fbpx
Cancel Cancer: ทำอย่างไรมะเร็งร้ายจึงจะหายไป

Cancel Cancer: ทำอย่างไรมะเร็งร้ายจึงจะหายไป

 โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

 

คุณรู้ไหมว่า – ไดโนเสาร์ก็เป็นมะเร็ง!

ระยะหลังได้ข่าวคนดังและคนรู้จักเสียชีวิตเพราะมะเร็งแบบกะทันหันหลายราย เลยทำให้สงสัยว่า – ที่บอกกันว่าวิทยาการทางการแพทย์ต่อสู้กับมะเร็งได้แล้วนั้น เป็นเรื่องจริงหรือเปล่า และมะเร็งอยู่กับเรามานานแค่ไหนกัน

ที่จริงแล้ว มะเร็งไม่ใช่เรื่องใหม่เลย นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานเนื้องอกในกระดูกไดโนเสาร์อายุ 70 ล้านปี ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นเนื้องอกมะเร็ง แม้แต่ในมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลอายุ 120,000 ปี ก็พบเนื้องอกมะเร็งด้วยเช่นกัน ดังนั้นมะเร็งจึงไม่ใช่โรคใหม่

ยิ่งถ้าย้อนกลับไปดูในเรื่องภาษา จะเห็นว่าชาวกรีกโบราณตั้งชื่อโรคนี้ขึ้นมาตั้งแต่เมื่อ 2,600 ปีก่อน และมนุษย์ก็พยายามหาวิธีรักษากันมาแล้วหลายพันปี อย่างน้อยที่สุดก็มีจารึกอายุ 3,600 ปีในอียิปต์ ที่แสดงให้เห็นว่าชาวกรีกโบราณได้ทดลองกำจัดมะเร็งเต้านมด้วยวิธีผ่าตัด แต่เป็นการผ่าตัดแบบโบราณ

ถ้าเป็นการผ่าตัดมะเร็งยุคใหม่ ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในโลกคือเมื่อปี 1882 (ซึ่งก็คือเกือบ 140 ปีที่แล้ว) เป็นการผ่าตัดมะเร็งเต้านมโดยศัลยแพทย์ชาวอเมริกัน แถมผ่านมาอีกไม่กี่ปี ก็มีการทดลองยิงรังสีเอกซเรย์เข้าไปกำจัดมะเร็งด้วย ซึ่งทั้งสองวิธีก็ช่วยได้ แต่เนื่องจากวิทยาการทางการแพทย์ยังไม่ก้าวหน้าเท่าไร จึงกำจัดเนื้องอกมะเร็งไปได้ไม่หมด จึงรักษาให้หายขาดไม่ได้ แถมยังอาจเกิดผลข้างเคียงด้วย อย่างการยิงรังสีเอกซ์เข้าไปกำจัดมะเร็งนั้น จริงๆ แล้วตัวรังสีเอกซ์เองก็ทำให้เกิดมะเร็งขึ้นด้วยเหมือนกัน ก็เลยย้อนแย้ง

ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มีการใช้ก๊าซพิษที่เรียกว่า ก๊าซมัสตาร์ดในการรบ ซึ่งทำให้คนตายไปมหาศาล แต่คนที่รอดมาได้ พบว่ามีเซลล์เม็ดเลือดขาวต่ำกว่าปกติ ก็เลยมีการนำก๊าซนี้มาใช้กับผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แล้วก็พัฒนาต่อมากลายเป็นการใช้ยาเคมีครั้งแรก คือใช้สารเคมีฆ่าเซลล์เนื้องอกแทน

จะเห็นว่า ประวัติการรักษามะเร็งด้วยการฉายรังสีกับการใช้ยาเคมีนั้น เกิดขึ้นมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว และปัจจุบันมนุษย์เราก็ยังใช้เทคนิคการรักษาเหล่านี้อยู่ เพียงแต่พัฒนาให้ทันสมัย มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีผลข้างเคียงน้อยลง

ร่างกายของเรามีเซลล์เป็นพันล้านเซลล์ ปกติแล้วเซลล์เหล่านี้จะแบ่งตัวและสร้างโปรตีนต่างๆ ขึ้นมาเพื่อสื่อสารกัน บางส่วนพอหมดสภาพแล้ว ก็จะถูกกำจัด (คล้ายๆ กับการ ‘ฆ่าตัวตาย’) เพื่อให้ร่างกายทั้งหมดดำเนินต่อไปได้

ดูเผินๆ ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น แต่ที่จริงก็มีข้อบกพร่องเกิดขึ้นได้เหมือนกัน เช่น เวลาที่เซลล์แบ่งตัว มันจะทำสำเนาดีเอ็นเอของตัวเอง ทำให้เกิดเป็นเซลล์ลูกสองเซลล์ แต่กระบวนการนี้อาจจะผิดพลาดก็ได้ ซึ่งปกติแล้ว เซลล์ก็จะมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการซ่อมแซมความผิดพลาดได้ แต่ถ้ามีอะไรอื่นเข้ามารบกวน เช่น สารเคมีหรือรังสีจากภายนอก ความผิดพลาดก็อาจมีมากเสียจนเซลล์แก้ไขไม่ได้

ส่วนใหญ่แล้ว ความผิดพลาดพวกนี้ไม่อันตราย (แต่ก็อาจทำให้เรา ‘แก่’ หรือมีความเสื่อมของสังขารได้เหมือนกัน) แต่ในบางกรณีก็อาจส่งผลต่อยีนที่เป็นตัวการสร้างโปรตีนสำคัญๆ เช่น โปรตีนที่ควบคุมการแบ่งเซลล์ ทำให้เกิดการแบ่งเซลล์ไปเรื่อยๆ ในแบบที่ควบคุมไม่ได้ จนกลายเป็นเนื้องอก แล้วอาจทำลายอวัยวะที่มันอยู่

ทีนี้เรื่องสำคัญก็คือ ขนาดตอนแรกยังแบ่งเซลล์ผิดพลาดจนเกิดความผิดพลาดทำให้แบ่งเซลล์เยอะ แล้วถ้าแบ่งเซลล์เยอะ จะไม่ยิ่งผิดพลาดเยอะเข้าไปอีกหรือ

ปกติแล้ว แพทย์จะใช้การผ่าตัด รังสี และเคมีบำบัดในการโจมตีมะเร็งที่รุนแรง แต่เซลล์มะเร็งเหล่านี้จะต่อสู้กลับ เพราะมันกลายพันธุ์เร็วกว่าเซลล์ปกติ ทำให้เกิดลักษณะใหม่ๆ ขึ้น นั่นแปลว่าเนื้องอกหนึ่งก้อน อาจมีเซลล์มะเร็งได้หลายชนิด เซลล์บางส่วนต้านทานรังสีหรือเคมีบำบัด บางอย่างก็ต้านทานได้ทั้งสองอย่าง สมมุติมีการรักษาแล้ว มีมะเร็งเหลืออยู่เพียงไม่กี่เซลล์ แต่มันก็อาจลุกลามกลายเป็นเนื้องอกใหม่ได้ โดยอาจกลายพันธุ์ซ้ำอีก

นั่นจึงคือกุญแจสำคัญของการเป็นมะเร็ง เพราะยิ่งแบ่งตัวมากเท่าไร ก็จะยิ่งมีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์ใหม่ๆ ขึ้นได้ด้วย นั่นแปลว่าเซลล์มะเร็งจะมีความสามารถใหม่ๆ เกิดขึ้น มันจึงสามารถทำลายอวัยวะดั้งเดิมแล้วแพร่ลามไปยังอวัยวะอื่นได้ เซลล์ที่แพร่ลามรุนแรงจะทำให้อวัยวะล้มเหลวต่อเนื่อง จนในที่สุดเจ้าของร่างกายก็เสียชีวิต

ความสามารถนี้ของเซลล์มะเร็ง ทำให้มันเป็นโรคที่ยังจัดการได้ไม่เด็ดขาดเสียที มันเหมือนตัวร้ายที่เลื่อนไหลเปลี่ยนโฉมหน้าได้ตลอดเวลา จึงหลบหลีกอาวุธที่นักวิทยาศาสตร์คิดค้นขึ้นมาเพื่อจัดการกับมันได้ ประมาณกันว่า แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตเพราะมะเร็งราว 8 ล้านคน แต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งใหม่ราวๆ 14-15 ล้านคน และคาดการณ์กันว่า ในปี 2030 จะเพิ่มเป็น 24 ล้านคน

ตัวอย่างความพยายามของนักวิทยาศาสตร์ที่จะต่อกรกับมะเร็ง ก็คือการคิดค้นยาที่มีชื่อว่า SPI-77 ขึ้นมาเมื่อหลายปีก่อน โดยมีการทดลองในหนู โดยฉีดเซลล์มะเร็งลำไส้หรือมะเร็งปอดเข้าไปใต้ผิวหนังของหนูตรงต้นขา แล้วก็ทดลองรักษาโดยใช้ SPI-77 ตอนที่เนื้องอกในหนูยังมีขนาดเล็ก

แน่นอน SPI-77 ได้ผลในหนู แต่เมื่อนำมาใช้กับมนุษย์ กลับไม่ได้ผล พบว่าเซลล์มะเร็งปอดที่ไปเติบโตตรงต้นขาไม่เหมือนเซลล์มะเร็งที่เติบโตที่ปอดเลย แถมการทดลองกับเนื้องอกตอนที่มันยังเล็กอยู่ก็ถือว่าผิดพลาดด้วย เพราะมนุษย์มักจะได้รับการวินิจฉัยมะเร็งเมื่อเนื้องอกมีขนาดค่อนข้างใหญ่แล้ว

นอกจากนี้ยังมีวิธีใหม่ๆ อย่างการรักษาโดยใช้ Gene Therapy หรือการรักษาโดยยีน วิธีนี้เรียกว่า Kymriah ทำโดยการสกัดเซลล์ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยออกมาจากเลือด แล้วตัดต่อยีนใหม่ใส่เข้าไป ทำให้เซลล์ภูมิคุ้มกันรู้ว่าเซลล์ไหนคือเซลล์มะเร็ง แล้วก็ฉีดกลับเข้าไป มันจะไปหาเซลล์มะเร็งแล้วโจมตีโดยตรง

แต่ปัญหาก็คือ พบว่าบางทีมีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยมากเกินไปจนไปโจมตีเซลล์ดีๆ ของร่างกายไปด้วย และอาจส่งผลถึงแก่ชีวิตได้เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม วิทยาการทางการแพทย์ก็ก้าวหน้าไปกว่าเดิมมาก โดยเฉพาะในเรื่องการใช้ big data เข้ามาประมวลประเมินเป็นฐานข้อมูลมะเร็งระดับโลก ฐานข้อมูลสาธารณะขนาดมหึมาเหล่านี้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกแบ่งปันความรู้เรื่องมะเร็งได้ ไม่ว่าจะเป็นวิธีกลายพันธ์ุแบบต่างๆ หรือวิธีต่อกรกับมะเร็งอีกเป็นพันๆ วิธี ความรู้สะสมนี้ทำให้สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมของมะเร็งได้ในรายละเอียด นักวิทยาศาสตร์จึงต่อสู้กับโรคที่ร้ายแรงและเอาชนะได้ในเวลาที่สั้นลง แม้ว่าเซลล์มะเร็งจะพัฒนาลักษณะใหม่ๆ ขึ้นมาก็ตาม

การวินิจฉัยมะเร็งแต่เนิ่นๆ เป็นเรื่องสำคัญมาก มะเร็งบางประเภทตรวจพบได้ง่าย เพราะมีอาการชัดเจนหรือตรวจพิสูจน์ทางการแพทย์ได้ง่าย เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งถ้าตรวจพบแต่เนิ่นๆ 99% ของผู้ป่วยรอดชีวิตได้นานเกินห้าปี ในกรณีของมะเร็งเต้านมก็พบว่าในสแกนดิเนเวีย การตรวจเป็นประจำลดอัตราการตายได้ราว 30% มีการศึกษาในอังกฤษ ที่แสดงให้เห็นว่าอัตราการตายด้วยมะเร็งลดลง 14% นับตั้งแต่ยุค ’70 เพราะการวินิจฉัย การผ่าตัด ฉายแสง และเคมีบำบัด รวมกับการคิดค้นวิธีรักษาใหม่ๆ เช่น ภูมิคุ้มกันบำบัด หรือมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งทรวงอก อัตราการรอดชีวิตก็เพิ่มขึ้นสองเท่านับตั้งแต่ปี 1970 มะเร็งลำไส้เพิ่มขึ้นสามเท่า และยังคงมีอัตรารอดชีวิตเพิ่มขึ้น โดยนักวิทยาศาสตร์ทำนายว่า อัตราการตายจะลดลงอีก 15% ในปี 2035

มะเร็งร้ายอาจหลบหลีกเก่ง ทำให้นักวิทยาศาสตร์กำจัดมันให้หมดไปไม่ได้เสียที แต่แนวโน้มที่สำคัญในอนาคตก็คือ นักวิทยาศาสตร์น่าจะหาวิธีต่อกรกับมะเร็งได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save