fbpx

ตรวจชีพจรเศรษฐกิจจีน กับ อาร์ม ตั้งนิรันดร

แม้ว่าจีนจะสยายปีกขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอีกขั้วหนึ่งของโลก แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนกำลังอยู่ในช่วงขาลง ทั้งจากปัญหาฟองสบู่ทางภาคอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง ‘เอเวอร์แกรนด์’ (Evergrande), ‘คันทรี การ์เดน’ (Country Garden), ‘ซูแนค’ (Sunac) พากันยื่นล้มละลาย, ตัวเลขการว่างงานของคนหนุ่มสาวจีนที่พุ่งขึ้นไปถึงกว่าร้อยละ 20 รวมไปถึงมรสุมสงครามการค้า และปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังรุมเร้าเศรษฐกิจจีนจนทำให้นักลงทุนต่างกังวลว่าจีนอาจกำลังเดินหน้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ที่จะไม่เพียงสั่นคลอนแค่จีน แต่สะเทือนถึงทั่วทุกมุมโลก

เกิดอะไรขึ้นกับพญามังกรแห่งตะวันออก?

101 ชวนสนทนากับ อาร์ม ตั้งนิรันดร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจจีนในปัจจุบัน อนาคตของศึกชิงมหาอำนาจทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา และถอดบทเรียนที่ประเทศไทยควรคว้าโอกาสไว้ในห้วงเวลาแห่งรอยต่อนี้


หมายเหตุ : เรียบเรียงจาก 101 One-on-One Ep.310 อสังหาฯ ล้ม-ว่างงานพุ่ง: ขาลงเศรษฐกิจจีน? กับ อาร์ม ตั้งนิรันดร เผยแพร่เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566


จับชีพจรมังกรป่วย


ท่ามกลางเศรษฐกิจจีนที่อยู่ในช่วงชะลอตัว อาร์มได้ประเมินและสรุปสถานการณ์เศรษฐกิจจีนในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว ดังนี้

ข้อแรก การเติบโตทางเศรษฐกิจจีนหลังเปิดเมืองผิดความคาดหมาย โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 2 อย่างไรก็ดี เมื่อวิเคราะห์จากตัวเลขในเดือนสิงหาคม ตัวเลขทางเศรษฐกิจจีนคงมีแนวโน้มค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้นในระยะสั้น และคาดว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดได้ผ่านไปแล้ว

ในระยะกลาง เศรษฐกิจจีนน่าจะมีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 4-5 ลดจากเดิมที่เคยเติบโตอย่างหวือหวาร้อยละ 8-10 แม้นักวิเคราะห์ต่างประเทศจะมองว่าลดลงครึ่งนึงเมื่อเทียบกับในอดีต แต่รัฐบาลจีนมองว่ายังเป็นอัตราการเติบโตที่ดีที่สุดในบรรดาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ประเด็นนี้ก็ขึ้นอยู่กับมุมมอง แต่ข้อเท็จจริงคือตัวเลขทางเศรษฐกิจจะลดลงมาจากเดิม

ในระยะยาว อาร์มคาดว่าจะไม่มีวิกฤตทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ แม้ว่าจะมีฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ แต่จะไม่เกิดวิกฤตเป็ดปักกิ่งในลักษณะเดียวกับวิกฤตต้มยำกุ้งในประเทศไทยที่ลามไปทั่วเอเชีย หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐอเมริกาที่ลามไปทั่วยุโรป เนื่องด้วยลักษณะพิเศษของเศรษฐกิจจีนที่รัฐบาลมีบทบาทสูงมาก โดยปกติความกังวลเรื่องวิกฤตอสังหาริมทรัพย์มักมีประเด็นเรื่องหนี้เสีย คนไม่สามารถใช้หนี้ได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับสภาพคล่องทางการเงินของธนาคาร และลามไปทั้งระบบการเงิน แต่หนี้ส่วนใหญ่ของจีนเกี่ยวกับรัฐบาลจีนทั้งสองด้าน ธนาคารสำคัญส่วนใหญ่เป็นธนาคารรัฐ ในขณะเดียวกัน หนี้ก้อนใหญ่จะเป็นหนี้รัฐบาลท้องถิ่นหรือรัฐวิสาหกิจ ทำให้รัฐบาลสามารถค่อยๆ ปรับโครงสร้างหนี้ อีกทั้งรัฐบาลจีนก็ควบคุมข้อมูลข่าวสาร ดังนั้นจะไม่ค่อยเห็นภาพการแห่ถอนเงินจากธนาคาร (bank run) ในประเทศจีน

“สิ่งที่น่ากังวล ณ ตอนนี้จึงเป็นลักษณะของการซึมยาวของเศรษฐกิจจีนมากกว่าการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ” อาร์มกล่าว


ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ โจทย์ใหญ่ของเศรษฐกิจจีน


เมื่อเจาะลึกวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีน อาร์มฉายภาพสาเหตุว่าเกิดจากนโยบายของประธานาธิบดี สี จิ้นผิงที่ต้องการปฏิรูปเศรษฐกิจ เนื่องจากหลายสิบปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนโตอย่างหวือหวาจากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 

“คนจีนชอบพูดว่าเหมือนอัดสเตียรอยด์ ซึ่งเวลาอัดสเตียรอยด์ก็อาจจะดูไม่ค่อยยั่งยืน” อาร์มสะท้อนและเสริมว่าในอดีตประเทศจีนยังขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนในรถไฟ สะพาน ท่าเรือจึงสมเหตุสมผลและทำให้ตัวเลข GDP มากขึ้นในสัดส่วนที่สูง แต่เมื่อมาถึงจุดที่มีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างครบ การนำเงินไปก่อสร้างอีกจึงถูกมองว่าเป็นโครงการที่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจและไม่สมเหตุสมผลที่จะลงทุนอีกต่อไป อีกทั้งจะก่อให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาในอนาคต เช่นเดียวกับภาคอสังหาริมทรัพย์ที่หากก่อสร้างบ้านโดยไม่มีความต้องการซื้อ ก็อาจจะนำไปสู่ตึกร้างและหนี้เสียเช่นกัน ดังนั้น ประธานาธิบดี สี จิ้นผิงจึงมีเหตุผลทางยุทธศาสตร์ในการจัดการกับภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืนและป้องกันฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกในอนาคต ผ่านการเปลี่ยนโมเดลทางเศรษฐกิจ 

นอกจากนี้ การตัดสินใจลงดาบภาคอสังหาริมทรัพย์ยังเกี่ยวข้องกับเหตุผลทางด้านคุณภาพชีวิตและค่าครองชีพของประชาชน เนื่องจากคนรุ่นใหม่ในเมืองใหญ่ของจีนเสียค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่กับค่าเช่าบ้าน พวกเขาไม่สามารถสร้างครอบครัวจนสะท้อนออกมาเป็นการหดตัวของตัวเลขประชากร ประธานาธิบดี สี จิ้นผิงจึงมีสโลแกนว่า “บ้านไม่มีไว้ปั่น บ้านมีไว้อยู่” ตัดสินใจจัดการกับฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ โดยอาร์มวิเคราะห์ความผิดพลาดในการจัดการปัญหาอสังหาริมทรัพย์จนส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจจีน ดังต่อไปนี้

ประการแรก การจัดการปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์เร็วและสั่นสะเทือนมากเกินไป เช่น การออกกฎเกณฑ์เรื่องเพดานหนี้จนทำให้ Evergrande ล้ม 

ประการที่สอง การจัดการปัญหาอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นพร้อมกับการจัดระเบียบสังคมอื่น ได้แก่ การจัดระเบียบบริษัทเทคโนโลยี การจัดการกับกวดวิชาและปัญหาเรื่องเกมออนไลน์ ทำให้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและบรรยากาศทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงการใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ (zero-COVID) ที่เข้มข้นก็ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะขาลง

ประการที่สาม การรัดเข็มขัดภาคอสังหาริมทรัพย์สั่นสะเทือนมากกว่าการที่รัฐบาลจีนคาดการณ์ โดยมีการประเมินว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ครองสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 15-30 แล้วแต่การประเมินของตัวเลข GDP จีน 

ทั้งนี้ อาร์มวิเคราะห์ถึง 3 ความเป็นไปได้ในการจัดการกับปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลจีน

ความเป็นไปได้แรก ปล่อยให้ล้ม โดยไม่อุ้ม เพื่อไม่ให้เกิดภาวะภัยทางศีลธรรม (Moral Hazard) และให้เงินทุนที่ล้มไหลไปสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาคที่มีประสิทธิภาพแทนภาคอสังหาริมทรัพย์ เหมือนอย่างวิกฤตต้มยำกุ้งที่รัฐบาลไม่อุ้มธนาคาร และพอถึงจุดหนึ่ง เศรษฐกิจไทยก็กลับมาเติบโต หรือในวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่สุดท้ายเกิดการรีเซ็ตทางเศรษฐกิจและกลับมาฟื้นอีกครั้ง

ความเป็นไปได้ที่สอง อัดเงินเพื่อฟื้นภาคอสังหาริมทรัพย์ให้กลับมาคึกคักและเติบโต จะเห็นว่าข่าวจากฝั่งตะวันตกคาดหวังว่าจะมีบาซูก้าการคลัง แพ็กเกจกระตุ้นเศรฐกิจขนาดใหญ่ ซึ่งรัฐบาลจีน โดยนายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า เคยทำใน ค.ศ.2008 และทำให้เศรษฐกิจจีนกลายเป็นจุดเติบโตของโลก แต่ภายหลังมีการวิเคราะห์ว่าเป็นก้าวที่ผิดพลาดและทำให้เศรษฐกิจจีนเกิดฟองสบู่ขนาดใหญ่ ทำให้เกิดปัญหาหนี้ และปัญหาการลงทุนขนาดมหึมาแบบไม่สมเหตุสมผล (Over Capacity)

เดิมทีรัฐบาลจีนเคยใช้รูปแบบนี้ในการจัดการปัญหาอสังหาริมทรัพย์มาหลายครั้ง และตอนที่เกิดปัญหา Evergrande หลายคนก็คาดว่ารัฐบาลจีนจะอัดเงินเพื่อฟื้นภาคอสังหาริมทรัพย์จากซอมบี้ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง แต่รัฐบาลจีนในปัจจุบันกลับยอมแลกหรือยอมรับความเสี่ยงในระยะสั้น 

ความเป็นไปได้ที่สาม ทางสายกลาง ซึ่งอาร์มมองว่าเป็นทางเลือกที่รัฐบาลจีนพยายามดำเนินนโยบาย กล่าวคือไม่อัดฉีดเงินเข้าระบบที่จะทำให้เกิดปัญหาหนี้ฟองสบู่ลูกหนี้ในระยะยาว ขณะเดียวกันก็ไม่ปล่อยให้ล้มและเกิดวิกฤตอย่างรุนแรง รัฐบาลจีนจะประคับประคองภาคอสังหาริมทรัพย์ให้ไปถึงจุดที่ค่อยๆ เปลี่ยนผ่านไปสู่โมเดลทางเศรษฐกิจใหม่ที่ยั่งยืนมากขึ้น แต่การประคับประคองก็มีต้นทุน เนื่องจากมีเงินทุนที่ควรไหลไปในภาคที่สร้างความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ กลับต้องไหลมาโอบอุ้มภาคอสังหาริมทรัพย์


คนหนุ่มสาวว่างงาน-เกิดอาการ Tang Ping


ไม่เพียงแต่ปัญหาอสังหาริมทรัพย์ ปัญหาการว่างงานของคนรุ่นใหม่ในจีนก็พุ่งสูงด้วยเช่นกัน อาร์มวิเคราะห์ว่าปัญหาการว่างงานสัมพันธ์กับภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นภาคที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอื่นอีกหลายอุตสาหกรรม เช่น คอนกรีต เฟอร์นิเจอร์ เหล็ก เป็นต้น จึงส่งผลกระทบเป็นห่วงโซ่ต่อตลาดแรงงานในหลากอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ คนจีนส่วนใหญ่ยังสะสมความมั่งคั่งในภาคอสังหาริมทรัพย์ผ่านการซื้อบ้าน เมื่อบ้านมีแนวโน้มราคาตก ทำให้คนจีนทั่วไปรู้สึกว่าเศรษฐกิจมีปัญหา เลยชะลอการบริโภคและการลงทุนลง หลายธุรกิจเข้าโหมดปรับโครสร้างหนี้และเลือกเก็บกระแสเงินสดมากกว่า รวมไปถึงการล็อกดาวน์ในช่วงนโยบาย zero-COVID ก็ทำให้ภาคบริการ ซึ่งเป็นภาคที่รองรับคนทำงานค่อนข้างมาก ไม่จ้างงานใหม่ เมื่อมีการเกษียณของคนทำงานเดิมก็ไม่มีการรับเพิ่ม เพราะภาคเอกชนไม่มีความมั่นใจต่อสภาพเศรษฐกิจ อีกทั้งการจัดระเบียบบริษัทเทคโนโลยีจีนจนบริษัทชะลอการเติบโตก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ เนื่องจากเป็นสายงานที่คนจีนหนุ่มสาวจบการศึกษา 

“ผมว่าคงมีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาการหางานยากในเมืองจีน แต่ว่าที่สำคัญคือเศรษฐกิจที่ชะลอ ซึม และความเชื่อมั่นที่มีปัญหา แต่ถ้าเราดูตัวเลขก็ยังค่อนข้างน่าสนใจ คือมันไม่ได้นำไปสู่วิกฤตสังคม เพราะว่าครัวเรือนจีนมีสิ่งที่เป็นทั้งปัญหาและจุดแข็งคือมีการออมที่สูงมาก จริงๆ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นปัญหาด้วยซ้ำ เพราะว่าคนไม่บริโภค สัดส่วนการบริโภคต่อ GDP ต่ำ  ในปัจจุบันมีตัวเลขการออมเงินสดในธนาคารสูงเป็นประวัติการณ์” อาร์มกล่าวและชี้ว่าในหน้าหนังสือพิมพ์มีการรายงานลักษณะของพ่อแม่จ้างลูกให้เป็นลูกประจำ (Full-time children) เลี้ยงครอบครัวให้พ้นวิกฤต แล้วส่วนหนึ่งคนหนุ่มสาวจีนคงหาโอกาสผ่านเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ (Informal Economy) อย่างในแพลตฟอร์ม E-commerce 

อาร์มยังเสริมว่าต้นตอทางปัญหาเศรษฐกิจทำให้คนรุ่นใหม่หมดความหวังต่อสังคม จนเกิดเป็นกระแส Tang Ping การนอนราบทอดหุ่ยไปวันๆ ของคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ ค.ศ.2021 กระแสดังกล่าวของคนรุ่นใหม่เกิดในหลายประเทศทั่วโลกที่เหนื่อยกับชีวิตแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นกระแสในเกาหลีใต้ กระแสในญี่ปุ่น ซึ่งมองว่าเป็นอาการร่วมกันของลูกหลานชนชั้นกลางในเมืองใหญ่ที่ไม่พอใจสังคมทุนนิยม บังคับให้เกิดการแข่งขันสูงและมีความเหลื่อมล้ำในสังคมสูง 

ทั้งนี้ แม้หลายคนอาจมองว่ายามเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจะนำมาสู่ความไม่พอใจของมหาชนและนำไปสู่วิกฤตทางการเมือง อาร์มกลับให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า สำหรับคนจีน ปัญหาเศรษฐกิจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาล เช่น กรณี zero-COVID ที่รัดกุมและยาวนานเกินไป, การจัดการภาคอสังหาริมทรัพย์ที่รวดเร็ว และการจัดระเบียบสังคมในภาคอุตสาหกรรมอื่น เป็นต้น อีกทั้งแรงกดดันจากสงครามการค้าและสงครามเทคโนโยโลยีกับทางตะวันตก ทำให้การส่งออกที่ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องจักรสำคัญทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก รวมไปถึงนักลงทุนต่างชาติกังวลถึงการคว่ำบาตรจีนจึงชะลอการลงทุนและมองหาประเทศฐานที่ตั้งใหม่ เพื่อกระจายความเสี่ยงออกจากจีน ในมุมมองของคนจีนส่วนหนึ่ง ฝั่งตะวันตกจึงกลายเป็นแพะรับบาปที่ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ขาลง

ยิ่งไปกว่านั้น คนจีนยังให้ความสำคัญกับเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้ยังมองไม่เห็นภาพการลงถนนและวิกฤตสังคม อีกทั้งลักษณะพิเศษของระบบการเมืองจีนที่ควบคุมทุกองคาพยพ ตรวจตราการรวมกลุ่มอย่างรัดกุม รวมไปถึงคุมสื่อและโซเชียลมีเดีย ทำให้ยากต่อการประท้วง

“ถ้าที่ใดเริ่มมีคนไม่พอใจรวมกลุ่มกัน เขาพยายามจะตัดไฟตั้งแต่ต้นลม เพราะฉะนั้น นักวิเคราะห์ นักสังเกตการณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจีนหลายคนจะจินตนาการได้ลำบากว่ามันจะเกิดปัญหาวิกฤตการเมืองหรือวิกฤตสังคมในลักษณะที่จะซ้ำรอยเหตุการณ์ความวุ่นวายในอดีต” อาร์มกล่าวพร้อมให้ความเห็นว่ารัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนมองเห็นถึงปัญหาและพยายามลดความคาดหวังการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของคนจีน ผ่านการสื่อสารว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโตน้อย แต่มีคุณภาพ และประเทศจีนกำลังฝ่าวิกฤตปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ดังที่สี จิ้นผิง มักพูดเรื่องความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน (Common Prosperity) เลิกการเติบโตแบบปริมาณเป็นการเติบโตแบบคุณภาพ รักษาสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต กระจายก้อนเค้กทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมมากขึ้น เข้าถึงคนยากจนมากขึ้น


ย้อนมองทศวรรษที่สูญหายของญี่ปุ่นถึงวิกฤตเศรษฐกิจจีน


เมื่อพิจารณาภาพกว้าง แม้จะประเมินกันว่าเศรษฐกิจจีนคงไม่เกิดวิกฤตขนาดใหญ่ลุกลาม แต่ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะซึมยาว ซึ่งล้อไปกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 80-90 ที่รู้จักกันในนามทศวรรษที่สูญหาย ประเด็นนี้อาร์มสะท้อนว่าวิกฤตเศรษฐกิจจีนมีความคล้ายคลึงกับวิกฤตเศรษฐกิจญี่ปุ่นหลายประการ ทั้งปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ สงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกา ผู้คนในประเทศเลือกออมเงินสดและชะลอการลงทุน อย่างไรก็ดี มีความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญว่าทั้งสองประเทศมีความแตกต่างกัน 

บางความเห็นบอกว่าวิกฤตเศรษฐกิจจีนแย่กว่าวิกฤตเศรษฐกิจญี่ปุ่น เนื่องจากเศรษฐกิจจีนพึ่งพาต่างชาติสูง สงครามการค้าย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนมากกว่าญี่ปุ่น และปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์จีนมีขนาดใหญ่ย่อมส่งผลหนักมากกว่า รวมไปถึงจีนยังมีปัญหาประชากรหด กระทบต่อการบริโภค ในขณะที่ญี่ปุ่น ณ ขณะที่เกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจยังไม่มีปัญหาดังกล่าว 

ในขณะที่ความเห็นอีกด้านมองว่าวิกฤตเศรษฐกิจจีนดีกว่าญี่ปุ่น เนื่องจากขนาดตลาดของจีนใหญ่กว่า จำนวนประชากรมีมากกว่าญี่ปุ่น และในขณะที่ญี่ปุ่นเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจนั้นเป็นประเทศรายได้สูงแล้ว แทบไม่มีช่องว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ประเทศจีนยังเป็นประเทศรายได้ปานกลาง คนจีนส่วนใหญ่ยังต้องการขยับสถานะเป็นชนชั้นกลาง รวมไปถึงจีนยังอยู่ในยุคเทคโนโลยีล้ำหน้า สามารถใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยเพิ่มผลิตภาพทางเศรษฐกิจ 

“เศรษฐกิจจะซึมขนาดไหนก็อยู่ที่รัฐบาลจีนจะจำกัดความเสี่ยงและใช้กำลังภายในที่เป็นข้อได้เปรียบได้อย่างไร” อาร์มชี้

สำหรับการรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว เมื่อเครื่องจักรสำคัญทางเศรษฐกิจอย่างการลงทุนสิ้นสุดและการส่งออกติดปัญหาเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ อาร์มชี้ให้เห็นว่าถ้อยแถลงนโยบายรัฐบาลจีนพูดชัดถึงการเปลี่ยนโมเดลทางเศรษฐกิจ พึ่งการบริโภคและจำเป็นต้องหาจุดเติบโตใหม่ทางเศรษฐกิจ ซึ่งบางคนก็พูดถึงภาคพลังงานสะอาด, รถยนต์ EV, ภาคเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ ในทางรูปธรรม ยังพูดถึงการปรับโครงสร้างเชิงเศรษฐกิจการเมือง เช่น การปฏิรูประบบสำมะโนครัวประชากรจีน ( hù kǒu) ให้คนจีนสามารถย้ายถิ่นฐานได้ เพื่อให้เกิดคลื่นการย้ายถิ่นและคลื่นบริโภคระลอกใหม่, ความพยายามแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจท้องถิ่น เพื่อให้เอกชนสามารถเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งอาร์มให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าถือเป็นเรื่องที่ตัดสินใจในเชิงนโยบายค่อนข้างยาก แต่ก็ถือเป็นทิศทางที่ถูกบังคับ หากไม่เช่นนั้นอาจจะนำไปสู่เศรษฐกิจซึมหนักเฉกเช่นญี่ปุ่น


จีน-สหรัฐอเมริกา ศึกชิงมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก


ในอดีต หลายคนคาดการณ์ว่าจีนจะสยายปีกและเป็นชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกในเร็ววัน แต่การสะดุดทางเศรษฐกิจครั้งนี้จะส่งผลเช่นไรบ้าง อาร์มสะท้อนมุมมองถึงการนิยามอันดับหนึ่งที่มีหลายรูปแบบ หากนิยามอันดับหนึ่งจากขนาดเศรษฐกิจตามกำลังซื้อ มีรายงานว่าจีนเป็นอันดับหนึ่งตั้งแต่ ค.ศ. 2011 แต่ว่าหากนิยามอันดับหนึ่งจากขนาดเศรษฐกิจ อาร์มมองว่าเป็นแค่ประเด็นเวลาว่าจีนจะแซงสหรัฐอเมริกาเมื่อไหร่ เนื่องจากจีนมีประชากรเป็น 4 เท่าของสหรัฐอเมริกา ตัวเลข GDP ต่อหัวแค่ 1 ใน 4 ก็สามารถแซงหน้าสหรัฐอเมริกาแล้ว ซึ่ง ณ ปัจจุบันตัวเลข GDP ต่อหัวของจีนอยู่ที่ 1 ใน 6 แต่หากนิยามมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งผ่านตัวเลข GDP ต่อหัว จีนก็ไม่มีทางที่จะสู้สหรัฐอเมริกาได้เลย สหรัฐอเมริกายังคงเป็นประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในทางเศรษฐกิจ 

อย่างไรก็ดี อาร์มชี้ว่าอาจจะไม่สำคัญเลยว่าจีนจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งไหม เพราะทุกวันนี้โลกอยู่ในบริบทของสองมหาอำนาจโดดระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาอยู่แล้ว 

“วันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นโลกที่สหรัฐอเมริกาไม่สามารถที่จะทุบโต๊ะแล้วทุกอย่างจบ ตอนนี้มีสองพี่เบิ้มที่แข่งขันกัน ถ้าเกิดยืมคำของเฮนรี คิสซินเจอร์ (Henry Kissinger) ซึ่งเป็นปรมาจารย์ด้านการต่างประเทศ เขาจะบอกว่าเราต้องยอมรับข้อเท็จจริงเรื่อง The Permanent of China ความหมายก็คือว่าจีนไม่หายไปไหน ทุบจีนไม่พัง ทุบจีนไม่ลง ถึงเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัว แต่มันยากมากเลยที่เราจะจินตนาการภาพจีนแตกสลายเหมือนสหภาพโซเวียต แล้วเศรษฐกิจจีนตอนนี้ใหญ่จนเรียกว่ามันสำคัญมากแล้ว ถ้าเกิดว่าสงครามการค้าหรือวิกฤตเศรษฐกิจของจีนเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว ตอนนั้นมีผลมหาศาลสหรัฐอเมริกาคงเป็นผู้นำโลกเดี่ยวไปอีกนาน แต่วันนี้ถึงแม้บอกว่าจีนชะลอตัว แต่ผมว่าไม่ได้เปลี่ยนภาพใหญ่ที่บอกว่าเป็นการแข่งขันระหว่างสองมหาอำนาจ” อาร์มกล่าว


มังกรฮัดเช้ย ประเทศใกล้ชิดเป็นหวัด


เศรษฐกิจจีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ เชื่อมโยงทั้งทางตรงและทางอ้อมกับหลายประเทศทั่วโลก ผลกระทบของการป่วยไข้ทางเศรษฐกิจจีนย่อมส่งผลกับหลากประเทศ

อาร์มเกริ่นว่าหลายครั้งผู้คนในภาคนโยบายก็ประเมินหลายอย่างผิด เช่น ผลกระทบต่อสงครามการค้าต่อจีนและสหรัฐอเมริกาที่เคยประเมินว่าจะเลวร้ายเข้าขั้นหายนะ แต่ในที่สุดก็มีการปรับตัวในบริบทใหม่ หรือในกรณีผลกระทบของสงครามยูเครนที่มีการปรับตัวเรื่องพลังงานในประเทศแถบยุโรป 

“ในอดีตเคยมีความเชื่อและพูดกันอย่างแพร่หลายว่าแค่จีนฮัดเช้ยก็เป็นไข้ไปทั่วโลก แต่ ณ วันนี้ นักวิเคราะห์ทางฝั่งตะวันตกหลายคนเริ่มไม่แน่ใจว่าผลกระทบมันจะใหญ่โตขนาดนั้นไหม แน่นอนว่ามันคงมีผลกระทบ แต่อาจจะไม่ได้ถึงจุดที่เศรษฐกิจโลกจะพังไปด้วย และเราเห็นชัดเจนเลยว่าตอนนี้ก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น เพียงแต่ว่าจะมีคนที่เจ็บหนักกับคนที่เจ็บน้อย คนเจ็บหนักก็คือคนที่เศรษฐกิจเชื่อมโยงกับจีนสูงมาก คนเจ็บน้อยก็คือเศรษฐกิจไม่ค่อยเชื่อมโยงกันจีนมาก ความหมายคือใครสัมผัสจีนมากกว่าก็อาจจะไข้หนักหน่อย” อาร์มกล่าวและเสริมว่ามีงานศึกษาบอกว่าเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวส่งผลกระทบหนักที่สุดต่อเศรษฐกิจในประเทศเอเชีย ถ้าเปรียบเทียบตัวเลขการส่งออกของหลายประเทศในภูมิภาคนี้ จะเห็นว่าติดลบมาหลายเดือน ซึ่งส่วนนึงก็น่าจะเป็นเพราะผลกระทบของเศรษฐกิจจีน 

นอกจากผลกระทบจากการค้าแล้ว จีนยังลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในหลายประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียนผ่านโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (Belt and Road Initiative: BRI) อาร์มประเมินว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จะทำให้จีนจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญของโครงการและกลุ่มประเทศเป้าหมายให้เกิดความคุ้มค่าและประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากที่สุด ไม่สามารถหว่านเงินและทำทุกจุดเหมือนในอดีต อย่างไรก็ดี เราพบแง่บวกในแง่ที่หากเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นตอนเกิดปัญหา จะพบว่าทุนญี่ปุ่นออกมาลงทุนต่างประเทศ บางคนก็ประเมินว่าทุนจีนเป็นลักษณะเดียวกัน คือมีการไหลออกมาแสวงหาประโยชน์จากการลงทุน และโอกาสทางเศรษฐกิจนอกประเทศ


ถอดบทเรียนจากเศรษฐกิจพญามังกรถึงประเทศไทย


ย้อนกลับมาที่เศรษฐกิจไทย ซึ่งเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีนสูงทั้งในภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว จะเห็นได้ว่าตอนนี้ตัวเลขเศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าเป้าส่วนหนึ่งก็เพราะยอดนักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมาตามความคาดหมาย อาร์มให้ความเห็นว่าประเทศไทยควรเตรียมรับมือกับบริบทใหม่ของการเติบโตจีน แม้รายงานของบริษัทที่ปรึกษา แมคคินเซย์ แอนด์ คอมปานี (McKinsey & Company) คาดการณ์ว่าประเทศจีนจะมีตัวเลขอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 4-5 ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต แต่ยังถือว่าขนาดเศรษฐกิจยังใหญ่มหึมาที่ไม่สามารถละทิ้งได้ ขณะเดียวกัน จากสงครามการค้าและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งฝั่งจีนและสหรัฐอเมริกา นับเป็นโอกาสของประเทศขั้วที่สามอย่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน ประเทศตะวันออกกลาง ประเทศในเอเชียกลางและละตินอเมริกาที่จะคว้าโอกาสจากสถานการณ์ดังกล่าว ขณะที่นักลงทุนในบริษัทจีน อาร์มเสริมว่าอาจจะต้องวิเคราะห์แยกรายธุรกิจ เนื่องจากบางธุรกิจอาจฟื้นยาก เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่ในบางธุรกิจ เช่น ภาคการบริโภค ภาคเทคโนโลยียังคงมีโอกาสอยู่

ในช่วงท้ายของการสนทนาอาร์มได้ถอดบทเรียนที่ประเทศไทยควรเรียนรู้จากสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจจีน 3 บทเรียน

บทเรียนที่หนึ่ง เศรษฐกิจอาศัยการรักษาสมดุล ทั้งการจัดระเบียบสังคม สร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพชีวิตไปพร้อมๆ กับการรักษาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

บทเรียนที่สอง ภูมิรัฐศาสตร์จากโลกสองขั้วอำนาจที่จีนแข่งขันกับสหรัฐอเมริกากำลังเปลี่ยนโลกและจะเป็นบริบทที่เกิดขึ้นอย่างน้อย 10-20 ปี

บทเรียนที่สาม ประเทศไทยต้องคว้าโอกาสจากการแข่งขันของมหาอำนาจ โอกาสแรกคือโอกาสจากการเติบโตภายใน หาจุดเติบโตใหม่ทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานสะอาด เทคโนโลยีดิจิทัล หาเครื่องจักรใหม่เพิ่มเติมจากรายได้ของการท่องเที่ยวและการส่งออก เหมือนกับที่จีนก็พยายามสร้างลมปราณภายในของเศรษฐกิจให้เข้มแข็งและยั่งยืนขึ้น โอกาสที่สอง คือโอกาสเชื่อมโยงจากตลาดตะวันตกที่เป็นตลาดของคนรวย และตลาดจีนที่เป็นตลาดชนชั้นกลางใหญ่ที่สุดในโลก และโอกาสที่สาม โอกาสจากที่ประเทศขั้วที่สามจะเป็นจุดใหม่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก โจทย์ใหญ่ของไทย 1) บุกตลาดประเทศกำลังพัฒนาดังกล่าวอย่างไร เพื่อกระจายความเสี่ยงจากตลาดเดิมๆ และ 2) ไทยจะดึงดูดนักลงทุนและการค้าอย่างไรให้อยู่ในสายตาของเวทีโลก

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save