fbpx
หกสิบปีแห่งความล้มเหลวของสหรัฐอเมริกาในการโค่นล้มฟิเดล คาสโตร

หกสิบปีแห่งความล้มเหลวของสหรัฐอเมริกาในการโค่นล้มฟิเดล คาสโตร

ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1959 ฟิเดล คาสโตรได้นำกองกำลังของเขาบุกยึดเมืองหลวงกรุงฮาวานาจากเผด็จการนายพลฟุลเฮนซิโอ บาติสตา อี ซัลดิบาร์ แต่อุดมการณ์ของเขาในขณะนั้นยังมีลักษณะเป็นชาตินิยมที่ต่อต้านรัฐบาลของบาติสตา ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากสหรัฐอเมริกาอยู่ การล้มของรัฐบาลบาติสตาได้สร้างความกังวลให้สหรัฐอเมริกามากว่า คิวบาจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองไปในลักษณะใด

ถ้าย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ คิวบาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐอเมริกามาโดยตลอด นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากสเปนในปี ค.ศ. 1898 สหรัฐอเมริกามีผลประโยชน์ในคิวบามากมายโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมน้ำตาล การที่คาสโตรทำการปฏิวัติครั้งนี้จึงก่อให้เกิดความตระหนกต่อสหรัฐอเมริกาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเผชิญหน้าของทั้งสองประเทศได้เริ่มขึ้นผ่านการตอบโต้กันในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง รวมถึงการทหาร โดยเฉพาะในปี ค.ศ. 1961 หรือเมื่อหกสิบปีมาแล้ว ซึ่งสหรัฐอเมริกาพยายามจะโค่นล้มคาสโตรผ่านเหตุการณ์สำคัญ 2 เหตุการณ์ ผ่านทั้งมาตรการที่แข็งกร้าวและมาตรการที่นุ่มนวล แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการโค่นล้มคาสโตร ในบทความคราวนี้ ผมจะพาไปสำรวจว่าสหรัฐอเมริกาได้ดำเนินการอะไรต่อคิวบาบ้างในปีดังกล่าว

มาตรการทางการทหาร

มาตรการแรกที่สหรัฐอเมริกาทำคือ การก่อการจลาจลที่อ่าวหมู หลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับคิวบาในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 1961 รัฐบาลของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดีได้ประกาศยกเลิกการให้โควตานำเข้าน้ำตาลทรายด้วยราคาพิเศษจากคิวบา ถึงแม้ว่าในช่วงหาเสียงเป็นประธานาธิบดี เคนเนดีจะแสดงทีท่าผูกมิตรกับคิวบา แต่เมื่อเขารู้ว่า CIA ได้ทำการฝึกกองทหารคิวบาที่ต่อต้านคาสโตรไว้ที่กัวเตมาลา ก็ทำให้ท่าทีของเขาเปลี่ยนไปโดยเฉพาะหลังจากที่ทราบข่าวสำคัญสองเรื่อง

เรื่องแรกคือ ถึงรัฐบาลกัวเตมาลาจะมีทีท่าต่อต้านคาสโตร แต่ก็ไม่ต้องการให้มีกองกำลังทหารคิวบาเหล่านี้ไว้ในประเทศของตนเองเช่นกัน จึงเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาย้ายกองทัพนี้ออกไป และอีกเรื่องคือฝ่ายการข่าวของสหรัฐอเมริการับทราบว่า ทหารคิวบาของคาสโตรได้ฝึกขับเครื่องบินรบของสหภาพโซเวียตในเชโกสโลวาเกียจนสำเร็จแล้ว และกำลังเดินทางกลับมายังคิวบา

ทั้งหมดนี้ทำให้หลังจากหารือกับที่ปรึกษาทางการทหารอย่างเคร่งเครียด ในวันที่ 5 เมษายน เคนเนดีจึงตัดสินใจจะบุกคิวบา ต่อมาอีกห้าวัน กองทัพต่อต้านคาสโตรได้เตรียมเคลื่อนย้ายพลออกจากนิการากัว

การบุกยึดอ่าวหมูมีวัตถุประสงค์หลักอยู่สองประการ ประการแรกคือต้องการจะปลุกเร้าให้คนในคิวบาลุกขึ้นมาต่อต้านคาสโตร สหรัฐอเมริกาเชื่อว่าคาสโตรคงไม่ได้รับความนิยมมากนักในหมู่ชาวคิวบา ดังนั้นคนเหล่านี้จะพร้อมลุกฮือขึ้นมาต่อต้านคาสโตร และประการที่สองคือ ในกรณีที่วัตถุประสงค์แรกไม่สำเร็จ กองทัพต่อต้านคาสโตรต้องการจะยึดพื้นที่บนคิวบาให้ได้มากที่สุด ก่อสงครามกลางเมืองแล้วเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาช่วยเหลือ การบุกอ่าวยึดอ่าวหมูถูกจัดแจงให้เหมือนว่าเป็นการก่อการของกองทัพคิวบาที่ต่อต้านคาสโตรเอง โดยที่สหรัฐอเมริกาไม่มีส่วนยุ่งเกี่ยว

อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์ทั้งสองข้อล้มเหลว เพราะคาสโตรได้เตรียมการรับมือการบุกของกองทัพต่อต้านเขามาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว เขาได้สร้างกองทัพหนุนมากกว่า 200,000 นายสนับสนุนกองทัพหลัก ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1960 คาสโตรได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อการปกป้องการปฏิวัติ คณะกรรมาธิการดังกล่าวได้ขยายตัวไปครอบคลุมพื้นที่คิวบาทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อทราบข่าวว่าจะมีการบุกของกองทัพคิวบาที่ต่อต้านเขา คาสโตรได้สั่งสอบสวนคนกว่า 100,000 คนที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นเป็นใจกับการบุกในครั้งนี้ ดังนั้นความหวังข้อแรกของสหรัฐอเมริกาที่จะเห็นคนคิวบาลุกขึ้นมาต่อต้านคาสโตรจึงล้มเหลวไม่เป็นท่า

วัตถุประสงค์ข้อที่สองในการบุกที่อ่าวหมูก็ล้มเหลวเช่นเดียวกัน เนื่องจากกองทัพต่อต้านคาสโตรที่ลงมือปฏิบัติการมีกำลังพลเพียงแค่ 1,400 นายเท่านั้น และถึงแม้ว่าในวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1961 เครื่องบินรบติดสัญลักษณ์ธงชาติคิวบาจะทิ้งระเบิดใส่ฐานทัพคิวบาของคาสโตรก็ตาม ผู้แทนของคิวบาในสหประชาชาติก็ได้แจ้งในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติทันทีว่าเป็นการกระทำของสหรัฐอเมริกา ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลของเคนเนดีปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่ได้เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการกระทำดังกล่าว อีกทั้งตัวเคนเนดีก็รับรู้ได้ถึงแรงต่อต้านทั้งจากภายในประเทศและนานาชาติ เขาจึงสั่งยกเลิกการถล่มทางอากาศต่อคิวบาในวันรุ่งขึ้น ทั้งๆ ที่การถล่มในวันแรกล้มเหลวและไม่สามารถทำลายฐานทัพของคิวบาได้ ดังนั้นเมื่อกองกำลังต่อต้านคาสโตรยกพลขึ้นบกที่อ่าวหมูในวันที่ 17 เมษายน จึงพบกับกองกำลังของคาสโตรทั้งทางบกและทางอากาศ กองกำลังของคาสโตรได้จมเรือสองลำของฝ่ายต่อต้าน ส่งผลให้ท้ายที่สุดแล้ว กองกำลังฝ่ายต่อต้านคาสโตรประกาศยอมแพ้ในวันที่ 20 เมษายน ทหารฝ่ายต่อต้านถูกจับกุมไปกว่า 1,100 นาย และถูกคุมขังนานกว่า 20 เดือนกว่าที่รัฐบาลอเมริกันจะยอมแลกเปลี่ยนตัวประกันเหล่านั้นกับเครื่องอุปโภคบริโภคและเวชภัณฑ์

ผลของเหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดท้ังความอับอายแก่สหรัฐอเมริกา และยังช่วยส่งเสริมความนิยมในตัวฟิเดล คาสโตร ไม่แต่เฉพาะในคิวบาเท่านั้น แต่ยังขยายไปทั่วภูมิภาคลาตินอเมริกา และทำให้คิวบาหันไปกระชับความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

การริเริ่มโครงการ ‘พันธมิตรเพื่อความก้าวหน้า’

เมื่อมาตรการแรกที่เป็นมาตรการด้านการทหารในการโค่นล้มฟิเดล คาสโตร ล้มเหลว รัฐบาลของเคนเนดีจึงได้เริ่มดำเนินการมาตรการที่สอง คือการริเริ่มโครงการ ‘พันธมิตรเพื่อความก้าวหน้า’ (The Alliance for Progress) ซึ่งแตกต่างไปจากมาตรการก่อนๆ ที่สหรัฐอเมริกาพยายามทำกับคิวบาภายใต้การนำของฟิเดล คาสโตร ไม่ว่าจะเป็นการตัดความสัมพันธ์ทางการทูต การคว่ำบาตรทางการค้า หรือการแทรกแซงทางการทหาร ที่ต่างก็มีมุมมองว่าคาสโตรพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงลาตินอเมริกาทั้งภูมิภาคให้เหมือนคิวบา แต่โครงการพันธมิตรเพื่อความก้าวหน้ามองในอีกมุมหนึ่งว่า การเปลี่ยนแปลงในคิวบาน่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเอาอย่างจากประเทศอื่นๆ ในลาตินอเมริกา โครงการนี้จึงได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1961 โดยมีเป้าหมายที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการปฏิวัติด้วยการมุ่งเน้นไปที่ต้นตอที่เป็นสาเหตุของการปฏิวัติ อาทิ เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสังคมเพื่อก่อให้เกิดความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อกำจัดความยากจน และส่งเสริมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นทั่วภูมิภาคลาตินอเมริกา

ถ้าให้กล่าวโดยสรุปคือ โครงการพันธมิตรเพื่อความก้าวหน้าเป็นความพยายามที่จะพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคนในลาตินอเมริกาให้ดีขึ้นนั่นเอง

โครงการพันธมิตรเพื่อความก้าวหน้าตระหนักดีว่า ในขณะนั้น ภูมิภาคลาตินอเมริกามีความรู้สึกต่อต้านสหรัฐอเมริกาและมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการปฏิวัติเหมือนที่เกิดขึ้นในคิวบา ยกตัวอย่างเช่นในการเดินทางไปเยือนประเทศต่างๆ ของอดีตรองประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ในปี ค.ศ. 1958 ที่เกิดการจลาจลต่อต้านถึงขนาดมีการปามะเขือเทศใส่เขา ประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ได้สั่งการให้มูลนิธิร็อกเกอะเฟลเลอร์ศึกษาว่ามีปัจจัยใดที่ทำให้คนในลาตินอเมริกาไม่พอใจสหรัฐอเมริกา และในปีเดียวกันนั้นเอง เคนเนดีที่ยังเป็นวุฒิสมาชิกได้เรียกร้องให้มีการจัดตั้งโครงการเพื่อช่วยในการพัฒนาลาตินอเมริกา เสียงเรียกร้องดังกล่าวได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทั้งนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในลาตินอเมริกาขณะนั้น

ขณะเดียวกัน ประเทศต่าง ๆ ในลาตินอเมริกาก็เรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาดำเนินการจัดตั้งโครงการช่วยเหลือเหมือนกับโครงการมาร์แชลที่สหรัฐอเมริกาจัดตั้งขึ้นให้ความช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในยุโรปภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 อาทิ ประธานาธิบดีของบราซิลที่ได้เรียกร้องให้มีโครงการการดำเนินงานเพื่อแพนอเมริกา (An Operation Pan-America) ในปี ค.ศ. 1958 แม้กระทั่ง ฟิเดล คาสโตรเองในการประชุมสุดยอดผู้นำในลาตินอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1959 ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ก็ได้เรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาบริจาคเงินสามหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยพัฒนาลาตินอเมริกาในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1960 

โครงการพันธมิตรเพื่อความก้าวหน้าเป็นโครงการความร่วมมือของประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกา โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นสปอนเซอร์หลักในการให้งบประมาณสองหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นเวลาสิบปี เพื่อให้ประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกานำไปใช้ในการปฏิรูปด้านต่างๆ โดยเฉพาะทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ มีการตั้งเป้าหมายไว้ว่าแต่ละปี ประเทศในลาตินอเมริกาจะต้องเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างน้อยร้อยละ 2.5 มีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม การปฏิรูประบบภาษี การปฏิรูปภาคการเกษตรอย่างเข้มข้น ลดอัตราผู้ที่ไม่รู้หนังสือ มีการศึกษาภาคบังคับอย่างน้อย 6 ปี การปรับปรุงระบบการสาธารณสุขเพื่อขยายอายุขัยของคนในภูมิภาค เพิ่มจำนวนที่อยู่อาศัยและการบริการสำหรับคนที่มีรายได้น้อย ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีเคนเนดีก็หวังว่า ประชาธิปไตยจะเติบโตไปด้วยตลอดคริสต์ทศวรรษที่ 1960 โดยแต่ละประเทศจะได้รับความช่วยเหลือก็ต่อเมื่อมีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างน้อยภายในเวลาปีครึ่งหลังจากลงนามในโครงการดังกล่าว

จะเห็นได้ว่าโครงการพันธมิตรเพื่อความก้าวหน้าตั้งเป้าหมายไว้สูงมาก โดยคาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จเหมือนโครงการมาร์แชล แต่เมื่อลงมือปฏิบัติจริงกลับประสบความสำเร็จน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ระหว่างปี ค.ศ. 1961-1968 สหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรในยุโรปสนับสนุนเงินโดยเฉลี่ยปีละสองพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลักษณะเงินให้กู้ยืม แต่การเบิกจ่ายจริงมีประมาณหนึ่งพันหนึ่งร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐและถูกนำไปใช้คืนหนี้สินที่ค้างชำระ เหลือเงินที่จะเอาไปพัฒนาจริงๆ เพียงประมาณ 638 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็ถือว่าทั่วทั้งภูมิภาคลาตินอเมริกาเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบการประปา ที่อยู่อาศัย จำนวนสถานพยาบาลที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับปรุงระบบถนน อีกทั้งสหรัฐอเมริกายังส่งอาสาสมัครไปช่วยพัฒนาโครงการต่างๆ ทั่วลาตินอเมริกาอีก 16,000 คน

ในบรรดาประเทศทั้งหมดในลาตินอเมริกาที่เข้าร่วมโครงการพันธมิตรเพื่อความก้าวหน้า เวเนซุเอลาและชิลีเป็นสองประเทศที่ประสบความสำเร็จค่อนข้างมากกว่าประเทศอื่นๆ กล่าวคือทั้งสองประเทศมีการปฏิรูประบบการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยยึดที่ดินจากเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่มาแจกจ่ายให้กับคนที่ไร้ที่ดินทำกิน มีการลงทุนเพื่อพัฒนาชนบทและสลัมในเขตเมือง รวมถึงการปฏิรูประบบภาษี ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และพยายามส่งเสริมการกระจายรายได้ให้เท่าเทียม ทางด้านการเมืองก็มีการเปิดโอกาสให้กลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น จึงอาจจะกล่าวโดยสรุปได้ว่า ถึงแม้จะไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่โครงการพันธมิตรเพื่อความก้าวหน้าตั้งไว้ไปเสียทั้งหมด แต่เวเนซุเอลาและชิลีก็เป็นตัวอย่างของการพัฒนาที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการดังกล่าว ที่สหรัฐอเมริกาพยายามเชิดชูให้เป็นตัวอย่างเพื่อต่อต้านแนวทางการปฏิวัติตามรูปแบบที่เกิดขึ้นในคิวบา

แต่เมื่อกลับมามองภาพรวมของโครงการพันธมิตรเพื่อความก้าวหน้าในระดับภูมิภาคพบว่า ค่าเฉลี่ยของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอยู่ที่ร้อยละ 1.8 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของโครงการที่ประมาณการไว้ที่ร้อยละ 2.5 การกระจายรายได้มีแนวโน้มแย่ลง ขณะเดียวกันการปฏิรูปต่างๆ ก็ไม่ประสบความสำเร็จตามที่โครงการพันธมิตรเพื่อความก้าวหน้าตั้งเป้าหมายไว้ ทางด้านการเมืองก็เต็มไปด้วยผู้นำเผด็จการทางการทหารแทนที่จะเป็นประชาธิปไตย

สาเหตุหลักที่โครงการพันธมิตรเพื่อความก้าวหน้าล้มเหลวเกิดขึ้นเนื่องจากปัจจัยภายในของประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกาเอง ผู้นำเผด็จการในแต่ละประเทศไม่ต้องการเห็นกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยเกิดขึ้นในประเทศของตัวเอง ชนชั้นนำก็ไม่ต้องการเสียสละอำนาจของตนให้กับกลุ่มชนชั้นแรงงาน คนรวยไม่ต้องการที่จะสูญเสียความมั่งคั่ง เจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ก็ขัดขวางการออกกฎหมายหรือนโยบายปฏิรูปที่ดิน อาจกล่าวโดยภาพรวมว่าโครงการพันธมิตรเพื่อความก้าวหน้าล้มเหลวไม่เป็นท่า เพราะชนชั้นนำของประเทศหันไปเลือกใช้อำนาจของกองทัพเพื่อต่อต้านแนวทางการปฏิวัติของคิวบา แทนที่จะเลือกการพัฒนาประเทศด้วยแนวทางประชาธิปไตย

กล่าวโดยสรุป จะเห็นว่าสหรัฐอเมริกาล้มเหลวในการโค่นล้มฟิเดล คาสโตร แม้จะใช้ความพยายามทุกวิถีทางก็ตาม ขณะที่คาสโตรก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติคิวบาและเป็นฮีโร่ของขบวนการเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายในประเทศต่างๆ ไม่เฉพาะแต่ในลาตินอเมริกาเท่านั้น เขาได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 2016 ด้วยวัย 90 ปี ถือเป็นการสิ้นสุดตำนานชีวิตของนักสู้จากเกาะเล็ก ๆ แต่มีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วโลก การปฏิวัติของเขาในคิวบาสร้างความหวังของการมีชีวิตที่ดีขึ้นให้กับคนยากจนทั่วภูมิภาคลาตินอเมริกา และถึงแม้เขาจะไม่อยู่บนโลกใบนี้แล้ว ชื่อ ‘ฟิเดล คาสโตร’ จะยังคงอยู่ในความทรงจำของคนทั้งในคิวบาและทั้งโลกใบนี้ไปอีกนานแสนนาน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save