fbpx

ถอดบทเรียนวิกฤตวัคซีนและโรงงานกิ่งแก้ว : 9 บาดแผลเดิมๆ ของประเทศภายใต้ระบอบประยุทธ์

สองวิกฤตที่สร้างความเจ็บปวดให้ประชาชนคนไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ วิกฤตเรื้อรังอย่างเรื่องวัคซีนที่ขาดแคลนและล่าช้า และวิกฤตเฉียบพลันอย่างเพลิงไหม้โรงงานสารเคมีในซอยกิ่งแก้ว จ.สมุทรปราการ สองวิกฤตนี้อาจมีหลายมิติที่แตกต่างกัน แต่จุดร่วมอย่างหนึ่งของสองวิกฤตนี้คือการเปิดบาดแผลฉกรรจ์ของประเทศไทยที่สะสมอาการอักเสบจากความบกพร่องภายใต้การบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ทั้ง 2 เรื่องนี้ รุนแรง-ลุกลาม ไปกว่าที่ควรเป็น

หากสังคมไทยจะเรียนรู้อะไรได้ ผมคิดว่ามีอย่างน้อย 9 ข้อ ที่น่าจะช่วยหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยในวันข้างหน้า

1. ต้องไม่ผูกขาดอำนาจทางการเมืองและการออกกฎหมายโดยไร้การตรวจสอบตามวิถีประชาธิปไตย

ต้นตอของทั้งสองวิกฤตส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการที่ระบอบประยุทธ์ผูกขาดอำนาจทางการเมืองทั้งหมดในสมัย คสช. จนทำให้สามารถลักลอบผ่านกฎหมายหลายฉบับได้  โดยไร้กระบวนการตรวจสอบของฝ่ายค้านและกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนตามที่ควรจะเป็นในระบอบประชาธิปไตย

หนึ่งในหลายกฎหมายที่ออกมาช่วงนั้นโดย สนช. (ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช. และจำนวนมากคือคนที่ดำรงตำแหน่ง ส.ว. ในปัจจุบัน) คือ พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2562 ซึ่งปรับเปลี่ยนจาก พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 (ฉบับเดิม) โดยมีสาระสำคัญคือการลดมาตรการคุ้มครองเรื่องความปลอดภัยและเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น การยกเลิกระบบการขอต่อใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานทุก 5 ปี ซึ่งหากยังมีอยู่อาจป้องกันอุบัติเหตุที่โรงงานบริษัทหมิงตี้เคมีคอลได้ จากการตรวจสอบสภาพโรงงาน เครื่องจักร รวมถึงความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนใกล้เคียงอย่างสม่ำเสมอ

เรื่องวัคซีนก็ไม่ต่างกัน ภายใต้ความเลวร้ายของอีกหลายอย่างที่บรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ คสช. เขียนกันขึ้นมาเองเพื่อประโยชน์ของพรรคพวกตนเอง คือ การลดทอนเรื่องสิทธิด้านสาธารณสุข ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับก่อน (2550) เคยเขียนไว้ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐอย่างเหมาะสม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและทันต่อเหตุการณ์” แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2560) กลับเขียนเพียงว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” การตัดคำว่า ‘อย่างเหมาะสม’ และ ‘ทันต่อเหตุการณ์’ ออกไป อาจดูเหมือนเป็นรายละเอียดเล็กน้อย ณ เวลานั้น แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่เราเห็นถึงความบกพร่องทั้งเรื่องคุณภาพของวัคซีนที่รัฐจัดสรรให้ประชาชนและเรื่องความล่าช้าในการดำเนินการ รายละเอียดนี้หมายถึงการลดความรับผิดชอบทางการเมืองของรัฐบาล และความเป็นความตายของคนจำนวนมากที่ไม่ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายสูงสุดของประเทศ

ทั้งหมดนี้ ไม่ได้เพื่อบอกว่าการมีระบอบประชาธิปไตย จะทำให้กฎหมายทุกฉบับและทุกมาตราในรัฐธรรมนูญสมบูรณ์แบบ แต่การมีตัวแทนของประชาชนและความเห็นของประชาชนในกระบวนการนิติบัญญัติ จะช่วยลดโอกาสที่กฎหมายจะกลับมาทำร้ายประชาชน

2. ต้องกำจัดทุจริตและเพิ่มความโปร่งใส ในการดำเนินการของรัฐ

พล.อ.ประยุทธ์ อวดอ้างเสมอว่ารัฐบาลของตนมุ่งมั่น ‘ปราบโกง’ และเพิ่งประกาศให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ แต่ทั้งหมดคงไม่มีความหมายหากรัฐบาลไม่แสดงให้เห็นว่าการทำงานทุกขั้นตอน เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้

คำถามสำคัญต่อเรื่องวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสัญญาจัดซื้อ แผนการส่งมอบวัคซีน แผนการฉีดวัคซีน หรือเหตุผลในการเลื่อนนัดฉีดวัคซีนของประชาชนจำนวนมาก ยังคงเป็นคำถามที่ไร้คำตอบมาถึงทุกวันนี้ ข้อมูลเปิดโปงจากสื่อต่างประเทศว่าบริษัทผู้ผลิตมีประวัติการติดสินบน อย. ของจีน ยิ่งเพิ่มความน่าสงสัยในความจงรักภักดีของรัฐบาลไทยต่อซิโนแวค ที่รัฐบาลยังคงเลือกให้เป็นวัคซีนหลักและสั่งนำเข้ามาฉีดให้คนในประเทศไม่หยุดหย่อน หากรัฐไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจน และยังสรรหาสารพัดข้ออ้างอย่างเพื่อบ่ายเบี่ยงการเปิดเผยข้อมูล ก็ไม่มีทางเลยที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดกับประชาชนได้

ส่วนกรณีโรงงานหมิงตี้ แม้บริษัทจะให้เหตุผลว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมายผังเมือง เพราะในปี 2532 พื้นที่ที่เกิดเหตุได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมได้ ก่อนที่ผังเมืองรวมฉบับแรกของจังหวัดสมุทรปราการจะประกาศใช้ในปี 2537 และมีการปรับเปลี่ยนข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ในเวลาต่อมา แต่สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือเหตุใดรัฐจึงปล่อยให้มีการขยายตัวของชุมชนใกล้ที่ตั้งโรงงานสารเคมี ข้อมูลการปรับเปลี่ยนผังเมืองแต่ละครั้งได้สื่อสารไปถึงประชาชนมากน้อยแค่ไหน ไม่นับข้อครหาที่ว่าการจัดผังเมืองในหลายกรณีมักมีเรื่องสินบนหรือการเอื้อผลประโยชน์นายทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง

3. ต้องรับฟังข้อเสนอแนะและข้อทักท้วงของทุกฝ่าย แม้กระทั่งฝ่ายตรงข้าม

แม้เราไม่สามารถคาดหวังได้ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจถูกในทุกเรื่อง แต่สิ่งที่เราควรคาดหวังได้ คือการที่รัฐบาลพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะหรือข้อทักท้วงจากฝ่ายอื่นอย่างรอบด้าน แม้กระทั่งจากฝ่ายตรงข้ามหรือคู่แข่งทางการเมือง และยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา มากกว่ารักษาหน้าตาทางการเมือง แต่ที่ผ่านมารัฐบาลประยุทธ์กลับทำตรงกันข้าม

รัฐบาลประยุทธ์ได้ปัดตกทุกข้อเสนอของฝ่ายค้าน โดยหลายครั้งเป็นการใช้อำนาจของนายกฯ ตามมาตรา 133 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อปัดตกร่างกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ตั้งแต่ก่อนที่ร่างกฎหมายได้รับการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าจะเป็น ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ร่าง พ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า และล่าสุด ร่าง พ.ร.บ. การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า PRTR ซึ่งกำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมต้องรายงานต่อกรมควบคุมมลพิษว่ามีการครอบครองสารมลพิษใดบ้าง และมีการปล่อยมลพิษปริมาณเท่าใด ตามรายชื่อสารมลพิษที่กรมควบคุมมลพิษกำหนด ซึ่งจะเป็นประโยชน์มหาศาลสำหรับเจ้าหน้าที่ในการจัดการปัญหาเมื่อเกิดอุบัติเหตุ และสำหรับประชาชนเพื่อเข้าใจถึงความเสี่ยงที่นำมาประกอบการตัดสินใจในการเลือกที่พักอาศัย

ในเรื่องวัคซีน ข้อทักท้วงให้เปลี่ยนยุทธศาสตร์ ‘แทงม้าตัวเดียว’ ของรัฐบาล มาเป็นการสรรหาวัคซีนที่มีความหลากหลายมาให้ประชาชน ก็เป็นประเด็นที่ถูกพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าทั้งโดยฝ่ายค้านในรัฐสภา และผู้เชี่ยวชาญกับประชาชนนอกสภา แต่นอกจากไม่เปิดใจรับฟังแล้ว รัฐบาลยังเคยมีการแจ้งความเอาผิดกับคนที่ออกมาวิพากษณ์วิจารณ์กรณีนี้ เช่น การแจ้งความเอาผิดคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โดยหน่วยงานรัฐอย่างกระทรวงดิจิทัลฯ จากกรณีการไลฟ์เฟซบุ๊กทักท้วงรัฐบาลเรื่องการจัดซื้อวัคซีนเมื่อต้นปี

4. ต้องดึงผู้เชี่ยวชาญมาร่วมงาน ไม่ใช่ผู้ที่ชมเชยรัฐบาล

ประเทศไทยไม่เคยขาดแคลนคนเก่งในหลายแวดวง แต่รัฐบาลนี้มีปัญหาในการดึงความสามารถของพวกเขามาใช้ในเวลาที่ประเทศต้องการมากที่สุด

กรณีมีเอกสารหลุดจากที่ประชุมเฉพาะกิจระหว่างคณะกรรมการ 3 ชุด ที่มีมติไม่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็ม 3 ให้บุคลากรด่านหน้า (เช่น แพทย์ พยาบาล) เพราะเห็นว่าจะเป็นการยอมรับว่าวัคซีนซิโนแวคที่ฉีดไปก่อนหน้า ไม่มีผลในการป้องกัน และอาจทำให้ ‘แก้ตัว’ ยากขึ้น เป็นหนึ่งความอื้อฉาวที่สังคมตั้งคำถาม ไม่ใช่เพียงต่อรัฐบาลที่ควรดึงผู้เชี่ยวชาญมาร่วมแก้ไขวิกฤตบ้านเมืองและสร้างสภาพแวดล้อมให้เขาตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่บนพื้นฐานคณิตศาสตร์ทางการเมือง แต่เป็นการตั้งคำถามต่อ ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ที่ได้รับบัตรเชิญจากรัฐด้วยว่า เก้าอี้ที่นั่งอยู่นั้นได้มาเพราะความสามารถในการปกป้องชีวิตประชาชน หรือความพร้อมในการกระโดดปกป้องหน้าตาของรัฐบาล

ส่วนการดับเพลิงโรงงานหมิงตี้ การที่นายกฯ ถูกปล่อยให้แสดงความเห็นที่ผิดพลาดทางวิชาการอย่างการสั่งฝนเทียมมาช่วยลดฝุ่นควัน ออกสู่สาธารณะ จนสร้างความสับสนแก่ประชาชน ทำให้ชวนคิดว่าทำไมนายกฯ จึงไม่สามารถเข้าถึงความเห็นที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญได้เพื่อประกอบการตัดสินใจ ในวันที่ประชาชนทั่วไปจำนวนมาก ยังสามารถแชร์ความเห็นของนักวิชาการตามสื่อโซเชียลเพื่อช่วยเหลือกันและกันได้อย่างทันท่วงที

เป็นที่น่าคิดว่าปัญหาของการดึงผู้มีความสามารถมาช่วยงานรัฐบาล คงไม่ได้อยู่ที่การขาดแคลนคนเก่งในประเทศ แต่อาจอยู่ที่การล็อกสเปกไว้แต่ตั้งต้นว่าเก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องพร้อมรักษาหน้ารัฐบาลด้วย

5. ต้องแบ่งความรับผิดชอบและหน้าที่อย่างชัดเจน ไม่โยนงานกันไปมา

ผมเชื่อว่าคนไทยจำนวนไม่น้อย รู้สึกสับสนกับการแบ่งงานของรัฐบาลในหลายกรณีที่คาบเกี่ยวหลายหน่วยงาน

ในการรับมือกับสถานการณ์โควิด การนั่งเป็นประธาน ศบค. ของประยุทธ์ ไม่ได้ช่วยให้ความชัดเจนเพิ่มขึ้น หลายต่อหลายครั้งสื่อมวลชนจึงตั้งคำถามที่สะท้อนความสับสนของประชาชนต่อคนในรัฐบาลว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นอำนาจและหน้าที่ของใคร เราจึงได้เห็นการ ‘โยนงาน’ กันไปมาระหว่าง ศบค.-กระทรวงสาธารณสุข-กทม. อยู่บ่อยครั้ง เช่น กรณีที่รัฐมนตรีสาธารณสุขกล่าวว่าปัญหาการกระจายวัคซีนในแต่ละพื้นที่ เป็นเรื่องของ ศบค. และผู้ว่าราชการจังหวัด หรือเมื่อมีการเลื่อนฉีดวัคซีนเมื่อต้นเดือนมิถุนายน จนโรงพยาบาลแห่งหนึ่งไล่ให้ไปถามสาเหตุจากรัฐมนตรีสาธารณสุข แต่รัฐมนตรีกลับบอกว่ากระทรวงมีหน้าที่แค่จัดสรร ส่วนหน้าที่บริหารจัดการเป็นของ กทม.

ความสับสนเช่นนี้ยังเกิดขึ้นในเหตุไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว เมื่อปรากฏภาพ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามการควบคุมเพลิงและพูดคุยสั่งการกับเจ้าหน้าที่นอกขอบเขตอำนาจของตนเอง ทั้งที่ควรเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีมหาดไทยในฐานะผู้กำกับดูแลหน่วยงานด้านผังเมืองและการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ปัญหาเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงทั้งปัญหาการบริหารจัดการราชการที่รวมศูนย์แต่ขาดเอกภาพในการรับมือกับประเด็นที่ซับซ้อน และปัญหาการดำเนินงานทางการเมืองที่อยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ ที่พร้อมแบ่งตำแหน่งและความรับผิดชอบงานตามโควตาของแต่ละ ‘มุ้ง’ ทางการเมือง มากกว่าแบ่งตามความเชี่ยวชาญและความเหมาะสมต่อหน้าที่

6. ต้องจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสมในการคุ้มครองประชาชนจากภัยคุกคามที่มีอยู่จริง

เพื่อรับมือสถานการณ์วิกฤต จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีอุปกรณ์เครื่องมือเพียงพอ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อได้รับงบประมาณที่พอเพียง แต่ความเป็นจริงของประเทศไทย ผู้ที่ ‘ทำงานเพื่อชาติ’ จริงๆ มักได้รับจัดสรรงบประมาณน้อยกว่าพวกที่อ้างชาติในการทำงาน

เห็นได้จากอาสาสมัครที่เข้าไปช่วยดับเพลิงโรงงานกิ่งแก้ว หลายคนขาดความพร้อมเรื่องเครื่องมืออุปกรณ์ แต่ยอมควักเงินซื้อเพื่อหาสิ่งป้องกันตัวตามกำลัง ทำให้แทนที่จะได้สวมหน้ากากป้องกันสารพิษ กลับได้สวมเพียงหน้ากากอนามัย แทนที่จะได้สวมรองเท้าสำหรับงานสาธารณภัย กลับต้องสวมรองเท้าธรรมดาจนร่างกายได้รับบาดเจ็บ และน่าเศร้าที่สุดคือมีผู้ที่ต้องสูญเสียชีวิตจากความเสียสละครั้งนี้

น่าหดหู่ใจเมื่อเหตุการณ์ที่กล่าวมาเกิดขึ้นในประเทศที่มีเงินมากพอที่จะซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เติมกองทัพโดยอ้างเรื่อง ‘ความมั่นคง’ และมากพอที่จะรองรับการเกณฑ์คนไปเป็นทหารปีละกว่าหนึ่งแสนคนโดยอ้างเรื่อง ‘การรับใช้ชาติ’ แต่กลับขาดแคลนงบประมาณสำหรับคนที่ทำงานด้านสาธารณภัยซึ่งใกล้ชิดกับความเดือดร้อนของประชาชนโดยตรงมากกว่า

เช่นเดียวกันกับการระบาดของโควิดซึ่งเป็นวิกฤตระดับโลกที่อาจรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี และท่ามกลางการระบาดระลอกสามในประเทศไทยที่ยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลาย แต่รัฐบาลไทยกลับรับมือด้วยการจัดทำงบประมาณที่ตัดลดงบประมาณสาธารณสุขเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี ตรงกันข้ามกับงบประมาณกลาโหม ที่แม้ภาพรวมจะได้รับการจัดสรรน้อยลงเช่นเดียวกับกระทรวงอื่น แต่ส่วนที่ยังเพิ่มขึ้นคือรายจ่ายบุคลากร ภายใต้บริบทของโลกยุคใหม่ที่ภัยคุกคามต่อความมั่นคง ได้เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นภัยที่ไม่สามารถป้องกันได้จากขนาดกองทัพหรือปริมาณกำลังพลทหารอีกต่อไป

7. ต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูลในการให้บริการประชาชน

พล.อ.ประยุทธ์ พร่ำพูดถึงไทยแลนด์ 4.0 หรือการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมมาหลายปี แต่พอถึงเวลาที่ประเทศต้องพึ่งนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีในการจัดการปัญหาเข้าจริงๆ กลับพบว่าเราเป็นได้แค่ไทยแลนด์ 0.4

ในวันที่ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีมากกว่าหลายประเทศเพื่อนบ้าน และในวันที่รัฐเก็บข้อมูลจากประชาชนมหาศาล แต่การลงทะเบียนฉีดวัคซีนก็ยังคงประสบปัญหาเช่นเดียวกับการลงทะเบียนรับสิทธิ์อื่นๆ จากภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะทั้งระบบล่ม ลงทะเบียนไม่ได้ ต้องใส่ข้อมูลซ้ำซ้อน การไม่แจ้งเตือนผู้จองคิววัคซีนเมื่อถูกเลื่อน หรือแม้กระทั่ง การมีอยู่ของกี่สิบแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ที่ทำให้ผู้ลงทะเบียนรู้สึกสับสน

การนำเทคโนโลยีมาใช้ในเหตุการณ์ภัยพิบัติก็ไม่มีให้เห็นจากภาครัฐ ทั้งที่เครื่องมือหนึ่งที่สำคัญในการช่วยลดความเสียหายต่อประชาชน คือระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน (emergency alert) ที่หน่วยงานรัฐจะส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือของประชาชนตามพิกัดของผู้ใช้ โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต น่าผิดหวังที่ประเทศไทยยังไม่มีระบบนี้ สิ่งที่เป็นที่พึ่งของประชาชนในวันนั้น (นอกจาก SOS Alert ของ Google Map) กลับเป็นระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินที่ถูกเขียนโดยภาคประชาชนกันเอง (โดยคุณปาล์ม นิธิกร บุญยกุลเจริญ) ผ่าน Longdo Map API  ซึ่งช่วยให้คนสามารถเข้าไปตรวจสอบพิกัดของตัวเอง เพื่อประเมินความจำเป็นในการอพยพได้

8. ต้องสื่อสารกับประชาชน ด้วยความชัดเจน รวดเร็ว และเห็นอกเห็นใจ

ท่ามกลางวิกฤต คำพูดของผู้นำมีความหมายอย่างยิ่งว่าจะช่วยฟื้นสถานการณ์ให้ดีขึ้นหรือซ้ำเติมให้แย่ลง สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ เขาพิสูจน์มาหลายต่อหลายครั้งว่าไร้ซึ่งความสามารถในการสื่อสารที่แสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจประชาชน

แม้ในวันที่ผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิดเพิ่มจำนวนขึ้นต่อเนื่อง ในวันที่คนทำมาหากินรอความชัดเจนว่าร้านของเขาจะเปิดค้าขายได้หรือไม่ ในวันที่แพทย์พยาบาลเหน็ดเหนื่อยจนแทบจะแบกภาระหน้าที่ไม่ไหว แทนที่ประยุทธ์จะแสดงภาวะผู้นำที่ร่วมทุกข์ร่วมสุข แถลงด้วยถ้อยคำที่ระมัดระวังและด้วยท่าทีสำรวม แต่ตรงกันข้าม ประยุทธ์กลับพูดจาหยอกล้อกับสื่อ พูดไปหัวเราะไป ราวกับไม่รู้ร้อนรู้หนาวถึงความเป็นความตายนอกทำเนียบรัฐบาล ร้ายแรงที่สุดคือการล้อมวงกินข้าวพักผ่อนริมทะเลภูเก็ตในขณะที่ประชาชนหลายพื้นที่ถูกสั่งห้ามกินข้าวนอกบ้าน และยังปฏิเสธตอบนักข่าวเมื่อถูกถามถึงจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดที่สูงสุดนับแต่เกิดการระบาด

เมื่อหันไปมองเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว ก็ยิ่งเห็นถึงความล่าช้าของนายกฯ ในการสื่อสารต่อสาธารณะ ทั้งแผนที่ชัดเจนในการปฏิบัติการ การสื่อสารเพื่อปลอบโยนความรู้สึกของประชาชน หรือการสื่อสารเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ว่า ในฐานะผู้นำรัฐบาล ประเทศไทยได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และในระยะยาวจำเป็นต้องมีการแก้ไขเรื่องใดเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

9. ต้องไม่ปล่อยให้เรื่องบานปลายกลายเป็นวิกฤตแล้วจึงคิดมาแก้เฉพาะหน้า

ผมเชื่อว่าคงไม่มีมนุษย์คนไหนอยากให้สองวิกฤตนี้เกิดขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่สองวิกฤตนี้สร้างความเสียหายเกินกว่าที่ควรเป็น มีส่วนมาจากการที่รัฐบาลปล่อยปละละเลยปัญหาที่คุกรุ่นมานาน จนมาถึงวันนี้ที่ทุกอย่างปะทุออกมา

ประเทศไทยพบว่าเราควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้ดีในช่วงเริ่มต้น (ถึงแม้การล็อกดาวน์ในระลอกแรก อาจถูกทักท้วงว่าเป็นมาตรการที่มี ‘ราคา’ สูงเกินไปในด้านเศรษฐกิจ) และมีเวลามากพอสำหรับเตรียมการรับมือหากมีการระบาดระลอกใหม่ แต่น่าเสียดายที่เวลาเหล่านั้นถูกใช้หมดไปอย่างประมาทเลินเล่อ จนปัจจุบันมีประชาชนที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ และอีกจำนวนมากถูกเลื่อนฉีดเพราะไม่มีวัคซีน ภายใต้การเกิดขึ้นและกระจายตัวของโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ไปตามพื้นที่ต่างๆ จนเกินควบคุม จนล่าสุด Nikkei ให้คะแนนประเทศไทยเป็นอันดับท้ายๆ ของโลก (118 จาก 120 ประเทศ) ในด้านการฟื้นตัวจากโควิด (COVID-19 Recovery Index)

ด้วยเหตุผลเดียวกัน เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้วก็มาจากปัญหาเดิมๆ ที่เรื้อรังมานาน ไม่ว่าจะเป็นการวางผังเมืองที่ไม่มีความรัดกุมพอในการป้องกันไม่ให้โรงงานและที่พักอาศัยตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน หรือปัญหาเรื่องการรับมือกับสภาวะฉุกเฉิน ที่ยังขาดแผนปฏิบัติการที่มีความชัดเจน และขาดการอบรมแนวทางการรับมือนี้กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่

มาตรการล็อกดาวน์ที่คาดว่าจะถูกประกาศในเร็ววันนี้ (ซึ่งอาจไม่มาควบคู่กับการเยียวยาที่เพียงพอ ครอบคลุม และทันท่วงที) เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการปล่อยให้ปัญหาบานปลาย ก่อนที่จะมาคิดแก้เฉพาะหน้า ในวันที่สมการมีความท้าทายกว่าเดิมหลายเท่า

ทั้ง 9 ปัญหานี้ อาจไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับการบริหารงานของรัฐบาลภายใต้ระบอบประยุทธ์ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา แต่ทั้ง 9 ปัญหานี้ ถูกฉายภาพให้เห็นชัดขึ้นจากสองวิกฤตที่ประชาชนต้องเผชิญในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และอาจทำให้เราตระหนักยิ่งขึ้นว่าความเลวร้ายของระบอบประยุทธ์ที่ซุกซ่อนและทับถมยาวนานกว่า 7 ปี อาจผุดขึ้นมาสร้างความเสียหายต่อตัวเราและคนที่เรารักอย่างคาดไม่ถึง

ถึงแม้การกำจัดระบอบประยุทธ์อาจไม่สามารถทดแทนหลายพันชีวิตที่ต้องจากไปเพราะโรคร้าย และไม่สามารถเยียวยาความรู้สึกของประชาชนที่ต้องสูญเสียบ้านที่ผูกพัน แต่ประเทศไทยที่ไม่มีระบอบประยุทธ์ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้แก่คนรุ่นหลัง เพื่อให้ประเทศเราไม่เดินซ้ำรอยกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากสองวิกฤตนี้

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save