fbpx
เก่งแต่เกิด vs เก่งเพราะฝึกฝน?

เก่งแต่เกิด vs เก่งเพราะฝึกฝน?

ความเชื่อเรื่องคนเราเก่งมาแต่เกิดหรือเก่งจากการฝึกฝนกันแน่ เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาช้านานในโลกตะวันตกนะครับ อย่างน้อยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ก็ชัดเจนมาตั้งแต่ราว 150 ปีที่แล้ว และเมื่อพูดถึงเรื่องนี้ขึ้นมาทีไร ก็ต้องเอ่ยถึงชื่อคนคนนี้ครับ ฟรานซิส กอลตัน (Francis Galton)

คุณทวดกอลตันนี่ไม่ธรรมดานะครับ แกเกิดในปี 1822 และอายุยืนทีเดียวเพราะเสียชีวิตตอนอายุ 89 ปี แกเป็นคนอังกฤษในยุควิกตอเรียที่อังกฤษแทบจะเป็นเจ้าโลก เป็นดินแดนพระอาทิตย์ไม่ตกดิน ตัวแกเองเป็นคนรอบรู้ในสารพัดวิชา (polymath) เช่น เป็นนักสถิติ นักจิตวิทยา นักสำรวจ นักประดิษฐ์ นักอุตุนิยมวิทยา ฯลฯ เก่งซะขนาดนี้เลยได้รับการอวยยศเป็นอัศวินในปี 1909

ในทางวิชาการแกตีพิมพ์งานวิจัยและหนังสือมากถึง 340 รายการ (ทั้งรูปแบบบทความและเล่ม) 

กอลตันเป็นคนแรกที่คิดวิธีการใช้แบบสอบถามและการสำรวจในการเก็บข้อมูล และยังเป็นคนคิดวิธีการทางสถิติในการศึกษาความแตกต่างระหว่างมนุษย์และนำมาใช้ศึกษาเรื่องการถ่ายทอดสติปัญญาให้กันในสายตระกูล เขาเป็นคนคิดคำว่า nature versus nurture (ระหว่างธรรมชาติกับการอบรมเลี้ยงดู) ที่ยังฮิตมาถึงปัจจุบัน 

นอกจากนี้ เขายังเป็นคนคิดคำและสาขาวิชา ‘สุพันธุศาสตร์’ (eugenics) ขึ้นมาในปี 1883 โดยมีความหมายครอบคลุมการใช้ความรู้ทางพันธุศาสตร์ในการปรับปรุงเผ่าพันธุ์มนุษย์ ซึ่งกลายมาเป็นรากฐานสำคัญที่กลุ่มนาซีนำมาใช้แอบอ้าง (ในทางที่ผิด) เป็นเหตุผลสนับสนุนการกวาดล้างคนยิวในฐานะเผ่าพันธุ์ที่ทำให้พวกอารยันปนเปื้อนไม่บริสุทธิ์  

หนังสือที่เขาเขียนขึ้นในปี 1869 ชื่อ Hereditary Genius (อัจฉริยะถ่ายทอดทางสายเลือดได้) จัดเป็นความพยายามทางวิทยาศาสตร์ครั้งแรกที่ศึกษาเกี่ยวกับอัจฉริยภาพอย่างเป็นระบบ ภายในหนังสือเล่มนี้ กอลตันตั้งสมมติฐานว่าพวกลูกหลานของคนที่ ‘มีชื่อเสียง’ หรือ ‘ความโดดเด่น’ ในสาขาอาชีพใดอาชีพหนึ่ง มีโอกาสมากกว่าที่จะบรรลุ  ‘การมีชื่อเสียง’ หรือ ‘ความโดดเด่น’ ในอาชีพนั้นๆ ไปด้วย 

คนที่กอลตันเลือกมาศึกษาก็มีทั้งรัฐบุรุษ ผู้พิพากษา ผู้บัญชาการกองทัพ บาทหลวงระดับสูง นักเขียน และนักวิทยาศาสตร์ โดยเขาศึกษาครอบครัว 300 ตระกูล ซึ่งมีผู้ชายที่โดดเด่นอย่างน้อย 1 คน สำหรับกลุ่มประชากรชาวอังกฤษนั้น พบว่าโอกาสที่จะบรรลุการมีชื่อเสียงมีแค่ 1 ใน 4,000 หรือราว 0.025 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น 

ผลลัพธ์ที่เขาได้แสดงอยู่ในตารางต่อไปนี้ แต่กล่าวโดยสรุปแบบสั้นๆ ก็คือ ญาติที่มีสายเลือดใกล้ชิดกับคนมีชื่อเสียงหรือความโดดเด่น มี ‘โอกาสมากกว่า’ ที่จะประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงหรือความโดดเด่นเช่นเดียวกัน เมื่อเทียบกับญาติที่มีสายเลือดห่างออกไปมากกว่า

หรือแม้แต่ไม่เกี่ยวข้องกับค่าเฉลี่ยข้างต้น หากดูรายละเอียดจากตัวเลขในตาราง ก็คงยากจะปฏิเสธว่า ความโดดเด่นถ่ายทอดกันได้ผ่านทางสายเลือดในครอบครัวอย่างจริงแท้แน่นอน  

ยิ่งหากพิจารณาจากประวัติครอบครัวที่โดดเด่น เช่น ตระกูลของโยฮัน เซบัสทีอัน บาค (Johann Sebastian Bach) คีตกวีและนักออร์แกนชาวเยอรมันที่มีคนในตระกูลถึง 54 คนเป็นนักดนตรี และจากจำนวนนี้ มีมากถึง 17 คนที่กลายเป็นนักแต่งเพลงชื่อดัง

ตารางแสดงจำนวนญาติผู้ชายที่มีชื่อเสียงโดดเด่นต่อชายผู้มีชื่อเสียงโดดเด่น 100 คนในอังกฤษ
ช่วงคริสต์ตวรรษที่ 19

ความสัมพันธ์จำนวนผู้มีชื่อเสียงความสัมพันธ์จำนวนผู้มีชื่อเสียง
พ่อ31หลานชาย14
พี่น้อง41ลูกพี่ลูกน้อง13
ลูกชาย48ปู่ทวด3
ลุง18ลุงทวด5
หลานชาย22เหลนชาย (จากลูกชาย) 3
ปู่หรือตา17เหลนชาย (จากพี่น้อง) 10
ที่มา: หนังสือ Hereditary Genius, ฟรานซิส กอลตัน


แต่เรื่องอาจจะไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะเรื่องนี้ไม่อาจอธิบายกรณีของโรแบร์ต ชูมันน์ (Robert Schumann) นักเปียโนและประพันธกรชาวเยอรมันผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง และได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในผู้ประพันธ์เพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคโรแมนติก เพราะในบรรดาบรรพบุรุษและลูกหลานรวม 136 คนของเขานั้น ไม่มีสักคนที่แสดงความสามารถโดดเด่นทางดนตรีเลย! 

ทางด้านเสียงตอบรับเกี่ยวกับข้อสรุปในหนังสือเล่มนี้ ก็น่าสนใจดีครับ

อัลเฟรด วอลเลซ ผู้เป็นคนค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการอย่างเอกเทศจากชาร์ลส์ ดาร์วิน แสดงความเห็นสนับสนุนแนวคิดข้างต้น ตัวดาร์วินเองก็เคยเขียนจดหมายถึงกอลตันที่เป็นญาติและแสดงความเห็นด้วยเช่นกัน ทางด้านนักวิทยาศาสตร์อังกฤษร่วมสมัยคนอื่นๆ ส่วนใหญ่ก็เห็นไม่แตกต่างออกไปสักเท่าไหร่ 

แต่ในคนที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ กระแสตอบรับมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ที่น่าสนใจคือคนที่วิพากษ์วิจารณ์ความเห็นนี้มากที่สุดได้แก่พวกที่อยู่ในวงการศาสนา 

ความสามารถที่สืบทอดกันได้ในครอบครัว จำเป็นหรือเพียงพอที่จะทำให้คนสักคนกลายมาเป็นคนมีชื่อเสียงหรือมีความโดดเด่นจริงหรือ? 

การเติบโตท่ามกลางบรรยากาศและความพร้อม เช่น การเป็นสมาชิกในครอบครัวนักดนตรี ก็น่าจะมีส่วนในการหล่อหลอมให้ลูกหลานอยากเป็นนักดนตรีบ้างไม่มากก็น้อย

ในทำนองเดียวกัน การมีญาติที่โด่งดังย่อมส่งผลในทางบวกและเกื้อหนุนในทางสังคมรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเป็นอย่างน้อย ยังไม่นับว่าศตวรรษที่ 19 ที่กอลตันใช้ชีวิตอยู่ในอังกฤษ เรื่องของชนชั้นและแวดวงสังคมชนชั้นสูง ก็น่าจะส่งผลมากทีเดียว 

การศึกษาวิจัยชิ้นนี้ของเขาจึงอาจได้รับผลจากปัจจัยเรื่องชนชั้นและความเหลื่อมล้ำเป็นอย่างมาก

อันที่จริงมุมมองเรื่องผลกระทบจากปัจจัยแวดล้อมแบบนี้ ยังส่งผลต่อวงวิชาการจนถึงปัจจุบัน กล่าวคือนักวิทยาศาสตร์ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่น้อยกว่าปัจจัยทางพันธุกรรม และพยายามอย่างยากลำบากที่จะควบคุมปัจจัยในการศึกษาให้รัดกุมมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น หันมาศึกษาในแฝดแท้ (ที่เกิดมาจากอสุจิและไข่เดียวกัน จึงมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกันทุกประการ) ที่บังเอิญต้องแยกกันไปอยู่ในครอบครัวและสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกันมากๆ  

อีกครึ่งศตวรรษต่อมา การโต้แย้งในประเด็นนี้เหวี่ยงไปอีกด้านหนึ่ง เจ. บี. วัตสัน (J. B. Watson) นักพฤติกรรมวิทยาและนักจิตวิทยาชาวอเมริกันที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ถึงกับกล่าวว่า… 

“หากเอาทารกที่สุขภาพแข็งแรงดีมาให้ผมสักโหลหนึ่ง ผมก็อาจจะเลี้ยงดูพวกเขาให้เติบโตขึ้น โดยรับประกันได้ว่าทารกเหล่านี้จะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เลือกให้ได้ ไม่ว่าจะหมอ ทนาย ศิลปิน พ่อค้า หรือแม้แต่ขอทานและขโมย โดยไม่ขึ้นกับความสามารถพิเศษ ความชอบส่วนตัว นิสัยใจคอ สมรรถภาพ อาชีพ และเผ่าพันธุ์ของบรรพบุรุษเลย” 

แน่นอนว่าข้อเสนอแบบนี้เป็นแค่เรื่องทางความคิด แต่ไม่อาจนำมาปฏิบัติได้จริง เพราะดูจะผิดศีลธรรมไปมาก แต่ก็สะท้อนถึงความคิดเห็นทางวิทยาศาสตร์ในยุคนั้นได้ดีมาก

ปัจจุบันเรามีความรู้ด้านพันธุศาสตร์เพิ่มขึ้นอย่างมาก จนรู้ว่าการกลายพันธุ์บางตำแหน่งในสายดีเอ็นเอสามารถทำให้คนเกิดมามีสุขภาพแย่หรือแม้แต่ทุพพลภาพได้ เช่น ในคนไทย มีคนที่เป็น ‘พาหะ’ โรคโลหิตจางแบบธาลัสซีเมียมาถึงราว 24 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวเองว่าเป็นพาหะ เพราะไม่มีอาการป่วยแต่อย่างใด แต่หากคนที่เป็นพาหะแต่งงานกัน ก็มีโอกาสที่ลูกจะป่วยเป็นธาลัสซีเมีย โดยปัจจุบันมีคนไทยเป็นโรคโลหิตจางแบบนี้ราว 600,000 คน หรือร้อยละ 1 ของประชากรทีเดียว 

ผู้ป่วยธาลัสซีเมียอาจมีอาการน้อยมาก ตั้งแต่ไม่มีอาการซีดหรือซีดเพียงเล็กน้อย แต่ไม่มีผลต่อการใช้ชีวิต ไปจนถึงมีอาการซีดรุนแรง ตัวเหลือง ตาเหลือง ตับม้ามโต รูปหน้าเปลี่ยน การเจริญเติบโตผิดปกติ หรือแม้แต่เสียชีวิต 

กลับมาที่เรื่องการถ่ายทอดอัจฉริยภาพในครอบครัวอีกที

นายแพทย์อัลเบิร์ต รอเธนเบิร์กและคณะ ทำวิจัยตรวจสอบผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลรวม 435 คน ในสาขาต่างๆ ด้านวิทยาศาสตร์คือ ฟิสิกส์ เคมี และสรีรวิทยาหรือการแพทย์ พบว่าคนกลุ่มนี้มีพ่อและแม่เป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นศาสตราจารย์ หรือทำวิจัยอยู่เพียง 11 คน (2%) เท่านั้น 

ในทางตรงกันข้าม หากนับเฉพาะพ่อหรือแม่ของนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รางวัลโนเบลที่ ‘เป็นเพศเดียวกัน’ หากแบ่งเป็นกลุ่มๆ รวม 18 กลุ่ม จะพบว่ามีถึงราวครึ่งหนึ่ง (53%) ที่เป็นกลุ่มอาชีพเดียวกัน เช่น ทำเกษตร ไฟฟ้า วิศวกร เภสัชกร ฯลฯ 

เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับการศึกษาอีก 2 งานวิจัย ที่ศึกษาคนที่โดดเด่นในอาชีพต่างๆ ระดับนานาชาติ 548 คน เช่น เฮนรี คิสซิงเจอร์ เจ. เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ และเอ็มมา โกลด์แมน กับที่ศึกษาคนไอคิวสูง 560 คนในสหรัฐอเมริกาที่ไม่ได้รับรางวัลใดเลย และเกิดร่วมยุคกับคนที่ได้รางวัลโนเบล ก็พบว่ามีสัดส่วนพ่อแม่ที่อยู่กลุ่มอาชีพเดียวกันรวม 20% ซึ่งแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับ 2% ในกรณีของนักวิทยาศาสตร์โนเบล

ดังนั้นหากเทียบในเชิงอาชีพแล้ว ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีการส่งถ่ายพันธุกรรมชั้นยอดที่จะทำให้เป็น ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ในสาขาอาชีพต่างๆ ให้แก่กันจริง

นอกจากนี้ ในการศึกษากลุ่มที่สอง หรือในกลุ่มคนที่ไอคิวสูงมากดังกล่าว ซึ่งติดตามผลกันแบบชั่วชีวิตทีเดียว พบว่ามีอยู่แค่ 17% ที่มีอาชีพในกลุ่มเทียบเท่ากันระหว่างพ่อหรือแม่กับลูก ซึ่งก็เป็นผลลัพธ์ที่ตรงกันข้ามกับกรณีของนักวิทยาศาสตร์โนเบลอีกเช่นกัน 

จากข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมา น่าจะทำให้เห็นได้ว่า แม้ว่าจะมีปัจจัยเชิงพันธุกรรมจากพ่อแม่มาเกี่ยวข้องอยู่บ้าง แต่อัจฉริยภาพไม่น่าจะเป็นเรื่องของสิ่งที่ถ่ายทอดกันได้ และคำกล่าวจำพวก ‘เกิดมาเก่ง’ หรือ ‘เกิดมาเพื่อเป็น (อาชีพ)’ นั้น น่าจะมีลักษณะสรุปจนง่ายเกินไป (oversimplify) เพราะการที่จะแสดงออกถึงอัจฉริยภาพแบบนั้นได้ ยังต้องการปฏิสัมพันธ์กับส่วนอื่นๆ ในพันธุกรรมของคนเหล่านั้น และที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมที่คนเหล่านั้นเติบโตขึ้นมาอีกด้วย

การฝึกฝน ความสนใจ และการที่มีคนที่เป็นตัวอย่างหรือแบบอย่างให้ดำเนินรอยตามได้ ร่วมกับลักษณะพันธุกรรมที่ได้รับถ่ายทอดมาจากพ่อแม่ จึงเป็นองค์ประกอบที่ครบถ้วนของอัจฉริยภาพ และ/หรือความสำเร็จที่ตามมา

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save