fbpx
Coffee Shaming กินกาแฟผิดตรงไหน? : ทำไมกูรู Personal Money ถึงชอบบอกให้คนเลิกซื้อกาแฟ

Coffee Shaming กินกาแฟผิดตรงไหน? : ทำไมกูรู Personal Money ถึงชอบบอกให้คนเลิกซื้อกาแฟ

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

คุณคงเคยได้ยินคำสอนของผู้รู้ด้านการเงินมากมายหลายคนนะครับ ที่บอกทำนองว่า ถ้าเลิกกินกาแฟแก้วละเท่านั้นเท่านี้บาทได้ คุณจะเก็บเงินได้เท่านั้นเท่านี้ แล้วเงินที่ว่า ถ้าเอามาลงทุน ได้ดอกเบี้ยทบต้น สุดท้ายก็จะทำให้มีเงินเก็บเท่านั้นเท่านี้

บางคนก็ไปไกลถึงกับบอกว่า ถ้าเลิกกินกาแฟ (รวมถึงเลิกของฟุ่มเฟือยต่างๆ ในชีวิต) จะทำให้คุณมีเงินเก็บเป็นล้านๆ ได้เลย

ตัวอย่างเช่น กูรูการเงินอย่าง ซูส ออร์มาน (Suze Orman) (ดูรายละเอียดที่นี่) ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ ก็บอกว่า ถ้าเลิกกินกาแฟแก้วละ 1-3 เหรียญทุกวัน แล้วเอาเงินนั่นมาเก็บออม จะได้ราวเดือนละ 100 เหรียญ ซึ่งถ้าเก็บผสมรวมกับระบบดอกเบี้ยทบต้น ใช้เวลาราวๆ 40 กว่าปี ก็จะเท่ากับหนึ่งล้านเหรียญ

เฮ้ย! หนึ่งล้านเหรียญเลยเหรอ — จะได้ขนาดนั้น ผลตอบแทนแต่ละปีต้องเยอะมหาศาลเลยทีเดียว ซึ่งโดยทั่วไปไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่กระนั้น เธอก็บอกด้วยว่า การกินกาแฟก็เท่ากับการ ‘ฉี่’ เอาเงินล้านทิ้งไปนั่นเอง

อะไรจะขนาดนั้น!

แต่ออร์มานไม่ใช่คนเดียวนะครับ เทรนด์ในการบอก ‘เด็กรุ่นใหม่’ ว่าให้เลิกซื้อกาแฟ เอาเงินมาเก็บหอมรอมริบไว้นั้น ระบาดไปในหมู่นักการเงินและผู้ให้คำปรึกษาระดับ ‘กูรู’ การเงินในระดับโลกหลายคนทีเดียว อย่าง เควิน โอเลียรี่ (Kevin O’Leary) ซึ่งเป็นนักลงทุนและเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในเรียลิตี้โชว์ดังที่คอยตัดสินและให้ทุนเจ้าของไอเดียธุรกิจต่างๆ อย่าง Shark Tank ก็เคยบอกติดตลกแกมหยันว่า “I never buy a frape-latte-blah-blah-blah-woof-woof-woof.” และแนวคิดแบบเดียวกันนี้ก็ได้แพร่หลายเข้ามาในไทย อย่างที่เราคงเห็นกันอยู่ว่า มีกูรูการเงินไทยแบบ Personal Money หลายคนที่ก็เคยพูดแบบนี้

เทรนด์นี้มีผู้ขนานนามว่า Coffee Shaming หรือการประณามหยามหยันการดื่มกาแฟ ซึ่งไม่ได้แปลว่า กูรูการเงินทุกคนเป็นแบบนี้นะครับ มีแค่บางคนเท่านั้นที่หยิบยกเรื่องกาแฟ อันเป็น ‘ไลฟ์สไตล์’ แบบหนึ่งที่เกี่ยวพันไปถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างไม่เข้าใจมาเป็นตัวเปิดเปรียบเปรย บางคนอาจใช้ Coffee Shaming เพื่อกระตุ้นให้คนฉุกคิดถึงการดื่มกาแฟราคาแพงๆ ว่ามันอาจมีผลเสียอย่างไรได้บ้าง แต่กับอีกบางคนก็อาจเป็นไปเพียงเพราะ ‘หมั่นไส้’ ในไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ที่ว่านี้ก็ได้

มีผู้วิพากษ์วิจารณ์แบบ ‘โต้กลับ’ กระแส Coffee Shaming ไว้ว่า ถ้าดูให้ลึกจริงๆ เรื่องนี้เป็น ‘สงคราม’ ระหว่างรุ่นอีกแบบหนึ่ง เพราะคนที่เป็นนักวิเคราะห์การเงินที่ออกมา Shaming กาแฟนั้น ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ทั้งนั้น คนเหล่านี้มีแนวโน้มจะเห็นว่า พวกมิลเลนเนียลส์เป็นพวกที่จัดการกับการเงินได้ย่ำแย่ ไม่คิดเก็บออมเงินอยู่แล้ว กินกาแฟแพงๆ กินขนมปังอะโวคาโด้แพงๆ จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายมากกับการใช้เงินเพียงเพื่อจะ ‘Spark Joy’ เล็กๆ น้อยๆ ทั้งที่ถ้าเก็บเอาไว้ ก็อาจกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ได้

เสียงโต้กลับเหล่านี้บอกว่า ในแก้วกาแฟนั้น ไม่ได้มีแค่กาแฟ แต่ยังมี ‘ความเครียดระหว่างรุ่น’ (Generational Tensions) แฝงอยู่ด้วย

คนรุ่นบูมเมอร์ไม่มีวันเสียเงินไปกับกาแฟแพงๆ รื่นรมย์ยามเช้าอะไรทำนองนี้ได้ เพราะชีวิตของพวกเขาไม่เหมือนกับชีวิตของชาวมิลเลนเนียลส์ การให้คุณค่ากับสิ่งต่างๆ ก็แตกต่างกันออกไป ที่สำคัญก็คือ การให้คำแนะนำทางการเงินเหล่านี้ มักจะเป็นไปในมุมมองที่เห็นมนุษย์เป็น ‘สัตว์เศรษฐกิจ’ เพียงอย่างเดียว คือบอกให้คนเก็บเงิน แต่ละเลยแง่มุมทาง ‘วัฒนธรรม’ ต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับชีวิตไปจนสิ้นเชิง

สำหรับคนสมัยก่อน กาแฟไม่ได้มี ‘ความหมาย’ แบบเดียวกันกับคนสมัยนี้ คนยุคก่อนกินกาแฟกันแบบสำเร็จรูป คือเอากาแฟสำเร็จรูปมาชงใส่น้ำตาลกับครีมเทียม แล้วก็ชมกันว่าอร่อย ในออฟฟิศของคนอเมริกันทั่วไปอาจดีกว่านั้นหน่อย คือมีการชงกาแฟแบบผ่านน้ำทิ้งเอาไว้ แล้วพอเดินผ่านก็มารินเติมแก้วเสียทีหนึ่ง แต่คนยุคนี้เห็นว่ากาแฟมีความหมายมากกว่านั้นมาก (แต่ขอยกไปไม่พูดถึงนะครับ เพราะไม่อย่างนั้นคงต้องใช้เนื้อที่เยอะมาก)

ในปี 1994 สตาร์บัคส์ในสหรัฐอเมริกามีอยู่ไม่ถึง 500 สาขา แต่ในปัจจุบันมีมากกว่า 14,000 สาขา (ไม่นับรวมทั่วโลกอีกมหาศาล) ส่วนในไทย ที่เคยมี ‘กูรู’ ทำนายเอาไว้ว่า ร้านกาแฟเก๋ๆ เป็นแค่เทรนด์ ประเดี๋ยวก็จะล้มหายตายจากไป ซึ่งเห็นได้เลยว่าเป็นคำทำนายที่ ‘ผิด’ เพราะร้านกาแฟมีแต่จะเพิ่มจำนวนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นร้านใหญ่อย่างสตาร์บัคส์ หรือร้านเล็กร้านน้อยของคนทั่วไป

การเปลี่ยนแปลงจำนวนร้านกาแฟแบบนี้ ไม่ได้เป็นแค่เรื่องทางเศรษฐกิจการเงินเท่านั้น แต่มันยังเกี่ยวพันไปถึงเรื่องเชิงสังคมด้วย ถ้าเราสังเกตดู จะพบว่า ‘ร้านกาแฟ’ (แบบใหม่ที่ว่านี้) กับ ‘ความเป็นเมือง’ สัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง เพราะสิ่งที่เรียกว่า ‘วัฒนธรรมกาแฟ’ (Coffee Culture) นั้น เกิดขึ้นในเขตเมือง (ดูบทความ) แล้วไม่ได้สักแต่ว่าเกิดร้านกาแฟขึ้นมาเฉยๆ ทว่าร้านกาแฟยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ ‘เนื้อเมือง’ (Gentrification) ขึ้นมาด้วย

ตัวอย่างหนึ่งที่ถึงขั้นกลายเป็นหนังสือ ก็คือเรื่องของ Flat White Economy ที่มีการอธิบายการเปลี่ยนแปลงเนื้อเมืองของลอนดอนตะวันออก จากที่เคยเสื่อมโทรม กลายมาเป็นย่านที่คึกคักขึ้น เพราะเหล่าคนรุ่นใหม่ไปทำธุรกิจสตาร์ตอัพกันที่นั่น แล้วคนเหล่านี้ใช้ร้านกาแฟเป็นฐานในการทำงาน ทำให้ย่านนั้นๆ มีเม็ดเงินและการเดินทางเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจก็หมุนเวียน และมีส่วนในการเพิ่ม GDP ของลอนดอนได้ด้วย

ดังนั้น ในอีกด้านหนึ่ง กาแฟจึงไม่ได้เป็นแค่เครื่องดื่ม แต่เป็นวัฒนธรรม เป็นวิถีชีวิต เป็นความรื่นรมย์เล็กๆ น้อยๆ ที่คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งเลือกจะเสพไปด้วยระหว่างการทำงาน และในการทำงานนั้นเองก็ได้สร้างผลิตภาพขึ้นมาด้วย นี่ไม่ได้หมายความว่าคนรุ่นใหม่ทุกคนที่เข้าไปนั่งจิบกาแฟทำท่าเก๋อยู่ในร้านกาแฟจะสร้างงานขึ้นมาเสมอไป แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้นะครับ ว่าคนที่เข้าไป ‘ทำงานในร้านกาแฟ’ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นมหาศาล

ส่วนหนึ่งที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะคนรุ่นเก่าได้ดึงดูดทรัพยากรและต้นทุนแห่งชีวิตไปมากมาย คนรุ่นใหม่่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมือง และมีต้นทุนจำกัด เช่นในไทย เงินเดือนเริ่มต้นที่ 15,000 บาท ตั้งแต่ไหนแต่ไร ปัจจุบันก็ยังเท่านี้อยู่ แต่ราคาค่าครองชีพสูงลิบลิ่ว โดยเฉพาะค่าที่อยู่อาศัย พวกเขาจึงต้องอยู่ในที่ที่แคบลง อีกทั้งเมืองยังไม่มี Public Space เป็นที่ทางให้พวกเขาได้นั่งคิดงานมากพออีกด้วย ดังนั้น การเลือกมานั่งทำงานสร้างผลิตภาพในร้านกาแฟ (หรือ co-working space อื่นๆ) จึงไม่ได้เป็นแค่ ‘ทางเลือก’ ที่จะทำหรือไม่ทำ แต่อาจเป็นภาวะจำยอมที่ ‘ต้องทำ’ เสียด้วยซ้ำ

พวกเขาไม่ได้มา ‘นั่งคุย’ ในร้านกาแฟเหมือนคนรุ่นเก่าถกเรื่องการเมืองในร้านกาแฟอีกแล้ว แต่มานั่ง ‘ทำงาน’ กันจริงจัง ตั้งแต่คิดงาน เขียนงาน ประชุม ไปจนถึงเป็นติวเตอร์สอนหนังสือ

แล้วจะมานั่งทำสิ่งเหล่านี้ในร้านกาแฟโดยไม่สั่งกาแฟได้อย่างไรกันเล่า

เราน่าจะพอรู้อยู่ว่า มีการศึกษามากมายเต็มไปหมด ที่พบว่าคนรุ่นใหม่รุ่นมิลเลนเนียลส์นั้น มีแนวโน้มจะซื้อบ้าน แต่งงาน และมีลูกน้อยลง ดังนั้น ร้านกาแฟจึงไม่ใช่แค่ที่สำหรับ ‘กินกาแฟ’ เท่านั้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง ร้านกาแฟยังเป็นที่สำหรับ ‘ใช้ชีวิต’ ด้วย

คนรุ่นใหม่เหล่านี้ไม่ได้ใฝ่ฝันถึงบ้านชานเมืองหลังโตๆ รถยนต์หรือนาฬิกาหรูๆ (ที่จะเอาไว้ส่งทอดสืบต่อเป็นมรดกให้ลูกหลาน) เงินที่พวกเขาใช้จึงไม่ได้เอาไว้ผ่อนบ้านผ่อนรถ และการดื่มกาแฟแก้วละร้อยกว่าบาทเพื่อแลกกับการนั่งทำงานในร้านกาแฟนานๆ ก็อาจเป็น ‘วิธีคิดทางเศรษฐกิจ’ ที่ดีด้วยซ้ำไป

นักเขียนของวอชิงตันโพสต์คนหนึ่งชื่อ ฮีเลน โอเลน (Helaine Olen) (ดูที่นี่) บอกไว้ว่า Coffee Shaming ของเหล่ากูรู Personal Money พวกนี้ โดยเนื้อแท้แล้วก็คือการพูดแบบ ‘ตำหนิเหยื่อ’ (Blame-the-victim talk) เพราะคนรุ่นใหม่เหล่านี้นี่แหละที่ตกเป็นเหยื่อของเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีไร้สวัสดิการสังคม (แบบสังคมอเมริกัน) ที่ได้พรากเอาทรัพยากรของคนรุ่นนี้ไป ทำให้พวกเขาไม่มี ‘โอกาส’ จะลืมตาอ้าปากได้ทัดเทียมกับคนรุ่นก่อน การตำหนิคนเหล่านี้ว่ากินกาแฟแพง กินอะโวคาโด้โทสต์แพงๆ จึงเป็นเหมือนการชวนสังคมให้มองไปผิดทาง คือแทนที่จะไปโกรธกับระบบเศรษฐกิจที่ทำให้คนรุ่นหลังต้องเป็นแบบนี้ การกล่าวโทษคนเหล่านี้อาจทำให้คนเหล่านี้กลับมาโกรธตัวเอง ตำหนิตัวเอง ว่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ไม่รู้จักเก็บออม (คล้ายๆ การตำหนิเหยื่อที่ถูกข่มขืนว่าแต่งตัวโป๊) ทั้งที่ก็มีผลการวิจัยมากมายที่บอกว่า ชาวมิลเลนเนียลส์นั้นมี Financial Literacy สูงที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ด้วยซ้ำ

แน่นอน การใช้จ่ายฟุ่มเฟือยไร้ประโยชน์ย่อมไม่ใช่เรื่องดี แต่หากว่าการดื่มกาแฟหนึ่งแก้วนั้นเกี่ยวพันไปกับการสร้างผลิตภาพในการทำงาน เพราะทั้งระบบสังคมและเศรษฐกิจมันขับดันให้ต้องเดินไปทางนั้น สิ่งที่อาจเป็นปัญหามากกว่าการซื้อกาแฟแก้วละร้อยกว่าบาท อาจคือเทรนด์ Coffee Shaming ก็เป็นได้

เพราะมันทำให้เราเห็นว่า — กูรูเหล่านั้น บางทีก็เข้าใจอะไรๆ น้อยเหลือเกิน

*หมายเหุต เนื้อหาบางส่วนในบทความนี้อ้างอิงจากบทความเรื่อง The Rise of Coffee Shaming โดย Amanda Mull

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save