วิจารณ์แห่งวิจารณ์ ข้อโต้แย้งบทความ ปิติ ศรีแสงนาม: ความเข้าใจที่ผิดพลาดกรณี CPTPP, UPOV1991

วิจารณ์แห่งวิจารณ์ ข้อโต้แย้งบทความ ปิติ ศรีแสงนาม: ความเข้าใจที่ผิดพลาดกรณี CPTPP, UPOV1991

ไบโอไทยได้อ่านบทความเรื่อง “CPTPP, UPOV-1991 กับความเข้าใจที่ผิดพลาด” ซึ่งเขียนโดย ปิติ ศรีแสงนาม ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ The101.World เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 บทความดังกล่าววิจารณ์รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ของสภาผู้แทนราษฎรโดยระบุว่า รายงานดังกล่าวเป็น “ต้นตอแห่งความเข้าใจผิด และห่วงกังวลจนเกินกว่าเหตุในเรื่องพันธุ์พืชมีอยู่ด้วยกันหลายประการ”  และชี้ว่า “การอ้างอิงสิ่งที่อยู่ในรายงานฉบับดังกล่าวไปใช้งานต่อ หรือไปตัดสินใจโดยไม่รอบคอบ อาจนำไปสู่ภาวะตรรกวิบัติ”  และ “เราก็อาจจะเผลอคิดไปได้ว่า ข้อความที่อยู่ในเอกสารนั้นๆ ที่ได้รับการรับรอง คือความถูกต้อง คือข้อเท็จจริง ทั้งที่ในความเป็นจริง ในเอกสารดังกล่าวซึ่งเป็นเพียงการรวบรวมความคิดเห็นยังมีข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนอยู่อีกเป็นจำนวนมาก” โดยปิติชี้ให้เห็นประเด็นที่เขาคิดว่าผิดพลาด 5 ประเด็น

ไบโอไทยเห็นด้วยว่าเราสามารถมีความเห็นแย้งรายงานของกมธ.ฯ ได้ แต่สิ่งที่ปิติแย้ง 5 ประเด็นในบทความดังกล่าวนั้น บางประเด็นถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาพร้อมมีหลักฐานเชิงประจักษ์ยืนยันชัดเจนจนถูกตีตกไปแล้วในระหว่างการศึกษาของกมธ.ฯ หลายเรื่องที่ปิติยกขึ้นมาสนับสนุนข้อท้วงติงของตนก็เป็นข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน  และบางเรื่องเป็นเรื่องสมมติฐานตามความเชื่อของผู้เขียน ซึ่งในโลกความเป็นจริงและหลักฐานการศึกษาในเชิงประจักษ์ไม่ได้เป็นไปดังที่ว่า

เพื่อประโยชน์สาธารณะ ไบโอไทยโต้แย้งประเด็นที่ปิติหยิบยกมาทั้ง 5 ประเด็น ตามลำดับดังนี้

1. ปิติเห็นว่าความกังวลของกรมการข้าวเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนงบประมาณสนับสนุนไม่เกี่ยวกับ CPTPP เพราะไม่ว่าอย่างไร รัฐควรสนับสนุนการวิจัยพันธุ์ข้าวเพิ่มมากขึ้น โดยเห็นว่าประเทศไทยควรเข้าร่วม UPOV1991 เพราะจะยิ่งทำให้รัฐสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการสนับสนุนการวิจัยพันธุ์ข้าวได้เพิ่มมากยิ่งขึ้นและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น นักศึกษาเกษตรและเกษตรกรจะได้ประโยชน์จากการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์จนได้พันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้น เกษตรกรจะไม่ขายแรงงานอย่างเดียวแต่จะขายทรัพย์สินทางปัญญาได้ด้วย

1.1 ไบโอไทยเห็นด้วยที่ว่ารัฐควรสนับสนุนการวิจัยพันธุ์ข้าวและสายพันธุ์พืชอื่นๆมากขึ้น แต่เราเห็นว่าประเด็นการสนับสนุนของรัฐต่อการพัฒนาพันธุ์พืชเกี่ยวข้องโดยตรงกับการถกเถียงเรื่องการขยายสิทธิผูกขาดเรื่องพันธุ์พืชให้บริษัทเมล็ดพันธุ์ เนื่องจากกลุ่มสนับสนุน UPOV มักอ้างว่า การสร้างแรงจูงใจโดยให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มขึ้น จะนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ต่างๆ เพิ่มขึ้นและประโยชน์จะตกอยู่กับรัฐและเกษตรกร แต่งานวิจัยหลายชิ้น โดยเฉพาะ Walter Jaffe and Jeroen Van Wijk เรื่อง The Impact of Plant Breeder’ Right in Developing Countries ซึ่งทำการศึกษาในหลายประเทศพบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์มากที่สุดไม่ใช่การใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อสร้างแรงจูงใจ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการกำหนดนโยบายและใช้ทรัพยากรและงบประมาณในโครงการเกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์ของรัฐต่างหาก

Walter&Jeroen ยังพบด้วยว่า ระบบกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชส่งผลกระทบในแง่ลบ กล่าวคือ ชุดข้อมูลความรู้และเชื้อพันธุ์พืชถ่ายเทไปสู่หน่วยงานด้านการปรับปรุงพันธุ์ของรัฐน้อยลง แต่ในทางกลับกัน ข้อมูลและความรู้ในการปรับปรุงพันธุ์กลับถูกป้อนเข้าไปใช้เพื่อผลประโยชน์ของบรรษัทเมล็ดพันธุ์มากขึ้นกว่าเดิม

การใช้เหตุผลให้เข้าร่วม UPOV1991 ว่ารัฐและสาธารณะจะได้ประโยชน์จึงไม่เป็นความจริง

1.2 ข้อเขียนของปิติที่ระบุว่า “เราก็มีนิสิตนักศึกษาจำนวนมากที่เรียนจบคณะด้านการเกษตร เช่นเดียวกับเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ที่เก็บพันธุ์ คัดเลือกเมล็ด ปรับปรุงพันธุ์จนได้พันธุ์พืชใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา การให้ความคุ้มครองกับงานที่พวกเขาทำจะทำให้ไทยเป็นเจ้าของพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นอีกมากมาย และต่อไปนี้ เกษตรกรไทยจะไม่ใช่เพียงขายแรงงาน หากแต่พวกเขาจะเป็นเจ้าของทุนในรูปของทรัพย์สินทางปัญญา” ประหนึ่งว่าระบบทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวเปิดทางให้ทุกคนสามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งในความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม

ตัวอย่างเช่น การศึกษาเรื่อง Intellectual Property Rights and Agriculture: an Analysis of the Economic Impact of Plant Breeders’ Rights ของ Dwijen Rangnekar  ที่ประมวลการศึกษาหลายชิ้นเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธินักปรับปรุงพันธุ์ในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ พบว่า ระบบทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวทำให้เกิดการรวมศูนย์การวิจัยเกี่ยวกับเรื่องพันธุ์พืชมากขึ้น เช่นในระหว่างการใช้กฎหมายดังกล่าว การขอรับการคุ้มครอง 68%-89% อยู่ในกลุ่มผู้ยื่นรับความคุ้มครองเพียง 5% เท่านั้น ผู้ยื่นคำขอ 75-82% ไม่ได้รับการคุ้มครองแม้แต่ชิ้นเดียวระหว่างปี 1965-1995  ซึ่ง Rangnekar สรุปว่าการคุ้มครองสิทธินักปรับปรุงพันธุ์เป็นประโยชน์กับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เท่านั้น มิใช่นักปรับปรุงพันธุ์รายย่อย

เช่นเดียวกับงานศึกษาของ Srinivasan เรื่อง Concentration in ownership of plant variety rights: some implications for developing countries ยืนยันการศึกษาดังกล่าว โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลของสมาชิก UPOV 30  ประเทศ ในพืชหลักสำคัญ 6 ชนิด เขาพบว่ามีการรวมศูนย์ (concentration)ในอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ระบบกฎหมายดังกล่าวเอื้ออำนวยให้เกิดการควบรวมกิจการระหว่างบริษัทเมล็ดพันธุ์ด้วยกันเอง นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา

อย่าว่าแต่เกษตรกรรายย่อยเลย เพราะแม้แต่บริษัทท้องถิ่นเองก็อาจไม่สามารถแข่งขันได้กับบริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ สอดคล้องกับรายงานของกมธ.ฯ ที่ระบุว่าการเข้าร่วม UPOV1991 จะทำให้บริษัทเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นหรือนักปรับปรุงพันธุ์หน้าใหม่ที่ต้องการเข้าสู่ตลาดเป็นไปได้ยากขึ้น

หากมีนักศึกษาเกษตร หรือเกษตรกรรายย่อยใดที่มีศักยภาพในการพัฒนาสายพันธุ์พืช เรามี พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช 2542 ที่สามารถคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของพวกเขาได้อยู่แล้ว โดยไม่ต้องละเมิดสิทธิเกษตรกร ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามวิถีวัฒนธรรม และได้รับการรับรองภายใต้ความตกลงทรัพยากรพันธุกรรมระหว่างประเทศด้วย

2. ความเข้าใจผิดของปิติเรื่อง EDV การปกป้องเชื้อพันธุ์ข้าว การให้ข้อมูลผิดๆ ว่าจีนเข้าเป็นภาคี UPOV1991 นานแล้ว และข้ออ้างว่าอินเดีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ทยอยปรับข้อกฎหมายภายในของตนเพื่อเตรียมเข้าเป็นภาคี UPOV1991   

2.1 ปิติบอกว่า ความห่วงกังวลของผู้แทนจากกรมการข้าวที่ว่า ประเทศสมาชิก UPOV สามารถนำพันธุ์ข้าวของไทยไปพัฒนาต่อยอดได้ โดยประเทศไทยมิได้รับผลประโยชน์นั้นไม่ควรกังวล เพราะ “ในข้อเท็จจริงคือ UPOV-1991 ให้การคุ้มครองและมีการแบ่งปันผลประโยชน์ในพันธุ์พืชที่มีคุณสมบัติ  Essentially Derived Varieties (EDV) ให้กับเจ้าของพันธุ์หรือผู้ปรับปรุงพันธุ์เดิม ดังนั้นหากไทยเป็นภาคี UPOV-1991 นั่นหมายความว่า ใครก็ตามที่นำเอาพันธุ์ข้าวของไทยไปพัฒนาต่อยอด (EDV ของพันธุ์ข้าวไทย) จะต้องแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับประเทศไทยด้วย”

(EDV เป็นศัพท์ใหม่ที่ UPOV ประดิษฐ์ขึ้น หมายถึงอนุพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ หรือพันธุ์พืชที่มีลักษณะสำคัญของพันธุ์พืชใหม่ปรากฎอยู่)

กรณีนี้ ปิติเข้าใจสับสนไปเอง เพราะความห่วงกังวลของกรมการข้าวที่ระบุในเอกสารการศึกษาของกมธ.ฯ คือความกังวลเรื่องเชื้อพันธุกรรมข้าว (rice germplasm) ไม่ใช่ EDV ของข้าวสายพันธุ์ใหม่ ( new rice varieties) ที่กรมการข้าวขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่แต่ประการใด ควรเข้าใจร่วมกันว่า กรมการข้าวเกี่ยวข้องกับเรื่องพันธุ์ข้าวใน 3 กลุ่มสำคัญคือ

1) พันธุ์ข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่กรมการข้าวขึ้นทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่แล้วตาม พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (ซึ่งมีอยู่ประมาณ 29 สายพันธุ์) พันธุ์ข้าวส่วนนี้ได้รับการคุ้มครองอยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องเข้าเป็นภาคี UPOV1991 ใครจะเอาไปผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ขายมิได้ถ้ากรมการข้าวไม่อนุญาต

2) พันธุ์ข้าวที่กรมได้ปรับปรุงพันธุ์ขึ้น แต่ได้เผยแพร่มาแล้วกว่า 1 ปี ปลูกแพร่หลายกลายเป็นพันธุ์พืชทั่วไป พันธุ์ข้าวเหล่านี้มีประมาณกว่า 100 สายพันธุ์

และ 3) พันธุ์ข้าวที่เก็บรวบรวมไว้ในธนาคารเชื้อพันธุ์ข้าวซึ่งมีอยู่มากกว่า 24,852 ตัวอย่างพันธุ์ โดยการเข้าร่วม UPOV1991 จะส่งผลกระทบต่อพันธุ์ข้าวกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 ซึ่งถือว่าเป็นพันธุ์ข้าวในความดูแลของรัฐและเป็นมรดกร่วมของชาวนา 

กรมการข้าวกังวลเพราะ UPOV เรียกร้องให้ประเทศที่เป็นภาคีต้องตัดบทบัญญัติเกี่ยวกับการแสดงที่มาของสายพันธุ์ที่ใช้ในการปรับปรุงและเอกสารอื่นใดๆเกี่ยวกับการขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์ออกไป ซึ่งผลกระทบจะเกิดขึ้นไม่เฉพาะข้าวเท่านั้น แต่จะกระทบพันธุ์พืชป่า พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป ชนิดอื่นทั้งหมดด้วย

2.2 การให้ข้อมูลผิดพลาดและคลาดเคลื่อนของปิติเกี่ยวกับภาคี UPOV1991 

ปิติระบุในบทความว่า “จีนเข้าเป็นภาคี UPOV1991 มานานแล้ว” ซึ่งไม่เป็นความจริง จีนยังคงเป็นภาคี UPOV1978 เท่านั้น (ผู้อ่านสามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ของ UPOV)  เช่นเดียวกับการอ้างว่าอินเดีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กำลังปรับการแก้ไขกฎหมายเพื่อเข้าสู่ UPOV1991 นั้น ก็ไม่เป็นความจริงแต่ประการใด ทั้งสามประเทศยังคงใช้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชที่มีลักษณะเฉพาะของตนเอง โดยไม่ได้เป็นไปตาม UPOV1991 แต่ประการใด

กฎหมายของทั้งอินเดีย  มาเลเซีย รวมทั้งกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ของไทย ได้รับการยอมรับในระหว่างประเทศโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ให้ใช้เป็นแม่แบบของกฎหมายที่ประเทศต่างๆ ควรมีสำหรับใช้เป็นแนวการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับนักเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

จริงอยู่ที่มีความพยายามของสำนักงาน UPOV และอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ที่ชักชวนให้หน่วยงานด้านการเกษตรของรัฐในหลายประเทศในเอเชียให้แก้กฎหมายของตนตาม UPOV1991 เชิญชวนให้เจ้าหน้าของรัฐเข้าร่วม ‘การประชุมและฝึกอบรม’ ชักชวนชี้นำให้ประเทศต่างๆ เข้าเป็นภาคี UPOV1991 แต่ความเห็นและการรับรู้ของเจ้าหน้าที่ของรัฐเหล่านั้นไม่ได้สะท้อนว่ารัฐบาล รัฐสภา และประชาชนในประเทศดังกล่าวจะเห็นชอบด้วย และในบางกรณีเป็นการแอบอ้างของสำนักเลขา UPOV เอง ดังในกรณีของประเทศไทย ซึ่งกมธ.ฯ ของสภาฯ ท้วงติงความไม่เหมาะสมของ UPOV ว่า:

“รัฐบาลควรแจ้งสำนักงานสหภาพ UPOV ถึงการนำชื่อประเทศไทยใส่ในเว็บไซต์ของสหภาพฯ โดยระบุในรายชื่อประเทศซึ่งเคยมีการติดต่อกับสำนักงานสหภาพฯ เพื่อรับความช่วยเหลือในการจัดทำกฎหมายบนพื้นฐานของอนุสัญญา UPOV เนื่องจากประเทศไทยไม่เคยติดต่อขอรับความช่วยเหลือจากสหภาพ UPOV ในการจัดทำกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช การกระทำดังกล่าวนอกจากจะเข้าข่ายการหาประโยชน์เชิงประชาสัมพันธ์โดยมิชอบของสหภาพ UPOV จากชื่อและความน่าเชื่อถือของประเทศไทยซึ่ง Sustainability Toolkit for Trade Negotiators ที่ร่วมกันจัดทำและดูแลโดย UNEP and IISD ว่า ข้อบทในกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของประเทศไทยเอื้อต่อระบบเกษตรกรรมยั่งยืนแล้ว ยังสร้างความสับสนต่อมิตรประเทศของประเทศไทยอีกด้วย”

พึงตระหนักว่ากลุ่มประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก ได้แก่ จีน อินเดีย บราซิล และอินโดนีเซีย เป็นต้น ในขณะนี้ยังไม่มีประเทศใดเข้าร่วมเป็นภาคี UPOV1991 และมีหลายประเทศในแอฟริกาที่ถูกชักจูงโดย UPOV ให้เข้าเป็นภาคี เกิดขึ้นเพราะการตัดสินใจของชนชั้นนำในประเทศเหล่านั้นเท่านั้น ไม่ใช่มาจากเสียงเรียกร้องของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศดังกล่าวแต่ประการใด เราจึงเห็นแถลงการณ์ของประชาชน และผู้ตรวจการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในทวีปดังกล่าวที่ประณามและวิจารณ์การเข้าร่วมดังกล่าวตลอดหลายปีที่ผ่านมา

3. ปิติเห็นว่าความกังวลของกรมส่งเสริมการเกษตรเกี่ยวกับ “ปัญหาการขาดแคลนงบประมาณจากรัฐบาลในการสนับสนุนกิจกรรมด้านการขยายพันธุ์และแจกจ่าย พันธุ์พืชให้กับเกษตรกร” นั้นไม่เกี่ยวกับ CPTPP โดยระบุว่า “ข้อกังวลนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องว่าประเทศไทยสมควรจะเข้าร่วมการเจรจาเพื่อขอเป็นภาคี CPTPP หรือไม่ เพราะถ้ารัฐไม่จัดสรรงบให้ ปัญหาที่กรมฯ ห่วงกังวลก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่ดี” 

กรณีนี้ หากมองผิวเผินอาจคล้อยตามที่ปิติตั้งข้อสังเกต แต่หากย้อนไปดูความเป็นจริงที่ว่า ปัจจัยหลักในการพัฒนาสายพันธุ์เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐ ไม่ใช่การสร้างแรงจูงใจโดยใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่ขยายสิทธิผูกขาดแก่บริษัทเมล็ดพันธุ์ ในแง่นี้การที่รัฐสนับสนุนงบประมาณให้แก่กรมการข้าวหรือกรมวิชาการเกษตรเกี่ยวกับการวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์ (ผลิตเมล็ดพันธุ์คัด เมล็ดพันธุ์หลัก) และกรมส่งเสริมการเกษตร (ผลิตเมล็ดพันธุ์ขยาย เมล็ดพันธุ์จำหน่าย) จึงเป็นสิ่งสมควรกระทำยิ่งกว่าการหวังลมแล้งๆ ว่า การพัฒนาพันธุ์พืชจะเข้มแข็งขึ้นจากการขยายอำนาจผูกขาดพันธุ์พืชใหม่แก่บริษัทเมล็ดพันธุ์

4. ปิติเห็นว่าความกังวลของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์กรมหาชน) หรือ BEDO เรื่องการเข้าร่วม UPOV1991 ซึ่งมีความกังวล 2 ประเด็นหลักมีการอ้างเหตุผลที่ “อาจมีข้อผิดพลาด” ดังนี้

4.1  BEDO ระบุว่า “… พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 กำหนดให้นักปรับปรุงพันธุ์พืชต้องแสดงที่มาของพันธุ์พืชใหม่หรือสารพันธุกรรมที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ผูกพันให้มีการทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ ทั้งนี้ หากเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV แล้ว จะทำให้ต้องตัดมาตราที่กำหนดเรื่องการแสดงที่มาของพันธุ์พืชใหม่ …”  ซึ่งปิติโต้แย้งว่า ”การอ้างอิงข้อความดังกล่าวอาจจะมีข้อผิดพลาด” โดยให้เหตุผลว่า ในขั้นตอนการขอรับพันธุ์พืชใหม่ตาม UPOV ต้องแสดงที่มาที่ไปเพื่อแสดงให้เห็นว่า ”พันธุ์พืชใหม่ที่นักปรับปรุงพันธุ์พัฒนาขึ้น ทำอย่างไรบ้าง กระบวนการนี้นี่เองที่จะเป็นการป้องกันสิ่งที่หลายๆ ฝ่ายห่วงกังวลคือ การขโมยพันธุ์พืชของไทยโดยโจรสลัดชีวภาพ” 

สิ่งที่ปิติยกมาเป็นสิ่งที่กรมวิชาการเกษตรยกขึ้นมาอ้างในกมธ.ฯ และประเด็นดังกล่าวถูกตีตกไปแล้วว่า การแสดงขั้นตอนเพื่อขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ดังกล่าวเป็นคนละเรื่องกับหนังสือขออนุญาตและการแบ่งปันผลประโยชน์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช 2542  

การตราเงื่อนไขในกฎหมายให้บริษัทเมล็ดพันธุ์ต้องระบุที่มาของสายพันธุ์ที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ และต้องมีหนังสือขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์ เป็นการป้องกันมิให้ ‘โจรสลัดชีวภาพ’ หยิบฉวยพันธุ์พืชท้องถิ่น พันธุ์พืชทั่วไป และพันธุ์พืชป่าไปใช้ประโยชน์โดยมิชอบ  ในขณะที่การแสดงขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ที่ระบุสายพันธุ์ตั้งต้นของ UPOV เป็นเพียงการตรวจสอบความใหม่ของสายพันธุ์ที่ขอรับการคุ้มครองเท่านั้น

UPOV กำหนดให้ผู้ขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชแสดงหลักฐานตามเงื่อนไขการขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชตามที่ UPOV กำหนดเท่านั้น ไม่ยอมรับให้มีการบรรจุกลไก ‘การแจ้งล่วงหน้า’ (Prior informed consent)  และ ‘การเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์’ (ABS หรือ Access & Benefit Sharing) ไว้ในกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช

หากเป็นภาคี UPOV1991 แต่ละประเทศต้องเสนอร่างกฎหมายของตัวเองเพื่อให้ UPOV ประเมินก่อนว่าเป็นไปตามอนุสัญญาหรือไม่ ตัวอย่างเช่น กรณีมาเลเซีย ส่งกฎหมาย THE PROTECTION OF NEW PLANT VARIETIES ACT 2004 ของตนให้ UPOV พิจารณาและ UPOV แจ้งว่าต้องตัด มาตรา 12 (e)(f)(g) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแสดงที่มาของข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรพันธุกรรมหรือพ่อแม่พันธุ์ที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ คำอนุญาตจากหน่วยงานในกรณีพันธุ์พืชนั้นได้มาจากชุมชนท้องถิ่นและชุมชนพื้นเมืองของมาเลเซีย และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่นใดที่ออกขึ้นเพื่อการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของมาเลเซีย ประเด็นดังกล่าวทำให้รัฐบาลมาเลเซียปฏิเสธการเข้าเป็นภาคี UPOV1991

ควรทราบว่า นอกเหนือจากกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช (plant variety protection) แล้ว กฎหมายสิทธิบัตร (patent law) ในหลายประเทศในยุโรป เช่น เบลเยียม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี โรมาเนีย สเปน นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น ได้ปรับปรุงกฎหมายสิทธิบัตรของตนให้แสดงที่มาของทรัพยากรชีวภาพและหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ใช้ในกระบวนการประดิษฐ์แล้ว (World Intellectual Property Organization, Disclosure Requirements Table, 2020 และ UNCTAD (2016) Facilitating BioTrade)

ในฐานะประเทศที่เป็นเจ้าของทรัพยากรชีวภาพ ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่มีน้ำหนักมากพอให้เราต้องยินยอมสละหลักการและกลไกที่ปกป้องสิทธิของเกษตรกร ชุมชนท้องถิ่น และผลประโยชน์ของประเทศ เพื่อไปเดินตามระบบกฎหมายที่ออกแบบโดยประเทศอุตสาหกรรมเพื่อประโยชน์ของบรรษัทเมล็ดพันธุ์แทน

4.2  กรณีการเก็บและคัดเลือกพันธุ์พืชไปปลูกต่อ BEDO เห็นว่า “… การขยายสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์พืชผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชใหม่ให้ครอบคลุมถึง EDV ของอนุสัญญา UPOV อาจจะส่งผลกระทบต่อการคัดเลือกและพัฒนาพันธุ์พืชของเกษตรกรรายย่อยและชุมชนท้องถิ่น โดยอาจไม่สามารถทำตามวิถีการเกษตรที่มีมาแต่เดิมในการคัดเลือกเก็บพันธุ์ที่เกิดขึ้นใหม่ซึ่งมีลักษณะที่ต้องการจากในแปลง (Farm Saved Seed) มาปลูกได้”  ซึ่งปิติเห็นแย้งโดยยกตัวอย่างใน 3 ประเด็น 

1) ปิติยกตัวอย่างว่าใน “สหภาพยุโรปได้ดำเนินการรักษาสิทธิ farm saved seed นี้ไว้ให้กับผู้ปลูกพืช โดยจำกัดข้อยกเว้นการบังคับใช้ UPOV-1991 ในประเด็นนี้ให้กับ ‘เกษตรกรรายย่อย’ หรือกำหนดให้ผู้ปลูกต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ต่ำกว่าค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่จ่ายโดย PVR อย่างมีนัยสำคัญ” 

สิ่งที่ปิติยกตัวอย่างคือสิ่งที่ไบโอไทยชี้มาตลอดเพื่อโต้แย้งนักวิชาการในมหาวิทยาลัยและข้าราชการบางคนในกรมวิชาการเกษตร และบริษัทที่ปรึกษาของกระทรวงพาณิชย์ที่บอกว่า “แม้เข้าร่วม UPOV1991 ได้ แต่เราสามารถออกข้อยกเว้นได้เอง เพื่ออนุญาตให้มีการเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อ” ว่าไม่เป็นความจริง เงื่อนไขการอนุญาตให้เก็บพันธุ์ไปปลูกต่อนั้นอนุญาตเฉพาะการปลูกเพื่อยังชีพเท่านั้น ส่วนการปลูกเพื่อการค้าห้ามเอาไว้ในเกือบทุกชนิดพืช เช่น ไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ดอกไม้ประดับ สมุนไพร หรือพืชป่า เป็นต้น 

การยกเว้นให้เก็บพันธุ์ไปปลูกต่อได้นั้น UPOV เขียนอธิบายเงื่อนไขเอาเอาไว้ว่า: 

1) ชนิดพืชที่จะยกเว้นต้องเป็น “พืชบางชนิดที่ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ สามารถนำไปเป็นเมล็ดพันธุ์เพื่อขยายพันธุ์ เช่น พวกธัญพืชเมล็ดเล็ก”

2) ต้องเป็นเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเมื่อสร้างเกณฑ์กำหนดยกเว้นแล้ว จำนวนสัดส่วนของเกษตรกรที่จะได้รับสิทธิยกเว้นจะต้องไม่กระทบรายได้ของบริษัทเมล็ดพันธุ์

3) เมื่อเข้าเงื่อนไขข้างต้นแล้ว บริษัทเมล็ดพันธุ์ไม่ได้อนุญาตให้ใช้ฟรีๆ แต่ต้องจ่ายค่าตอบแทน (royalty fee) ด้วย

สรุปว่ายังไงก็ต้องจ่าย การบอกว่า UPOV1991 อนุญาตให้รัฐออกข้อยกเว้นได้ตามใจ คือการประกาศความเท็จนั่นเอง

ปิติยังยกตัวอย่างกรณีออสเตรเลียโดยระบุว่า “ออสเตรเลียใช้มาตรา 15 (2) ของ UPOV-1991 โดยอนุญาตให้ผู้ปลูกใช้เมล็ดพันธุ์ที่เก็บไว้ (farm saved seed) โดยไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใดๆ”  คำกล่าวของปิติไม่เป็นความจริง เพราะจริงๆ แล้วผู้ที่มีสิทธิจะเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อในออสเตรเลียได้ ต้องจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์บวกกับค่าตอบแทน (FSS royalty) ตั้งแต่เมื่อซื้อเมล็ดพันธุ์แล้ว เกษตรกรจึงจะมีสิทธิ์เก็บพันธุ์ไปปลูกต่อ และปลูกต่อได้รอบเดียวเท่านั้น (www.ipaustralia.gov.au และ Seraina M. Giovanoli (2014)) รอบต่อไปถ้าต้องการเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่ออีก ก็ต้องจ่ายค่ารอยัลตี้บวกเข้าไปกับค่าเมล็ดพันธุ์เสียก่อน

ใครสนใจเรื่องนี้โดยละเอียด โปรดอ่านเอกสารของ UPOV เรื่อง “GUIDANCE FOR THE PREPARATION OF LAWS BASED ON THE 1991 ACT OF THE UPOV CONVENTION Document adopted by the Council at its thirty-fourth extraordinary session on April 6, 2017” จะได้ทราบว่า เงื่อนไขการเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อนั้นมีข้อจำกัดมากเพียงใด

4.3  ปิติให้เหตุผลว่า “ในความเป็นจริง เกษตรกรไทยเกือบทั้งหมดใช้เมล็ดพันธุ์ที่เป็นพันธุ์พืชพื้นเมือง พันธุ์พืชป่า พันธุ์ใหม่ และพันธุ์การค้า ที่ไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้ UPOV-1991 ยังไม่ได้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครอง PVR แต่อย่างใด จึงไม่มีปัญหาเรื่อง EDV ตามที่หน่วยงานกังวล” 

เรายังไม่ถกรายละเอียดในเรื่องนี้ตอนนี้ แต่ข้อโต้แย้งข้างต้นของปิติฟังไม่ขึ้น เพราะขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ยอมรับ UPOV1991 ปัญหาผลกระทบเรื่อง EDV ต่อการคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์โดยเกษตรกรรายย่อยหรือผู้ปรับปรุงพันธุ์รายใหม่จึงยังไม่เกิดขึ้น ความกังวลของ BEDO คือความกังวลในอนาคต “หากประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP และมีเงื่อนไขให้ยอมรับ UPOV1991” เพราะหากเกิดผลกระทบต่อกระบวนการคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์โดยเกษตรกรรายย่อยและชุมชนท้องถิ่น สายพันธุ์พืชพื้นเมือง พันธุ์พืชทั่วไปต่างๆ ที่ยังคงมีบทบาทสำคัญในภาคเกษตรกรรม แบบที่เราเคยมีข้าวหอมมะลิ ทุเรียนหมอนทอง ส้มโอทับทิมสยาม ฯลฯ อาจไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต

4.4  ปิติเขียนว่า “หากประเทศไทยนำฐานข้อมูลพันธุ์พืชที่ไทยมีอยู่อย่างหลากหลายขึ้นทะเบียนให้ครบถ้วน (เฉพาะกรณีของพันธุ์ข้าว ปัจจุบันประเทศไทยได้รวบรวมเชื้อพันธุกรรมไว้กว่า 24,852 ตัวอย่าง) จากนี้ไปไม่ว่าใครก็ตาม (โดยเฉพาะต่างชาติ) หากนำเอาพันธุ์พืชในฐานข้อมูลของเราไปพัฒนาต่อยอด เราก็จะได้รับผลประโยชน์ด้วยตามหลักการแบ่งปันผลประโยชน์ของ UPOV-1991”  ข้อความดังกล่าวชี้ว่าผู้เขียนไม่ทราบหลักการและความแตกต่างทั้งเรื่อง UPOV และ  CBD (อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ) 

UPOV1991 ไม่มีหลักการแบ่งผลประโยชน์จากพันธุกรรมท้องถิ่น สำนักงาน UPOV จึงเรียกร้องให้ประเทศต่างๆที่เป็นภาคีตัดกลไกการแบ่งปันผลประโยชน์ออกไปจากกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช ดังที่ได้กล่าวแล้วก่อนหน้านี้ การที่ปิติอ้างว่า “หากนำเอาพันธุ์พืชในฐานข้อมูลของเราไปพัฒนาต่อยอด เราก็จะได้รับผลประโยชน์ด้วยตามหลักการแบ่งปันผลประโยชน์ของ UPOV-1991” เป็นความสับสนแบบจับแพะชนแกะ

เรื่อง ABS นั้นอยู่ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และถูกออกแบบกลไกไว้ในกฎหมายไทย อินเดีย มาเลเซีย เป็นต้น การเข้าเป็นภาคี UPOV1991 ต่างหากที่จะทำลายหลักการดังกล่าว

5. ปิติชี้ว่า การคัดค้าน UPOV1991 ของสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ซึ่งกังวลเรื่องการขยายอำนาจผูกขาดของบริษัทเมล็ดพันธุ์ การเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อ และส่งผลกระทบต่อกลไกการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ เป็นต้นนั้น เกิดจาก “พวกเขาได้รับข้อมูลที่ผิดพลาด ไม่ครบถ้วน และยังไม่มีความเข้าใจ UPOV-1991 อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะในประเด็น การห้ามเกษตรกรเก็บส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ไปปลูกต่อ รวมทั้งการขยายอำนาจการผูกขาดจากเดิมเฉพาะส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ไปยังผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์…” 

ท่าทีเช่นนี้ออกจะเป็นการดูแคลนสติปัญญาและโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในโลกยุคปัจจุบันของผู้นำชาวนาและเกษตรกรรุ่นใหม่ไปสักหน่อย ที่จริงแล้วตัวแทนของสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากสภาฯ เป็นที่ปรึกษากมธ.ฯ เช่นเดียวกับปิตินั้น พวกเขาอยู่ร่วมในในที่ประชุมกมธ.ฯ แทบทุกครั้ง มีโอกาสได้รับฟังข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับ UPOV1991 พวกเขามีส่วนร่วมอย่างจริงจังในอนุกมธ.ฯ ศึกษาผลกระทบของ CPTPP ต่อเรื่องพันธุ์พืชและการเกษตร เหตุผลที่พวกเขาคัดค้านจึง ”ไม่ใช่การได้รับข้อมูลที่ผิดพลาดหรือไม่ครบถ้วน” แต่เป็นเพราะพวกเขาได้ตัดสินใจเรื่องนี้จากจุดยืนของพวกเขา ซึ่งไม่น่าจะใช่จุดยืนเดียวกับของปิติก็เท่านั้นเอง

ไบโอไทยไม่ได้มีเจตนาเขียนบทความนี้ เพื่อตอบโต้หรือตัดสินใครว่า “เข้าใจผิด”  “ตีความผิดพลาด”  “ความคิดเห็นส่วนตัวที่มีอคติ” “ตรรกวิบัติ”  “จงใจสร้างความเข้าใจผิด” แบบที่ปิติปิดท้ายในบทความของเขา  

แต่ประสงค์ให้การ “วิจารณ์แห่งวิจารณ์” นี้จะเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการ เกษตรกร ผู้บริโภค และสังคมไทยทั้งหมด จะได้แสดงบทบาทอย่างเหมาะสม ในวาระที่รัฐบาลนี้กำลังจะตัดสินใจทางนโยบายครั้งสำคัญ ว่าจะเข้าร่วม CPTPP ซึ่งมีเงื่อนไขให้ประเทศภาคีต้องเข้าร่วม UPOV1991 ซึ่งจะนำพาประเทศไปผูกพันกับความตกลงการค้าที่จะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหารไปอีกนานเท่านาน

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save