fbpx
ขนมปัง กับ คนงานไร้ชื่อ: โรงครัวของคนงานสร้างพีระมิดแห่งเมืองกิซา

ขนมปัง กับ คนงานไร้ชื่อ: โรงครัวของคนงานสร้างพีระมิดแห่งเมืองกิซา

ณัฎฐา ชื่นวัฒนา เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ถ้าคุณเป็นคนทั่วไป มองกำแพงเมืองจีนหรือพีระมิด คุณจะเห็นความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์ แต่ถ้าคุณเป็นมาร์กซิสต์ คุณจะเห็นเลือดและน้ำตาของแรงงานอยู่ในก้อนอิฐแต่ละก้อน

ผศ.ดร. เก่งกิจ กิติเรียงลาภ (มีนาคม พ.ศ. 2562)

คำกล่าวนี้ แสดงให้เห็นวิธีการเล่าเรื่องอดีตของวัฒนธรรมกระแสหลัก ที่ไม่สามารถสื่อสารถึงความเป็นมนุษย์ และยังไม่สามารถก้าวพ้นกำแพงใหญ่ของขนบ “โบราณคดีอลังการ” ที่ครอบอยู่อย่างมิดชิดได้

โบราณคดีอลังการ ในที่นี้หมายถึง การสร้างเรื่องราวในอดีตในเชิงโรแมนติก เทพนิยาย มีการดำเนินเรื่องอยู่กลางทุ่งลาเวนเดอร์อันไพศาล มักสร้างเรื่องเล่าที่เต็มไปด้วยความพิเศษมหัศจรรย์ อิทธิปาฏิหาริย์ เน้นเรื่องความงาม ความพิเศษอันเลอค่าของโบราณสถานและโบราณวัตถุ ในเรื่องราวคล้ายเทพนิยายที่มีความน่าตื่นใจเป็นหลักใหญ่ อาจเรียกได้ว่าเป็นการสร้างอดีตแบบประโลมโลกย์คงไม่ผิดนัก นับว่า “โบราณคดีอลังการ” เป็นเพียงโลกทัศน์ และมุมมองเชิงอคติต่อหลักฐานทางโบราณคดี ซึ่งมีมุมมองจำกัดเพราะเน้นแต่ของสวยงาม ต่างจากแนวทางการศึกษาทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง

โบราณคดีอลังการไม่ได้สนใจถึงเหตุผลและความถูกต้องของหลักฐานทางโบราณคดีที่มี หลายครั้งหลายคราว การเล่าเรื่องหรือตรรกะแบบโบราณคดีอลังการไปกันได้กับการใช้ “ทฤษฎีสมคบคิด” อธิบายหลักฐานต่างๆ เช่น ทฤษฎีมนุษย์ต่างดาวสร้างพีระมิด ทั้งๆ ที่รอบพีระมิดนั้นเต็มไปด้วยหลักฐานเกี่ยวกับหยาดเหงื่อของคนงานในสมัยโบราณ

 

เรื่องราวในอดีตแบบโบราณคดีอลังการ

 

การสร้างเรื่องอดีตในเชิงประโลมโลกย์ ตามขนบของ “โบราณคดีอลังการ” นั้นเป็นเรื่องที่เกิดมาเนิ่นนานแล้ว นับตั้งแต่ได้สถาปนาวิชาโบราณคดีขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีก่อน พร้อมกับการใช้เกณฑ์ด้านความงามและคุณค่าทางศิลปกรรมเป็นหลักในการศึกษาและประเมินคุณค่าของโบราณวัตถุสถานเพียงอย่างเดียว เมื่อเวลาผ่านไป วิชาโบราณคดีก็ได้ตีตัวออกห่างจากภาพลักษณ์ของความโรแมนติก, นักผจญภัย, และนักล่าสมบัติ พร้อมกับสมาทานแนวคิดทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ

ในช่วงทศวรรษที่ 1960-1970 วิชาโบราณคดี โดยเฉพาะในอเมริกาได้มีความใกล้ชิดกับสาขามานุษยวิทยามากขึ้น จนถึงกับมีคำกล่าวว่า “โบราณคดีอเมริกันคือมานุษยวิทยา ไม่เช่นนั้น (โบราณคดี) ก็ไม่มีความหมาย” (Weber and Phillips 1958, Binford 1962) วิชาโบราณคดีในยุคนี้จึงมีอิทธิพลของวิชามานุษยวิทยามาเป็นหนึ่งในองค์ประกอบทางความคิดด้วย เช่น ศึกษาโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์ในสมัยโบราณ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เกินไปกว่าการศึกษาเฉพาะรูปแบบของโบราณวัตถุสถานในช่วงแรก

หากนำแนวคิด “โบราณคดีอลังการ” มาวิเคราะห์พีระมิดแห่งอียิปต์ เราก็จะได้ข้อมูลทางรูปแบบของอาคาร ลักษณะความอลังการและความยิ่งใหญ่ในการสร้าง เรื่องราวฉายภาพบารมีของฟาโรห์ ผ่านซากพีระมิดในฐานะสิ่งมหัศจรรย์ของโลก

ส่วน “โบราณคดีเชิงมานุษยวิทยา” เน้นศึกษากระบวนการในการสร้างพีระมิด ที่รวมไปถึงการจัดหาวัตถุดิบ, แรงงาน และโครงสร้างทางสังคมในสมัยก่อน ที่เอื้อให้เกิดการจัดสรรแรงงานจำนวนมหาศาล รวมทั้งทรัพยากรมากมาย จนสามารถสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่อย่างพีระมิดขึ้นมาได้สำเร็จ

เรียกได้ว่าในขณะที่ “โบราณคดีอลังการ” กำลังตะลึงพรึงเพริดอยู่กับความใหญ่โตของพีระมิดเบื้องหน้านั้น “โบราณคดีเชิงมานุษยวิทยา” มองเห็นถึงหยาดเหงื่อ เลือด และน้ำตาของเหล่าคนงานสร้างพีระมิด ผ่านหินก้อนยักษ์จำนวนมหาศาลที่ถูกประกอบขึ้นเป็นพีระมิด โดยมุมมองในลักษณะนี้เองที่ทำให้ชีวิตของเหล่าคนงานสร้างพีระมิดเหล่านี้กลับมามีชีวิตขึ้นอีกครั้ง

 

สวัสดิการของคนงานสร้างพีระมิด

 

ภาพบริเวณหมู่พีระมิดแห่งกิซา ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2008 ที่มา: Wikimedia commons

 

บริเวณที่อยู่อาศัยของคนงานสร้างพีระมิดแห่งกิซา (Giza) ถูกค้นพบระหว่างการขุดค้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 จากนั้นมีการศึกษาและขุดค้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบปี การขุดค้นในบริเวณที่พักคนงานสร้างพีระมิด ทำให้พบข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิต และอาหารการกินของคนงานสร้างพีระมิดจำนวนกว่าหมื่นคน

บริเวณที่พักคนงานสร้างพีระมิดนี้มีอายุราว 2,550-2,470 ปีก่อนคริสตกาล มีพื้นที่ราว 56 ไร่ ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 400 เมตร จากรูปสฟิงซ์ ไม่ไกลจากบริเวณพีระมิดมากนัก ภายในพื้นที่อยู่อาศัย หรือแคมป์คนงานสร้างพีระมิดวางผังอย่างเป็นสัดส่วน แบ่งบริเวณพื้นที่อยู่อาศัยของเหล่าคนงานมีฝีมือ, คนงานไร้ฝีมือ, ผู้คุมคนงาน และเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ คล้ายเมืองขนาดย่อม

คนงานสร้างพีระมิดเหล่านี้ ไม่ได้เป็นทาส หรือถูกบังคับให้ใช้แรงงานเยี่ยงทาสอย่างที่เข้าใจกันผิดๆ มาตลอด แต่ส่วนใหญ่เป็นคนธรรมดาที่มีฐานะยากจน สมัครใจมาสร้างพีระมิดด้วยตัวเอง แลกกับสวัสดิการต่างๆ กล่าวได้ว่าฝ่ายรัฐเองก็ใช้เงื่อนไขทางด้านสวัสดิการเป็นพระคุณ มาจูงใจให้มีแรงงานสำหรับการก่อสร้าง ไม่ใช่การใช้อำนาจรัฐแบบพระเดชมาบังคับขู่เข็ญเยี่ยงทาสอย่างที่เคยเข้าใจ

อาหารการกินของคนงานก่อสร้างจะดีกว่าอาหารของชาวบ้านธรรมดาทั่วไปในสมัยนั้น แรงงานใหม่ที่ไม่มีฝีมือ เมื่อเข้ามาทำงานก่อสร้างที่นี่ ก็จะได้รับการฝึกทักษะการก่อสร้าง หรืองานช่างต่างๆ ตามที่ถนัด ซึ่งทำให้การก่อสร้างพีระมิดนี้ไม่เพียงแค่เป็นสิ่งก่อสร้างขนาดมหึมาเท่านั้น แต่ยังเป็นโรงเรียนสอนงานช่างแก่คนงานชาวอียิปต์จำนวนมาก เมื่อการก่อสร้างพีระมิดเสร็จสิ้นลง คนงานมีฝีมือเหล่านี้ได้กระจายไปทั่วอียิปต์ พร้อมกับความรู้ด้านงานฝีมือ รวมทั้งทักษะและประสบการณ์การสร้างพีระมิดที่ติดตัวไปด้วย

ทว่า การสร้างพีระมิดเป็นงานหนัก คนงานบางส่วนก็เสียชีวิตลงระหว่างการก่อสร้าง แรงงานที่เสียชีวิตเหล่านี้ได้รับการฝังศพอย่างมีเกียรติ มีวิธีการปลงศพต่างจากทาสที่มีสถานะทางสังคมต่ำกว่า โดยมีเครื่องเซ่นใส่ในหลุมฝังศพอย่างครบเครื่อง สภาพโครงกระดูกของคนงานที่เสียชีวิตระหว่างการสร้างพีระมิดส่วนใหญ่ พบร่องรอยของการใช้แรงงานหนัก จนทำให้เกิดร่องรอยบนกระดูก เช่น รอยโรคไขข้อ (Arthritis), กระดูกหัก, อวัยวะบางส่วนหายไป, กระดูกสันหลังงอก (Osteophytes) ที่เกิดจากการยกของหนักต่อเนื่องเป็นเวลานาน ฯลฯ

แม้งานสร้างพีระมิดจะเป็นงานหนัก แต่รัฐบาลก็มีสวัสดิการให้คนงานสร้างพีระมิดทุกคน เป็นอาหารปันส่วนที่ประกอบด้วย ขนมปัง, เบียร์, ปลา, และเนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ เศษอาหารที่พบในเขตที่พักคนงานทั้งหมดเป็นอาหารท้องถิ่น ประกอบด้วย ธัญพืชชนิดต่างๆ เช่น ข้าวสาลีเอมเมอร์ (Emmer wheat) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของพันธุ์ข้าวสาลีในปัจจุบัน, ข้าวบาร์เลย์, ถั่วเลนทิล ฯลฯ ผลไม้ เช่น มะเดื่อ, องุ่น, อินทผาลัม ในขณะที่กระดูกสัตว์ที่พบเป็นสัตว์เลี้ยงทั้งหมด ประกอบด้วย วัว, แกะ, แพะ, และหมู กระดูกปลาที่พบ เป็นปลาท้องถิ่น เช่น ปลาเพิร์ช, ปลาดุก, ปลานิล, ปลาเสือ, ปลากระบอกสีเทา, และปลาปักเป้า โดยอาหารเหล่านี้เป็นอาหารที่พบได้ทั่วไปในแหล่งโบราณคดีร่วมสมัยอื่นๆ ในอียิปต์

อาหารทั้งหมดนี้ รัฐอียิปต์โบราณเป็นผู้จัดหามาเลี้ยงคนงานทุกคน โดยคนงานในแต่ละประเภทจะได้รับปริมาณอาหารแตกต่างกันไปตามสถานะทางสังคม พวกผู้คุมคนงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐก็จะได้รับอาหารปันส่วนและเนื้อสัตว์จำนวนมากกว่าคนงานที่เป็นชาวบ้านทั่วไป

ภายในแคมป์คนงานมีครัวกลางขนาดใหญ่ สำหรับอบขนมปังและทำอาหารเลี้ยงคนงานทุกคน ขนมปังในภาษาอียิปต์โบราณ เรียกว่า ทา (Ta) ตัวอักษรภาพที่สื่อถึงลักษณะก้อนขนมปังทรงกรวย ที่เกิดจากการเทขนมปังลงในแม่พิมพ์ดินเผาทรงกรวยขนาดใหญ่ที่เรียกว่า เบดจา (Bedja) จากการขุดค้นภายในบริเวณครัวของแคมป์คนงานแห่งนี้ พบเศษของแม่พิมพ์ดินเผาที่ว่าเป็นจำนวนมาก

 

ภาพโรงอบขนมปังของฟาโรห์รามเซสที่ 3 จากสุสานฟาโรห์รามเซสที่3 ในหุบผากษัตริย์ ที่มา: Wikimedia commons

 

ครัวใหม่ ความรู้เก่า

 

โครงการศึกษาทางโบราณคดีในบริเวณพีระมิดแห่งกีซาเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของรัฐบาลอียิปต์กับนักวิจัยต่างชาติ มีผู้อำนวยการโครงการฝ่ายนักวิจัยต่างชาติ คือ ดร. มาร์ค เลห์เนอร์ (Mark Lehner) ทางโครงการได้ขุดค้นในบริเวณแคมป์คนงานสร้างพีระมิดขนาดใหญ่ และได้พบบริเวณครัวสำหรับอบขนมปังและหุงหาอาหารสำหรับคนงานที่อาศัยอยู่ในแคมป์

บริเวณครัวมีลักษณะเปิดโล่ง มีกำแพงก่อล้อมรอบทุกด้าน ด้านในกำแพงมีบริเวณที่ใช้ตั้งอ่างสำหรับผสมแป้งอยู่ตรงมุมกำแพงด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งของกำแพง เป็นบริเวณอบขนมปังในพิมพ์ดินเผาที่ถูกตั้งเรียงเป็นแถวยาวบนกองถ่านไฟร้อน ที่ถูกตักมาวางไว้รอบๆ พิมพ์ขนมปังดินเผาเพื่อรักษาอุณหภูมิของกองไฟ จากกองถ่านฟืนที่ลุกโพลงอยู่อีกด้านของกำแพง

นักโบราณคดีได้นำข้อมูลทางโบราณคดีที่ได้จากการขุดค้นครัวโบราณนี้ มาสร้างเป็นครัวกลางแจ้งขนาดใหญ่ โดยก่อกำแพงที่มีขนาดกว้างและยาวตามที่พบจากการขุดค้น และปั้นพิมพ์ขนมปังดินเผาขึ้นใหม่ ตามแบบพิมพ์รูปกรวยในสมัยโบราณ เพื่อจำลองสภาพการทำงานของช่างอบขนมปังชาวอียิปต์ในสมัยนั้น

 

ภาพจำลองการอบขนมปังในครัวกลางแจ้งของคนงานสร้างพีระมิด โดยใช้ข้อมูลที่ได้จากการขุดค้นและการทดลอง ภาพโดย ธนัท ฟักอ่อน

 

ดร. เอ็ดเวิร์ด วูด (Edward Wood) นักพยาธิวิทยาชาวอเมริกัน ได้ทำการทดลองอบขนมปังในครัวทดลองนี้ โดยดักจับเชื้อหมักขนมปังในแถบกิซาจากแป้งสาลีที่ได้รับการฆ่าเชื้อปนเปื้อน (Sterilize) จนแน่ใจว่าเชื้อหมักที่พบเป็นเชื้อหมักจากท้องถิ่นในเมืองกิซาจริงๆ และอาจจะมีความเป็นไปได้ที่เชื้อหมักนี้จะเป็นมรดกตกทอดมาแต่สมัยโบราณด้วย

ดร. วูด ลองใช้เชื้อหมักแห่งกิซาทดลองอบขนมปังในครัวทดลองกลางแจ้งที่ร้อนระอุทั้งจากแสงแดดภายนอกที่สะท้อนกับพื้นทราย และความร้อนจากกองถ่านไฟลุกโชนที่ล้อมรอบอยู่ตามผนังครัวทั้งสองด้าน ดร. วูด พบว่าการอบขนมปังด้วยวิธีนี้นั้นซับซ้อนกว่าที่คาด การอบขนมปังครั้งแรกล้มเหลว ขนมปังไหม้เพราะไฟแรงเกินไป และตัวขนมปังติดแน่นกับพิมพ์จนเทออกไม่ได้ ทำให้ต้องแก้ปัญหาด้วยการทาน้ำมันที่ด้านในของพิมพ์ดินเผาก่อนใส้แป้งขนมปัง ลองผิดลองถูกมาหลายครั้งกว่าจะอบขนมปังได้สุกทั่วกันทั้งก้อน มีผิวสัมผัสที่ฟูนุ่มแบบขนมปังซาวโดห์ทั่วไป เมื่อ ดร. วูด ตัดก้อนขนมปังให้ผู้ช่วยชาวอียิปต์ได้ลองชิม ผู้ช่วยชาวอียิปต์กล่าวว่า ก้อนขนมปังนี้มีรสชาติคล้ายขนมปัง อิช ชัมซี (Eish shamsi, عيش شمسي‎) หรือ “ขนมปังพระอาทิตย์” ในปัจจุบัน

 

สูตรขนมปังที่ถูกลืม

 

ตุ๊กตาแสดงภาพการนวดแป้งเพื่อทำขนมปัง อายุราว 1981 –1975 ก่อนคริสตกาล ที่มา: Wikimedia commons

 

แม้ว่าชาวอียิปต์โบราณจะมีตัวอักษรภาพและบันทึกต่างๆ มากมาย แต่บันทึกที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันทั้งหมดกลับไม่มีบันทึกเรื่องสูตรอาหารหรือการหมักขนมปังเลยแม้แต่ชิ้นเดียว แม้ว่าฉันจะลองหาสูตรการอบขนมปังที่ ดร. วูด ใช้ระหว่างการทดลอง ก็หาไม่พบ มีเพียงบรรยายกระบวนการเตรียมการอบขนมปัง, การสร้างครัว, และการจับเชื้อหมักขนมปังซาวโดห์จากอากาศในเมืองกิซาของ ดร. วูด เพียงเท่านั้น

เชื้อหมักขนมปังซาวโดห์ของ ดร. วูด นี้ (ปัจจุบันมีอายุเกือบ 90 ปีแล้ว) ปัจจุบันมีขายที่เวบไซต์ sourdo.com ผ่านบริษัท Sourdoughs International ซึ่งเป็นบริษัทขนาดเล็กที่จัดจำหน่ายเชื้อหมักขนมปังที่ ดร. วูด สะสมไว้จากทั่วโลก ทางบริษัทให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ไว้ว่า เชื้อหมักจากเมืองกิซานี้จะทำให้ขนมปังที่อบขึ้นฟูมากกว่าปกติ เป็นลักษณะเฉพาะของเชื้อหมักสายพันธุ์นี้ สูตรขนมปังแป้งข้าวสาลีอียิปต์โบราณสูตรนี้ มาจากหนังสือของ เคที คัฟแมน (Kathy Kaufman) ซึ่งเรียบเรียงและดัดแปลงจากบันทึกการทดลองอบขนมปังของ ดร. วูด มีสูตรดังนี้

วัตถุดิบ และอุปกรณ์การอบ: กระถางต้นไม้ดินเผา เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 นิ้ว 2 กระถาง, มันหมู 1/1 ถ้วย, แป้งเซโมลินาแบบละเอียด 1 ถ้วยครึ่ง, ยีสต์สำเร็จรูปครึ่งช้อนโต๊ะ, น้ำผึ้ง 2 ช้อนโต๊ะ, น้ำ หรือ นมอุ่น 5/8 ถ้วยตวง

วิธีทำ:

1. เปิดเตาอบที่ความร้อน 300°F ทามันหมูให้ทั่วด้านในของกระถางดินเผา นำกระถางดินเผาที่ทาน้ำมันไว้ทั่วแล้วใส่ในเตาอบ ปิดไฟเตาอบและรอให้เย็น ทำอย่างนี้ซ้ำไปเรื่อยๆ (จนกว่าผิวกระถางจะขึ้นเงา-ผู้เขียน)

2. ผสมแป้งเซโมลินาเข้ากับยีสต์ น้ำผึ้ง และน้ำอุ่น หรือนมอุ่นที่เตรียมไว้ นวดประมาณ 5 นาที จนแป้งเหนียว จากนั้นพักแป้งและคลุมไว้ประมาณ 30 นาที

3. ในขณะเดียวกัน ก็เอากระถางดินเผากลับเข้าไปใส่ในเตาอบอีกครั้ง โดยวางบนหินอบ หรือกระบะก็ได้ คราวนี้ตั้งอุณหภูมิเตาอบไว้ที่ 425°F

4. หลังจากพักแป้งไว้ได้ตามกำหนดเวลาแล้ว แบ่งแป้งออกเป็นสองส่วนก่อนหย่อนแป้งลงไปในกระถางดินเผาร้อน เมื่อแป้งอยู่ในกระถางแล้วให้รีบปิดเตาอย่างรวดเร็ว ใช้ไฟอบที่อุณหภูมิ 425°F เป็นเวลา 5 นาทีเท่านั้น ก่อนจะปิดเตาอบไว้อีกประมาณ 20 นาที ความร้อนที่สะสมอยู่ในกระถางดินเผาและภายในเตาอบจะทำให้ขนมปังสุก เมื่อถึงกำหนดเวลาแล้ว นำกระถางออกจากเตาอบ

 

ภาพวาดพิมพ์ขนมปังดินเผา เบดจา (Bedja) จาก Chazan M. and Mark Lehner (1990) ภาพ a. และภาพสันนิษฐานรูปร่างของขนมปัง จากช่องว่างในพิมพ์ โดยเปรียบเทียบจากการทดลองอบขนมปังของ คุณเชมัส แบลคเลย์ (Seamus Blackley) ใน ภาพ b.

 

การครัวล่องหน กับเรื่องราวที่สูญหาย

 

การค้นคว้าหาวิธีการอบขนมปังของ ดร. วูด และคุณเคที จัดได้ว่าเป็นการค้นคว้าโดยใช้วิธีการที่เรียกว่า โบราณคดีเชิงทดลอง (Experimental Archaeology) ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของงานโบราณคดี ที่ใช้การทดลอง หรือจำลองกระบวนการหรือสถานการณ์ โดยใช้ข้อมูลจากหลักฐานทางโบราณคดีมาเพื่อพิสูจน์สมมติฐานทางโบราณคดีต่างๆ

โบราณคดีเชิงทดลองสามารถให้ข้อมูลนอกเหนือไปจากหลักฐานทางอักษร จุดเด่นคือ กระบวนการทดลองของโบราณคดีเชิงทดลองสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ทักษะและกระบวนการเรียนรู้ของเทคโนโลยีในสมัยโบราณได้ โดยแปรข้อมูลจากตัวอักษรให้เป็นประสบการณ์ จากการจำลองกระบวนการที่เกิดขึ้นจริง เช่น การจำลองการอบขนมปังในสมัยอียิปต์โบราณ ทำให้คนในยุคปัจจุบันได้สัมผัสถึงทักษะในการทำครัว ข้อจำกัด และการแก้ปัญหาในระหว่างการอบขนมปังของคนอียิปต์โบราณ โบราณคดีเชิงทดลองมองว่าคนในอดีตมีความเป็นมนุษย์เท่ากับคนในปัจจุบัน ดังนั้น ลักษณะการเรียนรู้และทักษะต่างๆ ต้องคล้ายกันด้วย

ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการอบขนมปังสมัยโบราณที่ได้จากการทดลองในครั้งนี้ แตกต่างจากข้อมูลที่ใช้แนวคิดแบบ “โบราณคดีอลังการ” พิจารณามาก เพราะโบราณคดีอลังการจะไม่ลงลึกถึงรายละเอียดของกระบวนการเกิดของหลักฐานทางโบราณคดีในแง่ของชีวิตความเป็นอยู่ แต่จะมองหลักฐานทางโบราณคดีในลักษณะที่เป็นผลลัพธ์ของการกระทำที่จบลงในตัวเอง เช่น พีระมิดนี้ยิ่งใหญ่และอลังการ โดยเลือกมองข้ามกระบวนการทางสังคม-วัฒนธรรมของแรงงานกว่าหมื่นคนในแคมป์คนงานสร้างพีระมิดแห่งนี้

ถึงตอนนี้ ฉันปักใจเชื่อแน่ว่า ความรู้เรื่องการก่อสร้างไม่ใช่ทักษะเพียงอย่างเดียวที่คนงานชาวอียิปต์ได้เรียนรู้จากการทำงานสร้างพีระมิดอย่างแน่นอน ทักษะอื่นๆ เกี่ยวกับการกินอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม หรืออาหารการกิน เช่น การอบขนมปัง อาจเป็นความรู้ติดตัวคนงานชาวอียิปต์ไปด้วย

ตรรกะเดียวกันนี้อาจใช้ในการศึกษาสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่อื่นๆ ในสมัยโบราณด้วยเช่นกัน เช่น เมื่อเร็วๆ นี้ กรมศิลปากรได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับหลักฐานการฝึกการสลักหินใกล้ปราสาทพนมรุ้ง เรียบเรียงโดย คุณภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ พบหลักฐานเป็นก้อนหินที่มีรอยสลักแบบซ้ำไปซ้ำมาในบริเวณใกล้กับปราสาทหินพนมรุ้ง ราวกับว่ากำลังจะฝึกสลักหินรูปแบบต่างๆ เพื่อไปสร้างปราสาทหินพนมรุ้งที่อยู่ไม่ไกลกันนัก แสดงถึงกระบวนการสร้างทักษะและสร้างฝีมือแรงงานสำหรับสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นกระบวนการที่คล้ายกับการฝึกฝีมือคนงานสร้างพีระมิดในอียิปต์

การค้นพบและนำเสนอข้อมูลลักษณะนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะทำให้การสร้างและนำเสนอภาพชีวิตในสมัยโบราณไม่ถูกผูกติดกับความอลังการของปราสาทหินพนมรุ้งเพียงอย่างเดียว แต่ยังสนใจเรื่องราวของคนงานสร้างปราสาทหินด้วย หากศึกษาอย่างต่อเนื่อง อาจจะค้นพบโรงครัว หรือเทคโนโลยีการหุงหาอาหารของคนงานสร้างปราสาทหินพนมรุ้ง และอาจเป็นภาพชีวิตของคนธรรมดาที่เหนือไปกว่าภาพอันอลังการของปราสาทหินพนมรุ้งเพียงเท่านั้นก็ได้

สุดท้ายแล้ว สิ่งที่ทำให้สิ่งก่อสร้างในสมัยโบราณหรือปัจจุบันได้กลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกนั้นไม่ใช่ขนาดของอาคาร หรือความหายากของวัสดุ แต่เป็นศักยภาพของมนุษย์ในการรังสรรค์อาคารเหล่านั้นขึ้นมาจากความว่างเปล่า ผ่านหยาดเหงื่อและน้ำตาของแรงงานไม่มีชื่อ ที่ไม่ถูกจารึกชื่อไว้ในหลักฐานใดๆ ให้จดจำ

มนุษย์คือผู้สร้างอาคารเหล่านั้น คนงานไร้ชื่อเหล่านั้นสร้างความมหัศจรรย์บนหยาดเหงื่อ น้ำตา และชีวิต

สิ่งมหัศจรรย์ของโลกโบราณอาจไม่ใช่อาคารสถานที่ แรงงานไร้ชื่อที่ถูกลืมเหล่านั้นต่างหาก ที่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกอย่างแท้จริง

 

ขอขอบคุณ คุณขวัญข้าว สังขพันธานนท์, คุณพัชรา สุขเกษม, และ คุณชลธร วงศ์รัศมี.

 

อ้างอิง

Binford, L. S. 1962. Archaeology as Anthropology. American Antiquity. 28(2): 217-225.

Bloxam, E. 2011. Forgotten People and Places: New Perspectives on the Social Context of Ancient Stone Quarrying in Egypt. General Anthropology. 18(1):1-6.

Chazan M. and Mark Lehner. 1990. An Ancient Analogy: Pot Baked Bread in Ancient Egypt and Mesopotamia. Paléorient. 16(2): 21-35.

Cooney, K. M. 2007. Chapter 12: Labour. In Wilkinson, T. (eds.) The Egyptian World. Routledge. Pp. 160-174.

Kaufman, C. 2005. Cooking in Ancient Civilization. The Greenwood Press.

Lehner, M. 1996. Giza. The Oriental Institute 1995-1996 Annual report. University of Chicago.

Garrett, K. and David R. 1995. Age of Pyramids: Egypt’s Old Kingdom. National Geographic Magazine. 187(1): 52-62.

Murray, M.A., 2004. Provisions for the pyramid builders: new evidence from the ancient site of Giza. Archaeology International. 8: 38–42.

Murray, M. A. 2005. Feeding the Town: New Evidence from the Complex of the Giza Pyramid Builders. General Anthropology. 12(1-2): 1- 9.

Samuel, D. 1996. Investigation of Ancient Egyptian Baking and Brewing Methods by Correlative Microscopy. Science. 273(5274): 488-490.

Shaw J. 2003. Who Built the Pyramids? Harvard Magazine. July-August: 42-50.

Willey, G. R. and Philip Phillips. 1958. Method and Theory in Archaeology. University of Chicago Press, Chicago.

Wood, E. and Jean Wood. 2011. Classic Sourdoughs, Revised: A Home Baker’s Handbook. Ten Speed Press.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save