กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง
KBank Digital Academy ภาพ
“เพิ่งเรียนจบ แต่ไม่อยากทำงานในสาขาที่เรียนมา”
“ทำงานมาสิบกว่าปีจนได้เป็นผู้จัดการ แต่กลับรู้สึกว่าตัวเองเลือกทางผิด เริ่มอยากลาออกจากงานแล้ว”
“มีครอบครัวดี หน้าที่การงานมั่นคง แต่กลับรู้สึกว่าชีวิตน่าเบื่อและไม่มีอะไรเลย”
…
เชื่อเถอะว่า ในชีวิตของคุณจะต้องเคยเจอ หรือเคยได้ยินปัญหาประมาณนี้มาไม่ต่ำกว่าสิบรอบ เพราะแม้เราจะอยากใช้ชีวิตให้ดีและสมบูรณ์แบบแค่ไหน แต่เส้นทางการใช้ชีวิตก็เต็มไปด้วยหลุม บ่อ หรือกับดัก รออยู่เต็มไปหมด ทำให้หลายครั้งที่คุณต้องเผชิญกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ปัญหาไม่คาดคิด หรือความล้มเหลวที่ยากเกินจะรับไหว
และเพราะการใช้ชีวิตเป็นเรื่องยาก ทำให้ระยะหลังมานี้ เราเห็นหนังสือแนะนำเคล็ดลับในการใช้ชีวิตติดอันดับขายดีเต็มไปหมด ซึ่งหนึ่งในแนวคิดที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงสองสามปีให้หลังมานี้คือ การนำ ‘กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)’ มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบชีวิต
แม้ฟังครั้งแรกอาจดูแปลก เพราะเมื่อพูดถึงการออกแบบ เรามักนึกถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือสิ่งของต่างๆ เพื่อเติมเต็มหรือแก้ปัญหาที่พบเจอในชีวิตประจำวันมากกว่า แต่ บิล เบอร์เนตต์ (Bill Burnett) และ เดฟ อีวานส์ (Dave Evans) สองนักออกแบบผลิตภัณฑ์ชั้นนำ และเป็นผู้นำกระบวนการคิดเชิงออกแบบมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบชีวิต ได้แสดงให้เราเห็นว่า กระบวนการคิดเชิงออกแบบช่วยให้เราออกแบบชีวิตที่มีความหมาย อิ่มเอม และแสนสุขได้ ผ่านทางหนังสือขายดี คู่มือออกแบบชีวิตด้วย Design Thinking (Designing Your Life: How to Build a Well-Lived, Joyful Life) ซึ่งจัดพิมพ์เป็นภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์ Bookscape
ทั้งคู่ยังเป็นผู้ริเริ่มหลักสูตร Designing Your life อันเป็นคอร์สยอดนิยมของ Stanford d.school ที่สอนให้นักศึกษารู้ว่า ตนเองอยากทำอะไรหลังเรียนจบ นอกจากนี้ เบอร์เนตต์กับอีวานส์ยังได้เริ่มจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปออกแบบชีวิต ที่เปิดให้ทุกคนเข้าร่วมได้อีกด้วย
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ที่ผ่านมา บิล เบอร์เนตต์ เดินทางมาที่เมืองไทยและได้เปิดห้องเรียนการออกแบบชีวิตในกิจกรรม ‘Designing Your Life’ จัดโดย KBank Digital Academy โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจมากมาย ซึ่ง 101 ได้จดเลคเชอร์วิชาการออกแบบชีวิต (ฉบับเร่งรัด) มาฝากคุณ – ไล่ตั้งแต่คำถามที่ว่า ผิดหรือไม่ถ้าเราไม่มีความหลงใหล (passion) อะไรในชีวิต ทำอย่างไรจึงจะทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้สำเร็จ หรือเราจะเริ่มวางแผนชีวิตของตนเองได้อย่างไร
ลองมาหาคำตอบและร่วมออกแบบชีวิตไปพร้อมกัน นับจากบรรทัดถัดจากนี้
-1-
อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า การใช้ชีวิตมีหลุม บ่อ และกับดักรอคุณอยู่ระหว่างทางมากมาย ซึ่งหนึ่งในกับดักนั้นคือ ‘ความเชื่อผิดๆ’ (Dysfunctional belief) ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่จริง และจะขัดขวางคุณจากการก้าวไปข้างหน้า เบอร์เนตต์เริ่มต้นการบรรยายด้วยการชี้ให้เราเห็นถึงความเชื่อผิดๆ 3 ข้อ ดังนี้
ข้อที่ 1: เราทุกคนต้องมีความหลงใหล (passion)
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีความหลงใหลใฝ่ฝันเป็นเรื่องที่ดี มีคนจำนวนไม่น้อยที่รู้ว่าตนเองหลงใหลอะไร และพยายามไล่ตามมันจนสุดทาง แต่ขณะเดียวกัน ก็มีคนอีกจำนวนมากที่ได้แต่สงสัยอยู่เงียบๆ ว่า ความหลงใหลของเราคืออะไรกัน และเราจะตามหามันเจอได้จากที่ไหน บางคนถึงกับอดคิดไม่ได้ว่า ตนเองผิดปกติหรือเปล่าที่ไม่ได้มีความหลงใหลอะไรเป็นพิเศษ ในยุคที่ตะโกนบอกให้เรา ‘ทำตามความหลงใหลของตัวเอง’ (Follow your passion) เช่นนี้
ไม่ต้องตกใจไป เพราะอันที่จริงแล้ว คนส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ว่าตนเองหลงใหลอะไร โดยงานวิจัยของวิลเลียม เดมอน (William Damon) ผู้อำนวยการศูนย์ดูแลเยาวชนแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford Centre on Adolescent) พบว่า มีคนเพียง 20% เท่านั้นที่รู้ว่า ตนเองมีความหลงใหลในเรื่องอะไร และถ้าถามคน 10 คน จะมี 8 คนที่ตอบว่า ไม่รู้ว่าความหลงใหลของตนเองคืออะไร หรือสนใจหลายเรื่องแต่ก็ไม่รู้ว่าเรื่องไหนเป็นความหลงใหลกันแน่ ขณะที่บางคนก็ไม่สามารถระบุอะไรได้ทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น ถ้าคุณไม่รู้ว่าความหลงใหลของตัวเองคืออะไร ก็ไม่ใช่เรื่องผิด คุณไม่ได้ผิดปกติอะไรทั้งนั้น และอย่าปล่อยให้การไม่มีความหลงใหลใฝ่ฝันมาเป็นอุปสรรคขัดขวางการออกแบบชีวิตที่คุณปรารถนา
ข้อที่ 2: ความสำเร็จจะทำให้เรามีความสุข
คนจำนวนมากเชื่อว่า ถ้าเราประสบความสำเร็จ เราจะมีความสุข และถ้าความสำเร็จถูกผูกติดอยู่กับเรื่องเงิน เงินก็จะทำให้เรามีความสุข แต่นี่ไม่ใช่ความจริงเสมอไป เพราะชีวิตคนเราย่อมต้องการอะไรที่มากกว่านั้น
จากการศึกษาระยะยาวในปี 1938 เรื่องการพัฒนามนุษย์ (Human development) โดยผู้ทำการศึกษาได้ติดตามกลุ่มตัวอย่างตั้งแต่พวกเขาเรียนจบมหาวิทยาลัย วัดปัจจัยทางกายภาพและจิตวิทยา พิจารณารายได้ และความสำเร็จในหน้าที่การงาน ซึ่งผลการศึกษาที่ได้ออกมาคือ ความสำเร็จและเงินทองไม่ได้เกี่ยวข้องกับความสุขเสมอไป แต่เกี่ยวกับชีวิตที่ยืนยาว และสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง
“ความเกี่ยวข้องเดียวที่เจอคือ ความรัก” เบอร์เนตต์เสริม “ความรักมีค่ามากกว่าชื่อเสียง เงินทอง และเป็นสิ่งที่ทำให้คนมีความสุขตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ว่าใครบ้างที่รักคุณ หรือคุณรู้สึกเห็นอกเห็นใจ และเคยทำอะไรให้คนอื่นบ้าง”
ข้อที่ 3: มันสายเกินไป
“ในยุคของผม มีความเชื่อว่า เราจะต้องได้ทุกอย่างมาภายในอายุ 25 – เราอาจมีคนรัก บางทีอาจจะแต่งงานแล้ว มีงานดีๆ ทำ มีครอบครัว ทุกอย่างจะต้องสำเร็จภายในอายุ 25 มิฉะนั้น มันจะสายเกินไป ซึ่งนี่มันงี่เง่าสิ้นดีเลย!” เบอร์เนตต์กล่าว พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า ไม่มีอะไรสายเกินไป และเราสามารถออกแบบชีวิตที่มีความสุขได้เสมอ
“ถ้าเราเชื่อว่ามันสายเกินไปแล้ว หรือเชื่อว่าเราทุกคนต้องมีความหลงใหล เราก็จะเอาแต่คิดว่า ตนเองมีบางอย่างผิดปกติ และความเชื่อผิดๆ พวกนี้ก็จะถ่วงไม่ให้เราก้าวไปข้างหน้า ซึ่งจริงๆ แล้ว มันไม่มีอะไรผิดเลยแม้แต่น้อย”
เขาปิดท้ายว่า สิ่งที่พวกเราควรทำคือ ‘เรียนรู้’ ความเชื่อที่เป็นประโยชน์ (Functional belief) และคิดให้แตกต่างแบบ ‘นักออกแบบ’
-2-
ถ้าคุณกำลังสงสัยว่า การคิดอย่างนักออกแบบเป็นอย่างไร ลองอ่านเรื่องด้านล่างนี้ดู
ก่อนจะมาทำงานที่สแตนฟอร์ด เบอร์เนตต์เคยทำงานเป็นผู้จัดการด้านการออกแบบ (Design manager) อยู่ที่แอปเปิล (Apple) ราว 7 ปี และนั่นทำให้เขาได้ฟังเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการออกแบบโทรศัพท์ iPhone รุ่นแรก
“ก่อนหน้าที่ iPhone จะเกิดขึ้น โทรศัพท์ที่ฮอตสุดๆ คือ Motorola RAZR ซึ่งเพื่อนๆ นักออกแบบของผมใช้รุ่นนี้กันหมด มันเป็นโทรศัพท์ที่บาง ทำจากอลูมิเนียม หน้าจอเล็ก ทุกอย่างประกบกันอย่างเหมาะเจาะ ส่วนกลุ่มนักธุรกิจก็มักจะใช้ Blackberry ที่มีคีย์บอร์ดเล็กๆ ไว้ให้พิมพ์ ตอนนั้นใครๆ ก็พูดว่า โทรศัพท์ที่แอปเปิลออกแบบน่าจะต้องมีขนาดเล็ก เรียบหรู อาจมาพร้อมกับคีย์บอร์ดด้วย แต่นั่นไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้อง”
เบอร์เนตต์เล่าว่า ทีมออกแบบต้องสร้างตัวอย่างโทรศัพท์มากกว่า 300 แบบ ก่อนที่จะรู้ว่าตัวอย่างใดคือแบบที่พวกเขาต้องการจริงๆ
“ถ้าคุณอ่านชีวประวัติของสตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) จะพบว่า ทีมออกแบบ iPhone โชว์ตัวอย่างต้นแบบให้จอบส์ดู 3 ครั้ง และได้รับคำตอบว่า ต้นแบบทั้ง 3 แบบนั้นไม่ดีพอ ให้ไปทำมาใหม่ จนกระทั่งกลายเป็น iPhone แบบที่คุณเห็นนั่นแหละ คือเป็นโทรศัพท์ที่ไม่ใช่แค่นำหลายสิ่งหลายอย่างมารวมกัน แต่เป็นสิ่งที่ใหม่และมีเอกลักษณ์”
เขาอธิบายเพิ่มว่า ในโลกนี้มีการคิดหลายแบบ ซึ่งการคิดแต่ละแบบก็เหมาะกับปัญหาที่แตกต่างกัน เช่น การคิดแบบวิศวกร (Engineering thinking) จะใช้แก้ปัญหาเวลาที่เรามีข้อมูลเยอะๆ และแน่ใจว่าจะมีคำตอบที่ดีที่สุดเพียงคำตอบเดียว แต่การคิดเชิงออกแบบ (Design thinking) คุณจะต้อง สร้างก่อน แล้วจึงจะระบุปัญหาที่แน่ชัดได้
“คุณไม่เคยรู้เลยว่า คุณต้องการอะไรกันแน่ จนกระทั่ง iPhone เกิดขึ้น และทำให้พฤติกรรมของคุณเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เพราะคุณไม่รู้เลยว่าคุณสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ จนกระทั่งคุณทำมันได้ใน iPhone”
-3-
“เวลาเราคุยกับคนวัยสามสิบที่กำลังใคร่ครวญเรื่องอาชีพของตนเอง เราจะบอกว่า พวกเขาไม่รู้อะไรเกี่ยวกับอนาคตข้างหน้าของตัวเองเลย จึงเป็นหน้าที่ของพวกเขาที่จะต้องพยายามสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาเอง”
“นี่คือสาเหตุว่าทำไมหนังสือ Designing Your Life ใช้คำว่า ‘สร้าง (build)’ ชีวิตที่ดี ไม่ใช่ ‘ออกแบบ (plan)’ เพราะมันคือหนทางในการสร้างอนาคตของคุณ เริ่มต้นจากคน เริ่มต้นจากปัญหา และเริ่มต้นจากความเห็นอกเห็นใจ (empathy) ผู้อื่น”
เบอร์เนตต์แนะนำว่า การออกแบบชีวิตจะเริ่มต้นที่ตนเอง เช่น คำถามอย่าง ‘ฉันเป็นใคร ต้องการอะไร และรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับตนเอง?’ และเริ่มต้นที่โลก เช่น ‘โลกนี้ต้องการอะไรจากฉัน’ จากนั้น เราจะต้องระบุปัญหา ซึ่งจะมาพร้อมกับไอเดียใหม่ๆ ด้วย และเมื่อเรามีไอเดียมากพอ เราก็จะเลือกได้ดีขึ้น
อีกสิ่งหนึ่งที่คนนิยมทำเวลาพบปะกับเพื่อนฝูงคือ การบ่นถึงเรื่องงานหรือเรื่องชีวิตคู่ของตนเอง แต่ถ้าเราต้องการออกแบบชีวิต แทนที่จะนั่งบ่นเรื่องเหล่านี้ ให้เปลี่ยนเป็นการบอกเพื่อนว่า ‘ฉันมีบางอย่างอยากเล่าให้ฟัง’ แทน เพราะเราทุกคนคือนักออกแบบชีวิต งานของเราคือการออกแบบ เราจึงต้องเริ่มต้นด้วยความคิดแบบนักออกแบบ คือเริ่มด้วยความอยากรู้อยากเห็น เนื่องจากเรากำลังจะออกแบบสิ่งที่ไม่เคยถูกออกแบบมาก่อน
“เวลาเรามีปัญหา เรามักจะพบว่าปัญหานั้นแน่นและรัดตัวมากเกินไป ผมแนะนำว่า ให้พวกคุณลองวางกรอบ (reframe) ปัญหาใหม่ดู บางที คุณอาจจะหาคำตอบของปัญหานั้นได้”
-4-
ในช่วงปีใหม่ หนึ่งในสิ่งที่คนนิยมทำกันคือ การตั้งเป้าหมายให้กับตนเองในปีที่จะมาถึง (New Year’s Resolutions) แต่แน่นอนว่าการตั้งเป้าหมายไม่ได้ง่ายเหมือนการทำจริง บางคนตั้งเป้าหมายว่าจะออกกำลังกาย แต่ผ่านไปเกินครึ่งปีแล้วยังคงซื้อชานมไข่มุกอยู่ทุกวัน ลืมเรื่องออกกำลังกายไปได้เลย ขณะที่ใครอีกหลายคนตั้งเป้าหมายว่าจะเลิกสูบบุหรี่ แต่ก็ยังเลิกไม่ได้จนถึงทุกวันนี้
“นั่นเป็นเพราะพวกเขาตั้งเป้าหมายไว้ยากเกินไป” เบอร์เนตต์อธิบาย “สมมติว่า คุณตั้งเป้าหมายว่าจะวิ่งมาราธอนให้ได้ภายในปีนี้ แต่คุณยังเดินไม่ครบห้าพันก้าวด้วยซ้ำ แล้วคุณคิดว่าคุณจะวิ่งมาราธอนได้ภายในสัปดาห์หน้าไหมล่ะ ไม่มีทาง”
ดังนั้น เขาจึงแนะนำให้เปลี่ยนมาใช้วิธีการ ‘ตั้งเป้าหมายให้ต่ำไว้ก่อน และเริ่มต้นจากสิ่งง่ายๆ’ เช่น จากการตั้งเป้าหมายว่าจะวิ่งมาราธอน ก็อาจจะเริ่มจากการเดินให้ได้หนึ่งพันก้าวภายในสองสัปดาห์ข้างหน้า และสักวัน เราก็อาจวิ่งมาราธอนได้สำเร็จ
“ผมไม่ชอบหนังสือที่บอกว่า พวกคุณต้องเป็นคนพิเศษหรือมีพลังเหนือมนุษย์อะไรทำนองนั้น เพราะเราไม่ใช่ยอดมนุษย์ เราเป็นแค่มนุษย์ ที่พยายามจะทำชีวิตให้ดีขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เพราะฉะนั้น เริ่มจากสิ่งที่คุณสามารถทำได้จริงๆ ก่อน” เบอร์เนตต์ปิดท้าย
-5-
ทุกคนต้องทำงาน แต่แน่นอนว่า ถ้าทำงานหนักเกินไปคงไม่ใช่เรื่องดี จึงมีความคิดแบบ work-life balance ที่มุ่งเน้นให้สร้างสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงานเกิดขึ้น แต่เบอร์เนตต์กลับมองว่า นี่ไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้องนัก เพราะชีวิตของเรามีมากกว่าแค่สองเรื่องให้รักษาสมดุล
“การเปรียบเทียบแค่การทำงานกับชีวิตส่วนตัวไม่ใช่การเปรียบที่ถูกต้องนัก มันเหมือนกับ zero-sum game (รูปแบบการแบ่งผลประโยชน์ที่มีผู้แพ้และผู้ชนะ) และคุณก็ไม่อาจชนะเกมนี้ได้ ถ้าทำงานมากเกินไป ก็จะไม่มีชีวิตส่วนตัว และถ้ามีชีวิตส่วนตัวมากเกินไป ก็ไม่มีงาน แน่นอนว่าไม่มีเงินด้วย แล้วจะทำอย่างไรล่ะ ทำงานแบบกลางๆ ไม่ต้องดีมากงั้นเหรอ นี่เป็นการสร้างสมดุลแบบโดนบังคับ ไม่ใช่ชีวิตแบบที่ควรใช้ นี่ไม่ใช่การทำงานและชีวิต แต่นี่คือชีวิต”
เบอร์เนตต์แนะนำว่า เราต้องวางกรอบปัญหาเสียใหม่ โดยเขาได้เสนอ 4 องค์ประกอบของชีวิตมนุษย์ คือ สุขภาพ (health) ทั้งกายและใจ งาน (work) ที่คุณต้องทำในแต่ละวัน กิจกรรมสร้างสุข (play) เพราะสมองมนุษย์ถูกออกแบบมาสำหรับทั้งการเรียนรู้และการเล่น และ ความรัก (love)
“ลองสร้างมาตรวัดชีวิตของคุณดู ซึ่งคุณสามารถมีทั้งงาน มีความรัก หรือมีสิ่งอื่นๆ ได้แบบ 100% เพราะนี่ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนที่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง”
(ภาพจากหนังสือ Designing Your Life: How to Build a Well-Lived, Joyful Life)
การระบุค่าองค์ประกอบทั้ง 4 ลงในมาตรวัดจะช่วยให้เรามองเห็นว่า องค์ประกอบด้านไหนที่สมบูรณ์ และด้านไหนที่ยังต้องการการเติมเต็ม ซึ่งเราอาจเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถทำได้ภายในห้าวันข้างหน้า หรือสัปดาห์หน้า เพื่อเติมเต็มองค์ประกอบที่ยังขาดให้ดีขึ้น
“เมื่อคุณตระหนักว่า คุณสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ได้ มันก็จะส่งผลกระทบกับทั้งสัปดาห์ของคุณ และคุณสามารถชนะเกมนี้ได้ ขอเพียงแค่คิดอย่างนักออกแบบ เริ่มต้นเกมด้วยความมั่นใจและความสร้างสรรค์ ท่องไว้ว่า คุณสามารถออกแบบอนาคตของตนเองได้”
-6-
หนึ่งในความเชื่อผิดๆ (อีกแล้ว) ของคนเราคือ เรามีชีวิตได้แค่ชีวิตเดียว
คำว่า ‘ชีวิตเดียว’ ในที่นี้ไม่ได้อิงกับหลักความเชื่อทางศาสนาแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องที่ว่า คุณจะต้องใช้ชีวิตตามแผนการที่วางเอาไว้แบบเดียว และถ้าทำตามแผนนั้นไม่ได้ คุณก็อาจเกิดความกังวลหรือถึงขั้นมองว่าชีวิตนั้นล้มเหลวไปโดยปริยาย
แต่การออกแบบชีวิตจะเสนอมุมมองใหม่ให้กับคุณ โดยทำให้เห็นว่า ชีวิตมีจุดแก้ตัวให้เริ่มต้นใหม่ได้เสมอ และคุณก็คือผู้เลือกเส้นทางที่จะก้าวไปข้างหน้าด้วยตัวเอง
“ปัญหาอย่างหนึ่งคือ คุณพยายามที่จะสร้างแผนการที่สมบูรณ์แบบที่สุด ทั้งที่ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบในโลกนี้ แทนที่จะวางแผนแค่แผนเดียว คุณลองวางแผนชีวิตสัก 3 แบบดู และนั่นจะทำให้คุณมีตัวเลือกมากขึ้น”
เบอร์เนตต์แนะนำให้เรารู้จักกับ ‘แผนโอดิสซีย์ (Odyssey Plan)’ โดยให้เราจินตนาการและวาดภาพแผนการชีวิต 3 แบบ ที่สามารถเป็นไปได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า
“แผนแรก ให้พูดถึงสิ่งที่คุณทำอยู่ อาชีพของคุณ และชีวิตที่เป็นอยู่ตอนนี้ แผนที่สอง คือสิ่งที่คุณจะทำ หากข้อแรกหายไป เช่น สมมติว่าคุณทำงานอยู่ตอนนี้ แล้วจู่ๆ AI ก็เข้ามาแย่งงานของคุณ คุณจะทำอะไรแทน และ แผนที่สาม สิ่งที่คุณอยากทำ หากคุณไม่จำเป็นต้องสนใจภาพลักษณ์ เงินทอง หรือชื่อเสียงอีกต่อไป (Wild Card Plan) เมื่อเขียนแผนการทั้งสามแบบได้แล้ว ตั้งชื่อสั้นๆ ให้กับแต่ละแผนการ และอย่าลืมตั้งคำถามที่เกี่ยวข้องกับแผนการนั้นสัก 2-3 ข้อด้วย”
แต่การคิดวางแผนอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะเราจำเป็นจะต้องรู้ด้วยว่า เรามีศักยภาพและการสนับสนุนมากแค่ไหนในการทำแผนนั้นให้สำเร็จ เบอร์เนตต์จึงแนะนำให้เราสร้างมาตรวัดขึ้นมา ซึ่งจะช่วยบอกว่า เรามีทรัพยากรเพียงพอหรือไม่ที่จะช่วยให้แผนการที่วางไว้สำเร็จ หรือเรามีความมั่นใจในการทำสิ่งนั้นแล้วหรือยัง
แผนโอดิสซีย์อาจช่วยให้คุณเห็นเส้นทางชีวิตของตนเองชัดขึ้น หรือทำให้นึกถึงความฝันที่เคยถูกหลงลืมไปในวัยเด็กได้ ทั้งนี้ คุณอาจลองจินตนาการแผนการที่บ้าหลุดโลกขึ้นมาสักสองแผนการ แต่อย่าลืมว่า อย่าตั้งเป้าหมายสูงหรือเสี่ยงเกินไปนัก
-7-
เมื่อคุณวางแผนโอดิสซีย์ และสร้างมาตรวัดเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปที่ควรทำ และเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการออกแบบชีวิตคือ การสร้างต้นแบบ (Prototype) ซึ่งมีอยู่สองแบบคือ การสร้างต้นแบบจากประสบการณ์ (Prototype Experience) คือการทดลองทำจริง เช่น ถ้าเราอยากเรียนรู้อะไรสักอย่าง ก็ลองเอาตัวเองเข้าไปนั่งเรียนในห้องเรียนวิชานั้นจริงๆ เพื่อทดสอบดูว่า เราอยากเรียนจริงหรือไม่
แบบที่สองคือ การสร้างต้นแบบด้วยการสนทนา (Prototype Conversation) โดยเริ่มจากการมองหาคนที่น่าสนใจจาก Facebook หรือ LinkedIn และลองชวนเขาไปดื่มกาแฟสักครึ่งชั่วโมง พร้อมทั้งขอให้เขาเล่าเรื่องตนเองให้ฟัง (ต้องเป็นการ ‘เล่า’ ไม่ใช่การ ‘สัมภาษณ์’) ซึ่งเบอร์เนตต์บอกว่า คนส่วนมากชอบเล่าเรื่องราวของตนเองอยู่แล้ว จึงมีโอกาสสูงมากที่พวกเขาจะตอบรับคำขอสนทนา และเราอาจจะเจอคนที่น่าสนใจ ที่เป็นต้นแบบหรือช่วยสานต่อความฝันของเราได้ด้วย
“ผมให้นักศึกษาในคลาสที่สแตนฟอร์ดทำแบบเดียวกันนี้ มีนักศึกษาหญิงคนหนึ่งคิดว่า คงไม่มีใครอยากคุยกับเธอ เพราะเธอเป็นนักศึกษา เธอกังวลมากเสียจนตัดสินใจส่งคำขอไปหาคน 12 คน ทั้งที่ผมให้ลองส่งแค่ 3 คนเท่านั้น ปรากฏว่าทั้ง 12 คนตอบรับคำขอเลี้ยงกาแฟ เธอจึงต้องซื้อกาแฟ 12 แก้ว และฟังเรื่องราวจากคน 12 คน ปรากฏว่ามีผู้หญิง 3 คนที่สนใจและอยากจะเป็นเมนเทอร์ให้เธอ และนั่นเปลี่ยนเส้นทางชีวิตของเธอไปเลย นักศึกษาคนนี้ตัดสินใจเปลี่ยนวิชาเอก และเรียนจบจากสแตนฟอร์ดพร้อมกับทำสิ่งที่เธอไม่เคยคิดฝันว่าจะทำมาก่อน และตอนนี้เธอก็ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างมาก”
-8-
“การออกแบบชีวิตเป็นเรื่องดี แต่อาจจะยังไม่พอ เพราะคุณยังต้องการรากฐาน (Foundation) ที่จะสนับสนุนการออกแบบชีวิตของคุณ และต้องการการฝึกฝนเพื่อสร้างศักยภาพ ในการที่จะรู้ว่าตัวเองเดินอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้องแล้วหรือยัง”
ทุกวันนี้ คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่า ตนเองยุ่งอยู่ตลอดเวลา และคิดว่าเป็นเพราะพวกเขาไม่รู้จักการจัดการเวลา (Time management) แต่เบอร์เนตต์แย้งว่า นี่ไม่ได้เกี่ยวกับเวลา แต่เกี่ยวกับการให้ความสนใจ (Attention) – คุณสนใจเรื่องอะไร ใจของคุณจดจ่ออยู่ที่อะไร – ความสนใจนี้เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญเพื่อออกแบบชีวิต
นอกจากความสนใจแล้ว อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือพลังงาน (Energy) สมัยก่อนเราเน้นใช้พลังกายในการดำรงชีวิต เมื่อเวลาเปลี่ยนไป เราเริ่มหันมาใช้พลังความคิดอย่างหนักหน่วงในการทำงาน ทำให้สมองเป็นอวัยวะที่ทำงานหนักและต้องการพลังงานอย่างมหาศาล กล่าวคือ สมองหนักเพียง 2% ของน้ำหนักตัว แต่ใช้พลังงานถึง 25% ของพลังงานที่เราบริโภคในแต่ละวัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ความสามารถในการตั้งใจทำงานขึ้นกับระดับพลังงานเป็นสำคัญ
“เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว คุณจะต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ ให้ความสนใจและจดจ่อกับสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งก็คือพลังงาน ไม่ใช่เวลา”
สิ่งที่เบอร์เนตต์แนะนำคือ ให้เราลองวาดแผนผังพลังงานแบบง่ายๆ โดยลองลิสต์กิจกรรมหลักๆ ที่ทำ จะเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องงานก็ได้ จากนั้นจึงพิจารณาว่า กิจกรรมนั้นให้พลังงานเราในทางบวก ทางลบ หรือว่าทั้งคู่ ทั้งนี้ เขาย้ำว่าอย่าสับสนพลังงานทางลบกับความกังวล ความประหม่า หรือความเหนื่อย เช่น เวลาเราออกกำลังกายเสร็จ เราจะเหนื่อยมาก แต่ร่างกายกลับรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า ซึ่งนับเป็นพลังงานทางบวก
หลังจากวาดแผนผังพลังงานเสร็จแล้ว เราจะเห็นว่า อะไรที่ก่อให้เกิดพลังงานทางบวกและทางลบกับเรา และยังจะทำให้เรารู้ว่า ‘ภาวะลื่นไหล (Flow)’ (ซึ่งหมายถึงภาวะที่เครื่องร้อน และสามารถทุ่มความสนใจลงไปยังสิ่งที่ทำอยู่ตรงหน้าได้อย่างเต็มเปี่ยม) ของเราอยู่ตรงไหน ทำให้เราสามารถเริ่มต้นปรับปรุงและแก้ไขกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้
อย่างไรก็ตาม แม้บางกิจกรรมจะให้พลังงานด้านลบและดูดพลังงานของเราไปเยอะ แต่ก็เป็นกิจกรรมที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และต้องทำอยู่ทุกสัปดาห์ เบอร์เนตต์จึงมีทริกเล็กๆ น้อยๆ เพื่อทำให้สัปดาห์ของเราเป็นสัปดาห์ที่ดีขึ้นมาฝาก
#1 เริ่มต้นสัปดาห์ด้วยความกระฉับกระเฉง และให้ความสนใจกับสิ่งต่างๆ รอบตัว
#2 ลองเปลี่ยนแปลงอะไรเล็กๆ น้อยๆ โดยเบอร์เนตต์ยกตัวอย่างประสบการณ์ของเขา ที่เลือกจะให้คำปรึกษานักศึกษาในร้านกาแฟแทนที่จะเป็นห้องทำงาน และยังเลี้ยงกาแฟเพื่อทำให้พวกเขารู้สึกว่า เป็นเหมือนเพื่อนมากกว่าเป็นอาจารย์กับลูกศิษย์ ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาเรียนรู้ได้มากขึ้น และเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
#3 ยึดหลัก the best-last effect กล่าวคือในทางจิตวิทยา คนเราจะสามารถจดจำจุดเริ่มต้นและจุดลงท้ายได้ดี เราจึงสามารถนำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบสัปดาห์ของเราได้ โดยเริ่มต้นและลงท้ายสัปดาห์ด้วยสิ่งดีๆ และพยายามทำสิ่งที่สนุก แม้จะเจอเรื่องแย่ๆ ก็ตาม
-9-
ในตอนท้าย เบอร์เนตต์กล่าวปิดท้ายไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า คนส่วนมากมักสับสนและคิดว่าตนเองไม่มีความสุข เพราะเจอกับสถานการณ์ที่ทำให้ไม่มีความสุข แต่อันที่จริงแล้ว นี่ไม่เกี่ยวกับสถานการณ์ ว่าคุณเจอเรื่องดีหรือเรื่องแย่อะไร แต่เป็นเรื่องของการเลือกและจินตนาการว่าตนเองมีความสุข
ดังนั้น ถ้าคุณไม่ชอบชีวิตตอนนี้ สิ่งที่ต้องทำไม่ใช่การกล่าวโทษสถานการณ์ที่ต้องเจอ แต่ให้เปลี่ยนแปลงวิธีคิด และหยุดสนใจเรื่องที่ทำให้เราไม่มีความสุข
“เราทุกคนควรมีความเป็นมนุษย์ให้มากขึ้น เพื่อที่เราจะเชื่อมต่อกัน (connect) ให้มากกว่าเดิม อันจะนำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดอนาคตที่ดีกว่าในวันข้างหน้า”
“ผมเชื่อว่าพวกคุณทุกคนสามารถออกแบบชีวิตของตนเองได้ โดยใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบเข้ามาช่วย และไม่เคยมีคำว่าสายเกินไปในการออกแบบชีวิตที่คุณปรารถนา” เบอร์เนตต์กล่าวทิ้งท้าย
รายงานชิ้นนี้เก็บความจากกิจกรรมเวิร์คช็อป ‘Designing Your Life’ จัดโดย KBank Digital Academy โดย The101.world ได้รับเชิญเข้าร่วมกิจกรรมและมีอิสระในการนำเสนอเนื้อหาอย่างเต็มที่ โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนอื่นใด
สำหรับผู้ที่สนใจกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มเติมสามารถติดตามได้ทางเพจเฟซบุ๊ก Kasikorn Career หรือ LINE: @kasikorncareer