fbpx
Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา

Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา

ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

Q : ลุงคะ เวลาฝรั่งบอกเวลาอย่าง half past ten กับ 10:30 มันต่างกันยังไง ทำไมต้องพูดไม่เหมือนกัน แล้วก็พูดว่า half past ten นี่คือเป็นงานเป็นการกว่าหรือเปล่า – โรเซ่

 

 

A : ตอบคุณโรเซ่

อาศัยค้นข้อมูลตามแหล่งที่ใครๆ เขาก็ใช้ค้นหากัน จึงได้คำตอบมาบอกคุณ แถมด้วยแง่มุมอื่นเกี่ยวกับการบอกเวลาแบบฝรั่งซึ่งลุงเห็นว่ารู้ไว้ไม่เสียหาย

คำตอบแรกนั้นพลิกล็อกเลยครับ

ด้วยความที่เป็นคนไทย และภาษาอังกฤษก็ไม่ใช่ภาษาพ่อภาษาแม่ เรารับการสั่งสอนจากคุณครูวิชาภาษาอังกฤษให้พูดจาบอกเวลาอย่างฝรั่ง อย่างเวลา 6:15 น. ก็ต้องพูดว่า quarter past six (ถ้าโรงเรียนมาสายภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน คุณครูก็จะเปลี่ยนจาก past เป็น quarter after six) หลังจากนั้นเรามาเรียนรู้กันเองจากชีวิตประจำวันว่ายังมีอีกวิธีบอกเวลาที่บอกกันตรงๆ ง่ายๆ เป็น six fifteen ลุงมารู้เอาจากเพจของบีบีซีว่าการบอกเวลาอย่าง quarter past six คือภาษาพูด ส่วน six fifteen หรือถ้าเวลา 10:30 แล้วบอกว่า half past ten คือการบอกเวลาซึ่งเป็นงานเป็นการ

สอบถามคนไทยหลายๆ คนต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวว่า นึกว่า quarter past six เป็นภาษาทางการ อาจเป็นเพราะ six fifteen มันใกล้เคียงกับ 6:15 น. มันจึงดูง่ายกว่าสำหรับเราก็เป็นได้

ฝรั่งยังมีวิธีบอกเวลาอย่างอื่นอีกนะครับ ซึ่งดูเหมือนจะง่าย แต่กลับมีจุดบอดชวนให้งง เคยเห็นตัวย่อ a.m. กับ p.m. ใช่ไหม ตำราบอกว่ามันมาจากภาษาละติน ante meridiem และ post meridiem หมายถึงก่อนและหลังเที่ยงวัน

ถ้าเป็นระบบนี้ ซึ่งคนอเมริกันชอบใช้มากกว่าชาติอื่น เวลา 6:15 ก็จะเป็น 6:15 a.m. ถ้าเป็นตอนเย็นก็จะเป็น 6:15 p.m. ตามระบบที่บอกเวลาด้วย 12 ชั่วโมง แทนที่จะเป็น 24 ชั่วโมง

ระบบ a.m. และ p.m. นี้ดูเผินๆ ก็เหมือนจะดี แต่มาเกิดปัญหาตอนที่จะต้องบอกเวลาเที่ยงวันและเที่ยงคืน คือตอนเที่ยงวันเขาบอกเวลาว่า 12 p.m. ส่วนเที่ยงคืนบอกเวลาว่า 12 a.m. ฟังดูหกคะเมนตีลังกายังไงๆ อยู่ เพราะอยู่ดีๆ หนึ่งชั่วโมงหลังจาก 11:00 a.m. กลายเป็น 12 p.m. ดื้อๆ ทั้งนี้เพราะเขายึดหลักว่ามันเป็นเวลาซึ่งแตะเที่ยง จึงต้องลงท้ายว่า p.m.

ส่วนใหญ่พอมาถึงตรงนี้เขาจะพูดว่า noon หรือ midnight ไปเลย จะได้ไม่งง

นอกนั้นยังมีระบบที่เรียกว่าระบบทหารหรือ military system ใช้ระบบที่บอกเวลาด้วย 24 ชั่วโมง ดังนั้นเวลา 6:15 p.m. ทหารก็จะบอกว่า 18:15 ไม่งงแน่ๆ เวลาพูดทหารก็พูดว่า eighteen fifteen ถ้าเป็นเวลาก่อนเที่ยงอย่าง 6:15 ก็จะขานเวลาว่า zero six fifteen หรือถ้าเป็นสบายๆ แบบตามระเบียบพักก็จะเป็น zero six one five

ขึงขังซะ

ซึ่งคงไม่เข้าปากคนอย่างเราๆ ท่านๆ แม้การบอกเวลาระบบทหาร จะเป็นระบบที่ชัดเจน ไม่มีงง แต่ทื่อๆ ตรงๆ แบบทหารนี่คงไม่ไหว

ขอเป็นพลเรือน มีผิดมีถูกได้นิดๆ หน่อยๆ สบายใจกว่า

Q : นี่ผมกับแฟนจองโรงแรมรีสอร์ตต่างจังหวัดไว้ช่วงวันหยุด ในแพ็คเกจมีบุฟเฟต์อาหารเช้าด้วย ผมแพ้ทางบุฟเฟต์ เจอทีไรจุกทุกที มันอลังหลากหลาย ลุงพอมียุทธศาสตร์เบรกฟาสต์จะแนะนำมั้ย – ตึ๋ง

 

 

A : ตอบคุณตึ๋ง

ความสำราญของการกินบุฟเฟต์อาหารเช้าไม่ได้อยู่ที่ความสามารถในการกินจนพุงกาง แต่อยู่ที่ความสามารถของเราที่จะจัดการกับความอลังการแห่งทางเลือกของอาหารเช้าที่โรงแรมชั้นนำเขานำเสนอให้ต่างหาก

บุฟเฟต์อาหารเช้าจะมีตั้งแต่เครื่องดื่มร้อน น้ำผลไม้ (บางที่ซึ่งหรูจัดอาจจัดไวน์พรายฟองเย็นเจี๊ยบมาให้ด้วย ใช่ครับ จัดกันแต่เช้าเลย) ผลไม้ ผักสด โยเกิร์ต เครื่องปรุงซีเรียล ของคาวตั้งแต่สถานีไข่แล้วแต่จะสั่ง เรื่อยไปจนถึงเนื้อสัตว์ประเภทไส้กรอก แฮม เบคอน ผักย่างหลายชนิด มันฝรั่ง ซุปถั่ว ขนมปังหลากชนิด และเครื่องเคียงขนมปัง เนย แยม แพนเค้ก วาฟเฟิล เฟรนช์โทสต์ โดนัท ขนมเดนิช ขนมหวานหลากชนิด ขนมวีแกน ซุป ชีส ข้ามไปส่วนของสถานีอาหารเอเชีย เริ่มตั้งแต่ข้าวผัด ข้าวต้ม น้ำเต้าหู้ ซุ้มก๋วยเตี๋ยว อาหารร้อนแบบจีน ติ่มซำ เรื่อยไปจนถึงปาท่องโก๋หรืออาจจะมีขนมครกแคะกันสดๆ ก็ได้ เห็นแล้วตาลายไปหมด

มีเวลาแค่มื้อเดียวหรือสองมื้อ ใครจะไปกินไหว ขอเรียนว่าไม่จำเป็นต้องกินมันทุกอย่าง บุฟเฟต์เขานำเสนอไว้เป็นทางเลือกเท่านั้น

แนะนำว่าพอเดินเข้าห้องอาหาร เลือกที่นั่งซึ่งถูกใจ สั่งกาแฟแล้ว อยากให้ใช้เวลาเดินดูรอบๆ ก่อนจะได้เห็นสิ่งที่เราอยากกิน หรือหมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องกินให้ได้ ดูก่อนว่ามีอะไรบ้าง ดูให้รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน ยกตัวอย่างเช่น หลายที่เขาวางโยเกิร์ตกับน้ำผึ้งไว้ไกลกันคนละมุม ทั้งที่ทั้งสองเป็นของที่คู่กันดี๊ดี และดูให้ทั่วว่าเขามีอะไรพิเศษจะนำเสนอ อย่างลุงนี่ถ้าที่ไหนมีแคะขนมครกจากเตาหรือมีปาท่องโก๋ เป็นอันว่าเมินเมนูไข่เบเนดิกต์เลย หรือบางแห่งนอกจากน้ำผลไม้ในขวด เขาอาจมีน้ำผักผลไม้สกัดสดๆ ซึ่งรสชาติและคุณค่าทางอาหารดีกว่ามาก ที่สำคัญคือเป็นสิ่งที่เราทำกินที่บ้านไม่ได้ หรือถ้าได้ก็ขี้เกียจล้างผักและขี้เกียจล้างเครื่อง

ถ้าให้เลือกระหว่างของสด และของที่สดกว่า จงเลือกของที่สดกว่า เพื่อความสดชื่นยามเช้า

พอรู้ชัดว่าสนใจจะกินอะไร เวลาตักอย่าได้เล่นซะพูนจานชนิดที่ว่าเอาข้าวผัดมาใส่ปนกับวาฟเฟิลเพราะอยากกินทั้งสองอย่าง…กินหมดแล้วเดินย้อนกลับไปตักใหม่ได้ ตักมาเป็นอย่างๆ ไป ไม่มีใครว่า

ลุงเองอยากให้มีจริตนิดนึง ตักอาหารให้น่ากิน อย่าให้แพ้อาหารที่เขายกมาเวลาเราไปสั่งตามร้าน

นอกเหนือจากของที่ตัวเองอยากกิน รู้ให้ทันว่าอะไรที่เป็นของแพงของดี เบอร์รี ชีส กุ้งแห้งสวยๆ วอลนัท อะไรแบบนี้คือของแพงของดี จะไม่สนใจมันเลยก็กระไรอยู่ บุฟเฟต์อาหารเช้าคือโอกาสที่เราจะได้ชิมของดีๆ เหล่านี้ ดังนั้นอย่าลืมตักมาลองชิมดูสักนิด อันไหนชอบจึงค่อยไปตักมาเพิ่ม

มองหาเมนูพิเศษ อย่างอาหารพื้นถิ่นของทางโรงแรม ไปทางเหนือมองหาไส้อั่วน้ำพริกอ่อง ไปใต้มองหาขนมจีนหรือโรตี ไปจันทบุรีมองหาก๋วยเตี๋ยวเส้นจันท์ผัดปู อย่าไปอาลัยอาวรณ์กับไข่เบเนดิกต์มันนักเลย แต่ถ้าคุณจะชอบจริงๆ ก็แล้วไป

บุฟเฟต์อาหารเช้ายังเป็นเวทีของความครีเอท เป็นโอกาสในการปลดปล่อยปีศาจจอมโหยในตัวคุณออกมาอาละวาดในลักษณะที่ใครๆ ก็คาดไม่ถึง เช่น ตักเบคอนของโปรดมาโรยบนข้าวผัดไข่ร้อนๆ ตามด้วยผักสลัดแกล้มชนิดที่สั่งตามร้านไม่ได้ แถมเอาเนยที่เขาไว้ทาขนมปังมาโปะหน้าแล้วคลุกเคล้าข้าวผัดนั้นอย่างไม่กลัวอาการผนังหลอดเลือดแข็งตัว หรือหาครีมชีสมาทาเบเกิลพร้อมกับโปะแซมอนรมควัน กินกันให้เหมือนคนยิวในนิวยอร์กกันเลยทีเดียว

บางคนแนะให้หยิบขนมหรือผลไม้ติดมือจากห้องอาหารไปสักชิ้นสองชิ้น แต่ลุงไม่แนะนำในเรื่องนี้ มันรุ่มร่าม

เอร็ดอร่อยกับมื้อเช้าของคุณที่รีสอร์ตนะครับ

 

 

Agony uncle หมายถึง ชายเจ้าของคอลัมน์ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตทั่วไป (ถ้าเป็นหญิงตอบก็ต้องเรียก agony aunt) ลุงเฮม่าตอบปัญหาในโลกยุคใหม่ที่เราทึกทักเอาเองว่าไร้กฎเกณฑ์ แต่ถ้าโลกมันไร้กฎเกณฑ์ขนาดนั้น เราคงอยู่ร่วมกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ได้ลำบาก

สำหรับน้องๆ ที่ไม่เอากฎเกณฑ์ ลุงพอเข้าใจนะเพราะเคยเป็นเด็กมาก่อน เพียงอยากจะบอกว่าคุณจะแหกกฎได้เก่ง แหกแล้วมันให้ประโยชน์แก่ตัวเราและผองเพื่อนมนุษย์ ก็ต่อเมื่อคุณรู้กฎเกณฑ์แล้วเท่านั้น

**ส่งคำถามมาได้ที่ [email protected]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save