เพศและความเป็นอื่น : ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ใน 'Booker Prize 2019'

เพศและความเป็นอื่น : ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ใน ‘Booker Prize 2019’

สุนันทา วรรณสินธ์ เบล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

การประกาศผลรางวัลวรรณกรรมดีเด่นประจำปีของ Booker Prize จัดขึ้นเมื่อคืนวันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม 2019 ซึ่งเราทราบกันดีแล้วว่าปีนี้มีหนังสือที่ได้รับรางวัลสองเล่ม นั่นคือ The Testaments ของ Margaret Atwood และ Girl, Woman, Other เขียนโดย Bernardine Evarista

งานประกาศผลรางวัลจัดขึ้นที่ Guildhall ในกรุงลอนดอน มีการจัดเลี้ยงอาหารค่ำอย่างหรูหราให้กับบุคคลสำคัญๆ ในแวดวงหนังสือ และนักเขียนทั้ง 6 ท่านที่มีผลงานเข้ารอบ shortlist เข้าร่วมงาน BBC ถ่ายทอดสดช่วงประกาศผลรางวัลและกล่าวสุนทรพจน์เวลา 21.30 – 22.00 น.

รายชื่อหนังสือที่เข้ารอบและนักเขียนมีดังนี้

The Testaments นวนิยายเล่มที่ 17 ของ Margaret Atwood นักเขียนชาวแคนาดา วัย 79 ปี ก่อนหน้านี้ผลงานของแอตวูดได้รับการคัดเลือกให้เข้ารอบ shortlist แล้ว 6 ครั้งและ The Blind Assassin ชนะรางวัลในปี 2000

Ducks, Newburyport ผลงานเล่มที่ 7 ของ Lucy Ellmann ชาวอเมริกันวัย 62 ปีที่ย้ายถิ่นฐานมาพำนักในสหราชอาณาจักร ปัจจุบันอาศัยอยู่ในสกอตแลนด์

Girl, Woman, Other ผลงานเล่มที่ 8 ของ Bernardine Evarista นักเขียนชาวอังกฤษเชื้อสายไนจีเรีย วัย 60 ปี

The Orchestra of Minorities ผลงานเล่มที่ 2 ของ Chigozie Obioma นักเขียนชาวไนจีเรียวัย 32 ปี The Fishermen นวนิยายเล่มแรกของเขาเข้าชิงรางวัลนี้ในปี 2015 เช่นกัน

Quichotte นวนิยายเล่มที่ 14 ของ Salman Rushdie นักเขียนเชื้อสายอินเดียวัย 72 ปี ก่อนหน้านี้ Midnight’s Children ผลงานของเขาได้รับรางวัล Booker Prize ในปี 1981 และ Best of the Booker ในปี 1993 และ 2008

10 Minutes 38 Seconds in This Strange World ผลงานเล่มที่ 11 ของ Elif Shafak นักเขียนเชื้อสายตุรกีวัย 47 ปี

เพศและความเป็นอื่น : ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ใน 'Booker Prize 2019'

เมื่อแบ่งตามข้อมูลประชากรศาสตร์ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นชาย 2 คน หญิง 4 คน ประกอบไปด้วยหลากหลายเชื้อชาติดังที่ได้กล่าวข้างต้น เป็นคนผิวสี 3 คน ผิวขาว 3 คน

รางวัล Booker Prize เป็นรางวัลสำหรับนวนิยายดีเด่นที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ตีพิมพ์ในสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ในแต่ละปี จัดว่าเป็นรางวัลอันทรงเกียรติและส่งเสริมวงการหนังสือ การอ่าน และการผลิตผลงานสร้างสรรค์ รางวัล Booker Prize เชิดชูหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งที่ตีพิมพ์ในปีนั้น ซึ่งต่างจากรางวัลโนเบลที่ตัดสินจากผลงานทั้งชีวิตและอิทธิพลของนักเขียนต่อสังคมโลก

ปีนี้มีหนังสือที่จัดอยู่ใน longlist 13 เล่มจากทั้งหมด 151 เล่มที่ได้รับการเสนอชื่อ ซึ่งประธานกรรมการตัดสิน Peter Florence ก็ได้กล่าวถึงในสุนทรพจน์ประกาศรางวัลและชื่นชมนักเขียนอีก 7 ท่านที่ไม่ได้อยู่ ณ ที่นั้น ได้แก่ Kevin Barry (เขียนเรื่อง Night Boat to Tangier), Oyinkan Braithwaite (ผู้เขียน My Sister, the Serial Killer), John Lanchester (ผู้เขียน The Wall), Deborah Levy (ผู้เขียน The Man who Saw Everything), Valeria Luiselli (เจ้าของผลงาน Lost Children Archive), Max Porter (ผู้เขียน Lanny) และ Jeanette Winterson (ผู้เขียน Frankissstein)

ก่อนประกาศผลรางวัล Rebecca Jones ผู้ประกาศของบีบีซีรายงานสดจากที่จัดงาน ร่วมพูดคุยกับ Daisy Buchannan นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ และ Nick Bottomley เจ้าของร้านหนังสืออิสระในเมืองบาธชื่อ Mr B’s และประธานสมาคมผู้จำหน่ายหนังสือแห่งสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ ทั้งสามคนได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับหนังสือทั้ง 6 เล่มที่เข้ารอบดังนี้

The Testaments เป็นเล่มต่อจาก The Handmaid’s Tale ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญถึงยาวนาน เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้น 15 ปีหลังจากเหตุการณ์ใน The Handmaid’s Tale เล่าจากมุมมองของตัวละครหญิง 3 คนในสังคมรวมอำนาจเบ็จเสร็จของรัฐกิเลียด บูคานันกล่าวว่าหนังสือเล่มนี้ให้ความพึงพอใจเหมือนกับอาหารฟาสต์ฟูด แต่ไม่ได้ให้อะไรหลังจากนั้น อ่านง่ายเหมือนหนังสือสำหรับเยาวชนและตอนจบก็ให้คำตอบที่น่าพอใจ แต่ผู้อ่านไม่รู้สึกติดใจอะไรที่ต้องนำติดตัวไปไปคิดต่อ ส่วนบอททอมลีย์มองว่าเป็นหนังสือที่แตกต่างจากเล่มแรกตรงที่ให้ความหวัง อย่างไรก็ดี The Testaments ไม่ดีเท่า The Handmaid’s Tale

Ducks, Newburyport เป็นงานเขียนเล่มโต หนาหนึ่งพันหน้าแต่มีเพียงย่อหน้าเดียว โดยล้อกับ Ulysses ของ James Joyce เป็นการถ่ายทอดความคิดของแม่บ้านคนหนึ่งจากรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ในการรับมือกับชีวิตในโลกปัจจุบัน หากเล่มนี้ชนะ จะเป็นเล่มที่ยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ของ Booker Prize บอททอมลีย์กล่าวว่าเป็นหนังสือที่สร้างสรรค์ แต่เมื่อเทียบลักษณะนี้กับหนังสือเล่มอื่นๆ แล้ว ความยาวของหนังสือเป็นอุปสรรค เนื่องจากกล่าวซ้ำกระบวนความคิดเดิมๆ เพื่อแสดงถึงความคิดไร้ระเบียบของมนุษย์ แต่บูคานันรับว่าเธอรักหนังสือเล่มนี้แม้ว่าตัวละครหลักไม่ได้เข้ามานั่งอยู่ในใจเธอจนถึงหน้า 200 กว่า แต่เมื่อเธอติดใจกับเรื่องและตัวละครแล้วก็ไม่อาจหยุดคิดถึงมันได้ หนังสือเล่มนี้อ่านยากแต่บูคานันก็อยากให้นักอ่านฝึก “กล้ามเนื้อ” สมอง

Girl, Woman, Other ประกอบด้วยเรื่องราว 12 เรื่อง เล่าโดยผู้หญิง 12 คนที่ต่างวัยและต่างอาชีพ ส่วนใหญ่เป็นหญิงผิวดำสัญชาติบริทิช เขียนในรูปแบบกลอนเปล่า ทั้ง 12 เรื่องเชื่อมโยงต่อกันและลื่นไหลเข้าด้วยกัน ถักทอเรื่องราวของตัวละครจากต่างวัฒนธรรมต่างถิ่นเข้าด้วยกัน ทั้งโจนส์ บูคานัน และบอททอมลีย์ ชื่นชอบหนังสือเล่มนี้

The Orchestra of Minorities เล่าเรื่องราวของชาวไร่หนุ่มในไนจีเรียที่ตกเป็นเหยื่อพัวพันในเรื่องอื้อฉาว เล่าจากมุมมองของ ‘ชี’ วิญญาณที่ปกปักรักษาคนในวัฒนธรรมอิกโบ เป็นเรื่องราวเร้าอารมณ์ของชายคนหนึ่งที่ยอมสูญเสียทุกสิ่งเพื่อผู้หญิงที่ตนรัก เขียนด้วยภาษาอันงดงาม กล่าวถึงวัฒนธรรมพื้นเมืองของไนจีเรีย แต่บูคานันมองว่าไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับฝ่ายหญิง ว่าเธอคิดและรู้สึกอย่างไร

Quichotte นำเรื่องราวของดอนกิโฆเตมาเล่าใหม่ ในรูปแบบของเซลล์แมนเร่ขายของที่เดินทางข้ามอเมริกาเพื่อไปหาหญิงคนรักผู้อยู่สูงเกินเอื้อม แม้ว่าหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงอเมริกา อินเดีย และวรรณคดีในโลกปัจจุบัน แต่หลายองค์ประกอบไม่สอดคล้องกันและเทียบไม่ได้กับ Midnight’s Children ที่เคยได้รับรางวัลนี้แล้วในอดีต

10 Minutes 38 Seconds in This Strange World เล่าถึงเรื่องราวชีวิตและการตายของหญิงขายบริการคนหนึ่งในอิสตันบูล ช่วงเวลา 10 นาทีกับอีก 38 วินาทีเป็นช่วงเวลาที่ว่ากันว่าสมองยังทำงานหลังจากที่หัวใจหยุดเต้น ในแต่ละนาทีที่ผ่านไปตัวละครเอกรำลึกถึงกลิ่น รสชาติ และโสตสัมผัสต่างๆ ในประสบการณ์จากช่วงต่างๆ ของชีวิต นับเป็นหนังสือที่สำคัญที่กล่าวถึงการย้ายถิ่นฐาน การตั้งรกรากใหม่ มิตรภาพ การหักหลัง และการคอรัปชั่น เป็นกระบอกเสียงให้แก่ผู้หญิง และเป็นหนังสือที่น่าอ่านอย่างยิ่ง

เมื่อ Peter Florence ประธานคณะกรรมการตัดสินรางวัลประกาศว่ามีผู้ได้รับรางวัล 2 คน เกิดเสียงฮือฮาด้วยความตื่นเต้นขึ้นในสถานที่จัดงานเพราะกฎเกณฑ์การให้รางวัลระบุชัดเจนตั้งแต่ปี 1992 ว่าต้องมี ‘ผู้ชนะเพียงคนเดียว’ แต่คณะกรรมการต้องการเชิดชูผลงาน 2 เล่มของนักเขียน 2 คนและไม่อาจตกลงเลือกผู้ชนะหนึ่งเดียวได้หลังประชุมนานกว่า 5 ชั่วโมง ก่อนหน้านี้คณะกรรมการประชุมกันเดือนละหนึ่งครั้งตลอดระยะเวลา 10 เดือนที่ผ่านมา

ฟลอเรนซ์กล่าวในสุนทรพจน์ประกาศรางวัลว่าคณะกรรมการพยายามตัดสินโดยการลงคะแนนเสียง แต่ประชาธิปไตยไม่สามารถให้คำตอบได้ สิ่งเดียวที่กรรมการเห็นพ้องต้องกันคือไม่สามารถตัดสินให้หนังสือเล่มหนึ่งเล่มใดชนะ และมีสองเล่มที่ทุกคนเห็นว่า ‘วางไม่ลง’

เพศและความเป็นอื่น : ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ใน 'Booker Prize 2019'
ที่มาภาพ : Reuters

การที่คณะกรรมการตัดสินรางวัล Booker Prize แหวกกฎในครั้งนี้ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก บางคนชื่นชมความกล้าหาญของคณะกรรมที่เลือกที่จะฝืนกฎซึ่งไม่เข้ากับสถานการณ์ และการเชิดชูนักเขียนสองคนย่อมดีกว่าคนเดียว ส่งผลดีสำหรับวงการหนังสือและการเขียน แต่ก็มีบางกลุ่มที่วิจารณ์ว่าคณะกรรมการไม่ควรทำตามใจตนเอง ไม่ให้เกียรติรางวัล และไม่เป็นธรรมต่อนักเขียนทั้งสองคน

มาร์กาเร็ต แอดวูด กล่าวในสุนทรพจน์รับรางวัลและกล่าวกับสื่อมวลชนในเวลาต่อมาว่า เธอคงรู้สึกอับอายถ้าได้รางวัลมาครองแต่เพียงผู้เดียวในเมื่อเธออายุมากถึงปูนนี้ (เธอเป็นผู้ชนะรางวัลที่อายุมากที่สุด) จึงไม่ควรขัดขวางหนทางก้าวหน้าของนักเขียนใหม่ๆ ส่วนแบร์นาร์ดีน เอวาริสตา กล่าวว่าดีใจและเป็นเกียรติอย่างมากที่เป็นผู้หญิงผิวดำคนแรกที่ได้รับรางวัล และหวังว่าจะมีรายอื่นๆ ตามมาอีกในไม่ช้า

ประเด็นเรื่องเพศและสีผิวของผู้ชนะนี่เองที่กลุ่มวิจารณ์การตัดสินใจของคณะกรรมการเพ่งเล็ง หลายคนมองว่านี่เป็นการสร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ของรางวัล Booker Prize ที่เชิดชูนักเขียนเพศหญิงผิวดำเป็นคนแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1969 แต่การที่มอบรางวัลให้แก่นักเขียนสองคน ทำให้เกิดการหันเหความสนใจไปจากประเด็นนี้ เอวาริสตาและผลงานของเธอจึงไม่โดดเด่นเท่าที่ควร ขณะที่หลายคนมองว่าการตัดสินใจของคณะกรรมการไม่เด็ดขาด มีแรงจูงใจทางการเมืองมากกว่าจะคำนึงถึงคุณค่าทางวรรณศิลป์เป็นหลัก

ในประวัติศาสตร์ 50 ปีของ Booker Prize ก่อนหน้านี้มีผู้ชนะร่วม 2 ครั้ง ในปี 1974 (Nadine Gordimer และ Stanley Middleton) และ 1992 (Michael Ondaatje และ Barry Unsworth) ก่อนที่จะมีการบัญญัติกฎอย่างชัดเจนว่าต้องมีผู้ชนะเพียงคนเดียว

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save