fbpx
ไม่ตายดอก เพราะอดเสน่หา? นำชัย ชีววิวรรธน์

ไม่ตายดอก เพราะอดเสน่หา?

นำชัย ชีววิวรรธน์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

น่าจะแทบทุกคนคงต้องเจอเหตุการณ์การสูญเสียคนที่เรารัก ไม่ว่าจะเสียชีวิตจากกันไปจริงๆ หรือแค่แยกทางจากกันไป เคยมีเพลงชื่อ ‘อกหักไม่ยัก(กะ)ตาย’ หลายเพลงจากหลายศิลปินที่เนื้อเพลงให้กำลังใจว่า ‘ถึงแม้เราจะอกหัก แต่ไม่ถึงกับตายหรอก’ ขณะที่กลอนสุนทรภู่ก็ว่า ‘อดข้าวดอกนะเจ้าชีวาวาย ไม่ตายดอกเพราะอดเสน่หา’

น่าสนใจว่า เราจะตรอมใจตาย เพราะ ‘อดเสน่หา’ ได้จริงๆ หรือเปล่า?

 

ตรอมใจไม่ใช่เรื่องเล็ก

 

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งชื่อ Risk of Acute Myocardial Infarction After the Death of a Significant Person in One’s Life ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Circulation ในปี 2012 พบว่า เมื่อสำรวจคน 1985 คนในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เนื่องจากมีอาการหัวใจวายก็พบว่า มีอยู่ 270 ราย (คิดเป็น 13.6%) ที่เพิ่งสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปในช่วง 6 เดือนก่อนหน้านั้น โดยอาจจะเป็นคนรัก คู่สมรส พ่อแม่ ญาติพี่น้อง หรือเพื่อน อย่างใดอย่างหนึ่ง

มีอยู่ 19 ราย ที่เพิ่งเสียคนที่รักไปในช่วง 24 ชั่วโมงก่อนเข้าโรงพยาบาล

นักวิจัยคำนวณพบว่าความเสี่ยงสูงสุดอยู่ที่วันแรกของการสูญเสีย โดยมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปถึง 21 เท่า ขณะที่เวลาหนึ่งสัปดาห์ก็ยังคงมีความเสี่ยงสูงคือ มากกว่าคนทั่วไปถึง 6 เท่า

มีการศึกษาก่อนหน้านี้ที่แสดงว่า การสูญเสียคนที่รักทำให้สุขภาพแย่ลงแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า การมีสุขภาพทรุดโทรมลงอาจเป็นแบบปุบปับได้ด้วย

อาการที่พบนี่ ไม่ใช่แค่หดหูห่อเหี่ยว แต่ลงไปถึงเลือดถึงเนื้อเลย เช่น เลือดหนืดมากขึ้นจนแข็งตัวง่ายทำให้อาจไปอุดตันเส้นเลือดได้ ความเครียดที่เพิ่มขึ้นอย่างปุบปับยังไปเพิ่มระดับฮอร์โมนชื่อ เคทีโคลามีน (catecholoamine) ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกล็ดเลือดเกาะกัน จึงยิ่งทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้แย่ลงอีกด้วย

 

โรคอกหักหรือ ‘ทาโกะซึโบะ’    

 

ในทางการแพทย์มีโรคชนิดหนึ่งเรียกว่า ‘ทาโกะซึโบะ’ หรือ ‘โรคกลุ่มอาการอกหัก (broken heart syndrome)’ ที่เรียกชื่อแบบนี้ เพราะคำว่า ‘ทาโกะซึโบะ’ ในภาษาญี่ปุ่น ใช้เรียก ‘ข้อง (ใส่) หมึก’ ที่เอาไว้ใส่หมึกที่จับได้  คำว่า ‘ทาโกะ’ ในที่นี้ก็คือ ตัวหมึก เป็นทาโกะเดียวกับกับในคำว่า ‘ทาโกะยากิ’ ที่เป็นขนมครกญี่ปุ่น ส่วน ‘ยากิ’ แปลว่า ย่างหรือทำให้ร้อน

ผู้ป่วยเป็นโรคนี้จะมีหัวใจห้องล่างเป็นรูปทรงคล้ายกับ ‘ทาโกะซึโบะ’ นั่นเอง (ลองค้นด้วยกูเกิลแล้วดูรูปได้ครับ) และใช่แล้วครับ หมอญี่ปุ่นสังเกตเห็นอาการของโรคนี้ก่อนหมอฝรั่ง (ราวๆ ปี 1990) เลยได้โอกาสตั้งชื่อโรคนี้ ซึ่งมีชื่อเต็มๆ ว่า Takotsubo cardiomyopathy หรือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจทาโกะซึโบะ หรือ Takotsubo syndrome หรือ กลุ่มอาการทาโกะซึโบะ ซึ่งต่อไปจะเรียกย่อๆ ว่า TTS

ขอขยายความเพิ่มเติมอีกนิดนะครับ คือ แม้ว่าแรกๆ ที่ศึกษาจะเป็นกลุ่มที่อกหักจะการเสียชีวิตของผู้ที่คนเหล่านี้รักหรือสนิทชิดเชื้อมาก แต่เมื่อศึกษามากขึ้นก็พบว่า มีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการชุดเดียวกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการที่เจ้าตัวได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคร้ายแรง การล้มละลายหรือทำธุรกิจขาดทุนครั้งใหญ่ การโดนปลดจากงาน หรือการหย่าร้าง เป็นต้น

แพทย์พบว่าผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง โดยเฉพาะหญิงหลังวัยหมดประจำเดือนแล้ว

โดยอาการหัวใจวายในคนกลุ่มนี้มักจะเกิดแบบปุบปับจากความเครียดของข่าวหรือเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ต้องพบเจอ ซึ่งไปกระตุ้นให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนความเครียดหลายชนิดออกมาพร้อมๆ กัน จนทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูงขึ้น หรือเลือดแข็งตัวเป็นลิ่ม ซึ่งทั้งหมดนั้นเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจวายแบบทางตรงหรือไม่ก็ทางอ้อม

แม้จะพบโรคนี้ได้ในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะฝ่ายหญิง แต่ก็มีรายงานในผู้ชายเช่นกัน เช่น ชายรายหนึ่งอายุ 38 ปี ที่เพิ่งสูญเสียภรรยาไป ซึ่งกว่าจะทำพิธีศพภรรยาเสร็จ ตัวเขาเองก็เกือบเอาตัวไม่รอดจากอาการเลือดที่แข็งตัวเป็นลิ่มก้อนใหญ่ในเส้นเลือดหัวใจ

ที่น่าสนใจอีกเรื่องก็คือ แพทย์ยังพบอีกด้วยว่ากิจกรรมทางร่างกายบางอย่างหรือแม้แต่ความโกรธขึ้ง ก็อาจมีผลทำให้เกิดอาการป่วยแบบนี้ได้เช่นกัน มองในแง่นี้อาการโดนบอกเลิกแล้วล้มป่วยจนตรอมใจตาย หรืออาการโกรธจนหัวใจวายตายในนิยายหรือละครไทยที่พบได้บ่อย ก็ถือว่ามีความเป็นไปได้ทางการแพทย์

และ…อกหักก็ทำให้ตายได้จริงๆ นะครับ คนเราอาจตายเพราะอดเสน่หาได้จริงๆ … ขัดกับคำสุนทรภู่อย่างแรง!

 

ทำไมผู้หญิงป่วยโรคนี้มากกว่า

 

ช่วงปลายปี 2011 มีการเปิดเผยข้อมูลวิจัยในการประชุมวิชาการ American Heart Association Conference ที่เมืองฟลอริดา โดยใช้ข้อมูลจากโรงพยาบาลของรัฐประมาณ 1,000 แห่ง นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอาร์แคนซัสพบว่า ในปี 2007 มีรายงานจำนวนผู้ป่วยโรคนี้อยู่ทั้งสิ้น 6,229 ราย แต่มีผู้ป่วยชายอยู่แค่เพียง 671 คนเท่านั้น (10.8%)

เมื่อใช้วิธีการทางสถิติตัดผลกระทบจากโรคความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจทั่วไปออก ก็พบว่าผู้หญิงมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชายราว 7.5 เท่า นอกจากนี้ ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 55 ปี ยังมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้หญิงอายุน้อยกว่านั้นราว 3 เท่า

ขณะที่ผู้หญิงอายุ 55 ปีลงมา มีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชายที่อายุเท่าๆ กันถึง 9.5 เท่า!

ฉะนั้น สาวๆ ก็ต้องรู้จักการหักห้ามใจไว้บ้างนะครับ ไม่เช่นนั้นปุบปับอาจเป็นโรคหัวใจได้โดยไม่รู้ตัว

อะไรทำให้เกิดความแตกต่างมากมายเช่นนี้?

ขณะนี้ยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนในเรื่องนี้ แต่คนในวงการมักจะให้น้ำหนักไปที่ฮอร์โมนต่างๆ เพราะผู้หญิงมีระบบฮอร์โมน (ผลิตหรือเพิ่มขึ้นและลดลง) ที่ซับซ้อนมากกว่าผู้ชายแบบเทียบกับไม่ได้เลย ทั้งชนิดของฮอร์โมนและปฏิสัมพันธ์ของฮอร์โมนเหล่านั้น อีกสมมติฐานก็คือ อาจจะเพราะผู้ชายมีเซลล์หัวใจที่มีตัวรับฮอร์โมนอะดรีนาลีนมากกว่า จึงอาจจะจัดการกับเรื่องความเครียดได้ดีกว่าในยามที่ฮอร์โมนความเครียดพุ่งกระฉูดขึ้นมา

ข้อสังเกตอีกเรื่องหนึ่งที่จำเพาะมากกับโรคอกหักหรือ TTS นี้ก็คือ จะเกิดขึ้นในฤดูร้อนมากกว่าฤดูหนาว ซึ่งกลับกันกับโรคหัวใจที่มีสาเหตุมาจากเรื่องอื่นที่พบในฤดูหนาวมากกว่า

 

บางคนก็อกหักง่ายกว่าคนอื่น

 

งานวิจัยชิ้นหนึ่งในวารสาร Neurosurgery ระบุว่า จากการศึกษาผู้ป่วยหลอดเลือดสมองที่มีการตกเลือดจำนวน 21 คน ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค TTS พบว่า มียีน 4 ชนิด คือ MYLK2, DSG2, FKTN และ LDB3 ที่ผิดไปจากคนทั่วๆ ไป

ยีนทั้ง 4 ยีนดังกล่าว มีบทบาทในโรคหัวใจอื่นๆ ด้วย แต่ไม่เคยพบความสัมพันธ์กับโรค TTS มาก่อน นี่จึงเป็นครั้งแรกที่พบว่า มีปัจจัยด้านพันธุกรรมเกี่ยวข้องกับโรค TTS

พูดให้เข้าใจง่ายๆ ได้ว่า คนบางคนก็เกิดมาแบบอ่อนไหว และป่วยเป็นโรคอกหักได้ง่ายกว่าคนอื่น

ยีนทั้งหมดข้างต้นแบบที่ตรวจพบว่ามีรหัสพันธุกรรมเปลี่ยนแปลงไปนั้น ถือว่าพบได้น้อยมาก จากฐานข้อมูลพันธุกรรมรายบุคคลจำนวน 65,000 ชุดที่มีอยู่ในขณะนั้น พบความผิดปกติแบบนี้ในระดับ 0.002–1.3% เท่านั้นใน 3 ยีนแรก (ขึ้นกับยีน) แต่สำหรับยีน LDB3 เพิ่งพบเป็นกรณีแรกเท่านั้น (จึงหายากที่สุด)

สรุปว่าความผิดปกติแบบนี้หาได้ยากมากๆ ครับ

คณะนักวิจัยชี้ว่า ยาบางอย่างที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคหัวใจอาจทำให้ผู้ป่วย TTS อาการแย่ลง ดังนั้น หากสามารถตรวจยีนทั้ง 4 ยีนดังกล่าวข้างต้นของผู้ป่วย ก็อาจเลือกใช้วิธีรักษาที่เหมาะสมมากกว่าได้

 

เวลาจะเยียวยาทุกสิ่ง?

 

คณะนักวิจัยของมูลนิธิหัวใจของอังกฤษศึกษาผู้ป่วย 37 คนที่ได้รับการวินิฉัยว่าป่วยเป็นโรค TTS นานหลายปี โดยใช้ทั้งการสแกนด้วยอัลตราซาวด์ เอ็มอาร์ไอ และการตรวจสอบทางกายภาพอื่นๆ ทำให้ได้ข้อสรุปว่า ผู้ป่วยเหล่านี้มีอาการไม่ต่างอะไรกับคนที่ป่วย (แต่รอดชีวิตจาก) โรคหัวใจวายหรือมีอาการหัวใจหยุดเต้น (cardiac arrest)

อันที่จริงนักวิจัยต้องการดูว่า มีการฟื้นตัวจากโรคนี้ในผู้ป่วยอย่างไรบ้าง แต่ผลกลับเป็นว่านอกจากไม่ได้มีการฟื้นตัวแบบ ‘เวลาจะเยียวยาทุกสิ่ง’ แล้ว การอกหักหรือตรอมใจยังทำให้เกิดผลกระทบระยะยาวที่รุนแรงอีกต่างหาก ลบล้างความเชื่อเดิมๆ ที่ว่า อาการแบบนี้จะเป็นแบบชั่วคราวแล้วจะหายไปเอง โดยอาการอาจจะหนักขนาดหัวใจหยุดเต้นไปดื้อๆ ก็มี

 

หากนั่นจะยังไม่แย่พอ มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งในปี 2019 ระบุว่า อาการป่วยแบบ TTS อาจมีความเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งได้ด้วย

นักวิจัยจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยซูริกในสวิตเซอร์แลนด์ ศึกษาผู้ป่วย TTS รวม 1,604 คนแบบระยะยาว (อายุเฉลี่ยคือ 69.5 ปี) มีอยู่ 276 คนในจำนวนนี้ (ราวๆ 1/6) เป็นมะเร็งชนิดที่พบได้บ่อย เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งทางเดินอาหาร มะเร็งทางเดินหายใจ ฯลฯ

ผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นมะเร็งหรือไม่ หลังจากมีอาการ TTS แม้ว่ามักรอดชีวิตไปได้นานกว่า 30 วัน ภายใต้การดูแลเรื่องหัวใจหรือการหายใจเป็นพิเศษ แต่ก็มักจะตายภายในเวลา 5 ปีหลังจากเริ่มป่วยเป็น TTS

การที่มีผู้ป่วย TTS ที่เป็นมะเร็งเป็นสัดส่วนสูง หากเทียบกับคนกลุ่มอื่น อาจจะชี้ให้เห็นว่าการเริ่มแสดงอาการมะเร็ง อาจนำไปสู่การเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็น TTS ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย แต่ทั้งนี้ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีก เพราะกลุ่มตัวอย่างยังเล็กอยู่ จนยากจะสรุปให้แน่ชัด

ในทางการแพทย์นั้น คำแนะนำในกรณี TTS ก็คือ ต้องเรียนรู้วิธีการจัดการความเครียดในชีวิต เพื่อไม่ให้ป่วยเป็นโรคนี้ ซึ่งก็อาจจะเป็นคำแนะนำที่ ‘คร่าว’ ไปบ้าง (ใครเคยอกหักจะรู้ว่ามันไม่ง่าย!) แต่หากเป็น TTS ขึ้นมาแล้ว ก็อาจต้องใช้ยาตระกูลบีต้า-บล็อกเกอร์ เพื่อป้องกันอันตรายจากฮอร์โมนความเครียดที่มีต่อหัวใจ

เรื่องน่าเศร้าก็คือ เมื่อเป็น TTS แล้วสักครั้ง ก็ไม่ได้แปลว่าจะเลิกเป็น แต่อาจเป็นซ้ำได้อีกเรื่อยๆ และยังไม่มีวิธีป้องกันเสียด้วย

ครับ… ก็ต้องหัด ‘วางจิตใจ’ ว่า มีรักย่อมมีจาก มองให้เห็นความจริงในชีวิตให้ได้ เพื่อไม่ต้องทำร้ายชีวิตตัวเอง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save