fbpx

เลือกตั้ง ‘ดาวน์อันเดอร์’ กับความหวังของการเปลี่ยนแปลง

วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม 2022 หนึ่งวันก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร มีการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศออสเตรเลีย ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการชี้ว่าพรรคแรงงานออสเตรเลียได้คะแนนเสียงมากกว่าพรรครัฐบาล มีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 75 ที่นั่ง อย่างไรก็ตาม พรรคแรงงานฯ จำเป็นต้องได้ถึง 76 ที่นั่งจึงจะสามารถเป็นเสียงข้างมากในสภาฯ ได้ (ข่าว ABC News, 27 May 2022) จึงยังไม่มีความชัดเจนว่าพรรคแรงงานฯ จะจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่อย่างไร

ก่อนการเลือกตั้ง ออสเตรเลีย หรือ ‘ดาวน์อันเดอร์’ (Down Under) ชื่อที่มาจากคำแสลงแต่ถูกใช้เรียกกันอย่างกว้างขวาง ด้วยเหตุผลด้านภูมิศาสตร์ของประเทศที่อยู่ทางทิศใต้ของโลก อยู่ภายใต้การบริหาร/ปกครองของรัฐบาลผสมฝ่ายอนุรักษ์นิยมยาวนานถึงเก้าปี โดยมี สก็อตต์ มอร์ริสัน (Scott Morrison) เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เป็นรัฐบาลที่ก่อให้เกิดสารพันปัญหาขึ้น เช่น ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ มาตรฐานการครองชีพตกต่ำลง ความไม่เท่าเทียมกันด้านชาติพันธุ์ -โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อชนพื้นเมือง- ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตผู้คน ฯลฯ

ที่ผมจะเขียนถึงต่อไปนี้เป็นการทบทวนถึงผลกระทบต่อผู้คนและประเทศ อันเกิดจากการบริหาร/ปกครองของรัฐบาลชุดก่อน ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องเผชิญหน้าและรีบแก้ไข อย่างไรก็ตาม บางปัญหาได้กลายเป็นความท้าทาย เช่น ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะพิสูจน์ว่ารัฐบาลชุดใหม่มีความกล้าที่จะทำการแก้ไขหรือไม่ หรืออย่างน้อย ก็หยิบยกขึ้นมากล่าวถึงและกำหนดว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องแก้ไข

หากรัฐบาลชุดใหม่ของออสเตรเลียมีความกล้าที่จะการเผชิญหน้ากับปัญหาและพยายามแก้ไข ก็จะแนวโน้มที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ดีกว่า และอาจเป็นตัวอย่างให้สังคมไทยได้ไตร่ตรอง คิดทบทวนเพื่อวางแผนสำหรับอนาคตของตนเองก็ได้

บังคับให้เลือกตั้ง

ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีกฎหมายบังคับให้ลงคะแนนเลือกตั้ง โดยกำหนดว่าพลเมืองทุกคนที่มีอายุ 18 ปีและมากกว่า ต้องไปลงทะเบียนผู้มีสิทธิในการเลือกตั้ง และจะต้องไปลงคะแนนเสียงการเลือกตั้ง หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับเป็นจำนวนเงินยี่สิบดอลลาร์ออสเตรเลีย และถ้าฝ่าฝืนเป็นครั้งที่สอง โทษปรับจะมีจำนวนเงินที่สูงขึ้นอีก

คณะกรรมการเลือกตั้งแห่งออสเตรเลีย (Australian Electoral Commission) ได้ระบุไว้ว่าการออกกฎหมายฉบับนี้มีเหตุผลด้านประวัติศาสตร์การเมือง สืบเนื่องมาจากผลการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1919 ที่ปรากฏว่ามีผู้มาใช้สิทธิในการเลือกตั้งราว 71 เปอร์เซ็นต์ ทว่า การเลือกตั้งในปี 1922 กลับมีผู้มาใช้สิทธิในการเลือกตั้งน้อยกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการออกกฎหมายบังคับให้ลงคะแนนเลือกตั้งในปี 1924 ผลที่ตามมาคือในการเลือกตั้งปี 1925 ซึ่งปรากฏว่ามีผู้มาใช้สิทธิในการเลือกตั้งมากกว่า 91 เปอร์เซ็นต์ ทำให้กฎหมายฉบับนี้ถูกบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน

แน่นอน มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและผู้คัดค้านกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งโต้แย้งว่าการบังคับให้ลงคะแนนเลือกตั้งไม่เป็นประชาธิปไตย ทว่า หากพิจารณาจากผลบังคับใช้ของกฎหมายที่ทำให้มีผู้มาใช้สิทธิในการเลือกตั้งเป็นจำนวนมากแล้ว ก็ไม่มีทีท่าว่ากฎหมายฉบับนี้จะถูกยกเลิกในอนาคตอันใกล้

นอกจากนี้ ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่ผ่านมานี้ มีการประมาณว่ามีผู้มีสิทธิในการเลือกตั้งราว 17 ล้านคน

นายกรัฐมนตรีคนใหม่

แอนโธนี แอลบานิส (Anthony Albanese) ที่มักถูกเรียกด้วยชื่อเล่นว่า ‘แอลโบ’ (Albo) อายุ 59 ปี เป็นลูกคนเดียวที่เติบโตขึ้นมาในบ้านของการเคหะฯ ด้วยเงินสวัสดิการของรัฐที่แม่ได้รับในฐานะคนพิการ ว่ากันว่าชีวิตในบ้านการเคหะฯ มีผลอย่างสูงต่อความคิดของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเมือง

เขาเชื่อคำบอกเล่าของแม่ที่ว่าพ่อเสียชีวิตตั้งแต่เขายังไม่เกิด แต่พอเป็นวัยรุ่นก็ค้นพบว่าพ่อของเขาน่าจะยังมีชีวิตอยู่ และมีครอบครัวแล้วตอนที่พ่อแม่เจอกันขณะที่แม่กำลังเดินทางท่องเที่ยวในยุโรป แล้วแม่เกิดตั้งครรภ์ขึ้น จึงไม่ได้เล่าความจริงกับเขา พออายุราวสามสิบปีเขาก็บินไปหาพ่อที่อาศัยอยู่ในอิตาลี เป็นครั้งแรกที่เขาพบพ่อและครอบครัวของพ่อ

เขาลงสมัครเป็นผู้แทนราษฎรในเขตกรุงซิดนีย์ชั้นในเมื่อปี 1996 และชนะการเลือกตั้งในวัย 33 ปี เมื่อพรรคแรงงานฯ ชนะการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2007 และได้จัดตั้งรัฐบาล เขาได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณูปโภคและการขนส่ง และได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีในปี 2013 แต่อยู่ในตำแหน่งได้เพียงสิบสัปดาห์ พรรคแรงงานฯ ก็แพ้การเลือกตั้ง หลังจากนั้น แอลโบก็มุ่งมันกับการทำงานในพรรค และได้เป็นหัวหน้าพรรคแรงงานฯ ในปี 2019 และเริ่มแสดงท่าทีและทัศนะแบบ ‘ตรงกลาง’ ทั้งๆ ที่เดิมอยู่ในปีกฝ่ายซ้ายของพรรค ด้วยความหวังที่จะดึงคะแนนความนิยมให้มากขึ้นจากประชาชนที่เป็นอนุรักษนิยม

การที่ว่าที่นายแอนโธนี แอลบานิสมีท่าทีที่อ่อนลงในปัญหาสำคัญบางประการ ทำให้เกิดคำถามว่ารัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของเขาจะสามารถ – หรือกล้าพอที่จะ – สร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) นโยบายที่เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยทางทะเลที่สร้างการโต้เถียงกันอย่างรุนแรง ท่าทีที่แข็งกร้าวต่อจีน และประเด็นเรื่องความมั่นคงของชาติ สิ่งเหล่านี้เป็นนโยบายที่รัฐบาลฝ่ายอนุรักษนิยมชุดก่อนใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ และไม่มากก็น้อย ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศและประชาชน

รัฐสภาคนขาว

สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษเสนอรายงานข่าวกึ่งความคิดเห็น ตั้งคำถามว่าเหตุใดรัฐสภาของออสเตรเลียจึงเต็มไปด้วยคนผิวขาว[1] โดยเริ่มต้นว่าประเทศนี้เป็นหนึ่งในชาติที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่ราว 96 เปอร์เซ็นต์ของผู้แทนในสภา -ซึ่งเป็นผู้ออกกฎหมาย- เป็นคนผิวขาว และมีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่าในการเลือกตั้งที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองที่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้บ้าง แต่ก็เลือกที่จะไม่ทำ

บีบีซีกล่าวถึง ตู เล (Tu Le) หญิงอายุ 30 ปี ผู้ที่เติบโตขึ้นในครอบครัวผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามในย่านที่เรียกว่าฟาวเลอร์ (Fowler) อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองซิดนีย์ เป็นหนึ่งในถิ่นคนจนเมืองที่จนที่สุดของประเทศ เธอเป็นนักกฎหมายของชุมชน ทำงานรับใช้ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพที่เพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ในชุมชน ในปีที่แล้วเธอได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของพรรคแรงงานฯ ลงแข่งขันในการเลือกตั้งในเขตฟาวเลอร์ เพราะเป็นบริเวณที่ผู้คนมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่แล้วพรรคฯ กลับเปลี่ยนตัวผู้สมัคร ไม่เอาตู เล แต่เป็นหญิงผิวขาวที่อาศัยอยู่นอกเขตฟาวเลอร์ แต่เธอผู้นี้เป็นที่รู้จักกันดีในพรรคฯ แม้ว่าจะมีการคัดค้านจากคนในท้องที่ ซึ่งไม่ยอมรับหญิงผิวขาวผู้นี้ก็ตาม พรรคฯ ก็ยืนยันที่จะให้เธอเป็นผู้สมัครของพรรคฯ

มีผู้ให้ความเห็นว่าถ้าเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษหรือสหรัฐอเมริกา คงยอมรับกันไม่ได้ แต่ในออสเตรเลียยังมีความรู้สึกหรือจิตสำนึกของการรักษาสถานภาพเดิมให้คงอยู่ เพื่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมและการเมืองที่น้อยที่สุด

ความรู้สึกหรือจิตสำนึกเช่นนี้ ในแง่หนึ่ง ทำให้สภาผู้แทนฯ ของออสเตรเลียเต็มไปด้วยคนผิวขาว ซึ่งจะเห็นได้จากยุคที่เรียกกันว่า ‘นโยบายออสเตรเลียคนขาว’ ที่ใช้กันในระหว่างปี 1901 ถึงทศวรรษ 1970 เพื่อกีดกันผู้อพยพที่ไม่ใช่คนผิวขาวเข้าประเทศ

นักสังเกตการณ์การเมืองให้ความเห็นว่าระบบการเมืองของออสเตรเลียเป็นประเภททำกันในห้องแบบลับๆ มากกว่าประเทศประชาธิปไตยประเทศอื่น เช่น ผู้สมัครของพรรคการเมืองใหญ่ๆ เกือบทั้งหมดถูกเลือกขึ้นมาตามลำดับหรือสถานะ บ่อยครั้งที่คนเหล่านี้เป็นคนที่เคยทำงานให้สมาชิกผู้แทนราษฎรในปัจจุบัน แม้แต่ตู เล หญิงผู้มีเชื้อสายเวียดนาม ก็กล่าวว่าเธอคงไม่มีทางเข้าสู่การเมืองได้เลยหากเธอไม่ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกผู้แทนฯ ของเขตฟาวเลอร์ที่เกษียณอายุไปแล้ว ที่เป็นชายสูงวัยผิวขาว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พรรคการเมืองอย่างพรรคแรงงานฯ จะเปลี่ยนตัวผู้แทนฯ ของพรรค จากคนที่ไม่ใช่ผิวขาวเป็นคนผิวขาว ทั้งๆ ที่ในเขตที่ลงเลือกตั้งนั้นๆ อาจเป็นพื้นที่ของผู้คนหลากหลายวัฒนธรรมก็ตาม

ความเหลื่อมล้ำและค่าครองชีพสูง

มีรายงานที่แสดงให้เห็นว่าในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา คนออสเตรเลียทำงานอย่างหนัก ซึ่งทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นอย่างมาก ทว่า ไม่ใช่คนเหล่านี้ซึ่งคือประชาชนทั่วไป ที่เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากเศรษฐกิจที่ดี หากเป็นธนาคาร บริษัทประกัน บรรษัทข้ามชาติที่ร่ำรวยขึ้น และรัฐบาลชุดก่อน ซึ่งเป็นฝ่ายอนุรักษ์ ก็มิได้สนใจที่จะทำการช่วยเหลือประชาชน

ปัญหาใหญ่ประการหนึ่งคือค่าครองชีพสูงขึ้น ในขณะที่รายได้ครัวเรือนลดลง เช่น จากสถิติตัวเลขในช่วงสามปี ระหว่างปี 2017-2019 เผยให้เห็นว่าค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นกว่าค่าจ้างแรงงานถึง 2.9 เปอร์เซ็นต์ และนับเป็นการตกต่ำที่สุดของมาตรฐานการครองชีพในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา คือตกต่ำกว่าช่วงภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในปี 19919-92 เสียอีก!

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำของรายได้ เนื่องจากผู้ที่มีรายได้สูงมีรายได้ที่สูงมาก ในขณะที่ผู้มีรายได้ปานกลางและต่ำมีรายได้ที่ค่อนข้างต่ำ เกิดความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้ ปัญหาเรื่องความร่ำรวยกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนรวยถึง 60 เปอร์เซ็นต์ และตัวเลขชี้ให้เห็นว่าในระหว่างปี 2016-2017 มีอภิอัครมหาเศรษฐีเพิ่มขึ้นมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ และปัญหาเรื่องการเคลื่อนย้ายทางสังคมผ่านอาชีพ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่ง ทั้งนี้เพราะออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงในเรื่องนี้ และถูกจัดให้เป็นประเทศที่ต่ำเป็นที่สองในกลุ่มประเทศที่อยู่ใน ‘องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ’ (OECD) กล่าวคือเกือบครึ่งหนึ่งของเด็กที่มาจากครอบครัวผู้ใช้แรงงานทั่วไปก็ยังคงมีอาชีพเป็นคนงานทั่วไป และมีเพียง 12 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปถึงระดับผู้จัดการ

ปัญหาค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงจนน่าตกใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องราคาบ้านเรือนที่สูงขึ้นมากมาย จนประชาชนจำนวนมากไม่สามารถซื้อได้ เป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องเผชิญ แต่ก็ไม่มีแนวโน้มว่าจะทำการแก้ไขปัญหาได้ สาเหตุหนึ่งเพราะเป็นปัญหาที่คั่งค้างมาอย่างยาวนาน และรัฐบาลชุดก่อนก็มิได้พยายามที่จะทำการแก้ไข

ตัวอย่างเช่น มีงานวิจัยล่าสุดที่เปิดเผยว่าคนออสเตรเลียอายุ 18 ปีที่ทำงานเป็นพนักงานขายและอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ต่างๆ ต้องจ่ายค่าเช่าห้องพักที่มีราคาแพงมาก คือสูงเกินกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ของตน หรือหากอยู่ในเมืองหลวง แคนเบอร์รา ก็อาจต้องจ่ายค่าเช่าสูงถึง 48 เปอร์เซ็นต์ แต่สำหรับผู้ที่ทำงานเป็นพนักงานต้อนรับ สถานการณ์ดูจะยิ่งย่ำแย่กว่าเสียอีก เพราะอาจต้องค่าเช่าสูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ หรือหากทำงานและอยู่ในเมืองแคนเบอร์รา อาจต้องจ่ายสูงขึ้น 53 เปอร์เซ็นต์ หรือในเมืองซิดนีย์ ค่าเช่าจะสูงถึง 48 เปอร์เซ็นต์ของรายได้

นอกจากนี้ มีรายงานว่าในช่วงปี 2020-2021 มีคนจำนวน 41,652 คนที่มีอายุระหว่าง 15 ถึง 24 ปี เข้าขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่ให้บริการสำหรับคนไร้บ้าน เพราะเป็นผู้ที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากพ่อแม่หรือผู้ใด ในจำนวนนี้มีเพียง 5,092 คนที่สามารถหาที่อยู่อาศัยได้ และราว 7,400 คนได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่น ในขณะที่จำนวน 24,053 คนไม่มีที่อยู่อาศัยเลย

ส่วนโครงการเคหะเพื่อสาธารณชนก็อยู่ในขั้นวิกฤต ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา การเคหะเพื่อสาธารณและครอบครัวยากจนเริ่มเสื่อมลง ทั้งในด้านจำนวนและคุณภาพ ในขณะที่ราคาบ้านแพงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถมีบ้านเป็นของตนเองได้ นอกจากนี้ ค่าเช่าบ้านก็สูงขึ้นตามไปด้วย

มีเพียงผู้ที่อยู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เท่านั้นที่ได้รับผลประโยชน์ในเรื่องนี้

ในรัฐทัสเมเนีย ซึ่งมีแผนการใหญ่ในการสร้างบ้านเพื่อประชาชน รายชื่อของผู้ที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นถึง 4,707 คนในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 จากจำนวน 2,100 คนในเดือนมิถุนายน 2013 และคาดว่าระยะเวลาที่ต้องรอบ้านหลังใหม่นานเกือบห้าปี สำหรับผู้ที่มีรายชื่ออยู่ต้นๆ ทำให้เกิดประมาณการว่าในช่วงกลางทศวรรษ 2030 จะต้องสร้างบ้านใหม่เป็นจำนวนถึง 731,000 หลังเพื่อรองรับคนออสเตรเลียที่ไม่มีบ้านเป็นของตนเอง หรือผู้ที่มีรายได้น้อย

ปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่งคือความสามารถในการมีบ้าน ซึ่งเป็นไปได้ยาก ด้วยราคาบ้านที่แพงขึ้นเรื่อยๆ ชนชั้นกลางออสเตรเลียอาจต้องใช้เวลานานถึงหนึ่งทศวรรษในการสะสมเงินเพื่อเป็นเงินมัดจำในการซื้อบ้าน ในขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับค่าเช่าบ้านที่แพงมาก

ภัยธรรมชาติ

นอกจากไฟป่า ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศแล้ว น้ำท่วมก็เป็นอีกหนึ่งภัยธรรมชาติที่คนออสเตรเลียต้องประสบอยู่เสมอ และอาจไม่น่าแปลกใจที่ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นของภัยทั้งสองเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภาวะโลกร้อน (Global Warming)

ในช่วงสามปีที่ผ่านมา ได้เกิดไฟป่าและน้ำท่วมบ่อยจนอาจเรียกได้ว่าสูงทำลายสถิติ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คน และสัตว์ชนิดต่างๆ อีกนับพันล้านตัว นอกจากนี้ ภาวะภัยแล้ง พายุไซโคลนและคลื่นน้ำทะเลสูงก็ได้ทำลายชุมชนต่างๆ มากมาย และทำให้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

ที่น่าตกใจคือภัยธรรมชาติเหล่านี้ได้ทำให้คนออสเตรเลียต้องประสบกับ ‘วิกฤตการประกันภัย’ กล่าวคือจากรายงานของ ‘Climate Council’ ระบุว่าในปี 2030 ในจำนวนบ้าน 25 หลังจะมีบ้านหนึ่งหลังที่ไม่ได้รับการประกันภัย และอีก 11 หลังจะตกอยู่ในความเสี่ยงหรือได้รับการประกันที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งจะทำให้ค่าประกันบ้านที่มีความเสี่ยงสูงมีราคาแพงอย่างยิ่ง หรืออาจไม่ได้รับการประกันภัยเลยก็ได้

ควีนส์แลนด์เป็นรัฐที่ต้องเผชิญกับปัญหาการประกันมากที่สุด คาดการณ์กันว่าเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ของบ้านเรือนจำนวน 500,000 หลังที่จะไม่ได้รับการประกันภัย เพราะรัฐนี้ประสบกับปัญหาน้ำท่วมอยู่เสมอ จนทำให้คนที่อาศัยอยู่ในรัฐนี้บางคนถึงกับออกปากว่าบ้านของตนกลายเป็นบ้านที่ “อยู่ไม่ได้แล้ว” (unliveable)

ผลลัพธ์ที่ตามมาคือค่าประกันภัยที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉลี่ย เจ้าของบ้านในปัจจุบันต้องจ่ายเงินค่าประกันบ้านสูงถึงเกือบสี่เท่าของค่าประกันในปี 2004 และในบางพื้นที่ของประเทศก็ยิ่งน่าตกใจ เช่น ในภาคเหนือ มีกรณีที่เจ้าของบ้านต้องจ่ายค่าประกันบ้านสูงถึงสิบเท่าของค่าประกันในที่อื่นๆ ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากต้องประกันบ้านแบบถูกๆ คือจ่ายเงินค่าประกันภัยจำนวนน้อยและได้รับการประกันที่จำกัดหรือจะได้รับเงินค่าประกันในจำนวนจำกัด

ในความเห็นของผม สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่เสื่อมโทรมลงของออสเตรเลียเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก และอยู่ในขั้นวิกฤต ไม่เพียงแต่ภัยธรรมชาติเรื่องไฟป่าและน้ำท่วมเท่านั้น การทำลายธรรมชาติด้วยการทำเหมืองแร่นอกจากจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติแล้ว ยังสร้างความเสียหายต่อด้านสังคม-วัฒนธรรมของชนพื้นเมือง และคุณค่าและความรู้ด้านโบราณคดีอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากกรณีที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมปี 2020 เมื่อบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่นามริโอ ทินโต (Rio Tinto) ที่เชี่ยวชาญด้านการทำเหมือง ได้ทำการระเบิดถ้ำสองแห่งในบริเวณจูกัน จอร์จ (Juukan Gorge) ในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย เพื่อทำเหมืองแร่เหล็ก แต่พื้นที่แห่งนี้มีชนพื้นเมืองออสเตรเลีย หรือคือชุมชนพีเคเคพี ‘Puutu Kunti Kurrama and Pinikura People’ เป็นเจ้าของตามจารีต ซึ่งเชื่อว่าถ้ำเหล่านี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ ในด้านโบราณคดี ถ้ำเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะได้มีการค้นพบวัตถุโบราณที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น มีอายุเก่าแก่ราว 46,000 ปี เทียบได้เท่ากับยุคน้ำแข็ง (Ice Age) (ผมเคยเขียนถึงเรื่องนี้แล้ว – ดูรายละเอียดใน “เคารพใน “ความเป็นอื่น” จึงจะเห็น “คนเท่ากัน””, The 101 World, 11 Feb 2021) ทว่า ดูเหมือนว่าบรรษัทเหมืองแร่ข้ามชาติอย่างริโอ ทินโต จะสนใจในเรื่องการทำกำไรและความร่ำรวยของบรรษัท มากกว่าคุณค่าทางสังคม-วัฒนธรรมและความรู้ด้านโบราณคดี-มานุษยวิทยา

ความหวังในการเปลี่ยนแปลง

คอลัมนิสต์ผู้หนึ่งของ The Guardian ของอังกฤษ ได้เขียนแสดงความคิดเห็นไว้ว่านักการเมืองประชานิยมอย่างสก็อตต์ มอร์ริสัน อดีตนายกฯ ของออสเตรเลีย ผู้ปราชัยในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด และชัยชนะของพรรคแรงงานฯ สะท้อนให้เห็นถึงความพ่ายแพ้ของพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยม ไม่เพียงแต่ในออสเตรเลียเท่านั้น หากยังเห็นได้จากการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศสด้วย และได้เขียนพาดพิงถึง บอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) นายกฯ ของอังกฤษ และเตือนว่าพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์ฯ อาจพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปก็ได้[2]

เหลียวมาดูในบ้านเรา ผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ปรากฏว่านาย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงมากกว่าหนึ่งล้านสามแสนเสียง และได้รับการรับรองจาก กกต. ไปแล้ว พร้อมๆ กับที่ผู้ว่าฯ คนใหม่ก็เริ่มทำงานอย่างแข็งขัน ด้วยการออกนโยบายเพื่อพัฒนากรุงเทพฯ อย่างจริงจัง สร้างความเชื่อมั่นให้แก่คนกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก ผู้มีความหวังว่าชีวิตในเมืองหลวงของพวกเขาจะดีขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น สุขสบายยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ในทางการเมืองที่ใหญ่กว่า หรือในระดับชาติ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครก็ดูเหมือนจะทำให้คนไทยจำนวนมากมีความหวังกับการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งเป็นเครื่องมืออันสำคัญ

และโดยส่วนตัว ผมหวังว่าสักวันหนึ่งคนไทยจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ด้วยคะแนนเสียงข้างมากจากประชาชน ไม่ใช่รัฐบาลที่เป็นฝ่ายอนุรักษนิยม หรือมิใช่ด้วยการยึดอำนาจด้วยกำลังทหาร


[1] Frances Mao, “Australia election: Why is Australia’s parliament so white?”, BBC News, Sydney, 20 May 2022, <https://www.bbc.com/news/world-australia-61432762>

[2] Gaby Hinsliff, “Australia has shown how quickly the right can crumble. Boris Johnson, be warned”, The Guardian, Mon 23 May 2022, <https://www.theguardian.com/commentisfree/2022/may/23/australia-election-results-right-boris-johnson-scott-morrison>

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save