fbpx

โทษประหาร โคล้ด เกอ: กฎหมายมิได้เขียนโดยพระเจ้า มิใช่สิ่งอันแตะต้องมิได้

“ศีรษะของประชาชนนี้ จงเพาะปลูกด้วยการศึกษา ดายหญ้า รดน้ำ ทำให้งอกพันธุ์สว่างไสว จงปลูกฝังศีลธรรมให้ศีรษะนั้น ใช้ประโยชน์จากศีรษะนั้น แล้วพวกท่านจะไม่จำเป็นต้องบั่นศีรษะนี้ทิ้งเลย”

โทษประหาร โคล้ด เกอ (Claude Gueux) เป็นหนังสือเล่มเล็กที่อ่านจบได้ในอึดใจ เขียนขึ้นด้วยจุดหมายชัดเจนของผู้เขียนคือ วิกตอร์ อูโก (Victor Hugo) ผู้แน่วแน่ในการต่อต้านโทษประหารชีวิต ตีพิมพ์ฉบับภาษาไทย ค.ศ. 2023 โดยสำนักพิมพ์อ่าน ๑๐๑ แปลจากภาษาฝรั่งเศสโดย พิชญา จิระวรรธนะ

อูโกเขียนเรื่องโคล้ด เกอ เมื่อปี 1834 ก่อนหน้านั้นมีหนังสืออีกเล่มของเขาที่พูดถึงเรื่องโทษประหารชีวิตคือ วันสุดท้ายของนักโทษประหาร (Le Dernier Jour d’un Condamné) ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อปี 1828 (ฉบับภาษาไทยตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชนเมื่อปี 2017) สะท้อนความสนใจชัดเจนในความไม่เป็นธรรมของสังคม ก่อนที่ราวสามสิบปีต่อมาเขาจะให้กำเนิดนิยายเหยื่ออธรรม (Les Misérables)

โทษประหาร โคล้ด เกอ เป็นนิยายขนาดสั้นเล่าเรื่องชีวิตนักโทษชื่อ โคล้ด เกอ ชายยากจนไร้การศึกษา เผชิญความหิวโหยจนต้องขโมยฟืนและขนมปังไปให้ลูกเมียในปริมาณเพียงแค่เลี้ยงชีวิตต่อไปได้อีกสามวัน เขาถูกจับต้องโทษจำคุกห้าปี ระหว่างที่ถูกจองจำ โคล้ดเจอการกลั่นแกล้งจากผู้คุมอย่างไร้เหตุผลและไม่เป็นธรรม เขาใช้เวลาหลายเดือนในการร้องขอความเป็นธรรมอย่างสุภาพ แต่เสียงอ้อนวอนด้วยความทุกข์ของโคล้ดกลายเป็นเพียงเสียงที่สร้างความรำคาญแก่ผู้คุม ที่สุดแล้วเขาจึงตัดสินใจกระทำการที่นำไปสู่การถูกลงโทษประหารชีวิต

ความสนใจเรื่องโทษประหารของอูโกไม่น่าประหลาดใจหากมองบริบทชีวิตของเขาช่วงนั้น อูโกเกิดหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ท่ามกลางการต่อสู้ในการฟื้นคืนระบอบเก่า เขาเป็นประจักษ์พยานในการใช้กิโยตินบั่นคอคนอย่างโหดร้ายที่ลานกลางเมืองหลายครั้ง

ที่น่าสนใจคือ อูโกให้ความสำคัญในการพิจารณาชีวิตของโคล้ดในเรื่องการศึกษาและการหล่อหลอมของสังคม เมื่อคนที่สมองดีและจิตใจดีต้องเติบโตในสังคมที่เลวร้ายและถูกขังในคุกอันเลวทราม จนเขาก่อความรุนแรง

“ธรรมชาติสร้างภาพร่างจิตรกรรมที่เลว ส่วนการศึกษานั้นเป็นการตกแต่งภาพจิตรกรรมชั้นแย่”

“ใครกันแน่ที่ผิด เขารึ หรือพวกเรา”

เป็นคำถามของวิกตอร์ อูโกในศตวรรษที่ 19 ถึงการมองเรื่องความยุติธรรมในสังคมที่สะท้อนผ่านภาพชีวิตชายผู้หนึ่ง อูโกยังวิจารณ์ไปถึงผู้ออกกฎหมายในสภาที่มัวแต่เสียเวลาไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง ขณะที่ระบบยุติธรรมกำลังชำแหละร่างประชาชน เขาเขียนอย่างตรงไปตรงมาถึงการแก้กฎหมายทั้งเรื่องการประทับตราบนตัวนักโทษ การเนรเทศ และการประหารชีวิตว่า “ลำดับขั้นของความผิดและโทษนั้นเก่าแก่ง่อนแง่นเต็มทน จงรื้อทิ้งและกำหนดโทษทัณฑ์เสียใหม่ ร่างประมวลกฎหมายขึ้นมาใหม่ ปฏิรูปคุก แต่งตั้งผู้พิพากษาคนใหม่ จงปรับกฎหมายให้เท่าทันครรลองชีวิตสมัยนี้”

กฎหมายแย่ๆ ควรถูกแก้ไขและแทนที่ด้วยกฎหมายที่ให้ความเป็นธรรมมากกว่า อูโกยืนยันเรื่องนี้ไว้เมื่อเกือบสองร้อยปีที่แล้ว แต่จนถึงปัจจุบันนี้เราก็ยังคงต้องถกเถียงกันว่ากฎหมายไม่ใช่ความเป็นธรรมเสมอไป ไม่มีกฎหมายใดที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกได้ กฎหมายถูกเขียนขึ้นโดยมนุษย์ สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันในสังคม เมื่อสังคมแปรเปลี่ยน กฎหมายย่อมแปรเปลี่ยนได้เช่นกัน

กฎหมายไม่ใช่พระเจ้า ไม่ได้มาจากพระเจ้า กฎหมายเกิดขึ้นโดยมนุษย์และมิใช่สิ่งต้องห้ามอันแตะต้องมิได้

น่าประหลาดสำหรับสังคมไทยที่มีการปกป้องกฎหมายบางมาตรา ประหนึ่งว่าหากแก้ไขแล้วชาติไทยจะล่มสลายจนมีการพยายามเอาผิดผู้มีข้อเสนอในการแก้ไขกฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม โดยไม่พยายามพูดคุยด้วยเหตุผลอย่างมนุษย์ผู้มีสติปัญญา

หลังจากที่เรื่องโคล้ด เกอถูกตีพิมพ์ในวารสารแห่งกรุงปารีส มีพ่อค้ารายหนึ่งอ่านแล้วชื่นชอบมากจนถึงกับเขียนจดหมายไปยังผู้อำนวยการวารสารแห่งกรุงปารีส เพื่อขออนุญาตใช้ทุนส่วนตัวพิมพ์เรื่องนี้จำนวนเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศสและบอกว่าจะส่งหนังสือให้ถึงมือผู้แทนเหล่านั้นเป็นรายบุคคล เรื่องนี้สะท้อนถึงอำนาจของวรรณกรรมที่มีโอกาสส่งเสียงไปถึงผู้แทนฯ ในขณะนั้น แม้ว่าโทษประหารจะไม่ถูกเลิกใช้ในทันที แต่ท้ายที่สุดฝรั่งเศสก็ยกเลิกโทษประหารชีวิตในปี 1981 เป็นเวลา 96 ปีหลังอูโกเสียชีวิต โดยการผลักดันกฎหมายของ โรแบร์ บาแด็งแตร์ (Robert Badinter) รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมในสมัยของ ฟร็องซัว มิตแตร็อง (Francois Mitterrand) โดยที่งานของอูโกมีส่วนสร้างอิทธิพลทางความคิดต่อบาแด็งแตร์

สำหรับสังคมไทยการพูดคุยเรื่องยกเลิกโทษประหารชีวิตกลายเป็นหนึ่งเรื่องที่บรรดาพรรคการเมืองไม่อยากแตะต้อง เพราะพูดออกไปแล้วมีโอกาสได้รับก้อนหินมากกว่าดอกไม้ เช่นเดียวกับเรื่องการปกป้องสิทธิผู้ลี้ภัยหรือเรื่องแรงงานต่างชาติ กระทั่งในหมู่ผู้ที่ออกตัวว่าสนับสนุนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนก็ยังมีผู้ปฏิเสธการปกป้องสิทธิเหล่านี้ จนถึงขนาดมีความเห็นซ้ำๆ ว่า “เอาไปเลี้ยงที่บ้านสิ” (ถึงที่สุดแล้วประโยคนี้คือการแสดงถึงความอับจนในการหาเหตุผลมาประกอบความเห็นตัวเอง)

หากปัญหาทุกอย่างในประเทศนี้ต้องจบลงที่การ ‘เอาไปเลี้ยงที่บ้าน’ เช่นนั้นคงไม่ต้องมีรัฐ ไม่ต้องมีกลไกทางสังคมใดๆ ในการแก้ปัญหาแล้ว

จนถึงวันนี้ประเทศไทยยังมีโทษประหารชีวิตกับผู้กระทำความผิดร้ายแรง โดยหลังจากที่มีคำพิพากษาประหารชีวิตแล้วนักโทษสามารถถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษได้ ระหว่างนั้นก็จะพักการประหารชีวิตไปก่อน แต่หากทรงยกฎีกา นักโทษคนนั้นก็จะถึงแก่ความตาย

การประหารชีวิตในไทยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2018 หลังจากว่างเว้นการประหารชีวิตมาเก้าปี นักโทษผู้นั้นชื่อ ธีรศักดิ์ ก่อคดีฆ่าชิงทรัพย์ในปี 2012 จนต้องโทษประหารชีวิตและมีการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคล แต่สุดท้ายแล้วก็ถูกยกฎีกาจนถูกประหารเสียชีวิต

ไม่ใช่นักโทษประหารทุกคนที่จะถูกลงโทษถึงตาย เพราะในท้ายที่สุดบางคนได้ปล่อยตัว บางคนได้ลดโทษ บางคนถูกยกฎีกา ขั้นตอนทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม และนี่ไม่ใช่หรือที่ควรตั้งคำถามว่าเหตุใดเราจึงมีกระบวนการยุติธรรมที่ให้เหตุผลไม่ได้และปราศจากความคงเส้นคงวา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรื่องนี้เกี่ยวพันถึงชีวิตคน

เป็นที่เข้าใจได้เมื่อเกิดเหตุใช้ความรุนแรงอย่างเหี้ยมโหด อย่างการกราดยิง การฆาตกรรมแบบผิดมนุษย์ การฆ่าข่มขืนเด็ก แล้วสังคมจะโกรธแค้นพร้อมใจกันลงความเห็นให้ประหารชีวิตอมนุษย์นั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปอารมณ์ของสังคมเย็นลงจนถึงลืมเลือน เกิดคดีใหม่ที่ทั้งสังคมเห็นพ้องกันว่าผู้ที่ถูกจับลงโทษน่าจะเป็น ‘แพะ’ อาจด้วยการสอบสวนวิธีพิเศษที่มีการทำร้ายร่างกาย อาจด้วยหลักฐานที่ไม่แน่นหนาพอจะคัดง้างข้อกล่าวหา หรือด้วยอะไรก็ตามแต่ สุดท้ายแล้วแพะตัวนั้นก็อาจถูกลงโทษประหารชีวิตได้เช่นกัน และปลายทางของแพะตัวนี้อาจเผชิญการถูก ‘ยกฎีกา’

ยังมิต้องพูดถึงนักโทษแบบโคล้ด เกอ ผู้ที่เติบโตมาในสังคมเลวทรามและไม่มีทางเลือกในชีวิต จนต้องกระทำผิดเพื่อเอาชีวิตรอด

เวลาโกรธแค้น ผู้คนไม่ทันนึกว่าเสียงโห่ร้องให้ ‘ฆ่า’ คนทำผิดนั้น ไม่ใช่การสนับสนุนให้ลงโทษรุนแรงกับคนหนึ่งคน แต่กติกานี้ถูกบังคับใช้กับทุกคน รวมถึงคนดวงซวยที่พลัดหลงไปในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรม

หากจะยืนยันว่ามนุษย์จำเป็นต้องมีโทษประหารเพื่อใช้การลงโทษที่รุนแรงให้ผู้คนหลาบจำ แต่ประวัติศาสตร์ในหลายสังคมสะท้อนออกมาแล้วว่าเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง ความรุนแรงไม่ใช่ทางออกที่จะทำให้อาชญากรรมลดลง

โทษประหารเป็นวิธีการลงโทษในอดีตที่ผู้คนเชื่อว่าได้ผลดี แต่ในวันหนึ่งมนุษย์บางกลุ่มก็ตระหนักว่าการฆ่าคนในนามของการลงโทษก็เป็นเรื่องโหดร้ายป่าเถื่อนเช่นกัน การแก้กฎหมายเพื่อล้มล้างเรื่องนี้จึงเกิดขึ้น เพราะกฎหมายไม่ใช่ความจริงสูงสุดที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ การแก้กฎหมายไม่ใช่การบังคับให้พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก

มนุษย์มีศีรษะเพื่อคิด เมื่อมีปัญหาในสังคมก็จงใช้ศีรษะนั้นในการหาทางออก นี่คือคำยืนยันที่อูโกให้ไว้เมื่อเกือบสองร้อยปีที่แล้ว

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save