fbpx
Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า (Photo essay)

Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า (Photo essay)

ธิติ มีแต้ม ภาพ

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย, ธิติ มีแต้ม บรรยายภาพ

 

ลมร้อนเอื่อยๆ พัดผ่านถนนวิภาวดี-รังสิต ในปลายฤดูร้อน อาคารหลากสีหลังใหญ่ตระหง่านอยู่ริมถนน ใครหลายคนเคยเปรยว่าใครที่เลี้ยวเข้าไปข้างในคือคนติดเหล้า-ยา และการกลับออกมาคือการมีชีวิตใหม่

พ้นหลังอาคารหลากสีเข้าไปด้านใน ต้นไม้น้อย-ใหญ่ขึ้นอยู่ทั่วบริเวณ กว้างสุดลูกหูลูกตา ทราบว่ากินพื้นที่กว่าสองร้อยไร่

ไม่นาน จากลมร้อนก็คลายเป็นร่มเย็น

เราได้พบกับผู้รักษาอาการติดเหล้าเรื้อรังที่เข้ามาฟื้นฟูร่างกายที่นี่ เธอส่งรอยยิ้มต้อนรับให้กับคนแปลกหน้า ใบหน้าปราศจากความกังวล ไม่ทิ้งร่องรอยจากความหวาดกลัวที่เรามักได้ยินมาเสมอว่า “คนที่เข้ามาที่นี่เสมือนถูกขังคุก” แต่เราอาจเข้าใจอะไรผิดไป ผู้หญิงที่อยู่ตรงหน้ากำลังพิสูจน์ให้เราเข้าใจเสียใหม่

“เราดื่มตั้งแต่อายุ 20 ปี เริ่มด้วยเหล้าขาว ดื่มมาเรื่อยๆ กับเพื่อนไม่เคยหยุด พอถึงจุดหนึ่งร่างกายไม่ไหว แย่มาก กินข้าวไม่ได้ เป็นลมบ่อย วันหนึ่งชักคาวงเหล้า ญาติเลยพามาส่งโรงพยาบาล”เรือง (นามสมมติ) อายุ 45 ปี ผู้ป่วยบำบัดสุราหญิง เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเข้ามาบำบัดรักษาตัวที่สถาบันธัญญารักษ์

ในวัยเด็กเรืองบอกว่าเขาใช้ชีวิตแบบ “เกเรสุดเหวี่ยง” ตั้งแต่ขโมยเงินไปเล่นไพ่ “ป๊อกเด้ง” ไปจนถึงขโมยเหล้าจากร้านขายของชำที่บ้านไปแบ่งเพื่อน ตั้งวงร่วมดื่ม

สำหรับเรือง ช่วงเวลาที่ได้ดื่มเหล้าคือช่วงเวลาที่เธอนิยามว่า “สนุกมาก” ทำให้การดื่มเหล้ากลายเป็นกิจวัตรประจำวัน ที่ควบคู่ไปกับการทำงานก่อสร้างและดูแลต้นไม้ที่รีสอร์ทของญาติ

กระทั่งเกิดเหตุการณ์ชักคาวงเหล้าขึ้น เรืองเล่าว่า “เมื่อบำบัดรอบแรกเสร็จ ก็กลับไปดื่มกับเพื่อนต่อ แล้วก็โดนส่งตัวกลับมาใหม่ วนเวียนแบบนี้อยู่สามรอบ จนรอบที่สี่ ร่างกายและจิตใจบอกว่าต้องเอาชนะให้ได้ นอกจากบำบัดรักษาด้วยยา ก็เข้ากิจกรรมบำบัดฟื้นฟูและฝึกอาชีพ”

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี หรือสถาบันธัญญารักษ์เดิม เป็นหนึ่งในไม่กี่โรงพยาบาลที่มีหอบำบัดผู้ป่วยสุราโดยเฉพาะ และยังรับบำบัดผู้ติดสารเสพติดทุกชนิด

การบำบัดของสถาบันธัญญารักษ์ครอบคลุมตั้งแต่การบำบัดด้วยยา การฟื้นฟูร่างกายและฝึกอาชีพ ควบคู่ไปกับการจัดการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) สำหรับผู้ป่วยที่สนใจด้วย

เรืองบอกว่า หลังจากบำบัดรักษาด้วยยาเสร็จแล้ว ผู้ป่วยสามารถลงมาสังเกตการณ์กิจกรรมการบำบัดฟื้นฟูและการฝึกอาชีพ หรือที่เรียกกันว่า “ดูงาน” และหากผู้ป่วยต้องการจะเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูและฝึกอาชีพต่อ ก็สามารถทำได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

“ตอนที่บำบัดด้วยยา เราไม่ต้องทำอะไรเลยเพราะมีคนช่วยทุกอย่าง แค่กินกับนอนเพื่อให้ร่างกายเตรียมพร้อม  แต่พอตัดสินใจจะรับการฟื้นฟู เราจะกังวลเรื่องกฎที่เข้มงวดมากขึ้น แรกๆ ก็กลัวเรื่องกฎระเบียบนี่แหละ แต่พอเข้าใจ เราก็ไม่กลัว” เรืองอธิบายถึงการที่เธอไม่เข้าบำบัดฟื้นฟูในสามครั้งแรก ทำให้เธอต้องเข้าๆ ออกๆ การรักษาตัว จนต้องมาถึงสี่ครั้ง

เรืองบอกอีกว่า การบำบัดฟื้นฟูจะมีตารางเวลาชัดเจน มีการแบ่งหน้าที่งานกันทำในกลุ่มผู้เข้าบำบัด จากที่เคยกลัวกฎระเบียบ แต่เธอกลับมองใหม่ว่าการมีกฎดีกว่าไม่มี ทำให้เธอรู้สึกว่าได้ช่วยให้เลิกเหล้าได้จริงๆ

“บางคนอาจจะมองว่าที่นี่เหมือนเรือนจำ เหมือนถูกกักขัง แต่ที่นี่ไม่ได้เป็นแบบนั้น บรรยากาศดี พยาบาลใจดี เพื่อนๆ น่ารัก และอาหารอร่อย” เรืองยิ้ม

“ถ้ากลับไปคราวนี้ เพื่อนชวนดื่มเหล้าอีกจะทำยังไง” เธอถูกท้าทาย

“ไม่แล้วแน่นอน” เรืองตอบทันทีด้วยน้ำเสียงหนักแน่นและว่า “ที่นี่สอนให้เราปฏิเสธเป็น คำว่าเพื่อนยังคงเหมือนเดิม แค่เราไม่ดื่มเท่านั้นเอง”

เรืองกำลังจะออกไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ เธอบอกจะกลับไปทำงานที่รีสอร์ท ช่วยญาติดูแลต้นไม้เหมือนเดิม เพราะได้ฝึกอาชีพการเกษตรจากที่นี่เพิ่มมาแล้ว เธอทำได้ตั้งแต่เพาะต้นกล้า จนดูแลต้นไม้ทั้งสวนได้

เป็นไปได้ว่าจากที่ร่างกายร้อนด้วยฤทธิ์เหล้า พอเข้าบำบัดฟื้นฟู เรืองก็กลายเป็นคนมือเย็น

จากสถิติของกรมสุขภาพจิตในปี 2556 พบว่ามีผู้ติดสุราประมาณ 2.7 ล้านคน และประมาณร้อยละ 3.5 มีภาวะติดสุรา ถึงจะมีระบบการบำบัดสุรา แต่ก็พบว่าผู้ที่เข้าสู่ระบบมีไม่เกินร้อยละ 7 เท่านั้น

คำถามสำคัญคือ ทำไมผู้ป่วยถึงไม่เข้ารับบริการบำบัดรักษา นี่คือโจทย์ใหญ่ที่สังคมไทยกำลังแบกรับ

ไม่มีเงิน ไม่มีเวลา ขาดความเข้าใจว่าตนเองต้องไปที่ไหน หรือการติดภาพว่าการบำบัดเหล้าต้องเข้าไปอยู่ในที่น่ากลัว หรือกระทั่งกลัวว่าสังคมจะรู้และถูกตราหน้าว่าเป็นคนขี้เหล้า ก็อาจเป็นไปได้ทั้งหมด

ภาพชุดนี้พยายามทำความเข้าใจจังหวะชีวิตของผู้ติดเหล้าที่เข้าบำบัดรักษาในสถาบันธัญญารักษ์ นอกจากแสงสว่างที่ผู้เข้าฟื้นฟูจะได้พบด้วยตัวเองแล้ว อาจเป็นแสงสว่างของความเข้าใจใหม่ว่า ถ้าการติดเหล้าน่ากลัวสำหรับใครหลายคน การเลิกเหล้าก็จำเป็น และกระบวนการเลิกเหล้าไม่ได้น่ากลัวเสมอไป

 

1. เรือง (นามสมมติ) อายุ 45 ปี หนึ่งในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่สถาบันธัญญารักษ์ ที่อาการพิษสุราเรื้อรังได้หมดลงไปแล้ว จากที่ก่อนหน้านี้เธอมีอาการถอนพิษรุนแรง เช่น ชัก เพ้อสับสน ซึ่งอาจนำไปสู่อุบัติเหตุหรือโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ การได้รับการบำบัดรักษาเร็วเท่าไหร่ โอกาสในการหายจากพิษสุราก็มีมากขึ้นเท่านั้น

 

2. เมื่อผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรังเข้าสู่สถาบันธัญญารักษ์แล้ว พวกเขาต้องเริ่มทำการบำบัดรักษาด้วยยาก่อน เพื่อให้ร่างกายหายจากอาการถอนพิษ ก่อนเตรียมก้าวสู่ขั้นตอนต่อไปคือการฟื้นฟู ในภาพเป็นผู้ป่วยชายที่อยู่ในช่วงบำบัดด้วยยากำลังเข้ารับการตรวจร่างกายประจำวัน

 

3. เมื่อร่างกายแข็งแรงและหายจากอาการพิษสุราเรื้อรังแล้ว ผู้ป่วยบางคนเลือกที่จะกลับบ้าน แต่บางคนเลือกที่จะทำการบำบัดฟื้นฟูร่างกายต่อ ดังเช่นผู้ป่วยในภาพ พวกเขากำลังรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ก่อนจะแยกย้ายไปทำการฝึกอาชีพต่อในช่วงบ่าย

 

4. สมาชิกผู้ป่วยนั่งล้อมวงกันเพื่อฟังเพื่อนสมาชิกแบ่งปันประสบการณ์จากการติดสุราและสารเสพติด ส่วนสีชุดที่แตกต่างกันของผู้ป่วยไม่ใช่การอิงตารางเสื้อสีมงคลแต่อย่างใด แต่สีต่างๆ บอกสถานะที่แตกต่างกันของผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยที่สวมชุดสีม่วงเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในระยะบำบัดรักษาด้วยยา ขณะที่ผู้ป่วยในชุดสีชมพูเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในระยะฟื้นฟูร่างกาย

 

5. ช่วงบ่ายของวัน หากไม่มีการฝึกอาชีพ ผู้ป่วยจะเข้าประชุมกลุ่มโดยนำหลักการของ ‘สมาคมผู้ติดยาเสพติดนิรนาม’ (Narcotic Anonymous: NA) มาประยุกต์ใช้ อาทิ การผลัดกันอ่านข้อความที่เปลี่ยนความเชื่อเก่าๆ และให้แรงบันดาลใจ

 

6. ก่อนการประชุมจะจบลง ผู้ป่วยจะลุกขึ้นยืนจับมือกัน พร้อมทั้งเปล่งเสียงด้วยความมุ่งมั่นว่าตนเองจะไม่กลับไปติดสุราหรือใช้สารเสพติดทุกชนิดอีก

 

7. ที่หน้าตึกบำบัดฟื้นฟู รองเท้าของผู้ป่วยวางเรียงรายกันอยู่ บางคู่เขียนชื่อ บางคู่วาดรูป สร้างความแตกต่างและเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นอีกหนึ่งในภาพสะท้อนตัวตนของผู้ป่วย

 

8. การฝึกอาชีพช่างไม้เป็นที่นิยมในหมู่ผู้ป่วยชาย โดยที่สถาบันฯ มีโรงไม้และอุปกรณ์เครื่องมือครบครันไว้ให้ฝึกทักษะ เริ่มตั้งแต่การขัดไม้ ฝึกใช้เครื่องมือช่าง ไปจนถึงการประกอบเฟอร์นิเจอร์ เช่น โต๊ะหรือเก้าอี้

 

9. ภายในห้องเรียนเสริมสวยที่มีบรรยากาศคล้ายกับร้านทำผมทั่วไป ผู้ป่วยหญิงที่เลือกเรียนเสริมสวยกำลังฝึกทักษะต่างๆ พวกเขาผลัดกันเป็นลูกค้าและช่างทำผม โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด

 

10. การฝึกอาชีพเกษตร เป็นการฝึกอาชีพที่ผู้ป่วยทั้งชายและหญิงเลือกเรียนรู้ ที่สถาบันฯ จะมีสวนและแปลงผักขนาดใหญ่ไว้ให้ฝึกตั้งแต่เริ่มเพาะต้นกล้า เจ้าหน้าที่สถาบันฯ บอกว่า ผักที่ผู้ป่วยปลูกร่วมกันเป็นผักปลอดสารพิษที่นำมาใช้ประกอบอาหารในสถาบันฯ ด้วย

 

11. แม้ในช่วงการบำบัดฟื้นฟูจะมีกฎเกณฑ์ที่ค่อนข้างเข้มงวด แต่ช่วงเวลาผ่อนคลาย เช่น การเต้นแอโรบิกหลังการประชุมกลุ่มด้วยเพลงลูกทุ่งจังหวะสนุกสนาน มีอาสาสมัคร 2-3 คนเต้นนำอยู่ด้านหน้า ก็เป็นกิจกรรมที่เรียกทั้งเหงื่อและรอยยิ้มจากผู้ป่วยทุกคนได้

 

____________________________

เผยแพร่ครั้งแรกที่ Alcohol Rhythm

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save