fbpx

Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา

ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ เรื่อง

 

 

Q : หนูชวนพ่อแม่คุยเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ค่ะ รู้อยู่แก่ใจว่าประเด็นการเมืองนี่เสี่ยงจะเถียงกันใหญ่โต แต่รัฐธรรมนูญมันคือเรื่องพื้นฐานของชีวิตพวกเรานี่นา ทีนี้ คุยยังไงๆ พ่อกับแม่ก็ไม่เข้าใจซะทีว่าทำไมต้องอยากแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย ลุงพอมีวิธีดีๆ แนะนำไหมคะ – ตัวดื้อ

 

A : ตอบคุณตัวดื้อ

“ไม่มีครับ”

คงเป็นคำตอบของลุง ถ้าคุณมาถามก่อนหน้านี้สักเดือนหนึ่ง คือเป็นการยากที่เราจะเปลี่ยนใจคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีความสำคัญต่อเราอย่างพ่อแม่ จะพูดจะจากันมันละเอียดอ่อนไปหมด แต่ตอนนี้สถานการณ์มันเปลี่ยนไป อาจจะเป็นเพราะชัยชนะอันว่างเปล่าหลังการยุบพรรคที่รัฐบาลกลัวมาก ชัยชนะที่ยิ่งกลวงโบ๋ไร้ความสง่างามหลังจากที่ได้รับเสียงโหวดไว้วางใจ แม้ว่าจะโดนแทงเข้าที่สำคัญจนไส้ไหลไตทะลุจากการอภิปรายโดยฝ่ายค้านหลายประเด็นก็ตาม

โดยปกติแล้วหลังปิดสมัยการประชุม รัฐบาลก็จะทำเงียบๆ ตามเกมแล้วก็ปรับคณะรัฐมนตรี (พูดง่ายๆ คือตัดติ่งเน่าเฟะทิ้งเพื่อรักษาชีวิตตนเอง สับไพ่ ผ่องถ่ายผลประโยชน์ รักษาภาพพจน์ ตามแต่จะเรียก) เป็นกลไกที่ปฏิบัติกันมาหลายสมัย แต่บังเอิญว่าตอนนี้มันไม่ธรรมดา

ตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 วีรกรรมของรัฐบาลมีแต่ดีๆ ทั้งนั้น ขวัญของชาวบ้านไม่เคยตกต่ำขนาดนี้นับจากคราวที่น้ำท่วมใหญ่ (แต่คราวนี้น่าจะหนักกว่า) รวมทั้งความนิยมที่เคยมีฐานอยู่บ้างกำลังลงเหว นี่เราจะไม่พูดถึงคนที่ด่ารัฐบาลอยู่เป็นปกติ แต่เราจะพูดถึงคนอีกพวกหนึ่ง คนที่อาจจะเฉยๆ หรือสนับสนุนรัฐบาลอยู่บ้าง ซึ่งพอโดนวีรกรรมรัฐบาลหนักๆ เข้า เห็นได้เลยว่าคนเหล่านี้จากที่เป็นกลางก็เริ่มบ่น จากที่เคยวิจารณ์ด้วยถ้อยคำสุภาพก็เริ่มมีอารมณ์เหมือนกัน ทนไม่ไหว ใช้วาจาหยาบคายชนิดไม่ไว้หน้า นี่เป็นสิ่งที่ลุงรับรู้จากเพื่อนและคนรู้จักหลายกลุ่ม ช่วงเวลาซึ่งแฟนๆ รัฐบาลเริ่มเอาใจออกห่างเพราะนางทำตัวเองแบบนี้ เป็นช่วงเหมาะที่จะคุยกับพ่อแม่

เปล่านะ ไม่ใช่เหมาะเพราะเราจะได้ซ้ำเติม ทำนอง “ฉันบอกเธอแล้ว…” ไม่ใช่ช่วงเวลาที่เราจะไปสมน้ำหน้าเขา (คุณอาจจะคันปาก แต่ลุงอยากให้เก็บอาการ) แต่จะต้องเข้าไปในฐานะลูก หาทางเปิดประเด็นคุยกัน พยายามแตะเรื่องที่มาของอำนาจ (ถ้านี่คือเหตุผลหนึ่งที่คุณอยากแก้รัฐธรรมนูญนะ) แต่ควรรอให้พ่อแม่เริ่มบ่นรัฐบาลก่อน แบบว่าคุณอาจจะถามเรื่องหาหน้ากากไม่ได้ หรือเรื่องกักตัวคนไทยไปต่างประเทศ 14 วันแต่ต่างชาติจากประเทศกลุ่มเสี่ยงสามารถเข้ามาเฉิดฉาย อะไรที่มันจับต้องได้ พูดง่ายๆ คือชวนให้พ่อแม่บ่นรัฐบาล ซึ่งเท่ากับดึงคุณและพ่อแม่ให้มาอยู่บนระนาบเดียวกัน

ก่อนหน้านี้ คุณกับพ่อแม่อาจอยู่คนละระนาบเพราะเห็นต่าง เถียงกันให้ตายก็ไม่จบเพราะไม่มีใครฟังใคร แต่ตอนนี้พลเอกประยุทธ์ได้มอบโอกาสให้คุณตัวดื้อแล้ว

จงไขว่คว้าไว้

 

Q : ช่วงนี้น้องๆ นักเรียน นักศึกษาออกมาชุมนุมกันหลายที่เลย ยอมใจในสปิริต ลุงคิดยังไงกับการเคลื่อนไหวของพวกเขาคะ ถ้าจะแนะนำอะไรสักอย่าง ลุงจะแนะนำอะไร – ต้นไม้

 

 

A : ตอบคุณต้นไม้

จริงๆ แล้วมันกระดากที่จะแนะนำเด็กๆ เกี่ยวกับการประท้วงซึ่งเป็นยุคสมัยของเขา เพราะลุงรู้สึกว่าตัวเองโบราณมาก ยกตัวอย่างเรื่องแฮชแท็กที่เด็กแต่ละสถาบันออกมาแสดงตัว คือถ้าเป็นรุ่นลุงนี่จะมองว่า เฮ้ย ไม่ได้นะเธอ แฮชแท็กไม่เหมือนกันมันก็ไม่มีเอกภาพน่ะสิ มันจะมีจุดยืนร่วมกันได้ยังไง ปรากฏว่าได้แหะ และแฮชแท็กนี่แหละคือหนึ่งในสิ่งที่น่าสนใจของการประท้วงเลย คือคนสนใจมาดูแฮชแท็กกันมากมาย รักใครชอบแฮชแท็กใครก็ว่ากันไป

ไปเจอบทความสั้นๆ ของคุณ Mike Segalov ในเว็บว่าด้วยการประท้วงที่อังกฤษ เขาแนะนำนักประท้วงมือใหม่วัยเรียนไว้อย่างน่าสนใจ เลยขอยืมเขามาคุยต่อตรงนี้

ถามตัวเองก่อนว่ามาทำไม เขาประท้วงอะไรกัน ข้อเรียกร้องคืออะไร ตอบตรงนี้ได้แล้วค่อยไปต่อ

เรามาเพื่อต่อสู้ในเรื่องสำคัญ แต่ก็อย่าลืม have fun คือการยืนถือป้ายหลายๆ ชั่วโมงนี่มันไม่ใช่เรื่องสนุก ต้องหาความสนุกบ้างอะไรบ้างให้ชั่วโมงที่ผ่านไปไม่น่าเบื่อ แม้ตอนนี้เรายังเป็น flash mob มาแล้วก็ไป แต่สิ่งหนึ่งที่จะทำให้การประท้วงอยู่ในความสนใจของผู้คนคือมันต้องยืดเยื้อ ถ้าถึงตอนที่ต้องยืดเยื้อก็ควรจะทำใจและเตรียมตัวไว้ด้วย

ไม่ว่าพี่ตำรวจจะมายั่วเย้าเราอย่างไร ให้เฉยไว้ คือพอถึงเรื่องของการใช้กำลังแล้วเราคงสู้เขาไม่ได้ นอกจากเธอจะเป็นสายบู๊ ไม่มีอะไรจะทำให้คนที่มายั่วเย้าหงุดหงิดได้เท่ากับความนิ่งเฉย

กระดาษเอสี่ที่พรินต์มาก็ดีอยู่ แต่ลุงอยากเห็นมากกว่านี้ ถ้อยคำนั้นสำคัญถ้ามันตลก คม และโดนด้วยความหมาย แต่รูปแบบการนำเสนอก็สำคัญเหมือนกันนะ

ถ้ามีการเปลี่ยนแผนการประท้วง อย่าป๊อด ให้ตามเขาไป (หากดูสถานการณ์แล้วคิดว่ามันปลอดภัย) คือการประท้วงนี่บางทีมันไม่มีกำหนดการตายตัว บางทีมันก็มี improvise บ้าง

สิ่งที่ควรมีติดตัวนะ: ขวดน้ำ, พาวเวอร์แบงค์สำหรับมือถือ, อุปกรณ์กันฝน (ไม่กี่เดือนก็เข้าหน้าฝนแล้ว), ของกินเล่น (คือการลุกจากที่เพื่อไปเซเว่นแถวนั้นเพราะหิว อาจทำให้เราเสียที่ดีๆ ในที่ชุมนุม มีของกินติดตัวเสียหน่อย เผื่อแผ่คนรอบข้างได้อีก ความสัมพันธ์และเพื่อนใหม่ใจเดียวกันคืออีกความสนุกของการไปประท้วง)

ถ่ายรูปแล้วโพสต์ ให้เขาเห็นให้ทั่ว

ลุงอยากจะบอกว่าการประท้วงเป็นประสบการณ์วัยรุ่นที่มีค่ามาก คือเราไปเพื่อเรียกร้องสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเรา เราไปเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่สักวันอาจจะยิ่งใหญ่ เราไปเพื่อพบกับบรรยากาศแบบ rock concert แต่มันเป็นเรื่องการเมือง เราก็เป็นเจ้าของประเทศคนหนึ่งเนอะ ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นยังไง แต่ประสบการณ์ที่ได้เข้าร่วมการประท้วงจะอยู่ในความทรงจำของเธอ

ขอให้ประท้วงอย่างสนุก ปลอดภัย และได้ชัยชนะ

 

 

Agony uncle หมายถึง ชายเจ้าของคอลัมน์ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตทั่วไป (ถ้าเป็นหญิงตอบก็ต้องเรียก agony aunt) ลุงเฮม่าตอบปัญหาในโลกยุคใหม่ที่เราทึกทักเอาเองว่าไร้กฎเกณฑ์ แต่ถ้าโลกมันไร้กฎเกณฑ์ขนาดนั้น เราคงอยู่ร่วมกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ได้ลำบาก

สำหรับน้องๆ ที่ไม่เอากฎเกณฑ์ ลุงพอเข้าใจนะเพราะเคยเป็นเด็กมาก่อน เพียงอยากจะบอกว่าคุณจะแหกกฎได้เก่ง แหกแล้วมันให้ประโยชน์แก่ตัวเราและผองเพื่อนมนุษย์ ก็ต่อเมื่อคุณรู้กฎเกณฑ์แล้วเท่านั้น

**ส่งคำถามมาได้ที่ [email protected]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022