fbpx
คนจีนโพ้นทะเลท่ามกลางสนามความขัดแย้งจีน-อินเดีย

คนจีนโพ้นทะเลท่ามกลางสนามความขัดแย้งจีน-อินเดีย

ศุภวิชญ์  แก้วคูนอก เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

 

เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดตึงเครียดสูงสุดทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอินเดีย เมื่อทั้งสองฝ่ายมีการปะทะกันจนเป็นเหตุให้มีทหารบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก แม้ว่าทางการจีนจะไม่ได้ระบุจำนวนตัวเลขที่ชัดเจน แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าทางจีนเองก็มีทหารบาดเจ็บและเสียชีวิตเช่นเดียวกัน

เมื่อเดือนที่แล้ว ผมเขียนวิเคราะห์ถึงปัจจัยและต้นเหตุของปัญหาความตึงเครียดที่เกิดขึ้น แม้ว่าในเดือนนี้สถานการณ์ความตึงเครียดดังกล่าวจะค่อยๆ ทุเลาลงหลังจากที่ผู้นำทั้งสองฝ่ายมีความพยายามอย่างมากในการแสวงหาจุดร่วมเพื่อลดการเผชิญหน้าทางการทหาร และมุ่งเน้นการเจรจาทางการทูตแทน

แน่นอนว่าในระดับผู้นำ การพูดคุยกันยังคงดำเนินต่อไปเพื่อหาแนวทางที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน แต่ในระดับประชาชนนั้น เรียกได้ว่ากระแสความเกลียดชังและต่อต้านประเทศจีนในอินเดียค่อนข้างรุนแรงเลยทีเดียว

ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมานี้ เราเห็นประชาชนอินเดียจำนวนมากออกมาตามท้องถนนและแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการต่อต้านประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นการทุบทำลายสินค้าจีน การเผาธงชาติจีน หรือแม้กระทั่งการเผาหุ่นรูปผู้นำจีน เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้สามารถพบเห็นได้ทั่วไป แต่หนึ่งในกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากปัญหาความขัดแย้งในเรื่องนี้คือ คนอินเดียเชื้อสายจีน ซึ่งจะเป็นประเด็นหลักที่เราจะพูดถึงกันในวันนี้ว่าประวัติศาสตร์คนจีนโพ้นทะเลในอินเดียมีความเป็นมาอย่างไร และพวกเขาเหล่านี้ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้างจากประเด็นความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้น

ประวัติศาสตร์คนจีนโพ้นทะเลในอินเดีย

 

หลายคนอาจไม่ทราบว่าจริงๆ แล้ว อินเดียถือเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีคนจีนโพ้นทะเลอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก พวกเขาเหล่านี้ออกเดินทางจากบ้านเกิดเมืองนอนในช่วงเดียวกับที่คนจีนโพ้นทะเลอื่นๆ ที่อาศัยในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกตั้งแต่สมัยยุคล่าอาณานิคม

คนจีนโพ้นทะเลเริ่มเดินทางเข้ามาในอินเดียเป็นเวลานานแล้ว แต่เข้ามาจำนวนมากในช่วงปลายสมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งในเวลานั้น ประเทศจีนกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาภายในอย่างมาก

เช่นเดียวกับคนจีนโพ้นทะเลที่อาศัยอยู่ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก คนจีนเหล่านี้เข้ามาในประเทศอินเดียเพื่อเป็นแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งในเวลานั้นอินเดียอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ แน่นอนว่าเมืองที่เศรษฐกิจเจริญเติบโตและต้องการแรงงานจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นเมืองท่าสำคัญของอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นมุมไบ เชนไน หรือกัลกัตตา ฉะนั้นเราจึงได้พบร่องรอยของชุมชนและวิถีชีวิตของคนจีนโพ้นทะเลจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในเมืองต่างๆ เหล่านี้

ในยุคสมัยอาณานิคมนั้น คนจีนโพ้นทะเลที่ทำงานอยู่ในอินเดียยังคงมีความใกล้ชิดกับแผ่นดินจีน เช่น ยังมีการเดินทางกลับไปไหว้บรรพบุรุษ หรือเลือกที่จะแต่งงานกับคนจีนในประเทศ เรียกได้ว่ายังคงมีการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างอินเดียกับประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง คนจีนบางส่วนที่เข้ามาในอินเดียก็เริ่มประกอบธุรกิจการค้า เช่นส่งออกชา หรือผ้าไหมจากอินเดียไปยังประเทศจีน ยิ่งไปกว่านั้นคนจีนเหล่านี้ยังคงส่งเสริมให้ลูกหลานเรียนรู้วัฒนธรรมและรากเหง้าดั่งเดิมของตนเองอีกด้วย

จำนวนประชากรชาวจีนโพ้นทะเลในอินเดียที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เวลาต่อมามีการจัดตั้งชุมชนชาวจีนในประเทศอินเดีย หรือที่เราเรียกกันว่า ‘ไชน่าทาวน์’ โดยเฉพาะในเมืองบอมเบย์ หรือเรารู้จักกันในชื่อมุมไบในปัจจุบัน กับเมืองกัลกัตตาซึ่งในอดีตเป็นเมืองหลวงของรัฐบาลบริติชราช

เห็นได้ชัดว่าบทบาทของคนจีนภายในอินเดียมีส่วนอย่างมากในการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียและรัฐบาลอังกฤษในเวลานั้น

ในปี 1942 นายพลเจียง ไคเชก เดินทางมาเยือนอินเดีย โดยไม่ได้มาเพียงเพื่อหารือแนวทางการต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังถือโอกาสนี้ในการพบปะคนจีนโพ้นทะเลในอินเดีย และดูแลทหารจีนซึ่งถูกส่งมาฝึกที่ประเทศอินเดียจำนวนมากถึง 60,000 นาย ซึ่งต่อมากองกำลังนี้กลายเป็นแนวหน้าในการต่อต้านญี่ปุ่นในเขตอัสสัมและพม่า รวมถึงปกป้องเส้นทางขนส่งเสบียงจากอินเดียไปยังพื้นที่ตอนใต้ของจีนด้วย

แน่นอนว่าจุดเปลี่ยนสำคัญของคนจีนโพ้นทะเลในประเทศอินเดียคือการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศอินเดียในปี 1947 ส่งผลให้คนจีนโพ้นทะเลบางส่วนตัดสินใจเดินทางกลับประเทศ และอีกช่วงเวลาสำคัญคือในปี 1949 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถยึดครองประเทศจีนได้ ส่งผลให้คนจีนโพ้นทะเลจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในประเทศอินเดียต่อไป คนกลุ่มนี้เองกลายเป็นบรรพบุรุษของคนอินเดียเชื้อสายจีนที่ยังคงอาศัยอยู่ในประเทศอินเดียจนถึงปัจจุบัน

 

‘สายลับ’ คนอินเดียเชื้อสายจีนกับสงครามจีน-อินเดียปี 1962

 

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครอง โดยเฉพาะภายในอินเดียและจีนช่วงปลายทศวรรษ 1940 ส่งผลอย่างมากต่อคนจีนโพ้นทะเลในอินเดีย

คนจีนบางส่วนถูกมองว่าฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์ อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการเมืองภายในของอินเดีย ฉะนั้นรัฐบาลอินเดียในเวลานั้นจึงเริ่มลงทะเบียนคนจีนโพ้นทะเล และมีการกำหนดแนวทางในการให้สัญชาติแก่คนจีนที่อาศัยอยู่ในอินเดีย ในขณะที่คนจีนที่ถือหนังสือเดินทางของจีนจะถูกผลักให้ออกจากประเทศ

แม้ว่าในช่วงแรก ความสัมพันธ์ของอินเดียและจีนจะอยู่ในระดับที่ดีมาก โดยอินเดียถือเป็นชาติประชาธิปไตยชาติแรกที่ตัดสินใจรับรองรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของทั้งสองชาติเริ่มตึงเครียดมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหลังจากจีนบุกยึดทิเบตอย่างเต็มรูปแบบในปี 1959 ส่งผลให้องค์ดาไลลามะลี้ภัยมายังประเทศอินเดีย และเป็นชนวนของสงครามจีน-อินเดียในปี 1962

สงครามปี 1962 ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของความเกลียดชังระหว่างคนอินเดียและคนจีน โดยเฉพาะคนจีนภายในประเทศอินเดียซึ่งต้องเผชิญปัญหาความเกลียดชังอย่างยิ่งจากคนอินเดีย

คำป้ายสีสำคัญที่คนอินเดียเชื้อสายจีนในอินเดียต้องเผชิญในช่วงเวลานั้นคือการถูกกล่าวหาว่าเป็น ‘สายลับ’ ของรัฐบาลจีน รวมถึงคนจีนบางกลุ่มยังถูกมองว่าเป็นผู้บ่อนทำลายประเทศอินเดียด้วยการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ แม้ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะเกิดและเติบโตในอินเดียก็ตาม

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้คนอินเดียเชื้อสายจีนจำนวนมากต้องอพยพออกจากประเทศอินเดีย บางส่วนเดินทางไปยังเกาะไต้หวัน ส่วนที่เหลือกระจายตัวไปยังประเทศอื่นๆ ตามเครือข่ายญาติพี่น้องของตน

อย่างไรก็ตาม มีคนจีนจำนวนมากต้องโทษและถูกรัฐบาลอินเดียจองจำ คาดกันว่าตัวเลขคนอินเดียเชื้อสายจีนที่ถูกคุมขังในช่วงสงครามอินเดีย-จีนในปี 1962 อาจมีมากถึง 3,000 คน ซึ่งได้รับการปล่อยตัวในระหว่างปี 1965-1966

ในขณะเดียวกัน ชาวจีนในอินเดียที่ไม่ต้องโทษจำนวนมากต้องเผชิญการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจนส่งผลให้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้อย่างอิสระ หรือเผชิญการคุกคามอย่างรุนแรงจากคนอินเดียภายในรัฐนั้นๆ จนต้องปิดกิจการลงไปโดยปริยายด้วย รวมทั้งรัฐบาลเองก็เลือกที่จะปฏิเสธไม่รับคนอินเดียเชื้อสายจีนเข้าทำงานในระบบ ท้ายที่สุด ก็ส่งผลให้คนจีนถูกจำกัดอาชีพในการทำงานจนกระทั่งถึงทุกวันนี้

ฉะนั้น เหตุการณ์ปี 1962 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่นำไปสู่ความหวาดกลัวระหว่างคนอินเดียกับคนอินเดียเชื้อสายจีน ยิ่งไปกว่านั้น ยังส่งผลให้คนอินเดียเชื้อสายจีนมีจำนวนลดลงอย่างมาก โดยปัจจุบันมีคนอินเดียเชื้อสายจีนอาศัยในอินเดียอยู่ราว 5,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองกัลกัตตาของอินเดีย โดยส่วนใหญ่ทำธุรกิจร้านอาหารจีนเป็นหลัก

 

โควิด-19 กับปัญหาจีน-อินเดียรอบใหม่ : ความยากลำบากของคนจีนโพ้นทะเลในอินเดีย

 

อย่างที่เขียนอธิบายไปข้างต้นว่า คนอินเดียและคนอินเดียเชื้อสายจีนนั้นมีความหวาดระแวงกันอยู่ในใจลึกๆ ตั้งแต่สงครามปี 1962

ยังไม่รวมถึงว่าการแบ่งแยกชาติพันธุ์เป็นเรื่องที่สามารถเห็นได้ทั่วไปในอินเดีย ไม่เฉพาะกับคนจีนโพ้นทะเลเท่านั้นที่ถูกมองด้วยสายตาแปลกประหลาด แต่คนอินเดียที่อาศัยอยู่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีชาติพันธุ์แตกต่างจากคนอินเดียทั่วไปก็เผชิญปัญหาในลักษณะเดียวกัน

ปีนี้ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่ปัญหาเหล่านี้มีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้น

ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2020 หลังการระบาดของโควิด-19 คนอินเดียซึ่งมีชาติพันธุ์ใกล้เคียงกับคนจีน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือคนจีนโพ้นทะเล ต่างต้องเผชิญกับการถูกเยาะเย้ย ถากถาง รวมถึงล้อเลียนโดยใช้คำว่า ‘โคโรน่า’ ซึ่งเป็นการเหยียดว่าคนเหล่านี้เป็นตัวเชื้อโรคนั่นเอง

ปัญหานี้ถูกซ้อนทับเข้ามาด้วยปัญหาความขัดแย้งระลอกใหม่ระหว่างจีน-อินเดีย ส่งผลให้คนอินเดียจำนวนมากแสดงออกถึงความเกลียดชังประเทศจีนอย่างชัดเจน

สำหรับคนอินเดียเชื้อสายจีนแล้ว นี่เปรียบเสมือนผีร้ายที่ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งหลังจากมันหลับไหลไปนานแล้วตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960 ที่คนอินเดียเชื้อสายจีนจำนวนมากต้องเผชิญกับการคุกคามทางวาจาอย่างรุนแรงโดยเฉพาะการขับไล่ออกจากประเทศ

แม้คนเหล่านี้จะพยายามสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาว่าพวกเขาเหล่านี้เกิดและเติบโตในประเทศอินเดียมาหลายชั่วอายุคนแล้ว ทั้งยังร่วมเดินขบวนประท้วงประเทศจีนที่ก่อปัญหาตามแนวชายแดน อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นผลเท่าไหร่นัก ปัจจุบันร้านอาหารจีนในเขตชุมชนจีน หรือไชน่าทาวน์ในเขตกัลกัตตายังคงไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ เพราะความวิตกต่อกระแสเกลียดกลัวจีนของคนอินเดีย

ในขณะที่คนอินเดียเชื้อสายจีนจำนวนมาก แม้ว่าหลายคนในปัจจุบันไม่สามารถพูดภาษาจีนได้แล้ว และใข้ภาษาฮินดีและเบงกาลีเป็นภาษาหลัก ก็ยังต้องเผชิญกับการคุกคามอย่างรุนแรงทางวาจาจนส่งผลต่อความรู้สึกไม่ปลอดภัย หลายคนพยายามผลักดันสโลแกน “We are Indian too (พวกเราก็คนอินเดียเหมือนกัน)” เพื่อส่งเสียงไปยังคนอินเดียทั่วประเทศว่าพวกเขาก็คือคนอินเดีย รักในความเป็นอินเดีย และยืนเคียงข้างประเทศอินเดียเช่นเดียวกับคนอินเดียชาติพันธุ์อื่นๆ ต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

สิ่งเหล่านี้ก็คือปัญหาทางสังคมที่ซ้อนทับอยู่บนความขัดแย้งระหว่างจีนและอินเดียในช่วงที่ความสัมพันธ์กำลังย่ำแย่ที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่เอาเข้าจริงแล้วก็ยังคงถูกมองข้ามโดยรัฐบาล

 

 

อ้างอิง

Chatterjee, R. (2010). The Chinese Community in Calcutta: Their Early Settlement and Migration. In M. Thampi (Ed.), India and China in the Colonial World (pp. 55-66). New Delhi: Social Science Press.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save