fbpx

อัลฟี แอตกินส์รำลึก

วันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ประเทศสวีเดนทั้งประเทศ รวมทั้งวงการวรรณกรรมเยาวชนของทั้งโลก แสดงความอาลัยต่อการจากไปของกุนนิลลา แบร์สเตริม (Gunilla Bergström) นักเขียนและนักวาด เจ้าของหนังสือเด็กชุด อัลฟองส์ โอแบร์ (Alfons Åberg) ในภาษาสวีเดน ซึ่งเป็นที่รู้จักไปทั้งโลกในชื่ออัลฟี แอตกินส์ (Alfie Atkins) ซึ่งอาจจะไม่เป็นที่รู้จักของท่านพ่อแม่ผู้ปกครองในเมืองไทยกว้างขวางนัก วันนี้ผมจึงขอนำมาเล่าให้ฟังเผื่อว่าท่านจะสนใจหามาอ่านให้บุตรหลานฟังนะครับ

อัลฟี แอตกินส์เป็นตัวละครในชุดหนังสือเด็กในชื่อเดียวกัน ที่ตีพิมพ์ออกมาครั้งแรกตั้งแต่ปี 1972 จากนั้นเล่มใหม่ๆ ในชุดเดียวกันก็ทยอยออกเผยแพร่เป็นจำนวน 40 กว่าเล่ม ตั้งแต่ตีพิมพ์ออกมาครั้งแรก หนังสือเด็กชุดนี้ก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามมาโดยตลอด มีพิมพ์ใหม่ไม่ขาดตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ทั้งยังได้รับการแปลออกไปอีกกว่า 35 ภาษา ขายไปทั่วโลกกว่าแปดล้านเล่ม

เรื่องราวของอัลฟองส์หรืออัลฟีนี้ ประกอบไปด้วยตัวละครหลักคืออัลฟี เด็กชายคนหนึ่งที่อยู่กับพ่อเลี้ยงเดี่ยวชื่อแบร์ทิล (Bertil) เขามีเพื่อนในจินตนาการคนหนึ่งชื่อมัลคอล์ม (Malcolm หรือ Mållgan ในต้นฉบับภาษาสวีเดน) จากนั้นเขาก็มีเพื่อนๆ อีกหลายคน อาทิ มิลล่า (Milla) และวิกเตอร์ (Victor) 

โลกของอัลฟีเป็นโลกอันแสนสงบสันติ เขาอยู่ในอพาร์ตเมนต์เล็กๆ กับพ่อในสตอกโฮล์ม โดยเรื่องราวของอัลฟีก็จะเป็นเรื่องธรรมดาๆ สามัญในชีวิต การตื่นนอน การกินข้าว การออกไปโรงเรียน การเล่นกับเพื่อน การชวนเพื่อนๆ มาเล่นที่บ้านหรือการสร้างเพื่อนในจินตนาการเพื่อให้มาเล่นด้วย ไปจนกระทั่งถึงการเตรียมตัวเข้านอนหรือการต่อสู้กับความกลัวความมืดในห้องนอนของตัวเอง

ผู้อ่านจะเห็นอัลฟีโตขึ้น (ในหนังสือจะมีการระบุถึงช่วงอายุของอัลฟีเสมอๆ) จากเด็กสามสี่ขวบจนเริ่มจะทำอะไรด้วยตัวเองได้ เราจะเห็นความพยายามของอัลฟีในการทำอะไรต่างๆ ให้ได้อย่างที่พ่อของเขาทำ แต่ด้วยวิธีของตัวเอง

สะท้อนโลกประชาธิปไตยสังคมนิยม

มีผู้ที่ศึกษาเรื่องราวของหนังสือเด็กชุดอัลฟี แอตกินส์นี้ว่า อัลฟีกับพ่อของเขาเป็นภาพแทนของอุดมการณ์ประชาธิปไตยสังคมนิยมของสแกนดิเนเวีย ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างพ่อลูกจะได้รับการแก้ไขด้วยกระบวนการปรึกษาหารือ พ่อกับลูกจะไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน แต่จะหาหนทางเข้าใจร่วมกันเพื่อหาฉันทมติ (consensus) แม้ว่าแบร์ทิลจะเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยวก็ตาม เขาจะเป็นพ่อที่แสดงความรักและความผูกพันกับลูกเสมอ ดังนั้นสองพ่อลูกจึงช่วยกันแก้ปัญหาทุกๆ อย่างได้เสมอในโลกของอัลฟี

ถ้าพิจารณาดูเรื่องราวที่อยู่ในอพาร์ตเมนต์เล็กๆ ของอัลฟี แอตกินส์ เขาเป็นเด็กที่รักการทำงานบ้าน จัดการกับเรื่องราวที่อยู่ในบ้าน ส่วนพ่อของเขาคือแบร์ทิล ถือเป็นกรณีตัวอย่างอันเด่นชัดของการเป็นมนุษย์อุดมคติของประชาธิปไตยสังคมนิยม นั่นคือ อยู่ในอพาร์ตเมนต์เล็กๆ ในสตอกโฮล์ม แต่งตัวแบบไม่ฟู่ฟ่า และไม่มีเครื่องเรือนหรืออุปกรณ์ใดๆ เพื่อแสดงความโอ่อ่าหรูหรา (ยกเว้นแต่การสูบไปป์) แบร์ทิลเป็นพ่อมีทัศนคติที่เน้นความเท่าเทียม และสมาชิกสังคมย่อมจะต้องเข้าร่วมกันสนับสนุนเพื่อรักษาทัศนคติความเท่าเทียมนี้เอาไว้ร่วมกัน

โลกในอพาร์ตเมนต์เล็กๆ ห้องนั้นคือโลกของอัลฟีที่ไม่มีผู้ใหญ่เข้าไปย่างกราย (แม้จะมีคุณย่ามาเยี่ยมบ้างก็ตาม) เป็นโลกที่อัลฟีจัดการด้วยตัวเองในขณะที่โตขึ้น พร้อมๆ ไปกับความช่วยเหลือของพ่อ

ประชาธิปไตยจึงเป็นดังโลกที่ห่อหุ้มให้สมาชิกภายในห้องเล็กๆ นั้นอยู่อย่างอบอุ่น (เน้นว่า ‘อบอุ่น’ ไม่ใช่ ‘ร่มเย็น’ นะครับ) สันติ และสงบ

 มีการแปลออกไปหลายภาษา (ที่มาภาพ)

ก่อเกิดตัวตนแบบประชาธิปไตยสังคมนิยม

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องราวในหนังสือเด็กชุดนี้ เราจะเห็นว่า ‘พ่อให้โลกทั้งโลกกับอัลฟี’ นั่นคือ แบร์ทิลผู้เป็นพ่อให้พื้นที่ ‘อย่างพอเหมาะพอดี’ แก่อัลฟี ทั้งการเอาใจใส่ หรือทั้งการปล่อยให้อัลฟีได้กระทำอะไรต่ออะไรได้ด้วยตนเองในอพาร์ตเมนต์เล็กๆ หลังนั้น

นี่คือตัวตนแบบประชาธิปไตยสังคมนิยมของสแกนดิเนเวีย ซึ่งพ่อ (หรือในที่นี้คือรัฐ) ปล่อยอัลฟีทำตามความคิดของตนเองได้อย่างพอดีๆ ให้ทำอะไรต่ออะไรด้วยตัวของตัวเอง แต่เมื่ออัลฟีต้องการเขา เขาจะอยู่ให้ความช่วยเหลือเสมอ แต่ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในอพาร์ตเมนต์เล็กๆ หลังนั้นนั่นเอง

รัฐจะต้องยืนยันการก่อเกิดตัวตนของพลเมือง ผู้จ่ายภาษีและเป็นแรงงานที่จะก่อร่างสร้างรัฐนี้ขึ้น ให้พื้นที่อย่าง ‘พอเหมาะพอดี’ ดังคำที่เรารู้จักกันว่าลากอม (lagom) ซึ่งเป็นคำอธิบายสังคมสแกนดิเนเวียได้อย่างพอเหมาะพอดี ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป

ราตรีสวัสดิ์ (ที่มาภาพ)

ตรรกะของความตรงกันข้าม

อันที่จริงในทางสุนทรียะ มีความน่าสนใจในการเสนอภาพของหนังสือเด็กชุดนี้ คือรูปภาพและตัวอักษรดูจะมีความตรงกันข้ามกัน ด้านพลังบรรยากาศของภาพกับเนื้อหาที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอ จึงมีผู้เรียกชุดหนังสือเด็กชุดนี้ว่าตรรกะของความตรงกันข้าม (logic of the opposite) ที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินไปของความสัมพันธ์ระหว่างอัลฟีและพ่อ

ตรรกะของความตรงกันข้ามเช่นนี้จึงทำให้เกิดความจำเป็นของผู้อ่าน (ทั้งเด็กและผู้ใหญ่) ที่จะต้องสร้างความเป็นนามธรรม (abstraction) ให้เกิดขึ้นในสายตาคนอ่าน ไปตามแต่ละประสบการณ์ของแต่ละปัจเจกบุคคลเอง ซึ่งเป็นหน่วยอันสำคัญยิ่งของเศรษฐกิจและอุดมการณ์เสรีนิยม

ความเป็นนามธรรมเช่นนี้ จึงเป็นความสำคัญอันยิ่งยวดที่ทำให้หนังสือชุดอัลฟี แอตกินส์นั้นเป็นที่นิยมเป็นทั่วโลก โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นกลางของโลกที่ต้องดำเนินชีวิตมุ่งไปสู่อุดมคติสังคมประชาธิปไตยสังคมนิยม

เพราะความเป็นนามธรรมเช่นนี้ทำให้เหล่าพ่อแม่ผู้ปกครองทำให้ลูกเห็นว่าเขา/เธอคิดเองได้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีมือที่จะยื่นเข้ามาช่วยเหลือทุกครั้งที่เกิดอุปสรรคหรือความผิดพลาดในชีวิต ซึ่งฟังดูแล้วแสนจะเป็นความตรงกันข้าม

ในอพาร์ตเมนต์เล็กๆ ห้องนั้น


อ้างอิง

– Lars Rune Waage, The Apocalypse of Scandinavian Social Democracy? A Reading of Johan Harstad’s Novel Hässelby, Scandinavian Studies Vol. 87, No. 2 (Summer 2015), pp. 234-254.

– Gunilla Lindqvist, The Aesthetic of Play: A Didactical Study of Play and Culture in Preschools, Doctoral Dissertations, Uppsala University, 1995.

– Annika Gunnarsson, synligt/osynligt: receptionen av det visuella i bilderböckerna om alfons åberg (2012)

Alfie Atkins

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save