fbpx
กฎหมายที่ไม่ใช่เครื่องจักรกล และนักกฎหมายที่ไม่ใช่นายช่างประจำเครื่อง

กฎหมายที่ไม่ใช่เครื่องจักรกล และนักกฎหมายที่ไม่ใช่นายช่างประจำเครื่อง

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

เวลาผมได้ยินนายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานกฎหมายประกาศว่า “กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ไม่สามารถหยุดยั้งการดำเนินคดีกับแกนนำการประท้วงได้” เป็นข้อความที่ประหลาดพิลึก ทุกคนพูดเหมือนกับว่ากฎหมายเป็นเครื่องยนต์อะไรสักอย่างที่ดำเนินการแบบมีชีวิตจิตใจของมันเองโดยคนที่เฝ้ามองอยู่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงมันได้

ทรรศนะว่าด้วยกฎหมายแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก นักกฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมายส่วนใหญ่ชอบอ้างแบบนี้ เมื่ออ้างเช่นนี้แล้วกฎหมายก็กลายเป็นของศักดิ์สิทธิ์ไป

สำหรับชาวกรีกโบราณ เธมิส (Themis) เทพีแห่งความยุติธรรมนั้น มือหนึ่งถือตาชั่ง อีกมือถือดาบ ที่น่าสนใจคือ รูปปั้นของเธมิสบางครั้งปรากฏตัวโดยปิดตาเพื่อป้องกันอคติ ดาบและตาชั่งจึงใช้ฟาดฟันทุกคนถ้วนหน้ากัน

แต่กฎหมายแท้จริงแล้วเป็นอย่างที่ผู้มีอำนาจอธิบายเช่นนั้นหรือ ว่ากฎหมายย่อมเป็นกฎหมายและไม่มีใครหยุดยั้งหรือเปลี่ยนแปลงการบังคับใช้กฎหมายได้ ถ้าเราลองพิจารณาวิชานิติศาสตร์จากมุมมองที่กว้างขึ้นจะพบว่าการใช้กฎหมายนั้นมีปัจจัยต่างๆ นอกเหนือจากกฎหมายเข้ามาเกี่ยวด้วยจำนวนมาก

ปัจจัยใหญ่ที่สุดในการใช้กฎหมาย คือ ปัจจัยด้านกฎหมาย ซึ่งในที่นี้หมายถึงกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ และกฎหมายลำดับรองอื่นๆ ตลอดจนกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร บรรทัดฐาน จารีตประเพณีต่างๆ

ในโลกอุดมคติ กฎหมายเขียนไว้ดีแล้ว อ่านกระจ่างชัดจนไม่ต้องตีความ ถ้าเป็นแบบนั้นคงไม่เป็นปัญหาอะไร การปรับใช้กับข้อเท็จจริงแต่ละกรณีก็คงง่ายเหมือนหุ่นยนต์ หรือเครื่องคิดเลขที่ใส่ตัวเลขและสูตรคำนวณเข้าไปแล้วก็ได้ผลลัพธ์ออกมา ผู้พิพากษาเป็นแค่คนกรอกสูตรเท่านั้นเอง

แต่โลกแห่งความเป็นจริงซับซ้อนกว่านั้นมาก กฎหมายที่เขียนขึ้นห่างไกลจากอุดมคติมาก การใช้ต้องตีความ เมื่อต้องตีความ การให้ความหมายที่แท้จริงกับกฎหมายจึงขึ้นกับผู้ใช้กฎหมายแต่ละคน ซึ่งมีภูมิหลังประสบการณ์แตกต่างกัน จึงเป็นไปได้ที่ผลลัพธ์จะแตกต่างกันออกไป

ปัจจัยที่สองที่เกี่ยวข้อง คือ ปัจจัยด้านการเมือง ในที่นี้อาจหมายถึงพรรคการเมืองว่าผู้ใช้กฎหมายชื่นชอบพรรคการเมืองหรือนักการเมืองใดเป็นพิเศษ หรือ อุดมการณ์การเมือง ว่าผู้ใช้กฎหมายเชื่อในอุดมการณ์แบบไหน เสรีนิยม ชาตินิยม อนุรักษ์นิยม กษัตริย์นิยม เสนานิยม หรือสังคมนิยมก็แล้วแต่ การอ่านและตีความกฎหมายย่อมถูกโน้มนำด้วยอุดมการณ์นั้นๆ

สุดท้ายคือ ปัจจัยส่วนตัวอื่น ซึ่งอาจต้องอธิบายด้วยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมหรือจิตวิทยาก็มี ผู้พิพากษาที่โตมากับการเลี้ยงดูแบบอำนาจนิยมอาจชื่นชอบการลงโทษรุนแรงเด็ดขาดเพราะเห็นว่าเป็นทางออกที่ดี ผู้หญิงกับผู้ชายอาจมองหลักกฎหมายเรื่องข่มขืนหรือทำแท้งต่างกัน หากเป็นพ่อแม่คนอาจจะมีอารมณ์ร่วมกับคดีความรุนแรงต่อเด็กมาก ผู้ใช้กฎหมายบางท่านอาจจะเสาะแสวงหาชื่อเสียงจึงหวั่นไหวกับเสียงของมหาชนเป็นพิเศษ ในขณะที่บางคนอาจไม่สนใจเสียงของมหาชนเลย เพราะถือคติว่าคนเราไม่เท่ากัน หรือเห็นว่าคนธรรมดาไม่มีทางรู้กฎหมายดี หรือถือดีว่าตัวเองมีผู้มีอำนาจหนุนหลังไม่มีทางถูกเอาผิดก็ตามที เป็นต้น

ไม่รวมถึงการใช้กฎหมายเพื่อไต่เต้าหรือเสาะแสวงหาความก้าวหน้าในชีวิตการงาน เช่น พยายามตัดสินให้ถูกใจผู้มีอำนาจ หรือแม้แต่ได้รับอามิสจูงใจ

เคยมีผู้กล่าวว่า อาหารเช้าที่ผู้พิพากษากินในเช้าวันที่ทำพิพากษานั้น อาจจะสำคัญกับผลแห่งคดีมากกว่าหลักกฎหมายเสียอีก ผู้พิพากษาที่อารมณ์เสียอาจจะปรับยี่ต๊อกกำหนดโทษไปในข้างหนัก ในขณะที่หากวันนั้นอาหารอร่อยก็อาจใช้ดุลพินิจลงโทษในด้านที่เบาของยี่ต๊อก ฟังดูอาจจะเหลือเชื่อแต่ก็มีความจริงแฝงอยู่ไม่น้อย

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกานั้นขึ้นกับผู้พิพากษาเก้าท่าน ซึ่งแต่ละท่านนั้นเป็นที่พอรับรู้และคาดคะเนได้ว่ามี ‘แนว’ ของตัวเองเช่นไร การเก็งคำพิพากษาจึงทำได้ และจึงอธิบายว่าเหตุใดการตายของท่านผู้พิพากษาหญิงแกร่ง รูธ เบเดอร์ กินสเบิร์ก จึงน่าตกใจยิ่งสำหรับฝ่ายก้าวหน้า เนื่องจากเปลี่ยนคน แนวคำตัดสินก็จะเปลี่ยน

กรณีของไทยคือการเปลี่ยนแปลงในศาลรัฐธรรมนูญเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ห้าท่านเข้ารับตำแหน่ง เป็นเหตุให้คาดการณ์กันว่า ศาลอาจจะเปลี่ยนแนวทางการวินิจฉัยไปได้เหมือนกัน แต่เปลี่ยนอย่างไรนั้นยากจะเดาได้เนื่องจากไม่มีผู้ใดรู้แนวทางล่วงหน้า

คำอธิบายข้างต้นเป็นจริงกับผู้พิพากษา แต่ก็เป็นจริงกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้กฎหมายไปทั้งหมด จากนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี นายตำรวจน้อยใหญ่ อัยการ ทุกคนที่ใช้กฎหมายย่อมใช้กฎหมายตามความเข้าใจเรื่องกฎหมาย อุดมการณ์การเมือง และอคติส่วนตัว

ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่า ทุกคนควรเลิกสนใจกฎหมาย หรือสนับสนุนให้บ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป แค่เพียงว่าปัจจัยนอกเหนือกฎหมายนั้นจะไม่ค่อยสำคัญหรือสังเกตไม่ค่อยเห็นในกรณีที่กฎหมายใช้ตรงไปตรงมา คดีที่คุ้นเคย มีบรรทัดฐานแน่นอน ผู้ใช้กฎหมายไม่ต้องลังเลอะไรมาก สามารถตัดสินใจตามบรรทัดฐานได้ แต่ปัจจัยการเมืองและปัจจัยส่วนตัวจะสำคัญมาก หากคดีนั้นตกอยู่ในภาวะคลุมเครือ เช่น ถ้อยคำกฎหมายไม่ชัดเจน หรือข้อเท็จจริงแตกต่างจากกรณีอื่นๆ เมื่อกฎหมายที่มีอยู่ไม่อาจให้คำตอบได้ ผู้ใช้กฎหมายก็ต้องอาศัยปัจจัยอื่นในการตีความกฎหมาย

อย่างในกรณีสังคมไทย คือ การจับกุมดำเนินคดีผู้ประท้วงนั้น อาจถือได้ว่าเป็นกรณีไม่ปกติ การอ้างสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ตลอดจนสิทธิธรรมที่สำคัญกว่ากฎหมายลายลักษณ์อักษรธรรมดาเพื่อกดดันอำนาจรัฐ หรือวางตัวเป็นคู่ขัดแย้งของรัฐเอง ทำให้กรณีเช่นนี้ไม่ใช่การละเมิดกฎหมายอาญาธรรมดา การตัดสินฟ้องหรือไม่ฟ้อง ฝากขัง ให้ประกันตัว ทุกขั้นตอนมีปัจจัยการเมืองและปัจจัยส่วนตัวเข้ามาร่วมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าไม่แกล้งโง่ก็ต้องรับความจริงนี้

การอธิบายกฎหมายเช่นนี้สั่นสะเทือนสถานะและผลประโยชน์ของนักกฎหมาย ถ้ากฎหมายเปลี่ยนแปลงไปได้ตามบุคคลแล้ว นักกฎหมายจะเป็นอะไรเล่า นักกฎหมายไม่ใช่ผู้รู้ผู้เฝ้าดูแลศาสตร์ศักดิ์สิทธิที่ยากเข้าใจอีกต่อไป แต่กลายเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง มีรัก โลภ โกรธ หลง และอารมณ์ความรู้สึกอื่นเท่าที่บุคคลจะพึงมี

คำอธิบายเช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อเรารับทราบว่ากฎหมายนั้นจะดีหรือเลวก็ขึ้นกับผู้ใช้ และผู้ใช้กฎหมายเป็นคนธรรมดา เราจึงจะเข้าใจว่า กฎหมายที่ศักดิ์สิทธิเช่นที่ผู้มีอำนาจพยายามจะชักชวนให้เราเชื่อนั้นไม่มีจริง เมื่อไม่มีจริง กฎหมายจึงเหมือนกับกฎเกณฑ์อื่นๆ ในสังคม คือ ยืดหยุ่น ไม่แข็งกระด้าง สามารถยกเว้นหรือตีความการใช้ให้รับรองสิทธิเสรีภาพมากขึ้นได้ ไม่ใช่เครื่องมือเข้มงวดที่ใช้ลงโทษผู้กระทำการใดๆ ที่รัฐไม่ชอบใจโดยไม่ต้องสนใจต้นสายปลายเหตุ หากเราเข้าใจและใช้กฎหมายเช่นนี้ เราจะมองเห็นความเป็นไปได้ที่จะรับฟังข้อเรียกร้องเรื่องให้หยุดคุกคามประชาชน กฎหมายจะช่วยลดความตึงเครียด หลีกเลี่ยงการปะทะ สลายความขัดแย้ง แทนที่จะเป็นเงื่อนไขความรุนแรงทางการเมือง

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save