fbpx

ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมยานยนต์อินโดนีเซีย: จากยุคอาณานิคมสู่ดีทรอยต์ใหม่แห่งอุษาคเนย์ (1)

เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีข่าวที่ทำให้คนในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยตกอกตกใจกันไม่น้อย คือข่าวที่รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมของอินโดนีเซีย นายอากุส กูมิวัง การ์ตาซัสมีตา (Agus Gumiwang Kartasasmita) ออกมาเผยว่า อีซูซุ มอเตอร์ส (Isuzu Motors) จะย้ายโรงงานการผลิตแห่งหนึ่งจากไทยไปยังอินโดนีเซีย หลังจากที่เขาได้ไปเยือนญี่ปุ่นและได้พบกับผู้บริหารของอีซูซุ แต่ว่าทางอีซูซุได้ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าวว่าไม่เป็นความจริง ในปัจจุบันอีซูซุมีโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทยสองแห่งคือที่จังหวัดสมุทรปราการและฉะเชิงเทรา ในขณะที่มีโรงงานผลิตในอินโดนีเซียหนึ่งแห่งคือที่เมืองคาราวัง (Karawang) ชวาตะวันตก

แม้ข่าวดังกล่าวจะถูกปฏิเสธจากอีซูซุ แต่เป็นความจริงที่ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์อินโดนีเซียเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีความโดดเด่นในกลุ่มประเทศอาเซียน อินโดนีเซียเป็นฐานผลิตรถยนต์ให้ญี่ปุ่นหลายยี่ห้อ เช่น ฮอนด้า (Honda), มิตซูบิชิ (Mitsubishi) และ ซูซูกิ (Suzuki) เป็นต้น และอินโดนีเซียยังประกาศจะเป็นศูนย์กลางการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า จุดเด่นและข้อได้เปรียบของอินโดนีเซียคือตลาดขนาดใหญ่และทรัพยากรมหาศาล ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นแรงงานในกระบวนการผลิตจำนวนมากและราคาถูก ทำให้ถูกจับตามองว่าอินโดนีเซียจะชิงตำแหน่งดีทรอยต์แห่งอุษาคเนย์ที่เคยเป็นของไทยมาก่อน นอกจากจะเป็นคู่แข่งในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์แล้ว อินโดนีเซียยังเป็นคู่แข่งกับไทยในด้านการจราจรติดขัดอีกด้วย จาการ์ตาขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่รถติดติดอันดับโลก เนื่องจากระบบขนส่งสาธารณะยังไม่สะดวกและทั่วถึงทำให้ชาวอินโดนีเซียนิยมซื้อรถใช้ในครัวเรือน อย่างน้อยที่สุดที่แทบทุกครัวเรือนต้องการคือรถจักรยานยนต์

เปรียบเทียบกำลังผลิตรถยนต์ในอาเซียนปี 2019-2022

ประเทศ2019202020212022
ไทย2,013,7101,427,0741,685,7051,790,082
อินโดนีเซีย1,286,848690,1501,121,9671,330,238
มาเลเซีย571,632485,186481,651663,421
เวียดนาม176,203165,568163,271216,882
ฟิลิปปินส์95,09467,29783,84684,138
พม่า15,49610,7531,9563,115

เปรียบเทียบยอดขายรถยนต์ในอาเซียนปี 2019-2022

ประเทศ2019202020212022
ไทย1,007,552792,146754,254818,881
อินโดนีเซีย1,030,126532,027887,202942,499
มาเลเซีย604,281522,573508,911642,306
เวียดนาม322,322296,634304,149369,334
ฟิลิปปินส์369,941223,793268,488315,337
สิงคโปร์90,42956,42358,95339,119
พม่า15,49610,7539,3506,923

อุตสาหกรรมยานยนต์อินโดนีเซียโตเป็นลำดับสองในอาเซียนรองจากไทย และถือเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมของประเทศ มีผู้ผลิตยานยาน 22 รายในอุตสาหกรรมยานยนต์อินโดนีเซีย มีมูลค่ากรลงทุนโดยรวมราว 71.35 ล้านล้านรูเปียห์ กำลังการผลิตอยู่ที่ 2.35 ล้านคันต่อปี แรงงานในภาคอุตสาหกรรมนี้โดยตรงราว 38,000 คน และอีกกว่า 1.5 ล้านคนที่ทำงานในห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ เบื้องหลังการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์อินโดนีเซียที่น่าจับตาดูในปัจจุบัน มีจุดเริ่มต้นที่สามารถย้อนไปได้ไกลราว 130 ปีตั้งแต่ยุคอาณานิคมเลยทีเดียว และพัฒนาการของอุตสาหกรรมยานยนต์อินโดนีเซียก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลในแต่ละยุค

ยานยนต์สมัยดัตช์อีสอินดิช

ยานยนต์เข้าสู่อินโดนีเซียครั้งแรกในยุคอาณานิคมเมื่อปี 1893 คือจักรยานยนต์ยี่ห้อ Hildebrand und Wolfmüller ซึ่งเป็นมอเตอร์ไซด์ยี่ห้อแรกของโลก ผู้ที่สั่งรถมอเตอร์ไซด์ดังกล่าวคือชาวอังกฤษนามว่า จอห์น ซี. พอตเตอร์ (John C. Potter) ทำงานเป็นช่างเครื่องที่โรงงานน้ำตาลในชวาตะวันออก มอเตอร์ไซด์ที่พอตเตอร์ สั่งนั้นถูกนำเข้ามาผ่านท่าเรือที่เมืองเซอมารัง (Semarang) การสตาร์ทมอเตอร์ไซด์ Hildebrand und Wolfmüller ค่อนข้างยากลำบากต้องใช้เวลาราว 20 นาที ว่ากันว่าบางครั้ง พอตเตอร์ต้องจุดไฟเผาด้านนอกของเครื่องยนต์เพื่อให้เครื่องร้อน หรือใช้วิธีรุนรถไปข้างหน้าเพื่อสตาร์ทเครื่อง หลังจากนั้นก็กระโดดขึ้นอานแล้วขับ ในปีดังกล่าวมีเพียงมอเตอร์ไซด์ของเขาคันเดียวเท่านั้นที่เป็นยวดยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์ในหมู่เกาะอินโดนีเซีย

หนึ่งปีหลังจากนั้น ปี 1894 รถยนต์คันแรกก็เข้าสู่อินโดนีเซีย ผ่านทางท่าเรือเซอมารังเช่นกัน เป็นรถยนต์ยี่ห้อ Benz Victoria Phaeton สั่งซื้อโดย ซูซูฮูนัน ปากูบูโวโนที่สิบ (Susuhunan Pakubunowo X) สุลต่านแห่งเมืองสุราการ์ตาหรือเมืองโซโลด้วยสนนราคา 10,000 กิลเดอร์ ซึ่งเป็นเวลาเพียงแปดเดือนที่รถยนต์ยี่ห้อนี้ถูกผลิตขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศเยอรมนี และยิ่งไปกว่านั้นคือรถยนต์ดังกล่าวถูกนำเข้าสู่อินโดนีเซียก่อนประเทศเนเธอร์แลนด์ซึ่งมีการนำเข้าในปี 1896 ช้ากว่าอินโดนีเซียเกือบสองปี สุลต่านซื้อรถยนต์ตามคำแนะนำของที่ปรึกษาชาวดัตช์ ในขณะนั้นพาหนะที่ใช้กันโดยทั่วไปคือรถม้า การที่มีรถยนต์สามารถแล่นไปได้โดยไม่มีม้า ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างยิ่ง ทำให้เกิดคำเรียกรถยนต์ว่า ‘รถปีศาจ’ (Kreta Setan) หลังจากสุลต่านแห่งสุราการ์ตาซื้อรถยนต์ บรรดาชนชั้นนำทั้งชาวดัตช์และชาวพื้นเมืองต่างซื้อรถยนต์ตามๆ กัน และในช่วงเวลานั้นมีการตั้งสมาคมเจ้าของรถยนต์ตามพื้นที่ต่างๆ ในหมู่เกาะอินโดนีเซีย เช่น Soerabajasche Auto Club ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Java Auto Club, Semarangsche Auto Club, Nederlands Indie Automobiel Club และ Deli Automobile Club

การขับรถยนต์กลายเป็นงานอดิเรกของชนชั้นสูงในอินโดนีเซีย การปรากฏตัวของรถยนต์นำไปสู่การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของหมู่เกาะอินโดนีเซีย เนื่องจากบรรดาเจ้าของรถอยากจะขับรถไปไหนมาไหน การท่องเที่ยวจึงสอดรับกับวัฒนธรรมการบริโภคแบบใหม่นี้ นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์แข่งขันการทำลายสถิติด้วยรถยนต์หรือมอเตอร์ไซด์จากปัตตาเวีย (จาการ์ตา) ไปเมืองสุราบายาซึ่งเป็นระยะทางเกือบ 900 กิโลเมตร กิจกรรมดังกล่าวถูกริเริ่มในปี 1912

อุตสาหกรรมยานยนต์ในอินโดนีเซีย

อุตสาหกรรมยานยนต์อินโดนีเซียเกิดขึ้นในปี 1927 โดย เจเนรัลมอเตอร์ส (General Motors) ได้สร้างโรงงานขึ้นที่ตันจุง ปริยก (Tanjung Priok) จาการ์ตา ซึ่งเป็นแห่งที่สองในเอเชีย แห่งแรกคือที่เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น นอกจากเจเนรัลมอเตอร์สก็มี NV Fuchs en Rens และ NV Velodrome ที่ทำธุรกิจประกอบและนำเข้ารถยนต์ แต่อุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วงเวลานั้นไม่ค่อยเติบโตมากนักจากภาวะสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามต่อสู้เพื่อเอกราชของอินโดนีเซีย (1945-1949) หลังจากที่อินโดนีเซียเป็นเอกราชโดยสมบูรณ์ นโยบายเศรษฐกิจตามแนวทางชาตินิยม นำไปสู่การยึดกิจการของชาวต่างชาติมาเป็นของรัฐ ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์อินโดนีเซียของต่างชาติซบเซา ในด้านอีกหนึ่งเอื้อให้เกิดโรงงานของชาวพื้นเมืองขึ้นมา ในปี 1950 ดร.ฮาชิม นิง (Hasyim Ning) ได้สร้างโรงงานประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ชื่อว่า PT Indonesia Service Company ซึ่งถือเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมยานยนต์ของคนพื้นเมืองและได้กลายเป็นผู้จำหน่ายอะไหล่รถยนต์รายใหญ่โดยเริ่มจากฟอร์ด (Ford) และเฟียต (Fiat) จนกลายเป็นราชารถยนต์อินโดนีเซียและครองตลาดภายในประเทศจนถึงต้นทศวรรษ 1970 อย่างไรก็ตามธุรกิจที่เติบโตในช่วงเวลานั้นคือรถยนต์จากยุโรปเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่รถยนต์จากญี่ปุ่นยังทำตลาดในอินโดนีเซียไม่ได้มากนัก แม้ว่าจะมีรถยนต์จากญี่ปุ่น เช่น โตโยต้า เข้าสู่อินโดนีเซียตั้งแต่ราวปี 1961

หลังจากการเปลี่ยนรัฐบาลจากซูการ์โนสู่ซูฮาร์โต มีการเปลี่ยนนโยบายประเทศหลายด้านรวมถึงด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ทำให้เป็นโอกาสที่ประเทศต่างๆ เข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย เช่น ผู้ผลิตยานยนต์ต่างประเทศต้องมีตัวแทนสินค้าในอินโดนีเซียและการห้ามนำเข้ารถยนต์ที่สร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด ในช่วงทศวรรษ 1970 เป็นยุคที่รถยนต์จากญี่ปุ่นสามารถเข้าไปแทนที่ตลาดรถยนต์จากยุโรปและอเมริกาในอินโดนีเซียได้ ชาวอินโดนีเซียรู้สึกว่ารถยนต์จากญี่ปุ่นนั่งสบายและราคาจับต้องได้มากกว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จในอินโดนีเซียเช่น โตโยต้า (Toyota Motor Corporation) ได้ร่วมหุ้นกับธุรกิจยานยนต์ Astra ของชาวอินโดนีเซียทำให้กิจการขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก Astra ก่อตั้งโดย วิลเลียม ซูร์ยาจายา (William Soeryadjaja) เมื่อปี 1957 และได้ซื้อโรงงานของเจเนรัลมอเตอร์ส ในปี 1969 และได้เบียดเข้าไปชิงตำแหน่งราชารถยนต์แทนที่ฮาชิม นิงจนถึงปี 1991

 เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1997-1998 ครอบครัวซูร์ยาจายาได้สูญเสียหุ้นใน Astra ทั้งหมดจากวิกฤตธนาคาร และทำให้กลุ่ม Jardine Hongkong กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ Astra แทน ทั้งนี้ ช่วงการก่อตั้ง WTO ในปี 1996 มีการวิเคราะห์กันว่านโยบายด้านยานยนต์ของอินโดนีเซียถือว่าเป็นนโยบายที่เหมาะสม แต่การได้รับใบอนุญาตขึ้นอยู่กับการเลือกพวกพ้องของประธานาธิบดีซูฮาร์โตและเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1997 จึงทำให้พังไม่เป็นท่า

ในตอนแรกญี่ปุ่นรวมถึงอเมริกาและยุโรปไม่ได้สร้างโรงงานเพื่อเป็นฐานผลิตในประเทศอินโดนีเซียหากแต่ใช่วิธีส่งออกรถยนต์ไปยังอินโดนีเซียแทน แต่เมื่อเห็นว่าความต้องการรถยนต์ในอินโดนีเซียมีสูงมากนำไปสู่การตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในอินโดนีเซียขึ้น

ฮอนด้า: รถสัญชาติญี่ปุ่นที่ครองตลาดมอเตอร์ไซด์ในอินโดนีเซีย

ฮอนด้าเป็นผู้ผลิตยานยนต์ทั้งรถยนต์ รถบรรทุก รถจักรยานยนต์ และสกู๊ตเตอร์ ก่อตั้งโดย Soichiro Honda เมื่อปี 1948 ที่ประเทศญี่ปุ่น ในตอนแรกฮอนด้าเน้นผลิตรถมอเตอร์ไซด์ และได้ผลิตมอเตอร์ไซด์ออกมาครั้งแรกในปี 1949 มอเตอร์ไซด์ยี่ห้อฮอนด้าเป็นที่นิยมในอินโดนีเซียอย่างมาก คนอินโดนีเซียเรียกมอเตอร์ไซด์ว่าฮอนด้า ไม่ว่าคุณจะขี่ซูซูกิ คาวาซากิหรืออะไรก็ตาม แต่คนจะพูดว่า “คุณมากับฮอนด้า” ฮอนด้ากลายเป็นแสลงเรียกมอเตอร์ไซด์และเป็นอันรู้กันตั้งแต่เด็กไปจนผู้เฒ่าผู้แก่

ฮอนด้าเข้าสู่อินโดนีเซียครั้งแรกในปี 1960 และในปี 1963 ฮอนด้าได้เปิดตัวรถยนต์คันแรกในอินโดนีเซียคือ Honda T360 เพื่อสู้กับรถยนต์จากยุโรปและอเมริกา ฮอนด้าได้ก่อตั้ง PT Honda Prospect Motor เพื่อเป็นตัวแทนขายในตลาดอินโดนีเซียในปี 1994 ต่อมาหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ฮอนด้าได้เริ่มให้อินโดนีเซียเป็นฐานการผลิตรถยนต์โดยตั้งโรงงานแห่งแรกที่เมืองคาราวัง โรงงานแห่งนี้มีกำลังการผลิตสูงถึง 80,000 คันต่อปี ฮอนด้าได้มีการตั้งโรงงานผลิตแห่งที่สองในปี 2012 โดยสามารถผลิตรถยนต์ได้ 120,000 คันต่อปี

สำหรับรถมอเตอร์ไซด์ฮอนด้ามาถึงอินโดนีเซียในปี 1971 ผ่าน PT Federal Motor ซึ่งในขณะนั้นเป็นเพียงโรงงานประกอบมอเตอร์ไซด์เท่านั้น ส่วนประกอบนำเข้าจากญี่ปุ่นในรูปแบบน็อคดาวน์ ในปีแรกๆ ฮอนด้าผลิตมอเตอร์ไซด์ได้เพียง 1,500 คัน แต่ก็เพิ่มจำนวนการผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ จนในปี 1981 PT Federal Motor ผลิตมอเตอร์ไซด์ได้ถึงหนึ่งล้านคันต่อปี ซึ่งหมายความว่าความต้องการของผู้ใช้รถชาวอินโดนีเซียสูงมาก และความสามารถในการผลิตเพิ่มเป็นสองล้านคันในปี 1996

ต่อมาในปี 2001 ฮอนด้าได้เปลี่ยนชื่อเป็น PT Astra Honda Motor และได้สร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่ที่จิคารัง (Cikarang) หลังควบรวมธุรกิจลูกของฮอนด้าเข้าด้วยกัน หลังการรวมธุรกิจฮอนด้าสามารถเพิ่มพลังการผลิตเป็นสามล้านคันต่อปี ความต้องการของผู้ใช้มอเตอร์ไซด์ที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ฮอนด้าสร้างโรงงานผลิตแห่งที่สี่ในปี 2014 และสามารถเพิ่มการผลิตได้เป็น 5.3 ล้านคันต่อปี ในปี 2015 ฮอนด้าประกาศว่าขายมอเตอร์ไซด์ตั้งแต่แรกเข้ามาอินโดนีเซียรวมแล้ว 50 ล้านคัน และในปีเดียวกันนั้น PT Astra Honda Motor ได้เริ่มส่งออกมอเตอร์ไซด์ไปยังประเทศอื่นๆ ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศนอกภูมิภาค

จากรายงานสถิติอินโดนีเซียปี 2023 ที่จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่าอินโดนีเซียมีมอเตอร์ไซด์ทั้งหมดราว 125.3 ล้านคัน ในขณะที่จำนวนประชากรอินโดนีเซียมีราว 270 ล้านคน จังหวัดที่มีจำนวนมอเตอร์ไซด์มากที่สุด 10 จังหวัดตามลำดับได้แก่

  1. ชวาตะวันตก 20.7 ล้านคัน
  2. ชวากลาง 17.5 ล้านคัน
  3. จาการ์ตา 17.3 ล้านคัน
  4. ชวาตะวันออก 13.4 ล้านคัน
  5. สุมาตราเหนือ 6.3 ล้านคัน
  6. บาหลี 3.9 ล้านคัน
  7. สุลาเวสีใต้ 3.89 ล้านคัน
  8. เรียว 3.6 ล้านคัน
  9. ลัมปุง 3.4 ล้านคัน
  10. สุมาตราใต้ 3.3 ล้านคัน

ในช่วงระยะเวลาปี 2012-2022 จำนวนมอเตอร์ไซด์ในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นราว 48.9 ล้านคัน หรือราว 64% จำนวนที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมยานยนต์อินโดนีเซียและกำลังซื้อของประชาชน


ข้อมูลประกอบการเขียน

Afifiyah, Siti. “Sejarah dan Perkembangan Industri Otomotif Honda.” Tagar, 22 August 2022, https://www.tagar.id/sejarah-dan-perkembangan-industri-otomotif-honda#:~:text=Pada%20industri%20sepeda%20motor%2C%20Honda,CKD%20(Completely%20Knock%20Down)

Ahdiat, Adi. “Ini Pertumbuhan Jumlah Motor di Indonesia 10 Tahun Terakhir.” Databooks, 16 March 2023, https://databoks.katadata.co.id/datapublish/2023/03/16/ini-pertumbuhan-jumlah-motor-di-indonesia-10-tahun-terakhir#:~:text=Menurut%20laporan%20Statistik%20Indonesia%202023,%25%2C%20seperti%20terlihat%20pada%20grafik.

Infootomotif. “Sejarah Honda, Perjalanan Menjadi Merek Otomotif Terpercaya di Indonesia.” Kumparan, 25 February 2022, https://kumparan.com/info-otomotif/sejarah-honda-perjalanan-menjadi-merek-otomotif-terpercaya-di-indonesia-1xZJ0b6HwyA/full

Infootomotif. “Sejarah Otomotif di Indonesia, Ini Pemilik Sepeda Motor Pertama di Tanah Air.” Kumparan, 30 August 2022, https://kumparan.com/info-otomotif/sejarah-otomotif-di-indonesia-ini-pemilik-sepeda-motor-pertama-di-tanah-air-1ykuX6Vx6HE/full

Kurniawan, Ruly. “Perjualan Mobil Indonesia Terbesar di ASEAN Sepanjang 2021.” Kompas, 10 February 2022, https://otomotif.kompas.com/read/2022/02/10/120200715/penjualan-mobil-indonesia-terbesar-di-asean-sepanjang-2021?page=all

“Menelusuri Pejalanan Industri Otomotif Indonesia melalui Buku Sejrah.” Gaikindo, https://www.gaikindo.or.id/menelusuri-perjalanan-industri-otomotif-indonesia-melalui-buku-sejarah/

“Mengenal Sejarah Perkembangan Otomotif di Indonesia.” Auto2000, 6 December 2022, https://auto2000.co.id/berita-dan-tips/perkembangan-otomotif-di-indonesia#

“Negara Produksi Mobil Terbanyak di ASEAN, Indonesia Urutan Berapa?.” CNNIndonesia, 9 January 2023, https://www.cnnindonesia.com/otomotif/20230109113211-587-897850/negara-produksi-mobil-terbanyak-di-asean-indonesia-urutan-berapa

Purwanto, Antonius. “Sejarah, Kebijakan, dan Peta Jalan Industri Otomotif Indonesia.” Kompas, 11 August 2021, https://www.kompas.id/baca/paparan-topik/2021/08/11/sejarah-kebijakan-dan-peta-jalan-industri-otomotif-indonesia

“Sejarah dan Perkembangan Industri Otomotif di Indonesia.” BantenNet, 4 March 2022, https://bantennet.com/sejarah-otomotif-di-indonesia/

“Sejarah Otomotif Indonesia dari Motor 1893 dan ‘Kreta Setan’.” CNNIndonesia, 2 October 2019, https://www.cnnindonesia.com/otomotif/20191002141743-579-436088/sejarah-otomotif-indonesia-dari-motor-1893-dan-kreta-setan

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save