fbpx

ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมยานยนต์อินโดนีเซีย: จากยุคอาณานิคมสู่ดีทรอยต์ใหม่แห่งอุษาคเนย์ (2)

ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมยานยนต์อินโดนีเซีย: จากยุคอาณานิคมสู่ดีทรอยต์ใหม่แห่งอุษาคเนย์ (1)

ยานยนต์สัญชาติอินโดนีเซีย: จาก Timor ถึง Esemka (เอสเอ็มกา)

แม้ว่าอินโดนีเซียจะเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ให้บริษัทยานยนต์ทั้งจากยุโรปและญี่ปุ่นมาเป็นหลายสิบปีตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 และความตั้งใจที่อยากจะมีรถยนต์แห่งชาติของอินโดนีเซียเองมีมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีคนแรก แต่การพัฒนารถยนต์แห่งชาติเพิ่งเกิดขึ้นอย่างจริงจังในช่วงทศวรรษ 1990 แนวคิดเรื่องการมีรถยนต์แห่งชาติเหมือนเป็นหน้าเป็นตาเป็นเกียรติเป็นศรี เป็นเครื่องยืนยันความเจริญก้าวหน้าและการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของประเทศ รวมถึงการไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำและอิทธิพลของต่างชาติ ทำนองเดียวกับโครงการเครื่องบินแห่งชาติที่อินโดนีเซียพยายามพัฒนาด้วยเช่นกัน

Toyota Kijang: รถยนต์ที่คนอินโดนีเซียเคลมว่าเป็นรถยนต์แห่งชาติ

การเป็นฐานการผลิตรถยนต์ให้บริษัทจากต่างชาตินำไปสู่การที่อินโดนีเซียสามารถผลิตรถยนต์ที่ใช้ส่วนประกอบของท้องถิ่นมากขึ้น นำไปสู่การเคลมว่ารถยนต์ที่ผลิตในอินโดนีเซียเป็นรถยนต์แห่งชาติ เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นกับรถยนต์ Toyota Kijang แท้ที่จริงแล้วเป็นของบริษัท โตโยต้า แอสตร้า มอเตอร์ (Toyota Astra Motor) แต่ชาวอินโดนีเซียมีความภาคภูมิใจกับรถยนต์รุ่นนี้มากเนื่องจากว่าการผลิตและการประกอบทั้งหมดทำในอินโดนีเซีย Toyota Kijang เกิดขึ้นราวปี1975 และมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 1977 ซึ่งประธานาธิบดี ซูฮาร์โต ไปร่วมงานวันเปิดตัว Toyota Kijang ด้วย หลังการเปิดตัว Toyota Kijang ขายดีมากเป็นที่ชื่นชอบของชาวอินโดนีเซียจนถึงปัจจุบันและยังส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยในภายหลังรู้จักกันในชื่อToyota Kijang Innova

แม้ว่า Toyata Kijang จะประกอบทั้งคันในอินโดนีเซียแต่ก็ไม่อยากเรียกได้ว่าเป็นรถยนต์แห่งชาติอินโดนีเซียเพราะว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของหุ้นถือครองโดย Toyota Motor Co. และอีก 5 เปอร์เซ็นต์เป็นของ แอสตร้า อินเตอร์เนชั่นนอล (Astra International) ซึ่งปัจจุบันนี้ คนอินโดนีเซียไม่ได้เจ้าของอีกต่อไป ทั้งนี้ 50.11 เปอร์เซ็นต์ของหุ้นในแอสตร้า อินเตอร์เนชั่นนอล ถือครองโดย จาร์ดีน ไซเคิล แอนด์ คาร์ริเอจ ลิมิเต็ด สิงคโปร์ (Jardine Cycle & Carriage Limited Singapore) ดังนั้นจำนวนหุ้นที่ถือครองโดยชาวอินโดนีเซียมีจำนวนน้อยมากจนไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นบริษัทของอินโดนีเซีย แต่ในช่วงแรกที่มีการเปิดตัว Totoya Kijang ถูกขนานนามว่าเป็นรถยนต์อินโดนีเซียและเป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาวอินโดนีเซียอย่างยิ่ง

ความสำเร็จของ Toyota Kijang ส่งผลให้เกิดรถยนต์แบบเดียวกันที่เลียนแบบแนวคิดของ Toyota Kijang โดยเฉพาะที่ตั้งชื่อด้วยชื่อสัตว์ที่สะท้อนถึงความเร็ว เช่น Isuzu Panther, Mitsubishi Kuda (ม้า) หรือ Daihatsu Zebra เป็นต้น คำว่า Kijang ในชื่อ Toyota Kijang แปลว่า ‘กวาง’ โดยในตอนแรกมีการอภิปรายกันว่าระหว่างชื่อ Toyota Kancil (กันจิล) กับ Toyota Kijang จะใช้ชื่อไหนดี Kancil แปลว่ากระจง แต่คำว่า Kancil ค่อนข้างมีความหมายเชิงลบในสังคมอินโดนีเซีย เนื่องจากว่ามีนิทานเด็กพื้นบ้านชื่อเรื่อง ‘Si Kancil’ แปลว่า ‘เจ้ากระจง’ โดยตัวเอกของเรื่องคือเจ้ากระจงที่มักใช้เล่ห์เพทุบายในการเอาตัวรอดและเอาชนะคนและสัตว์อื่นๆ ในเรื่องได้ ทำให้ถูกมองว่าเป็นตัวละครที่มีด้านลบชอบโกหกหลอกลวงและเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับเด็กๆ ดังนั้นโตโยต้าจึงตัดสินใจใช้ชื่อ Kijang ในการประชุมเลือกชื่อดังกล่าวมี จูซุฟ คัลลา (Jusuf Kalla) อดีตรองประธานาธิบดีอินโดนีเซียเข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่โหวตเลือกชื่อ Kijang

Maleo: ความพยายามจะเป็นรถยนต์แห่งชาติ

แนวคิดเรื่องการพัฒนารถยนต์แห่งชาติของอินโดนีเซียเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ยุคประธานาธิบดีซูการ์โน โดยการตั้ง PT Industri Mobil Indonesia ซึ่งเป็นผลของความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับเอกชนในปี 1961 แต่ยังไม่ได้ทำอะไรเป็นรูปเป็นร่างมากนักก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซูฮาร์โตขึ้นมามีอำนาจแทนที่ซูการ์โนและเปลี่ยนยุคเป็นยุคระเบียบใหม่ ได้มีการสานต่อนโยบายรถยนต์แห่งชาติ ในช่วงทศวรรษ 1970 รัฐบาลอินโดนีเซียได้ออกกฎห้ามนำเข้ารถยนต์ทั้งคันที่ไม่ได้ประกอบในอินโดนีเซีย ในขณะเดียวกันซูฮาร์โตได้สร้างแรงจูงใจแก่รถยนต์เชิงพาณิชย์โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในท้องถิ่นโดยให้สิทธิพิเศษต่างๆ แก่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ภายในประเทศ

ในปี 1993 นาย บาคารุดดิน จูซุฟ ฮาบีบี (Bacharuddin Jusuf Habibie) รัฐมนตรีกระทรวงวิจัยและเทคโนโลยีในขณะนั้นได้ริเริ่มโครงการรถยนต์แห่งชาติ โดยรถยนต์นั้นมีชื่อว่า Maleo มาจากชื่อนกประจำถิ่นที่เกาะสุลาเวสี บ้านเกิดของฮาบีบี ในตอนแรกมีการตั้งเป้าหมายว่าในปี 1997 จะประกอบรถ Maleo ขึ้นได้สำเร็จและรถยนต์ Maleo จะถูกใช้ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 1998 ในฐานะรถยนต์แห่งชาติที่รัฐบาลสนับสนุน แต่ในช่วงเวลานั้นรัฐบาลให้ความสำคัญกับการผลิตรถ Timor มากกว่าและเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1997 ทำให้โครงการรถ Maleo ถูกพับไป แต่อย่างไรก็ตาม Maleo ก็เป็นการเอาต้นแบบรถ Austin Metro ของต่างประเทศมาติดป้ายชื่อใหม่เป็นอินโดนีเซีย โดยการนำเข้ารถมา เอามาศึกษาแล้วพัฒนาออกมาเป็น Maleo จึงไม่อาจนับเป็นรถยนต์แห่งชาติได้

Timor: รถยนต์แห่งชาติกับความไม่โปร่งใส

แนวคิดในการพัฒนารถยนต์แห่งชาติอย่างจริงๆ จังๆ เพิ่งเกิดขึ้นในปี 1996 มีการออกนโยบายของประธานาธิบดีในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์แห่งชาติ และผลของนโยบายดังกล่าวได้ก่อให้เกิดรถยนต์แห่งชาติที่ชื่อว่า Timor ย่อมาจาก Teknologi Industri Mobil Rakyat (People’s Car Industry Technology) ขึ้น รถยนต์ Timor ถือได้ว่าเป็นที่รู้จักมากที่สุดในบรรดารถยนต์ที่ผลิตในอินโดนีเซีย รัฐบาลได้มีการแต่งตั้งบริษัทดำเนินการผลิตรถยนต์ดังกล่าวคือบริษัท PT Timor Putra Nasional (TPN) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1995 โดยผู้ถือหุ้น 99 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทคือ ฮูโตโม มันดาลา ปุตรา (Hutomo Mandala Putra) หรือ ทอมมี (Tommy) บุตรชายของประธานาธิบดีซูฮาร์โต ทอมมีได้ทำงานร่วมกับบริษัทรถยนต์ Kia มาตั้งแต่ปี 1993 ในตอนแรกรัฐบาลอินโดนีเซียโดยคำสั่งประธานาธิบดีอนุญาตให้ Timor นำเข้ารถยนต์จากเกาหลีใต้เป็นเวลาหนึ่งปีโดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีส่วนประกอบในท้องถิ่นและอื่นๆ เช่น ต้องมีคนงานชาวอินโดนีเซียทำงานในโรงงาน Kia ของเกาหลีใต้ รถยนต์แห่งชาติ Timor คันแรกถูกนำเข้ามายังอินโดนีเซียในเดือนสิงหาคม ปี 1996

การที่บริษัทของทอมมีได้เข้าไปรับผิดชอบในการผลิตรถยนต์แห่งชาติทำให้ถูกมองว่าเป็นความไม่โปร่งใสและเป็นการคอรัปชันเชิงนโยบาย เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องกันเอง มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่าทอมมี่ไม่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์และรถยนต์ Timor ในตอนแรกนั้นก็เป็นรถยนต์นำเข้าที่เอามาติดป้ายว่ารถยนต์แห่งชาติ  กระแสต่อต้านมากจากทั้งคนในรัฐบาลเอง ไปจนถึงนอกประเทศเช่น WTO ญี่ปุ่น อเมริกา และสหภาพยุโรปได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายนี้ของรัฐบาลอินโดนีเซียว่าเป็นการทำลายหลักการการค้าเสรี รัฐบาลอินโดนีเซียให้การสนับสนุนโครงการรถยนต์ Timor อย่างเต็มที่ โดยขอให้ Timor ผลิตรถยนต์สำหรับให้ผู้นำประเทศใช้อย่างเป็นทางการและขอให้ธนาคารให้เงินกู้จำนวน 650 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐสำหรบการสร้างโรงงานติมอร์

เนื่องจากมีภาพลักษณ์ติดลบดังกล่าวทำให้ยอดขายของ Timor ไม่ดีนักแม้ว่าจะมีราคาค่อนข้างถูก และยังมีการเสียดสีว่า “รถยนต์แห่งชาติ” ที่ในภาษาอินโดนีเซียเรียกว่า Mobnas ย่อมาจาก Mobil Nasional แท้จริงแล้วเป็น Mobnas ในอีกความหมายคือ ‘รถยนต์ผลิตโดยต่างชาติ’ หรือ Mobil Buatan Negara Asing และ Timor ถูกล้อว่าย่อมาจาก Tommy Itu Memang Orang Rakus. ซึ่งแปลว่า ‘ทอมมีนั้นจริงๆ แล้วเป็นคนโลภ’ แต่อย่างไรก็ตามรถยนต์ Timor มีอายุอยู่ได้ไม่ยาวนานนักจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1997 IMF บีบให้รัฐบาลอินโดนีเซียยกเลิกกฎที่ให้สิทธิพิเศษแก่โครงการยนต์แห่งชาติแก่ Tomor และในที่สุด Timor ก็ล้มละลาย แต่ก็กล่าวได้ว่ารถยนต์ Timor ถือว่าเป็นรถยนต์แห่งชาติคันแรกของประเทศอินโดนีเซีย และหลังจาก Timor อินโดนีเซียก็ยังไม่สามารถผลิตรถยนต์แห่งชาติได้อีก

Esemka: รถยนต์แห่งชาติกับผู้นำทางการเมือง

จนกระทั่งเมื่อปี 2011 มีการเปิดตัวรถยี่ห้อ Esemka โดย PT Solo Manufaktur Kreasi ซึ่งเป็นบริษัทรถยนต์ของอินโดนีเซียตั้งอยู่ที่เมืองโซโล ชวากลาง การปรากฏตัวของรถยนต์ Esemka เหมือนความฝันอยากมีรถยนต์แห่งชาติของชาวอินโดนีเซียได้ถูกจุดประกายขึ้นมาอีกครั้ง แม้ว่าทางผู้ผลิตจะยืนยันว่า Esemka ไม่ใช่รถยนต์แห่งชาติ หากเป็นเพียง ‘รถยนต์ผลผลิตแห่งชาติ’ หรือ ‘ยี่ห้อแห่งชาติ’ เท่านั้น เพราะรถยนต์ Esemka พัฒนาโดยเอกชนไม่ใช่รัฐบาล ชื่อ Esemka นี้ได้มาจากชื่อโรงเรียนอาชีวะศึกษา หรือ Sekolah Menengah Kejuruan ย่อเป็น SMK (อ่านว่า เอสเอ็มกา) เนื่องจากรถยนต์นี้พัฒนาโดยบรรดานักเรียนของโรงเรียน SMK หลายพื้นที่ในอินโดนีเซีย ที่มาของรถ Esemka มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนปัจจุบัน โจโก วีโดโด ผู้ซึ่งเป็นคนแรกๆ ที่แนะนำรถยี่ห้อนี้ในขณะที่เขายังดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองสุราการ์ตาหรือโซโลเมื่อปี 2012 เขาใช้รถ Esemka เป็นรถของทางราชการในขณะนั้น ในปี 2019 มีการเปิดตัวรถกระบะ Esemka Bima โดยประธานาธิบดีโจโก วีโดโดเป็นประธานในงานเปิดตัว แม้รถยนต์ Esemka จะถูกพัฒนาและผลิตต่อมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันแต่ยอดขายก็ไม่สูงมากนัก และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ารถยนต์ Esemka เป็นเพียงแค่การเอารถจีนมาติดป้ายชื่อใหม่ และโลโก้ของ Esemka คล้ายกับรถยนต์จีนยี่ห้อ Hozon

ด้วยความที่ตลาดยานยนต์อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในตลาดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคและมีการแข่งขันสูงกับประเทศเพื่อนบ้าน มักมีการเปรียบเทียบเสมอว่ามาเลเซียสามารถมีรถยนต์แห่งชาติคือ Proton ได้ก่อนหน้าอินโดนีเซีย ทำให้เกิดกระแสชาตินิยมว่าอินโดนีเซียควรต้องสามารถพัฒนารถยนต์แห่งชาติของตัวเองให้ได้เหมือนมาเลเซีย ซึ่งเรื่องนี้ได้มีผู้ให้ความเห็นไว้ว่าเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ เนื่องจากมาเลเซียมีการพัฒนามาเป็นเวลานับสิบๆ ปี และได้รับความช่วยเหลือด้านวิศวกรรมเครื่องยนต์จากหลายบริษัทใหญ่ๆ เช่น มิตซูบิชิ เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นในปี2017 เวียดนามได้ริเริ่มแนวคิดพัฒนารถยนต์แห่งชาติชื่อว่า Vinfast และสามารถส่งออกรถยนต์ Vinfast ได้สำเร็จในปี 2019 โดยรถยนต์ Vinfast ใช้เครื่องยนต์ของ BMW แต่ส่วนอื่นๆ ผลิตเองในประเทศเวียดนาม

 ในทางตรงกันข้าม มีนักวิเคราะห์ยานยนต์อินโดนีเซียมีความเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่อินโดนีเซียจะต้องมีรถยนต์แห่งชาติโดยได้ยกตัวอย่างประเทศไทยที่เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ไม่ได้มีรถยนต์แห่งชาติ และเห็นว่าอินโดนีเซียควรเอาอย่างไทยแทนที่จะคิดแข่งขันกับมาเลเซียหรือเวียดนาม นอกจากนั้นสิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญของพัฒนาการรถยนต์แห่งชาติคือปัญหาเรื่องการขาย ถึงแม้ว่าอินโดนีเซียจะผลิตรถยนต์ได้แต่ผู้บริโภคยังคงนิยมรถยี่ห้อดังจากต่างประเทศมากกว่า หากพิจารณาจากนิยามอย่างเคร่งครัดเราสามารถสรุปได้ว่าอินโดนีเซียยังไม่มีรถยนต์แห่งชาติที่เป็นของอินโดนีเซียจริงๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์

พิพิธภัณฑ์ยานยนต์ที่อินโดนีเซีย

ด้วยความที่เป็นหนึ่งในศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวนยอดขายยานยนต์สูงเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค เรื่องยานยนต์จึงเป็นที่สนใจของชาวอินโดนีเซียอย่างมาก อินโดนีเซียมีพิพิธภัณฑ์ยานยนต์สำหรับผู้สนใจและชื่นชอบยานยนต์อย่างน้อยห้าแห่งได้แก่

  1. พิพิธภัณฑ์ Mobil Sentul ตั้งอยู่ที่ชวาตะวันตก ที่พิพิธภัณฑ์นี้ได้รวบรวมยานยนต์ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไว้มากมาย เปิดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 2000 และเป็นศูนย์กลางของคนรักยานยนต์อินโดนีเซียย่านจาการ์ตาและปริมณฑล
  2. พิพิธภัณฑ์ Transportasi TMII อยู่ในบริเวณ Taman Mini Indonesia Indah (คล้ายๆ เมืองโบราณของบ้านเราที่มีการจำลองสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญๆ ของทั้งประเทศ) ในจาการ์ตา ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีการจัดแสดงรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และยวดยานพาหนะอื่นๆ ตั้งแต่อดีต เช่น รถไฟไอน้ำ เฮลิคอปเตอร์ เป็นต้น
  3. พิพิธภัณฑ์ Angkut Malang ตั้งอยู่ที่เมืองมาลัง ชวาตะวันออก เปิดเมื่อปี 2014 โดยได้จัดแสดงเกี่ยวกับพัฒนาการการคมนาคมขนส่งทั่วโลก ดังนั้นที่พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวจะมีตั้งแต่ รถเข็น, รถจักรยาน, รถสามล้อถีบ ไปจนถึงรถพลังงานไฟฟ้าสมัยใหม่อีกด้วย
  4. พิพิธภัณฑ์ Motor Classic Malang ตั้งอยู่ที่เมืองมาลังเช่นกัน พิพิธภัณฑ์นี้จัดแสดงรถจักรยานยนต์คลาสิตั้งแต่ประเภทอันเดอร์โบน, เวสป้า และคลัตช์ที่ออกตั้งแต่ช่วงปี 1930 จนถึงรุ่นล่าสุดในปี 2021
  5. พิพิธภัณฑ์ยานยนต์ Sumber Adventure Kutoarjo ตั้งอยู่ที่ชวากลาง จัดแสดงรถยนต์คลาสสิก รถจักรยานยนต์ รถประจำทาง และรถบรรทุกคลาสสิก และคนทั่วไปสามารถเช่ารถที่จัดแสดงเหล่านี้เพื่อเที่ยวชมรอบเมืองแบบในอดีตได้อีกด้วย

อนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์อินโดนีเซีย

ในปัจจุบันตลาดยานยนต์อินโดนีเซียใหญ่ที่สุดในอาเซียน อุตสาหกรรมยานยนต์ก็เป็นหนึ่งในกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจอินโดนีเซียที่รองรับคนงานประมาณ 1.5 ล้านคน และมีส่วนสนับสนุน GDP ของประเทศราว 4 เปอร์เซ็นต์ ในขณะเดียวกันมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมยานยนต์อินโดนีเซียสูงถึง 70 ล้านล้านรูเปียห์ในปี  2022 ในช่วงที่เริ่มมีการผ่อนปรนมาตรการการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประธานาธิบดีโจโก วีโดโดได้เดินสายไปยังหลายประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพื่อกระชับความร่วมมือในด้านต่างๆ รวมถึงการลงทุนในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า

มีการคาดการณ์กันว่าอุตสาหกรรมยานยนต์อินโดนีเซียหลังวิกฤตโควิดมีแนวโน้มสดใสและตัวเลขยอดขายรถยนต์ในปี 2002 ก็สูงขึ้นถึง 18.14 เปอร์เซ็นต์ และยอดขายรถยนต์ในปี 2021-22 ของอินโดนีเซียยังสูงสุดในอาเซียน ในงาน Indonesia Motor Show (IIMS) ในปี 2023 ที่มีประธานาธิบดีโจโก วีโดโดไปเปิดงานให้ความสำคัญกับยานยนต์ไฟฟ้าอย่างมีนัยสำคัญตามแนวโน้มโลกที่หันมาสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และนอกจากประกาศว่าอินโดนีเซียจะเป็นศูนย์กลางการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าแล้ว นโยบายของรัฐบาลยังสนับสนุนยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งยานยนต์ไฟฟ้าก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย อินโดนีเซียตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 31.9 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2030 และการปล่อยเป็นศูนย์ภายในปี 2060 เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ การเปลี่ยนจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นพลังงานไฟฟ้าเป็นกุญแจสำคัญ เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมารัฐมนตรีกระทรวงลงทุนอินโดนีเซียกล่าวในการแถลงข่าวว่ารัฐบาลอินโดนีเซียกำลังพิจารณาขั้นตอนต่างๆ เพื่อเร่งการพัฒนาระบบนิเวศของรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งเป็นไปตามการประกาศก่อนหน้านี้ว่าผู้ผลิตรถยนต์ Hyundai, BYD และ Wuling Motors จะตั้งโรงงานในอินโดนีเซีย

ในปัจจุบันอินโดนีเซียมีส่วนแบ่งตลาดน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตรถยนต์ยังคงมองเห็นศักยภาพของอินโดนีเซีย Wuling Motors ผู้ผลิตรถยนต์จากจีนได้เข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียและได้ผลิต Confero รถยนต์ผลิตในอินโดนีเซียคันแรกของบริษัท และในเดือนพฤษภาคมปีนี้ บริษัท Blue Bird ผู้ประกอบการแท็กซี่รายใหญ่สุดของอินโดนีเซียประกาศจะซื้อรถใหม่ 80 เปอร์เซ็นต์จาก BYD นอกจากนี้ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นและเกาหลีก็ประกาศว่าจะเพิ่มการลงทุนต่อไปในอินโดนีเซีย Toyota มีแผนที่จะลงทุน 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอินโดนีเซียในห้าปีข้างหน้า จะเห็นได้ว่าอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์อินโดนีเซียยังคงสดใสและได้ไปต่อ


ข้อมูลประกอบการเขียน

H., Nuryanto. “12 Mobil Buatan Indonesia yang Laris Hingga Luar Negeri!.” Gramedia, https://www.gramedia.com/best-seller/mobil-buatan-indonesia/

Idris, Muhammad. “Daftar 5 Proyek Mobil Nasional yang Berakhir Kegagalan.” Kompas, 21 July 2020, https://money.kompas.com/read/2020/07/21/131620326/daftar-5-proyek-mobil-nasional-yang-berakhir-kegagalan?page=all

Kuswaraharja, Dadan. “Kisah Jusuf Kalla Ikut Pilih Nama Mobil Kijang.” Detikoto, 20 October 2016, https://oto.detik.com/mobil/d-3332575/kisah-jusuf-kalla-ikut-pilih-nama-mobil-kijang

Libo, Florentia. “Industri Otomotif Indonesia Bergerak Menuju Masa Depan dengan Elektrifikasi.” Samaraknews, 10 August 2023, https://semarak.news/industri-otomotif-indonesia-bergerak-menuju-masa-depan-dengan-elektrifikasi/

“Mengapa Indonesia Tak Punya Mobil Nasional Setelah Timor?.” CNN Indonesia, 11 February 2023, https://www.cnnindonesia.com/otomotif/20230210154546-587-911567/mengapa-indonesia-tak-punya-mobil-nasional-setelah-timor

Safitri, Kiki. “Imbas Tahun Politik, Bisnis Industri Otomotif Lesu.” Kompas, 18 November 2019, https://money.kompas.com/read/2019/11/18/183300726/imbas-tahun-politik-bisnis-industri-otomotif-lesu?page=all

Suwiknyo, Edi  & Lubis, Syahran W. “Lahan Timor Putra Nasional Milik Tommy Soeharto Disita.” Bisnis Indonesia, 5 November 2021, https://bisnisindonesia.id/article/lahan-timor-putra-nasional-milik-tommy-soeharto-disita

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save