fbpx

‘ตุลาฯ รำลึก’ : คุยกับ ใบตองแห้ง-อธึกกิต แสวงสุข ว่าด้วยเหตุการณ์เดือนตุลาฯ และประชาธิปไตยไทย

วินาทีที่เสียงปืนดังขึ้น ประชาชนไทยคงไม่คาดคิดมาก่อนว่า ภาพนักศึกษานอนเรียงรายกันเต็มลานสนาม บ้างเป็นศพถูกลากไปมา บ้างถูกแขวนคอแล้วใช้เก้าอี้ฟาดซ้ำอย่างทารุณ หลายคนที่รอดชีวิตถูกดำเนินคดีทางการเมือง และหลายคนต้องหนีการคุกคามไปอาศัยอยู่ในป่าที่ห่างไกล จะเกิดขึ้นจริงบนหน้าประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย

กว่า 50 ปีที่การเมืองไทยอาบไปด้วยเลือดของผู้บริสุทธิ์จากเหตุการณ์นั้น ในทุกเดือนตุลาคมของทุกปี เหตุการณ์สังหารหมู่นี้จะถูกพูดถึงซ้ำๆ เพื่อย้ำไม่ให้สังคมลืมความโหดร้ายอย่างไม่น่าเชื่อว่าครั้งหนึ่งรัฐจะกล้าทำกับประชาชน ปีนี้ก็เช่นกันที่เหตุการณ์ ‘14 ตุลาฯ 16’ และ ‘6 ตุลาฯ 19’ ได้ถูกรำลึกถึงอีกครั้ง 

แม้กาลเวลาผันผ่าน แต่คนเดือนตุลาฯ หลายต่อหลายคนยังคงยืนเด่นโดยท้าทายพร้อมด้วยผมสีดอกเลาและอายุที่เริ่มนับถอยหลัง พวกเขายังคงเป็นตัวละครสำคัญบนประวัติศาสตร์

โอกาสนี้ 101 จึงชวน ‘ใบตองแห้ง – อธึกกิต แสวงสุข’ ร่วมทบทวนการเมืองไทยในวาระเดือนตุลาฯ ที่แม้ผ่านมาแล้วหลายทศวรรษ แต่ประชาธิปไตยไทยยังคงถูกคำถามเช่นเดิม

คนเดือนตุลาฯ รำลึก ก่อนได้ชื่อว่า ‘คนตุลาฯ’

อธึกกิตเล่าเท้าความถึงเมื่อราวห้าทศวรรษก่อน ก่อนหน้าที่จะได้ติดป้ายชื่อว่าเป็นคนเดือนตุลาฯ นั้น เขาเป็นเด็กชายธรรมดาคนหนึ่ง เกิดในจังหวัดนครราชสีมา มีผลการเรียนพอใช้ได้ ทำให้ได้มีโอกาสโยกย้ายเข้ามาเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยไม่ได้สนใจข้องเกี่ยวกับเรื่องของการเมืองนัก จนกระทั่งได้เข้าไปศึกษาในชั้นอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)

“ตอนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผมไปอยู่ครั้งหนึ่ง น่าจะสักชุมนุมวันที่ 7-8-9 จำไม่ได้ชัด ตอนนั้นยังไม่ได้รู้เรื่องอะไร วันที่เกิดเหตุยิงกัน ผมก็อยู่บ้านญาติแถวประตูน้ำ จนกระทั่งสอบเข้ามหาวิทยาลัยสามปีให้หลัง และบังเอิญไปติดธรรมศาสตร์ที่เลือกเป็นอันดับ 6”

“ธรรมศาสตร์สมัยนั้นแบ่งออกเป็นสองสาย คือวิทย์และศิลป์ ก่อนจะไปแยกคณะในปี 2 ผมเข้าไปผมก็ติดโปรเลย เกรดพ้น 1.5 มาหน่อยเดียว และผมโปรสามเทอมติดกัน ดังนั้นในช่วง 6 ตุลาฯ ไม่ว่าจะเกิดหรือไม่เกิด ผมกำลังจะโดนให้พ้นสภาพนักศึกษา (Retire) อยู่แล้ว”

จากคนที่ไม่ได้มีความรู้หรือสนใจทางด้านการเมืองมากนัก กลับได้อยู่ในวินาทีของประวัติศาสตร์เลือดอย่าง 6 ตุลาฯ ที่เกิดการสังหารหมู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จากเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยการเป็นสมาชิกชมรมวรรณศิลป์ตามคำชักชวนของเพื่อนก่อน ชมรมนี้ ส่วนใหญ่จะให้เพื่อนนักศึกษาเข้าไปฝึกเขียนกลอน เขียนหนังสือต่างๆ และด้วยเป็นความชอบส่วนตัวของอธึกกิตแต่เดิม เขาจึงตอบรับเข้าร่วมชมรมได้ไม่ยาก

“เพื่อนที่ชวนไปหัวเขาค่อนข้างไปทางการเมือง สุดท้ายเราก็เปลี่ยนจากชมรมวรรณศิลป์ให้เป็นวรรณกรรมเพื่อชีวิตหน่อยๆ จากศิลปะเพื่อศิลปะ มาเป็นศิลปะเพื่อประชาชน ผมก็ได้ทำกิจกรรมตั้งแต่ปีหนึ่ง”

โดยชมรมวรรณศิลป์ตามคำบอกเล่าของอธึกกิต เป็นหนึ่งใน 20 กว่าองค์กรภายใต้การดูแลขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ซึ่งจะทำหลากหลายกิจกรรม อาทิ จัดนิทรรศการ จัดงานรับเพื่อนใหม่ หรือร่วมกิจกรรมกับอมธ. เช่น ออกค่ายชาวนา การเดินขบวนเรียกร้องทางการเมือง ทำโปสเตอร์ ทำหน้าที่เป็นหน่วยพื้นที่เวลามีการชุมนุมของนักศึกษา เป็นต้น

6 ตุลาฯ ในความทรงจำ

“วันที่ 6 ตุลาฯ เราแบ่งโซนเฉลี่ยกัน ใครจะอยู่ตรงไหน ชมรมวรรณศิลป์ของผมได้อยู่ตรงท้ายตึกบัญชีฝั่งเชื่อมกับตึกสังคม”

อธึกกิตย้อนถึงบรรยากาศของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เมื่อ 47 ปีที่แล้ว โดยเขาเองเป็นหนึ่งในผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น

ภายหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในสามปีนั้น มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองเกิดขึ้นมากมาย นับได้ว่าบ้านเมืองค่อนข้างมีความเป็นเสรีภาพพอสมควร แต่ไม่มีใครล่วงรู้ว่าประชาธิปไตยที่ดูเหมือนจะงอกเงยนั้นกลับมีคลื่นใต้น้ำ เมื่อเผด็จการทหารที่ถูกขับไล่ในปี 2516 มีท่าทีคล้ายจะขึ้นสู่อำนาจอีกครั้ง ทำให้มีการลุกฮือของมวลชนจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันที่ 4 ตุลาคม 2519 นักศึกษาจากชมรมนาฏศิลป์และการละคร ได้จัดการแสดงละครกลางถนนที่ลานโพธิ์ของมหาวิทยาลัย โดยมีเนื้อหาจำลองการถูกฆาตกรรมแขวนคอของช่างไฟฟ้าสองคนที่ออกมาติดโปสเตอร์ต่อต้านการกลับมาของผู้นำเผด็จการทหาร เมื่อเดือนกันยายนในปีนั้น ซึ่งมวลชนฝ่ายซ้ายคาดว่าเป็นอีกหนึ่งสัญญาณของการกลับมาของเผด็จการ

ต่อมาละครแขวนคอถูกเผยแพร่ผ่านทางหนังสือพิมพ์ดาวสยามในกรอบบ่ายวันที่ 5 ตุลาคม 2519 โดยภาพประกอบข่าวถูกนำเสนอว่าผู้แสดงละครนั้นมีใบหน้าคล้ายกับรัชทายาท ถือเป็นการหมิ่นพระเกียรติ อาฆาตมาดร้าย และจงใจล้มสถาบัน จากเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดกระแสปลุกระดมจากฝ่ายขวา ปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ พร้อมด้วยตำรวจกองกำลังติดอาวุธเข้าล้อมปราบ สังหารนักศึกษาอย่างทารุณในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519

“จุดที่ชมรมวรรณศิลป์อยู่ มันคือจุดที่โดนยิงจากพิพิธภัณฑ์ ผมอยู่ด้านท้ายหน่อย แล้วเพื่อนผมที่เป็นรองประธานชมรมอยู่ด้านถัดไป เพื่อนผมถูกยิงเสียชีวิตด้วย M16 ตอนที่เขาพยายามจะถีบประตู”

แม้ไม่ได้เห็นกับตา แต่ก็เป็นความทรงจำเลวร้ายที่ฝังในจิตใจของอธึกกิตต่อเหตุการณ์นั้น เขาเล่าว่าเพื่อนคนนี้ของเขาเป็นคนนครนายก มาอาศัยอยู่ที่วัดเทพศิรินทร์ สนิทกันมาตั้งแต่ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมปลายที่เตรียมอุดมฯ จนกระทั่งเข้าธรรมศาสตร์ด้วยกัน หลายต่อหลายครั้งตัวอธึกกิตก็เคยไปนอนค้างที่วัดกับเพื่อน เรียกได้ว่าเขาสูญเสียเพื่อนสนิทคนหนึ่งไปอย่างโหดร้าย

“ตัวผมโดนจับที่ตึกบัญชี ตอนนั้นปลงแล้วคิดว่าจะตาย หากพวกตำรวจขึ้นมาเจอคงโดนยิงกราด และเราไม่มีอะไรจะสู้ อาวุธก็ไม่มี แต่พอตำรวจมาเขาเอาด้ามปืนทุบ ไล่เราออกไปนอนถอดเสื้อกลางสนาม แล้วจับขึ้นรถทหารไปกุมขังอยู่สามสี่วัน น้าชายของผมที่เป็นตำรวจก็มาประกันตัวให้”

ชีวิตในป่าของอดีตนักศึกษา

ภายหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ อธึกกิตก็ได้กลับไปอยู่บ้านที่นครราชสีมา และส่งจดหมายลาออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อจะเตรียมสอบเข้าใหม่ ขณะเดียวกันในช่วงนั้นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็แตกกระจายกันไป หลายคนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมือง และถูกคุกคามจากรัฐ ทำให้มีบางส่วนหนีเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พ.ค.ท.) และในช่วงเดือนตุลาคม ปี 2520 อธึกกิตเองก็เป็นหนึ่งในนั้น

“เพื่อนที่เป็นฝ่ายวัฒนธรรมของอมธ. ที่โดนขังนานจนรุ่นสุดท้ายก่อนจะเหลือ 18 คนนั้น ตกลงกันว่าจะเข้าป่า ผมเลยไปด้วย คิดถึงขนาดจะส่งจดหมายหาแม่ว่า อีก 4-5 ปี จะกลับมาปักธงแดงกลางนคร”

“ผมเข้าป่าโดยไม่ได้รู้ด้วยซ้ำว่าในป่าเป็นเช่นไร มีแต่ภาพในจินตนาการว่ามีป่าเขา มีทหารถือปืน”

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจะแบ่งเขตงานกระจายอยู่ทั่วประเทศ ตามคำบอกเล่าของอธึกกิต ทางภาคเหนือจะมีเขตงานอยู่ที่เชียงราย พะเยา น่าน พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ทางอีสานจะอยู่ที่เลย สกลนคร เป็นส่วนใหญ่ ด้านทางใต้จะอยู่ที่นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง และอื่นๆ

โดยเขตที่อธึกกิตไปประจำอยู่คือที่ภูชี้ฟ้า เขต 8 จังหวัดเชียงราย เขตนี้ถือเป็นเขตทางผ่านและเป็นเขตที่ใช้ฝึกอบรมทำการเมืองการทหาร รวมถึงอบรมสหายชาวนาภาคเหนือ

“วันแรกที่ขึ้นไปพวกที่เป็นกองทหารปลดแอกมารับ ซึ่งก็เป็นเพื่อนๆ ธรรมศาสตร์ที่เขาเข้ามาก่อน แต่ส่วนใหญ่เป็นม้ง เดินกันวันเดียว จากนั้นเดินไปลาวอีกวันหนึ่ง พอไปถึงลาวจะมีท่าน้ำโขงที่สามารถขึ้นไปจีนได้ เพราะฉะนั้นเขตของผมคนจะผ่านเยอะ”

อธึกกิตกล่าวว่า ชีวิตในป่าของเขาแบ่งออกเป็นสองช่วง ในช่วงแรกเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างสนุก จากลูกชายที่อยู่กับพ่อแม่มาเสมอ จากนักศึกษาที่มีแต่ตำราและกิจกรรมภายใน ก็ได้มาเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างที่นี่ วงจรชีวิตเปลี่ยนไป มีทั้งการฝึกการเมือง-การทหาร เรียนรู้การเมืองลัทธิมากซ์-เลนิน (Marxism-Leninism) โดยวิเคราะห์เข้ากับสังคมไทยทั้งยุทธศาสตร์และยุทธวิธี ไปทำงานในหน่วยงานมวลชนบ้าง หรือทำอาสาในโรงเรียนอนุบาลก็มี ชีวิตในช่วงแรกจึงถือว่ามีความสุขดี

“ช่วงอยู่กองทหาร ผมมีฉายาที่เขาเรียกกันคือ ‘สหายลื่น’ หมายถึงลื่นระเบิดลั่น อุตส่าห์แบกกันไปตั้งไกล ข้ามคืนข้ามวัน จะไปวางทุ่นดักพวกรถคุ้มกันสร้างทาง ฝังแล้วด้วย พวกดูก็ดูกันไปมา ผมเลยเข้าไปดูด้วย เขารอแตะให้มันระเบิดตอนเช้า แต่ผมดันทะเล่อทะล่าไปแตะก่อน โดนแซวหมดทั้งกองร้อย แต่ก็โดนด่าด้วยเพราะอุตส่าห์แบกข้ามเขากันมา 20 กว่ากิโลฯ”

“กับอีกฉายาคือระเบิดหลง มีวันหนึ่งไปดักคุ้มกันการสร้างทาง แล้วเราขุดสนามเพลาะไว้เลยเวียนกันไปเข้าเวร ได้ยินเสียงคนเรียก ‘ศัตรูๆ’ สักพักได้ยินเสียงปืน แล้วเสียงอะไรสักอย่างตกลงป่าไผ่บนหลุมสนามจนระเบิด ผมแขนหักเจ็บไปสองสามเดือน ที่เรียกระเบิดหลงเพราะว่ามันไม่ได้ตั้งใจจะยิง มันไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพวกผมอยู่ตรงนั้น มันคงจะยิงตามแนวสันเท่านั้นเอง” อธึกกิตเล่าให้ฟังอย่างติดตลก

ชีวิตช่วงต่อมาคือช่วงขัดแย้งกับฝ่ายนำของ พ.ค.ท. พื้นที่ของพรรคคอมมิวนิสต์ในภาคเหนือเป็นเขตป่าเขา ซึ่งเป็นที่อาศัยของชนชาติส่วนน้อยที่ถูกกีดกันรังแกจากเจ้าหน้าที่รัฐมาโดยตลอด ในขณะเดียวกันคนพื้นราบก็ไม่ชอบใจ สิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเขาเข้าร่วมกับ พ.ค.ท. มาเนิ่นนาน

ปัญหากับฝ่ายนำเริ่มจากทางใต้ เนื่องจากสายนำของฝั่งทางใต้ค่อนข้างจะอัตตาสูง ตามคำบอกเล่าของอธึกกิต เพราะพวกเขาสร้างสิ่งที่เป็นอยู่ขึ้นมาด้วยตัวเอง จึงเกิดความรู้สึกระหว่างชาวนากับนักศึกษาว่า นักศึกษาพวกนี้เป็นปัญญาชน ตามทฤษฎีของพรรคคอมมิวนิสต์แล้ว ปัญญาชนเปรียบเสมือนนายทุนน้อย ต้องดัดแปลงตัวเองเป็นชนชั้นกรรมาชีพ นักศึกษาจึงดูอ่อนไหว โลเล ทำอะไรก็ไม่เป็น เข้าป่าจาก 100 คนมีเพียง 4-5 คนเท่านั้นที่ได้อยู่กองทหาร ฉะนั้น ปัญหาทางใต้กระทบก่อน จึงมีนักศึกษาบางส่วนย้ายไปอยู่ทางเหนือและทางอีสานมากขึ้น

ในส่วนเขตของอธึกกิต เขาเล่าว่าปัญหาอาจไม่ได้เกิดจากสายนำ แต่เกิดจากความกังขาในหลักการของพรรค หากว่าตามทฤษฎีของพรรคคอมมิวนิสต์แล้ว จะต้องยึดผลประโยชน์ของประชาชน ยกตัวอย่างเช่นการแบ่งที่ดินให้ชาวนาในยุคเหมาเจ๋อตงของจีนที่ทำให้ชาวนาได้ปัจจัยการผลิตคืนมา ซึ่งปัจจัยการผลิตในยุคนั้นเองก็มีเพียงแค่ที่ดินและแรงงาน แต่ในยุคหลัง 6 ตุลาฯ และบริบทของประเทศไทยนั้นมีหลายอย่างผสมปนเปกัน ทำให้กับนำแนวคิดนี้มาปรับใช้ถูกตั้งคำถาม เช่น การส่งคนไปอยู่ป่าเพื่อจะสร้างฐานที่มั่นสำหรับทำงานมวลชน ซึ่งการจะซุ่มอยู่ก็จำเป็นต้องอยู่อย่างยากลำบาก เพราะต้องคอยกลบเกลื่อนร่องรอย เป็นต้น

“ฐานที่มั่นที่ พ.ค.ท. ทำอยู่ตรงเขตงานม้งทั้งหมด ซึ่งตอนนั้นตลาดเริ่มเข้ามาแล้ว แทนที่พวกเขาจะปลูกอะไรได้แล้วนำไปแลกเปลี่ยนซื้อขายให้ชีวิตความเป็นอยู่มีความเจริญมากขึ้น แต่คุณกลับตัดประชาชนออกไปจากวงจรผลิต ปัญหาแบบนี้เริ่มมีมาให้เห็น มันไม่ประสบความสำเร็จ จึงเกิดคำถามมากมายว่าการปรับใช้ทฤษฎีนี้ถูกต้องแล้วหรือไม่”

“สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์หลายคนจริงๆ เขามีอุดมการณ์สูง เพียงแต่เขาไม่เข้าใจโลกที่มันเปลี่ยนไป พอถึงที่สุดแล้ว ทฤษฎีสังคมนิยมไปพลาดการทำทุกอย่างสุดขั้ว ทำให้เผด็จการดูเป็นเผด็จการคนดี ทุกคนต้องทำตามทฤษฎี ต้องเข้มข้น ถ้าไม่เข้มข้นอุดมการณ์จะถูกทำลายและถือว่าคุณผิด อันนี้เป็นปัญหา อย่างเหมา เพื่อนร่วมปฏิวัติก็ตายกันเยอะ ฉะนั้นมันจึงสะท้อนให้เห็นว่าแนวคิดนี้นำไปสู่ความโน้มเอียงแบบนั้น”

ด้วยสถานการณ์ที่เป็นอยู่หลายอย่างทั้งปัจจัยภายในพรรคเอง รวมถึงปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ไม่ได้เอื้อต่อการดำรงอยู่ของพรรค ประกอบกับรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาได้ยุตินโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์ และใช้การเมืองนำทหาร ทำให้นักศึกษาที่หนีเข้าป่าในตอนนั้นเริ่มทยอยออกจากป่า แล้วกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ

อธึกกิตกล่าวว่า เขาแบ่งช่วงเวลาชีวิตของตัวเองออกเป็นสามช่วง คือ ช่วงที่อยู่ธรรมศาสตร์ ช่วงอยู่ป่า และช่วงที่กลับเข้ามาอยู่ในเมือง หลังจากออกจากป่าชีวิตของเขาเคว้งคว้างไปพักหนึ่ง เพราะเหมือนอุดมการณ์ที่ต้องการจะปฏิวัติประเทศถูกดับลง เปรียบเหมือนปีนขึ้นไปบนยอดเขา เข้าใกล้ดวงดาวมากขึ้นแล้ว แต่ท้ายสุดก็ต้องกลับมาเดินอยู่ริมถนนดังเดิม

“มันเคว้งคว้าง ไม่มีความหมาย ไม่มีจุดหมายอะไรเลย คิดแต่ว่า เพื่ออะไร เรียนก็ไม่จบ ทำโรงพิมพ์ก็เจ๊งเพราะไม่มีกะจิตกะใจทำ ทำอะไรก็ดูไม่ใช่ตัวเอง เสาร์-อาทิตย์ว่างก็ไปแต่เล่นไพ่ดรัมมี่กับสหายเก่า”

ว่าด้วยความเป็น ‘คนเดือนตุลาฯ’

หลังจากใช้ชีวิตเคว้งคว้างอยู่นาน อธึกกิตก็ได้มีโอกาสย้ายไปทำงานที่หนังสือพิมพ์แนวหน้า ตอนนั้นเองที่เขาเริ่มรู้สึกถึงตัวตนของตัวเอง คล้ายกับค้นพบงานที่รัก เขากล่าวว่าเขาชอบการทำหนังสือพิมพ์ เพราะเหมือนได้มีบทบาท มีจุดที่ได้พยายามทำอะไรเพื่อสังคมบ้าง ดังนั้น เขาจึงทำงานในแวดวงสื่อเรื่อยมา และกลายเป็น ‘อธึกกิต แสวงสุข’ หรือ ‘ใบตองแห้ง’ ที่หลายคนรู้จักอย่างปัจจุบัน

อธึกกิตกล่าวว่า ในรุ่นคนตุลาฯ ด้วยกันอาจรู้สึกว่าอธึกกิตเป็นตัวแทนของพวกเขา เนื่องจากเขาเป็นปลายแถวของขบวนการนักศึกษา เข้าป่าไปก็ไม่ได้เป็นนักรบหรือโดดเด่นอะไร อยู่อย่างธรรมดามาเสมอ ดังนั้น การทำงานสื่อของเขาจึงทำเพราะอุดมการณ์ที่เคยมี ถ่ายทอดกับสังคมในสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้น และเป็นตัวแทนของคนตัวเล็กตัวน้อยในฐานะสื่อ

กระนั้นก็ตาม แม้ผู้ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นคนเดือนตุลาฯ จะผ่านเหตุการณ์เลวร้ายมาด้วยกันมากมาย แต่อธึกกิตอธิบายความเป็นคนเดือนตุลาฯ ว่า แต่ละคนล้วนมีแนวทางเป็นของตนเองมาตั้งแต่ต้น

ก่อน 14 ตุลาฯ การเข้ามาอยู่ในขบวนการนักศึกษาของหลายๆ คนล้วนแตกต่าง แม้แต่ตอนเข้าป่าเองก็ตาม อธึกกิตมองว่า หลายต่อหลายคนต้องเข้าป่าเพราะถูกไล่ล่า อย่างตัวเขาเอง ถ้า 6 ตุลาฯ ไม่เกิดขึ้น เขาคงเป็นเพียงนักศึกษาที่ถูกรีไทร์และมาสอบเอนทรานซ์ใหม่ ใช้ชีวิตตามปกติ ไม่ได้มีเหตุอะไรให้ต้องเข้าป่าไป ดังนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าป่าจะคิดเหมือนกันหมด ความล่มสลายของอุดมการณ์สังคมนิยมทำให้ทุกคนกระจัดกระจาย

เช่นในการเมืองปี 2549 คนตุลาฯ หลายคนคิดเห็นต่างกัน อธึกกิตอธิบายว่า อันดับแรก ต้องเข้าใจความคิดของคนตุลาฯ คนตุลาฯ หลายคนสมาทานแนวคิดเผด็จการคนดี เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ หรือการเห็นความสำคัญของประชาธิปไตยทุนนิยม ไม่มองว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุด แต่อะไรคือสิ่งที่แย่น้อยที่สุด อธึกกิตจึงมองว่าการปฏิเสธประชาธิปไตยของคนที่ออกจากป่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าสงสัย

“เพราะฉะนั้น ผมขออธิบายว่ามันมีหลายความคิด บางคนกลายเป็นนักการเมืองไปแล้ว ‘ตุลาฯ’ จึงเป็นแค่ประวัติส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเขา เผลอๆ มันแค่สี่ปีด้วยซ้ำ ทุกคนต่างก็มีชีวิตที่แตกต่าง มุมมองความขัดแย้งต่างๆ มันเป็นเรื่องพื้นฐาน”

“เมื่ออายุมากขึ้น บางคนอาจจะลืมด้านที่ตัวเองโตมากับความคิดเสรี ที่จริงมันต้องอยู่ระหว่างกัน ต้องถ่วงระหว่างเสรีภาพกับความเป็นธรรม ถ้าคุณคิดแต่จะเอาความเป็นธรรม เอาเผด็จการคนดีก็ได้ เอาอะไรก็ได้ นี่มันไม่ใช่แล้ว เราเคยถลำมาแล้วตอนเป็นสังคมนิยม ดังนั้นเสรีภาพมันต้องพยุงคู่ไปกับความเป็นธรรมได้”

47 ปี 6 ตุลาฯ

เป็นเวลาเกือบ 50 ปีแล้วที่ประวัติศาสตร์เลือดยังไม่ได้ถูกชำระความยุติธรรมแก่เหยื่ออย่างที่ควรจะเป็น กลับกันความเป็นประชาธิปไตยในประเทศไทยก็ยังคงกระท่อนกระแท่นเสมอมา เหตุการณ์ในครั้งนั้นอาจเป็นเหตุการณ์ที่ตะกอนอยู่ในจิตใจคนตุลาฯ หลายคนเพียงเท่านั้น

ในความคิดของอธึกกิตเอง ครบรอบ 47 ปีเดือนตุลานี้ สิ่งที่เขาอยากเห็นมากที่สุดคือ การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ถูกเพิ่มโทษจากจำคุกไม่เกินเจ็ดปี มาเป็น จำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี โดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ภายหลังการล้อมปราบนักศึกษาธรรมศาสตร์และรัฐประหารเพียงสามสัปดาห์

“มาตรา 112 เป็นมรดกบาป เพราะทุกวันนี้เราตระหนักแล้ว เรื่องละครแขวนคอเป็นการให้ร้าย ทุกคนรู้แล้ว เพราะฉะนั้นแสดงว่า มาตรา 112 ที่เพิ่มโทษมานี้ มันถูกเพิ่มโทษมาจากมูลฐานของการบิดเบือน ไม่ใช่ว่าเป็นสิ่งที่นักศึกษาทำเพื่อปลุกความเกลียดชัง”

“เพื่อนเราถูกลากศพไปตามสนามหลวง ถูกเผายาง ถูกแขวนคอเอาเก้าอี้ฟาด ทั้งหมดนี้เกิดจากความเกลียดชังโดยอาศัยการบิดเบือนก่อน แล้วเอาการบิดเบือนนี้มาเพิ่มโทษให้มาตรา 112 ซึ่งอยู่ต่อมาถึง 47  ปีโดยที่ไม่มีใครคิดจะลบล้างผลพวงนี้เลย”

อธึกกิตมองว่า พ.ร.บ. เกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ถูกยกเลิกไปได้หลายฉบับ รวมถึงกฎหมายอื่นๆ เช่นกัน แล้วเหตุใดกฎหมายข้อนี้ที่เกิดจากคำสั่งของคณะรัฐประหารจะถูกยกเลิกหรือแก้ไขไม่ได้ มาตรา 112 ควรถูกนำมาพิจารณาใหม่ในโลกปัจจุบัน สถาบันไม่สามารถรักษาไว้ได้ด้วยความกลัวอีกต่อไป ประเทศไทยควรจะวิวัฒนาการให้เทียบเคียงกับประเทศในยุโรป ที่ธำรงไว้ซึ่งสถาบันแต่ไม่ใช้กฎหมายในการคุกคามประชาชน ฉะนั้น จึงควรมีการเรียกร้องสนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 มากขึ้น

อีกประเด็นหนึ่งคือ ฝ่ายปกครองจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับบริบทสังคมปัจจุบัน มองความสำคัญของประชาธิปไตยใหม่ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงหลัง 6 ตุลาฯ ที่ขบวนการนักศึกษาเข้าป่าไปไม่นาน รัฐก็สามารถเอาชนะพรรคคอมมิวนิสต์ได้ ซึ่งไม่ใช่การเอาชนะด้วยการปราบปรามเหมือนสมัยก่อน แต่เป็นรัฐที่ยอมปรับตัว โดยกระทำการรัฐประหารซ้อนแล้วพลิกกลับมาประกาศใช้ยกร่างรัฐธรรมนูญ ประกาศให้มีการเลือกตั้ง และนิรโทษกรรมผู้ต้องหาคดีการเมือง ทั้งหมดนี้ กลายเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ ซึ่งรัฐสามารถชนะด้วยการเมือง ไม่ใช่กฎหมายหรือกำลังทหาร

“ผมคิดว่าการแก้ปัญหาปากท้องอย่างที่กำลังพูดอยู่ ถ้าจะทำอย่างนั้นจริง คุณต้องกลับไปทำให้การเมืองอยู่ในระบบรัฐสภา ล้างเรื่องเก่าให้หมด นิรโทษกรรมคดีการเมืองทั้งหมด เริ่มทำให้เข้าไปสู่ภาวะปกติ ความโกรธแค้นต่างๆ มันจะลดลงเอง เพราะทุกคนดูจะสิ้นหวังกับระบบรัฐสภา”

แม้อธึกกิตจะมองว่าอำนาจในยุคนี้ค่อนข้างสัมบูรณ์ คล้ายกับอำนาจทุกอย่างถูกผนึกรวมกัน ในสมัยที่พรรคคอมมิวนิสต์ยังอยู่ หากผู้มีอำนาจกระทำอันใดไม่ดี พรรคคอมมิวนิสต์ก็จะยิ่งเติบโต แต่ในตอนนี้ไม่มีเช่นนั้น อำนาจในปัจจุบันอยู่ในยุคที่อำนาจนิยมบนโลกรุนแรงพอสมควร สิ่งนี้อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้มีอำนาจไม่ได้แยแสต่อประชาชน แต่อธึกกิตไม่คิดว่าพวกเขาจะสามารถประคองแบบนี้ไปได้ตลอด

“พอมีคนถามผมว่ารัฐบาลนี้จะอยู่ถึงสี่ปีหรือไม่ ผมคิดว่าก็คงจะอยู่ถึงสี่ปี แต่ตอนปี 2562 เราคิดหรือไม่ว่ามันจะมี ‘ม็อบ 63’ คุณเคยคิดว่าคุณจะเห็นภาพแบบนั้นไหม”

“ผมเองก็ไม่เคยคาดคิดนะว่ามันจะเกิดขึ้น”

อธึกกิตทิ้งทวนไว้

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Thai Politics

20 Jan 2023

“ฉันนี่แหละรอยัลลิสต์ตัวจริง” ความหวังดีจาก ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงสถาบันกษัตริย์ไทย ในยุคสมัยการเมืองไร้เพดาน

101 คุยกับ ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงภูมิทัศน์การเมืองไทย การเลือกตั้งหลังผ่านปรากฏการณ์ ‘ทะลุเพดาน’ และอนาคตของสถาบันกษัตริย์ไทยในสายตา ‘รอยัลลิสต์ตัวจริง’

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

20 Jan 2023

Thai Politics

9 Jun 2021

ชาติ ศาสน์ กษัตริย์และประชาชน: ว่าด้วยคำในป้ายหน้าค่ายทหาร

คอลัมน์ สารกันเบื่อ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง ชวนตั้งคำถามกับชุดคำ ‘เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน’ ที่สลักอยู่บนป้ายหินอ่อนที่ปรากฏอยู่ทุกหน้าค่ายทหารว่า กองทัพกำลังปกป้องอะไรอยู่กันแน่?

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

9 Jun 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save