ถ้าการดูปฏิทินเป็นกิจวัตรประจำวันของคุณ ผมเชื่อว่าปฏิทินเกือบทุกเล่มในประเทศไทย จะไม่บอกอะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับวันนี้ มากไปกว่าเลขวันที่ อย่างมากอาจมีข้างขึ้นข้างแรม
นี่คือตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม บ่งบอกสถานะของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ต่อสังคมไทย เพราะในขณะที่วันใกล้เคียงอย่าง 14 ตุลาคม ถูกระบุในบางปฏิทินว่าเป็น ‘วันประชาธิปไตย’ แต่ 6 ตุลา ไม่ต่างอะไรจากคนไร้นาม ไร้ความสลักสำคัญ
ทว่ากระแสลมแห่งความเปลี่ยนแปลงที่กำลังพัดแรงขึ้นเรื่อยๆ ได้พยายามคืนความหมายและคืนความจริงแก่เหตุการณ์สังหารหมู่ในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ 45 ปีที่แล้ว ในฐานะความรุนแรงที่ถูกกระทำโดยรัฐ เพื่อทำความเข้าใจว่าอะไรเป็นสาเหตุให้คนไทยกลุ่มหนึ่งมีพฤติกรรมโหดเหี้ยม ทำไมเรื่องเลวร้ายแบบนี้จึงเงียบเชียบในความทรงจำของสังคม และมีบทเรียนใดบ้างที่เราสามารถเรียนรู้ เพื่อป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
ผมมองว่าสังคมเรามีอย่างน้อย 6 บทเรียน จากเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่สามารถอธิบายเหตุการณ์และบาดแผลทางการเมืองครั้งอื่นๆ ในสังคมไทย ให้เราเห็นภาพชัดเจนขึ้นได้เช่นกัน
1
การต่อสู้ที่ลึกซึ้งกว่าตัวบุคคล แต่ขับเคลื่อนด้วยเหตุผลทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ
ถึงแม้การอธิบายเหตุการณ์ 6 ตุลา อาจมุ่งเน้นไปที่จุดชนวน 2 จุดที่สำคัญ คือ (1) การเดินทางกลับไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ทำให้นักศึกษาออกมาประท้วง และ (2) การแสดงละครของนักศึกษาที่จำลองการฆ่าแขวนคอพนักงานการไฟฟ้า ที่ถูกสื่อฝ่ายขวานำไปบิดเบือนว่ามีเจตนาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและปลุกระดมให้มีการล้อมปราบผู้ชุมนุม แต่ความขัดแย้งระหว่างนักศึกษาและกลุ่มชนชั้นนำฝ่ายขวาเริ่มขึ้นมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา เมื่อ 3 ปีก่อน
ในมิติทางการเมือง ประเทศไทยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นยุคที่สิทธิเสรีภาพเบ่งบาน นักศึกษามีบทบาทนำและมีพื้นที่ที่กว้างขวางขึ้นในการขับเคลื่อนและเผยแพร่อุดมการณ์ความคิดเชิงสังคมนิยม ไม่ว่าจะสะท้อนโดยตรงผ่านหนังสือที่ตีพิมพ์ในช่วงนั้น (เช่น โฉมหน้าศักดินาไทย โดย จิตร ภูมิศักดิ์) หรือสะท้อนโดยอ้อมผ่านการกำเนิดของวงดนตรีที่เล่นเพลง ‘เพื่อชีวิต’ สะท้อนความทุกข์ของประชาชน
ในมิติทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยในทศวรรษที่ 2510 เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจขนานใหญ่ ระบบทุนนิยมขยายเข้ามาผ่านการลงทุนจากต่างชาติ ทำให้สังคมไทยเปลี่ยนเป็นสังคมอุตสาหกรรมและการเกษตรที่ผลิตเพื่อขาย จนนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น ชาวนาที่ยากจนไม่มีที่ดินทำกิน กลายเป็นต้องเช่าจากนายทุน ส่วนแรงงานได้รับค่าจ้างต่ำ ขณะที่ปัจจัยภายนอก เกิดวิกฤตน้ำมันในปี 2517 ทำให้รัฐบาลขึ้นราคาน้ำมันในประเทศ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้น ซ้ำเติมกำลังซื้อของประชาชนให้ยิ่งร่อยหรอ
เมื่อความลำบากทางเศรษฐกิจที่สะสมมายาวนาน บรรจบกับการต่อสู้ทางการเมืองของนักศึกษา ทำให้ชาวนาเกิดความตื่นตัวในการเรียกร้องการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาล กรรมกรนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม จากสถิติพบว่าหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายนปีเดียวกัน กรรมกรนัดหยุดงานถึง 180 ครั้ง ปี 2517 สูงขึ้นจนถึง 357 ครั้ง ปี 2518 จำนวน 241 ครั้ง และปี 2519 จนถึงเดือนตุลาคมที่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา อีก 133 ครั้ง [1]
ปรากฏการณ์นี้ทำให้คนรุ่นใหม่เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำชัดเจนขึ้น และคิดว่าหากจะเปลี่ยนแปลงสภาพเช่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยควบคู่ไปด้วย
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ประสานกันในช่วงทศวรรษที่ 2510 ส่งผลในการสร้างความหวาดหวั่นต่อกลุ่มผู้มีอำนาจเก่าที่อาจเสียผลประโยชน์อย่างถาวรในภูมิทัศน์เศรษฐกิจ-การเมืองใหม่ ไม่ว่าจะเป็นความหวาดกลัวของชนชั้นนำฝ่ายขวาเกี่ยวกับการแผ่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในลักษณะการล้มของโดมิโน (domino theory) ที่ได้รับแรงส่งจากชัยชนะของคอมมิวนิสต์ในประเทศเพื่อนบ้าน ความต้องการหวนคืนอำนาจของกองทัพที่ถูกบังคับโดยสังคมให้ต้องลดบทบาททางการเมืองหลัง 14 ตุลา ซึ่งปรากฏให้เห็นจากความพยายามของหลายฝ่ายภายในกองทัพเองที่วางแผนการทำรัฐประหาร หรือความกังวลของนายทุนหรือเจ้าของที่ดินที่มองว่าข้อเรียกร้องทางเศรษฐกิจของขบวนการนักศึกษาและชนชั้นแรงงานกำลังคุกคามความมั่นคงและความมั่งคั่งของพวกเขา
การชุมนุมของนักศึกษาในเวลานั้นจึงมีที่มาที่ลึกซึ้งกว่าเพียงแค่การต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอม
การประสานกันระหว่างปัจจัยทางการเมืองและเศรษฐกิจ ยังสามารถอธิบายเหตุผลของการชุมนุมทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งไปไกลกว่าแค่การต่อสู้เรื่องตัวบุคคล
หากพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบัน การชุมนุมที่แยกดินแดงก็มีต้นเหตุที่มากกว่าความไม่พอใจในตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะตัวบุคคล แต่เกิดขึ้นจากความสิ้นหวังและความโกรธที่สะสมมาหลายปี ทั้งโครงสร้างทางการเมืองที่บิดเบี้ยวของระบบรัฐสภา ที่ได้พิสูจน์ให้เขาเห็นว่าไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เขาต้องการได้ (เช่น การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกปัดตก หรือข้อเรียกร้องอื่นของผู้ชุมนุมที่ไม่ถูกตอบสนองในสภา) และวิกฤตเศรษฐกิจที่เรื้อรังและถูกซ้ำเติมโดยโควิด-19 จนทำให้ปัญหาการว่างงานและความเหลื่อมล้ำหนักหนาสาหัสกว่าเดิม (ข้อสังเกตหนึ่งคือ ผู้ชุมนุมหลายคนมาจากครอบครัวที่มีรายได้ไม่มั่นคง และได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการล็อกดาวน์ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่รัฐบาลเยียวยาไม่ทั่วถึง ไม่ทันที และไม่เพียงพอ)
เช่นเดียวกันกับการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในปี 2553 ที่สังคมบางส่วน ณ เวลานั้น อาจมีมุมมองอย่างจำกัดว่าเป็นเพียงการต่อสู้เพื่อตัวบุคคล แต่เมื่อวิเคราะห์อย่างรอบด้าน สาเหตุในการออกมาขับเคลื่อนของกลุ่มคนเสื้อแดงมีมิติที่หลากหลายกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็น การต่อสู้เรื่องสิทธิเสรีภาพในการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่พวกเขามองว่าได้ถูกลิดรอนไป หลังจากบุคคลที่พวกเขาเลือกเข้ามาผ่านการเลือกตั้งต้องพ้นจากตำแหน่ง ผ่านวิธีการที่พวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วมและผ่านกระบวนการยุติธรรมที่พวกเขาตั้งคำถามเรื่องความเป็นกลางทางการเมือง หรือการต่อสู้เรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ที่พวกเขามองว่าจะถูกแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรม ต่อเมื่อผ่านกระบวนการประชาธิปไตยที่ทำให้เสียงของเขามีความหมาย
2
การตีตราผู้ชุมนุมให้เป็น ‘ปีศาจ’ ผ่านการยัดเยียดข้อกล่าวหาเกินจริงหรือลดทอนความเป็นมนุษย์
วาทกรรมหนึ่งจากเหตุการณ์ 6 ตุลาที่สั่นสะเทือนสังคมไทย คือประโยคของพระกิตติวุฑโฒภิกขุ ที่ว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” แม้พระกิตติวุฑโฒจะชี้แจงในภายหลังว่าคำว่า ‘คอมมิวนิสต์’ หมายถึงลัทธิ ไม่ใช่คน แต่การใช้ถ้อยคำดังกล่าวในสถานการณ์ที่ความขัดแย้งเชี่ยวกราก คงเป็นไปได้ยากที่ใครจะคิดตามนั้น
ประโยคที่ว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” สะท้อนให้เห็นถึงสองวิธีการที่รัฐหรือฝ่ายสนับสนุนรัฐ มักใช้ในการตีตราผู้ชุมนุมฝ่ายตรงข้ามให้เป็นเสมือน ‘ปีศาจ’ เพื่อเพิ่มความชอบธรรมให้ตัวเองในการปราบปราม
วิธีที่หนึ่งคือการยัดเยียดข้อกล่าวหาเกินจริงให้กับผู้ชุมนุม และผลักไสให้เป็นกลุ่ม ‘สุดโต่ง’ ที่สังคม ณ เวลานั้นอาจหวาดระแวง
ถึงแม้เราต้องร่วมกันยืนยันว่าการสนับสนุนแนวคิดคอมมิวนิสต์ เป็นทางเลือกหรืออุดมการณ์หนึ่งที่ประชาชนมีสิทธิสนับสนุนได้ แต่ต้องยอมรับว่าบรรยากาศบ้านเมืองช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่ประเทศไทยตกอยู่ในช่วงสงครามเย็น ความหวาดระแวงของสังคมที่มีต่อลัทธิคอมมิวนิสต์อยู่ในจุดที่สูงกว่าปัจจุบัน ยิ่งเมื่อเห็นปัญหาในประเทศอย่างสหภาพโซเวียตหรือประเทศเพื่อนบ้านที่มักอ้างว่าบริหารประเทศด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ (ทั้งที่ถกเถียงได้ว่าเป็นการนำแนวคิดคอมมิวนิสต์มาใช้แบบผิดวิธี)
ยุทธศาสตร์ของรัฐที่ยัดเยียดให้นักศึกษาที่มีอุดมการณ์เอนเอียงไปทางซ้ายว่าเป็น ‘คอมมิวนิสต์’ ถูกใช้อย่างได้ผลในการปลุกระดมให้สังคมบางส่วนมองนักศึกษาด้วยสายตาหวาดกลัวและตราหน้าว่าเป็นภัยต่อประเทศ
นอกจากข้อกล่าวหาเรื่อง ‘คอมมิวนิสต์’ อีกข้อกล่าวหาหนึ่งที่รัฐมักใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการตีตราผู้ชุมนุมให้กลายเป็น ‘ปีศาจ’ คือข้อหา ‘ล้มเจ้า’
คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ข้อกล่าวหา ‘ล้มล้างสถาบัน’ ถูกหยิบยกมาใช้ทั้งในเหตุการณ์ 6 ตุลา และการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน
ในเหตุการณ์ 6 ตุลา ข้อกล่าวหาว่านักศึกษามีเป้าหมายล้มล้างสถาบันฯ เป็นส่วนสำคัญที่รัฐพยายามใช้อ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตนเองในการล้อมปราบผู้ชุมนุม
ราวกับประเทศถูกแช่แข็ง ผ่านมากว่า 40 ปี การชุมนุมของคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในปัจจุบันก็ยังถูกป้ายสีด้วยข้อกล่าวหาเดิมว่าเป็นขบวนการ ‘ล้มเจ้า’ พร้อมกับถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งก็มิใช่ความบังเอิญอีกเช่นกันที่โทษของมาตรานี้เพิ่งถูกเพิ่มให้สูงขึ้นหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยคณะรัฐประหาร จากเดิมจำคุกไม่เกิน 7 ปี เป็นจำคุก 3-15 ปี
แต่นอกจากการยัดเยียดข้อกล่าวหาเกินจริง วิธีที่สองที่รัฐหรือผู้สนับสนุนรัฐมักใช้ คือ ‘การลดทอนความเป็นมนุษย์ (dehumanize)’ ของกลุ่มผู้ชุมนุม
พอฝังความคิดว่าการฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่ต่างจาก ‘ฆ่าปลาแกงใส่บาตรพระ’ หรือนักศึกษาเป็นพวกหนักแผ่นดิน ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปที่จะลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้ชุมนุมให้กลายเป็นแค่อะไรบางอย่างที่สมควรถูกกำจัดให้พ้นทาง เพื่อแลกกับการบรรลุเป้าหมายอันสูงส่งดีงาม เราจึงได้เห็นภาพคนไทยกลุ่มหนึ่งเข่นฆ่าคนอีกกลุ่มหนึ่งอย่างไม่รู้สึกผิด หรือพูดยิ่งกว่านั้น พวกเขาภูมิใจ มีความสุขเสียด้วยซ้ำ
ไม่ว่าจะเป็นการลากศพนักศึกษาไปตามพื้น นำศพไปแขวนคอก่อนใช้เก้าอี้ฟาดซ้ำ โดยมีคนยืนล้อมรอบมองสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยรอยยิ้ม ราวกับกำลังชมการแสดงอะไรสักอย่างที่มอบความบันเทิง ครั้งหนึ่ง พล.ต.สุดสาย หัสดิน ผู้ก่อตั้งกลุ่มกระทิงแดง เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาไม่คิดว่าควรเสียใจกับสิ่งที่ทำ เพราะไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่เพื่อส่วนร่วม
3
บทบาทของสื่อ ในการปลุกระดมความเกลียดชังหรือส่งเสริมความรุนแรงทางอ้อม
ในวันนี้ที่ไม่ว่าใครก็เป็นสื่อได้ สามารถรายงานสถานการณ์ได้แบบวินาทีต่อวินาที และในวันนี้ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงชุดข้อมูลที่หลากหลายได้เพียงปลายนิ้วมือ เราอาจมองสื่อหลักที่มีความคล่องตัวน้อยกว่า เช่น โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ว่ามีความสำคัญลดลง แต่หากจินตนาการว่าคุณต้องอยู่ในประเทศที่มีสถานีโทรทัศน์เพียงไม่กี่ช่อง ไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีสมาร์ตโฟน หลายพื้นที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ประชาชนส่วนใหญ่ติดตามข่าวสารผ่านวิทยุและหนังสือพิมพ์ คุณคงพอนึกออกถึงอิทธิพลของสื่อเหล่านี้ที่สามารถกำหนดความรับรู้ของทั้งสังคมได้
เหตุการณ์ 6 ตุลา เกิดขึ้นในบริบทดังกล่าว สื่อที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการบ่มเพาะความเกลียดชังนักศึกษาซึ่งต่อมาบานปลายเป็นการสังหารหมู่ คือ สถานีวิทยุยานเกราะของกองทัพบกและหนังสือพิมพ์ดาวสยาม ทั้ง 2 ค่ายโจมตีนักศึกษาแทบจะรายวันเพื่อหวังทำลายภาพลักษณ์ เช่น กล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ รับเงินต่างชาติ หรือกระทั่งนักศึกษาไม่ใช่คนไทย แต่เป็นคนญวน (หรือคนเวียดนาม ซึ่งในปี 2518 ประเทศเวียดนามกลายเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว) คู่ขนานไปกับการปลุกกระแสความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และป้ายสีว่านักศึกษามีเจตนาล้มล้างสถาบันหลัก
วิธีการสร้างความเกลียดชังโดยใช้สื่อเป็นเครื่องมือ ยังเห็นได้ในปัจจุบัน เช่น โทรทัศน์บางช่องที่ผู้ดำเนินรายการแสดงอคติอย่างชัดเจนต่อผู้ชุมนุมที่นำโดยคนรุ่นใหม่ เพจบางเพจที่ตั้งใจกุข่าวปลอม (fake news) ให้เกิดความเข้าใจผิด ชี้นำให้คนคล้อยตามว่าเด็กรุ่นใหม่ถูกล้างสมองหรือเคลื่อนไหวตามคำสั่งของบางกลุ่มการเมือง
ดังนั้น ไม่ว่าในวันที่สื่อมีจำนวนน้อยจนนับนิ้วได้หรือวันที่สื่อมีจำนวนมากเกินจะนับไหว การทำหน้าที่ของสื่อในการเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา รอบด้าน และเป็นปากเสียงของประชาชน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ประชาชนมีวิจารณญาณในการรับข่าวสาร ยังสำคัญอย่างยิ่งต่อการหลีกเลี่ยงโศกนาฏกรรมที่มีบ่อเกิดจากการเข้าใจผิด การขาดข้อมูลที่เพียงพอ หรือการใช้อารมณ์นำข้อเท็จจริง
4
การเดินหน้าค้นหาความจริงและยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด
สำหรับทุกโศกนาฏกรรมทางการเมืองที่มีประชาชนเสียชีวิต การร่วมกันค้นหาความจริง เป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญในการสะสางข้อคาใจของสังคม ในการยืนร่วมกันบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่ทุกฝ่ายยอมรับ ในการคืนความยุติธรรมแก่ผู้สูญเสีย และในการขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า
แต่ล่วงมากว่า 4 ทศวรรษ สังคมไทยยังไร้ชุดความจริงที่ยึดถือร่วมกันเกี่ยวกับรายละเอียดของเหตุการณ์สังหารหมู่ในธรรมศาสตร์ แม้แต่จำนวนผู้เสียชีวิตก็ยังเป็นที่ถกเถียง ขณะที่ฝ่ายรัฐระบุว่า 46 คน ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์บอกว่าอาจมากกว่า 100 คน
อุปสรรคสำคัญเป็นเพราะหลังเกิดเหตุ คณะทหารนำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ได้ประกาศยึดอำนาจ ถัดมาอีก 3 ปี รัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (ซึ่งมาจากการรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารอีกที) ได้ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เพื่อให้เกิด ‘ความสามัคคีในระหว่างชนในชาติ’ โดยมีใจความสำคัญในมาตรา 3 ว่า
“บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใดๆ ที่เกิดขึ้นในหรือเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และได้กระทำในระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ไม่ว่าจะได้กระทำในหรือนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และไม่ว่ากระทำในฐานะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”
ผลของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ เท่ากับปิดตายการสอบสวนใดๆ ไม่ให้เกิดขึ้น ปล่อยให้หลักฐานและพยานบุคคลหล่นหายไปตามกาลเวลา ไม่สืบหาว่าใครที่ต้องรับผิดชอบต่อเหยื่อที่เสียชีวิตและต่อครอบครัวของพวกเขาที่สูญเสียคนรักไป
วัฒนธรรม ‘ลอยนวลพ้นผิด’ ยังเกิดขึ้นอีกหลายครั้งในการเมืองไทย เช่น ในเหตุการณ์พฤษภาปี 2535 หลังทหารใช้กำลังปราบปรามประชาชนที่ออกมาต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ต่อมารัฐบาล พล.อ.สุจินดา ได้ออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกัน ระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งมีข้อความใกล้เคียงกับการนิรโทษกรรมในเหตุการณ์ 6 ตุลา กระทั่งเลขมาตรายังตรงกัน
“มาตรา 3 บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 และได้กระทำในระหว่างวันดังกล่าวไม่ว่าได้กระทำในฐานะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำหรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง”
แม้ภายหลัง จะมีฝ่ายการเมืองยื่นเรื่องให้ตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถึงความชอบธรรมของ พ.ร.ก. ฉบับนี้ถึง 3 ครั้ง แต่คำตอบที่กลับมาสรุปสั้นๆ ได้ว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงผลการนิรโทษกรรมแต่อย่างใด
การชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 เป็นอีกหนึ่งโศกนาฏกรรมที่ผู้เกี่ยวข้องกับความสูญเสียยังรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม แม้ในเชิงทฤษฎี กระบวนการยุติธรรมยังสามารถเดินหน้าได้ เนื่องจากรัฐบาล ณ เวลานั้นไม่ได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมและเนื่องจากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ‘เหมาเข่งสุดซอย’ เมื่อปี 2556-2557 ถูกประชาชนคัดค้านจนถูกปัดตกไป แต่ในเชิงปฏิบัติ เราต้องยอมรับว่ากระบวนการค้นหาความจริงที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์มีข้อจำกัดในการได้รับความยอมรับจากทุกฝ่าย
หลังเหตุการณ์ในปี 53 เรามีกระบวนการค้นหาความจริงเกิดขึ้นจาก 2 กลุ่มแบบคู่ขนาน
(1) รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาล [2]
(2) รายงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย. – พ.ค. 53 (ศปช.) ซึ่งเป็นกลุ่มนักกิจกรรมและนักวิชาการ [3]
ถึงแม้ทุกรัฐบาลที่ดำรงตำแหน่งในห้วงเวลาที่มีการค้นหาความจริง พยายามยืนยันหรือไม่ได้ทักท้วงถึงความเป็นอิสระในการทำงานของ คอป. จากการถูกแทรกแซงจากรัฐบาล แต่การที่ คอป. ถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาลที่เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงในเหตุการณ์ ทำให้ คอป. ไม่ได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มผู้ชุมนุม ยิ่งเมื่อข้อเท็จจริงบางส่วนที่ปรากฏในรายงานของ คอป. ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในรายงานของ ศปช.
การที่ คอป. และ ศปช. ทำงาน ‘คู่ขนาน’ กัน แทนที่จะ ‘ร่วมกัน’ จึงเป็นสิ่งที่น่าเสียดายในกระบวนการค้นหาความจริงที่ผ่านมา เพราะทำให้สังคมมี ‘ความจริง’ 2 ชุดที่แตกต่างกันในหลายประเด็น การตั้งคณะกรรมการหรือทีมชุดใหม่ที่ประกอบไปด้วยตัวแทนของทุกฝ่าย (รวมถึงตัวแทนของ คอป. และ ศปช.) ที่เริ่มต้นด้วยการสะสางจุดต่างที่ยังคงมีอยู่ในรายงาน 2 ชุด อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
สำหรับทุกเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองอื่นๆ ในอดีต ไม่ว่าเกิดขึ้นกับการชุมนุมที่เราเห็นด้วยหรือเห็นต่าง เมื่อความจริงที่ทุกฝ่ายยอมรับยังไม่ปรากฏ กระบวนการค้นหาความจริงจึงยังคงจำเป็นอยู่
ความจริงแล้ว กระบวนการค้นหาความจริงควรจะเป็นเรื่องที่ดีกับทุกฝ่ายที่บริสุทธิ์
ผู้ชุมนุมที่บริสุทธิ์และผู้สูญเสียจะรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรม
ขณะที่คนในรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่แต่ละคน หากถูกพิสูจน์ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จริง ก็จะได้รับการยอมรับจากสังคมและพ้นข้อครหาที่ยังมีอยู่ในทุกวันนี้
เมื่อใดที่เรามีกระบวนการค้นหาความจริงที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ขั้นตอนต่อไปที่สำคัญเช่นกัน คือการระบุคนที่กระทำผิดในเหตุการณ์นั้นตามหลักฐานที่มีและนำบุคคลนั้นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าผลจะออกมาว่าคนผิดคือเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการที่ไม่ทำตามคำสั่งและใช้ความรุนแรงเกินขอบเขตขัดกับหลักสากล หรือเจ้าหน้าที่ระดับผู้บังคับบัญชาที่ออกคำสั่งอนุมัติให้ใช้มาตรการที่รุนแรงเกินขอบเขตและขัดกับหลักสากล หรือปัจเจกบุคคลอื่นที่มีการพิสูจน์ว่าได้ใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์
วัฒนธรรม ‘ลอยนวลพ้นผิด’ ที่เกิดขึ้นหลังความรุนแรงทางการเมืองตลอดประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 หรือเหตุการณ์อื่นๆ เป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องร่วมกันกำจัด ไม่ใช่แค่เพื่อสะสางสิ่งที่ยังค้างคาจากอดีต แต่เพื่อสร้างบรรทัดฐานสำหรับการชุมนุมทางการเมืองของทุกฝ่ายในอนาคต
5
ตำราเรียนที่หายไปและประวัติศาสตร์ที่เราต้องไม่ลืม
ทุกประเทศมี ‘ประวัติศาสตร์ด้านมืด’ ที่ไม่น่าจดจำ แต่ว่าแต่ละประเทศเลือกจัดการกับมันแตกต่างกัน
บางประเทศเลือกไม่พูดถึง เช่น ญี่ปุ่น หนังสือเรียนประวัติศาสตร์ที่ใช้ในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นมากกว่า 50 แห่งทั่วประเทศ ไม่กล่าวถึงผู้เสียชีวิตกว่า 300,000 คนในการสังหารหมู่ที่นานกิง (Nanjing Massacre) ที่กองทัพญี่ปุ่นเป็นฝ่ายก่อเมื่อปี 2480
บางประเทศเลือกเรียนรู้ เช่น เยอรมนีกำหนดให้บทเรียนเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว (The Holocaust) โดยกองทัพนาซี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นวิชาบังคับในวิชาประวัติศาสตร์และวิชาพลเมือง และนักเรียนส่วนใหญ่จะไปทัศนศึกษาที่ค่ายกักกัน
สำหรับสังคมไทย เหตุการณ์สังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม เป็นหนึ่งใน ‘ประวัติศาสตร์ด้านมืด’ ที่รัฐไทยเลือกลืมเลือน ทั้งที่เหตุการณ์มีความรุนแรงและสร้างบาดแผลแก่สังคม แต่กลับมีพื้นที่ในตำราเรียนของเด็กไทยเพียงไม่กี่บรรทัด และเป็นเนื้อหาที่บอกว่าเกิดอะไรขึ้น มากกว่าจะถอดบทเรียนว่าทำไมจึงเกิดขึ้น ซึ่งผมคิดว่าเป็นวิธีการเรียนประวัติศาสตร์ที่ผิดพลาดอย่างยิ่ง เว็บไซต์ประชาไท[4]เคยสำรวจแบบเรียนของนักเรียนไทยพบว่า แบบเรียนที่ไม่กล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา มีจำนวน 17 เล่ม บางเล่มกล่าวถึง 14 ตุลาสั้นๆ แล้วข้ามไปที่เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เลย
หากวิเคราะห์ในภาพรวม เป้าหมายของการสอนประวัติศาสตร์ ควรเป็นการฝึกเด็กให้มีทักษะการคิดวิเคราะห์ ซึ่งจำเป็นต้องให้เด็กได้เข้าถึงชุดข้อมูลที่ครบถ้วนและหลากหลาย เพื่อฝึกการเปรียบเทียบ แยกแยะ และประเมินความน่าเชื่อถือของชุดข้อมูลต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องรวมถึงการถอดบทเรียนจากความผิดพลาดของบรรพบุรุษในอดีตด้วย
หากไม่สอนประวัติศาสตร์ในลักษณะนี้ สังคมเราอาจกลายเป็นสังคมที่คุ้นชินกับการหลีกหนีความจริง และทำให้ความอยุติธรรมในอดีตไม่ได้ถูกสะสาง
ถึงอย่างนั้น เป็นเรื่องน่าดีใจที่ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่มีทางเลือกในการค้นคว้าข้อมูลเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดความตื่นตัวในการศึกษาเหตุการณ์ 6 ตุลาจากนอกหลักสูตร และเชื่อมโยงสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 45 ปีที่แล้ว กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในปัจจุบัน
6
ชัยชนะของประชาธิปไตย ที่อาจยังไม่เคยมีจริง
ย้อนไปเพียง 3 ปี จะพบว่านักศึกษาที่ถูกกระทำอย่างโหดร้ายในวันที่ 6 ตุลาคม คือคนกลุ่มเดียวกันกับที่สังคมเคยยกย่องพวกเขาเป็น ‘พลังบริสุทธิ์’ เป็นผู้เรียกร้องประชาธิปไตย จากการเคลื่อนไหวขับไล่ระบอบเผด็จการเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 นำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2517 ซึ่งนักวิชาการจำนวนหนึ่งยกให้เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดอีกฉบับ หลังจากก่อนหน้านั้นประเทศไทยว่างเว้นการมีรัฐธรรมนูญนานถึง 10 ปี และเหตุการณ์นี้ยังถูกกล่าวขานว่าเป็น ‘ชัยชนะของประชาชน’ เป็นที่มาของการกำหนดให้วันที่ 14 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันประชาธิปไตย
แต่คล้อยหลัง 3 ปี ยุคประชาธิปไตยเบ่งบานของนักศึกษาก็เหมือนจะถึงจุดสิ้นสุด
การพลิกชะตากรรมของประชาธิปไตยไทยภายใน 3 ปี ดูผิวเผินเหมือนเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ แต่ทฤษฎีหนึ่งที่พออธิบายปรากฏการณ์นี้ได้คือ อำนาจกำหนดสถานะของประชาธิปไตยไม่เคยอยู่ในมือของประชาชนอย่างแท้จริง
เมื่อกลุ่มชนชั้นนำที่เคยสนับสนุนนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา เล็งเห็นว่านักศึกษา ‘ไปไกล’ เกินธงที่เคยตั้งไว้และมีแนวคิดเรื่องอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจในเชิงสังคมนิยมที่อาจกระทบต่อผลประโยชน์หรือความมั่นคงของพวกเขาในวันใดวันหนึ่ง จึงหาทางปิดกั้นไม่ให้เติบโตไปมากกว่านี้หรือไม่คัดค้านกับการกลับมามีอำนาจของเผด็จการทหาร
ท้ายสุดแล้ว ผลลัพธ์จากการต่อสู้เมื่อ 14 ตุลาคม จึงถูกตั้งคำถามว่าเป็นชัยชนะของประชาชนที่ปักหมุดประชาธิปไตยในระยะยาว หรือเป็นเพียงเหตุการณ์หนึ่งที่สำเร็จลุล่วงเพราะกลุ่มผลประโยชน์ในสังคมเห็นพ้องกันในระยะสั้น โดยเฉพาะชนชั้นนำที่อาจเห็นดีด้วยกับการขจัดระบอบเผด็จการ ‘ถนอม-ประภาส-ณรงค์’ และทำให้ประเทศกลับมามีกติกาสูงสุดในการปกครองอีกครั้ง แต่ไม่ยินยอมให้สังคมไทยไปไกลกว่านั้น
แม้แต่เหตุการณ์พฤษภา 35 ที่ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จในการแยกทหารออกจากการเมืองและทำให้กองทัพถูกลดบทบาททางการเมืองมากที่สุด (เช่น ส.ว.แต่งตั้งมีสัดส่วนจากทหารลดลง งบทหารถูกตัด) แต่เมื่อไม่ได้มีการแก้ไขเชิงโครงสร้างเพื่อปฏิรูปกองทัพให้อยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนอย่างเต็มรูปแบบ วันหนึ่งที่การเมืองพลิกผัน ประชาชนเรียกร้อง ‘ผู้กอบกู้วิกฤต’ กองทัพจึงกลับมาเล่นบทเดิมที่คุ้นเคยอีกครั้ง ผ่านวาทกรรม ‘รักษาความสงบ คืนความสุข ปราบโกง ปกป้องสถาบัน’ จนนำไปสู่การรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 ที่ทำให้ พฤษภา 35 ถูกแปรสถานะไปเป็นเพียง ‘ชัยชนะชั่วคราว’ หรือ ‘ชัยชนะที่ไม่จริง’ ของประชาธิปไตยไทยเช่นเดียวกับ 14 ตุลา
เมื่อตัดภาพมาที่ปัจจุบัน หากประเทศไทยต้องการหายป่วยจากโรคเผด็จการและมีภูมิคุ้นกันทางประชาธิปไตยที่แข็งแรง ประเทศไทยจำเป็นต้องฉีดวัคซีนแก้รัฐธรรมนูญอย่างน้อย 3 เข็ม ได้แก่
(1) แก้รัฐธรรมนูญรายมาตราตามข้อเสนอของกลุ่ม Re-Solution เพื่อตัดกลไกสืบทอดอำนาจ
(2) ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยและประชาชนมีส่วนร่วมผ่าน ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งและมีอำนาจพิจารณาทุกหมวด ทุกมาตรา
(3) ฟูมฟักรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม ผ่านการทำงานทางความคิดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนทุกกลุ่มในสังคมเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าจะเจอวิกฤตอะไร ประชาธิปไตยคือทางออกของประเทศ เพราะเป็นระบบที่ให้อำนาจตัดสินใจอนาคตบ้านเมืองอยู่ในมือประชาชน มิใช่ ‘คนดี’ หรือ ‘เทวดา’ ที่ไหน
การถอดบทเรียนที่สมบูรณ์แบบ ไม่ได้สิ้นสุดอยู่เพียงการทำให้เรา ‘รู้’ ว่าเคยมีข้อผิดพลาด แต่คือการ ‘แก้ไข’ ไม่ให้ปัจจัยที่เคยก่อข้อผิดพลาดกลับมาสร้างความเสียหายซ้ำ
ทั้ง 6 บทเรียนที่กล่าวมา คงไม่ใช่ข้อสรุปที่ทุกฝ่ายเห็นด้วย และไม่ใช่ข้อสรุปที่ครอบคลุมทั้งหมดของเหตุการณ์ 6 ตุลาและการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทย แต่ผมหวังว่ามันจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เส้นทางการพัฒนาประชาธิปไตยของเราก้าวไปอย่างรอบคอบและเข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยไม่หลงลืมบาดแผลจากอดีต โดยไม่ซุกปัญหาในปัจจุบันไว้ใต้พรม และเผชิญอนาคตที่ท้าทายโดยไม่ปล่อยให้ความเชื่อใดๆ ของใครถูกใช้เป็นเครื่องมือคร่าชีวิตผู้คนกันเองอีก ไม่ว่าความเชื่อนั้นจะมีคนเห็นด้วยมากหรือน้อยเพียงใดก็ตาม