fbpx
ปัญหาความขัดแย้ง อินเดีย-จีนระลอกใหม่: ประวัติศาสตร์ ชาตินิยม และยุทธศาสตร์การทหาร

ปัญหาความขัดแย้ง อินเดีย-จีนระลอกใหม่: ประวัติศาสตร์ ชาตินิยม และยุทธศาสตร์การทหาร

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

สถานการณ์ความมั่นคงของโลกในช่วงเวลานี้ ต้องเรียกได้ว่าร้อนระอุไม่เบา เพราะนอกจากทั่วโลกจะต้องรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว หลายภูมิภาคของโลกโดยเฉพาะในเอเชีย ยังต้องเผชิญปัญหาความตึงเครียดระลอกใหม่ระหว่างจีน-อินเดียที่เริ่มก่อตัวมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม

ความตึงเครียดครั้งนี้ ถือว่าเป็นความตึงเครียดทางการทหารในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่เกิดปัญหาการเผชิญหน้ากันเมื่อปี 2017 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย

แม้ว่าปัญหาการกระทบกระทั่งกันระหว่างทหารอินเดียและจีนในช่วงฤดูร้อนจะเป็นเรื่องปกติตลอดมา เพราะยังไม่มีการกำหนดพรมแดนของทั้งสองประเทศอย่างชัดเจน ยึดถือเพียงแค่ตามแนวเส้นควบคุมตามจริง (Line of Actual Control: LAC) ซึ่งเส้นดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นหลังสิ้นสุดสงครามระหว่างจีน-อินเดียในปี 1962

แน่นอนว่าทั้ง 2 ฝ่ายมองแนวเขตแดนแตกต่างกัน จึงกลายเป็นปัญหาปะทะกันระหว่างสองชาติเสมอมา เพียงแต่ในรอบนี้มีหลายปัจจัยซึ่งเปลี่ยนแปลงไป อันนำมาซึ่งการเผชิญหน้าที่กินระยะเวลายาวนาน ทั้งยังส่งผลให้เกิดการปะทะกันจนมีทหารเสียชีวิตอีกด้วย

บทความนี้ชวนสำรวจลำดับเหตุการณ์ความขัดแย้ง ถอดรหัสปัญหาความขัดแย้งจีน-อินเดียระลอกใหม่ รวมถึงมองความสัมพันธ์อินเดีย-จีนในอนาคต

 

ลำดับเหตุการณ์ความขัดแย้งจีน-อินเดียเหนือภูมิภาคลดาข

ปี 2019

หากยังจำกันได้ ในช่วงกลางปี 2019 เกิดความเปลี่ยนแปลงสำคัญซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเขตแดนระหว่างประเทศคือ อินเดียประกาศยกเลิกสถานะพิเศษของรัฐจัมมูและแคชเมียร์ ทั้งยังผนวกรวมดินแดนทั้งสองให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลกลางอีกด้วย ในตอนนั้นเอง รัฐบาลอินเดียได้มีการจัดทำแผนที่ฉบับใหม่ขึ้นซึ่งกลายเป็นประเด็นพิพาทกับจีน

แผนที่ฉบับใหม่ได้ผนวกรวมเอาดินแดนอักไซชินซึ่งอยู่ในความควบคุมของจีนเข้าไปด้วย ในครั้งนั้น รัฐบาลจีนได้ออกมาประท้วงแผนที่ฉบับดังกล่าว โดยมองว่าการกระทำของอินเดียละเมิดข้อตกลงที่กระทำร่วมกันหลังสงครามปี 1962 และละเมิดอธิปไตยของจีน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินเดียออกมาตอบโต้อ้างสิทธิเหนือดินแดนพิพาทดังกล่าว แต่ยังคงต้องการอาศัยการเจรจาและแนวทางสันติภาพเพื่อแก้ไขข้อพิพาทพรมแดนต่อไป ในเวลาเดียวกัน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอินเดียก็ได้เดินทางเยือนจีนและอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่าจะไม่กระทบต่อพื้นที่ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของจีน ส่งผลให้ในเวลานั้นสถานการณ์ค่อยๆ คลี่คลายลง

เมษายน 2020

รัฐบาลจีนได้ประกาศใช้แผนที่ฉบับใหม่ ซึ่งในเวลานั้นเป็นกระแสข่าวไปทั่วโลก โดยเฉพาะประเด็นปัญหาพื้นที่พิพาทเหนือทะเลจีนใต้ระหว่างจีนกับประเทศในอาเซียนอย่างไรก็ตาม แผนที่ฉบับดังกล่าวไม่ได้สร้างปัญหาเฉพาะกับประเทศอาเซียนเท่านั้น เพราะมีการผนวกรวมเอาพื้นที่พิพาททั้งหมดระหว่างจีน-อินเดียเข้าไปด้วย ถือเป็นครั้งแรกที่แผนที่จีนใช้เส้นทึบเหนือดินแดนอรุณาจัลประเทศและอักไซชิน จากเดิมที่ใช้จุดประตลอดมา

แน่นอนว่าการใช้เส้นทึบและเส้นประมีความหมายที่แตกต่างกัน เพราะการใช้เส้นทึบหมายถึงว่าจีนไม่มองว่าบริเวณพื้นที่ทั้งสองเป็นดินแดนพิพาทกับอินเดียอีกต่อไป แต่กำลังมองว่าเป็นเขตอธิปไตยของตัวเอง อาจกล่าวได้ว่าแผนที่ฉบับนี้ของจีนออกมาเพื่อตอบโต้แผนที่ของอินเดียซึ่งประกาศใช้ไปก่อนหน้านี้

พฤษภาคม 2020

น่าสนใจว่าหลังจากจีนประกาศใช้แผนที่ฉบับใหม่ได้ไม่นาน ก็เกิดการปะทะกันระหว่างทหารจีนและอินเดียตามแนวชายแดนทั้งในพื้นที่ลดาขและสิกขิมตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม การปะทะครั้งนี้เกิดขึ้นจากทหารทั้งสองฝ่ายลาดตระเวนมาเจอกัน โดยเป็นเพียงการชกต่อยและใช้ก้อนหินเขวี้ยงใส่กัน

อย่างไรก็ตาม การปะทะกันที่เกิดขึ้นถือเป็นจุดเริ่มต้นของความตึงเครียดระลอกใหม่ระหว่างสองประเทศ โดยชนวนปัญหาสำคัญคือการสร้างระบบคมนาคมของอินเดีย ซึ่งจีนมองว่าการสร้างถนนของอินเดียนั้นดำเนินการในพื้นที่พิพาท ในขณะที่อินเดียระบุว่าเป็นการก่อสร้างถนนในเขตแดนของตน ความไม่ลงรอยกันในเรื่องนี้ส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายต่างเสริมกำลังทางการทหารเข้าไปในพื้นที่ รวมถึงมีการลาดตระเวนที่เข้มงวดและถี่มากยิ่งขึ้น

ความไม่ชัดเจนของเขตแดน ผนวกกับความตึงเครียดในพื้นที่ส่งผลให้เกิดการกระทบกระทั่งระหว่างทหารสองฝ่ายเมื่อลาดตระเวนมาเจอกัน และต่างฝ่ายต่างอ้างว่าเป็นเขตแดนของตน สถานการณ์เช่นนี้ส่งผลให้ทหารอินเดียและจีนปะทะกันอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในเขตทะเลสาบปานกง และหุบเขากัลวานในภูมิภาคลดาขตลอดเดือนพฤษภาคม จนทำให้ทั้งสองฝ่ายได้รับบาดเจ็บ

1-14 มิถุนายน 2020

แม้ว่าจะเกิดความตึงเครียดทางการทหารตลอดเดือนพฤษภาคมจนถึงต้นเดือนมิถุนายน อันเป็นเหตุให้เกิดการปะทะกันอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกันว่าต้องใช้แนวทางการเจรจาและการทูตเป็นสำคัญในการแก้ไขความเข้าใจที่เกิดขึ้น

รัฐบาลทั้งสองประเทศจึงมีความเห็นร่วมกันในการตั้งโต๊ะเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่ทางการทูตและการทหารระดับสูง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ในระดับพื้นที่ เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างสองชาติ

ตลอดต้นเดือนมิถุนายน จึงเป็นช่วงเวลาที่ทั้งสองประเทศไม่มีข่าวหรือภาพการปะทะกันออกมา แต่กลับเป็นภาพการเจรจาร่วมกันของนายทหารทั้งระดับบริหารและระดับพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน มีการลงพื้นที่สำรวจแนวเขตแดนร่วมกัน รวมถึงการลดความถี่ในการลาดตระเวนเพื่อลดความเสี่ยงในการปะทะของทั้งสองฝ่าย จนมีการวิเคราะห์กันอย่างมากว่าว่า แนวทางนี้จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในที่สุด

15-16 มิถุนายน 2020

ในช่วงกลางดึกของวันที่ 15 มิถุนายน กองทัพอินเดียแถลงข่าวรายงานว่าเกิดการปะทะกันระหว่างทหารจีนและอินเดียบริเวณหุบเขากัลวาน จนเป็นเหตุให้ทหารทั้งสองฝ่ายได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต โดยเบื้องต้น กองทัพอินเดียรายงานว่ามีทหารเสียชีวิต 3 นาย ในจำนวนนี้รวมทหารยศพันเอกอยู่ด้วย ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะปรับตัวเลขเป็น 20 นาย ในขณะที่ทางการจีนไม่เปิดเผยรายงานตัวเลขผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ความตึงเครียดปะทุอีกครั้ง เพราะการปะทะกันระหว่างทหารของทั้งสองชาติจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตนั้น ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อ 45 ปีที่แล้ว ความสูญเสียที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ถือว่ามีความรุนแรงอยู่ไม่ใช่น้อย แม้ว่าทหารทั้งสองฝ่ายจะใช้เพียงกระบองและก้อนหินในการต่อสู้กันก็ตาม

รัฐบาลจีนระบุว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นจากการข้ามเขตแดนเข้ามาในฝั่งจีนของทหารอินเดีย รวมถึงการใช้กำลังยั่วยุจนนำไปสู่การปะทะ รัฐบาลจีนเรียกร้องให้ทางการอินเดียหยุดการดำเนินการที่กระทำเพียงฝ่ายเดียวโดยไม่ได้ประสานกับทางการจีน และกลับเข้าสู่แนวทางการเจรจาที่ได้วางไว้

ในขณะที่ทางการอินเดียระบุว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากทหารทั้งสองฝ่ายพยายามปลดประจำการออกจากพื้นที่ แต่ด้วยแนวทางปฏิบัติที่ไม่ตรงตามกรอบที่วางไว้ของฝ่ายจีนตามผลการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกองทัพทั้งสองฝ่าย ส่งผลให้เกิดการปะทะขึ้น

กระนั้น ทั้งอินเดียและจีนต่างก็ให้ความสำคัญกับแนวทางการเจรจาในการแก้ไขปัญหา เพราะหลังจากเกิดเหตุดังกล่าว ผู้นำระดับสูงของกองทัพของทั้งสองฝ่ายได้จัดการประชุมร่วมกันอย่างเร่งด่วน ในขณะที่ทหารในระดับพื้นที่ได้ติดต่อสื่อสารระหว่างกันและร่วมกันตรวจสอบหาสาเหตุของการปะทะ

 

ทำไมปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีน-อินเดียรอบนี้จึงรุนแรง?

 

เมื่ออธิบายถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นระหว่างจีน-อินเดีย หลายคนมักย้อนกลับไปเปรียบเทียบกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2017 ซึ่งเป็นความตึงเครียดครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นระหว่างสองประเทศ แต่ในความเป็นจริงนั้น สถานการณ์ทั้งสองมีความแตกต่างกันอยู่ในหลายประการด้วยกัน ฉะนั้น สาเหตุซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงระหว่างสองชาติในรอบนี้อาจอธิบายได้ผ่านปรากฎการณ์เหล่านี้

ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งเหนือหุบเขากัลวาน: เกียรติภูมิและรอยแผล

คงจะไม่ผิดนักที่จะอธิบายว่าความตึงเครียรอบใหม่นี้เป็นผลมาจากประวัติศาสตร์ความขัดแย้งของทั้งสองประเทศที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 ในครั้งนั้น จีนและอินเดียทำสงครามระหว่างกันจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ในขณะเดียวกันอินเดียก็ต้องเสียดินแดนหลายส่วนให้กับจีนไป

หนึ่งในพื้นที่สำคัญซึ่งเป็นชนวนสงครามระหว่างสองชาติคือหุบเขากัลวาน หุบเขาดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ซึ่งจีนเปิดฉากโจมตีกองทัพอินเดีย และการโจมตีครั้งนั้นก็นำมาซึ่งศึกระหว่างสองชาติทั้งในพื้นที่ลดาขและอรุณาจัล แม้ว่าในที่สุดแล้วจีนจะสามารถยึดครองอักไซชิน รวมถึงอรุณาจัลได้ แต่ด้วยความช่วยเหลือที่สหรัฐอเมริกามีให้อินเดีย ส่งผลให้จีนต้องยอมประกาศยุติสงครามฝ่ายเดียว และถอนทหารออกจากอรุณาจัลในที่สุด

ฉะนั้น ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว ในมิติหนึ่งเสมือนเป็นเกียรติภูมิของจีนที่ได้รับชัยชนะเหนืออินเดีย แต่ในอีกด้านหนึ่งคือรอยแผลลึกของอินเดียที่ต้องสูญเสียดินแดนบริเวณนั้นไป ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์เช่นนี้ ส่งผลให้ปัญหาความขัดแย้งรอบใหม่ยากที่จะแก้ไข เพราะทหารจีนต้องรักษาเกียรติภูมิของตนเอง ในขณะที่ทหารอินเดียก็ต้องการลบรอยแผลความพ่ายแพ้เมื่อครั้งอดีตเหนือพื้นที่ดังกล่าว

ชาตินิยมจีน-อินเดีย

ตลอดหลายปีมานี้ เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าทั้งในจีนและอินเดียต่างมีกระแสชาตินิยมที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไปในบริบทโลก จีนต้องเผชิญปัญหาสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกา ปัญหาฮ่องกง-ไต้หวัน และภัยคุกคามมากมายจากภายนอก โดยเฉพาะความหวาดกลัวต่ออิทธิพลจีน ในอีกด้านหนึ่ง จีนมีการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด ปัจจัยทั้งสองส่งเสริมให้ชาวจีนจำนวนมากเกิดความรักในชาติของตนเองมากยิ่งขึ้น จนกลายเป็นกระแสชาตินิยมภายในประเทศ

เช่นเดียวกับอินเดีย การขึ้นสู่อำนาจของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ซึ่งมีแนวนโยบายแบบชาตินิยมฮินดู ส่งผลให้หลายปีมานี้รัฐบาลอินเดียมีการใช้นโยบายและช่องทางต่างๆ ในการสร้างกระแสชาตินิยม ในขณะเดียวกันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดีย และแนวนโยบายการต่างประเทศแบบใหม่ส่งผลให้อินเดียเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก สิ่งเหล่านี้ล้วนหล่อหลอมให้คนอินเดียมีความเป็นชาตินิยมมากยิ่งขึ้น

เมื่อทั้งสองชาติที่กระแสชาตินิยมกำลังเติบโตมีความขัดแย้งกัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การแก้ไขปัญหาจะดำเนินการไปได้อย่างล่าช้า เพราะรัฐบาลทั้งสองชาติต้องดูทิศทางของกระแสสังคมภายในประเทศด้วย แม้ว่าความขัดแย้งรอบนี้ จะไม่เห็นกระแสชาตินิยมในฝั่งจีนมากนัก แต่ในอินเดียนั้นสามารถพบเห็นได้อย่างดาดดื่น เช่น เกิดกระแส #BoycottMadeinChina ในสังคมออนไลน์ของอินเดีย เกิดการเรียกร้องให้คนอินเดียลบแอพลิเคชั่นที่พัฒนาโดยจีน หรือเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดมาตรการป้องกันการลงทุนจากจีนเป็นพิเศษ เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลสำคัญมาจากชาตินิยมอินเดียที่เติบโตตลอดหลายปีที่ผ่านมา และสิ่งเหล่านี้เองก็กลายเป็นอุปสรรคใหญ่ของรัฐบาลอินเดียในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทและความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นกับจีน เพราะการเดินหมากพลาดเพียงก้าวเดียวก็อาจทำให้คะแนนนิยมของรัฐบาลลดลงได้ เช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่รัฐบาลอินเดียโจมตีปากีสถานจนได้รับคะแนนนิยมถล่มทลาย

ยุทธศาสตร์ทางการทหารของจีน-อินเดีย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความตึงเครียดระลอกใหม่ระหว่างจีน-อินเดียในครั้งนี้ เป็นผลสำคัญมาจากยุทธศาสตร์ทางการทหารของทั้งสองประเทศ เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา จีนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการทหารในบริเวณพื้นพิพาทอย่างครอบคลุม ส่งผลให้มีความได้เปรียบทางการทหารต่ออินเดียในหลายมิติ

ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้อินเดียต้องผลักดันโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเส้นทางคมนาคมขนส่งต่างๆ ในบริเวณตามแนวเส้น LAC ซึ่งหากโครงการพัฒนาดังกล่าวสำเร็จจะส่งผลให้กองทัพอินเดียสามารถลำเลียงยุทโธปกรณ์ทางการทหารเข้ามาในพื้นที่พิพาทได้ง่ายขึ้น หมายความว่าอินเดียจะมีศักยภาพทางด้านยุทธศาสตร์การทหารใกล้เคียงกับจีนในพื้นที่พิพาท

ปัจจัยดังกล่าวกลายเป็นความท้าทายและภัยคุกคามทางด้านยุทธศาสตร์การทหารของจีน ซึ่งได้เปรียบอินเดียในการควบคุมพื้นที่ดังกล่าวมาโดยตลอด และจีนก็คงไม่อยากจะเสียความได้เปรียบนี้ไปง่ายๆ ในขณะที่อินเดียเองก็รู้ว่าโครงการนี้จะส่งผลให้ตัวเองมีศักยภาพทางการทหารในพื้นที่มากขึ้น

ฉะนั้น ความพยายามในการเสริมสร้างศักยภาพทางการทหารของอินเดีย ผนวกกับความพยายามของจีนในการสร้างความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ในพื้นที่ภูมิภาคลดาข ล้วนเป็นสาเหตุหนึ่งซึ่งส่งผลให้ความขัดแย้งรอบใหม่นี้มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะต่างฝ่ายต่างมองขั้วตรงข้ามเป็นภัยคุกคามทางด้านยุทธศาสตร์ของตัวเอง

 

ความสัมพันธ์อินเดีย-จีนที่ต้องจับตามองหลังวิกฤต

 

ในปีนี้ อินเดียและจีนมีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการครบรอบ 70 ปีพอดี แต่ทั้งสองประเทศกลับต้องเผชิญปัญหาความตึงเครียดที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ทั้งสองฝ่ายต่างต้องการเห็นสันติภาพมากกว่าความขัดแย้งเหนือพื้นที่ดังกล่าว ต่างฝ่ายต่างประคับประคองให้สถานการณ์ที่กำลังระอุ ให้ค่อยๆ เย็นลง เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งบานปลายมากยิ่งขึ้น

เห็นได้ชัดว่าผู้นำระดับสูงของทั้งสองชาติยังไม่มีใครออกมาพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นหรือออกมาเรียกร้องกระแสชาตินิยมเพื่อโจมตีรัฐบาลอีกฝ่าย ซึ่งการกระทำในลักษณะนี้ช่วยลดเชื้อไฟที่กำลังรุนแรงในกระแสสังคมให้ไม่ลุกโชนเพิ่มมากยิ่งขึ้น

กล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ของจีนและอินเดียในภาพรวมนั้นอยู่ในระดับที่ดี เพราะทั้งคู่ต่างรู้ดีว่านอกจากประเด็นปัญหาเรื่องพรมแดนแล้ว ทั้งสองประเทศมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในประเด็นด้านเศรษฐกิจที่การลงทุนของจีนในอินเดียขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในทำนองเดียวกัน การส่งออกสินค้าหลายชนิดของอินเดียเข้าไปในจีนมีสัดส่วนที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น

ในขณะเดียวกัน ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา จีนก็ถือเป็นผู้บริจาคอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์รายใหญ่ที่ให้ความช่วยเหลืออินเดีย เช่นการส่งชุดตรวจจำนวนกว่า 2 ล้านชิ้นให้กับรัฐบาลอินเดียในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หรือเห็นชอบอนุมัติเงินกู้ฉุกเฉินให้กับรัฐบาลอินเดียเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 ผ่านธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB)

หากถามว่าความตึงเครียดรอบนี้จะสิ้นสุดลงอย่างไร จากทิศทางที่เกิดขึ้นข้างต้น มีความเป็นไปได้อย่างมากว่าจะจบลงที่โต๊ะเจรจาของทั้งสองประเทศมากกว่าที่ทั้งสองฝ่ายจะหยิบอาวุธขึ้นมาประหัตประหารล้างผลาญกันให้สิ้นซาก เพราะบทเรียนของสงครามนั้นไม่มีผู้ชนะที่แท้จริง ต่างฝ่ายต่างสูญเสีย ขึ้นอยู่กับว่าจะมากหรือน้อยเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม คงจะไม่ถูกนักหากจะบอกว่าความขัดแย้งรอบนี้ไม่ส่งผลอะไรต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติ เพราะอย่างน้อยที่สุดแล้ว  จีนสูญเสียคะแนนนิยมทางด้านการทูตภาคประชาชนไปเกือบหมดสิ้นจากหัวใจคนอินเดียจำนวนมาก เห็นได้จากกระแสสังคมออนไลน์ของอินเดียที่ค่อนข้างแรงมากในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่จีนเองก็มองอินเดียอย่างหวาดระแวงมากยิ่งขึ้น

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save