fbpx
ในสายตาของรัฐ ใครเป็นผู้ใหญ่บ้าง

ในสายตาของรัฐ ใครเป็นผู้ใหญ่บ้าง

เพราะมนุษย์อยู่ในสังคม จึงต้องพึ่งพาอาศัยกันและเกิดการแบ่งหน้าที่แบ่งสิทธิกัน เพื่อธำรงรักษาสังคมนั้นเอาไว้ แต่ใช่ว่ามนุษย์ทุกคนเมื่อเกิดมาแล้วจะถูกทำทุกอย่างได้เหมือนผู้ใหญ่ทันที เพราะสังคมมองว่ายังเด็กอยู่ จะไปรู้ประสีประสาอะไรเล่า ถ้าปล่อยให้รับผิดชอบทำงานใหญ่ๆ ก็คงแย่กันพอดี ฉะนั้นจึงต้องรอเวลา ให้ได้ถูกกล่อมเกลาจนเรียบร้อยเสียก่อน และเมื่อห้วงเวลาแห่ง ‘การเติบโต’ (coming of age) มาถึง เด็กๆ ก็จะได้เป็นคนเต็มคน มีสิทธิมีศักดิ์เทียบเท่ากับสมาชิกของสังคมคนอื่นๆ

แต่คำถามก็คือ แล้วตรงไหนล่ะ คือเส้นแบ่งที่ถูกขีดบอก – ว่านี่เจ้าโตแล้วนะเด็กน้อย

 

แล้วเส้นแบ่งที่ว่านี่ มันมีเส้นเดียวหรือว่ามีหลายเส้นกันแน่?

ในสังคมหนึ่งๆ สูตรการกำหนดว่าสมาชิกคนใดจะเติบโตมีมากมายเหลือเกิน ไม่ถูกกำหนดโดยประเพณีดั้งเดิมของสังคมนั้นๆ ก็โดยศาสนา หรือบางทีก็ต้องให้รัฐกำหนดเป็นกฎหมายอย่างชัดเจนว่าใครบรรลุนิติภาวะแล้วบ้าง

แต่สรุปแบบคร่าวๆ ก็คือ เราอาจแบ่งประเภทการเติบโตเป็น 2 อย่าง นั่นคือ การเติบโตที่กำหนดโดยสังคม กับ การเติบโตที่กำหนดโดยรัฐ

 

ทำไมรัฐต้องกำหนดการบรรลุนิติภาวะของประชาชนด้วย

ตามหลักวิชารัฐศาสตร์เบื้องต้น หน้าที่หนึ่งของรัฐคือการสร้างความมั่นคงแน่นอนแก่สังคม (security and certainty) ซึ่งก็แหงละ เพราะหากทำไม่ได้แล้วจะมีรัฐไปทำไม ดังนั้น รัฐเลยต้องใช้วิธีการใดก็ได้ในการสร้างสิ่งที่ว่า

การเข้ามากำหนดอายุการบรรลุนิติภาวะของประชาชนก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความมั่นคงแน่นอนให้กับสังคมด้วย

ลองจินตนาการดูว่า หากวันหนึ่งในสังคม ลูกเล็กเด็กแดงมีสิทธิทุกประการตามที่ผู้ใหญ่พึงมี เช่น ติดต่อซื้อขายที่ดินได้ กู้หนี้ยืมสินจากธนาคารก็ได้ ไปร่วมทุนจดทะเบียนบริษัทหรือเป็นนายค้ำประกันเงินกู้ให้กับคนอื่นก็ได้ แน่นอนครับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ‘ความวุ่นวาย’

เอ้า! แล้วมันจะวุ่นวายอย่างไรละ?

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหลายคนให้เหตุผลว่า เพราะเด็กน้อยเหล่านี้ยังเติบโตมาในสังคม และเรียนรู้สิ่งต่างๆ ในสังคมไม่เพียงพอ พูดง่ายๆ ก็คือ ‘อ่อนต่อโลก’ นั่นแหละ ดังนั้น การทำกิจกรรมหรือนิติกรรมบางอย่างโดยลำพังจึงมีความเสี่ยงที่จะโดนหลอกได้ง่ายมากๆ

ลองนึกถึงสภาพเด็กอายุ 7 ขวบรวมตัวกันไปเข้าชื่อจดทะเบียนบริษัทกับผู้ใหญ่ดู แค่คิดก็หลอนแล้ว เพราะเด็กพวกนั้นอาจดำเนินการต่างๆ แบบไม่ทันระวัง และถูกผู้ใหญ่หลอกจนกลายเป็นบุคคลที่ติดหนี้ติดสินจนล้มละลายก็ได้

ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมให้สมาชิกในสังคมได้ใช้ชีวิตอย่างมั่นคงแน่นอนกันถ้วนหน้า รัฐก็เลยต้องเข้ามาจัดการโดยใช้เครื่องมือทางกฎหมายกำหนดเลยว่า อายุเท่านี้ถึงจะเป็นผู้ใหญ่ มีวุฒิภาวะ และมีสิทธิทำอะไรต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์

(แต่ถ้าถามว่า สังคมมีบทบาทในการเข้ามากำหนดว่าใครจะบรรลุความเป็นผู้ใหญ่ไหม ก็ต้องบอกว่ามีครับ ก็ผ่านการควบคุมโดยวัฒนธรรมนั่นแหละ แต่การใช้เครื่องมือทางวัฒนธรรมที่เป็น soft power มันไม่ได้มีพลานุภาพเท่ากับกฎหมาย)

สิ่งที่เรียกว่า Age of Majority (ในโลกภาษาอังกฤษ Majority แปลว่า ผู้ใหญ่ ส่วน Minor คือเด็ก) หรือ Lawful Age จึงเกิดขึ้นมา โดยในภาษาไทยเราได้นำเข้าและแปลมาเป็นคำทางกฎหมายว่า “การบรรลุนิติภาวะ” นั่นเอง

 

แล้วรัฐเข้ามากำหนดการบรรลุนิติภาวะตั้งแต่เมื่อไหร่

ถ้าบอกแบบกำปั้นทุบดิน ก็คงต้องบอกว่ารัฐเข้ามาจัดการเรื่องนี้นานโขแล้ว นานจนไม่มีใครกล้าฟันธงว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อย่างไรก็ดี นักวิชาการบางคนกล่าวเอาไว้ว่า การกำหนดอายุการบรลุนิติภาวะนั้นเริ่มตั้งแต่คราวยุคที่ยังเป็นรัฐแบบชนเผ่าโน่น (Tribal State) แต่การกำหนดอายุแบบนั้นเกิดจากอำนาจของวัฒนธรรมผ่านประเพณีและพิธีกรรมของคนทั่วไปในสังคมมากกว่าจากอำนาจรัฐ

นักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งบอกว่า อาจมีความเป็นไปได้ว่า ครั้งแรกที่รัฐเข้ามากำหนดอายุการบรรลุนิติภาวะเกิดขึ้นในยุคกรีก (Greek Age)

ที่อ้างกันแบบนี้ เพราะว่าในยุคกรีก ได้เกิดรัฐขึ้นในรูปแบบนครรัฐ (City-State) พร้อมๆ กับรูปแบบโครงสร้างและสถาบันทางการเมือง รวมถึงอำนาจฝ่ายต่างๆ ก็เริ่มถูกแบ่งแยกอย่างเด่นชัด

ในการปกครองของนครรัฐเอเธนส์ บุคคลที่ถือเป็นพลเมืองที่มีสิทธิทางการเมืองนั้น (อาจตีความรวมถึงสิทธิอื่นๆ ได้ด้วย) จะเป็นผู้ใหญ่เพศชายเท่านั้น ไม่ใช่ผู้หญิง ไม่ใช่เด็ก และไม่ใช่ทาส สะท้อนให้เห็นว่ารัฐได้เข้ามาจำแนกประชาชนเป็นผู้ใหญ่กับเด็ก และไม่ได้แค่จำแนกเอาไว้เฉยๆ ยังได้กำหนดสิทธิและหน้าที่เบื้องต้นแก่ประชาชนแต่ละจำพวกอีกด้วย

หลังจากนั้น การแทรกแซงโดยรัฐก็ถูกรองรับโดยกฎหมายมาตามลำดับ หลายคนบอกว่า รัฐน่าจะใช้กฎหมายมากำหนดอายุการบรรลุนิติภาวะของประชาชนในยุคโรมัน เพราะจักรวรรดิโรมันได้ประดิษฐ์นวัตกรรมทางการปกครองที่เรียกว่า ‘กฎหมาย’ ขึ้นมาเป็นครั้งแรก เพื่อใช้กฎหมายในการปกครองดินแดนอันกว้างใหญ่ที่ยึดมาได้ให้มีประสิทธิภาพนั่นเอง จึงเป็นไปได้ว่าจักรวรรดิจะกำหนดอายุการเป็นผู้ใหญ่ขั้นต่ำเพื่อกำหนดสิทธิและหน้าที่ของประชาชนใต้การปกครองให้ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน

แต่นักวิชาการหลายคนก็บอกว่า การกำหนดอายุว่าใครเป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่หรือใครจะบรรลุนิติภาวะในยุคโรมันนั้น ในทางปฏิบัติเกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะอาจด้วยการบังคับใช้กฎหมายที่ยังขาดประสิทธิภาพ ต้องรออีกหลายศตวรรษจนเกิดรัฐสมัยใหม่ (Modern State) ขึ้น กลไกรัฐต่างๆ ถึงจะพร้อมที่จะบังคับใช้กฎหมายเพื่อกำหนดอายุการบรรลุนิติภาวะได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

รัฐกำหนดอายุการบรรลุนิติภาวะกันที่เท่าไหร่ล่ะ

ต้องบอกก่อนว่า ตลอดประวัติศาสตร์การกำหนดอายุการบรรลุนิติภาวะหรือการเป็นผู้ใหญ่ของประชาชน ตัวเลขอายุมีขึ้นมีลงตลอด

ในยุคกรีกและโรมัน ตัวเลขอายุการเป็นผู้ใหญ่น่าจะอยู่ที่ 15-17 ปี อาจเป็นไปได้ว่ารบราฆ่าฟันกันเยอะ จนทำให้อายุเฉลี่ยของประชากรสั้น ใครมีอายุถึง 40 -50 ปี ถือว่ามีบุญมากโขเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้ จึงกำหนดอายุกันอยู่ที่ประมาณนี้ เพราะจะได้เป็นผู้ใหญ่กันไวๆ รัฐจะได้มีผู้ใหญ่มากขึ้น (อะไรจะขนาดนั้น)

พอมาในยุครัฐสมัยใหม่ เคยมีอยู่ช่วงหนึ่งเคยกำหนดให้อายุอยู่ที่ 20-21 ปี แต่ต่อมาภายหลังจนถึงปัจจุบัน อายุที่รัฐส่วนใหญ่กำหนดให้เป็นอายุการบรรลุนิติภาวะ คือ 18 ปีบริบูรณ์

ปัจจุบัน รัฐต่างๆ ทั่วโลกกำหนดอายุการบรรลุนิติภาวะอยู่ในช่วงตั้งแต่ 15 – 21 ปี โดยรัฐส่วนใหญ่จะกำหนดอายุอยู่ที่ 18 – 21 ปี นอกจากนี้ หากไปดูในแต่ละประเทศ จะพบว่าบางเขตการปกครองก็อาจกำหนดอายุที่แตกต่างกัน เป็นต้นว่า ในแคนาดา จังหวัด New Brunswick ได้กำหนดอายุไว้ที่ 18 ปี ส่วนจังหวัด Newfoundland and Labrador อยู่ที่ 19 ปี หรือแม้กระทั่งในสหรัฐอเมริกา มลรัฐ Mississippi ได้กำหนดอายุไว้ที่ 21 ปี ส่วนมลรัฐ Nebraska อยู่ที่ 19 ปี

ของไทย เรากำหนดอายุการบรรลุนิติภาวะอยู่ที่ 20 ปี ซึ่งเหมือนกับญี่ปุ่น ไต้หวัน และนิวซีแลนด์

 

รัฐกำหนดอายุการบรรลุนิติภาวะเพราะอะไร

เหตุผลในการกำหนดอายุของผู้ที่จะบรรลุนิติภาวะจะแตกต่างไปแต่ละรัฐ (หรือเขตการปกครอง) โดยทั่วไป รัฐใช้เกณฑ์ผู้ที่มีอายุอยู่ในช่วง 18-21 ปีเป็นผู้บรรลุนิติภาวะ เพราะในช่วงอายุนี้ประชาชนได้รับการศึกษาการอบรมผ่านสถาบันครอบครัวและสถาบันครอบครัวมาพอควรแล้ว ประกอบกับร่างกายก็เจริญเติบโตจนสามารถดูแลปกป้องตัวเองได้ ทำให้มั่นใจว่าประชากรในช่วงอายุนี้สามารถดูแลตัวเอง พร้อมๆ กับสามารถรู้ถึงสิ่งที่ตัวเองจะทำอย่างมีสติสัมปชัญญะ และรับผิดชอบผลที่ตัวเองได้กระทำลงไปได้

ในหลายประเทศ จะมีการทบทวนการกำหนดอายุผู้บรรลุนิติภาวะผ่านขั้นตอนทางกฎหมายอยู่เสมอ (พูดอีกอย่างก็คือ มีการเถียงกันในสภานั่นแหละว่าจะเปลี่ยนไปใช้อายุช่วงไหนดี) เพื่อปรับให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมนั่น

ทำไมถึงเป็นแบบนั้น

คำตอบก็คือ สังคมมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงประชากรอย่างต่อเนื่อง เด็กบางคนโตเร็วมากๆ บางคนถึงขั้นที่ว่ามีทั้งวุฒิภาวะหรือสติปัญญาดีเยี่ยมตั้งแต่ก่อนอายุ 15 ปีเสียด้วยซ้ำ บางคนก่อนอายุ 18 ปี ก็มีความสามารถและไอเดียที่อยากทำนู่นทำนี่อย่างจริงจัง แต่ติดอยู่ที่ว่าอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ในการเป็นผู้บรรลุนิติภาวะ จึงทำอะไรมากไม่ได้ ประชากรเหล่านี้จึงขาดโอกาสดีๆ ในชีวิต เหมือนโดนสกัดดาวรุ่ง

ตัวอย่างเช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อก่อนจะบรรลุนิติภาวะได้ ต้องอายุ 20 หรือ 21 ปี ต่อมาภายหลังมีการเรียกร้องให้ลดอายุเหลือแค่ 18 ปี รัฐส่วนใหญ่จึงปรับมาอยู่ที่อายุ 18 ปี ส่งผลให้คนที่อายุ 18 ปี (ซึ่งมองในกรอบของสังคมไทย ยังถือว่าเด็กมากๆ) สามารถรวมกลุ่มเป็นองค์และทำธุรกิจเพื่อสังคม และสร้างนวัตกรรมต่างๆ ให้แก่สังคมและประเทศชาติได้ง่ายขึ้น

ดังนั้น นอกจากเหตุผลเรื่องความพร้อมด้านการศึกษาและด้านร่างกายแล้ว การเล็งเห็นโอกาสว่าบุคคลอายุเท่านี้เท่านั้นจะทำอะไรเพื่อสังคมได้บ้างก็เป็นเหตุผลสำคัญสำหรับการกำหนดอายุของผู้ที่จะเป็นผู้ใหญ่

 

การบรรลุนิติภาวะกับความซับซ้อนของยุคสมัย

ที่พูดไปทั้งหมดนั้น คือ การมองเรื่องการบรรลุนิติภาวะแบบง่ายๆ ที่มีภาพเดียวกันเท่านั้น พูดแบบตรงไปตรงมาก็คือ เมื่อใครที่อายุถึงเกณฑ์ในการเป็นผู้บรรลุนิติภาวะ หรือเป็นผู้ใหญ่แล้ว พวกเขาก็สามารถทำอะไรก็ได้แทบทุกอย่าง

แต่ในความเป็นจริง โลกซับซ้อนมากขึ้นทุกวัน รัฐต้องเข้ามาจัดการกับปัญหาอย่างละเอียดอ่อนมากขึ้น ดังนั้น การที่แต่ละรัฐมีเกณฑ์อายุเดียวในการกำหนดว่าใครบรรลุนิติภาวะหรือเป็นผู้ใหญ่ จึงเสี่ยงที่จะสร้างปัญหาตามมา ดังนั้น ในบางประเทศ จึงมีการกำหนดให้คนบรรลุนิติภาวะในแต่ละเรื่องที่อายุแตกต่างกัน (เรียกว่ามี a single threshold age of majority for all purposes)

อย่างในสิงคโปร์ เขาเห็นว่าการเป็นผู้ใหญ่เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ เรียนรู้ ไม่ใช่พออายุ 18 ปี ทุกคนจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่พร้อมรับผิดชอบในทุกเรื่องเลย ในมุมองของสิงคโปร์ การเป็นผู้ใหญ่จึงมีหลายมิติ ค่อยๆ ปลดล็อคแต่ละมิติกันไป

เช่นพอถึงอายุ 18 ปี ประชาชนถึงมีสิทธิไปสอบใบขับขี่เพื่อขับรถได้ อายุ 21 ปี จึงสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรได้ ทำนิติกรรมได้อย่างสมบูรณ์ หรือออกเสียงโหวตได้ หรืออายุ 25 ปี ถึงสามารถรับเลี้ยงเด็กได้ เป็นต้น

เรื่องความสามารถในการออกเสียงเลือกตั้ง ที่สิงคโปร์กำหนดให้ทำได้ตอนอายุ 21 ปี (ของไทยเรา 18 ปี) นี่ ต้องบอกว่าน่าสนใจมาก เพราะสิงคโปร์มองว่าการเมืองเป็นเรื่องอ่อนไหว หากจัดการไม่ดีก็อาจสร้างความวุ่นวายแก่ประเทศได้ ดังนั้น ในมุมมองของรัฐ บุคคลที่จะเป็นผู้ใหญ่เพียงพอจนรู้ประสีประสาทางการเมือง จึงสมควรที่จะมีอายุ 21 ปีเป็นต้นไป

นอกจากนี้ ก่อนที่คนสิงคโปร์อายุ 21 ปี พวกเขาจะต้องไปรับใช้ชาติเป็นทหาร หรือมีประสบการณ์การทำงานมาบ้างแล้ว บางคนวิเคราะห์ว่า การที่เยาวชนได้ไปฝึกทหารในกองทัพมาก่อน ช่วยให้เยาวชนเหล่านั้นเล็งเห็นความสำคัญของชาติมากขึ้น และเมื่อพวกเขาได้ใช้สิทธิทางการเมือง (ตอนบรรลุนิติภาวะทางการเมือง) การมีส่วนร่วมทางการเมืองของพวกเขาจะโน้มเอียงไปเพื่อความมั่นคงแน่นอนของสังคม รัฐ และชาติมากขึ้น ซึ่งก็ถือเป็นการ ‘กล่อมเกลา’ อย่างหนึ่งนั่นเอง

 

เห็นไหมว่า รัฐได้เข้ามาจัดการและกำหนดอายุของผู้ที่จะบรรลุนิติภาวะหรือผู้ที่จะเป็นผู้ใหญ่ด้วยเหตุผลหลายประการ ตั้งแต่เหตุผลพื้นๆ ไปถึงเหตุผลที่มีความสลับซับซ้อนอย่างเช่นเรื่องการเมือง นอกจากนี้ ยังทำให้เห็นอีกว่าการที่รัฐเข้ามาจัดการเรื่องพวกนี้ก็กระทบกับชีวิตพวกเราไม่น้อยเลยทีเดียว

Coming of Age นี่ ไม่ได้ได้มาง่ายๆ นะคุณ!

 

อ้างอิง

บทความเรื่อง Why is Singapore’s age of majority set at 21 years old, whereas Singapore’s age of contractual capacity set at 18 years old? จาก Quora 

บทความเรื่อง What “Age of Majority” Means: Its Definition & Usage ของ Sandra Grauschopf จาก The Balance, September 11, 2016

บทความเรื่อง Age of Majority in Canada ของ October 07, 2016

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save