fbpx
Klüver–Bucy syndrome : เมื่อแรงขับล้นทะลัก และปีศาจภายในไร้โซ่ตรวน

Klüver–Bucy syndrome : เมื่อแรงขับล้นทะลัก และปีศาจภายในไร้โซ่ตรวน

ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เธอได้ยินเสียงกริ่งประตูดัง แขกที่มาหาเป็นชายหนุ่มอายุราว 30 กว่า ดูคุ้นหน้า แต่เธอจำได้ไม่แน่ชัดว่าเคยเห็นเขาที่ไหน

“ผมชื่อ เควิน” เขาแนะนำตัวบอกว่าทำงานที่เดียวกันกับเธอ มิน่าละเธอถึงคุ้นหน้าเขา

“ผมรู้ว่ามันอาจจะฟังดูแปลกๆ แต่ผมขอติดรถคุณไปทำงานด้วยได้ไหม ใบขับขี่ผมถูกยึด…”

เมื่อไม่กี่อาทิตย์ก่อน ขณะที่เควินขับรถ อยู่ดีๆ เขาก็หมดสติ จนรถไถลออกข้างทาง ทันทีที่เขากลับมารู้ตัว เขาก็รู้ทันทีว่าโรคเก่าที่เคยเป็นมันกลับมาเยี่ยมเขาซะแล้ว

ก่อนหน้านี้ เควินถูกวินิจฉัยเป็นโรคลมชัก ได้รับการรักษาจนหายไปหลายปีด้วยการผ่าตัด หมอให้เขาลองกลับมากินยาควบคุมอาการชัก เขาถูกยึดใบขับขี่ การเดินทางจากบ้านของเขามาโรงพยาบาลจึงไม่สะดวก เขาเลยลองไปไล่เคาะประตูบ้านคนในบริษัทเดียวกันที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง จนมาถึงบ้านของเธอ

เธออยากช่วยเขา เลยตกลงให้เควินติดรถไปด้วย​ ระหว่างทางทั้งสองได้รู้จักกันมากขึ้น โชคดีของเควินชั้นที่สองที่แม้เธอจะอายุน้อยกว่าเขาหลายปีแต่บังเอิญชอบฟังเพลงที่เขาชอบสมัยเขาเป็นวัยรุ่น ทั้งสองคนร้องเพลงไปด้วยกันในรถทุกวัน พอนานเข้าความสนิทก็เริ่มก่อตัว เควินเริ่มชวนไปทานข้าว มีจดหมายเผยความในใจ แล้ววันหนึ่งเควินก็ขอเธอแต่งงาน

หญิงสาวไม่แน่ใจ เขาอายุมากกว่าเธอซ้ำยังมีโรคประจำตัว แต่สุดท้ายเธอก็ยอมแพ้ความน่ารักของเขา หลังแต่งงานเธอมีความสุขมาก เควินคอยดูแลเธอเป็นอย่างดี มีดอกไม้ รูปวาด และบทกลอนให้สม่ำเสมอ ชีวิตคู่ดำเนินไปอย่างราบรื่น จะเว้นก็แต่เรื่องอาการชักของเควิน ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจเข้ารับการรักษาโรคลมชักด้วยการผ่าตัดอีกครั้ง

การผ่าตัดผ่านไปด้วยดี หลังผ่าตัดเขาไม่มีอาการผิดปกติอะไร อาการชักก็หายไป ผลการผ่าตัดดีถึงขนาดว่าเขายังเล่นเปียโนได้เหมือนก่อนผ่าด้วยซ้ำ ทั้งคู่คิดว่าจากนี้คงจะไม่มีอะไรให้กังวลใจอีกแล้ว

แต่พอเวลาผ่านไปสักพัก เธอเริ่มสังเกตว่าเควินเล่นเปียโนได้เป็นชั่วโมงๆ บางทีก็เล่นเพลงเดิมวนไปวนมา อีกอย่างคือ เขาขอมีอะไรกับเธอบ่อยขึ้นจนสังเกตเห็น แต่เธอคิดว่าอาจจะเป็นเพราะทั้งคู่พยายามมีลูกด้วยกัน

จนกระทั่งวันหนึ่งตำรวจมาเคาะหน้าประตูบ้าน และมารวบตัวเขาไปแล้วขอเข้าไปค้นในบ้าน เควินไม่ขัดขืน เขารู้อยู่แล้วว่าวันนี้จะมาถึง เขารับผิดและเปิดคอมพิวเตอร์ส่วนตัวของเขาให้ตำรวจดู ในโฟลเดอร์หนึ่งอัดแน่นไปด้วยภาพเปลือย มีกระทั่งภาพของเด็กทารก หรือเด็กอนุบาล…​ เขาถูกจับในข้อหามีภาพอนาจารของผู้เยาว์ไว้ในครอบครอง (child pornography)

เธอช็อค สามีที่แสนดีของเธอไม่เคยมีวี่แววเลยว่าจะเป็นโรคจิต

เควินให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า เขาไม่เข้าใจตัวเองเหมือนกัน แรกเริ่มมันเหมือนจะเป็นแค่การอยากลอง รู้ตัวอีกทีเขาก็พบว่าตัวเองดาวน์โหลดแล้วก็ลบๆ ซ้ำๆ อยู่แบบนั้นวันนึงหลายๆ รอบ เขาคิดแล้วยังนึกรังเกียจการกระทำตัวเอง แต่ก็ควบคุมตัวเองไม่ได้

 

เควินได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนที่เป็นศูนย์การทำงานที่เกี่ยวกับอารมณ์ โดยเฉพาะอารมณ์พื้นฐานของสิ่งมีชีวิต อย่างเรื่องความกลัว แรงขับทางเพศ นักวิทยาศาสตร์ Heinrich Klüver และ Paul Bucy เคยทดลองผ่าสมองส่วน temporal และ amygdala ออกจากสมองลิง แล้วพบว่าทำให้ลิงก้าวร้าว ไม่รู้จักความกลัว และแรงขับทางเพศสูงกว่าปกติ กลุ่มอาการนี้จึงมีชื่อเรียกว่า Klüver–Bucy syndrome

ก่อนหน้าเควินก็เคยมีอีกกรณีหนึ่ง ปี 1966 ชาลส์ วิทแมน พกปืนไรเฟิลเดินเข้ามหาวิทยาลัยเทกซัส แล้วกราดยิงผู้บริสุทธิ์จากชั้นดาดฟ้า มีผู้เสียชีวิต 13 คน บาดเจ็บ 32 คน ก่อนที่ตำรวจจะปิดฉากด้วยวิสามัญฆาตกรรม ภายหลังทราบว่าเช้าวันนั้นเขาลงมือฆ่าภรรยาและแม่ของตัวเองด้วย ที่คนแปลกใจก็คือ ก่อนหน้านี้เขาดูเป็นคนปกติดี การศึกษาดี การงานดี ไม่ปรากฏแรงจูงใจใดๆ ในการก่อเหตุเลือดเย็นแบบนี้ ก่อนลงมือเขาเขียนจดหมายลาตายเอาไว้บอกว่า ระยะหลังนี้เขามีความคิดประหลาดที่หยุดคิดไม่ได้ จนเขาต้องไปหาหมอ แต่หมอก็บอกไม่ได้ว่าเป็นจากอะไร เขาสงสัยว่า ตัวเองจะมีความผิดปกติอะไรบางอย่างในสมอง…  เขาเดาถูกเผง ผลการชันสูตรพบก้อนเนื้อสมองกดเบียดสมองส่วน amygdala

 

กลับมาที่เควิน ดร.ออริน เดวินสกี ประสาทศัลยแพทย์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์กที่รักษาเควินเข้าให้การในศาล อธิบายว่าสิ่งที่เควินทำลงไป ไม่ใช่ตัวเควินที่แท้จริง แต่เป็นเพราะโรคที่เขาเป็น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม หากมีภาวะนี้ก็คงจะมีพฤติกรรมไม่ต่างกัน

ศาลรับฟังเหตุผล แต่สิ่งที่ทำให้ศาลลังเลก็คือหลักฐานเพิ่มเติมที่ว่า เควินไม่ได้เก็บรูปพวกนั้นไว้สะเปะสะปะ เขามีการเอาโฟล์เดอร์นี้ไปซ่อน แล้วถ้าไปดูคอมพิวเตอร์ของเขาในที่ทำงาน จะไม่เจอรูปพวกนี้เลย ซึ่งแสดงว่าเขามีความตั้งใจปิดบัง และยังควบคุมตัวเองได้ แม้เพียงชั่วคราว และถ้าเขารู้ตัวว่าเขาควบคุมตัวเองไม่ได้ อย่างน้อยเขาน่าจะขอความช่วยเหลือให้ใครมาช่วยควบคุมตัวเขาอีกที

 

เวลาเราตัดสินใจอะไรสักอย่าง เราคิดว่าเราเป็นเจ้าของการตัดสินใจนั้น เรามีสิทธิที่จะเลือกอะไรก็ได้อย่างอิสระ (free will) กรณีของเควินและวิทแมนบอกเราว่า การตัดสินใจของเราไม่ได้เป็นอิสระหรอกนะ มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยที่มีอยู่ก่อน (determinism) นั่นแหละ (เช่น การทำงานของสมอง) ที่เรารู้สึกว่าเรามีอิสระในการเลือกทางเดินชีวิตแท้จริงแล้วก็เป็นเพียงแค่มายา (free will is an illusion)

บางคนอาจจะรู้สึกว่า กรณีที่ยกมาเป็นเพียงแค่ข้อยกเว้น ซึ่งก็เป็นความจริงว่าเคสอาชญากรส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากโรคลมชักหรือก้อนในสมอง แต่ก็เป็นความจริงอีกครับว่า พฤติกรรมเหล่านี้มีปัจจัยอีกมากมาย เช่น ปัจจัยทางพันธุกรรม (ประวัติมีคนในครอบครัวเป็นอาชญากร) การติดเชื้อระหว่างที่มารดาตั้งครรภ์  การถูกล่วงละเมิดในวัยเด็ก (child abuse) อุบัติเหตุทางสมอง เป็นต้น เราจะทราบได้อย่างไรครับว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีผลต่อสมองไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ต่อให้ไปตรวจการทำงานสมองด้วยเครื่องมือที่ล้ำยุคที่สุดในปัจจุบัน ก็ไม่แน่ว่าเทคโนโลยีปัจจุบันจะดีพอที่จะตรวจพบความผิดปกติได้ ดังนั้นตรวจแล้วเป็นปกติก็ไม่สามารถบอกได้อย่างเต็มปากอยู่ดีว่าการทำงานสมองเป็นปกติ 100%

ภายใต้กรอบความคิดว่ามนุษย์มี free will ถ้ามีใครทำพฤติกรรมอะไรไม่พึงประสงค์ ผู้ตัดสินใจก็คือ ‘ผู้รับผิดชอบ’ การกระทำนั้นๆ แต่ภายใต้กรอบความคิดแบบ determinism เราอาจจะหาผู้รับผิดชอบได้ไม่ง่าย เพราะการกระทำหนึ่งๆ เป็นผลจากหลายปัจจัยรวมกัน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ระดับชีวภาพไปจนถึงระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมกันเลยทีเดียว

แล้วจะทำยังไงล่ะ? ถ้าไม่มีผู้กระทำผิด ก็ไม่ต้องมีบทลงโทษ?

ดร.โรเบิร์ต สโปวสกี นักประสาทวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดผู้เชี่ยวชาญเรื่องความก้าวร้าวกล่าวไว้ว่า ถ้าเราคิดว่าการกระทำของคนเราล้วนมีที่มาและที่ไป อาชญากรก็ไม่ต่างกับเครื่องยนต์ที่มีปัญหาทางกลไก

“ถ้าคุณรู้ว่ารถคุณเบรกเสีย คุณจะทำยังไง?” เขาถาม

แน่นอนว่าคุณก็คงเอารถนั้นไปเก็บ ไม่เอามันออกมาใช้อีก เพราะมันเป็นอันตรายต่อคนอื่น แต่สิ่งที่เราจะไม่ทำก็คือ ไปยืนด่าทอรถว่าเป็นไอ้รถชั่ว ไอ้รถไร้ยางอาย ทำไมบอกให้เบรกแล้วไม่หยุดเบรก เลวมาก ฉะนั้นแม้จะไม่สามารถชี้ตัวต้นเหตุได้อย่างมั่นใจ แต่การจองจำก็ยังทำได้และควรทำถ้ามีความจำเป็น เพียงแต่วิธีคิดคือทำไปเพื่อความปลอดภัยของผู้อื่น ไม่ใช่เพื่อทรมานผู้กระทำผิด

ด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ใครจะรู้ว่า วันหนึ่งเราอาจจะมีวิทยาการที่บอกได้เลยว่า รถกำลังจะเสีย หรือถ้าเสียแล้วอะไรคือปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหา พร้อมทั้งเสนอทางแก้ไข ถึงวันนั้น ‘รถเสีย’ อาจถูกซ่อมแซมจนกลับมาเหมือนใหม่ในข้ามคืน

อย่างกรณีของเควิน ศาลตัดสินใจให้เขามีความผิดแต่ยังใจดีลดความผิดให้กึ่งหนึ่ง หลังจากที่ได้รับการผ่าตัดเป็นครั้งที่สาม เควินแสนดีคนเดิมก็กลับคืนมา

ผมคล้อยตามแนวความเห็นของ ดร.สโปวสกี แต่อีกใจหนึ่งก็จินตนาการไปถึงโลกอนาคตอันไกลโพ้น

ผมจินตนาการเห็นผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมคนหนึ่งด้วยถูกนำตัวเข้ามาตรวจการทำงานสมอง ผลของการตรวจเบื้องต้นไม่พบความผิดปกติ แต่ด้วยเทคโนโลยีล่าสุดพบว่าสมองส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งทำงานลดลงกว่าปกติ

วันต่อมาเขาก็ถูกเข็นเข้าห้องผ่าตัด ประสาทศัลยแพทย์เจาะรูที่กระโหลกเป็นเพียงโพรงเล็กๆ แล้วสอดสายไฟบางเฉียบ ให้ปลายเข้าไปจอดอยู่ในสมองส่วนนั้นพอดิบพอดี พอต่อสายเข้ากับเครื่องทีมแพทย์ให้สัญญาณแล้วกดสวิตซ์ ทันใดนั้นน้ำตาแห่งความเสียใจก็ไหลอาบแก้มอาชญากรที่เคยไร้หัวใจ

ไม่ต้องสงสัย ในมุมของสังคม…นี่คือทางออกที่ยอดเยี่ยมอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่ในมุมของผู้สูญเสีย ถ้าอาชญากรคนนั้นคือคนที่พรากสิ่งสำคัญไปจากผม

ผมควรจะรู้สึกอย่างไรดีนะ

 

 

อ้างอิง

  1. Devinsky J, Sacks O, Devinsky O. Klüver–Bucy syndrome, hypersexuality, and the law. Neurocase. 2010 Mar 19;16(2):140-5.
  2. NPR, Radiolab, season 16, episode, “Blame,” segment “Fault Lines,” 24:12 minutes. First aired September 12, 2013. Produced by Pat Walters. http://www.radiolab.org/story/317421-blame/
  3. Lavergne GM. A sniper in the Tower: The Charles Whitman Murders. University of North Texas Press; 1997.
  4. Sapolsky RM. Behave: The biology of humans at our best and worst. Penguin; 2017 May 2.

 

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save