fbpx
Agony Uncle

Agony Uncle

 

Q : ช่วงหนึ่งมีดราม่าเรื่องลุกให้ผู้หญิงท้องนั่งในรถไฟดีไหม ถ้าลุกให้แต่เขาแค่อ้วนล่ะ คือไม่ได้ท้องน่ะ ก็โดนอีก บอกตามตรงว่าผมไม่ค่อยจะลุกให้ใครเพราะลุกทีไรเสียหน้าเรื่อย ก็เขาไม่นั่ง ลุงว่าไงครับ

A : ผมตัดปัญหาเรื่องนี้โดยไม่นั่งมันเสียเลย ยืนครับ จะได้ไม่มีประเด็น to give a seat, or not to give a seat มากวนใจให้เสียเวลาเล่นเกม แต่คำตอบนี้คงใช้กับคุณไม่ได้

มีหลักอยู่สี่ข้อให้คุณพิจารณาเรื่องการสละที่นั่งให้ผู้โดยสารบนระบบรถไฟฟ้า

 

1) คนที่ยืน เขาอาจจะลงอยู่หนึ่งหรือสองสถานีข้างหน้าก็ได้ รถไฟสามสายในกรุงเทพฯ มันเป็นสายสั้นๆ ใช้เวลาอย่างมากก็ครึ่งชั่วโมง ยืนจนสุดสายยังไงก็ยังไม่เมื่อย แต่ถ้าคุณทำงานห้างต้องยืนมาทั้งวันต้องปั้นหน้าวันละสิบชั่วโมง มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ความอยากได้ที่นั่งบนรถไฟฟ้ามันไม่เท่าความอยากได้ที่นั่งบนรถเมล์ซึ่งต้องยืนกันเป็นชั่วโมงหรอกนะ ผมเคยลองเอานิยายไปอ่านบนรถไฟ (การอ่านทำให้เราดูดี) บอกตามตรงว่าไม่เคยอ่านได้เกินสองหน้าเลย

2) ถ้าจะคิดมากขนาดนี้เรื่องสละที่นั่งให้ผู้โดยสาร ก็อย่าลำบากเลยครับ ให้ตัดปัญหาด้วยการนั่งก้มหน้าดูจอต่อไปจนกว่าจะถึงจุดหมาย

3) บางครั้งอาจจะต้องมามองใหม่ว่า การที่เขาไม่นั่ง ปัญหามันอาจจะอยู่ที่ตัวคุณเอง เวลาสละที่นั่ง คุณควรจะลุกขึ้นก่อน แต่ยังไม่ต้องขยับไปไหน เพราะที่นั่งคุณอาจโดนคนอื่นเสียบ ยืนแล้วเรียกเขาเบาๆ พูดสั้นๆ ยิ้มๆ ทำเสียงพระเอกๆ ว่า “เชิญนั่งครับคุณ” แบบนี้ใครไม่นั่งก็ใจดำไปแล้วล่ะครับ พอเขาขยับตัว คุณก็ขยับเปิดทางให้เขานั่ง เป็นอันเสร็จพิธี

อย่าเรียกให้คนอื่นนั่งทั้งที่ก้นตนยังแปะที่นั่งอยู่เลย มันดูไม่จริงใจ

4) ถ้าคุณอยากสละที่นั่งจริงๆ ประเภทอยากทำยอด ให้ล๊อกเป้าหมายซึ่งผมรับรองว่าไม่ผิดหวัง คือคนสองประเภทนี้ไม่ปฏิเสธที่นั่งแน่ พวกแรกคือป้านักท่องเที่ยวชาวจีน พวกที่สองคือเด็กชั้นมัธยมชาวไทย ต่างกันนิดเดียวคือพวกแรกจะหันมาฉีกยิ้มตาใส พยักหน้าหงึกๆ แล้วบอกว่า “เชี่ยเชี่ยแท็กกิ้วอะ” ส่วนพวกที่สองจะนั่งลงแล้วทำเหมือนไม่มีคุณอยู่ร่วมโลกกับเขา

 

 

Q : เมื่ออาทิตย์ก่อน ผมต้องไปกินดินเนอร์แทนผู้บริหาร เป็นดินเนอร์อาหารฝรั่งครับ อยู่ๆ ผมก็ไม่มีขนมปังกินเฉยเลย คือคนด้านขวาเขาก็กินขนมปัง คนด้านซ้ายผมก็กินขนมปัง คนทั้งโต๊ะมีขนมปังกินเล่นระหว่างรออาหาร ยกเว้นผมคนเดียว มันเกิดอะไรขึ้นครับ

A : ขอเรียนว่าคุณโดนปล้นครับ

ปกติโต๊ะดินเนอร์ (ซึ่งเป็นงานสังคม ไม่ค่อยมีใครรู้จักใครหรอกครับ ไปทำความรู้จักกันระหว่างงานนั่นแหละ) เขาจะมีจานเล็กๆ วางไว้ทางซ้ายมือให้เราวางขนมปัง จะฉีกทาเนยหรือจุ่มน้ำมันมะกอกน้ำส้มสายชูบัลซาหมิคหรืออะไรก็ตามแต่ความพิสดารของมื้อนั้น เสร็จแล้วก็เอาขนมปังที่เหลือวางไว้ในจานเล็กทางซ้ายมือใบนั้น จานเล็กแบบเดียวกันทางขวามือของคุณเป็นของเพื่อนร่วมโต๊ะคุณที่นั่งด้านขวา กรณีของคุณแปลว่าเพื่อนร่วมโต๊ะคุณที่นั่งด้านซ้ายทึกทักเอาจานเล็กของคุณไปเป็นของเขา เขาคงหยิบขนมปังในถาดไปวาง แล้วปล่อยให้จานเล็กทางซ้ายของเขากลายเป็นจานกำพร้าขนมปัง

เวลาเกิดเหตุการณ์แบบนี้ผมแนะนำให้เลยตามเลย ลืมขนมปังซะเถอะ เพราะกินไปมันก็อ้วน

ยกเว้นเพื่อนร่วมโต๊ะทางซ้ายจะหน้าตาน่ารัก แล้วคุณหามุกคุยด้วย (หรือจีบเขา) ไม่ออก ก็อาจหาเหตุนี้ (รอองค์ฮิวจ์ กรานต์ลงก่อน) แล้วถามว่า “ขอโทษ ผมว่าขนมปังจานนี้เป็นของผมนะครับ แต่ถ้าเป็นของคุณจริง ก็ว่าจะขอแบ่งสักคำสองคำ”

นางเถียงเราไม่ขึ้นเพราะเราแม่นกฎ จากนั้นคุณก็ทำใจดียกขนมปังให้ จากนั้นก็แนะนำตัว แลกนามบัตร แลกไลน์กัน บลา บลา บลา

คุณจะลืมเรื่องขนมปังไปเลย

 

 

Q : ทำไมพวกขับรถซูเปอร์คาร์ชอบเอากุญแจรถวางไว้บนโต๊ะอาหาร ไม่กลัวหายหรือไง

A : เขากลัวคนอื่นไม่รู้ว่าตนมีซูเปอร์คาร์มากกว่ากลัวกุญแจรถหายนะลุงว่า

 

*Agony Uncle หมายถึงชายเจ้าของคอลัมน์ให้คำแนะนำปรึกษาปัญหาชีวิตทั่วไป คู่กับ Agony Aunt ซึ่งเป็นฝ่ายหญิง ลุงเฮม่ามาตอบปัญหาในโลกยุคใหม่ที่เราทึกทักเอาเองว่าไร้กฎเกณฑ์ แต่ว่าถ้ามันไร้กฎเกณฑ์ขนาดนั้น เราคงอยู่ร่วมกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ไม่ได้มั้ง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save