fbpx

ANATOMY OF A FALL ก่อนวันพิพากษาคดีภัสดาฆาต

(บทวิจารณ์นี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์)

ไม่เพียงแต่ได้รับรางวัลใหญ่อย่างปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังที่สำคัญที่สุดในโลกอย่างเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ แต่ Anatomy of a Fall (2023) หนังสัญชาติฝรั่งเศสของผู้กำกับหญิง ยุสตีน ตริเยต์ (Justine Triet) ยังได้รับการขนานนามจากหลายๆ ค่ายให้ติดเป็นหนังดีลำดับต้นๆ ประจำปี 2023 จากความสดใหม่และร่วมสมัยของเนื้อหาที่เลยพ้นไปจากหนังแนวขึ้นโรงขึ้นศาล หรือ courtroom drama ธรรมดาๆ ทำให้ Anatomy of a Fall ใช้เป็นภาพแทนชีวิตของผู้คนแห่งยุคสมัย ซึ่งแตกต่างไปจากวิถีชีวิตที่เราเคยเห็นมาจนชินตาจากช่วงเวลาเก่าก่อน

สิ่งที่ทำให้ Anatomy of a Fall ดูเป็นงานร่วมสมัย คงอยู่ที่การไล่วางโครงสร้างเนื้อหาและตัวละคร หนังย้อนสำรวจปมความสัมพันธ์ระหว่างคู่สามีภรรยาต่างสัญชาติ นั่นคือ แซมมวล (แซมมวล เธอิส) หนุ่มฝรั่งเศสที่เคยทำงานด้านวิชาการในสหราชอาณาจักร เขาพบรักกับ ซันดรา (ซันดรา ฮุลเลอร์) หญิงสาวชาวเยอรมันและตกลงปลงใจแต่งงานอยู่กินด้วยกัน ทั้งคู่โยกย้ายนิวาสถานกลับมายังบ้านพักตากอากาศบนภูเขาหิมะ ณ เมืองเกรอนอบล์ ประเทศฝรั่งเศส อันเป็นถิ่นเกิดของแซมมวลและมีบุตรชายด้วยกันคือ แดเนียล (ไมโล มาชาโด กราเนอร์) โดยทั้งแซมมวลและซันดราเปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเขียนซึ่งทำให้พวกเขาต้องหันมาชิงดีชิงเด่นกันเอง โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายภรรยาดูจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมากกว่า ขณะที่แซมมวลเองก็มีความหลังฝังใจ เมื่อเขาเป็นต้นชนวนให้เกิดอุบัติเหตุจนทำให้แดเนียลสูญเสียการมองเห็นทั้งสองข้าง พวกเขาจึงต้องเลี้ยงสุนัขนำทางอย่างเจ้า สนูป ซึ่งเป็นเหมือนนัยน์ตาที่พาแดเนียลไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระ

หายนะเริ่มบังเกิดเมื่อแซมมวลตัดสินใจปรับปรุงห้องใต้หลังคาให้เป็นห้องพักอาศัย Airbnb เพื่อหารายได้ แต่สุดท้ายเขาตกลงมาคอหักตายบนผืนหิมะอย่างเป็นปริศนา ทำให้ซันดราซึ่งเพิ่งให้สัมภาษณ์นักศึกษาหญิงคนหนึ่งตกเป็นจำเลย เพราะช่วงเวลาที่เกิดเหตุนั้น ภายในบ้านมีเธออยู่เพียงคนเดียว และอาจเป็นคนเข้าไปผลักให้แซมมวลตกหน้าต่างลงมาตายได้ และเมื่อยิ่งสืบสาวคดีกันต่อไป ความระหองระแหงบาดหมางทางใจอันอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในครอบครัวของซันดราก็ทำให้เธอดูน่าเคลือบแคลงไปเสียหมด เพราะนางดูมีพิรุธจนจุดประเด็นชวนสงสัยได้มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เว้นแม้แต่หนูน้อยแดเนียลที่ต้องตกใจเมื่อได้รับฟังความขัดแย้งอันไม่พึงประสงค์ของบุพการีทั้งสอง!

หนังให้ภาพจำลองของครอบครัวเดี่ยว (nuclear family) ที่มีสมาชิกเพียงแค่ พ่อ แม่ และลูกชาย ทั้งยังเป็นครอบครัวแบบ ‘พหุวัฒนธรรม’ ก้าวข้ามพรมแดนทางเชื้อชาติและภาษา จะฝรั่งเศส จะเยอรมัน หรือจะลูกครึ่ง ก็อยู่ร่วมอาศัยใต้จันทันเป็นครอบครัวเดียวกันได้ โดยใช้ ‘ภาษาอังกฤษ’ เป็นภาษาสื่อกลาง ประเด็นนี้สะท้อนว่าผู้คนในยุคปัจจุบันเขา ‘โลกาภิวัตน์’ กันระดับไหนได้อย่างแยบยล การจะมาตะพึดตะพือเจาะจงว่าคนนั้นคนนี้หรือหนังเรื่องนั้นเรื่องนี้มีสัญชาติหลักจากดินแดนใดจึงชักเป็นสิ่งเปล่าดาย ขณะที่จิตวิญญาณ (psyche) ของคนรุ่นใหม่กลับมองว่า ไม่ว่าจะเป็นใคร จากถิ่นฐานไหนต่างก็ได้ชื่อโดยเท่าเทียมกันว่าเป็น ‘พลเมืองโลก’ !

การสืบสาวโศกนาฏกรรมผ่านกระบวนการทางกฎหมายใน Anatomy of Fall มิได้สาวไส้เฉพาะเรื่องราวเน่าเฟะภายในครอบครัวเดี่ยวสมัยใหม่เรือนนี้เท่านั้น หากมันยังล้วงสำรวจถึงพฤติกรรมทางเพศของซันดรา ผู้มีสถานะเป็นไบเซ็กชวล (bisexual) คอยหาเศษหาเลยกับ ‘ผู้หญิง’ คนอื่นๆ ลับหลังแซมมวลและลูกอย่างไม่เกรงใจ นัยว่าเรื่องเซ็กซ์เป็นสิ่งที่เธอขาดไม่ได้ และผู้หญิงเท่านั้นที่จะรู้ใจทำให้เธอไปถึงจุดหฤหรรษ์ ภาวะการเป็นตัวละคร LGBTQ+ ที่ลักลอบนัดลับกับชู้สตรี นอกใจผู้เป็นสามีของซันดราจึงยิ่งตีตรากาหัวให้เธอเป็นตัวละครที่ไม่น่าวางใจมากขึ้น ยิ่งเธอยืนกรานว่า “ฉันจะฆ่าผัวตัวเองไปหาพระแสงอันใด” ก็ยิ่งดูเชื่อไม่ได้ เพราะไม่ว่าจะงัดพยานหลักฐานชิ้นไหนมา ก็ยิ่งมัดมือซันดราให้กลายเป็นผู้ต้องหาที่น่าจะลงมือกระทำมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งบทหนังก็เล่นกับภาวะภายในของตัวละครอันแสนจะทันสมัย แม้แต่นักจิตวิเคราะห์ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เองก็ไม่เคยมีโอกาสศึกษาทำความเข้าใจในความเลื่อนไหลและหลากหลายทางเพศแบบนี้ ชงให้การไต่สวนคดีภัสดาฆาตพลาดตกหน้าต่างตาย มีลูกล่อลูกชนที่ทั้งแปลกใหม่และคมคาย จนเราไม่สามารถจะแยกฝั่งขวา-ซ้าย ดำ-ขาว อะไรได้อีกเลย จากตัวละครที่อุดมไปด้วยมิติซับซ้อนเช่นนี้

อีกประการหนึ่งที่ทำให้ Anatomy of a Fall เป็นหนังย้อนปมคดีฆาตกรรมที่ทำออกมาได้แสนแปลกแตกต่าง ก็คงอยู่ที่การวางบทบาทของ ‘ศาล’ ในฝรั่งเศส ว่าช่างทำงานภายใต้ขอบเขตจำกัดด้านการรับรู้ ชนิดที่ต่อให้ฝ่ายอัยการและจำเลยยกหลักฐานเด็ดมาสู้กันอย่างไร พวกเขาก็ไม่มีทางที่จะเข้าอกเข้าใจความเป็นไปในมุมที่เป็นส่วนตัวของครอบครัวใดๆ ได้เลย ‘ศาล’ ใน Anatomy of a Fall จึงมิได้ให้ภาพของสถาบันที่ผดุงความยุติธรรม ทำหน้าที่พิทักษ์ตัวบทกฎหมายและรัฐธรรมนูญด้วยการเคารพสิทธิอันบริบูรณ์ของประชาชนอย่างถ้วนทั่ว หากต้องตัดสินคดีด้วยหลักฐานและพยานที่มีเข้ามาแบบสุ่มๆ มั่วๆ ดังที่น้องแดเนียลไม่กลัวที่จะ ‘สอนมวย’ ผู้พิพากษาไว้ ว่าถ้าไม่อาจหยั่งรู้ได้ว่าบ่ายวันนั้นเกิดอะไร ก็ควรเปลี่ยนคำถามเป็นคำว่า ‘ทำไม’ แทน! ท่าทีที่ Anatomy of a Fall มีต่อแท่นตราชูตุลาการแห่งนี้จึงมีความ ‘หมิ่นศาล’ อยู่ในที อำนาจพิจารณาคดีทั้งหมดตกอยู่ในอุ้งมือของคณะลูกขุน ในขณะที่คุณผู้พิพากษามีหน้าที่เป็นเพียงพิธีกร (moderator) ทุกครั้งที่นักข่าวนำเสนอความคืบหน้าก็จะอ้างถึงคณะลูกขุนเป็นหลัก และอย่าได้ประหลาดใจหากหนังจะไม่ได้แถลงเบื้องลึกเบื้องหลังการตัดสินคดีความของคณะลูกขุนมากนักว่านางจักเป็นผู้กระทำผิดหรือไม่ด้วยพยานหลักฐานใด เพราะหนังเองก็มิได้ ‘ให้ค่า’ กับการพิจารณาในโรงศาลเหล่านี้มากมาย เพราะผู้ตัดสินชี้ชะตารายสำคัญกลับเป็นฝ่ายแดเนียลผู้เป็นลูก ว่าสุดท้ายแล้วเขา ‘เชื่อ’ อย่างสนิทใจหรือไม่ว่า ‘มารดา’ มิได้เป็นคนลงมือทำ! และเมื่อหนังนำเสนอในมุมนี้ บางทีก็อาจพูดได้ไม่เต็มปากว่า Anatomy of a Fall เป็นหนังแนวพิจารณาคดีหรือ courtroom drama เนื้อหาสดใหม่ ค่าที่ตัวบทเองก็มิได้ใส่ใจว่าผู้พิพากษาและคณะลูกขุนจะคิดอ่านอย่างไร หากอาศัยพื้นที่โรงศาลเป็นสถานสำแดงหลักฐานชิ้นสำคัญ ให้ทุกคนได้รู้ได้เห็นโดยถ้วนทั่วกัน แล้ววิจารณญาณตัดสินประเมินเอาเอง!

ยิ่งกว่านั้น บทหนังยังเก่งฉกาจในการใส่ตัวละครรายสำคัญนั่นคือเจ้าสุนัขสนูป ผู้มีดวงตาที่เห็นเหตุการณ์ทุกสิ่งอย่าง ทั้งยังเป็นตัวตายตัวแทนของแซมมวลหนึ่งเดียวที่มีสิทธิและอำนาจในการพิพากษาตัดสินซันดราได้โดยดุษณี โดยเจ้าสนูปซึ่งเป็นสุนัขนำทางที่แซมมวลหามาเพื่อเป็น ‘ดวงตา’ ให้แดเนียล เจ้าสัตว์สี่ขาหน้าขนรายเดียวที่มีญาณหยั่งรู้ว่าหญิงอย่างซันดราคู่ควรต่อความรักและความศรัทธาจากคนรอบข้างหรือไม่ สิ่งมีชีวิตที่เก็บซ่อน ‘ความจริง’ ทุกอย่างไว้ภายใน หากไม่สามารถสื่อสารกับใครผ่านทางวาจาได้ ฉากอินเตอร์คัต (intercut) ที่เราเห็นศพของแซมมวลบนธารเลือดแดงซึมเกล็ดก้อนหิมะ ก่อนจะตัดมาที่เจ้าสนูปพร้อมเชือกจูงสีแดงฉาน นอนหมอบราบนิ่งนานอยู่บนเนินหิมะด้วยเช่นกัน จึงเป็นภาพที่ดูฝันหลอนมากมาย ประกอบกับคำขู่ของแซมมวลที่ให้แดเนียลระวังไว้ว่า สักวันหนึ่งเจ้าสนูปก็จะต้องล้มตาย ยิ่งขับเน้นความหมายว่าเจ้าสนูปท่าจะมิใช่สุนัขนำทางธรรมดาๆ เสียแล้วล่ะ! และเจ้าบอร์เดอร์ คอลลี่ตัวนี้เองที่เฉลยเงื่อนงำทุกอย่างให้คลี่คลายอย่างแสนเรียบง่ายในฉากสุดท้าย จนสมแล้วที่จะได้รับรางวัลพิเศษอย่างรางวัลปาล์มด็อก (Palm Dog) สำหรับการแสดงยอดเยี่ยมโดย ‘สุนัข’ ประจำปี 2023 ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ เพราะช่างทำได้ลุ่มลึกและสมบทบาทดีเหลือเกิน!

หนังวิเศษแพรวพราวขนาดนี้ แต่ตอนที่ ‘กัลปพฤกษ์’ ได้ดูจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ กลับมิได้ยกให้เป็นงานที่คู่ควรกับรางวัลปาล์มทองคำแต่อย่างใด ที่ชูป้ายไฟให้ก็เห็นจะมีแต่นักแสดงหญิงซันดรา ฮุลเลอร์ผู้รับบทเป็นซันดราได้จนอยากให้คว้ารางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยม ค่าที่เธอถ่ายทอดความเป็นซันดราออกมาได้สุดอิหลักอิเหลื่อ งงไปหมดว่าควรเชื่อหรือไม่เชื่อจนเหลือจะเผื่อใจ เกยทับพับซ้อนกันไปมาจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรในแบบที่ตัวบทต้องการอย่างไร้ที่ติ แต่ที่มิต้องตรงจริตสักเท่าไหร่ ก็เห็นจะเป็นความจงใจในการให้ข้อมูลของตัวบทในหลายๆ ช่วง ที่ดูแล้วชวนสงสัยว่าจะชัดจะตรงจะยื่นส่งกันอย่างโผงผางเกินไปไหม โดยเฉพาะช่วงที่พบคลิปเสียงที่แซมมวล อัดไว้ในไดร์ฟ เล่นเอาตกใจจนต้องร้องว้าย! ว่า “เอาจริงดิ!” แม้จะเข้าใจว่าบทก็พยายามหาวิธีอธิบายว่าตัวละครได้หลักฐานชิ้นนี้มาอย่างไร แต่เสียงที่อัดไว้นั้นก็ชวนให้สงสัยว่าอะไรมันจะโดนเป้าเข้าทางต่อการสางคดีได้อย่างจับวางขนาดนั้น! หรือตอนที่แดเนียลทดลองให้ยาแอสไพรินเกินขนาดแก่เจ้าสนูปเพื่อพิสูจน์ปากคำในอดีตบางอย่างของผู้เป็นบิดาก็เหมือนกัน คือมันต้องเล่นใหญ่ได้ซีนขนาดนั้นเลยหรือ เพียงแค่จะสื่อถึงปมปัญหาภายในที่แซมมวลเคยระบายไว้ทางอ้อม การยัดเยียดกลไกการเดินเรื่องที่ชัดเกินไปแบบนี้ทำให้เนื้อหาทั้งหมดยังมีจริตการเล่าที่ไม่ค่อยกลมกล่อม ซึ่งก็เป็นจุดที่ ‘กัลปพฤกษ์’ ไม่ขอยอมกล้อมๆ แกล้มๆ มองข้ามผ่านไปได้ เพราะเรื่องราวเช่นนี้ควรทำให้เรารู้สึกใจหายว่าทั้งหมดทั้งมวลนี้เกิดขึ้นได้ในโลกความเป็นจริงมิใช่ยิ่งเล่าก็ยิ่งฟุ้งยิ่งโม้!

แหม! ก็ช่างโชว์เหนือเก่งจริงๆ นะเรา แต่ตัวหนังได้รับรางวัล ‘ปาล์มทองคำ’ ล้ำหน้าไปไกลถึงไหนต่อไหนจากการตัดสินใจของคณะกรรมการไปแล้ว จะมาแยแสใส่ใจเสียงแว่วนินทาจากนักวิจารณ์ปากไพร่ปากปลาร้าอย่างเราไปทำไม สู้ไปโหมทำประชาสัมพันธ์หวังลุ้นรางวัลออสการ์อีกสักตัวสองตัวน่าจะดีกว่า ซึ่งถ้าจะมาเวทีนี้ก็ขอให้โชคดี เพราะนี่ก็ไม่ปฏิเสธเลยว่าสุดท้ายแล้ว Anatomy of a Fall ก็ยังถือเป็นหนัง ‘ยอดดี’ แห่งปีที่พร้อมจะแข่งสู้กับทุกเรื่อง!

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save