fbpx
What if ? ถ้าวันนั้น ฉันไม่ไร้เดียงสา...

What if ? ถ้าวันนั้น ฉันไม่ไร้เดียงสา…

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

-1-

หลายปีก่อน นักเขียนรุ่นพี่คนหนึ่งบอกผมว่า ศิลปินที่ดี คือศิลปินที่กล้าเปลือยตัวเองผ่านงานศิลปะ

แม้จะพอเข้าใจความหมายอยู่บ้าง ได้เห็นตัวอย่างดีๆ จากงานของศิลปินหลายคน แต่ผมเพิ่งค้นพบและเข้าใจภาวะ ‘เปลือย’ อย่างแจ่มชัดเมื่อไม่นานมานี้ จากละครเวทีของนักศึกษาคนหนึ่ง

“อยากให้ไปดูนะพี่ นี่คือชีวประวัติของนัตเอง”

น้องนัต – นัตตา เผ่าจินดามุข เป็นนิสิตชั้นปีที่ 4 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ผมรู้จักเธอครั้งแรกในฐานะเด็กฝึกงาน จากภายนอกเธอดูเป็นเด็กสาวบอบบาง ไร้พิษภัย ครั้นเมื่อรู้จักกันมากขึ้น ผมพบว่าหัวใจเธอบอบบางและอ่อนไหวยิ่งกว่าสรีระที่มองเห็น

นอกจากรักการอ่านการเขียน เธอยังหลงใหลการละคร ตอนที่ฝึกงานใหม่ๆ เธอเล่าให้ฟังว่าต้องทำโปรเจ็กต์จบเป็นบทละครเวทีเรื่องหนึ่ง ซึ่งเธอยังคิดไม่ออกด้วยซ้ำว่าจะทำเรื่องอะไร

สามเดือนแห่งการฝึกงานผ่านไป บทละครของเธอเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา พร้อมน้ำตาและบาดแผลจากความสัมพันธ์

“นัตว่าจะทำเรื่องของเขา” เธอเอ่ยเสียงเศร้า แต่หนักแน่น

ในฐานะคนที่เฝ้าดูความเป็นไปอยู่ห่างๆ รับรู้เค้าลางของความสัมพันธ์ที่เธอเผชิญอยู่บ้าง ลึกๆ ผมแอบดูเบาว่าเธอช่างไร้เดียงสาเหลือเกิน ประเมินหยาบๆ ว่าพล็อตเรื่องคงหนีไม่พ้นปัญหาความรักหนุ่มสาว เรื่องราวที่ไม่มีอะไรใหม่ และอาจเบาบางไปด้วยซ้ำสำหรับการทำเป็นโปรเจ็กต์จบ

“เออ ก็ลองดู” ผมตอบเธอไปเช่นนั้น

ไม่ค้าน ไม่คาดคั้น อยากพิสูจน์ตอนที่ทุกอย่างเป็นชิ้นเป็นอันมากกว่า

 

-2-

บนเวทีตรงหน้า กีต้าร์โปร่งและเก้าอี้เปล่าตั้งอยู่กลางไฟสลัว โต๊ะไม้เล็กๆ ถูกจัดวางให้เป็นบาร์ พนักงานสองคนยืนประจำตำแหน่งพร้อมรับลูกค้า

แวบแรกที่เห็น รู้สึกทันทีว่าฉากแบบนี้ แสงแบบนี้ ช่างละม้ายคล้ายสถานที่ที่คุ้นเคย

ไฟหรี่ลงเล็กน้อย ความเงียบแผ่ปกคลุม สักพักนักดนตรีหนุ่มเดินมาฉวยกีต้าร์ นั่งลง ส่งยิ้ม กรีดนิ้วบรรเลงเพลง starry starry night

หญิงสาวคนหนึ่งเดินเข้ามาในฉาก

จากนั้นทุกอย่างก็เริ่มต้น…

 

ชีวิตของคนสองคนปรากฏอยู่ตรงหน้า คนหนึ่งเป็นนักดนตรีหนุ่มพราวเสน่ห์ อีกคนเป็นนักเขียนสาวช่างฝัน ทั้งคู่กลับมาพบกันอีกครั้งในวันที่บาดแผลคล้ายจะทุเลา

ความจริงแล้วเป็นเธอที่ตั้งใจมาหาเขา เพื่อถามคำถามที่ค้างคา

“ถ้าตอนนั้น ฉันไม่ปล่อยเธอไป เธอว่าเรื่องของเราสองคนจะเปลี่ยนไปไหม” คือประโยคที่เป็นเสมือนหัวใจของเรื่องนี้ และเป็นประโยคที่วนเวียนอยู่ในหัวของเธอตลอดเวลา

คำว่า ‘ถ้า’ เป็นเหมือนยากล่อมประสาทชั่วคราว ใช้ปั้นแต่งเรื่องราวที่ไม่อาจย้อนไปแก้ไข กลบเกลื่อนความจริงที่ไม่อาจยอมรับ

เธอพยายามหาคำตอบว่ามันผิดพลาดตรงจุดไหน ทบทวนว่าอะไรคือต้นเหตุที่ทำให้ความสัมพันธ์แตกสลาย เพราะเขาไม่เคยมีคำตอบหรือคำอธิบายใดๆ ให้เธอเลย นอกจากคำว่า ‘อย่าคิดมาก’ และ ‘ไม่รู้เหมือนกัน’

“ฉันแค่อยากรู้ว่ามันผิดพลาดจากตรงไหน” เธอสงสัย

“มันไม่มีประโยชน์หรอก เพราะต่อให้เธอเปลี่ยนเรื่องนี้ได้ มันก็จะมีเรื่องอื่นๆ ที่ทำให้เราต้องเลิกกันอยู่ดี”

“ตั้งแต่เราคบกันจนถึงเลิก มันมีแต่อะไรที่อธิบายไม่ได้ เธอทิ้งให้ฉันคิดเอง เข้าใจเอง สรุปเรื่องทั้งหมดเอง โดยที่เธอหนีไปไหนแล้วก็ไม่รู้…”

เธอรู้ว่าเขาร้าย แต่ก็หวังลึกๆ ว่าจะเปลี่ยนแปลงเขาได้ ยินยอมทั้งใจและกาย

เขามองว่าเธอง่าย คล้ายขนมขบเคี้ยว อร่อยดีแต่มีไว้ทานเล่นเท่านั้น

“คุยๆ กันไปอย่างนี้ไปก่อนดีกว่ามั้ง คําว่าแฟนสําหรับฉันมันตามมากับอะไรหลายๆ อย่าง” เขาตอบเธอแบบนั้น เมื่อถูกถามว่าเราเป็นอะไรกัน

“นี่ก็เป็นอีกหนึ่งกลไกป้องกันตัวเองของเธอรึเปล่า เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้นกับความสัมพันธ์เธอจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบ”

 “ทำไมมองฉันเลวจัง นี่ถ้าฉันไปอยู่ในหนังสือเธอจริงๆ คงได้เป็นผู้ชายเหี้ยๆ แน่”

 “ก็ไม่แน่”

 

หากดูอย่างผิวเผิน พล็อตเรื่องนี้ไม่มีอะไรที่เกินคาด แต่สิ่งที่ทำให้ประหลาดใจและชื่นชมไปพร้อมๆ กัน คือการที่นัตตากล้าเปิดเผยความลับดำมืดที่คนส่วนใหญ่ได้แต่เก็บงำไว้ในใจ เปลือยบาดแผลที่ยังไม่หายดี และถ่ายทอดความรู้สึกในห้วงนั้นๆ ออกมาได้อย่างกระจ่างชัด ผ่านรายละเอียดยิบย่อยที่อยู่ในบทสนทนา ราวกับว่ามันเพิ่งเกิดขึ้นในตอนนี้ นาทีนี้

ยิ่งเมื่อผ่านการถ่ายทอดจากสองนักแสดงนำที่ ‘เล่นถึง’ จึงทำให้แต่ละบทตอนดู ‘จริง’ มาก ฉากไคลแมกซ์ที่นางเอกพรั่งพรูความในใจอยู่ราวๆ สิบนาที มีพลังมากพอที่จะทำให้ใครบางคนสะอื้นตัวโยน

“เรื่องระหว่างเรามันมีอะไรจริงบ้างไหม เธอปล่อยให้ฉันรอมาตั้งหลายเดือน บอกว่าให้เราค่อยเป็นค่อยไป ทั้งๆ ที่ความจริงเธอก็ยังไม่แน่ใจอะไรกับตัวเองเลย…

“เธอมองฉันเป็นตัวอะไรวะ เป็นอีโง่ที่คอยอยู่ข้างเธอ พร้อมจะทิ้งทุกอย่างตรงหน้ามาหาตอนที่เธอไม่โอเค หรือเพราะกับเขามันง่ายกว่า เอากันมันส์กว่า ไม่ได้คิดว่าคนสองคนเอากันเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ได้จริงจังกับทุกเรื่องเหมือนฉัน นี่ไง ฉันคิดแบบนี้ แล้วฉันก็อยากยอมรับด้วยว่าฉันคิดแบบนี้จริงๆ

“ตอนแรกที่เธอเข้าหาฉัน ชอบอยู่กับฉัน อาจเป็นเพราะฉันดูเข้มแข็ง จัดการกับทุกอย่างได้ ดูเป็นผู้ใหญ่ แต่ความจริงแล้วไม่เลย ฉันแม่งโคตรพังเลย…  ฉันกลัวว่าที่เธอเปลี่ยนไปเพราะเธอเห็นว่าจริงๆ แล้วฉันไม่ใช่คนแบบที่เธอต้องการ ฉันอยากมีเหตุผล อยากเข้มแข็ง อยากดูเป็นผู้ใหญ่ แต่แม่ง.. ฉันบังคับตัวเองไม่ได้ ฉันอยากลืมทุกอย่างระหว่างเรา แต่ทุกอย่างแม่งโคตรสําคัญกับฉันเลย ฉันรักความทรงจํานี้ แล้วฉันก็กลัว กลัวมากว่ามันจะหายไป กลัวว่าวันนึงฉันจะตื่นขึ้นมาแล้วไม่รู้สึกอะไรกับเรื่องนี้ กลัวยิ่งกว่าจะเกลียดเธออีก

“เพราะฉันรักเธอตอนนั้น แล้วก็รักตัวเองที่อยู่กับเธอตอนนั้นมาก”

ระหว่างที่นั่งดูไป นอกจากผมจะเห็นภาพซ้อนของนัตตากับคนรักของเธอ คล้ายผมเห็นภาพตัวเองกับคนรักในอดีตเช่นกัน

 

-3-

“มีแต่ความคลุมเครือ มีแต่บาดแผลของเรื่องราวที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง มีแต่การสมมติที่เลวร้าย แต่จะไม่สมมติเลยก็ไม่ได้ เพราะไม่เช่นนั้น ก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย…”

ข้อความข้างต้นปรากฏอยู่ในหนังสือสีน้ำเงินขนาดเท่าฝ่ามือ ชื่อเรื่องว่า ‘Midnight Harmony สนามเด็กเล่นของปีศาจ’ เขียนโดย ลัดดา สงกระสินธ์

ไม่รู้ว่าคนอื่นเคยเป็นเหมือนกันไหม แต่ผมมักพบความเชื่อมโยงประหลาดๆ จากหนัง เพลง หนังสือ ที่ผมเสพใน ‘ช่วงเวลานั้นๆ’ อยู่เสมอ เช่นเดียวกับหนังสือเล่มนี้ ที่มีคนหยิบยื่นให้อ่านในเวลาไล่เลี่ยกันกับที่ได้ดูละครเวทีเรื่อง ‘What if?’ ของนัตตา

นอกจากผลงานทั้งสองจะเป็นของศิลปินหญิงเหมือนกัน พูดถึงชีวิตที่พังทลายและหัวใจที่แตกสลายเหมือนกัน ทว่าอีกสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือการซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเอง จริงใจต่อเรื่องเล่า ปั้นแต่งเท่าที่จำเป็น

“เมื่อรู้สึก ฉันมักจะรู้สึกมาก มักคิดถึงจนฟุ้งซ่าน แล้วก็ไม่อาจสนใจสิ่งอื่นๆ อย่างลึกซึ้งได้อีก ฉันจึงต้องพยายามจัดการความรู้สึกที่เกิดขึ้นให้เป็นรูปธรรม หาวิธีวาง แล้วจัดวางมันให้เรียบร้อย และฉันก็ต้องการกระทำซ้ำจนเพียงพอ จึงจะยอมหันเหความสนใจจากใครสักคนหรืออะไรสักอย่างไปหาสิ่งใหม่ๆ ต่อไปได้”

ในงานของลัดดา แม้ภาษาและการเล่าเรื่องของเธอจะมีลักษณะเป็นกวี แต่ก็เป็นกวีที่ซื่อเอามากๆ รักก็บอกว่ารัก เจ็บก็บอกว่าเจ็บ เหงาก็บอกว่าเหงา บอกโดยที่ไม่ต้องใช้คำเหล่านั้น

“ตอนที่ฉันเป็นเจ้าป่า ฉันยังไม่รู้ตัวเลย มีแค่เขาที่รู้ว่าฉันเป็น เขามองว่าฉันเป็นผู้คุมเกม มีอำนาจเหนือ และเป็นผู้ใช้อำนาจเหนือนั้น…

“ฉันพยายามกระตุ้นให้เขาแสดงออกเท่าฉัน แต่เขาเป็นคนที่น้อย ท่าทีของเขาเท่าฉันไม่ได้ ฉันจึงพยายามลดลงให้น้อยเท่าเขา แต่ฉันก็เป็นคนที่มาก ฉันน้อยลงไปไม่ถึงจุดที่ตัวเองต้องการ… เราเอียงกะเท่เร่ ไม่มีคำว่าสมดุล”

แน่นอนว่าแต่ละความสัมพันธ์ ย่อมมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันไป ทว่าใจความหลักนั้นมีอยู่ไม่กี่อย่าง พบรัก แยกทาง ห่างเหิน คนหนึ่งขาด คนหนึ่งเกิน ไม่พ้นไปจากนี้

สิ่งที่น่าสนใจคือ ในห้วงเวลาที่คนเราทุกข์และจมดิ่ง ใครบางคนระบายมันออกมาเป็นงานศิลปะ แปลงความเจ็บปวดเป็นผลงาน ถลกบาดแผลของตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อถ่ายทอดห้วงอารมณ์เหล่านั้นออกมา

สำหรับผม คนประเภทนี้ช่างน่านับถือหัวใจ น่าสนับสนุนแม้จะไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังอะไร

ต่างจากคนบางประเภทที่ยึดเอาอัตตาเป็นใหญ่ หากินกับชื่อเสียงที่ได้มาจากความมักง่าย ภายใต้หน้ากากศิลปินแบบปลอมๆ

 

-4-

เพราะเมื่อวาน ฉันยังไร้เดียงสา

เพราะเมื่อวาน ไม่ต้องคิด ไม่ต้องรับรู้

ช่วยดูดกลืน ช่วยดูดกลืน ช่วยดูดกลืนฉันที…

– เพลง Vintage Pic จากวง Solitude is bliss

 

ท่อนฮุคของเพลงนี้ลอยวนอยู่ในหัวผมซ้ำๆ ขณะนั่งอ่านงานของลัดดา และคิดเล่นๆ ว่าถ้าเอาไปใช้เป็นเพลงซาวน์แทร็คประกอบละครเวทีของนัตตา ก็คงเข้าท่าไม่น้อย

“ดีเลยว่ะ กูชอบ จบแบบนี้ค่อยยังชั่วหน่อย แปลว่าโตขึ้นละ” ผมบอกกับนัตตาหลังม่านละครปิดฉากลง

“แน่นอนอยู่แล้ว” เธอเบะยิ้ม หลบสายตา

แทนคำพูดต่างๆ นานา ผมอ้าแขนให้กอด เธอปล่อยโฮออกมาอย่างไม่อายใคร

ในช่วงวัยหนึ่ง ความไร้เดียงสาอาจผลักไสให้เราลอยคว้างท่ามกลางบาดแผล เราแย่ เราเจ็บ เราจมอยู่กับมัน กระทั่งวันเวลาผ่านไป เราอาจกลายเป็นคนใหม่ที่เฝ้ามองดูบาดแผลเหล่านั้นแบบขำๆ

 

การบันทึกความทรงจำเหล่านั้นเอาไว้ในขณะที่มันยังสดอยู่ อาจไม่ได้มีคุณค่าหรือน่าจดจำนัก แต่อย่างน้อยมันคือหลักฐานที่ทำให้รู้ว่าครั้งหนึ่งเราเคยเป็นคนแบบไหน ผิดพลาดอย่างไร ดีกว่าการปล่อยให้มันจางไปโดยที่ไม่เคยเรียนรู้อะไรเลย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save