fbpx
กรณีคำสั่งฆ่ามิงค์ 17 ล้านตัวในเดนมาร์กกับบทเรียนเรื่องสิ่งแวดล้อม

กรณีคำสั่งฆ่ามิงค์ 17 ล้านตัวในเดนมาร์กกับบทเรียนเรื่องสิ่งแวดล้อม

ปรีดี หงษ์สต้น เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีข่าวที่สะเทือนไปทั้งสแกนดิเนเวียคือมีการพบการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในฟาร์มมิงค์ของเดนมาร์ก ซึ่งเป็นที่กังวลว่าจะทำให้วัคซีนที่คิดค้นอยู่นั้นใช้ไม่ได้ผล ที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งคือ ไวรัสที่กลายพันธุ์นี้เริ่มติดต่อเข้าสู่มนุษย์แล้ว

เดนมาร์กเป็นประเทศส่งออกขนมิงค์รายใหญ่ที่สุดของโลก มีอุตสาหกรรมฟาร์มมิงค์จำนวนมาก ผลคือรัฐบาลออกคำสั่งให้ฆ่ามิงค์ 17 ล้านตัวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อที่กลายพันธุ์ใหม่นี้

การฆ่าจึงเริ่มต้นอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในแถบตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีการทำฟาร์มมิงค์อย่างเข้มข้น จนถึงเดือนธันวาคม มีมิงค์ถูกฆ่าไปแล้วประมาณ 11 ล้านตัว รวมกันทั้งหมดประมาณ 31,000 ตัน

ในทางการเมืองรัฐสภา คำสั่งนี้ส่งผลสะเทือนไปทั่วเดนมาร์ก เป็นประเด็นทางการเมืองอันล่อแหลม ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปอย่างกว้างขวาง กลุ่มผู้ทำฟาร์มมิงค์ออกมาประท้วงเรียกร้องว่าเป็นการทำเกินกว่าเหตุ คำสั่งนี้ทำลายอาชีพและชีวิตของพวกเขา ฝ่ายค้านมุ่งตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ว่า นี่เป็นการกระทำที่ไม่มีฐานกฎหมายรองรับ นายกรัฐมนตรีออกมายอมรับว่าคำสั่งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายจริง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาหารและการเกษตรก็ได้ลาออกในที่สุด ผลคือรัฐบาลต้องพยายามหาทางออกกฎหมายพิเศษ ซึ่งหากไม่ได้รับการสนับสนุนเพียงพอ ก็จะนำไปสู่การล่มลงของรัฐบาลได้

กลุ่มผู้เคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมทั้งในและนอกเดนมาร์กวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์นี้อย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียกร้องยกเลิกอุตสาหกรรมขนสัตว์ และการยกเลิกการทารุณกรรมสัตว์ที่พวกเขาเรียกร้องมานานแล้ว เหตุการณ์เริ่มบานปลาย เพราะปรากฏว่าเมื่อมีการฝังซากศพของเหล่ามิงค์เป็นล้านๆ ตัวลงไปในหลุม เมื่อเวลาผ่านไป ร่างของมิงค์เริ่มพองบวม ล้นออกมาจากหลุมฝังขนาดใหญ่เหล่านี้ ส่งแก๊สและของเหลวออกมา ไหลเข้าไปในทะเลสาบหรือลงไปในแหล่งน้ำใต้ดิน กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมของประชาชนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนั้นๆ การแก้ปัญหาหนึ่งที่ไม่ถูกต้อง จึงนำไปสู่อีกปัญหาหนึ่งเรื่อยไป

บทเรียนจากเดนมาร์กครั้งนี้จึงมีราคาแพงเป็นอย่างยิ่ง

 

มิงค์อยู่ในกรงตั้งแต่เกิดยันถูกรมควันจนตายเพื่อนำไปถลกหนังเอาขน – รูปนี้มาจากฟินแลนด์ (ที่มาภาพ: wikimedia.org/)

 

เดนมาร์กกับเส้นทางการเข้าสู่อุตสาหกรรมฟาร์มและปศุสัตว์

 

อุตสาหกรรมขนสัตว์ของเดนมาร์กนั้นมีขนาดใหญ่ สร้างรายได้เกือบพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยขนสัตว์ส่งออกไปจีนและฮ่องกงเป็นหลักเพื่อเป็นวัตถุดิบของโรงงานเสื้อผ้ากันหนาวและแฟชั่น

หากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์แล้ว เดนมาร์กก้าวเข้าไปสู่การเป็นผู้ผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์จากสัตว์เพื่อส่งออกหลักในต้นศตวรรษที่ 19 เป็นอย่างช้า

ก่อนหน้านี้ชาวนาเดนมาร์กปลูกธัญพืชส่งออกเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นข้าวโอ็ต ข้าวไรย์ ข้าวบาร์เลย์ ฯลฯ ก็เนื่องด้วยภูมิประเทศของเดนมาร์กเหมาะแก่การทำการเกษตรมาก ต่างจากประเทศในสแกนดิเนเวียอีกประเทศอย่างนอร์เวย์ ดังจะเห็นได้ว่าในบางช่วง นอร์เวย์ต้องพึ่งพิงการนำเข้าธัญพืชจากเดนมาร์กแทบทั้งหมด

ในศตวรรษที่ 19 เมื่อการเกษตรของยุโรปเหนือเริ่มขยายตัวอย่างมาก มีชาวนาจากบริเวณต่างๆ เช่นในเยอรมนี โปแลนด์ และกลุ่มประเทศบอลติกเริ่มปลูกธัญพืชมากขึ้น ราคาของธัญพืชเหล่านี้ถูกลง พร้อมๆ กับการเกิดความผันผวนของอากาศ ทำให้พืชผลทางการเกษตรล้มเหลวในช่วงกลางศตวรรษ ชาวนาเดนมาร์กจึงหันมาทำวัวนมและปศุสัตว์ และซื้อธัญพืชที่มีราคาถูกกว่าในตลาดมาใช้ในการเลี้ยงสัตว์แทน

พร้อมๆ กับมีการปฏิรูประบบถือครองที่ดินของเดนมาร์กเรื่อยมา ขนาดของไร่นาถูกตัดแบ่งพอเหมาะรับกับเทคโนโลยีและการลงทุน และเกิดการรวมกุล่มกันของเกษตรกรเพื่อเป็นสมาคมการเกษตร (Landhusholdningsselskab) ล่วงเข้าศตวรรษถัดมา สมาคมนี้เคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ รวมทั้งเรื่องการศึกษาของลูกหลานชาวนาชาวไร่ ขณะเดียวกันก็ต้องการเป็นอิสระจากการการควบคุมของรัฐส่วนกลางที่มากเกินไป มีการรวมตัวกันเป็นสหกรณ์ โดยเฉพาะผู้ทำฟาร์มวัวนม

การรวมตัวกันเป็นสหกรณ์ของสมาชิกสมาคมการเกษตรก็คือการประกาศจุดเปลี่ยนแปลงว่าการทำการเกษตรหรือฟาร์มวัวนมได้กลายเป็นการทำธุรกิจเป็นที่เรียบร้อย ประกอบด้วยเทคโนโลยีการทำฟาร์มและการปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนย มีคุณภาพที่สูงขึ้นและควบคุมได้มากขึ้น จากปลายศตวรรษที่ 19 เดนมาร์กจึงกลายเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากนมซึ่งบางช่วงสูงถึงร้อยละ 90 ของการส่งออกทั้งหมดทีเดียว

จากการเป็นประเทศส่งออกธัญพืช เดนมาร์กก็เดินทางเข้าสู่การเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากสัตว์ในที่สุด

 

ขนมิงค์เตรียมส่งออกหลังจากถลกหนังแล้วในโคเปนเฮเกน (ที่มาภาพ: wikimedia.org)

 

มนุษย์ สัตว์ และจุลินทรีย์ก่อโรค

 

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้กำหนดวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ความคิด โลกทัศน์ของชาวนาเดนมาร์กอย่างลึกซึ้ง เป็นพลังผลักดันให้เกิดการทำฟาร์มสัตว์ประเภทอื่นๆ และในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มิงค์ก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมนี้ ด้วยความที่สภาพอากาศค่อนข้างพอเหมาะ การทำฟาร์มสัตว์เพื่อใช้ขนนั้นก็เหมาะสมอย่างยิ่ง พร้อมๆ กับการสนับสนุนจากรัฐ การทำฟาร์มมิงค์ในเดนมาร์กขยายตัวเรื่อยมาจนเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก

 

เสื้อขนมิงค์ออกแบบโดยดีไซเนอร์เดนมาร์ก Birger Christensen ปี 1980 (ที่มาภาพ: wikidata.org)

 

การปะท้วงอุตสาหกรรมขนสัตว์ในเฮลซิงกิ ฟินแลนด์ (ที่มาภาพ: wikimedia.org)

 

แต่ในขณะเดียวกัน ยังมีเรื่องราวอีกเรื่องหนึ่งที่ควบคู่ไปกับการเติบโตของอุตสาหกรรมฟาร์มและปศุสัตว์ นั่นคือเรื่องจุลินทรีย์ก่อโรค และเรื่องราวนี้เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่แต่เพียงในเดนมาร์กเท่านั้น

ตั้งแต่กลางศตวรรษที่แล้ว เราจะเห็นจุลินทรีย์ก่อโรคใหม่ๆ ดังที่มนุษยชาติไม่เคยเห็นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น เอชไอวี อีโบลา ซิกา ฯลฯ ซึ่งต้นต้อส่วนใหญ่มาจากสัตว์ ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า

การกลายเป็นเมือง การเปิดพื้นที่เพื่อทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ เหล่านี้ส่งผลให้เกิดสภาวะที่สัตว์บางชนิดที่ปกติแล้วในระบบนิเวศไม่เคยจะต้องอยู่ใกล้ชิดกัน กลับถูกจับมาอยู่ใกล้กัน (เช่นในตลาดสด) สถานการณ์เช่นนี้ทำให้จุลินทรีย์มีโอกาสข้ามสายพันธุ์หากันได้ กรณี SARS ในช่วงปี 2002-2003 ก็มีผู้สรุปว่าสาเหตุมาจากสถานการณ์เช่นนี้

ปศุสัตว์จำนวนมหาศาลเวลานี้อยู่ในฟาร์มรอบโลก บางส่วนกำลังรอถูกเชือด อยู่แออัดกันในสถานที่ปิด เหล่านี้เป็นโอกาสที่จุลินทรีย์จะก่อโรคใหม่ๆ ขึ้นได้เสมอ

หรือถ้าความทรงจำของเราไม่สั้นจนเกินไปนัก ไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ที่มาจากนกน้ำในป่า และข้ามมาสู่สัตว์ปีกในฟาร์ม เราก็เห็นการฆ่าไก่เป็นล้านๆ ตัวทั่วโลกมาแล้วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา (นี่ยังไม่นับการพบไข้หวัดนกในฟาร์มไก่ของนอร์เวย์และสวีเดนเร็วๆ นี้อีก)

ฟาร์มมิงค์จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งของกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลก อันเป็นผลของการทำลายสิ่งแวดล้อม การขยายตัวของอุตสาหกรรมที่ผลิตจากสัตว์

กรณีโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ก็เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการสำรวจวิจัยและแสดงให้เห็นว่ามีไวรัสใหม่ๆ อย่างน้อย 900 สายพันธุ์ ที่เกิดขึ้นด้วยผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ทั่วโลก

กรณีฆ่ามิงค์หลายล้านตัวในเดนมาร์กไม่ใช่ความผิดของมิงค์แต่อย่างใด แต่เป็นมนุษย์

หากแต่ไม่ใช่มนุษย์ทุกคน เป็นมนุษย์นายทุนผู้สามารถรักษาระยะห่างกับคนอื่นได้เสมอ ไม่ใช่อยู่ในสลัมหรือชุมชนแออัด ที่จะว่าไปแล้ว จะต่างอะไรกับปศุสัตว์ที่รอถูกเชือดเล่า

 

 

อ้างอิง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save