fbpx
B-floor theatre : เมื่อละครเป็นมากกว่าการแสดง

B-floor theatre : เมื่อละครเป็นมากกว่าการแสดง

‘B-floor Theatre’ เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนผู้รักการทำละครเวทีเพื่อสะท้อนประเด็นปัญหาต่างๆ ของสังคม ละครแต่ละเรื่องของเขาเต็มไปด้วยความแหลมคมทั้งในเชิงเนื้อหาและกระบวนการนำเสนอรูปแบบใหม่ที่สามารถสื่อสารข้ามพรมแดนวัฒนธรรม

ศิลปะการแสดงของกลุ่ม B-floor ผสมผสานเรื่องเล่า การเคลื่อนไหวร่างกาย มัลติมีเดีย แสง สี สิ่งของ หุ่น เข้าด้วยกันอย่างหลากหลาย และท้าทายความคิดผู้ชมอยู่เสมอ  เมื่อ 101 เริ่มสร้างสรรค์สารคดี ‘ณ’ – บ้านของเขา เรื่องของเราทุกคน  B-floor จึงเป็นศิลปินอีกกลุ่มหนึ่งที่เราหมายมั่นปั้นมือว่าต้องชวนร่วมทีมให้ได้!

เราอยากเห็น B-floor ใช้ศิลปะในแบบของเขา มาเล่าเรื่องประวัติศาสตร์การต่อสู้ของเพื่อนร่วมสังคมกลุ่มต่างๆ ในรูปแบบสารคดีโทรทัศน์

โชคดีที่ฝันของ 101 เป็นจริง วันนี้ B-floor เป็นหนึ่งในกลุ่มศิลปินที่มาร่วมทีมสร้างสรรค์สารคดี ‘ณ’  ธีระวัฒน์ มุลวิไล หรือ ‘คาเงะ’ หนึ่งในสมาชิก B-floor Theater เล่าให้ฟังว่าทีมของเขามีแนวคิดในการนำศิลปะมาบอกเล่าปัญหาสังคมอย่างไร

 

ทำไม B-floor ถึงตอบตกลงมาร่วมสร้างสรรค์สารคดี ‘ณ’   

ตั้งแต่กลางปี 2016 ทีม 101 มาชวนเราทำงานสารคดีโทรทัศน์ที่มีแนวคิดให้ศิลปินสะท้อนปัญหาคนเล็กคนนัอย คนชายขอบ ซึ่งหมายถึง ‘คนจน’ คนที่ไม่มีสิทธิเสียง โดยให้ศิลปินลงพื้นที่สัมภาษณ์ และสร้างออกมาเป็นงานศิลปะตามแนวทางที่ถนัด ศิลปินแต่ละคน ต้องเลือกพื้นที่ ปัญหา ตามที่ตัวเองสนใจ โดยขอบเขตพื้นที่มีทั่วประเทศ ครอบคลุมทั้งสี่ภาค ในส่วนของประเด็นก็มีทีมงาน 101 คอยย่อย สรุปให้ และช่วยติดต่อประสานงานคนในพื้นที่

โปรเจ็กต์นี้ฟังดูน่าสนใจมากตั้งแต่ต้น ทำไมจะไม่ทำละ! ก็เริ่มมองหาทีมที่จะมาช่วย ถามสมาชิก B-floor ว่าใครสนใจ สุดท้ายก็มี ศรุต โกมลิทธิพงศ์ กับเราที่ว่างสุดในตอนนั้น เราทำสามตอน สามประเด็น เราเลือกสามพื้นที่น่าสนใจ คือ ปัตตานี นราธิวาส และกรุงเทพฯ (เกี่ยวกับขบวนการต่อสู้ของคนจนเมือง) ส่วนหนึ่งเพราะอยากไปพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่แล้ว ไม่เคยรู้เรื่องสถานการณ์ภาคใต้จริงๆ อย่างน้อยก็อยากไปเห็นด้วยตาเราเองว่ามันเป็นอย่างไร การทำ ‘ณ’ ก็เหมือนพาตัวเองออกไปจากหนังสือที่อ่านหรือข้อมูลที่ได้รับ แล้วลงไปในพื้นที่จริงๆ สัมผัสกับคนจริงๆ มันน่าจะทำให้ได้พบความเข้าใจใหม่ๆ จากการทำงานนี้

 

 

หลังจากที่ลงไปทำงานในแต่ละพื้นที่ ได้เจออะไรที่เปลี่ยนวิธีคิดของเราไปเลยบ้าง

น่าจะเป็นตอนที่เราลงไปที่เทือกเขาบูโด เทือกเขาบูโดเป็นภูเขาใหญ่ที่กินพื้นที่ในสามจังหวัดชายเแดนภาคใต้ มีชุมชนอาศัยอยู่รอบๆ ที่นี่มีทั้งไทยพุทธและมุสลิมอาศัยอยู่ร่วมกัน ปัญหาของที่นี่คือพื้นที่ทำกินของชาวบ้านทับเขตป่าสงวนและอุทยาน

เอาเข้าจริงๆ มันคือการขีดเส้นทับที่ทำกินของชาวบ้านมากกว่า เพราะว่าชาวบ้านบางคนมีเอกสารสิทธิครอบครอง และโฉนดอยู่แล้ว การประกาศเกิดขึ้นภายหลัง เริ่มตั้งแต่การขีดเส้นของกฎหมายป่าสงวนปี 2508 และตามมาด้วยกฎหมายอุทยานปี 2542 โดยที่พื้นที่ทั้งหมดกว้างขวางและกินพื้นที่ที่ชาวบ้านอาศัยอยู่เดิมมาตั้งตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย

ชาวบ้านพยายามเรียกร้องสิทธิ เพราะโฉนดกลายเป็นกระดาษเปล่า พื้นที่บางส่วนที่ถูกกิน เช่น มัสยิดอายุกว่าสี่ร้อยปี ถูกเส้นอุทยานทับ แต่เมื่อถูกเรียกร้อง เส้นที่ว่าก็ค่อยๆ ขยับออกไป แต่ยังมีอีกหลายที่ เช่นที่ทำกินของชาวบ้านยังเป็นปัญหา  

ถึงอย่างนั้นเราได้เห็นว่าที่นี่เป็นชุมชนมุสลิมที่สงบ ทำมาหากินโดยการกรีดยาง มีสวนดูซงที่มีผลไม้หลากหลาย ทำไร่นา เลี้ยงเป็ดไก่ เหมือนท้องถิ่นชนบททั่วไป เราไม่ได้สัมผัสถึงความรุนแรง หรือความเป็นอื่นอย่างที่เคยได้ยินมา การสนทนากับคนที่นี่ได้เปิดมุมมองเรื่องคนกับรัฐได้เป็นอย่างดี ที่กรุงเทพฯ อาจจะเจอเคอร์ฟิวสัก 1-2 เดือน แต่ที่นี่มันเกิดขึ้นมานานนับสิบปี จนเขาเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับมัน เราได้ยินเรื่องผลประโยชน์อันมหาศาลของการรักษาสถานการณ์ให้ไม่สงบ เพราะถ้าเหตุการณ์สงบ งบไม่มา นี่เป็นคำพูดของชาวบ้านเกือบทุกคนที่พบเจอ

บางทีมายาคติที่โปรยมาตามสื่อต่างๆ ที่คนนอกพื้นที่ได้ยินก็เป็นส่วนหนึ่งที่คนทั่วไปต่างมองปัญหานี้เพียงชั้นเดียว และพร้อมที่จะสนับสนุนให้เป็นอย่างนั้นตลอดไป

 

 

ในการทำงานมีวิธีการจับประเด็นในพื้นที่มาสร้างสรรค์ในรูปการแสดงอย่างไร

ตอนที่เราทำที่กรุงเทพฯ จริงๆ แล้วเป็นตอนที่พูดถึงการต่อสู้ของขบวนการคนจน เราได้กลับเข้ามาในเมือง และเข้าไปสำรวจชุมชนแออัดในกรุงเทพและปริมณฑลกว่าสิบแห่ง เราพบว่าคนจนเมืองที่แทรกตัวอยู่ตามที่ต่างๆ ได้เข้ามาทำงาน อาศัย และเป็นส่วนหนึ่งของเมืองมาช้านาน พวกเขาคือแม่ค้า คนหาบเร่แผงลอย คนทำความสะอาด คนแยกขยะ พนักงานรักษาความปลอดภัย แม่บ้าน เป็นแรงงานราคาถูก และทำให้คนเมืองมีทางเลือกมากขึ้น

ปัญหาของความยากจนไม่ไช่เพียงเพราะเขาขี้เกียจ แต่เป็นเรื่องโอกาสทางเศรษฐกิจและการศึกษา รวมทั้งความล้มเหลวในภาคการเกษตร ด้วยทางเลือกที่มีไม่มาก คนเหล่านั้นจึงย้ายตัวเองเข้ามาในเมือง เพื่อหาทางรอด ในช่วงสี่สิบปีที่ผ่านมา คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดก็ถูกไล่รื้อ เผา เราเห็นการต่อสู้ของพวกเขาเพื่อให้ได้ที่อยู่อาศัย มีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาประสานและจัดระเบียบ เกิดการต่อรอง บางเรื่องหากมองแค่เรื่องกฎหมาย คนเหล่านี้คงผิดหมด แต่หากมองผ่านแว่นแบบอื่นๆ คนเหล่านี้ก็ยังเป็นประชาชนเช่นเดียวกับเรา เราจะหาทางออกร่วมกันได้อย่างไร

การแสดงในเรื่องนี้จึงโฟกัสไปที่ ‘บ้าน’ ในมุมมองที่เป็นพื้นที่สีเทา ระหว่างสิทธิและความชอบธรรม ระหว่างทางเราเห็นการช่วยเหลือกันเองของชุมชน การตั้งสหกรณ์ การเป็นหูเป็นตาเรื่องยาเสพติด การพัฒนาการศึกษาให้กับคนในชุมชน การจัดตั้งเหล่านี้ทำให้เห็นว่า เขาไม่ได้นั่งงอมืองอเท้า รอการช่วยเหลือจากคนภายนอก ตรงกันข้ามเราควรมองว่าเขาก็เป็นคนที่เท่ากัน

เราเดินเอากล่องใส่หัว ไปตามที่ต่างๆ พร้อมตั้งคำถามว่า บ้านคืออะไรในความหมายของคุณ หลากคำตอบได้รวมกัน มนุษย์กล่องพาตัวเองไปในชุมชนแออัด ตลาด ชุมชนเมือง ค่ำไหนนอนนั่น เหมือนพวกเร่ร่อน ไม่มีบ้าน ได้แต่มองหาความหมายว่า บ้านคืออะไร จากทุกคน

 

 

แล้วในพื้นที่อื่น?

อย่างตอนที่เราคิดทำการแสดงที่เทือกเขาบูโด เราเห็นแนวคิดชัดเจนมากว่ามันคือเส้นแบ่ง มันคือการลากเส้นของชายผู้ใส่สูทสีดำ เดินลากเส้น ไปทั้งภูเขา แม่น้ำ รุกเข้ามาในชุมชน หมู่บ้าน โรงเรียน ตลาด พื้นที่ส่วนตัว ในบ้าน โต๊ะกินข้าว ห้องน้ำ ห้องนอน เส้นแบ่งที่ถูกแบ่งโดยใครก็ไม่รู้ มันเข้ามาในชีวิตประจำวัน มันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต บางที่เราไม่อาจเห็นมัน แต่เราก็สัมผัสได้ถึงความไม่ถูกต้อง กระบวนการเหล่านี้สะท้อนและคู่ขนานไปกับการสัมภาษณ์ คนในชุมชน ผู้นำ คนทำแผนที่ หน่วยงานราชการ และคนที่เกี่ยวข้อง

 

การทำละครกับสารคดีโทรทัศน์สามารถไปด้วยกันได้ไหม

‘ณ’ พาเราออกไปจากโรงละคร พาเราออกไปในพื้นที่จริง เจอคนจริงๆ ปัญหาจริงๆ พาเราออกไปจากพื้นที่ปลอดภัย (safe zone) ที่คุ้นเคย

การด้นและคิดสดๆ จากพื้นที่ จากคน จากคำตอบ จากความคิดเห็น มันพาเราไปไกล และเชื่อได้ว่าศิลปะมันทำหน้าที่เป็นสื่อกลางกับคนอื่นๆ ได้

……………………….

เชิญร่วม workshop ความคิดสร้างสรรค์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้การใช้ศิลปะบอกเล่าปัญหาสังคมกับนักสร้างสรรค์หลากหลายแขนง

Eyedropper Fill ศิลปินสื่อผสมแห่งยุค
B-Floor กลุ่มละครเข้มข้นลึกซึ้ง
ชาติฉกาจ ไวกวี ช่างภาพยียวนกวนเท่
นิ้วกลม+โตมร ศุขปรีชา ครีเอทีฟและมือเขียนบทแห่งทีม 101

ในงานเปิดตัวสารคดี “ณ” – บ้านของเขา เรื่องของเราทุกคน บ่ายอาทิตย์ที่ 9 เมษายนนี้ เวลา 12.30-17.10 น. ที่ NOW Studio สยามสแควร์ ซอย 7

ลงทะเบียนฟรีได้ ที่นี่

 

และติดตามสารคดี ‘ณ’ – บ้านของเขา เรื่องของเราทุกคน ได้ทาง The101.world และช่อง NOW 26 ทุกบ่ายโมงครึ่งวันอาทิตย์ เริ่ม 23 เมษายนนี้

ร่วมสร้างสรรค์โดย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) และเครือข่ายที่ดินแนวใหม่ ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองแห่งชาติ (คทช.)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save