fbpx
คาราบาว’s 'เมดอินไทยแลนด์' บทเพลงร่วมสมัยฉลองประเทศไทยในโลกที่สาม

คาราบาว’s ‘เมดอินไทยแลนด์’ บทเพลงร่วมสมัยฉลองประเทศไทยในโลกที่สาม

ถ้าต้องเลือกเพลงไทยหนึ่งอัลบั้มที่จัดว่า ‘ร่วมสมัย’ สำหรับตัวเอง ในความหมายว่า สะท้อนความเป็นไปของสังคมไทยตั้งแต่จำความได้จวบจนถึงปัจจุบัน ผมคงไม่ลังเลที่จะเลือกอัลบั้ม ‘เมดอินไทยแลนด์

เมดอินไทยแลนด์เป็นอัลบั้มชุดที่ 5 ของวงคาราบาว ออกวางจำหน่ายในเดือนธันวาคม 2527 นอกจากจะเป็นอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของคาราบาวเองแล้ว ก็ยังเป็นอัลบั้มที่ขายดีที่สุดของประเทศไทยด้วย โดยมียอดขายเทปสูงถึง 5 ล้านตลับ

ในปี 2527 ประเทศไทยมีประชากร 50 ล้านคน และมีรายได้ประชาชาติต่อหัวเพียง 790 ดอลลาร์สหรัฐ

เกือบ 40 ปีต่อมา ตัวเลขมหภาคเปลี่ยนแปลงไปมหาศาล ไทยมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 66 ล้านคน และมีรายได้เฉลี่ย 7,050 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2563)

แต่เมื่อได้ฟังอัลบั้มเมดอินไทยแลนด์ ทีละเพลงอีกครั้ง ผมกลับตะลึงกับความ ‘ร่วมสมัย’ อันน่าทึ่ง เพราะความใฝ่ฝันของคนจน ความระทมของคนรวย และความซวยของชะตากรรมแห่งสังคม กลับดูเหมือนๆ เดิมแทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนไปนัก

อยากชวนผู้อ่านมาฟังอัลบั้มนี้กันอีกสักรอบ แต่เรียงลำดับเพลงใหม่ตามสถานภาพทางเศรษฐกิจ จากคนจน -> ชนชั้นกลาง -> คนรวย เพื่อดูว่าชีวิตตัวเราและเพื่อนร่วมชาติแตกต่างจากอดีตสักแค่ไหน

:: ชะตากรรมคนจนกับเพดานการเลื่อนสถานะ ::

จากทั้งหมด 10 เพลงในอัลบั้ม มีอยู่ 5 เพลงที่เล่าชีวิตคนจนเป็นหลักคือ ลูกหิน บัวลอย นางงามตู้กระจก หำเทียม และมหาลัย

หรีดหริ่งเรไรร้องระงมมา ชมแสงจันทราว่าเพลานอน
ราตรีนี้มีเราเพียงสองคน ผ่านความทุกข์ทนตรากตรําทํางาน

เพลง ‘ลูกหิน’ – คาราบาว

เสียงดนตรีและบทเปิดของ ‘ลูกหิน’ ไพเราะจับใจ เพลงเล่าเรื่องครอบครัวพ่อเลี้ยงเดี่ยวหาเช้ากินค่ำ โดยมีการศึกษาเป็นเพียงความหวังเดียวสำหรับการเลื่อนสถานะของลูก แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีค่าแป๊ะเจี๊ยะเป็นกำแพงกั้นขวางไม่ให้เด็กจากครอบครัวยากจนเข้าถึงการศึกษาดีๆ ได้

เรียนเข้าไปลูก ถึงลูกจะเรียนโรงเรียนวัด พ่อไม่มีเงินยัดลูกไปโรงเรียนดีดี ลุยเข้าไปลูก เรียนเข้าไปให้มันได้เสีย ไม่ต้องมีแป๊ะเจี๊ยะไม่ต้องเสียใจหรอก

เพลง ‘ลูกหิน’ – คาราบาว

ประเทศไทยปี 2564 ต่างจากเดิมหรือไม่ ถึงแม้เราจะมีนโยบาย ‘เรียนฟรี’ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่กำหนดให้รัฐต้องจัดการศึกษา 12 ปีให้ประชาชนโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย แต่พ่อแม่ผู้หาเช้ากินค่ำล้วนทราบกันดีว่า ในทางปฏิบัติโรงเรียนจำนวนมากแค่แปลง ‘ค่าเล่าเรียน’ ไปเป็นค่าธรรมเนียมอื่นๆ แทน ไม่ว่าจะเป็นค่าสมาคมครูผู้ปกครอง ค่าทักษะคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่การบังคับจ่ายในนามของ ‘การบริจาค’

แล้วยิ่งในปัจจุบัน คุณภาพการศึกษาระหว่างโรงเรียนอินเตอร์ โรงเรียนชื่อดัง และโรงเรียนท้องถิ่น ห่างกันออกไปทุกทีๆ ลูกหินยุค 4.0 อาจไม่ต้องจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะแบบเดิม แต่ก็ต้องเผชิญกับเพดานการเลื่อนสถานะแบบ 4.0 เช่นกัน

แม้เด็กไทยจะเข้าสู่ระบบการศึกษาได้มากขึ้น แต่ชีวิตคนจนก็ไม่มีทางเลือกมากนัก ถ้าเป็นเพศชาย เมื่อถึงวัยฉกรรจ์ก็ต้องถูกเกณฑ์เป็นทหาร ในทศวรรษที่ผ่านมา กองทัพไทยต้องการทหารกองประจำการปีละประมาณ 100,000 นาย หากเคราะห์ซ้ำกรรมซัดก็อาจต้องไปอยู่ด่านหน้าที่ต้องออกรบพบความเสี่ยงเหมือนชีวิตของ ‘บัวลอย’ ที่ชีวิตพบจุดจบเพื่อชาติพี่น้อง

บัวลอยถึงวัยเกณฑ์ทหาร พิกลพิการยังดีหนึ่งประเภทสอง อาสารับใช้ชาติพี่น้อง หัวใจคับพองกล้าหาญอดทน
…วันหนึ่งมีเสียงปืนคําราม บัวลอยถูกหามมาในเปลผ้าใบ ยังละเมอห่วงว่าใครเป็นอะไร คือคําพูดสุดท้ายของชายชื่อบัวลอย

เพลง ‘บัวลอย’ – คาราบาว

หากโชคดีมีชีวิตรอดจากค่ายทหารมาได้ ชายหนุ่มจำนวนไม่น้อยคงตั้งความหวังฝากชีวิตไว้กับการทำนาทำไร่ที่บ้านเกิด ในปัจจุบัน ภาคเกษตรก็ยังคงบทบาทสำคัญอยู่เช่นเดิม เพราะเป็นภาคที่จ้างแรงงานรวมถึงร้อยละ 30 ของกำลังแรงงานทั้งประเทศ ครอบคลุมประชากร 6 ล้านครัวเรือน โดยรายงานของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่าครัวเรือนเกษตรกรไทยเกือบหนึ่งในสามมีหนี้สินเกินรายได้ต่อหัวต่อปี (ปี 2560)

ชีวิตเกษตรกรไทยปัจจุบันจึงแทบไม่ต่างจากที่คาราบาวเล่าเรื่องราวชีวิตของ ‘หำเทียม’ ในทศวรรษ 2520 ที่ฝันแค่อยากจะทำนาเลี้ยงตัว แล้วก็แต่งเมียให้เป็นหลักเป็นฐาน แต่ความฝันที่เบาบางเพียงใยแมงมุมก็ยังต้องถูกฉีกขาดด้วยกับดักหนี้สินและวัฏจักรผลผลิตที่อยู่เหนือการควบคุมของเขา

หำเทียมเป็นเพลงสนุกสนาน แต่เมื่อค่อยๆ ฟังทีละถ้อยทีละคำก็จะได้ยินแต่ความลำเค็ญ

ก่อนนี้มีที่นาทำเนา อีตอนเค้าลงค่าข้าว หำเอาที่นาจำนอง เหลือหน่อยเดียวพอได้เก็บเกี่ยวใส่ท้อง ฝนไม่มาไม่มอง ท้องไม่มีที่ไม่พอ ต้องขอเช่าเงินเก่าหำลงหมด ไม่ทำหำอดใครจะปลดหนี้สิน ทำเท่าใดได้คนอื่นเอาไปกิน ดอกที่จำนองดิน มันหินมันเกลือเค็มๆ

เพลง ‘หำเทียม’ – คาราบาว

หากเกิดเป็นหญิงในครอบครัวยากจน สายลมแห่งโชคชะตาก็อาจพัดพาไปดังในเพลง ‘นางงามตู้กระจก’ ที่เล่าถึงการเข้าสู่ธุรกิจค้าประเวณีเพราะความจำกัดของโอกาสในชีวิตเมื่อทศวรรษ 2520 ซึ่งผู้หญิงวัยทำงานต้องรับภาระเลี้ยงดูทั้งเด็กและคนชราของครอบครัว ไม่มีตาข่ายรองรับของสังคมช่วยพยุง

ความยากจนใครทนได้ พ่อก็แก่แม่ไม่สบาย น้องหญิงชายวัยกำลังหม่ำ…ทอดถอนใจไม่คำนึง หวังวันหนึ่งให้ผ่านไป เพี่อพ่อแม่เป็นอยู่สบาย น้องหญิงชายได้เล่าเรียน

เพลง ‘นางงามตู้กระจก’ – คาราบาว

สิ่งที่แตกต่างจากปี 2527 อย่างชัดเจนสำหรับเด็กชายและเด็กหญิงจากครอบครัวยากจนคือช่องทางการเข้าถึงเงินทุน เพราะมีการจัดตั้งกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ขึ้นเมื่อต้นทศวรรษ 2540 ทำให้คนจนจำนวนมากสามารถกู้เงินเพื่อศึกษาต่อถึงระดับอุดมศึกษา อย่างไรก็ดี ถึงเขาและเธอจะเอาตัวรอดมาได้จนจบมหาวิทยาลัย ก็ไม่ได้แปลว่าจะหางานดีๆ ทำใช้หนี้ได้ ชะตากรรมอาจไม่ต่างจากชีวิตบัณฑิตในเพลง ‘มหาลัย’ เมื่อ 30 กว่าปีก่อนอยู่ดี

มหาลัย มหาหลอก เด็กชายบ้านนอก เด็กหญิงบ้านนา ร่ำเรียนรู้ในวิชา แต่จบออกมายังไม่มีงานทำ…ไม่เห็นเหมือนคนโบรํ่าโบราณ จบแล้วได้งานเป็นเจ้าคนนายคน

เพลง ‘มหาลัย’ – คาราบาว

แล้วปัญหาคืออะไร ในเมื่อพวกเขาอดทนเก็บหอมรอมริบ กัดฟันกู้เงินเรียนจนจบปริญญาตามที่สังคมคาดหวังแล้ว เหตุใดจึงหางานไม่ได้ เพลงมหาลัยบอกเหตุผลไว้แล้ว

มีความรู้สู้เขาไม่ได้ เส้นเล็กเส้นใหญ่เส้นก๋วยจั๊บไม่มี นามสกุลไม่สง่าราศี เป็นลูกตามีเป็นแค่หลานยายมา อนาคตคงหมดความหมาย

เพลง ‘มหาลัย’ – คาราบาว

แน่ล่ะ นั่นฟังดูเหมือนระบบอุปถัมภ์ของทศวรรษ 2520 เสียมากกว่าปี 2564 เส้นสายและนามสกุลยังเป็นตัวกำหนดว่าใครจะได้งานดีๆ ในสังคมไทยอยู่อีกหรือ ผมไม่แน่ใจว่านี่เป็นประโยคคำถามหรือประโยคบอกเล่า

สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้ความทุกข์และเพดานโอกาสของคนจนคือ ค่านิยมที่ (ควร) ยึดถือ เพราะหลายเพลงของคาราบาวได้แฝง ‘ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย’ ไว้แล้วว่า หากเราเกิดมาเป็นคนจนเราควรคิดอย่างไรกับชีวิตและสังคม

โลกนี้ไม่สมประกอบ เพราะบางคนชอบเอาแต่ประโยชน์ส่วนตน โลกนี้มีสักกี่คน  เป็นบัวหลุดพ้นดังคนชื่อบัวลอย

เพลง ‘บัวลอย’ – คาราบาว

เมื่อไพร่ฟ้าชาวนาใบหน้ามัน ดังถูกเขาจับทำหมันอยู่กันไปตามยถา…ความจนถึงมันเป็นอุปสรรค แต่ของชอบของรักใครจะหักใจลง เห็นวัวควายผสมหลอดแล้วนึกปลง อีกไม่นานหำคงต้องลงเข้าคิวผสมเทียม

เพลง ‘หำเทียม’ – คาราบาว

จงภาคภูมิใจในความยากจน พ่อไม่ใช่คนขี้โกงขี้กิน คนเรามีค่าใช่เพียงทรัพย์สิน เราเกิดบนดินควรทดแทนคุณ ใฝ่คุณธรรม ทําแต่ความดี มีอิ่มมีพอ ขออย่าสะสม

เพลง ‘ลูกหิน’ – คาราบาว

:: ความระทมของชนชั้นกลางและไฮโซโลกที่สาม ::

ต่อให้โชคดีเกิดมาในครอบครัวที่พอมีอันจะกิน การใช้ชีวิตในสังคมไทยก็ไม่ได้ง่ายดายนัก อีก 3 เพลงในอัลบั้มเล่าเรื่องชนชั้นกลางและคนรวยของสังคมไทยในช่วงกลางทศวรรษ 1980 ไว้อย่างแสบสัน และยิ่งแสบกว่านั้นเมื่อเราฟังซ้ำในศตวรรษที่ 21

เจียมเพราะจนเป็นคนอย่างข้า เกิดเป็นราชาเงินผ่อนเมืองไทย

เพลง ‘ราชาเงินผ่อน’ – คาราบาว

ท่อนเปิดของเพลง ‘ราชาเงินผ่อน’ ฟังกี่ครั้งก็ครื้นเครง โดยเฉพาะเวลาที่จะต้องจ่ายค่าบ้าน-ค่ารถ-ค่าบัตรเครดิตประจำเดือน

เพลงนี้ยังเปิดประเด็นว่าด้วยค่าแรงที่ไม่คุ้มกับการทำงาน และความหวังที่อยากเห็นรัฐช่วยคุมราคาสินค้าและยกระดับคุณภาพชีวิต แต่ก็เป็นการบ่นด้วยท่าทีแบบ “รัฐช่วยก็ดีใจ แต่ยังไงทุกอย่างก็ขึ้นกับตัวเรา” ซึ่งน่าจะเป็น Growth Mindset ของชนชั้นกลางไทยที่ถ่ายทอดจากรุ่น Baby Boomer สู่ Gen-X และ Gen-Y ได้อย่างแนบเนียนไร้รอยต่อ

ทํางานทําเงินทําเกินเงินเดือน เศรษฐกิจคลาดเคลื่อน เงินเดือนไม่พอใช้ ให้เราทํางานทําแลกเงินตรา แต่ต่อตีราคาตํ่ากว่าความเป็นไป

…อย่าให้สินค้าแพง อย่าให้แรงงานถูก อย่าให้ใครมาผูกตลาดค้าของไทย

…ความสุขเล็กน้อยนี่ว่าจะถอยวีดีโอ มาฉายดูหนังโป๊ที่กลาดเกลื่อนเมืองไทย ให้ลืมทุกข์โศกลืมโลกวกวน ลืมหน้าคนบางคน ที่ชอบเอาเปรียบอยู่รํ่าไป

…อันเมืองไทยใหญ่อุดม ดินดีสมเป็นนาสวน เพื่อนเอ๋ยเราชักชวน ต้องช่วยกันมุ่งหมั่นธรรม

เพลง ‘ราชาเงินผ่อน’ – คาราบาว

น่าเสียดายที่พี่แอ๊ดตอนรวยเขียนเพลงได้ไม่คมเท่าเดิม ทำให้เราไม่เห็นเรื่องเล่าคนรวยแบบอินไซด์ ถึงกระนั้น อัลบั้มนี้ก็พอมีภาพไฮโซไทยยุค’80s ให้เราเห็นในเพลง ‘สองเฒ่าผู้ยิ่งใหญ่’ ซึ่งผู้เฒ่าคนรวยสะสมความมั่งคั่งได้ตามสูตรสำเร็จของประเทศโลกที่สาม นั่นคือเป็นเจ้าที่ดิน หารายได้จากค่าเช่าที่กับดอกเบี้ย และสำแดงความไฮโซต่อสาธารณะผ่านการมีบริวารล้อมหน้าล้อมหลัง

ผู้เฒ่าไม้เท้าทองคํา สร้างตึกสูงลํ้า เสียดฟ้าเสียดเมฆ นั่งคิดคํานวณตัวเลข ทุกคํ่าทุกเช้าคิดแต่เอากําไร เฝ้าดูตาม้าตาเรือ ความคิดเหลือเฟือ เต็มห้องแอร์คอนดิชั่น จิบบรั่นดีคลี่คลายความฝัน ทุกคืนทุกวันฝันถึงผลกําไร

มีที่ดินพันหมื่นแสนไร่ รถยนต์มากมาย กว่าร้านขายรถยนต์ บริวารวิ่งกันสับสน ต้องเลี้ยงผู้คน แทนฝูงวัวควาย

เพลง ‘ราชาเงินผ่อน’ – คาราบาว

ถึงแม้เศรษฐกิจไทยจะเปลี่ยนไปไม่น้อยในหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่จากข้อมูลที่ดินในปี 2555 อ.ดวงมณี เลาวกุล พบว่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคของการถือครองที่ดินในประเทศไทยมีค่าสูงถึง 0.886 โดยหนังสือพิมพ์ Bangkok Post (June 18, 2014) รายงานว่า 4 กลุ่มที่ถือครองที่ดินสูงสุดในไทย ได้แก่ ตระกูลสิริวัฒนภักดี (630,000 ไร่) ตระกูลเจียรวนนท์ (200,000 ไร่) บมจ. สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (44,000 ไร่) และสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ (30,000 ไร่) ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี การเป็นมหาเศรษฐีในประเทศไทยไม่ได้การันตีว่าจะปราศจากความตรอมตรม เพลง ‘ลูกแก้ว’ เล่าให้ฟังว่าปัญหาใหญ่ของไฮโซไทยคือ ลูกไม่ได้ดังใจ

ฐานะค่อนข้างรวย หาเงินตัวเป็นเกลียว ทําเพื่อหวังสิ่งเดียว นั้นคือเงินตรา เงินตรา ไม่ค่อยมีเวลาสั่งสอน อบรมตักเตือน ลูกชายกําลังโต ขาดที่พึ่งทางใจ ใช้กําลังทุน ให้ความอบอุ่นไม่ได้

เพลง ‘ลูกแก้ว’ – คาราบาว

แต่ในปี 2527 จุดจบของ ‘ลูกแก้ว’ ที่ถูกเลี้ยงตามใจจนก่ออาชญากรรมไม่ใช่การหลบหนีไปต่างประเทศ หากต้องรับ ‘โทษทัณฑ์’ ตามคำสั่งศาล การตะโกนว่า “ใครจับฉันมาขัง พ่อแม่ฉันรวย…ช่วยที” ไม่ได้ส่งผลอะไร

ในแง่นี้ ชีวิตของลูกแก้วน่าจะแตกต่างจากปัจจุบัน เพราะยุคนี้ ครอบครัวไฮโซโลกที่สามสามารถหาที่ปรึกษาด้าน Legal and Justice Solution Provider ได้ง่ายขึ้น เมื่อเลี้ยงลูกไม่ได้ดังใจ ก็หันไปใช้อิทธิพลควบคุมผลของพฤติกรรมลูกแทน

:: ความสามารถทางการผลิต
และบทบาทในเวทีโลก ::

นอกจากเรื่องเล่าของคนจน ชนชั้นกลาง และเศรษฐีไทยในทศวรรษ 2520 แล้ว ยังมีอีก 2 เพลงที่พูดเรื่องระดับมหภาค จับประเด็นใหญ่ของยุคสมัยไว้อย่างแหลมคม

เพลงที่เรื่องราวดูห่างไกลจากเพลงอื่นที่สุดอย่าง ‘เรฟูจี’ กลับล้ำยุคมากเมื่อฟังอีกครั้งในปี 2564 เพราะแสดงให้เห็นว่าอัลบั้มที่ขายที่สุดของประเทศขณะนั้นเลือกที่จะพูดถึงประเด็นระหว่างประเทศอย่างการลี้ภัยด้วย (มีเพลงดังยุคนี้ที่พูดถึงการเมืองและสงครามระหว่างประเทศ?) ทั้งยังพูดด้วยท่าทีที่ค่อนข้างเปิด ต่างจากยุคนี้ที่ความสนใจของสังคมและวงนโยบายไทยดูเหมือนจะหมกหมุ่นกับเรื่องภายในประเทศ (inward looking) เป็นหลัก

เวิ้งฟ้ากว้างทางฝัน ชีวันนั้นมืดมน ทนทุกข์ทน ทุกข์ทน สู้ทนสู้ต่อไป ไกลห่างไกลสุดสายตา ลอยล่องในนาวาถึงคราไร้แผ่นดิน

…เวิ้งฟ้ากว้างกลางนํ้า เรือลําน้อยล่องมา มาล่องมาเข้ามา เข้ามาหาแผ่นดิน ดินถิ่นนี้มีนํ้าตา มีเหลือวันเวลาถ้ามาเพื่อดับไฟ

เพลง ‘เรฟูจี’ – คาราบาว

แต่ทั้งหมดทั้งปวงแล้ว เพลงที่สรุปรวบยอดปัญหาเศรษฐกิจไทยได้ดีที่สุดก็คือเพลงนำที่เป็นชื่ออัลบั้มอย่าง ‘เมดอินไทยแลนด์’ นั่นเอง ที่เย้ยเยาะยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบมุ่งเป็น ‘ฐานการผลิต’ ของไทยไว้อย่างเจ็บแสบ

เมดอินไทยแลนด์ แฟนแฟนเข้าใจ ผลิตผลคนไทยใช้เองทําเอง ตัดเย็บเสื้อผ้ากางโกงกางเกง กางเกงยีนส์ แล้วขึ้นเครื่องบินไปส่งเข้ามา คนไทยได้หน้า ฝรั่งมังค่าได้เงิน

เพลง ‘เมดอินไทยแลนด์’ – คาราบาว

เพลงนี้เขียนขึ้นในยุค ‘ประชาธิปไตยครึ่งใบ’ ที่มีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรียาวนาน 8 ปี (มีนาคม 2523 – สิงหาคม 2531) ในทางเศรษฐกิจ สื่อมวลชนขนานนามยุคนี้เป็น ‘ยุคโชติช่วงชัชวาล’ เพราะเศรษฐกิจเติบโตได้ดีกว่าช่วงต้นทศวรรษ 2520 ที่ไทยเผชิญปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและมีภาวะขาดดุลการคลังต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี การขยายตัวของเศรษฐกิจในยุคนั้นทำให้สังคมไทยละเลยเหตุที่มาของการเติบโต ไม่ตั้งคำถามว่าเรากำลังพัฒนาไปถูกทางจริงหรือ

เพราะข้อตกลงพลาซา (Plaza Accord) ปี 2528 ที่นำไปสู่การปรับค่าเงินของญี่ปุ่นและการหันออกมาลงทุนต่างประเทศครั้งใหญ่ในยุคนั้น ทำให้ไทยพลอยได้รับอานิสงส์ของการเป็นฐานการลงทุนสำคัญสำหรับบริษัทญี่ปุ่น เงินไหลเข้ามหาศาลทำให้เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการลงทุนจากต่างชาติจนเคยชิน หลงลืมเรื่องที่สำคัญกว่าอย่าง ‘ความสามารถทางการผลิต’ (production capabilities) เพราะเหล่าเทคโนแครตไทยสนใจเพียงการทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อและเศรษฐกิจมหภาคดีพอจะรักษา ‘ความเชื่อมั่นนักลงทุน’ เป็นหลัก

หากเราพิจารณาข้อมูลการเติบโตของรายได้ประชาชาติต่อหัว เปรียบเทียบระหว่างไทยกับ ‘เสือเศรษฐกิจ’ ที่เริ่มพัฒนามาไล่เลี่ยกับเราอย่างเกาหลีใต้ ไต้หวัน หรือสิงคโปร์ ก็จะพบว่าเราถูกทิ้งห่างออกไปอย่างชัดเจนก็ในช่วงทศวรรษ 2520 นี่เอง เพราะนอกจากจะเติบโตไม่เท่าเสือเอเชียตะวันออกที่เน้นสร้างเทคโนโลยีของตนเองแล้ว ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของไทยก็ยังทะยานสูงลิ่วในช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบด้วย

สังคมไทยเคยถอดบทเรียนของ ‘ยุคโชติช่วงชัชวาล’ กันจริงจังหรือไม่ ความหมกมุ่นกับตัวเลขมหภาคและเม็ดเงินลงทุนยังครองหัวข่าวและความสนใจเหนือความสามารถทางการผลิตหรือเปล่า เราเคยเรียนรู้ความผิดพลาดอะไรจากประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของตัวเองบ้าง

เขาไม่ได้หลอกเรากิน หลอกเรานั่นหลอกตัวเอง

เพลง ‘เมดอินไทยแลนด์’ – คาราบาว

เช่นนี้เอง อัลบั้มเมดอินไทยแลนด์ของคาราบาวจึงมีแต่บทเพลง ‘ร่วมสมัย’ ของสังคมไทย เพราะเล่าเรื่องราวที่สะท้อนความเป็นไปของสังคมไทยตั้งแต่วางแผงเมื่อปี 2527 จวบจนถึงปัจจุบันได้อย่างขันขื่น

ว่าแล้วก็มาเปิดทั้ง 10 เพลงฟังอีกสักรอบครับ แต่เรียงลำดับใหม่ ไล่จากเรื่องราวของคนจน สู่ชนชั้นกลาง คนรวย ก่อนจะปิดท้ายด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาและการเมืองระหว่างประเทศ ยิ้มเย้ยให้กับสถานภาพ ‘โลกที่สาม’ ที่เราคนไทยทุกคนมีร่วมกันอย่างไม่แบ่งชั้นวรรณะ ไม่ว่าจะเกิดมายากดีหรือมีจน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save