fbpx

‘Uncountable Time’: มอบลมหายใจ ให้พื้นที่แก่ประวัติศาสตร์แห่งความทรงจำ กับ อริญชย์ รุ่งแจ้ง

อริญชย์ รุ่งแจ้ง

วลีที่ว่า ‘ประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกบันทึก’ หากฟังอย่างผิวเผินคงจะเป็นวลีที่ขัดแย้งกันเอง เพราะเราเชื่อว่าด้วยความเป็นภววิสัยของประวัติศาสตร์คือการจดบันทึกความจริงที่เกิดขึ้น และความจริงควรมีเพียงหนึ่งเดียว แต่วลีดังกล่าวคือสิ่งแรกที่ปรากฏขึ้นมาในสำนึกหลังเข้าชมนิทรรศการ ‘Uncountable Time’ จัดแสดงที่หอศิลป์บ้านจิมทอมป์สัน (Jim Thompson Art Center) ผ่านผลงาน 3 ชิ้นจาก 4 ศิลปิน ประกอบด้วย นนทวัฒน์ นำเบญจพล, กฤติภัทร ฐานสันโดษ, รุ่งเรือง สิทธิฤกษ์ และวิริยะ โชติปัญญาวิสุทธิ์ โดยมีอริญชย์ รุ่งแจ้ง เป็นภัณฑารักษ์ (curator)

นิทรรศการ ‘Uncountable Time’ เป็นนิทรรศการที่สะท้อนให้เห็นว่าผลพวงจากการเมืองหรือการพัฒนาเมืองไม่ได้ส่งผลเพียงแต่ประวัติศาสตร์ของประเทศ แต่ผลพวงเหล่านั้นยังส่งผลกับความทรงจำของผู้คนตัวเล็กตัวน้อยทั่วไป ซึ่งในแง่หนึ่ง ความทรงจำเหล่านั้นก็เป็นดั่งประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยถูกจดบันทึก หรือบางทีเป็นรัฐเองนี่ล่ะ ที่ต้องการลบประวัติศาสตร์แห่งความทรงจำเหล่านั้นออกจากสำนึกของผู้คน

101 ชวน อริญชย์ รุ่งแจ้ง ในฐานะ ภัณฑารักษ์ (curator) ของนิทรรศการ ‘Uncountable Time’ สนทนาว่าด้วยเบื้องหลังแนวคิดในการผสานและจัดวางผลงานของศิลปินทั้งสี่คนมาจัดแสดงร่วมกัน และเขามองก้าวต่อไปของวงการศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยอย่างไรบ้าง


หมายเหตุ : นิทรรศการ Uncountable Time ผลงานของนนทวัฒน์ นำเบญจพล, กฤติภัทร ฐานสันโดษ, รุ่งเรือง สิทธิฤกษ์ และวิริยะ โชติปัญญาวิสุทธิ์ โดยมีอริญชย์ รุ่งแจ้ง เป็นภัณฑรักษ์ (curator) จัดแสดงที่หอศิลป์บ้านจิมทอมป์สัน (Jim Thompson Art Center) ระหว่างวันที่ 11 มีนาคม – 30 มิถุนายน 2023

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2566

การเปลี่ยนบทบาทของอริญชย์ รุ่งแจ้ง จากศิลปินสู่ภัณฑารักษ์

อริญชย์ รุ่งแจ้ง นับว่าเป็นศิลปินร่วมสมัยที่น่าจับตามอง ก่อนหน้านี้อริญชย์เคยจัดแสดงผลงานที่มหกรรมศิลปะนานาชาติ Documenta ครั้งที่ 14 ที่เมืองคาสเซล (Kassel) ประเทศเยอรมัน สำหรับการจัดแสดงนิทรรศการครั้งล่าสุดอย่าง ‘Uncountable Time’ จัดแสดงที่หอศิลป์บ้านจิมทอมป์สัน (Jim Thompson Art Center) เขาพลิกบทบาทตนเองจากศิลปินมาสู่การเป็นภัณฑารักษ์ (curator) ในการร้อยเรียงผลงานของศิลปินทั้งสี่ โดยอริญชย์มองว่าการทำงานศิลปะในฐานะศิลปินนั้น เขามักจะหยิบยกเรื่องราวความคิดส่วนตัว (subjective) มาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะ แต่เมื่อเขาเปลี่ยนบทบาทมาเป็นภัณฑารักษ์ก็ย่อมแตกต่างออกไป หน้าที่ของเขาคือการช่วยศิลปินดูผลงานในภาพรวม คัดสรรให้ผลงานชิ้นต่างๆ มาอยู่ด้วยกันแล้วสามารถสร้างความหมายและขยายความหมายได้

“ถ้าผลงานศิลปะเป็นเพียง ‘collection of things’ ผลงานแต่ละชิ้นก็อาจจะไม่มีความหมาย คำถามคือเราจะทำอย่างไรให้สร้างความหมาย อารมณ์ความรู้สึกมากที่สุด ที่ผ่านมาก็มีแนวคิดอย่าง ‘สภาวะรวมตัว’ (Assemblage) คือมองว่าศักยภาพของงานศิลปะแต่ละชิ้น เมื่อนำมาจัดแสดงร่วมกัน งานศิลปะจะส่งเสริมกัน สร้างเสียงสะท้อน และขยายความหมายของผลงานออกมา

“สำหรับการทำงานระหว่างศิลปินกับภัณฑารักษ์นั้นคาบเกี่ยวกันอยู่แล้ว บางครั้งการรับรู้ของมนุษย์ไม่สามารถรับรู้หรือมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน การรับรู้ของศิลปินก็เช่นกัน เพื่อให้งานศิลปะสามารถสะท้อนความคิดของผู้สร้างได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นการมีเพื่อนร่วมงานอย่างภัณฑารักษ์เองก็จะช่วยดูและช่วยมองในสิ่งที่ทำ หากพูดอย่างเข้าใจคือศิลปินมีหน้าที่ทำลายม่านกั้นระหว่างการรับรู้ภายในกับภายนอก ส่วนภัณฑารักษ์มีหน้าที่ช่วยดูผลงานนั้น”

‘ศิลปินมีหน้าที่ทำลายม่านกั้นการรับรู้ระหว่างการรับรู้ภายในกับภายนอก’ อะไรคือม่านกั้นนั้น? เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น อริญชย์จึงหยิบยกประโยคหนึ่งของ อ็องรี แบร์กซอน (Henri Bergson) นักปรัชญาและนักเขียนชาวฝรั่งเศสมาตอบคำถาม โดยอ็องรีกล่าวว่า หากวันนี้พวกเราสามารถจดจำภาพต่างๆ ได้ และสามารถทำให้ภาพเหล่านั้นเกิดขึ้นมาใหม่ในห้วงสำนึกอย่างไร้ที่ติ หรือหากเรามองไปยังซากปรักหักพังของประติมากรรมแล้วสามารถนึกถึงตอนที่สมบูรณ์ของมันได้ นั่นแปลว่าความจริงและจิตสำนึกของตัวเราสอดคล้องไปด้วยกันแบบไม่มีอะไรมาปิดกั้น

แต่ในความเป็นจริงหลายครั้งไม่เป็นเช่นนั้น ศิลปินจึงเป็นผู้ที่พยายามทำให้ม่านหนาทึบที่กั้นระหว่างตัวเราและความจริงบางลง บางลง บางลง จนเขาใช้คำว่า ‘แทบจะโปร่งใส’

“ทุกอย่างที่เป็นศิลปะมันก็เป็นเรื่องราวของมนุษย์ทั้งนั้นแหละ แต่เมื่อมนุษย์หรืองานศิลปะต่างอยู่ในพื้นที่สาธารณะ แปลว่าทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานของข้อตกลงร่วมกันภายในสังคม เราถึงต้องถอยความเป็นส่วนตัวเหล่านั้นออกมา”

สำหรับอริญชย์ การที่ศิลปินมักแสดงความเห็นส่วนตัวผสมผสานไปในการทำงานศิลปะ เป็นผลมาจากข้อจำกัดของระบบภาษา หลายครั้งเมื่อต้องแสดงความรู้สึกหรือความทรงจำออกมา ภาษาไม่สามารถสื่อสารแทนได้หมด เราใช้ระบบภาษาแสดงออกทางความรู้สึกได้เพียงบางส่วน เทียบกันแล้ว การเลือกฟังเพลงตอนเสียใจ ยังอาจทำให้มนุษย์แสดงออกทางอารมณ์ได้มากกว่า เพราะความดังเบา จังหวะ และความถี่ของเพลงล้วนแล้วแต่เป็นการเรียบเรียงให้สื่อสารกับความรู้สึกของมนุษย์ ศิลปะทำหน้าที่รองรับความรู้สึกเช่นนั้น หากวันนี้ไม่มีศิลปะ มนุษย์อาจจะเหี่ยวเฉา

ทั้งหมดนี้จะกล่าวว่า ‘ศิลปะมีหน้าที่รับใช้มนุษย์’ ก็คงไม่เกินเลยไปนัก แม้หลายคนอาจมองว่าผลงานศิลปะหลายชิ้นที่อริญชย์คัดสรรมาจัดแสดงในนิทรรศการคราวนี้เป็นผลสะท้อนจากการเมือง แต่อริญชย์มองว่า หากเรามองการเมืองเป็นเงื่อนไขในการทำงานศิลปะ เราคงจะไม่มีวันทำงานศิลปะที่ดีได้ และในวันนี้ที่เหล่าศิลปินต่างหยิบยกประวัติศาสตร์ทางการเมืองมาบอกเล่าไม่ใช่การรับใช้การเมือง แต่ศิลปินนั้นรับใช้มนุษย์ด้วยกัน  

‘Uncountable Time’


นิทรรศการ ‘Uncountable Time’ จัดแสดงที่หอศิลป์บ้านจิมทอมป์สัน (Jim Thompson Art Center) เป็นหนึ่งในนิทรรศการจากโครงการตั้งแต่ช่วงหอศิลป์กลับมาเปิดใหม่หลังจากการปิดปรับปรุง จุดเริ่มต้นของนิทรรศการนี้มาจากการเปิดให้ศิลปินเสนอโครงการจัดแสดงภายใต้ 2 หัวข้อ ประกอบด้วย Future Tense และ Future Projects

โครงการแรกอย่าง Future Tense เป็นนิทรรศการเปิดครั้งแรกของหอศิลป์ โดยมีศิลปินจากหลากหลายประเทศมาร่วมจัดแสดงผลงาน แนวคิดของนิทรรศการครั้งนั้นเป็นแบบ ‘open for all’ กล่าวคือเปิดให้ศิลปินทุกคนมีโอกาสเสนอโครงการเข้ามา และอริญชย์ รุ่งแจ้ง ก็มีโอกาสเป็นคณะกรรมการคัดเลือกครั้งนั้น

ส่วนอีกหัวข้อหนึ่งคือ Future Projects เป็นการให้ศิลปินเสนอโครงการเข้ามาเช่นกัน แตกต่างเพียง Future Projects จะเป็นการจัดนิทรรศการเดี่ยว

“คุณเจี๊ยบ (กฤติยา กาวีวงศ์ – ผู้อำนวยการหอศิลป์บ้านจิมทอมป์สัน) มีความคิดที่จะให้ทั้งสองโครงการนี้มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับชีวิตของจิม ทอมป์สัน ก็เลยใช้แนวคิดเรื่อง ‘สงครามเย็น’ มาเป็นหัวข้อในการเชื้อเชิญศิลปินมาสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน”

สำหรับนิทรรศการ ‘Uncountable Time’ เป็นนิทรรศการที่ประกอบด้วยผลงาน 3 ชิ้นจากศิลปินทั้ง 4 ท่าน สะท้อนถึงประวัติศาสตร์นอกการจดบันทึก ทั้งเรื่องจากจิตสำนึกของคนตัวเล็กตัวน้อย และประวัติศาสตร์ที่รัฐอาจไม่อยากให้ใครจดจำ

นิทรรศการนี้พยายามเผยให้เห็นถึงความสำคัญว่าการจดบันทึกแบบวิทยาศาสตร์ที่ต้องใช้หลักฐานหรือสามารถสืบเสาะไปยังต้นตอสาเหตุ ไม่ได้เป็นแนวทางเดียวสำหรับการจดบันทึกประวัติศาสตร์ แต่ยังมีการจดบันทึกอีกแบบคือ การส่งต่อเรื่องเล่า หรือเรื่องราวส่วนตัว กล่าวคือหลายครั้งความทุกข์ ความทรงจำ การอาลัยอาวรณ์ ความห่วงหา เป็นสิ่งที่โลกวิทยาศาสตร์ไม่ได้ยอมรับ นิทรรศการนี้ต้องการให้ความเป็นจริงอีกแบบได้หายใจ ให้ความทรงจำเหล่านั้นมีที่หยัดยืนให้พวกเขาแสดงความรู้สึกนึกคิดของตนเองออกไป

ผลงานชิ้นแรกเป็นผลงานของ นนทวัฒน์ นำเบญจพล และ กฤติภัทร ฐานสันโดษ พูดถึงเรื่องราวของครอบครัวหนึ่ง ซึ่ง ‘ความจริง’ ของพวกเขาถูกทำให้กลายเป็นความเท็จ จนความทรงจำและร่างกายอาจต้องหายไปในอนาคต โดยไม่มีใครจดจำได้ พวกเขาจะถูกลบหายไปจากการเขียนประวัติศาสตร์ของผู้มีอำนาจ

“เพลโต เคยกล่าวไว้ว่า ‘การเขียนเป็นเหมือนยาพิษของความทรงจำ’ เมื่อการเขียนเหล่านั้นตกไปอยู่ในมือของผู้มีอำนาจ ผู้มีอำนาจเหล่านั้นมักจะทำลายความปัจเจก โดยบังคับให้เราใช้ชีวิตให้เป็นไปตามนั้น ถามว่าเป็นเรื่องปกติไหม คำตอบคือปกติมาก แต่ยังมีการเขียนบางอย่างไม่ถูกนับรวมอยู่ในการเขียนหลักด้วย คือความทรงจำ เรื่องเล่าส่วนตัว อย่างในนิทรรศการนี้ ผลงานของของ นนทวัฒน์ นำเบญจพล และ กฤติภัทร ฐานสันโดษ แสดงให้เห็นว่างานเขียนที่มาจากผู้มีอำนาจ สิ่งที่พวกเขาทำอยู่เสมอคือ ‘การลบความทรงจำของผู้แพ้’ ไม่ว่าใครก็ตามที่ไม่สอดคล้องกับการเขียนหลัก ผู้มีอำนาจจะลบและบังคับให้เป็นไปตามพวกเขา

“ผลงานของ นนทวัฒน์ และ กฤติภัทร สอดคล้องกับผลงานของรุ่งเรือง สิทธิฤกษ์ ที่ต้นตระกูลของเขาเป็นชาวเหนือ สิ่งหนึ่งที่ความสมัยใหม่จะทำได้คือการเชื่อมต่อเมืองให้ถึงกัน เพราะฉะนั้นการมาถึงของ ‘ถนนมิตรภาพ’ ในช่วงเวลานั้นไม่ได้เป็นเพียงสร้างให้การคมนาคมสะดวก แต่ยังเป็นการขยายโครงสร้างของเมืองและประเทศ

“การขยายเมืองนั้นส่งผลให้พ่อแม่และน้าของรุ่งเรือง ซึ่งเคยเป็นคนทำไร่ในต่างจังหวัดต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตมาสู่การขับรถส่งผลไม้จากภาคเหนือมายังเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ และเขาก็ใช้ชีวิตเช่นนั้นมาตลอด เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงไม่มีเจตจำนงเสรี (free will) พวกเขามองเห็นเพียงภาพทิวทัศน์ที่อยู่ตรงหน้าของเขาตลอดทั้งชีวิต และทั้งหมดล้วนเกิดจากการเขียนของเมือง การเขียนของคนกลุ่มหนึ่ง ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าชะตาชีวิตเช่นนี้กลายเป็นอุปสรรคภายในความทรงจำของศิลปิน”

สำหรับงานชิ้นสุดท้ายนั้นเป็นผลงานของวิริยะ โชติปัญญาวิสุทธิ์ ซึ่งแตกต่างออกไปจากงานทั้งสองชิ้นก่อนหน้าที่เป็นศิลปะแบบจัดวาง ผลงานของวิริยะเป็นภาพถ่าย ซึ่งอริญชย์ รุ่งแจ้ง มองว่าภาพถ่ายเหล่านั้นไม่ได้ทำหน้าที่หลักของมันคือการบันทึกความจริง แต่กำลังจะสร้างความหมายมากกว่านั้น

“ด้วยภาพถ่าย หลายคนมองว่าเป็นการแสดงความจริง และผลิตซ้ำความจริงอีกครั้ง แต่วิริยะไม่ได้ใช้ภาพถ่ายในหน้าที่เช่นนั้น เขาใช้ภาพถ่ายในการบันทึกความเป็นจริงที่ไม่มีความหมายและความสำคัญ

“ผลงานของวิริยะชิ้นนี้เปรียบเหมือนกวีของ Wallace Stevens ชื่อ ‘anecdote of the jar’ ในบทกวีนี้พูดถึงเหยือกที่ตั้งอยู่กลางป่า ในขณะที่ไม่มีเหยือก สรรพสิ่งในป่าต่างสื่อสารและส่งต่อกันเพื่อทำให้เกิดความหมาย แต่เราไม่ได้นึกถึงการเชื่อมต่อของความหมายในสิ่งต่างๆ ในป่า แต่เมื่อนำเหยือกไปตั้งในป่า ซึ่งเหยือกไม่ได้มีความสัมพันธ์กับความหมายของสิ่งอื่นเลย แต่ทำให้เรามองเห็นการเชื่อมสัมพันธ์ของโครงสร้างทั้งหมดที่อยู่ในป่า ดังนั้นในขณะที่ตัวเหยือกไม่มีความหมาย ก็กลายเป็นศูนย์กลางของความหมายในทุกสิ่ง

“ผลงานของวิริยะเองก็พูดถึงสิ่งที่ตัวมันเองอาจไม่มีความหมาย แต่กลับถูกปฏิบัติราวกับเป็นความหมายของสิ่งทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ แมลงปอ เหมือนกับชีวิตเราที่ถูกเขียนให้มีหน้าที่หรือมีบทบาทบางอย่าง และทุกคนก็ยึดถือมันว่ามันมีความหมายและเป็นความจริงบางอย่าง ทั้งที่มันเป็นความจริงที่เส็งเคร็ง น่าเบื่อ และต้องดิ้นรน แต่จะมีบางช่วงของชีวิตที่เราหลุดออกมาจากความจริง เช่น การฝันกลางวัน เพ้อฝัน ที่ทำให้เราเห็นถึงความหมายของความเป็นจริง ดังนั้นในงานชิ้นนี้มันไม่ได้พูดถึงความเป็นจริงที่ชัดเจน แต่เขาพูดถึงความเป็นจริงที่ไม่ได้มีความหมาย แต่เราใช้มันเป็นจุดศูนย์กลางของความหมายทุกสิ่ง”

ก้าวต่อไปของวงการศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย

ตลอดการทำงานในฐานะศิลปินของอริญชย์ รุ่งแจ้ง เขาเปรียบเหมือนประจักษ์พยานแห่งความเปลี่ยนแปลงของศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย อริชย์เล่าว่าก่อนหน้านี้การจัดแสดงงานศิลปะส่วนใหญ่มักถูกจัดแสดงในพื้นที่ทางเลือก อย่าง Project 304 พื้นที่เหล่านั้นเรามักจะเรียกว่า ‘พื้นที่ทางเลือก (alternative space)’ ที่เป็นพื้นที่รวมของผู้สร้างสรรค์ผลงานและไม่ถูกตีกรอบโดยสถาบันศิลปะใดๆ

“ก่อนหน้านี้ทุกคนมีความเป็นสถาบัน (institutional) มาก ดังนั้นการเกิดขึ้นของพื้นที่ทางเลือกเป็นพื้นที่หนึ่งที่ให้ความหลากหลายมาเจอกัน”

‘ความเป็นสถาบัน’ ตามคำของอริญชย์ คือกรอบความคิดหรือภาพจำที่ถูกปลูกฝังตามสังกัดสถาบันการศึกษา เช่น อยู่มหาวิทยาลัยนี้ ต้องทำงานศิลปะเช่นนี้ การเกิดขึ้นของพื้นที่ดังกล่าวเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของความคิดแบบร่วมสมัยในประเทศไทย โดยพยายามให้ทุกคนมีเสรีภาพในการสร้างสรรค์ผลงาน

นอกจากการสร้างสรรค์ ยุคสมัยนี้ทุกคนยังสามารถเข้าถึงพื้นที่งานศิลปะอย่างเสรีมากขึ้น ณ ปัจจุบันวงการศิลปะไม่ได้มองเห็นเฉพาะผู้ชมในหอศิลป์เท่านั้น แต่พื้นที่จัดแสดงงานได้ขยับขยายไปถึงในพื้นที่โซเชียลมีเดีย ทำให้คนเข้าถึงงานศิลปะได้ ผู้เสพงานศิลป์มีเสรีภาพในการเสพมากขึ้น และศิลปินเองก็สามารถสร้างสรรค์งานที่หลากหลายด้วยเช่นกัน กล่าวได้ว่า จากการแสดงผลงานศิลปะในสถาบันอย่างพิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัย หรือพื้นที่ทางเลือกเองก็ตาม ก็นำมาสู่การเกิดขึ้นของพื้นที่เสมือน (virtual space) เพิ่มเติม

สำหรับก้าวต่อไปของวงการศิลปะในประเทศไทย อริญชย์ตั้งคำถามกลับมาว่า ‘คิดว่าเราจะกลายเป็นอะไรได้จากความบูดเบี้ยวเช่นนี้ คำตอบคือหลากหลายมาก’ เขาขยายความว่าทั้งหมดขึ้นอยู่กับสังคมไทยเองจะหาโอกาสอะไรจากสังคมที่บูดเบี้ยวและเต็มไปด้วยปัญหารอการแก้ไข ส่วนตัวเขามองว่าด้านหนึ่งอาจจะเป็นข้อดีที่ทำให้งานศิลปะมีความลุ่มลึกมากขึ้น

“ถ้าผมไม่ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ ผมคงไม่ได้สนใจเรื่องจิตสำนึก ความรู้สึก ความทรงจำ หรือการสร้างความชอบธรรมในกับคนตัวเล็กตัวน้อย

“ในทวีปยุโรป เรื่องราวที่ผมสนใจมันไม่สำคัญแล้ว เพราะเขาก้าวข้ามไปถึงเรื่องเทคโนโลยี หรือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แล้ว เพราะโครงสร้างหรือระบบในประเทศของเขาชัดเจน ไม่บิดเบี้ยว ถ้าวันนี้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่ไม่บิดเบี้ยว เรามีตัวแทนจากประชาชนมาช่วยกันเขียนกติกา ก็อาจจะนำไปสู่โครงสร้างใหม่ได้ แต่วันนี้ผู้ครองอำนาจไม่ฟังเราและบีบให้เราเป็นไปดั่งบทที่เขาเขียนเท่านั้น”

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save