วจนา วรรลยางกูร เรื่อง
หลังมีการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ตลาดกลางกุ้ง สมุทรสาคร ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่การแพร่ระบาดระลอกสอง ตัวละครสำคัญที่สังคมพุ่งเป้าไปคือแรงงานข้ามชาติ ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าหนึ่งในสาเหตุที่เกิดการระบาดมาจากแรงงานที่ลักลอบข้ามพรมแดนโดยผิดกฎหมายหรือไม่
เหตุการณ์นี้ทำให้สังคมต้องย้อนกลับมาพิจารณาระบบการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะในช่วงโรคระบาดที่มีขั้นตอนหลายอย่างไม่สอดคล้องแต่การป้องกันโรค ไปจนถึงปัญหาการคอร์รัปชัน และระบบที่ไม่สอดคล้องต่อความต้องการในภาคธุรกิจและความต้องการของแรงงานเอง
101 พูดคุยกับ อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ถึงปัญหาแรงงานข้ามชาติกับโรคระบาด จนถึงข้อเสนอแนะต่อแนวทางการจัดการแรงงานข้ามชาติ
เมื่อโรคระบาดทำให้สังคมผลักแรงงานข้ามชาติไปสู่ ‘ความเป็นอื่น’ โจทย์สำคัญที่ทุกคนควรมองคือการสร้างความไว้ใจในการอยู่ร่วมกันในสังคม โดยไม่ทิ้งให้ใครตกหล่นเหมือนที่เคยเป็นมา
นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 เมื่อปีที่แล้วส่งผลอย่างไรต่อปัญหาแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยบ้าง
มี 3 ประเด็นที่คิดว่าปรากฏชัดขึ้นหลังเกิดการระบาดของโควิด-19
1. ความเข้าใจของคนไทยต่อแรงงานข้ามชาติเริ่มกลับไปมีภาพลักษณ์ที่เป็นลบขึ้นพอสมควร จากเดิมที่เคยหายไปก็กลับมาอีกรอบหนึ่ง เป็นปรากฏการณ์ที่เห็นค่อนข้างชัดในช่วงที่ผ่านมา
2. เริ่มมีปัญหาเรื่องการจ้างแรงงานในพื้นที่ คนจำนวนหนึ่งตกงาน ไม่มีรายได้ จะทำให้คนงานเคลื่อนตัวจากสมุทรสาครไปจังหวัดอื่นเพื่อหางานทำ ซึ่งจะมีปัญหาต่อการควบคุมโรค ซึ่งน่าห่วงเพราะยังคุมสถานการณ์ไม่ได้
3. นโยบายจากรัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลง พอเจอผู้ติดเชื้อที่เป็นแรงงานข้ามชาติมากขึ้นจึงมีนโยบายที่พยายามผลักดันให้แรงงานผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบมากขึ้น เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ ตรวจโควิด-19ได้ และมีหลักประกันสุขภาพเพิ่มมากขึ้น
ในการระบาดรอบแรกที่รัฐบาลปิดกั้นพรมแดนและล็อกดาวน์ นโยบายนี้ส่งผลยังไงต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานทั้งแบบถูกกฎหมายและนอกกฎหมาย
ในการระบาดรอบแรก พอมีการล็อกดาวน์หรือปิดกิจการบางส่วนและปิดพรมแดน ทำให้คนตกงานมากขึ้นและกลับบ้านไม่ได้เพราะชายแดนปิด ทำให้มีการทยอยย้ายข้ามพื้นที่เพื่อไปหางานใหม่ หลายคนที่มีปัญหาเรื่องรายได้ก็ย้ายไปพักอาศัยด้วยกันจำนวนมากเพื่อลดค่าใช้จ่ายลง ในการระบาดรอบแรกยังไม่มีการติดโควิด-19 ในแรงงานข้ามชาติ จึงยังไม่ค่อยน่าห่วง แต่ทำให้เห็นว่ามาตรการเว้นระยะห่างไม่สามารถทำได้จริงในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ
นอกจากนี้ ผลกระทบต่อเนื่องจากการปิดกิจการ ทำให้แรงงานข้ามชาติที่เคยทำงานถูกกฎหมายต้องหลุดออกจากระบบ เพราะกฎหมายกำหนดเงื่อนไขว่า แรงงานที่ตกงานต้องหานายจ้างใหม่ภายใน 30 วัน เมื่อกิจการส่วนใหญ่ปิด หานายจ้างไม่ได้ในเวลาที่กำหนด พวกเขาก็กลายเป็นคนผิดกฎหมายทันที เราประเมินกันว่า ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 ถึงตุลาคม 2563 มีแรงงานข้ามชาติในระบบหายไปประมาณ 5-6 แสนคน ซึ่งคาดว่าคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังอยู่ในประเทศไทย แต่ทำงานผิดกฎหมาย ทำให้คนที่เคยถูกกฎหมายกลายเป็นผิดกฎหมาย
อีกหนึ่งปัญหาคือคนที่เดินทางกลับไปก่อนปิดพรมแดน ซึ่งมี 2 กลุ่ม 1. คนที่แต่เดิมก็ทำงานในไทยแล้วกลับบ้านไปก่อน เพราะเป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างปีใหม่กับสงกรานต์ บางคนรีบกลับก่อนปิดชายแดน พอจะกลับเข้ามาก็มีปัญหา จึงต้องลักลอบเข้ามา 2. แรงงานที่ทำเรื่องเข้ามาทำงานถูกต้องตามกฎหมายในช่วงก่อนปิดพรมแดน กู้หนี้ยืมสินมาจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้บริษัทที่นำเข้าแรงงานไปหมดแล้ว พอพรมแดนปิดทำให้คนกลุ่มนี้ต้องลักลอบเข้ามา
ฉะนั้นเวลาเราพูดว่ามีแรงงานลักลอบเข้าเมือง ความจริงมีทั้งคนที่แอบลักลอบเข้ามาจริงๆ และคนที่เข้ามาอย่างถูกต้อง แต่ระบบทำให้เขาผิดกฎหมาย
จากการระบาดของโรคในหมู่แรงงานข้ามชาติที่สมุทรสาคร มองมาตรการการจัดการของรัฐบาลที่มีต่อคนกลุ่มนี้อย่างไร เห็นความเหลื่อมล้ำไหมเมื่อเทียบกับการจัดการกับคนไทยหรือนักท่องเที่ยวต่างชาติ
สิ่งที่เป็นภาพปรากฏชัดในสมุทรสาครหลังพบการติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติคือ การห้ามเดินทางออกนอกพื้นที่ ซึ่งตอนนี้ทุกจังหวัดในประเทศห้ามแรงงานข้ามชาติเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่ทั้งหมด เพราะมองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ทำให้มีปัญหาในแง่ชีวิตประจำวันพอสมควร
นอกจากนี้ เราเห็นปัญหาเรื่องการกักตัว เนื่องจากสมุทรสาครมีระบบการกักตัวที่ยังไม่พร้อม ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน พอต้องให้คนกักตัวก็เอารั้วลวดหนามมาล้อมตลาดกุ้ง ทำให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจนในการจัดการแรงงานข้ามชาติที่สมุทรสาคร ถ้าเป็นแรงงานข้ามชาติต้องอยู่ภายใต้รั้ว แต่คนไทยยังสามารถเดินทางในสมุทรสาครได้
ในหลายพื้นที่แม้จะยังไม่เจอแรงงานข้ามชาติเป็นผู้ป่วย แต่ก็มีมาตรการเข้มงวดมากขึ้น เช่น บางจังหวัดห้ามไม่ให้ออกนอกที่พักในช่วงเวลากลางคืน ตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึง 6 โมงเช้า ส่งผลกระทบต่อการทำงานของแรงงานหลายส่วน เช่น สวนยางที่ต้องไปกรีดยางช่วงเช้ามืด
ภาพเหล่านี้สะท้อนการใช้มาตรการอย่างเข้มงวดของรัฐต่อแรงงานข้ามชาติเป็นหลัก
การระบาดที่สมุทรสาครเป็นเหตุการณ์แรกๆ ในการระบาดระลอกสองของไทย สะท้อนให้เห็นปัญหาอะไรบ้าง คนส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นเพราะความหละหลวมในการควบคุมการข้ามแดนตามช่องทางธรรมชาติ หรือเรื่องการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐที่ปล่อยให้มีคนเข้ามาได้โดยผิดกฎหมาย
ผมมองว่ามี 3 ประเด็นที่เห็นในช่วงการระบาดระลอกสอง
1. การลักลอบเข้าเมือง เกิดคำถามสำคัญว่า ปกติเราจะข้ามชายแดนต้องเจอด่านจำนวนมากและถูกตรวจทุกด่าน แต่ทำไมแรงงานข้ามชาติถึงเข้ามาได้ง่าย สะท้อนให้เห็นว่ามีกระบวนการคอร์รัปชันหรือการแสวงหาผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่หรือไม่ เรื่องนี้ทำให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ กรณีการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายจนเป็นเหตุให้เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเราก็ยังไม่มั่นใจว่าจะทำอะไรได้มากไหม
2. สภาพความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ เหตุหนึ่งที่ทำให้การระบาดเกิดขึ้นชัดเจนเพราะความเป็นอยู่ที่แออัด ที่ผ่านมากระบวนการดูแลแรงงานข้ามชาติที่มาทำงานในไทยไม่มีการให้ความสำคัญกับเรื่องที่พักหรือชีวิตความเป็นอยู่เท่าที่ควร โดยเฉพาะกิจการขนาดเล็กจะมีปัญหาค่อนข้างมาก เราจึงเห็นภาพคนมาอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มและไม่ได้มีระบบในการดูแลที่ดีพอ การแพร่ระบาดของโรคก็เกิดขึ้นได้ง่าย เพราะฉะนั้นเวลาตรวจเชิงรุกในสมุทรสาครแต่ละวัน ตัวเลขก็จะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
3. แม้ว่าสาเหตุที่แท้จริงของการระบาดระลอกสองจะไม่ชัดเจนว่าเกิดจากอะไรกันแน่ ได้แต่สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากแรงงานข้ามชาติเท่านั้นเอง แต่รัฐมีการนำเสนอว่าเกิดจากแรงงานข้ามชาติ นี่เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ค่อนข้างจะมีปัญหาในแง่การเสนอภาพแรงงานข้ามชาติของรัฐ
สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่ารัฐมีปัญหาแน่ๆ คือแต่ละหน่วยงานของรัฐส่งข้อความออกมาไม่ตรงกัน ช่วงแรก ศบค. เสนอภาพออกมาในเชิงค่อนข้างเป็นลบว่าโรคระบาดมาจากแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะที่ตลาดกุ้ง ซึ่งสุดท้ายคนที่ติดคนแรกก็เป็นคนไทย สักพักเขาเริ่มเปลี่ยนท่าที บอกให้แรงงานข้ามชาติมาปรากฏตัว มารักษาให้เรียบร้อย และเปิดนโยบายให้จดทะเบียน ในขณะเดียวกัน หน่วยงานรัฐอีกฝั่งหนึ่งก็เข้าไปปราบปรามจับกุมแรงงานข้ามชาติ ทำให้เห็นถึงความไม่ชัดเจนของนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติของภาครัฐ
จริงๆ แล้วภาพความไม่พร้อมของนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติของรัฐเกิดขึ้นมาตั้งแต่โควิด-19 ระบาดระลอกแรกแล้ว มีมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับเรื่องแรงงานข้ามชาติหลายมติ โดยให้แรงงานที่ระยะเวลาอยู่อาศัยสิ้นสุดแล้วได้รับการขยายเวลาออกไปเรื่อยๆ โดยไม่มีแผนระยะยาวว่าจะมีวิธีการอย่างไร และคนกลุ่มนี้จะมีปัญหาอย่างไร นอกจากนั้นก็มีมติเรื่องให้จดทะเบียนใหม่
จะเห็นได้ชัดเจนว่านโยบายของรัฐเองต่างหากที่เป็นฐานของปัญหาทำให้เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง เพราะว่า 1. เราขาดทิศทางในระยะยาวสำหรับการจัดการเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ 2. รัฐยังพยายามแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ไม่มีการวางระบบให้ชัดเจน 3. ทัศนคติการจัดการของรัฐยังเป็นลบกับแรงงานข้ามชาติพอสมควร แม้ว่าจะพยายามบอกว่า เราต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติอย่างไรบ้าง แต่ว่าภาพลักษณ์ในการดำเนินการสะท้อนภาพนี้ไม่ชัด 4. ความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของการดำเนินการของภาครัฐ ซึ่งชัดเจนมากในกรณีนี้
ช่วงแรกที่มีข่าวออกมาว่ามีการระบาดที่ตลาดกุ้ง และมีแรงงานข้ามชาติติดโรคจำนวนมาก ทำให้คนบางส่วนในสังคมเกิดทัศนคติด้านลบต่อแรงงานข้ามชาติ ตอนนี้สิ่งเหล่านี้จางลงหรือยัง แล้วจะส่งผลระยะยาวหรือเปล่า
หลังการระบาดที่ตลาดกุ้ง ความเข้าใจในแรงงานข้ามชาติของสังคมโดยรวมเริ่มมีทิศทางกลับไปเป็นภาพลักษณ์เชิงลบมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะเราต้องการหาคนผิดให้ได้ บ้างบอกว่าแรงงานข้ามชาติเป็นตัวปัญหา บ้างก็บอกว่าการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นปัญหา พอเป็นอย่างนี้แล้วเหมือนว่าเราไม่ได้ต้องการแก้ปัญหา เราแค่ต้องการหาคนผิดมารับผิดชอบ อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่เมื่อสังคมไทยมีทิศทางที่มีปัญหา
ช่วงที่ผ่านมา ขณะที่คนกลุ่มหนึ่งมองว่าแรงงานข้ามชาติเป็นปัญหา แต่ในโซเชียลมีเดียก็มีคนอีกส่วนบอกว่าเรากำลังมองปัญหากันผิดจุด การดูแลแรงงานข้ามชาติไม่ได้ทำให้ประเทศไทยมีโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น แต่คือการทำให้ประเทศไทยก้าวผ่านเรื่องโควิด-19 ไปด้วยกัน เราจะรักษากระแสแบบนี้ไปได้อีกนานแค่ไหน คนจะเข้าใจเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับการนำเสนอของสื่อในสังคม
จริงๆ แล้วคนในพื้นที่ไม่ได้มองว่าแรงงานข้ามชาติเป็นส่วนเกินของสังคม สมุทรสาครอยู่กับแรงงานข้ามชาติเกือบ 20 ปี แรงงานข้ามชาติกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจระดับย่อยในพื้นที่ มีคนได้ประโยชน์จากการทำงานของแรงงานข้ามชาติเยอะมาก ทั้งโรงงานขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการขนาดเล็ก จนถึงมอเตอร์ไซค์รับจ้างหรือเจ้าของห้องเช่า พอคนอยู่ด้วยกันมาก็เริ่มเข้าใจกันมากขึ้น เริ่มมีกิจกรรมด้วยกันมากขึ้น
คนที่หวาดกลัวแรงงานข้ามชาติคือคนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ เป็นคนในพื้นที่อื่นที่ยังอาจเห็นภาพลักษณ์แรงงานข้ามชาติในมิติเดิม ผมคิดว่าเป็นโอกาสดีสำหรับพวกเราที่จะได้มาทำความเข้าใจสมาชิกทุกคนที่อยู่ในสังคมไทย ซึ่งแรงงานข้ามชาติก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยเช่นกัน
ในมุมมองของแรงงานข้ามชาติ ขณะนี้มีเรื่องไหนที่พวกเขาเป็นกังวลมากที่สุด
แรงงานข้ามชาติจำนวนมากรู้สึกดีใจที่รัฐพูดถึงพวกเขาในแง่มุมที่ดีขึ้น แรงงานข้ามชาติได้ยินข้อความแบบนี้จากรัฐ หลายคนก็อยากขอบคุณ
ขณะเดียวกันก็หวาดกลัวว่าคนไทยจะเข้าใจเขาไหม มีกรณีที่ปรากฏในโซเชียลมีเดียว่าแรงงานข้ามชาติไปซื้อกับข้าว แล้วไปถามคนขายว่า “พี่จะขายให้ผมไหม” หลังๆ มานี้เวลาผมไปร้านอาหารที่จ้างแรงงานข้ามชาติ เขาจะพยายามไม่คุย พยายามไม่แสดงตัวให้รู้ว่าเป็นแรงงงานข้ามชาติ เขากลัวว่าถ้ารู้ว่าเป็นแรงงานข้ามชาติแล้วคนจะรังเกียจ
นอกจากนี้ พวกเขายังมีความกลัวเรื่องความมั่นคงในชีวิตของตัวเองว่าจะยังทำงานในประเทศไทยได้ไหม ถ้านโยบายไม่ชัดเจน การจัดการไม่เรียบร้อย จะทำให้พวกเขายังสามารถถูกจ้างงานอย่างถูกต้องในประเทศไทยได้ไหม ถ้าจะกลับบ้านแล้วจะกลับได้หรือไม่ เพราะชายแดนยังปิดอยู่ ความกังวลใจในเรื่องอนาคตของตัวเอง เริ่มเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นในช่วงหลังจากโควิด-19 ระบาด
ถ้ามองโจทย์แรงงานข้ามชาติในระยะสั้นมีเรื่องไหนที่รัฐบาลควรทำโดยเร่งด่วน
รัฐบาลต้องรักษาคนให้อยู่ในระบบ เพื่อไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายในช่วงควบคุมการระบาดของโรค มีปัญหาสองเรื่องที่คิดว่าเป็นประเด็นใหญ่
1. เรื่องสถานะในการอยู่ ซึ่งอาจมีความอ่อนไหวเรื่องเอกสารแสดงตัว เช่น หนังสือเดินทางที่กำลังจะหมดอายุแล้วไม่สามารถไปต่อได้เพราะชายแดนปิด ศูนย์ของประเทศต้นทางก็ปิดเนื่องจากตั้งอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร แรงงานข้ามชาติมีความกังวลใจค่อนข้างมากว่า ถ้าต่อหนังสือเดินทางไม่ได้ก็ต่อวีซ่าไม่ได้ แล้วจะถือว่าระยะเวลาการอยู่อาศัยสิ้นสุดลง ผมคิดว่าทั้งประเทศมีประมาณ 4 แสนคนที่มีลักษณะแบบนี้
2. กลุ่มที่อยู่ระหว่างการขอต่อวีซ่า สิ่งที่เราเจอคือในการต่อวีซ่าของแรงงานข้ามชาติต้องขอตรวจสุขภาพกับโรงพยาบาลก่อน แต่โรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยง เช่น สมุทรสาคร กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ไม่มีโรงพยาบาลไหนรับตรวจสุขภาพให้แรงงานข้ามชาติ ผมเข้าใจว่าเพราะกำลังเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดของโควิด-19 แต่พอตรวจไม่ได้ก็มีปัญหาในการต่อวีซ่าทันที
รัฐต้องเข้ามามีมาตรการดึงให้คนกลุ่มนี้อยู่ในระบบอยู่ โดยการแก้ปัญหาสองเรื่องนี้ให้ได้
นอกจากนี้ รัฐควรทำให้มีความมั่นคงในการจ้างงานเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยช่วงการระบาดระลอกแรก ต้องรักษาสภาพการจ้างงานให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้แรงงานข้ามชาติยังมีรายได้และยังอยู่ในพื้นที่ แต่ถ้ามีกิจการที่ต้องปิดจริงๆ ต้องมีกระบวนการให้แรงงานข้ามชาติได้รับการชดเชยจากการปิดกิจการ โดยต้องเข้าถึงได้ง่าย เพื่อให้เขามีรายได้และไม่เลือกวิธีการเดินทางหาที่ทำงานใหม่ด้วยตัวเอง ท้ายที่สุดถ้าจำเป็นต้องไปหางานใหม่ด้วยตัวเอง ก็ควรจะไปอย่างมีทิศทาง รัฐต้องเข้ามาช่วยจับคู่นายจ้างกับลูกจ้างให้เดินทางข้ามจังหวัดโดยปลอดภัย มีการตรวจสอบกันเรียบร้อย ไม่มีการแพร่ระบาดของโรค โดยต้องทำให้แรงงานอยู่ในระบบและมีประกันสุขภาพ
อีกเรื่องที่ต้องทำคือการดึงคนนอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบ โดยอาจเป็นคนที่เคยอยู่แบบถูกกฎหมายและตอนนี้กลายเป็นคนผิดกฎหมาย หรือคนที่ผิดกฎหมายและยังแอบซ่อนตัวอยู่ ต้องทำให้เขามีตัวตน รู้ว่าอาศัยตรงนี้ ทำงานตรงนี้ เวลามีการระบาดของโรคจะได้ควบคุมได้ ที่สำคัญคือเขาต้องมีสิทธิในการรักษาพยาบาล มีกลไกในการดูแลสุขภาพตัวเองชัดเจนมากขึ้น
สุดท้ายคือการทำให้เขามีความมั่นคงปลอดภัยในเรื่องสุขภาพ ต้องตรวจเชิงรุกในกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มีความเสี่ยงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ควรเป็นการตรวจเพื่อประโยชน์ของรัฐ ถ้ามีค่าใช้จ่ายสูง เขาก็จะไม่มาตรวจ รัฐต้องคิดเรื่องนี้ให้ชัดเจน
ในระยะกลางคือเรื่องวัคซีน เราต้องวางแผนการจัดการให้ดีว่าใครควรได้วัคซีนบ้าง หรือทุกคนควรได้วัคซีนเหมือนกันหมด วัคซีนคือการควบคุมโรคที่ดีที่สุด พอทุกคนมีภูมิคุ้มกันจะสามารถคุมโรคได้ ประเด็นพวกนี้ต้องมีนโยบายที่ชัดเจน
สำหรับแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในระบบอยู่แล้ว ตั้งแต่เกิดโควิด-19 มีความยากลำบากในการดำเนินการด้านเอกสารยากกว่าช่วงเวลาปกติหรือเปล่า แล้วรัฐมีความพยายามช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกให้ง่ายหรือเสี่ยงต่อการติดต่อของโรคน้อยลงไหม
แนวทางการดำเนินการของแรงงานข้ามชาติเป็นปัญหามาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ระบบมีความยุ่งยากค่อนข้างมาก พอเกิดโควิด-19 แล้วไปติดต่อดำเนินการแบบปกติไม่ได้ก็ยิ่งมีปัญหาเพิ่มมากขึ้น
เราพยายามพูดเรื่องนี้กับรัฐมาตั้งแต่การระบาดระลอกแรกว่ามีปัญหาเรื่องนี้จริงๆ แต่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างน้อย ปัญหาที่ผ่านมาคือ รัฐคิดเอง ทำเอง ไม่ได้มีการระดมความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น รัฐไม่เคยถามนายจ้างเลยว่านายจ้างเกิดปัญหาอะไรบ้าง และไม่เคยถามแรงงานเลยว่ามีปัญหาเรื่องอะไรบ้าง ทำให้การออกแบบการดำเนินงานที่ผ่านมาผิดฝาผิดตัว เผลอๆ ไปสร้างปัญหาให้แรงงานข้ามชาติเพิ่มมากขึ้น เช่น นโยบายการเปิดจดทะเบียนล่าสุด รัฐหวังดีว่าอยากดึงคนเข้าสู่ระบบ แต่พอทำไปทำมาก็พบว่า การเข้าสู่ระบบของแรงงานข้ามชาติมีค่าใช้จ่ายที่แพง เฉพาะการดำเนินการของรัฐอย่างเดียวก็ 9,000 บาทต่อคนแล้ว และการมีระบบที่ยาก เช่น การกรอกข้อมูลทางออนไลน์เป็นภาษาอังกฤษ ทำให้นายจ้างทำเองไม่ได้ต้องไปพึ่งนายหน้า ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพื่อให้แรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายรอบนี้อยู่ที่ 9,000-15,000 บาทต่อคน กลายเป็นอุปสรรคใหญ่ในการดำเนินการให้ถูกต้อง
มีข้อเสนออย่างไรต่อการจัดการแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในระบบเพื่อให้สอดคล้องกับการป้องกันโรค
ประเทศไทยมีกฎหมายที่สามารถผ่อนผันมาตรการบางอย่างได้ เช่น ช่วงเวลานี้ยังไม่สามารถตรวจสุขภาพได้ ไม่สามารถต่อวีซ่าได้ ก็ให้ขยายการดำเนินการออกไปก่อน หรือบางกลุ่มที่มีวีซ่าอยู่แล้วและกำลังจะต้องต่อ ก็สามารถให้ยกเว้นการต่อวีซ่ารอบนี้โดยอิงกับใบอนุญาตการทำงานเดิม ซึ่งมีอายุมากกว่าวีซ่าอยู่แล้ว เราต้องคิดกลไกแบบนี้ขึ้นมาเพื่อทำให้การติดต่อดำเนินการกับภาครัฐสะดวกมากขึ้น และต้องพัฒนาระบบของรัฐ เช่น ทำให้ระบบออนไลน์สะดวกมากขึ้น ปัญหาที่เราเจอคือเป็นระบบที่ใช้กับแรงงานข้ามชาติมีเฉพาะภาษาไทย ทำให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงยาก ส่วนการรักษาแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในระบบอยู่แล้วต้องดำเนินการให้ชัดเจนมากขึ้น
มีข้อเสนออย่างไรเรื่องการลักลอบเข้าประเทศโดยผิดกฎหมาย เพื่อให้รัฐบาลสามารถควบคุมโรคได้
มาตรการที่ควรทำคือปิดคู่กับเปิด เพื่อไม่ให้มีการลักลอบนำแรงงานที่ผิดกฎหมายเข้าประเทศไทย
‘ปิด’ คือเข้มงวดกับการตรวจสอบพื้นที่ชายแดน สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนพื้นที่ชายแดนในการเฝ้าระวัง มีบทลงโทษจริงจังกับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนรู้เห็นเรื่องนี้
‘เปิด’ คือสำหรับกลุ่มคนที่ดำเนินการเข้าเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แต่ไม่สามารถข้ามพรมแดนมาได้ ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน พอมีความไม่ชัดเจนของนโยบายสำหรับคนเดินทางเข้าประเทศในกลุ่มแรงงานที่ไม่ค่อยมีรายได้ การตรวจโควิด-19 และการกักตัวมีค่าใช้จ่ายที่แพง ทำให้เขาต้องลักลอบเข้ามา เราจึงต้องเปิดช่องทางให้เขาสามารถเดินทางเข้ามาอย่างถูกต้อง โดยมีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการกักตัวและค่าตรวจโควิด-19 ให้ราคาถูกลง เพื่อจะได้มีการตรวจ เฝ้าระวังไม่ให้ผู้ติดเชื้อเข้าประเทศตั้งแต่ต้น ถ้ารัฐไทยสามารถสร้างความร่วมมือกับประเทศต้นทาง เช่น พม่า ลาว กัมพูชา ในการตรวจสอบร่วมกัน นำไปสู่การเดินทางเข้ามาของคนอย่างถูกต้องร่วมกันได้
จากปัญหาเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติที่เด่นชัดขึ้นมาระหว่างการระบาดของโรค หากมองเชิงโครงสร้างการจัดการแรงงานข้ามชาติ ในระยะยาวรัฐควรมีแนวทางอย่างไรบ้าง
ต้องตั้งต้นด้วยการมียุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบทั้งในระยะสั้น กลาง และยาวอย่างชัดเจน เนื่องจากปัจจุบันเราไม่ได้มีแผนยุทธศาสตร์ การกำหนดนโยบายต่างๆ จึงเป็นการแก้ไขปัญหารายวันมากกว่า เราจึงต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างทิศทางในการเดินให้ชัดเจนก่อนว่าจะไปอย่างไร
ผมคิดว่าการมีส่วนร่วมเป็นเรื่องสำคัญ ทำอย่างไรที่รัฐจะไม่คิดเองเออเอง ไม่กำหนดนโยบายบนฐานความเข้าใจของตนเอง เปิดให้มีการฟังข้อมูลอย่างรอบด้าน สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาหรือผลกระทบอย่างรอบด้าน ทำให้การกำหนดนโยบายของรัฐมีความชัดเจนมากขึ้น ครอบคลุมทุกมิติมากขึ้น เพราะปัจจุบันการขับเคลื่อนมีแค่ 2 มิติเท่านั้น คือ เรื่องความมั่นคงและเรื่องสุขภาพ เราไม่ได้มองมิติเรื่องสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้วางกรอบทิศทางในการเดินต่อไปได้
เรื่องสุดท้ายคือ การแก้ไขปัญหาที่อิงกับระบบราชการไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย และยิ่งกลายเป็นปัญหามากขึ้นอีก ทุกวันนี้จะเห็นว่าการออกนโยบายของรัฐถูกคิดโดยราชการทั้งหมด ฉะนั้นจะเห็นความผิดพลาดชัดเจนจากการระบาดของโควิด-19 ในช่วงแรก ที่สุดท้ายนำไปสู่การเลิกจ้าง เศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เพราะเป็นการแก้ปัญหาบนฐานคิดแบบราชการ ฉะนั้นถึงเวลาที่เราต้องขยับการบริหารจัดการไปอยู่อีกภาคส่วนหนึ่ง ไปอีกวิธีคิดหนึ่งให้มากขึ้น เพื่อรองรับวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้
มีเรื่องอะไรบ้างที่รัฐและคนในสังคมควรคำนึงเมื่อมองปัญหาแรงงานข้ามชาติ
แรงงานข้ามชาติเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยมาร่วม 20 ปี เขาอยู่ร่วมกับเรามาโดยตลอดและเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยขับเคลื่อนไปได้ในภาวะที่เราไม่พร้อมในหลายด้าน การจ้างแรงงานข้ามชาติมีความจำเป็น และจะมีความจำเป็นเพิ่มมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงวัย สังคมไทยจึงควรตระหนักเรื่องการดูแลแรงงานข้ามชาติมากขึ้น
ผมอยากให้มองว่าการดูแลแรงงานข้ามชาติคือการดูแลสังคมไทยโดยรวม เพราะหากเขามีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพที่ดี เท่ากับสังคมมีสุขภาพที่ดีไปด้วย การมองแรงงานข้ามชาติเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยคือการพยายามทำให้สังคมไทยสามารถก้าวผ่านอุปสรรคไปด้วยกัน
ปัญหาตอนนี้คือเราจะใช้เวลาอีกนานแค่ไหนในการควบคุมการระบาดให้ได้ ถ้าสามารถคุมจังหวัดสมุทรสาครได้ภายใน 2 เดือน ก็ทำให้การระบาดในคลัสเตอร์แรงงานข้ามชาติซาลง แต่ก็ยังมีคลัสเตอร์อื่น ที่เราห่วงกันคือคลัสเตอร์สถานประกอบการกลางคืนที่มีผลกระทบอยู่ ถ้าควบคุมคลัสเตอร์เหล่านี้ไม่ได้จะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะถ้ามีการเลิกจ้างเพิ่มมากขึ้นจะมีปัญหาเรื่องการเคลื่อนย้ายของคนไปยังพื้นที่อื่นๆ
ผมประเมินว่ายังไงเราก็คุมชายแดนไม่ได้ จากชายแดนกาญจนบุรีมาถึงกรุงเทพฯ ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง แม่สอดมากรุงเทพฯ ใช้เวลาแค่คืนเดียว ถ้าเราจะป้องกันทางชายแดน อย่าใช้วิธีการควบคุม ให้ใช้วิธีการอื่นแทน เช่น เฝ้าระวัง ให้มีการทำความเข้าใจร่วมกัน มีการทำให้ประเทศต้นทางสามารถมีเศรษฐกิจที่ดี มีปากท้องดี ทำให้เขาไม่ต้องขยับมาฝั่งนี้
ท้ายสุดคือเราต้องพยายามอยู่กับโควิด-19 ให้ได้ น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในช่วงนี้ ถ้าเรายังหวาดระแวงกัน น่าจะควบคุมได้ลำบาก หากระแวงแรงงานข้ามชาติ เขาก็จะยิ่งหลบ ที่เป็นห่วงคือถ้าเขาเริ่มไม่คุยกับเรานั่นจะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะถ้าไม่คุย แล้วเวลามีปัญหาเขาไม่กล้าปรึกษาใคร หากนายจ้างเลิกจ้างขึ้นมาเขาก็จะไปถามเพื่อนเพื่อขยับขยายตัวเองออกไปพื้นที่อื่น ความเสี่ยงก็จะเกิด แต่ถ้าเขามั่นใจว่าหากมีอะไรเกิดขึ้นแล้วมีคนที่เขาสามารถโทรขอคำปรึกษาได้ กล้าพูดคุยกับคนไทยมากขึ้น ผมคิดว่าจะเป็นทิศทางที่ดีกว่า