fbpx
วัดจุดแข็งจุดอ่อนจีน-สหรัฐฯ ด้าน A.I.

วัดจุดแข็งจุดอ่อนจีน-สหรัฐฯ ด้าน A.I.

อาร์ม ตั้งนิรันดร เรื่อง

 

การแข่งขันด้านเทคโนโลยีที่เป็นเดิมพันสำคัญว่าใครจะเป็นผู้นำเทคโนโลยีโลกในอนาคต ก็คือ การแข่งขันด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ A.I. ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

 

ตอนนี้จีนออกโรงทุ่มสุดตัว มีการประกาศแผนการใหญ่ A.I. 2030 ตั้งเป้าเป็นผู้นำโลกด้าน A.I. ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2030 และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สีจิ้นผิงเพิ่งจัดประชุมกรรมการกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์นัดพิเศษเรื่องนโยบาย A.I. โดยเฉพาะ พร้อมประกาศว่า การพัฒนา A.I. นับเป็นวาระสำคัญของชาติ ซึ่งจะตอบโจทย์ความท้าทายของจีนทั้งในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

จุดแข็งของจีนในเรื่อง A.I. อยู่ที่ปริมาณข้อมูลมหาศาล จีนมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ต 800 ล้านคน และมีการใช้จ่ายเงินผ่านมือถือมากกว่าในสหรัฐฯ 50 เท่าตัว ซึ่งทำให้สามารถเก็บข้อมูลพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคปริมาณมหาศาลได้อย่างง่ายดาย

มีคนเปรียบเทียบว่า ข้อมูลนั้น เป็นเสมือน ‘เชื้อเพลิง’ ของ A.I. เพราะหัวใจสำคัญของเทคโนโลยี A.I. คือ การป้อนข้อมูลให้ A.I. เรียนรู้และปรับปรุงความฉลาดและความแม่นยำของตัวเอง เช่น ถ้าเราต้องการให้ A.I. เรียนรู้ที่จะแยกแยะรูปหมากับแมว ยิ่งเราใส่รูปหมากับแมวเข้าไปเยอะเท่าไร A.I. ก็จะยิ่งมีความสามารถแม่นยำขึ้นในการแยกแยะรูปหมากับแมว

เหมือนกับที่ Alpha Go ซึ่งเป็น A.I. ของ Google เล่นหมากกระดานโกะชนะแชมป์โลก ก็เพราะ Alpha Go ได้รับการป้อนข้อมูลตัวอย่างรูปแบบการเล่นโกะปริมาณมหาศาล รวมทั้งถูกโปรแกรมให้ฝึกเล่นแข่งกับตัวเองไปมาอีกไม่รู้กี่ล้านนัด ภายใต้ความเร็วติดจรวดของการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ในยุคปัจจุบัน

ปริมาณข้อมูลมหาศาล ยังมาจากการที่จีนมีกฎเกณฑ์เรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่อ่อนกว่าในประเทศตะวันตก แถมคนจีนเองมักไม่สนใจเรื่องสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลสักเท่าไรด้วย เพราะคุ้นชินกับการปกครองแบบพรรคเดียวที่รัฐมีบทบาทสูงในการควบคุมสังคมและพลเมือง ปัจจัยเหล่านี้ยิ่งเป็นตัวทำให้จีนมีปริมาณข้อมูลมหาศาลในภาคส่วนต่างๆ สามารถนำเอาไปป้อนให้ A.I. ได้พัฒนาความฉลาดและความแม่นยำขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว

จุดแข็งอีกอย่างของจีน ก็คือ นโยบายส่งเสริม A.I. ของรัฐบาลจีน ซึ่งมักใช้วิธีส่งเสริมให้รัฐบาลท้องถิ่นทดลองนำ A.I. ไปปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยให้ร่วมมือกับเอกชนนำ A.I. ไปปรับใช้ในเรื่องการจราจร สาธารณสุข การเกษตร การศึกษา ฯลฯ ทำให้มีตัวอย่างการปรับใช้ A.I. ที่หลากหลาย มีการพัฒนารูปแบบการนำ A.I. มาประยุกต์ใช้มากมาย ขณะเดียวกันก็สามารถเก็บข้อมูลมหาศาลมาป้อนให้ A.I. ในแต่ละด้านได้พัฒนาและปรับปรุงความฉลาดและความแม่นยำขึ้นอย่างรวดเร็ว

สีจิ้นผิงเองยังได้ประกาศแผนสร้าง ‘มหานคร A.I.’ ขึ้นที่เมืองสงอัน ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ปักกิ่ง ในปัจจุบันสงอันยังเป็นทุ่งชนบท ไม่มีอะไรเลย แต่ฝันใหญ่ของสีจิ้นผิงต้องการจะเนรมิตให้สงอันเป็นตัวอย่างของเมือง A.I. สมบูรณ์แบบ

ตอนนี้เริ่มมีการพูดกันว่า ในแผนเมืองสงอัน มีการออกแบบถนนสำหรับรถไร้คนขับ (Self-driving Car) โดยเฉพาะ โดยจะทำเป็นถนนใต้ดินทั้งหมด เพื่อที่จะสามารถควบคุมแสงได้ เพราะถนนบนดินไม่เหมาะกับรถไร้คนขับ เนื่องจากปัจจัยเรื่องแสงอาทิตย์ที่สว่างแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา อาจทำให้ A.I. ที่ควบคุมรถจับเซ็นเซอร์สภาพแวดล้อมรอบรถผิดพลาดได้ ความคิดการออกแบบเมืองใหม่นี้เป็นแผนการใหญ่ที่แม้แต่ฝรั่งเองยังตกใจ เพราะฝรั่งมักคิดเพียงว่า จะพัฒนารถไร้คนขับอย่างไรให้ขับได้ในถนนปัจจุบัน แต่จีนถึงขั้นกล้าฝันกล้าจินตนาการถึงการออกแบบเมืองและถนนรูปแบบใหม่ที่เหมาะสำหรับ A.I. โดยเฉพาะ   

จะเห็นว่าจีนได้เปรียบเรื่องข้อมูลและการกล้าฝันกล้าทดลอง แต่อย่าเพิ่งด่วนสรุปนะครับว่าจีนจะชนะศึกเทคโนโลยี A.I. อย่างแน่นอน เพราะสหรัฐฯ เองก็มีความแข็งแกร่งไม่เบาเช่นกัน โดยจุดแข็งหลักของสหรัฐฯ อยู่ที่พลังความคิดสร้างสรรค์และพลังฝีมือของนักเทคโนโลยี A.I. สหรัฐฯ ที่ยังเป็นที่ 1 ของโลกครับ

ดังนั้น ถ้าต่อไปจะมีการคิดค้นโมเดลแนวคิดใหม่ที่พลิกโฉมเทคโนโลยี A.I. ในปัจจุบัน หลายคนก็ยังคิดว่า โอกาสน่าจะเกิดในสหรัฐฯ มากกว่า เพราะสหรัฐฯ เป็นสังคมที่เปิดกว้าง และมีสภาพแวดล้อม รวมทั้งปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้คนมีความคิดสร้างสรรค์และคิดฉีกกรอบเดิมๆ

จีนนั้นมีความได้เปรียบในยุคปัจจุบัน เพราะโมเดลแนวคิดของเทคโนโลยี A.I. ในปัจจุบันที่เรียกว่า Deep Learning นั้น อาศัยหัวใจคือปริมาณข้อมูลมหาศาล แต่ถ้าในอนาคตเกิดมีโมเดลแนวคิด A.I. ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างพลิกโฉม (เช่นมีวิธีที่คอมพิวเตอร์สามารถคิดเองได้เหมือนมนุษย์ โดยไม่จำเป็นต้องป้อนข้อมูลมหาศาลเข้าไปให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้) จุดนั้นก็อาจจะพลิกเกมได้อย่างรวดเร็ว

ยิ่งถ้าคนที่คิดค้นโมเดลแนวคิดใหม่เป็นบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ เช่น Google แทนที่จะเป็นมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัย ก็จะมีโอกาสที่บริษัทเทคโนโลยีที่คิดค้นได้จะผูกขาดและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ในช่วงแรก จนนำหน้าคู่แข่งไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะคู่แข่งยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีนั้นๆ

ปัจจุบัน Google นับว่าเป็นบริษัทที่ทุ่มทุนกับการทำ R&D เพื่อวิจัยทฤษฎีพื้นฐานของ A.I. มากกว่าบริษัทอื่น ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทเทคโนโลยีจีน จะพบว่าส่วนใหญ่มักทุ่มทุนในการวิจัยเชิงประยุกต์หรือเน้นนำเอาเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วไปใช้ มากกว่าจะวิจัยเพื่อเสาะหาโมเดลแนวคิดใหม่ที่จะพลิกโฉมเทคโนโลยี A.I. จากรูปแบบ Deep Learning ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน  

นี่จึงเป็นความยากในการทำนายภาพอนาคตของการแข่งขันด้านเทคโนโลยี A.I. ตัวจีนนั้นมีความได้เปรียบในเรื่องข้อมูลและการประยุกต์ใช้ (data and implementation) ขณะที่สหรัฐฯ มีความได้เปรียบในเรื่องทักษะชั้นสูงและการค้นพบสิ่งใหม่ (expertise and discovery)

แต่การค้นพบสิ่งใหม่ที่พลิกโฉมรูปแบบการคิดเทคโนโลยีเดิมนั้น ประวัติศาสตร์ด้านเทคโนโลยี A.I. บอกเราว่า 40 ปี หรือยาวนานกว่านั้น จึงจะมีราวครั้งหนึ่ง (หรืออาจไม่มีอีกเลยก็ได้)

 

ระหว่างนี้ ก็อย่าตกใจ ถ้าพี่จีนจะมาแรงแซงหน้าสหรัฐฯ เรื่อง A.I. ไปเสียก่อน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save