fbpx

ภาพถ่ายที่ทรงพลังที่สุดของโลกในคริสต์ศตวรรษที่ 20: ภาพถ่ายของเช เกบาร่า

เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ผมออกไปซื้อทุเรียนให้คนที่บ้าน ระหว่างกำลังจ่ายเงินให้กับพ่อค้าก็เหลือบไปเห็นสติกเกอร์ติดรถของเขาเป็นรูป เช เกบาร่า นักปฏิวัติหนุ่มชาวอาร์เจนตินาที่มีส่วนสำคัญในการร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับฟิเดล คาสโตรในการปฏิวัติคิวบาเมื่อ ค.ศ. 1959 ผมได้ลองถามพ่อค้าว่า รู้ไหมว่าสติกเกอร์รูปนั้นเป็นรูปของใคร คำตอบที่ได้รับคือ ไม่รู้ แต่ที่ติดเพราะว่ามันดูเท่ ดิบ เถื่อน และมุ่งมั่นดี ดังนั้นในคราวนี้ ผมจะเล่าประวัติและที่มาของภาพนี้ ซึ่งเป็นที่มาที่ทำให้ภาพของเชกลายเป็นภาพถ่ายที่ทรงพลังที่สุดของโลกในคริสต์ศตวรรษที่ 20

ภาพที่ 1: ภาพของเชที่ได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก

ภาพของเชภาพนี้เป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก ถ่ายโดยอัลเบอร์โต กอร์ดา ในวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 1960 ในกรุงลาฮาบานา เมืองหลวงประเทศคิวบา ในงานรำลึกถึงผู้ประสบเคราะห์กรรมจากการระเบิดของเรือรบฝรั่งเศสที่จอดเทียบท่าที่กรุงลาฮาบานาในวันก่อนหน้านั้น ภายในเวลา 10 ปีหลังจากภาพนี้ได้รับการเผยแพร่ ประกอบกับผลงานต่างๆ ของเช ทำให้ภาพนี้กลายเป็นเหมือนเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของเช กอร์ดาได้กล่าวไว้ว่าในขณะที่เขาถ่ายรูปนี้ เขาประทับใจในการแสดงออกทางใบหน้าของเชที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ความเจ็บปวด และความรู้สึกโกรธจากเหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้น ซึ่งในขณะนั้นเชมีอายุได้ 31 ปี

จากการที่ภาพนี้ได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก The Maryland Institute College of Art ได้ยกย่องภาพนี้ว่าเป็นภาพถ่ายสัญลักษณ์ของคริสต์ศตวรรษที่ 20 และเป็นภาพถ่ายที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก โดยภาพนี้ถูกนำไปดัดแปลง ไม่ว่าจะเป็นในรูปของภาพวาด ภาพพิมพ์ ภาพดิจิทัล รอยสัก รูปปั้น และอื่นๆ อีกมากมาย จนทำให้ The Victoria and Albert Museum ประกาศว่า ภาพของเชภาพนี้เป็นภาพถ่ายที่ถูกนำไปใช้มากที่สุดในโลกเหนือกว่าภาพอื่นๆ ทั้งหมด โจนาธาน กรีน ผู้อำนวยการของ The UCR/California Museum of Photography ถึงกับกล่าวไว้ว่า

ภาพถ่ายของกอร์ดาได้เปลี่ยนจากภาพกลายเป็นภาษาที่สื่อออกไปทั่วโลก มันได้กลายสัญลักษณ์ และมันจะปรากฎให้เห็นทุกครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใดบนโลกนี้ก็ตาม ไม่มีอะไรเลยที่จะเปรียบเทียบได้กับภาพถ่ายที่ทรงพลังนี้ได้ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ”

ย้อนกลับไปในวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1960 ซึ่งเป็นวันที่ภาพถ่ายอันทรงพลังนี้ได้ถือกำเนิดขึ้นมา เกิดเหตุการณ์ที่เรือรบของฝรั่งเศสชื่อว่า La Coubre เกิดอุบัติเหตุระเบิดขึ้นที่ท่าเรือของกรุงลาฮาบานา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน และมีผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก หลังจากที่ทราบข่าว เชได้รีบรุดไปยังที่เกิดเหตุ จากนั้นจึงขึ้นไปบนเรือเพื่อค้นหาผู้รอดชีวิต ท่ามกลางความเป็นห่วงของผู้คุ้มกันว่า อาจจะมีการระเบิดเป็นครั้งที่ 2 ทว่าการกระทำดังกล่าวก็แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น กล้าหาญ และเด็ดเดี่ยวของเชเป็นอย่างมาก

ต่อมาในวันที่ 5 มีนาคม ประธานาธิบดีคาสโตรประกาศว่า กองกำลัง CIA ของสหรัฐอเมริกาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการระเบิดครั้งนี้ และเรียกร้องให้ประชาชนออกมาไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตที่อนุสรณ์สถานโกลอนในกรุงลาฮาบานา ในขณะนั้น เชดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ขณะที่กอร์ดาเป็นช่างภาพประจำตัวของคาสโตร หลังจากการเดินทางไว้อาลัย คาสโตรได้กล่าวถ้อยคำสรรเสริญผู้เสียชีวิตด้วยถ้อยคำที่แข็งกร้าว มีการกล่าวว่าคนคิวบาจะยอมเสียสละชีวิตของตนเองเพื่อเอกราชของประเทศ 

ภาพที่ 2: ภาพการเดินไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตในวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 1960 (เช อยู่ลำดับที่สามจากซ้าย)

ขณะนั้นเองที่เวลาประมาณ 11.20 น. แม้เชปรากฏกายขึ้นมาประมาณไม่กี่วินาที แต่กอร์ดาสามารถถ่ายรูปเชเก็บไว้ได้สองรูป จากระยะห่างประมาณ 25-30 ฟุต ก่อนที่เชจะถอยหลังออกไป วินาทีนั้นเองที่กอร์ดาตระหนักได้ในทันทีว่า รูปภาพนี้น่าจะเหมาะสมที่จะใช้เป็นภาพถ่ายรูปคนเหมือน โดยเขาได้ให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่า “ผมยังจำได้เหมือนกับมันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อครู่นี้เอง ผมมองเห็นเขาจากเลนส์กล้องด้วยทีท่าของเขา ผมยังคงจำได้ไม่มีวันลืม มันทำให้ผมถึงกับมือเย็นเฉียบเพราะเขาดูโดดเด่นและทรงพลังมาก”

ภาพที่ 3: ภาพจากฟิล์มของกอร์ดาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 1960 ภาพเชจะอยู่แถวที่ 4 (ภาพที่ 2-3)

ภาพที่ 4: ภาพเชทั้งสองรูปจากฟิล์มของกอร์ดาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 1960 

ภาพที่ 5: ภาพต้นฉบับที่ถูกนำไปเผยแพร่ทั่วโลก หลังจากตัดเอาองค์ประกอบอื่นข้างเคียงออกไป ไม่ว่าจะเป็นต้นปาล์มทางด้านขวาและบุคคลทางซ้าย คือ คอร์เก้ มาเซตติ

ภาพแรกของกอร์ดาเป็นภาพของเชอยู่ตรงกลางระหว่าง คอร์เก้ มาเซตติ กับต้นปาล์ม ภาพที่สองเป็นภาพที่เหมือนมีใครสักคนอยู่ข้างหลังของเช ภาพแรกหลังจากที่ตัดองค์ประกอบที่ไม่เกี่ยวข้องกับเชออกไปทั้งหมดได้กลายมาเป็นภาพเหมือนของเชที่ถูกนำไปเผยแพร่ทั่วโลก โดยกล้องที่กอร์ดาใช้คือกล้อง Leica M2 กับเลนส์ 90 มม. และฟิล์ม Kodak Plus-X ซึ่งกอร์ดาให้สัมภาษณ์ว่า เขาไม่ได้ใช้เทคนิคพิเศษหรือขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนอะไรเลยกับการถ่ายภาพนี้ แต่เพราะความบังเอิญที่ประจวบเหมาะนั้นเอง

สำหรับตัวกอร์ดาเอง เขาไม่เคยเรียกร้องสิขสิทธิ์หรือได้รับเงินจากภาพถ่ายนี้เลย แม้จะมีการนำภาพของเชไปดัดแปลงให้อยู่ในรูปสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใดๆ ก็ตาม โดยกอร์ดาให้เหตุผลว่า ภาพของเชที่เขาถ่ายได้แสดงให้เห็นถึงจุดยืนของตัวกอร์ดาเองต่อการปฏิวัติในคิวบา ทำให้ยิ่งภาพของเชได้รับการเผยแพร่ไปมากเท่าใด แนวคิดของเชก็จะยิ่งขยายออกไปมากเท่านั้น การที่กอร์ดาปฏิเสธการรับค่าลิขสิทธิ์ในภาพของเขายังเป็นการสะท้อนอุดมการณ์มาร์กซิสม์และต่อต้านความเป็นทุนนิยมอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม กอร์ดามีความเห็นว่า เขาไม่สนับสนุนให้ใช้ภาพของเชในสิ่งที่เชรังเกียจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินค้าที่เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อบริษัทเครื่องดื่มวอดก้า Smirnoff ได้ใช้ภาพของเชในการโฆษณาประชาสัมพันธ์  กอร์ดาได้ทำการฟ้องร้องบริษัทที่ทำการโฆษณาให้กับเครื่องดื่มดังกล่าว และได้รับชัยชนะ ได้เงินค่าเสียหายกว่า 50,000 อเมริกันดอลลาร์ ซึ่งเขาเองได้บริจาคเงินทั้งหมดให้กับองค์การทางสาธารณสุขในคิวบา โดยเขาได้กล่าวไว้ว่า “ถ้าเชยังมีชีวิตอยู่ ก็คงทำตามแบบที่เขาทำอย่างแน่นอน

นักประวัติศาสตร์ชาวคิวบาอย่างเอ็ดมุนโด เดสโนเอส ได้กล่าวไว้ว่า ถึงแม้ภาพของเชจะได้รับการเผยแพร่ หรือนำไปผลิตเป็นสินค้าต่าง ๆ มากมาย แต่มันก็ยังแสดงให้เห็นถึงวิถีของการเป็นขบถ วิถีของการปฏิวัติ ต่อวัฒนธรรมหลักในตัวมันเอง ความหมายนี้มีที่มาเมื่อภาพของเชภาพนี้ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ที่ชื่อว่า การปฏิวัติ ในวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1961 ซึ่งนำเสนอข่าวการประชุมที่มี เช เกบาร่า เป็นผู้ปราศรัยหลัก แต่การประชุมครั้งนั้นต้องล่มลงเพราะมีกองทัพกบฏต่อต้านรัฐบาลคาสโตรกว่า 1,300 คนที่ได้รับการสนับสนุนจาก CIA ยกพลขึ้นบกที่อ่าวหมู ดังที่ผมได้อธิบายไว้ในบทความคราวก่อน ดังนั้นภาพของเชจึงได้รับการตีพิมพ์อีกครั้งหนี่ง เมื่อมีการประชุมครั้งใหม่เมื่อวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1961

แม้การตีพิมพ์ภาพเชทั้งสองครั้งดังกล่าวอาจมีนัยยะสำคัญว่า ในเวลาต่อมา ภาพนี้คงจะมีอิทธิพลต่อสังคมโลกไม่มากก็น้อย ทว่ากว่าที่ภาพถ่ายของเชจะเป็นที่รู้จักของคนในคิวบาอย่างกว้างขวาง ก็ต่อเมื่อชาวคิวบาได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของเชในโบลิเวีย พวกเขาได้สร้างแบนเนอร์ขนาดใหญ่เป็นรูปของเชแขวนไว้ที่ตึกห้าชั้นของกระทรวงมหาดไทยคิวบา บริเวณจัตุรัสแห่งการปฏิวัติกลางกรุงลาฮาบานา ซึ่งตึกแห่งนี้เป็นตึกที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ทำงานของเช โดยฟิเดล คาสโตร เป็นผู้ประกาศข่าวการเสียชีวิตของเชด้วยตนเองเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1967 หน้าตึกนี้ โดยมีแบนเนอร์รูปถ่ายของเชอยู่ด้านหลัง ท่ามกลางประชาชนนับล้านที่มาชุมนุมไว้อาลัยให้กับเช

ในปัจจุบัน มีการทำรูปโครงเหล็กเป็นรูปถ่ายของเชอยู่หน้าตึกที่ทำการดังกล่าว และกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่มาเยี่ยมชมกรุงลาฮาบานา

ภาพที่ 6: ด้านหน้าของกระทรวงมหาดไทยของคิวบาในปัจจุบัน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save