fbpx

เช็คบิล ‘ดาอิม ไซนูดดีน’ ขุนคลังคู่ใจมหาเธร์ โมฮัมหมัด

ภาพประกอบ: ANDY WONG/POOL/AFP

นอกจากกลเม็ดเด็ดพรายทางการเมืองที่ลึกล้ำหาผู้ใดเสมอเหมือนแล้ว เคล็ดลับอีกประการหนึ่งที่ช่วยให้อดีตนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด (Mahathir Mohamad) วัย 98 ปียืนยงคงกระพันอย่างไม่มีสิ่งใดมาแผ้วพานคือความสามารถในการนำพาตนออกห่างจากข้อหาทุจริตด้วยการปกปิดเงื่อนงำความมั่งคั่งของตนได้อย่างมิดชิดตลอดระยะเวลาอันยาวนาน แม้จะรู้กันดีว่าเขาคือผู้สร้างอภิมหาเศรษฐีของประเทศมาแล้วหลายราย มหาเธร์และครอบครัวก็มักปรากฏตัวด้วยภาพลักษณ์ของผู้มีฐานะระดับพองาม ไม่มีการอวดโอ่ชีวิตหรูหราให้เป็นจุดอ่อนทางการเมือง และเนื่องจากมาเลเซียไม่มีกฎหมายรายงานทรัพย์สินของนักการเมือง ฐานะทางการเงินของมหาเธร์และครอบครัวจึงเป็นความลับอยู่เสมอมา  

ว่ากันว่าหากจะมีใครสักคนที่รู้เรื่องนี้อย่างถ่องแท้ คนๆ นั้นจะเป็นใครไม่ได้นอกจาก ดาอิม ไซนูดดีน (Daim Zainuddin) อดีตเหรัญญิกพรรคอัมโน (UMNO: United Malays National Organisation) และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสองสมัยในรัฐบาลมหาเธร์ยุคอัมโนเฟื่องฟูช่วงกลางทศวรรษ 1980s ดาอิมได้ชื่อว่าเป็นบุรุษผู้เฉียบแหลมที่ชอบทำงานอยู่ในเงามืด ชื่นชมการใช้อำนาจและแสวงหาความมั่งคั่งอย่างเงียบๆ โดยไม่มีความทะเยอทะยานทางการเมืองเหมือนนักการเมืองทั่วไป เขาเป็นหนึ่งในน้อยคนที่ได้รับความไว้วางใจจากมหาเธร์ตั้งแต่วัยหนุ่มจวบจนวัยชรา  

ดังนั้นเมื่อคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตของมาเลเซีย หรือ MACC (Malaysian Anti-Corruption Commission) ที่อาจเรียกว่าเป็น ป.ป.ช. ของมาเลเซีย ประกาศยึดอาคาร Ilham Tower ซึ่งเป็นทรัพย์สินของดาอิมและครอบครัวเมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หลายคนจึงอาจแวบคิดไปว่าเงื้อมมือของรัฐบาลอันวาร์เริ่มขยับเข้าใกล้มหาเธร์เข้าไปทุกที ไม่เพียงแค่นั้น มาตรการเฉียบขาดของ MACC ยังสะท้านสะเทือนแวดวงธุรกิจระดับสูงของประเทศประหนึ่งระเบิดลงกลางเมืองกัวลาลัมเปอร์ 

ตึก Ilham นี้เป็นตึก 58 ชั้น สูง 274 เมตร ถือได้ว่าหนึ่งในอาคารที่สูงที่สุดของประเทศ ตั้งอยู่ใจกลางย่านแพงระยับใกล้กับตึกแฝดเปโตรนาสของอภิมหาเศรษฐีอนันดา กริชนันท์ (Ananda Krishnan) ดาอิมควักกระเป๋าสร้าง Ilham Tower ถึง 580 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยว่าจ้าง Norman Foster สถาปนิกสายโมเดิร์นนิสต์ชื่อดังชาวอังกฤษที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในสถาปนิกค่าตัวแพงที่สุดในโลกเป็นผู้ออกแบบ  

การยึดตึก Ilham Tower ของ  MACC สร้างบรรยากาศหนาวๆ ร้อนๆ ให้นักธุรกิจใหญ่บางรายว่าตนจะเป็นรายต่อไปในลิสต์รายชื่อปราบปรามการทุจริตของรัฐบาลอันวาร์หรือเปล่า MACC เปิดแฟ้มสืบสวนดาอิมและพวกในข้อหาทุจริตและฟอกเงินในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว โดยมีคำสั่งให้ดาอิมและครอบครัวเปิดเผยทรัพย์สินเพื่อประกอบการสืบสวนดังกล่าวแต่ได้รับการปฏิเสธ นำไปสู่การยึดทรัพย์สินซึ่งคือ Ilham Tower นั่นเอง MACC แถลงในเบื้องต้นว่ามีการการยึดทรัพย์สินในรูปของตึกและระงับการทำธุรกรรมบัญชีเงินฝากมูลค่า 39 ล้านริงกิตมาเลเซีย (กว่า 294 ล้านบาท) ของอดีตรัฐมนตรีอาวุโสและนักธุรกิจสองรายซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยว่ายักยอกเงินจำนวน 2,300 ล้านริงกิตมาเลเซียจากบริษัทแห่งหนึ่งและมีพฤติกรรมฟอกเงิน โดยเรื่องนี้ย้อนหลังไปถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2540

แล้วเหตุใด MACC จึงเลือกตรวจสอบกรณีที่ย้อนหลังไปในอดีตถึง 26 ปีเล่า? MACC แถลงในภายหลังว่าสาเหตุของการเปิดแฟ้มสอบสวนครั้งนี้มาจากข้อมูลการรายงานข่าว ‘Pandora Papers’ ของหนังสือพิมพ์ออนไลน์ Malaysiakini.com ใน พ.ศ. 2564 ที่แสดงหลักฐานว่ามีการโยกย้ายเงินจำนวนดังกล่าวอย่างลับๆ ผ่านเครือข่ายบริษัทนอกอาณาเขตจำนวนหนึ่ง โดยเป็นเงินที่เกี่ยวข้องกับบริษัท Renong Bhd และบริษัทลูก United Engineers Malaysia Bhd (UEM) แม้ว่าในเบื้องต้น MACC จะไม่เอ่ยนามผู้ต้องสงสัยทั้งสาม แต่แวดวงธุรกิจในกัวลาลัมเปอร์ก็ฟันธงไปแล้วว่าบุคคลกลุ่มนี้คือดาอิม ผู้ที่ปีนั้นควบตำแหน่งรัฐมนตรีคลังฯ และเหรัญญิกพรรคอัมโน และเชื่อกันว่าเป็นผู้ควบคุมบริษัท Renong Bhd ผ่านมหาเศรษฐีคนสนิทชื่อฮาลิม ซาด (Halim Saad) หนึ่งในผู้ต้องสงสัย และอับดุล ราชีด มานาฟ (Abdul Rashid Manaf) ทนายความชื่อดังในกัวลาลัมเปอร์ผู้ทำหน้าที่ดูแลด้านกฎหมายให้ธุรกิจของพรรคอัมโนในอดีต

ในทศวรรษ 1980s-1990s โครงสร้างของพรรคการเมืองในมาเลเซียต่างจากพรรคการเมืองไทยในหลายแง่มุม เพราะนอก-จากระบบพรรคการเมืองจะเป็นสถาบันทางการเมืองหนึ่งเดียวที่คัดเลือกนักการเมืองให้เข้าบริหารประเทศโดยผ่านการเลือกตั้งแล้ว พรรคการเมืองมาเลเซียยังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องจนหยั่งรากลึกถึงระดับรากหญ้า นอกจากนั้นกฎหมายยังเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองสามารถถือครองธุรกิจของตนเองเพื่อลงทุนหารายได้เข้าพรรค โดยเฉพาะพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลใหญ่ๆ ที่นอกจากจะมีเครือข่ายบริษัทใหญ่น้อยอยู่ในกำมือแล้ว หลายพรรคยังนิยมยังเป็นเจ้าของสื่ออีกด้วย แน่นอนที่สุดว่าพรรคอัมโนที่ครองตำแหน่งผู้นำแนวร่วมรัฐบาลมานับแต่มาเลเซียก่อตั้งประเทศย่อมเป็นพรรคที่มั่งคั่งเหนือใครเพื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคมหาเธร์และดาอิม ขุนคลังคู่ใจ  

หลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดใน พ.ศ. 2565 อันวาร์ อิบราฮิม ช่วงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เป็นครั้งแรก หนึ่งในนโยบายที่เขาประกาศหลังจากเข้ารับตำแหน่งคือนโยบายป้องกันและปราบปรามการทุจริต เรื่องนี้สร้างความกังขาให้หลายฝ่ายเนื่องจากเป็นที่รู้กันว่ารองนายกรัฐมนตรี ซาฮีด ฮามีดี (Zahid Hamidi) ประธานพรรคอัมโนซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอันวาร์เป็นผู้ติดคดีคอรัปชั่นในศาลอยู่หลายคดีโดยที่อันวาร์ไม่สามารถจัดการได้โดยไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาล อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าอันวาร์จะมีเป้าหมายเรื่องปราบคอร์รัปชั่นที่เฉพาะเจาะจงเป็นของตัวเอง เพราะเมื่อย้อนกลับไปดูคำกล่าวของเขาในการประชุมสมัชชาพรรค PKR (Parti Keadilan Rakyat) ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดใน พ.ศ. 2565 ก็อาจพอเห็นเค้าลางอยู่บ้าง ในการประชุมครั้งนั้นเขากล่าวไว้ว่าดาอิมคือคนสุดท้ายที่ต้องการเห็นเขาเป็นนายกรัฐมนตรี และดาอิมจะต้อง “นอนไม่หลับ” หากว่าตัวเขาเกิดได้เป็นนายกฯ ขึ้นมาจริงๆ

ดาอิม ใน พ.ศ.นี้ เป็นชายชราร่างเล็กผมขาวโพลนวัย 85 ปี ผู้มักปรากฏตัวในเสื้อเชิ้ตแขนสั้นมีแว่นตากรอบโตและปื้นหนวดเหนือริมฝีปากเป็นเอกลักษณ์ เขาไปไหนมาไหนในรถเข็นเสียเป็นส่วนใหญ่แต่ก็ยังประชุมทางธุรกิจได้ทุกวัน ดูเผินๆ เขาคือคุณปู่ธรรมดาๆ ที่ไม่มีพิษมีภัยเหมือนคนชราทั่วไป ทว่าคนอย่างดาอิมนั้นเป็นอะไรได้หลายอย่างยกเว้นเป็นคนธรรมดา เขาคือผู้ที่ได้รับการยอมรับในฐานะของนักการเมืองเพียงผู้เดียวที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสำคัญของประเทศเทียบได้กับมหาเธร์

ถ้าจะใช้บันทึกความทรงจำของอดีตนายกรัฐมนตรี ลี กวน ยู (Lee Kuan Yew) แห่งสิงคโปร์ที่ปรากฎในหนังสือ From Third World to First: Singapore and the Asian Economic Boom เป็นหลัก ดาอิมคือผู้ที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของมาเลเซียอย่างแท้จริง หาใช่มหาเธร์ไม่ ลี กวน ยู เขียนชื่นชมดาอิมไว้ว่าเป็นบุคคลที่ “มีความคิดที่ว่องไว เก่งเรื่องตัวเลข ตัดสินใจได้ดี และประสบความสำเร็จในธุรกิจก่อนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง”, “คือผู้ที่โน้มน้าวมหาเธร์ให้แปรรูปรัฐวิสาหกิจครั้งใหญ่ช่วงกลางทศวรรษ 1980s เป็น deal-maker ที่ชาญฉลาดผู้ประสบความสำเร็จในการแทรกแซงเพื่อนำมาเลเซียไปสู่นโยบายตลาดเสรีอย่างแท้จริง” และ “ถ้าหากไม่มีการแทรกแซงของเขา การเปลี่ยนแปลงมาเลเซียไปสู่นโยบายตลาดเสรีอาจไม่กว้างขวางและประสบความสำเร็จมากนัก”  

ดาอิมมีพื้นเพมาจากพื้นที่อลอร์สตาร์ ในรัฐเคดะห์ บ้านเดียวกับมหาเธร์  ในวัยหนุ่มเขาเริ่มประกอบอาชีพด้วยการเป็นครูและทนายความ ก่อนจะหันเหชีวิตเป็นนักธุรกิจที่โชคดีได้ใช้เส้นสายมุขมนตรีรัฐสลังงอร์พัฒนาที่ดินราคาแพงย่านชานเมืองกัวลาลัมเปอร์จนประสบความสำเร็จ เขาก้าวสู่วงการเมืองครั้งแรกในฐานะที่ปรึกษาทางธุรกิจให้แก่มหาเธร์ ผู้ที่เวลานั้นดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในพรรคอัมโน ไม่นานในปี 2523 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นวุฒิสมาชิก สองปีต่อมาเขาลงสมัครและได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรของกัวลามูดาในรัฐเคดะห์บ้านเกิดของเขา พร้อมกับได้รับเลือกให้เป็นเหรัญญิกของพรรคอัมโน ดาอิมเติบโตทางการเมืองอย่างมั่นคงใต้ปีกของมหาเธร์ผู้ขยับขึ้นในตำแหน่งกัวหน้าพรรคอัมโนและนายกรัฐมนตรีในที่สุด

ในยุคเรืองอำนาจของนายกฯ มหาเธร์และพรรคอัมโนระหว่างทศวรรษ 1980s และต้นทศวรรษ 2000s ดาอิมรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังถึงสองครั้งสองหน คือระหว่าง พ.ศ. 2527-2534 และ พ.ศ. 2542-2544 รวมกันเป็นเวลา 15 ปี โดยในช่วงกระแสเศรษฐกิจตกต่ำและวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 เขารับตำแหน่งเหรัญญิกของพรรคอัมโนไปพร้อมๆ กับการนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี ตำแหน่งเหรัญญิกของพรรคเป็นตำแหน่งที่นอกจากจะคุมรายรับรายจ่ายของพรรคแล้ว ยังเป็นผู้มีอำนาจควบคุมบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ของอัมโนซึ่งเป็นที่มาของรายได้มหาศาลของพรรค เวลานั้นดาอิมเปรียบได้กับผู้ถือกุญแจคลังมหาสมบัติทั้งของประเทศและของพรรคอัมโน เป็นขุนคลังคู่บารมีของมหาเธร์ผู้ยึดเก้าอี้นายกฯ ติดต่อกันนานถึง 22 ปี

ในขณะที่มหาเธร์ได้รับการขนานนามจากสื่อและวงวิชาการทั้งในและนอกประเทศว่าเป็น “สถาปนิกของมาเลเซียยุคใหม่” ( architect of modern Malaysia) ดาอิมก็ได้รับฉายาควบคู่ไปด้วยว่าเป็น “สถาปนิกของโมเดลเศรษฐกิจแบบมาเลเซีย” (architect of  Malaysian economic model) จะว่าไปฉายานี้ไม่ได้มีความหมายในทางที่ดีมากนัก เพราะโมเดลเศรษฐกิจที่ว่านี้เข้าข่ายระบบที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกกันว่า ‘crony capitalism’ อันหมายถึงระบบเศรษฐกิจการเมืองที่ถักทอด้วยความสัมพันธ์ที่ทับซ้อนระหว่างบุคคลในภาคธุรกิจและการเมืองบนพื้นฐานของผลประโยชน์ต่างตอบแทน โดยบุคคลในภาคธุรกิจได้รับผลประโยชน์จากรัฐบาลในรูปของสัมปทาน ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ และความคุ้มครองทางธุรกิจในลักษณะต่างๆ มากไปกว่านั้นพรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรครัฐบาลยังเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ และได้ผลประโยชน์จากรัฐเช่นกัน ที่จริงแล้วมาเลเซียมีระบบนี้มานับแต่การก่อตั้งประเทศ แต่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจในยุคของมหาเธร์-ดาอิม ได้สร้างความมั่งคั่งระดับมหาศาลให้นักธุรกิจชาวมาเลเซียเชื้อสายมลายูกลุ่มใหม่ๆ พร้อมกับขยายกลุ่มชนชั้นกลางเชื้อสายมลายูในประเทศที่กลายมาเป็นฐานเสียงของพรรคอัมโนได้อย่างกว้างขวาง

ในทางปฏิบัติ นักการเมืองใหญ่ๆ หรือ ‘ขุนศึก’ ในพรรคอัมโนจะมีกลุ่มนักธุรกิจใหญ่ในสังกัดของตนเองอยู่ในมือ ขุนศึกของพรรคดูแลนักธุรกิจเหล่านี้ด้วยการให้โอกาสทางธุรกิจในรูปของสัมปทานของรัฐหรือใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจกำไรงามบางอย่าง โดยนักธุรกิจในสังกัดตอบแทนกลับในหลายรูปแบบรวมทั้งการรับบทบาทเป็นนอมินีทางธุรกิจของนักการเมืองผู้อุปถัมภ์ตน มหาเธร์ใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีเอื้อประโยชน์ในรูปของในอนุญาตประกอบกิจการใหญ่ให้นักธุรกิจผู้กำลังสร้างเนื้อสร้างตัวจนกลายเป็นอภิมหาเศรษฐีของประเทศ เช่น อนันดา กริชนัน (Ananda Krishnan) เจ้าพ่อกิจการโทรคมนาคม, โรเบิร์ต ก๊วก (Robert Kuok) เจ้าพ่อน้ำตาล หรือ วินเซนต์ ตัน  (Vincent Tan) เจ้าพ่อล็อตเตอรี ส่วนดาอิมเองก็มีนักธุรกิจตัวเป้งในเครือข่าย เช่น ทาจูดดีน รามลี (Tajudin Ramli) เจ้าของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลนส์ที่ขายให้รัฐในภายหลัง หรือฮาลิม ซาด (Halim Saad) ผู้ที่เชื่อกันว่าเป็นนอมินีของดาอิมในการถือครองบริษัท Renong และ United Engineers Malaysia Bhd (UEM) ที่เคยเป็นบริษัทของพรรคอัมโน เป็นต้น ส่วนอันวาร์ อิบราฮิมในฐานะรองนายกรัฐมนตรีของพรรคอัมโนเองก็มีสายสัมพันธ์กับนักธุรกิจในแวดวงธนาคารบางราย

ความร้าวฉานระหว่างมหาเธร์และอันวาร์เกิดจากความไม่ลงรอยเรื่องนโยบายเศรษฐกิจในปีแรกของวิกฤติต้มยำกุ้ง เมื่อมหาเธร์ประกาศหลังคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2540 ให้จัดตั้งกองทุนพิเศษมูลค่า 6 หมื่นล้านริงกิตเพื่อช่วยเหลือนักธุรกิจมาเลเซีย ‘ผู้ได้รับการคัดเลือก’ บางราย ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่าคือกลุ่มนักธุรกิจในความอุปถัมภ์ของมหาเธร์ที่รวมถึงบุตรชายคนโตของเขาเองด้วย รวมไปถึงกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับดาอิมและพรรคอัมโน เงินจำนวนนี้ดึงมาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงาน (EPF) และบริษัทปิโตรนาส ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของรัฐ

กลุ่มบริษัทเหล่านี้รวมถึงกลุ่มบริษัท Renong ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศในเวลานั้น ก่อนหน้านี้เป็นบริษัทของพรรคอัมโน ก่อนที่ต่อมาได้ถูกโอนไปเป็นของฮาลิม ซาด การใช้เงินของรัฐจำนวน 2,340 ล้านริงกิตกอบกู้กลุ่ม Renong ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหุ้นและบริษัท UEM ในเครือเป็นกรณีที่สร้างความเสียหายมากที่สุด โดยสร้างความสูญเสียต่อตลาดหุ้นอย่างรุนแรงเมื่อมูลค่าของตลาดหุ้นหายไปถึง 7 หมื่นล้านริงกิตภายในเวลาสามวัน

กรณี Renong – UEM นี่เองทำให้อันวาร์ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรองนายกรัฐมนตรีในเวลานั้นเริ่มวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของมหาเธร์ โดยชี้ว่าสาเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจมาจากการทุจริต ระบบ crony capitalism และการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องของนักการเมืองระดับนำ ส่วนมหาเธร์ก็ตอบโต้ด้วยการแต่งตั้งดาอิม ซึ่งเป็นผู้อำนวยการบริหารสภาปฏิบัติการเศรษฐกิจแห่งชาติ (National Economic Action Council: NEAC) ในตอนนั้นขึ้นเป็นรัฐมนตรีพิเศษด้านเศรษฐกิจ และให้มีบทบาททับซ้อนกับอันวาร์ ไม่นานในเดือนกันยายน 2541 อันวาร์ก็ถูกปลดจากตำแหน่ง และมหาเธร์ก็ออกนโยบาย capital controls ในเดือนเดียวกัน ตามมาด้วยการแต่งตั้งดาอิมกลับเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกครั้งหนึ่ง  

งานศึกษาบางชิ้นระบุชัดเจนว่าระบบ crony capitalism ในมาเลเซียเฟื่องฟูกว่าเดิมในช่วงวิกฤตการเงินปี 2540-2541 สังเกตได้จากการที่มีเพียงกลุ่มธุรกิจที่ใกล้ชิดกับมหาเธร์เท่านั้นที่มีมูลค่าหุ้นในตลาดหุ้นพุ่งขึ้นสูงผิดปกติหลังจากที่รัฐบาลออกนโยบาย capital controls ส่วนกลุ่มบริษัทและธนาคารที่มีสายสัมพันธ์กับอันวาร์เริ่มถูกบริษัทของนักธุรกิจในสายมหาเธร์เข้าควบรวมกิจการ และบางกลุ่มตัดสินใจย้ายข้างไปสวามิภักดิ์กับมหาเธร์ด้วยตัวเอง อันวาร์ถูกขับออกจากพรรค ถูกจำคุกในข้อหาทุจริตและถูกดำเนินคดีในขัอหามีความสัมพันธ์ทางเพศผิดธรรมชาติ ในขณะเดียวกัน ศักราชของการเรียกร้องปฏิรูปการเมืองก็เริ่มขึ้นในมาเลเซีย

ดาอิมลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังใน พ.ศ. 2544 สองปีก่อนที่มหาเธร์จะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาประกาศว่าตนจะใช้ชีวิตแบบนักธุรกิจผู้ลงทุนในต่างประเทศเต็มตัว ในปี 2546 กลุ่มธนาคาร International Commercial Bank (ICB) ของเขาซึ่งตั้งอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ เข้าร่วมกับเทมาเส็กและกลุ่มธนาคารแห่งหนึ่งของอังกฤษ เข้าซื้อหุ้น 51% ของ Bank Indonesia International ประเทศอินโดนีเซีย ดาอิมโปรดปรานธุรกิจธนาคารเป็นพิเศษ กลุ่ม ICB ของเขามีฐานการลงทุนที่กว้างขวางในหลายประเทศทั้งในแอฟริกาและยุโรปตะวันออก

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะลาจากการเมืองมาเลเซียอย่างจริงจัง เพราะเมื่อมหาเธร์จับมือกับแนวร่วมปากาตัน ฮาราปัน (Pakatan Harapan) ศัตรูเก่า ชนะเลือกตั้งถล่มทลายในปี 2561 เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแลกกับการขอพระราชทานอภัยโทษให้อันวาร์ อิบราฮิม ดาอิมก็กลับสู่วงการเมืองอีกครั้งในฐานะประธาน Council of Eminent Persons หรือคณะที่ปรึกษาพิเศษด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี เส้นทางชีวิตของคนทั้งสามมาบรรจบกันอีกครั้งเป็นการชั่วคราว ก่อนจะแยกย้ายกลายเป็นศัตรูอีกหนเมื่อรัฐบาลปากาตันล่ม จากนั้นอันวาร์ก็ฝ่าอุปสรรคขวากหนามถึงดวงดาว ได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมใจปรารถนา ส่วนมหาเธร์ผันตัวไปเป็นฝ่ายค้าน โดยมีดาอิมเป็นสหายเก่าผู้มีความสัมพันธ์เหนียวแน่นไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ขณะนี้กระบวนการสืบสวนเพื่อพิสูจน์ข้อกล่าวหาเรื่องทุจริตและฟอกเงินของดาอิมและคณะในกรณี Renong – UEM ได้เริ่มขึ้น โดย MACC เริ่มเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้าสอบปากคำ รวมทั้งภรรยาและบุตรชายสองคนของเขาแล้ว ดาอิมปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดโดยเรียกมันว่าไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากการล่าแม่มดทางการเมืองของอันวาร์ ตัวเขาพร้อมทั้งภรรยาและลูกสี่คนยื่นเรื่องต่อศาลขอให้มีคำสั่งยุติการสอบสวนของ MACC พร้อมเรียกร้องค่าเสียหายและให้คืนเอกสารและทรัพย์สินที่ถูกยึดไปกลับคืนมา

ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าการสอบสวนดาอิมกรณี Renong – UEM จะนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลใดออกสู่สาธารณะ และจะเชื่อมโยงไปถึงบุคคลใดนอกจากดาอิมและผู้ถูกกล่าวหารายอื่น จะว่าไปการตรวจสอบการทำธุรกรรมของ Renong – UEM ก็เทียบได้กับการย้อนกลับไปตรวจสอบการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลมหาเธร์ในครั้งนั้น หรืออีกนัยหนึ่งการตรวจสอบดาอิมก็ไม่ต่างอะไรกับการตรวจสอบมหาเธร์อย่างกลายๆ ไม่มีใครกล้าคาดเดาออกมาดังๆ ว่านายกฯ อันวาร์มีเป้าประสงค์อันใดเป็นหลัก ระหว่างการปราบปรามการทุจริต การปกป้องรัฐบาลจากอิทธิพลของมหาเธร์-ดาอิม การล้างแค้นข้ามทศวรรษ หรือทุกอย่างรวมกัน  

เส้นทางชีวิตของคนทั้งสามกลับมาบรรจบกันอีกครั้ง และครั้งนี้อันวาร์อาจตั้งใจให้มันปิดฉากอย่างถาวร

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save