้ามีจะเหนื่อยมากๆ เช่น multitasking ถ้าพ่อแม่คาดหวังว่าลูกต้องโฟกัส ทำทีละอย่างเหมือนตอนที่ฉันเป็นเด็ก ก็อาจจะไม่ใช่แล้ว เพราะวันนี้เขาเกิดมาและเรียนรู้ทักษะแบบนี้ เช่น ลูกผมชอบวาดรูป เขาสามารถเปิดจอสองหน้าจอบนแท็บเล็ต เพื่อวาดรูปไปด้วย ดูคลิปไปด้วย สามารถแยกประสาทแบบที่เราทำไม่ได้

ถ้าถามว่าแล้วลูกควรจะเหมือนเราในเชิงไหนบ้าง? พ่อแม่ควรสอนในเชิงการเข้าใจคนอื่น มีปฏิสัมพันธ์ ทักษะพื้นฐานการใช้ชีวิต แต่สำหรับบางสิ่งที่เป็นทักษะแอดวานซ์กว่าคนรุ่นเรา เผลอๆ เราเองต้องเป็นฝ่ายเปิดรับ ต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับเขาว่าเขาพัฒนาไปได้อย่างไรบ้าง

เพราะฉะนั้นผมไม่ได้มองดิจิทัลเป็นศัตรูหรือเรื่องน่ากลัว เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นด้วยซ้ำว่าเด็กในเจเนอเรชันของลูกจะเป็นอย่างไร

 

:: ทำความเข้าใจระบอบอัลกอริทึม ::

 

ไผท ผดุงถิ่น

 

เกมของสตาร์ทอัปหรือบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกตอนนี้เป็นเกมของการแย่งความสนใจจากตัวมนุษย์ในเวลาที่เราทุกคนมีเท่ากัน 24 ชั่วโมง จากแต่ก่อนมีแค่รายการทีวี ตอนนี้กลับมี Youtube Netflix TikTok IG มากมาย ลูกเราโดนดึงดูดความสนใจอย่างเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม

ด้วยความเป็นคนเทคโนโลยี ผมจะได้เห็นเบื้องหลังวิธีคิดการทำแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งมีอัลกอริทึมที่ไม่ใช่แค่การทำนายพฤติกรรม แต่ยังสามารถเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนนิสัยคนได้ และเปลี่ยนได้แบบไม่เลือกอายุด้วย ทั้งเด็ก ทั้งคนแก่ สังเกตว่าเมื่อก่อน ปู่ย่าตายายอาจฟังวิทยุ ตอนนี้ก็เปลี่ยนมาคุยไลน์ ดูเฟซบุ๊กแทนแล้ว

ถามว่าเป็นปัญหาไหม? นี่เป็นปัญหาของมนุษยชาติโดยรวมเลย แต่ผมเชื่อว่าก็ยังมีจุดสมดุลของมัน ทางแก้ของระบอบใหม่ที่เกิดขึ้นมา หรือก็คือระบอบอัลกอริทึมที่เราใช้ชีวิตอยู่ในโลกดิจิทัลตอนนี้ คือพ่อแม่ ผู้ใหญ่ อาจต้องตั้งคำถามต่ออัลกอริทึมที่เราอยู่ มันจะดีถ้าเราเข้าใจมันได้ และสอนเจเนอเรชันถัดไปให้รู้เท่าทันมัน จะได้ใช้ประโยชน์จากมันจริงๆ แบบไม่ต้องกลัว เพราะอัลกอริทึมไม่ใช่ศาสตร์มืด มันเป็นศาสตร์ที่เข้าใจได้ ถูกสร้างโดยมนุษย์ เราสามารถจะติดได้ เลิกได้เหมือนกัน สิ่งที่พึงระวังคือเราต้องไม่ปล่อยให้ตัวเองไหลไปตามกระแสอัลกอริทึมที่คนอื่นกำหนด

 

:: โพสต์รูปลูกลงเฟซบุ๊กได้ไหม? ::

 

โพสต์รูปลูกลงเฟซบุ๊ก

 

ผมคอยถามลูกว่าพ่อแม่โพสต์รูปหนูลงเฟซบุ๊กได้ไหม แท็กได้ไหม เพราะตอนเด็กๆ เราเริ่มเปิดแอคเคาท์ให้เขาตอนเขาเกิด คิดว่าไว้เก็บรูปภาพเป็น memory book ของบ้านเรา เหมือนกับสมัยเด็กๆ ที่พ่อแม่เราพาไปถ่ายรูปแล้วล้างรูปเก็บใส่อัลบั้ม ถ้าเขาไม่มายด์ เราก็เก็บไว้ แต่ถ้าเขามายด์เมื่อไร ก็บอกได้ ตอนนี้ลูกเริ่มเป็นวัยรุ่นแล้ว เขาก็จะเริ่มเอ๊ะ ลงรูปหนูอีกแล้ว เราก็ต้องถามว่าโพสต์ได้ไหม ถ้าไม่ให้โพสต์ก็บอกได้

ผมรู้สึกว่าหลายๆ คนมองลูกเป็นคอนเทนต์ชีวิตของพ่อแม่ ฉันจะจับลูกแต่งตัว พาไปโพสต์สวยๆ เพื่อให้ฉันดูดี แต่ถ้าเราไม่อยากให้ใครทำแบบนั้นกับเรา เราก็อย่าทำกับลูกด้วย วันหนึ่งลูกจะเริ่มสร้างนิสัยในโลกดิจิทัลของเขาขึ้นมา เราก็ต้องเรียนรู้พฤติกรรมเชิงดิจิทัลไปพร้อมๆ กับลูก คอยถามไถ่ และถ้าวันหนึ่งอัลบั้มภาพครอบครัวมันจะหายไป ก็เพราะเราตัดสินใจกันเอง

 

:: เมื่อลูกมีความลับกับคุณ ::

 

เลี้ยงลูกยุคดิจิทัล

 

พ่อแม่คงอยากให้ลูกเล่าให้ฟังทุกคน แต่จะทำอย่างไรให้ลูกเล่าให้ฟัง? พ่อแม่ก็ต้องเป็นคนที่คุยกับเขาได้ ผมมองว่าการที่ลูกเล่าให้ฟังหมายความว่าเขามองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คุยกับพ่อแม่ได้ ถ้าเขาไม่เล่า แปลว่าเรื่องนี้คุยกับพ่อแม่ไม่รู้เรื่อง คำถามที่คุณต้องถามคือทำไมเราถึงคุยเรื่องนี้กับลูกไม่ได้ เราทำให้เขากลัว ไม่สบายใจในการคุยกับเราหรือเปล่า แล้วเราจะสร้างพื้นที่ที่ลูกสบายใจกับเราได้ยังไง นั่นเป็นวิธีคิดสำคัญ

ตอนนี้ลูกของหลายคนอาจมีพื้นที่ในโลกออนไลน์ที่ปิดกับพ่อแม่อยู่ คงต้องลองแง้มเขาดู เข้าไปทีละเหลี่ยมจนเขาเปิดใจมากขึ้น เรื่องนี้อาจแล้วแต่วัยด้วย เพราะช่วงวัยรุ่นเราเองก็เป็นคนปิดโลกส่วนตัวมากๆ โตมาถึงรู้จักคำว่าคุณค่าของครอบครัว เรียกว่าพอหมดยุคติดเพื่อนแล้วก็หันกลับมาใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น ทั้งหมดคือการเรียนรู้ เด็กสมัยนี้ก็คงเหมือนกัน

 

:: อยู่อย่างไรในยุคที่ทุกคนมีร่องรอยดิจิทัล ::

 

Digital Footprint

 

ชีวิตคนสมัยนี้หลีกเลี่ยงการมี Digital Footprint ไม่ได้ ยิ่งเป็นเจเนอเรชันหลังๆ ต้องมีกันอยู่แล้ว ขนาดชื่อลูกยังอยู่บนเว็บของโรงเรียนแล้วเลย

ส่วนตัวผมไม่กลัวการมี Digital Footprint แต่เราต้องอยู่แบบเข้าใจ ถ้าไม่อยากให้มันละเมิดความเป็นส่วนตัว คุณต้องเข้าใจว่ามีข้อมูลอะไรบ้างที่ต้องระวัง เช่น ข้อมูลการเงิน สุขภาพ ระวังความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์ม ไม่ยอมให้ใครมาเอาข้อมูลที่ว่าไปจากคุณ และพ่อแม่ต้องสอนเรื่องมิจฉาชีพกับลูก

อีกทางหนึ่ง การรู้เท่าทันว่าเรามี Digital Footprint อยู่ทุกที่ มันทำให้เราต้องระมัดระวังในการใช้ชีวิตมากขึ้น ไม่ทำผิดกฎหมาย กล่าวหาคนอื่น ผมคิดว่าการมี Digital Footprint ควรจะทำให้คนมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น ถ้าคุณคิดว่ามันสำคัญกับชีวิต ก็ควรใช้ชีวิตให้มันดี ไม่ควรทำร้ายคนอื่นผ่านดิจิทัลด้วยซ้ำ และพยายามดูแลความเป็นส่วนตัวของเราเอง ไม่ยอมให้มันล้ำเส้นมาในชีวิตจริงจนเกินไป

 

:: สิทธิที่รัฐควรจัดสรรแก่ครอบครัวยุคใหม่ ::

 

สิทธิครอบครัวดิจิทัล

 

การเข้าถึงข้อมูลและเข้าถึงอินเทอร์เน็ตควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ในยุคนี้ เปรียบได้กับการเข้าถึงสาธารณูปโภคน้ำ ไฟฟ้า ที่เป็นมาตรฐาน ผมเห็นว่ารัฐมีความพยายามทำอยู่ ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะมันเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องให้การสนับสนุน

แม้ว่าการเข้าถึง อาจจะเข้าถึงได้ไม่เท่ากัน เพราะเราอยู่ในระบบทุนนิยม บางอย่างอาจมีคนได้มากและน้อยไม่เท่ากัน แต่รัฐต้องจัดให้ไม่น้อยจนทำอะไรไม่ได้ ผมไม่คิดว่ารายละเอียดปลีกย่อยอย่างการมีแอนดรอยด์จะทำให้คนมีโอกาสพัฒนาทักษะความรู้ตนเองน้อยไปกว่าคนที่มีไอโฟนหรือคนที่เข้า ClubHouse ได้ เพราะประตูแห่งโอกาสที่ชื่อว่าอินเทอร์เน็ตไม่ได้มีแค่ช่องทางเดียว คุณสามารถไปหาเรื่องอื่นได้ และพัฒนาอย่างอื่นได้

 

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save