fbpx
CPTPP, UPOV-1991 กับความเข้าใจที่ผิดพลาด

CPTPP, UPOV-1991 กับความเข้าใจที่ผิดพลาด

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ซึ่งมีรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คุณ ดอน ปรมัติวินัย ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้มีการขยายระยะเวลาออกไปอีก 50 วันเพื่อทำการศึกษากับทุกภาคส่วนในการพิจารณาว่า ประเทศไทยสมควรจะเข้าร่วมเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี CPTPP หรือไม่ โดยหากนับเวลาจากต้นเดือนพฤษภาคมออกไป 50 วัน นั่นหมายความว่า ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน จนถึงต้นเดือนกรกฎาคม 2564 เราน่าจะได้เห็นท่าทีของ กนศ. ที่จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีว่า ไทยสมควรจะเข้าไปเจรจากับภาคี 11 ประเทศ (เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไนฯ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชีลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) เกี่ยวกับข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) หรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่า ประเทศไทยต้องพิจารณาอย่างรอบคอบระมัดระวัง

สิ่งที่เราอยากเห็นมากที่สุด ณ ขณะนี้ คือ ทุกภาคส่วนช่วยกันออกมา คิด วิเคราะห์ วิพากษ์ว่า การเข้า CPTPP จะมีข้อดีและข้อเสียอย่างไร เราจะเยียวยาผู้เสียประโยชน์อย่างไร ทำอย่างไรไทยถึงจะได้ประโยชน์มากที่สุด และอะไรคือแนวทางหรือกลยุทธ์การเจรจาฯ ที่เหมาะสมที่สุด อะไรยอมได้หรือยอมไม่ได้ เพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ

แต่สิ่งที่เราเห็นในโลกโซเชียลมีเดียหรือสื่อสังคมออนไลน์คือ ความพยายามที่จะให้เรา Say #NoCPTPP  ไม่แม้แต่จะเจรจากับภาคี CPTPP ไม่แม้แต่จะพิจารณาว่าเราจะได้ประโยชน์อย่างไร เราจะเสียประโยชน์อย่างไร สามารถชดเชยได้หรือไม่ ทั้งๆ ที่ข้อตกลงการค้าเสรีมีข้อมูลหลักฐานทางวิชาการยืนยันว่า เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาการเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านการที่ประเทศนั้นๆ จะสามารถมีแต้มต่อในการเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าระดับนานาชาติ (Global Value Chains: GVCs) ที่จะก่อให้เกิดการจ้างงาน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (อ้างอิง: รายงานของธนาคารโลก ปี 2020 Trading for Development in the Age of Global Value Chains)

การใช้แฮชแท็ก (hashtag) หรือการใช้อินโฟกราฟิก (infographic) ที่สั้น ง่าย สวยงาม แต่อาจจะไม่สามารถให้ข้อเท็จจริงได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ถูกใช้เป็นเครื่องมือ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าหากประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ประเทศไทยต้องยอมรับที่จะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV-1991) ซึ่งถูกกล่าวหาว่า จะทำให้ไทยถูกขโมยพันธุ์พืชโดยโจรสลัดชีวภาพ เกษตรกรไทยจะเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในฤดูกาลต่อๆ ไปอีกไม่ได้ เกษตรกรจะกลายเป็นอาชญากร หรือแม้แต่ต่อไปนี้คนไทยจะรับประทานข้าวคลุกกะปิด้วยราคาที่แพงขึ้นหลายเท่า ฯลฯ ท้ังหมดนี้คือความเข้าใจที่ผิดพลาด

หากพิจารณาจากผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ของสภาผู้แทนราษฎร เราพบว่าต้นตอแห่งความเข้าใจผิด และห่วงกังวลจนเกินกว่าเหตุในเรื่องพันธุ์พืชมีอยู่ด้วยกันหลายประการ อาทิ

  1. ผู้แทนกรมการข้าวสะท้อนข้อกังวลจากปัญหาการขาดแคลนงบประมาณสนับสนุนด้านการทำวิจัยพันธุ์ข้าวจากรัฐบาล 

เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขอเข้าร่วมการเจรจา CPTPP และไม่ว่าจะเข้าร่วมการเจรจาหรือไม่ รัฐบาลก็มีความจำเป็นต้องสนับสนุนการทำวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพิ่มขึ้น และหากพิจารณาในอีกมุมหนึ่ง เรากลับพบว่าการเข้าร่วม UPOV-1991 กลับจะยิ่งทำให้รัฐสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการสนับสนุนการวิจัยพันธุ์ข้าวได้เพิ่มมากยิ่งขึ้นและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เนื่องจากพันธุ์ข้าวใหม่ที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัยจะตกเป็นทรัพย์สินของทางราชการที่ได้รับการคุ้มครองและสามารถสร้างผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรมได้ ต้องอย่าลืมว่าเรามีศูนย์วิจัยข้าว ศูนย์วิจัยพันธุ์พืชสวน พืชไร่ สถานีเกษตร อยู่ในทุกจังหวัด และเราก็มีนิสิตนักศึกษาจำนวนมากที่เรียนจบคณะด้านการเกษตร เช่นเดียวกับเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ที่เก็บพันธุ์ คัดเลือกเมล็ด ปรับปรุงพันธุ์จนได้พันธุ์พืชใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา การให้ความคุ้มครองกับงานที่พวกเขาทำจะทำให้ไทยเป็นเจ้าของพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นอีกมากมาย และต่อไปนี้ เกษตรกรไทยจะไม่ใช่เพียงขายแรงงาน หากแต่พวกเขาจะเป็นเจ้าของทุนในรูปของทรัพย์สินทางปัญญา

  1. ข้อห่วงกังวลของผู้แทนจากกรมการข้าวที่ว่าประเทศสมาชิก UPOV สามารถนำพันธุ์ข้าวของไทยไปพัฒนาต่อยอดได้ โดยประเทศไทยมิได้รับผลประโยชน์

ในข้อเท็จจริงคือ UPOV-1991 ให้การคุ้มครองและมีการแบ่งปันผลประโยชน์ในพันธุ์พืชที่มีคุณสมบัติ  Essentially Derived Varieties (EDV)  ให้กับเจ้าของพันธุ์หรือผู้ปรับปรุงพันธุ์เดิม ดังนั้นหากไทยเป็นภาคี UPOV-1991 นั่นหมายความว่า ใครก็ตามที่นำเอาพันธุ์ข้าวของไทยไปพัฒนาต่อยอด (EDV ของพันธุ์ข้าวไทย) จะต้องแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับประเทศไทยด้วย นั่นเท่ากับประเทศไทยจะได้ผลตอบแทนทางอ้อมจากการพัฒนาพันธุ์ข้าวของผู้อื่น ปัจจุบัน มีเชื้อพันธุกรรม 24,852 ตัวอย่างพันธุ์ของข้าวไทยที่เก็บไว้ที่ธนาคารเชื้อพันธุ์ข้าวของกรมการข้าวของไทย และมีข้าวอีกมากกว่า 6,000 สายพันธุ์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย 

แต่การไม่เข้าเป็นภาคี UPOV-1991 ต่างหากที่จะทำให้ไทยเสียสิทธิเหล่านี้ เพราะต้องอย่าลืมว่า แม้ไทยไม่เป็นภาคี UPOV-1991 แต่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกต่างทยอยเข้าเป็นภาคี UPOV-1991 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (ล่าสุดประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดไทยที่ทยอยปรับข้อกฎหมายภายในของตนเพื่อเข้าสู่การเป็นภาคี UPOV-1991 ได้แก่ อินเดีย มาเลเซีย เมียนมา บรูไน ฟิลิปปินส์ ในขณะที่ จีน เวียดนาม และสิงคโปร์เป็นภาคีมานานแล้ว) และต้องอย่าลืมด้วยว่า ถึงไทยไม่เข้าเป็นภาคี ไม่คุ้มครองพันธุ์ใหม่ๆ ให้กับนักปรับปรุงพันธุ์ คนไทยที่เก่งเหล่านี้ก็สามารถออกไปจดทะเบียนขอความเป็นเจ้าของพันธุ์พืชใหม่ๆ ของเขาได้ในต่างประเทศ เท่ากับว่าจะเกิดปัญหาสมองไหลขึ้น สิ่งที่เรากลัวกันคือ พืชไทยถูกนำออกไปจดทะเบียนในต่างประเทศอาจเกิดขึ้น เพราะเราไม่เอา UPOV-1991

  1. ผู้แทนจากกรมส่งเสริมการเกษตรสะท้อนข้อกังวลจากปัญหาการขาดแคลนงบประมาณจากรัฐบาลในการสนับสนุนกิจกรรมด้านการขยายพันธุ์และแจกจ่ายพันธุ์พืชให้กับเกษตรกร และมีการอธิบายเพิ่มเติมใน ภาคผนวก ช. และ ภาคผนวก จ. ซึ่งสาระสำคัญส่วนใหญ่คือ การขาดแคลนทรัพยากรบุคคลและงบประมาณในการดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงาน 

ซึ่งข้อเท็จจริงก็คือ ข้อกังวลนี้จึงไม่ได้เกี่ยวข้องว่าประเทศไทยสมควรจะเข้าร่วมการเจรจาเพื่อขอเป็นภาคี CPTPP หรือไม่ เพราะถ้ารัฐไม่จัดสรรงบให้ ปัญหาที่กรมฯ ห่วงกังวลก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่ดี

  1. สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์กรมหาชน) แสดงความห่วงกังวลว่า “… พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 กำหนดให้นักปรับปรุงพันธุ์พืชต้องแสดงที่มาของพันธุ์พืชใหม่หรือสารพันธุกรรมที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ผูกพันให้มีการทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ ทั้งนี้ หากเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV แล้ว จะทำให้ต้องตัดมาตราที่กำหนดเรื่องการแสดงที่มาของพันธุ์พืชใหม่ …” 

ทั้งที่ในความเป็นจริง การอ้างอิงข้อความดังกล่าวอาจจะมีข้อผิดพลาด ทั้งนี้เนื่องจากเงื่อนไขหลักตามอนุสัญญา UPOV-1991 ในการกำหนดคุณสมบัติของพันธุ์พืชใหม่คือ:

  • พันธุ์พืชนั้นต้องเป็นพันธุ์ใหม่ (New) ผ่านการพัฒนาปรับปรุง
  • มีลักษณะประจำพันธุ์ที่ใหม่และแตกต่างจากพันธุ์อื่น (Distinct) มีความสม่ำเสมอของลักษณะประจำพันธุ์ (Uniform) และ มีความคงตัวและมีเสถียรภาพของลักษณะประจำพันธุ์ (Stable) 
  • พันธุ์พืชนั้นต้องยังไม่ขายเกินกว่า 1 ปี ในประเทศ และ 4 ปี หรือ 6 ปี (สำหรับไม้ยืนต้นและไม้เถายืนต้น) ในต่างประเทศ (Novelty)
  • มีการตั้งชื่อพันธุ์พืชใหม่อย่างเหมาะสม (Denomination) ซึ่ง UPOV-1991 เน้นย้ำอย่างยิ่งถึงการต้องแสดงที่มาของพันธุ์พืชใหม่หรือสารพันธุกรรมที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ ไม่ใช้ให้ ‘ตัดออก’ ดังที่หน่วยงานดังกล่าวเข้าใจ และการที่ต้องแสดงที่มาที่ไปแสดงให้เห็นว่า พันธุ์พืชใหม่ที่นักปรับปรุงพันธ์พัฒนาขึ้นทำอย่างไรบ้าง กระบวนการนี้นี่เองที่จะเป็นการป้องกันสิ่งที่หลายๆ ฝ่ายห่วงกังวลคือ การขโมยพันธุ์พืชของไทยโดยโจรสลัดชีวภาพ

ถ้าพูดให้ชัดขึ้น คนๆ หนึ่งไม่สามารถเข้าไปในป่าและเคลมต้นไม้ต้นหนึ่งได้ว่า ตนเองเป็นเจ้าของ เพราะคนๆ นั้นต้องแสดงให้เห็นว่า ต้นไม้ที่เขาจะขอเป็นเจ้าของพันธุ์ใหม่ เขาพัฒนามาอย่างไร ต้นพ่อคืออะไร ต้นแม่คืออะไร ปรับปรุงพันธุ์โดยกระบวนการใด ไม่ใช่เอาต้นไม้ที่มีอยู่แล้วมาขึ้นทะเบียนได้

อีกหนึ่งข้อกังวลของหน่วยงานคือ “… การขยายสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์พืชผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชใหม่ให้ครอบคลุมถึง EDV ของอนุสัญญา UPOV อาจจะส่งผลกระทบต่อการคัดเลือกและพัฒนาพันธุ์พืชของเกษตรกรรายย่อยและชุมชนท้องถิ่น โดยอาจไม่สามารถทำตามวิถีการเกษตรที่มีมาแต่เดิมในการคัดเลือกเก็บพันธุ์ที่เกิดขึ้นใหม่ซึ่งมีลักษณะที่ต้องการ จากในแปลง (Farm Saved Seed) มาปลูกได้” ซึ่งนี่คือข้อกังวลที่มักจะพบในโลกออนไลน์ที่ว่า เมื่อเข้า CPTPP และ UPOV-1991 แล้วเกษตรกรไทยจะเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในฤดูกาลต่อๆ ไปอีกไม่ได้ เกษตรกรจะกลายเป็นอาชญากร

เพื่อที่จะเข้าใจประเด็นนี้ เราต้องแยกประเด็นดังกล่าวออกเป็น 3 ส่วน

  • ประเทศสมาชิก UPOV-1991 บางประเทศ เช่น สหภาพยุโรป ได้ดำเนินการรักษาสิทธิ farm saved seed นี้ไว้ให้กับผู้ปลูกพืช โดยจำกัดข้อยกเว้นการบังคับใช้ UPOV-1991 ในประเด็นนี้ให้กับ ‘เกษตรกรรายย่อย’ หรือกำหนดให้ผู้ปลูกต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ต่ำกว่าค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่จ่ายโดย PVR อย่างมีนัยสำคัญ (เทียบได้กับการให้ตั๋วเด็กสำหรับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย) ขณะที่ประเทศสมาชิก CPTPP อื่น ๆ เช่น ออสเตรเลีย ใช้มาตรา 15 (2) ของ UPOV-1991 โดยอนุญาตให้ผู้ปลูกใช้เมล็ดพันธุ์ที่เก็บไว้ (farm saved seed) โดยไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใดๆ ส่วนนิวซีแลนด์ยังคงมีทางเลือกในการรักษาแนวทางปัจจุบันของนิวซีแลนด์ในการใช้ farm saved seed เอาไว้ เมื่อนิวซีแลนด์ต้องดำเนินการปรับปรุงกฎเกณฑ์ในการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับ UPOV-1978 ที่ทั้งนิวซีแลนด์และไทยเป็นภาคีอยู่แล้ว
  • ในความเป็นจริง เกษตรกรไทยเกือบทั้งหมดใช้เมล็ดพันธุ์ที่เป็นพันธุ์พืชพื้นเมือง พันธุ์พืชป่า พันธุ์ใหม่ และพันธุ์การค้า ที่ไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้ UPOV-1991 ยังไม่ได้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครอง PVR  แต่อย่างใด (อ้างอิงจาก The Plant Variety Act 1987 และ  เอกสาร Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: National Interest Analysis ของประเทศนิวซีแลนด์) จึงไม่มีปัญหาเรื่อง EDV ตามที่หน่วยงานกังวล
  • ในทางกลับกัน หากประเทศไทยนำฐานข้อมูลพันธุ์พืชที่ไทยมีอยู่อย่างหลากหลายขึ้นทะเบียนให้ครบถ้วน (เฉพาะกรณีของพันธุ์ข้าว ปัจจุบันประเทศไทยได้รวบรวมเชื้อพันธุกรรมไว้กว่า 24,852 ตัวอย่าง) จากนี้ไปไม่ว่าใครก็ตาม (โดยเฉพาะต่างชาติ) หากนำเอาพันธุ์พืชในฐานข้อมูลของเราไปพัฒนาต่อยอด เราก็จะได้รับผลประโยชน์ด้วยตามหลักการแบ่งปันผลประโยชน์ของ UPOV-1991)
  1. สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยมีความเห็นว่า การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV จะเพิ่มอำนาจการผูกขาดด้านพันธุ์พืช และห้ามเกษตรกรเก็บส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ไปปลูกต่อในฤดูถัดไป รวมทั้งขยายอำนาจการผูกขาด จากเดิมเฉพาะส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ไปยังผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์ และกระทบต่อการพัฒนาขีดความสามารถของนักปรับปรุงพันธุ์พืชรายย่อยและเกษตรกรรายย่อยซึ่งรวมถึงเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร ส่งผลต่อต้นทุนการเพาะปลูกและราคาสมุนไพร การแข่งขัน การต่อยอดและการค้นคว้าวิจัย จึงเห็นว่า ต้องไม่ให้ข้าวเป็นพืชพันธุ์ใหม่ที่จะได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญา UPOV นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลถึงผลกระทบที่ประเทศไทยจะได้รับ หากต้องมีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 คือ จะมีผลกระทบต่อกลไกการแบ่งปันผลประโยชน์จากการขออนุญาตนำพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป พันธุ์พืชป่า ซึ่งเป็นพันธุ์พืชดั้งเดิมของประเทศไทย ในกรณีที่มีผู้นำไปปรับปรุงพันธุ์ ศึกษาทดลอง หรือวิจัยพัฒนาต่อยอด แล้วจดทะเบียนเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของตน

จากการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าพวกเขาได้รับข้อมูลที่ผิดพลาด ไม่ครบถ้วน และยังไม่มีความเข้าใจ UPOV-1991 อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะในประเด็น การ “…ห้ามเกษตรกรเก็บส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ไปปลูกต่อ รวมทั้งการขยายอำนาจการผูกขาด การเดิมเฉพาะส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ไปยังผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์…” 

ดังนั้นจึงสมควรอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนจะต้องเสริมสร้างองค์ความรู้ให้กับชาวนาและเกษตรกรไทยในประเด็นสำคัญดังนี้:

  • พันธุ์พืชเกือบทั้งหมดที่เกษตรกรปลูกอยู่ในปัจจุบันเป็นพันธุ์พืชพื้นเมือง พันธุ์พืชป่า พันธุ์ใหม่ และพันธุ์การค้า ที่ไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้ UPOV-1991 อยู่ภายใต้สนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยทรัพยากรพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและการเกษตร (International Treaty on Plant Genetic Resources for Food and Agriculture: ITPGRFA) อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) และข้อกำหนดเกี่ยวกับตลาดของเมล็ดพันธุ์พืช (Seed Marketing Regulations) ซึ่งไทยเป็นภาคีอยู่แล้ว ไม่ใช่สิ่งใหม่ และไม่ได้มีการห้ามเก็บส่วนขยายพันธุ์ไปปลูกต่อ
  • กรณีพันธุ์พืชใหม่ ให้พิจารณาตัวอย่างการใช้มาตรา 15 (2) ของ UPOV-1991 ของประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่ยังอนุญาตให้ผู้ปลูกใช้เมล็ดพันธุ์ที่เก็บไว้ (farm saved seed) โดยไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใดๆ ได้
  • การขยายอำนาจการผูกขาด การเดิมเฉพาะส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ไปยังผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์ไม่เป็นความจริง เพราะ UPOV-1991 คุ้มครองเฉพาะส่วนขยายพันธุ์ (เมล็ด ราก หัว เหง้า) ไม่ให้นำไปขายต่อเพื่อการขยายพันธุ์โดยไม่ได้รับอนุญาต หากขยายไปห้ามการขาย ผล ดอก ใบ และส่วนต่างๆ คำถามคือ ในทางปฏิบัติ ใครจะซื้อเมล็ดพันธุ์เหล่านั้นไปปลูก เมื่อปลูกแล้วไม่สามารถขายผลผลิตได้ เช่น ถ้า UPOV-1991 ห้ามขายผลของมะละกอที่เป็นพันธุ์ใหม่ หรือห้ามนำมะละกอพันธุ์ใหม่ไปแปรรูปแล้วขาย นั่นจะทำให้เกษตรกรไม่ซื้อเมล็ดพันธุ์มะละกอดังกล่าวไปปลูก เพราะปลูกแล้วขายไม่ได้ เรื่องนี้ต้องมีการยกมาตราที่ 16(1) ของ UPOV-1991 มาให้ความรู้ว่า การสิ้นสุดการคุ้มครองที่ให้กับเจ้าของพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง

จะเห็นได้ว่า แม้แต่ในผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเกิดจากการรวบรวมความคิดเห็นจากหลากหลายภาคส่วน ก็ยังมีความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นการอ้างอิงสิ่งที่อยู่ในรายงานฉบับดังกล่าวไปใช้งานต่อ หรือไปตัดสินใจโดยไม่รอบคอบ อาจนำไปสู่ภาวะตรรกวิบัติ (Fallacy of Reasoning) ที่เรียกว่า Appeal to Authority นั่นคือ เมื่อเอกสารฉบับหนึ่งหรือข้อความหนึ่งได้รับการรับรองจากผู้มีอำนาจ (ในที่นี้คือ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง) เราก็อาจจะเผลอคิดไปได้ว่า ข้อความที่อยู่ในเอกสารนั้นๆ ที่ได้รับการรับรอง คือความถูกต้อง คือข้อเท็จจริง ทั้งที่ในความเป็นจริง ในเอกสารดังกล่าวซึ่งเป็นเพียงการรวบรวมความคิดเห็นยังมีข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนอยู่อีกเป็นจำนวนมาก

ในโลกยุคสังคม Ubiquitous สังคมที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข่าวสารข้อมูลได้ในทุกสถานที่ ทุกเวลา และทุกแพลตฟอร์ม สิ่งที่พวกเราทุกคนคงต้องระมัดระวังและตรวจสอบกันให้มากยิ่งขึ้นคือ ความถูกต้องของข่าวสารข้อมูลที่พวกเรากำลังเสพ บางครั้งผู้ส่งสารอาจเข้าใจผิดและนำข้อมูลข่าวสารที่ตีความผิดพลาดมานำเสนอต่อๆ กันไปจนเกิดความเข้าใจผิด ปรากฏการณ์เช่นนี้เรียกว่า Misinformation แต่ที่เลวร้ายยิ่งกว่า คือการใช้ข้อมูลที่ถูกต้องเพียงบางส่วนมาผสมปนเปกับความคิดเห็นส่วนตัวที่มีอคติ แล้วนำไปเผยแพร่ต่อเพื่อจงใจสร้างความเข้าใจผิด สถานการณ์เช่นนี้เรียกว่า Disinformation

ดังนั้นในโลกยุคดิจิทัลที่ข่าวสารข้อมูลถาโถมเข้ามาอย่างรวดเร็ว และผู้คนมีเวลาเพียงสั้นๆ ที่จะสนใจเพียงแฮชแท็กหรืออินโฟกราฟิกสวยๆ บางครั้ง อุบัติการณ์ของ Fake News ก็เกิดเป็นกระแสขึ้นได้อย่างง่ายดาย

ผู้เขียนรับรู้เป็นอย่างดีว่า ประเด็นที่ยาก ซับซ้อน และเกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ของผู้คนจำนวนมากอย่าง CPTTP ย่อมมีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย และมิได้หมายความว่าคนที่ไม่เห็นด้วยกับ CPTTP นั้นไม่มีเหตุผล หรือไร้เหตุผล แต่สิ่งที่ทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้าน CPTTP ต้องทำร่วมกันคือ การถกเถียงบนฐานเหตุผล ข้อเท็จจริง และหลักวิชาการ ซึ่งหากสิ่งนี้เกิดขึ้น สุดท้ายไม่ว่าผลสรุปในเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร กระบวนการดังกล่าวนี้ย่อมเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในตัวมันเอง

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save