fbpx
อำนาจของโค้ด และกฎหมายที่มองไม่เห็นในโลกออนไลน์

อำนาจของโค้ด และกฎหมายที่มองไม่เห็นในโลกออนไลน์

จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ในปี 2000 ศาสตราจารย์ด้านกฎหมาย Lawrence Lessig ได้นำเสนอแนวคิดสำคัญเกี่ยวกับการกำกับดูแลในโลกออนไลน์ ผ่านทางหนังสือชื่อ Code and Other Laws of Cyberspace (สมัยนั้นยังนิยมใช้คำว่า cyberspace) ใจความหลักของหนังสือสามารถสรุปรวมได้เป็นประโยคเดียวว่า ‘โค้ดคือกฎหมาย’ (code is law) หลังจากเวลาผ่านไป 20 ปี นานพอที่เราแทบจะไม่ได้ยินคำว่าไซเบอร์สเปซอีกต่อไปแล้ว ยกเว้นในกฎหมายบางฉบับ ในวันที่ Lessig เปลี่ยนความสนใจจากประเด็นด้านกฎหมายและอินเทอร์เน็ตไปเป็นเรื่องคอร์รัปชัน และมีประเด็นเกี่ยวข้องกับการให้เหตุผลฟอกตัวให้กับ Joichi Ito อดีตผู้อำนวยการ MIT Media Lab เกี่ยวกับการรับเงินสนับสนุนจากผู้ถูกกล่าวหาคดีจัดหาเด็กหญิง Jeffrey Epstein อันอื้อฉาว (อ่านเพิ่มเติมได้จากลิงก์ท้ายบทความ)  เราจะขอกลับมาสำรวจแนวคิดนี้อีกครั้ง

ระบบคอมพิวเตอร์ทำงานผ่านทางรหัสโปรแกรม (หรือที่จะเรียกในบทความนี้ว่าโค้ด — code) นอกจากโค้ดจะระบุวิธีการประมวลผลข้อมูลแล้ว ยังทำหน้าที่ตรวจสอบเงื่อนไขต่างๆ ทั้งที่เป็นเงื่อนไขในระบบคอมพิวเตอร์ เช่น ตรวจสอบว่าโปรแกรมที่จะนำเข้ามาทำงานนั้นมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับโปรแกรมที่มีไวรัสหรือไม่ หรือตรวจสอบเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้ที่เป็นมนุษย์ ตัวอย่างเช่น ตรวจสอบสิทธิ์ในเข้าถึงข้อมูล  ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ใช้ก่อนจะอนุญาตให้ดำเนินการบางอย่าง หรือกระทั่งตรวจสอบว่าผู้ใช้นี้น่าจะเป็นคนเดียวกับที่ได้ยืนยันตัวตนไปก่อนหน้านี้แล้ว

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนลองพิจารณาหน้าที่การทำงานของโค้ดในระบบต่างๆ เช่น โค้ดของเฟซบุ๊กระบุว่าสถานะที่เราบันทึกลงไปว่าให้มีการเผยแพร่ได้กับเฉพาะเพื่อนจะสามารถเข้าถึงได้เฉพาะผู้ใช้ที่เราตอบรับว่าเป็นเพื่อนเท่านั้น เมื่อเราทำเอกสารบน Google Docs โค้ดของกูเกิลระบุว่าคนที่จะมีสิทธิ์อ่านเอกสารหรือแก้ไขจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่เราระบุ โค้ดของไอโฟนจะยอมเปิดหน้าจอโดยใช้ใบหน้าที่ตรงกับที่ระบบได้จดจำไว้เท่านั้น

ในฐานะนี้ โค้ดไม่ได้มีหน้าที่แค่ประมวลผลหรือรับส่งข้อมูลเท่านั้น แต่โค้ดยังทำหน้าที่ไม่ต่างกับ ‘กฎหมาย’ ที่เป็นกรอบในการปฏิบัติตัวของคนในโลกออนไลน์ด้วย อย่างไรก็ตาม ถ้ามองว่าระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์นั้นเป็นโลก โค้ดที่กำหนดเงื่อนไขความเป็นไปของระบบนั้นจะเปรียบได้ว่าเป็น ‘กฎของธรรมชาติ’ เพราะว่าไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงผลของโค้ดได้ (ยกเว้นจะพบช่องโหว่)  ในมุมนี้ Lessig จึงเรียกโค้ดรวมกับสิ่งอื่นๆ ที่นิยามธรรมชาติของระบบว่า ‘สถาปัตยกรรม’ (architecture)  ซึ่งหมายรวมไปถึงสิ่งที่กำหนดเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ในระบบทั้งที่เป็นโค้ดและเป็นสิ่งอื่นๆ เช่น กฎทางฟิสิกส์ที่ระบุว่าเราไม่สามารถส่งสัญญาณไปได้รวดเร็วกว่าความเร็วแสง ก็จะเป็นขีดจำกัดเชิงสถาปัตยกรรมของระบบถ้าเราต้องเดินทางข้ามจักรวาล เป็นต้น

สถาปัตยกรรมของระบบอินเทอร์เน็ตเมื่อเริ่มต้นไม่ได้มีเป้าหมายที่จะติดตามหรือสอดส่องการใช้งานของผู้ใช้  ไม่มีแม้กระทั่งแนวคิดว่าจะมีการเชื่อมโยงกันระหว่างสถานที่จริงกับที่อยู่ในโลกออนไลน์ อย่างไรก็ตาม ด้วยความต้องการจากฝั่งธุรกิจ ปัจจุบันระบบออนไลน์สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ใช้มาจากที่ใดในโลกด้วยความแม่นยำสูงระดับหนึ่งทีเดียว สถาปัตยกรรมในการตรวจสอบที่อยู่ออนไลน์เพื่อประมาณว่าผู้ใช้อยู่ที่ใดในโลกของความเป็นจริงเป็นระบบที่พัฒนามาทีหลัง และไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดและการออกแบบของอินเทอร์เน็ตตั้งแต่แรก

Lessig ได้พิจารณาโค้ดหรือสถาปัตยกรรมในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแล พร้อมๆ กับเครื่องมือในการกำกับดูแลรูปแบบอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 4 รูปแบบ คือ (1) กฎหมาย (2) บรรทัดฐานทางสังคม (3) ตลาด และ (4) สถาปัตยกรรมหรือโค้ด

รูปแบบในการกำกับดูแลทั้ง 4 นี้ไม่ได้ทำงานแยกจากกัน  กฎหมายอาจจะกำหนดเงื่อนไขบางอย่างให้กลไกตลาดทำงาน เช่น การกำหนดราคาขั้นต่ำหรือการกำหนดอัตราภาษีของสินค้าบางประเภท กฎหมายอาจจะกำหนดให้โค้ดต้องมีการเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างเช่น พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์บังคับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมีการเก็บข้อมูลจราจร เพื่อทำตามเงื่อนไขนี้ ผู้ให้บริการต่างๆ ก็ต้องมีการพัฒนาหรือติดตั้งซอฟต์แวร์เพิ่มเติม

ในทางกลับกัน สถาปัตยกรรมของระบบก็อาจจะทำให้สิ่งที่กฎหมายและตลาดต้องการเป็นไปไม่ได้ก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของเงินดิจิทัลบิตคอยน์ ถ้าเจ้าของเงินทำกุญแจรหัสลับในการเข้าถึงเงินนั้นหาย ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะตามหาเงินนั้นกลับมา ไม่ว่าจะมีแรงจูงใจเชิงเศรษฐกิจแค่ใดหรือจะใช้อำนาจทางกฎหมายเท่าใดก็ไม่สามารถนำเงินกลับมาได้

ดังนั้นอินเทอร์เน็ตจะมีคุณสมบัติอย่างไร จะเอื้อต่อธุรกิจเก็บข้อมูลเพื่อทำกำไร หรือจะเป็นระบบที่เข้มแข็งในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล จะเป็นระบบที่ไม่มีใครสามารถหลุดพ้นการติดตาม หรือเป็นระบบที่เอื้อต่อการมีอยู่ของตัวตนนิรนาม ขึ้นกับสถาปัตยกรรมของระบบที่ควบคุมการทำงาน แต่สถาปัตยกรรมหรือโค้ดก็ถูกควบคุมหรือกำหนดผ่านทางกฎหมาย บรรทัดฐานทางสังคม รวมไปถึงกลไกตลาดด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ สิ่งที่ Lessig พยายามย้ำก็คือการจะกำกับดูแลอะไรก็ตาม จำเป็นจะต้องหาจุดสมดุลระหว่างเครื่องมือทั้ง 4 นี้  (แต่ทางฝั่งผู้มีอำนาจและถือกฎหมายมักจะไม่พยายามประนีประนอม จนสุดท้ายผลลัพธ์ที่ได้แย่กว่าที่ควรจะเป็น)

ในบทความนี้ เราจะพิจารณาแง่มุมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโค้ด กฎหมาย และการกำกับดูแลในบริบทของสถานการณ์ปัจจุบัน

 

1.อินเทอร์เน็ตกับสถาปัตยกรรมเพื่อการควบคุมและสอดส่องดูแล

 

เมื่อ 20 กว่าปีก่อน อินเทอร์เน็ตวางอยู่บนสถาปัตยกรรมแห่งความเป็นเสรีภาพ ทั้งนี้เนื่องจากยังไม่ได้มีการพัฒนาโค้ดเพื่อควบคุม ตรวจสอบและติดตาม (เท่าในปัจจุบันนี้) ในหนังสือ Code ที่ได้กล่าวถึงนั้น  Lessig ได้เสนอว่าเนื่องจากภาคธุรกิจ (ตลาด) มักจะมีความต้องการที่จะตรวจสอบและควบคุมเสมอ ถ้าไม่มีการทำอะไร กลไกตลาดจะพัฒนาอินเทอร์เน็ตไปสู่โลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีของการติดตามสอดส่องดูแล  และรัฐบาลประชาธิปไตยจะต้องเข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแลป้องกันไม่ให้สภาพที่ไร้เสรีภาพเช่นนั้นเกิดขึ้น

ในปัจจุบันเราจะพบว่าสภาพที่ Lessig กล่าวถึงนั้นเป็นจริงขึ้นทุกวัน  เทคโนโลยีในการติดตามตัวตนและพฤติกรรมผู้ใช้ออนไลน์พัฒนาไปมากและมีการนำไปใช้แทบทุกที่  อินเทอร์เน็ตที่ผู้คนใช้เปลี่ยนจากสถานที่กว้างใหญ่ที่เราไปหาข้อมูล กลายเป็นอินเทอร์เน็ตที่เราเข้าถึงความเห็น ข้อมูล และเนื้อหาผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก หรือ ทวิตเตอร์ แพลตฟอร์มเหล่านี้พยายามให้มีการยืนยันตัวตนผู้ใช้  ไม่ว่าเราจะทำอะไรบนอินเทอร์เน็ตก็จะมีการติดตามเก็บร่องรอยของเรา แต่ผู้ที่สะกดรอยตามเรานั้นไม่ใช่ตำรวจหรือรัฐบาล แต่เป็นบริษัทและเครือข่ายโฆษณาที่พยายามหาช่องทางการทำรายได้จากประวัติและพฤติกรรมออนไลน์ของเรา บริษัทยักษ์ใหญ่ออนไลน์เช่นเฟซบุ๊กและกูเกิล ต่างพยายามสร้างระบบซอฟต์แวร์มาครอบการใช้งานอินเทอร์เน็ตอีกชั้น เพื่อประโยชน์ในการรักษาลูกค้าและเก็บข้อมูล

อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มมีผู้ตระหนักถึงภาพที่น่าตระหนกดังกล่าวมากขึ้น  ทั้งรัฐบาล องค์กรต่างๆ รวมทั้งบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางข้อมูลดังกล่าวก็เริ่มแสดงแนวโน้มที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลแสดงทีท่าในการเข้ามากำกับดูแลแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น (เนื่องจากตระหนักถึงผลกระทบต่อการตัดสินใจทางการเมืองของประชาชน) ในภาคประชาชนและฝั่งนักกิจกรรมก็ได้มีการพยายามพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพอย่างต่อเนื่อง ผู้ใช้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสารแบบเข้ารหัสได้ง่ายขึ้นสะดวกขึ้น มีความพยายามพัฒนาระบบการสื่อสารที่ปราศจากศูนย์กลางเพื่อความเป็นเสรีภาพและความหลากหลาย และเพื่อความทนทานต่อการปิดกั้นของรัฐ การหลบหลีกการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตทำได้ง่ายขึ้น แต่อาจจะลดความสำคัญลงเมื่อการถกเถียงต่างๆ ย้ายไปอยู่บนแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่รัฐไม่กล้าที่จะปิดกั้นทั้งหมด (เหตุการณ์เช่นการปิดยูทูบในประเทศเป็นเวลาหลายเดือนน่าจะไม่สามารถเกิดขึ้นอีก) มีการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารแบบนิรนามมากขึ้น พร้อมๆ กับความพยายามจากทางภาครัฐที่จะเจาะและเข้าถึงข้อมูลของเครือข่ายนิรนามดังกล่าว

การพัฒนาทั้งทางด้านเทคโนโลยีและกฎหมายในแง่มุมด้านเสรีภาพในการสื่อสารนับวันจะทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ และในภาพรวมกรอบการพิจารณาองค์ประกอบทั้ง 4 ในการควบคุมและกำกับดูแลที่เสนอโดย Lessig ยังคงเป็นภาพที่เราสามารถกลับไปพิจารณาอ้างอิงได้เสมอ

 

2.โค้ด ปัญญาประดิษฐ์ การควบคุมที่ไร้คำอธิบาย

 

เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเข้ามีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในทุกย่างก้าว ระบบโทรศัพท์ที่ติดตามเราไปทุกหนทุกแห่งนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกแล้วยังเปิดโอกาสให้มีการเก็บข้อมูลส่วนตัวในหลากหลายมิติได้ตลอดเวลา ทั้งวิถีชีวิต การเดินทาง ความชื่นชอบและรสนิยม ความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่การงานรวมไปถึงงานอดิเรก ข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้บางครั้งเราสามารถเลือกที่จะเปิดให้เก็บก็ได้ บางครั้งถ้าเราไม่อยากแลกกับความสะดวกสบายบางอย่าง เราไม่สามารถสั่งให้ระบบยกเลิกการเก็บข้อมูลได้ ความเป็นไปได้ทั้งหมดนี้ล้วนควบคุมด้วยโค้ด

เวลาเราเขียนข้อความลงบนบริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ บางครั้งระบบก็จะไม่อนุญาตให้เราเผยแพร่ข้อความดังกล่าว เนื่องจากผิดกฎระเบียบบางอย่าง ซึ่งเมื่อเราไปอ่านระเบียบที่ประกาศไว้ เราก็ไม่สามารถหาได้ว่าเพราะอะไร  หลายครั้งเราอาจพบว่าผู้ใช้บางคนโดน ‘แบน’ เนื่องจากโพสต์บ่อยเกินไป จนระบบคิดว่าน่าจะเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้ามาป่วนระบบ การตัดสินใจเหล่านี้ก็กระทำด้วยโค้ดเช่นเดียวกัน

แต่โค้ดที่ตัดสินใจเมื่อปี 2000 กับโค้ดในปัจจุบันนั้นมีลักษณะแตกต่างกัน เงื่อนไขในโค้ดเพื่อควบคุมดูแลเมื่อ 20 ปีก่อนมักเป็นเงื่อนไขที่โปรแกรมเมอร์เขียนขึ้นเพื่อรองรับเป้าหมายและแนวทางของผู้ให้บริการ เช่น ข้อความที่จะโพสต์ลงในระบบได้จะต้องไม่มีบางคำหยาบคายเป็นต้น ถ้ามีข้อสงสัยในการตัดสินใจของระบบบางอย่าง การตรวจสอบโค้ดของระบบก็อาจจะอธิบายได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ในอดีตถ้ามีการตัดสินใจใดที่สามารถเขียนออกมาเป็นโค้ดได้อย่างชัดเจน เราก็สามารถนำโค้ดมาวิเคราะห์เพื่อหาเงื่อนไขในการตัดสินใจและอาจจะวิพากษ์วิจารณ์ความเหมาะสมของกฎเกณฑ์ต่างๆ ได้

ประเด็นหนึ่งที่ Lessig เน้นไว้ก็คือในกรณีการตัดสินใจของหน่วยงานรัฐ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องสามารถตรวจสอบเงื่อนไขในการตัดสินใจดังกล่าวในโค้ดได้ กล่าวโดยรวมก็คือจะต้องมีกระบวนการกำกับดูแลโค้ดที่เกี่ยวข้องด้วย

ในปัจจุบันนี้ หลายอย่างเปลี่ยนไป โค้ดกลับมีหน้าที่เพื่อคำนวณค่าอะไรบางอย่างตามรูปแบบที่ได้มาจากกระบวนการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) ผ่านทางข้อมูลฝึกสอนจำนวนมาก เมื่อค่าที่คำนวณได้มีขอบเขตอยู่ที่ระบุไว้แบบหนึ่ง ระบบก็จะตีความแบบหนึ่ง  ถ้ามีขอบเขตอยู่ที่จุดอื่น ก็อาจจะตีความแตกต่างกันไป เงื่อนไขการตัดสินใจในปัจจุบันไม่ได้ระบุด้วยมนุษย์ แต่ระบุผ่านทางข้อมูลฝึกสอน  คอมพิวเตอร์จะหารูปแบบและเรียนรู้วิธีการตัดสินใจให้สอดคล้องกับข้อมูลฝึกสอนที่ได้มีการเตรียมไว้ ในระบบเช่นนี้การพิจารณาโค้ดโปรแกรมแทบจะไม่ได้บอกอะไรกับเราเลย

มีนักพัฒนาซอฟต์แวร์ชื่อดัง พบว่าภรรยาของเขาที่จ่ายภาษีร่วมกันตลอดและมีรายได้ร่วมกันตามกฎหมาย กลับมีวงเงินในบัตร Apple Card น้อยกว่าเขา 20 เท่า ในความพยายามที่จะหาสาเหตุและประท้วง ทีมงานจากทั้งแอปเปิลและธนาคารตอบเขาได้แค่ว่าให้เชื่อใจระบบว่าไม่มีการแบ่งแยก และโค้ดที่ตัดสินขอบเขตวงเงินนั้นนั้นเสมอภาคแล้ว นี่เป็นเพียงแค่ไม่กี่ตัวอย่างที่การตัดสินใจด้วยโค้ดมีพฤติกรรมที่เอนเอียง ซึ่งเรียกรวมๆ กันว่าอคติของอัลกอริทึม — algorithmic bias  (สามารถอ่านกรณีอื่นๆ ได้จากลิงก์ท้ายบทความ)

 

 

ที่น่าสนใจคือคนที่ยืนยันความน่าเชื่อถือกับเขาไม่น่าจะมีใครได้มีโอกาสได้เห็นโค้ด หรือต่อให้เห็นโค้ดก็อาจจะไม่มีใครเข้าใจก็ได้ว่าการในตัดสินใจจริงๆ นั้นเกิดอะไรขึ้น เพราะว่าสิ่งที่อยู่ในโค้ดก็เป็นเพียงแค่สูตรคำนวณไร้ความหมายที่ได้จากกระบวนการเรียนรู้ด้วยเครื่องนั่นเอง

ในโลกที่การสื่อสารกระทำผ่านตัวกลางที่ไม่ได้เป็นเครื่องมือส่งต่อข้อมูลเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีบทบาทคัดกรองและคัดสรรว่าเนื้อหาใดจะถูกส่งให้กับผู้ใช้ เช่น บนเครื่อข่ายสังคมแบบเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ หรือบนผลลัพธ์การค้นหาของกูเกิล การตัดสินใจด้วยโค้ดจึงสร้างผลกระทบไปยังภาวะการรับรู้ข่าวสารและความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวของผู้คนในสังคม ในมุมนี้ โค้ดของระบบทำหน้าที่ไม่ต่างจากหัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่ทรงอำนาจที่สุด นอกจากจะสามารถกำหนดทิศทาง เลือกข่าวที่สำคัญ รวมถึงลดบทบาทของบางประเด็นแล้ว ยังสามารถเลือกได้ด้วยว่าจะส่งข่าวในแง่มุมใดให้กับผู้ใช้กลุ่มไหน

แน่นอนว่าในการพัฒนาและออกแบบโค้ดสำหรับจัดการเรื่องดังกล่าวนั้น อาจไม่ได้มีความพยายามใส่อคติหรือเป้าหมายพิเศษอื่นใดๆ นอกจากการทำให้ผู้รับข่าวสารได้ข่าวที่ตนเองสนใจและมีความสุขที่จะได้อ่านเนื้อหาเหล่านั้น ด้วยข้อมูลพฤติกรรมจำนวนมหาศาลพร้อมกับข้อมูลส่วนตัวที่เก็บจากผู้ใช้  ทำให้โค้ดสามารถดำเนินการดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่ได้ย่อมขึ้นกับข้อมูลและเป้าหมายในการฝึกสอน การที่ผู้ใช้เห็นสิ่งที่น่าสนใจผ่านมุมมองที่สอดคล้องกับทัศนคติของตนเองอาจจะผลิตซ้ำความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง และคงไม่อาจนำไปสู่สังคมที่ผู้คนมีความเข้าใจกันและกันมากขึ้นก็ได้

การใช้โค้ดในการตัดสินใจไม่ได้หยุดอยู่เฉพาะในโลกของเอกชนเท่านั้น เมื่อภาครัฐพยายามปรับเปลี่ยนระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยมีการนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์มาช่วยในการตัดสินใจ ยกตัวอย่างเช่น การวางแผนการตรวจตราของตำรวจโดยใช้สถิติจากการก่ออาชญากรรม การประเมินความเสี่ยงของการกลับมาติดคุกซ้ำของระบบศาลเป็นต้น

ในกรณีเหล่านี้ เราจะพบกับความไม่โปรงใส่ในการตัดสินใจมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าเราจะสามารถเข้าถึงโค้ดทั้งหมดของระบบได้ก็ตาม ทั้งนี้เนื่องมาจากสถาปัตยกรรมของระบบปัญญาประดิษฐ์ที่นิยมในปัจจุบันสร้างกฎเกณฑ์การตัดสินใจจากข้อมูลฝึกสอนโดยไม่คำนึงว่ามนุษย์ผู้นำเงื่อนไขดังกล่าวไปใช้งานจะสามารถทำความเข้าใจเงื่อนไขนั้นได้หรือไม่

ปัญหาที่เกิดจากความเป็น ‘กล่องดำ’ ของระบบปัญญาประดิษฐ์เป็นปัญหาที่นักวิจัยเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น อย่างไรก็ตามยังคงมีการถกเถียงกันว่าการอธิบายได้นั้นจำเป็นมากน้อยแค่ใด และถ้าต้องเลือกระหว่างหมอปัญญาประดิษฐ์ที่อธิบายการตัดสินใจไม่ได้แต่วินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง 90% กับหมอปัญญาประดิษฐ์ที่อธิบายการตัดสินใจได้แต่วินิจฉัยโรคได้ถูกต้องเพียง 70% มนุษย์จะเลือกเชื่อในระบบใด

 

3.กฎหมายที่เป็นโค้ด บล็อกเชนและสัญญาอัจฉริยะ

 

ในขณะที่นักการเงินและผู้ลงทุนเพื่อเก็งกำไรสนใจบิตคอยน์ในฐานะของเงินตราดิจิทัล  เทคโนโลยีบล็อกเชนที่เป็นกลไกเบื้องหลังการทำงานของบิตคอยน์ก็ถูกพัฒนาให้รองรับการเก็บข้อมูลและประมวลผลที่หลากหลายขึ้น จนทำให้มีเทคโนโลยีที่เรียกว่า ‘สัญญาอัจฉริยะ’ (smart contract)

สกุลเงินดิจิทัลบิตคอยน์ทำงานโดยมีสมุดบัญชีกลางที่บันทึกการโอนเงินไปมาระหว่างผู้ใช้ แต่ละบัญชีในระบบจะมีการยืนยันความเป็นเจ้าของด้วยกุญแจรหัสลับ ความท้าทายของระบบดังกล่าวคือจะทำอย่างไรให้สมุดบันทึกบัญชีนี้เป็นระบบกลางที่น่าเชื่อถือและเมื่อเวลาผ่านไปแล้วจะต้องไม่มีใครสามารถกลับมาแก้ไขข้อมูลการเงินได้อีก (ไม่เช่นนั้นเราก็สามารถแก้ให้เราไม่ต้องโอนเงินให้กับสินค้าที่เราซื้อมาแล้วในอดีตได้) บล็อกเชนเป็นชื่อเรียกเทคโนโลยีที่ทำให้คอมพิวเตอร์จำนวนมากทำงานด้วยกันเพื่อรักษาสมุดบัญชีกลางเล่มนี้

เทคโนโลยีดังกล่าวได้ถูกพัฒนาต่อยอดให้สมุดบัญชีกลางนี้สามารถเก็บข้อมูลอื่นๆ ได้รวมทั้งสามารถทำให้คอมพิวเตอร์จำนวนมากที่รวมอยู่ในระบบเหล่านี้กลายเป็นคอมพิวเตอร์กลางที่เราสามารถเขียนโค้ดให้ทำงานเมื่อเหตุการณ์บางอย่างที่กำหนดไว้เกิดขึ้น โค้ดที่ทำงานอย่างอัตโนมัติเหล่านี้เมื่อใช้ในการควบคุมกิจกรรมต่างๆ ก็มีลักษณะไม่ต่างจากสัญญา แต่เป็นสัญญาที่มีการบังคับใช้โดยอัตโนมัติ (ด้วยโค้ด) ทำให้นิยมเรียกกันว่าสัญญาอัจฉริยะ

ลองจินตนาการถึงโลกที่ข้อมูลทุกอย่างของรัฐบาลเก็บอยู่บนบล็อกเชน ในขณะที่กฎหมายทั้งหมดเขียนเป็นสัญญาอัจฉริยะที่ทำงานทั้งหมดโดยอัตโนมัติ ในโลกดังกล่าวไม่มีความจำเป็นต้องถกเถียงเรื่องขึ้นศาลเพื่อบังคับใช้กฎหมาย เพราะว่ากฎหมายคือโค้ดที่ทำงานอยู่เบื้องหลังราวกับเป็นกฎธรรมชาติ ถ้าเราไม่จำเป็นต้องบอกกฎของแรงโน้มถ่วงเพื่อทำให้แก้วน้ำที่พลัดตกจากโต๊ะหล่นลงสู่พื้น ในโลกของสัญญาอัจฉริยะเราก็ไม่จำเป็นต้องบอกให้มีการบังคับใช้กฎหมาย โลกดังกล่าวคือสภาพอันสมบูรณ์ของการควบคุมโดยโค้ด ในโลกดังกล่าวโค้ดไม่ใช่แค่ทำหน้าที่ของกฎหมาย แต่กฎหมายในโลกนั้นคือโค้ด (law is code)

แน่นอนโลกปัจจุบันคงจะไม่ได้ถูกเปลี่ยนไปเป็นโลกอัตโนมัติอย่างที่จินตนาการด้านบนไปทั้งหมด แต่เป็นไปได้ที่จะมีกิจกรรมบางส่วนที่ค่อยๆ ถูกเปลี่ยนไปให้ทำงานอย่างอัตโนมัติมากขึ้น ซึ่งอาจจะรวมไปถึงระบบการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งกฎหมายเหล่านี้เมื่อถูกพัฒนาให้ทำงานอย่างอัตโนมัติ สิ่งที่ต้องสูญเสียไปคือความยืดหยุ่นและวิจารณญาณของการตัดสิน ในขณะที่สังคมน่าจะได้ความคงเส้นคงวาและความรวดเร็วกลับมาแทน

 

4.ทิ้งท้าย

 

ในโลกที่โค้ดทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์มากขึ้น เราจะเชื่อใจโค้ดเหล่านั้นได้มากน้อยแค่ไหน  ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลโค้ด และการทำให้การตัดสินใจของโค้ดนั้นโปร่งใสและตรวจสอบได้จะเป็นเรื่องที่ทวีความสำคัญมากขึ้น และจะเข้ามาเป็นศูนย์กลางของการถกเถียงมากขึ้น หลังจากที่โค้ดเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงวิธีการตัดสินใจแล้ว ขั้นต่อไปของการทำให้ทุกอย่างเป็นดิจิทัลก็คือการที่เราเปลี่ยนจากการให้โค้ดหรือการตัดสินใจอัตโนมัติด้วยโค้ดเข้ามาอยู่และมีบทบาทในชีวิตและสังคม เป็นการย้ายสังคมและชีวิตไปอยู่ในระบบเดียวกับโค้ดมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเรายังหวังว่าจะมีสังคมที่มีเสรีภาพโดยไม่ถูกติดตามและควบคุมจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เราก็อาจจะต้องใส่ใจกับบทบาทและพลังอำนาจของเทคโนโลยีอัตโนมัติตั้งแต่วันนี้

 

[box]

เกร็ดเพิ่มเติม — กฎหมายกับโค้ดในประเด็นด้านความกำกวม

 

เนื่องจากโค้ดถูกเขียนขึ้นด้วยภาษาที่ออกแบบมาพิเศษสำหรับอธิบายการประมวลผลให้กับระบบคอมพิวเตอร์ โดยทั่วไปแล้วโค้ดจะปราศจากความกำกวม   ในขณะที่เมื่อเทียบกับกฎหมาย เราจะพบว่าหลายๆ กรณีเราจะพบความไม่แน่นอนในการบังคับใช้ที่เกิดจากความกำกวมในกฎหมาย ตัวอย่างของความไม่ชัดเจนที่เห็นได้ชัดเจนคือวิธีการคำนวณจำนวน ส.ส.แบบพรรคการเมืองที่ระบุไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ก่อให้เกิดการถกเถียงอย่างกว้างขวางว่าจะต้องใช้วิธีการคำนวณแบบใด ในกรณีนี้ ความชัดเจนไร้ความกำกวมของกฎหมายในระดับที่ไม่ต่างจากโค้ดโปรแกรม เป็นสิ่งที่มีประโยชน์และสำคัญอย่างยิ่งยวดในการบังคับใช้กฎหมาย

เราจึงมักได้ยินผู้สันทัดกรณีด้านเทคโนโลยีว่าเราควรจะระบุข้อความในกฎหมายให้เป็นโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ไปเลยเพื่อความชัดเจน หรือกระทั่งมีคนกล่าวให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญออกมาให้เป็นโค้ดเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ในหลายๆ กรณีความกำกวมที่สุดท้ายอาจจะต้องมีการตีความก็ยังเป็นสิ่งที่มีประโยชน์  Lessig ยกตัวอย่างเกี่ยวกับความเชื่อที่ทุกคนมีว่าการไม่ทราบกฎหมายไม่ใช่ข้ออ้างในการกระทำผิด แต่ในทางปฏิบัติการไม่ทราบโดยสิ้นเชิงเกี่ยวกับข้อบังคับของกฎหมายก็เป็นข้ออ้างที่อาจจะทำให้ได้รับการลดโทษได้  สังเกตว่าความเชื่อที่ว่าจะทราบหรือไม่ทราบกฎหมายก็มีผลเหมือนกัน ทำให้คนสนใจหาข้อมูลและมั่นตรวจสอบกฎหมายก่อน แต่ถ้าเมื่อกระทำความผิดแล้ว ถ้าไม่ทราบกฎหมายจริงๆ ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะต้องลงโทษรุนแรงกับคนที่ไม่ทราบจริงๆ

ในอีกมุมหนึ่ง ความคลุมเครือนั้นก็เป็นประโยชน์ด้านต้นทุน พิจารณาหนังสือสัญญาที่สองฝ่ายทำต่อกัน ในสัญญานั้นอาจจะมีบางประเด็นที่คู่สัญญาคิดว่าไม่ชัดเจน แต่เป็นประเด็นที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก รวมทั้งความพยายามที่จะหาความชัดเจนนั้นอาจมีต้นทุนที่สูง เช่น ใช้เวลานาน หรือต้องถกเถียงกันจนไม่ได้ตกลงเรื่องอื่นๆ ในกรณีนี้การทิ้งความกำกวมเอาไว้ โดยเชื่อว่าถ้ามีปัญหา ศาลจะเป็นคนช่วยตัดสินที่เชื่อถือได้ ก็เป็นสิ่งที่อาจจะคุ้มค่ากว่าในเชิงกำไรขาดทุน

ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายนั้นเมื่อถูกบัญญัติขึ้นแล้ว มักจะไม่สามารถถูกแก้ไขปรับเปลี่ยนได้โดยง่าย เพื่อให้กฎหมายสามารถทำงานได้ตามเจตนารมณ์แม้สภาพสังคมและเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไป การบังคับใช้กฎหมายจึงต้องมีการตีความผ่านทางดุลยพินิจของศาล ซึ่งเมื่อมองกลับไป การตีความดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อกฎหมายเปิดช่องของความกำกวมบางอย่างเอาไว้

[/box]

 


ลิงก์สำหรับอ่านเพิ่มเติม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save