fbpx
ร้านหนังสือกับความฝันและความเป็นจริงของ ‘หนุ่ม หนังสือเดินทาง’

ร้านหนังสือกับความฝันและความเป็นจริงของ ‘หนุ่ม หนังสือเดินทาง’

อาทิตย์ ศรีจันทร์ เรื่อง

 

เราเข้าร้านหนังสือครั้งสุดท้ายกันเมื่อไรในยุคที่ทุกๆ คนสามารถสั่งหนังสือออนไลน์ หรือในยุคที่ ‘ร้านหนังสือ’ อยู่บนโลกออนไลน์?

 

คนเราเข้าร้านหนังสือด้วยหลายเหตุผล บ้างเป็นเพราะร้านหนังสือมีหนังสือให้เราเลือก มีหนังสือให้เราจับพลิกอ่านไปมาก่อนที่จะตัดสินใจซื้อมันกลับบ้าน บ้างเป็นเพราะต้องการเพียงแค่ได้เห็นหนังสือหลายๆ เล่มอยู่ในที่เดียวกัน ให้อารมณ์เหมือนอยู่ในห้องสมุดที่ผ่อนคลายมากขึ้น และมีเพลงคลอเบาๆ

บางคนมีความสุขกับการได้หยิบจับหนังสือ ได้อ่านข้อความในหนังสือต่างๆ เล่มละสองสามข้อความ บางคนชอบ ‘กลิ่น’ ของหนังสือ ชอบเปิดดมหนังสือมากกว่าจะอ่านมันอย่างจริงจัง เท่าที่เคยสัมผัส ผมมีคนรู้จักที่ตัดสินใจว่าจะซื้อหนังสือบางเล่มจากการดมกลิ่นหนังสือเล่มนั้นๆ ก่อน โดยพิจารณาเนื้อหาและชื่อคนเขียนทีหลัง บางครั้งหนังสือเล่มนั้นเป็นผลงานของนักเขียนที่เขาชื่นชอบ แต่กลิ่นหนังสือไม่ชวนให้อ่าน เขาก็บอกว่า “เอาไว้ก่อน”

นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลอื่นๆ อีกมากมายเหลือคณานับที่คนเราเข้าร้านหนังสือ

สำหรับบางคน ‘ร้านหนังสือ’ คือความฝัน มันไม่เพียงเป็นแค่ร้านหนังสือแต่เป็น ‘ทุกอย่าง’ ในชีวิต

ผมคิดว่ามีคนไม่น้อยที่มีความฝันอยากจะมีกิจการเป็นของตัวเอง เช่น ร้านกาแฟ ร้านหนังสือ หรือร้านหนังสือที่มีกาแฟและขนมขาย พร้อมๆ กับมีโปสการ์ดและภาพถ่ายศิลปะจัดแสดงเป็นแกลเลอรีขนาดย่อมๆ

สิ่งที่น่าสนใจไปกว่าการมีความฝัน คือความเป็นจริง หรือความสามารถที่จะทำให้มันเป็นจริง และที่สำคัญที่สุด มันต้องหล่อเลี้ยงชีวิตของเราได้ด้วย เพราะถึงแม้ฟังดูแล้วเหมือนจะเป็นความสุขอย่างหนึ่งที่เราสามารถมีชีวิตยืนหยัดอยู่บนความฝันของตัวเอง ทว่า การหลอมรวมความฝันกับความเป็นจริงนั้นไม่เคยมีเส้นทางที่ง่ายดาย ในรอยยิ้มมีคราบน้ำตา ในเสียงหัวเราะมีร่องรอยของเสียงสะอื้นไห้เสมอ

แต่หากเราทำได้ ก็จะมีชีวิตที่ “เป็นตำนานส่วนตัวของตัวเอง” ดังที่ “หนุ่ม หนังสือเดินทาง” กล่าวเอาไว้ในหนังสือ “A great little place called Independent Bookshop”

ประโยคดังกล่าวนี้ อาจจะฟังดูเชย หรือแม้กระทั่งชวนให้คิดถึงความอหังการของผู้พูด แต่ในความหมายของ “หนุ่ม หนังสือเดินทาง” มันไม่ใช่การสร้างความยิ่งใหญ่เพื่ออวดเบ่งทับถมใส่ใครๆ มันหมายถึงความภูมิใจในชีวิต ที่เมื่อย้อนมองกลับไป จะไม่มีวันเสียใจว่าทำไมเราถึงไม่ทำบางสิ่งบางอย่างที่เป็นความฝันของเรา

สำหรับผม สิ่งที่น่าสนใจอันดับแรก คือเราจะจัดว่าหนังสือ “A great little place called Independent Bookshop” ของ “หนุ่ม หนังสือเดินทาง” เป็นหนังสือประเภทใด? ลองจินตนาการก็ได้ว่า หากเราเดินเข้าไปในร้านหนังสือสักร้านหนึ่ง เราควรจะเจอหนังสือเล่มนี้ที่ชั้นไหน ประเภทอะไร

การจัดประเภทหนังสือสำคัญอย่างไร? นี่อาจเป็นปัญหาของพวกนักวิจารณ์ทั้งหลายที่ต้องจำแนกแยกแยะก่อนว่า หนังสือที่อยู่ตรงหน้า หรืออยู่ในมือของเรานั้นเป็นหนังสือแบบไหน เพื่อจะได้สะดวกต่อการทำความเข้าใจ เพราะหนังสือแต่ละประเภทนั้นมีวิธีการอ่านที่แตกต่างกัน แม้แต่หนังสือประเภทเดียวกัน เช่น นวนิยาย เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ ความเรียง หากมีจุดประสงค์แตกต่างกัน มันก็ย่อมมีวิธีการเข้าถึงที่ไม่เหมือนกัน และวิธีการประเมินค่าก็ต้องแตกต่างกันด้วย

อย่างไรก็ตาม ผมอยากจะโยนคำถามนี้ทิ้งไปเสียก่อน เพราะในวันนี้ผมคงไม่ได้มาประเมินค่าหรือตัดสินเอาความใดๆ กับหนังสือ “A great little place called Independent Bookshop” เล่มนี้ ผมเพียงแต่คิดว่าหนังสือเล่มนี้มีความน่าสนใจในตัวมันเองอยู่หลายประการ และที่สำคัญ ร้านหนังสือที่ถูกกล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้ หรือ “ร้านหนังสือเดินทาง” คือส่วนหนึ่งของชีวิตผมในหลายปีที่ผ่านมา

เมื่อทราบว่า “พี่หนุ่ม” ออกหนังสือเล่มใหม่ ผมก็ตั้งตารอมาตลอดว่าจะออกมาในรูปแบบไหน และ “พี่หนุ่ม” จะเล่าเรื่องเกี่ยวกับร้านของเขาอย่างไร

ถ้าพิจารณาจากคำโปรยปกหน้า “แก่นความคิดจากการทำร้านหนังสือที่ช่วยแก้อาการมีความฝันแต่ไม่กล้าลงมือทำ” เราอาจจะประเมินหรือตัดสินไปแล้วก็ได้ว่า นี่อาจเป็นหนังสือประเภทไลฟ์โค้ช หนังสือแนะนำการทำธุรกิจ หรือหนังสือฮาวทู ที่มักจะขายดิบขายดีอยู่ในร้านหนังสือใหญ่ๆ ตามห้างสรรพสินค้า

แต่เมื่อเปิดดูแล้ว มันกลับไม่เป็นอะไรแบบนั้นเลย หนังสือเล่มนี้ไม่ได้สอนการทำธุรกิจ วางแผนธุรกิจ การสร้างชีวิตที่ดี หรือการไล่ตามความฝันแต่อย่างใด เพราะมันคือการเล่าประสบการณ์ของการทำธุรกิจร้านหนังสืออิสระ ซึ่งเป็นธุรกิจขนาดเล็ก และเอาเข้าจริงแล้ว คนทั่วไปเองก็ไม่ได้ตระหนักว่าร้านหนังสืออิสระคืออะไร แตกต่างอย่างไรจากร้านหนังสือที่เราเคยเห็น

สิ่งที่น่าสนใจประการต่อมาคือเนื้อหา เพราะเนื้อหาข้างในนั้นเขียนด้วยสองภาษา คือภาษาไทยและภาษาอังกฤษ อีกทั้งรูปประกอบและรูปเล่มเองก็มีความสวยงามและประณีตมากๆ

ผมคิดว่าในแง่นี้ สำนักพิมพ์จัดทำรูปเล่มได้สอดคล้องกับตัวตนและเนื้อหาข้างในได้อย่างชัดเจน  และถ้าจะนับว่า ภาพคือสารอย่างหนึ่งนอกจากการสื่อผ่านตัวหนังสือ ผมก็คิดว่าภาพในหนังสือเล่มนี้ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ แม้มันจะเป็นภาพที่ไม่ได้มีเทคนิคในการถ่ายอลังการและซับซ้อน เป็นภาพพื้นๆ  ธรรมดาสามัญทั่วไป แต่กลับนำเสนอคาแรกเตอร์ของผู้เขียนได้เป็นอย่างดี

เราจะเห็นว่าทั้งภาพที่เป็นร้านหนังสือเดินทาง บรรยากาศต่างๆ ภายในร้าน หรือแม้กระทั่งรูปของ “พี่หนุ่ม” ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการเซ็ตเพื่อถ่าย สะท้อนให้เห็นความแตกต่างของร้านหนังสือเดินทางกับร้านหนังสือใหญ่ในห้างสรรพสินค้าได้เป็นอย่างดี เพราะมันแสดงให้เห็นถึงร้านที่เจ้าของงุ่นง่านอยู่กับการจัดหนังสือ (ซึ่งถ้าเคยไปก็จะเห็นภาพเช่นนี้จริงๆ) ความเงียบสงบที่เหมาะสำหรับผู้ต้องการหาความสงบในจิตใจ อีกทั้งยังมีบรรยากาศของร้านหนังสือที่ผู้คนต่างมารวมตัวกัน พูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับหนังสือที่พวกเขาชอบและสนใจ

ภาพทั้งหมดในหนังสือ ทำให้ “ร้านหนังสือเดินทาง” ​เป็นมากกว่าร้านหนังสือ แต่เป็นเสมือนชุมชนประเภทหนึ่งที่รวบรวมเอาความแตกต่างหลากหลายเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน

ประเด็นสำคัญของหนังสือ “A great little place called Independent Bookshop” ไม่ใช่การแนะนำการทำธุรกิจร้านหนังสืออิสระ แต่เป็นบอกเล่าเรื่องราวของ ‘ร้านหนังสืออิสระร้านหนึ่ง’ ในประเทศไทย ในฐานะที่มันเป็นความฝันของใครสักคน และเป็นธุรกิจที่สามารถหล่อเลี้ยงตัวเองได้

 

สำหรับผม มันคือ “ประวัติศาสตร์ของร้านหนังสือเดินทาง” ในด้านของการต่อสู้เพื่อทำให้ธุรกิจร้านหนังสืออิสระอยู่รอดและการประคองให้ความฝันสามารถหล่อเลี้ยงชีวิต

 

เดิมทีเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ร้านหนังสือเดินทางเคยตั้งอยู่บนถนนพระอาทิตย์ตรงข้ามป้อมพระสุเมรุ ในช่วงนั้น ผมยังไม่เคยสัมผัสและรู้จักกับโลกของหนังสือใดๆ ทั้งสิ้น แค่เห็นว่าร้านสวยและน่าสนใจ ก็เลยเข้าไปที่ร้าน

ผมไม่รู้ว่าการปฏิบัติตัวในร้านแบบนี้ต้องทำอย่างไร จึงแก้เก้อด้วยการสั่งเครื่องดื่มราคาถูกที่สุด นั่งปั้นจิ้มปั้นเจ๋อในร้านอยู่พักใหญ่ๆ เจ้าของร้านค่อยเดินมาบอกกับผมว่า “เลือกหนังสือหยิบมาดูก่อนได้ครับ ตามสบายเลย” จากนั้น ผมจึงไปหยิบนวนิยายเรื่องหนึ่งมา จำไม่ได้ว่าเป็นเรื่องอะไร แต่ไม่หนามาก

ผมนั่งอ่านจนจบ และจ่ายค่าเครื่องดื่ม ก่อนเดินออกมาอย่างงุนงงว่า “แบบนี้ก็ได้เหรอ ร้านหนังสือเป็นแบบนี้ได้ด้วยเหรอ” หลังจากนั้นผมแวะเวียนไปบ้าง แต่ก็ไม่บ่อยนัก

ต่อมา ชีวิตของผมไปโลดโผนอยู่อีกทางหนึ่งหลายสิบปี จนรู้สึกว่าอยากค้นหาความสงบในจิตใจบ้าง และก็พบว่าร้านหนังสือเดินทางย้ายมาตั้งอยู่บริเวณถนนพระสุเมรุใกล้แยกผ่านฟ้านี้เอง ผมจึงแวะเวียนมาที่นี่บ่อยครั้ง

หลังจากนั้น ผมก็ทึกทักเอา “ร้านหนังสือเดินทาง” เป็นที่พึ่งทางใจในยามที่ต้องการพลังงานและความสันติสุขเพื่อใช้ต่อลมหายใจในการดำรงชีวิตประจำวันที่ออกจะวุ่นวายและไร้ระเบียบอยู่ไม่น้อย

ดังนั้น สำหรับผมแล้ว “ร้านหนังสือเดินทาง” เป็นมากกว่าร้านหนังสืออื่นใดที่ผมเคยสัมผัสมา ความสัมพันธ์ของผมกับร้านหนังสือเดินทางนั้นไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน แต่ผมคิดว่าเราทั้งคู่ต่างก็ได้แลกเปลี่ยนและเห็นมุมมองหลากหลายด้านเกี่ยวกับสถานะของแวดวงหนังสือ ร้านหนังสือ โดยเฉพาะร้านหนังสืออิสระมาโดยตลอด

และเมื่อได้อ่าน หนังสือ “A great little place called Independent Bookshop” ในแง่หนึ่ง มันเหมือนกับการทำให้บทสนทนาเกี่ยวกับแวดวงหนังสือที่ผมเรียนรู้จาก “พี่หนุ่ม” มานานหลายปีนั้นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นและเป็นเสมือนความพยายามแลกเปลี่ยนกับผู้อ่านในประเด็นดังกล่าวอีกด้วย

ถ้าย้อนกลับไปดูคำถามที่ต้นบทความว่า เราเข้าร้านหนังสือครั้งสุดท้ายกันเมื่อไรในยุคที่สามารถสั่งหนังสือออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้พฤติกรรมการอ่านหนังสือเล่มของคนยังเปลี่ยนไปนิยมอ่าน E-book กันมากขึ้น มันนำมาสู่คำถามที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งว่า สถานะของร้านหนังสือ โดยเฉพาะร้านหนังสืออิสระในสังคมไทยนั้นเป็นอย่างไร จำเป็นต้องมีอยู่หรือไม่

ผมคิดว่าในหนังสือเล่มนี้ได้ให้คำตอบที่ค่อนข้างถ่อมเนื้อถ่อมตัวอยู่พอสมควร มีประโยคหนึ่งเกี่ยวการดำรงอยู่ของร้านหนังสือในปัจจุบันที่ผมชอบมากๆ คือ “มันเหมือนตอนที่เราเริ่มใช้ลิฟต์ พอลิฟต์เริ่มเป็นที่นิยมก็มีคนกังวลว่าคงไม่มีใครใช้บันได แต่สุดท้ายเราก็ใช้มันทั้งสองอย่าง” (หน้า 116)

ฉะนั้น เราไม่จำเป็นต้อง romanticized กับทุกๆ อย่าง หรือโหยหาอดีตกับทุกๆ เรื่องก็ได้ เพราะในบางครั้งเราไม่จำเป็นต้องทิ้ง หรือเลือกเพียงแค่อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น เรายังสามารถสั่งหนังสือออนไลน์และเดินเข้าร้านหนังสือได้พร้อมๆ กัน

ความถ่อมตัวของหนังสือเล่มนี้สะท้อนให้เห็นอยู่ตลอด เช่นในตอนที่เล่าว่า มีผู้บริหารร้านหนังสือขนาดใหญ่ที่มีสาขาอยู่ตามห้างสรรพสินค้าหลายแห่งไม่รู้จะหาหนังสือประเภทใดเข้าร้านดี จึงไปปรึกษาบริษัทสายส่ง และบริษัทสายส่งนั้นก็แนะนำให้มาคุยกับ “ร้านหนังสือเดินทาง” อีกทีหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนได้กล่าวว่า “ร้านหนังสือเดินทางนั้นไม่อยู่ในฐานะที่จะแนะนำอะไรได้เลย ขนาดก็เล็กนิดเดียว บุคลากรก็มีแค่ 2 คน ไม่คู่ควรไปชี้แนะใดๆ ทั้งสิ้น จึงได้แต่ตอบไปว่า ‘ก็ทำไปตามประสาร้านเล็กแหละครับ’ ”  (หน้า 132)

เสน่ห์อย่างหนึ่งที่มีทั้งในหนังสือเล่มนี้และร้านหนังสือเดินทางก็คือความถ่อมตัวนี้เอง สำหรับผมแล้ว มันคือสิ่งที่ดึงดูดผู้คนทั้งหลายย้อนกลับมาที่ร้านหนังสือเดินทางเป็นครั้งที่สอง และอาจจะมีอีกหลายครั้งด้วย

อีกประเด็นหนึ่งซึ่งผมคิดว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ร้านหนังสือร้านนี้กลายเป็นที่พักใจและแหล่งของความสงบสุข คือการทำให้ลูกค้าทุกคนรู้สึกได้รับการเอาใจใส่เป็นพิเศษ หรือที่ “พี่หนุ่ม” เรียกว่าเป็น “หุ้นส่วนทางความรู้สึก”

การเป็นหุ้นส่วนทางความรู้สึกนั้น คือการสร้างพันธะผูกพันระหว่างชุมชนนักอ่านกับร้านหนังสือเอาไว้ให้เหนียวแน่น ในบางครั้งนักอ่านลูกค้า ‘ขาประจำ’ มาที่ร้านก็อาจไม่ต้องซื้อหนังสือทุกครั้งไป บางทีอาจเป็นกาแฟสักแก้วหรือขนมสักอย่างหนึ่ง รวมกับบทสนทนากับเจ้าของร้านที่มักไต่ถามด้วยความจริงใจเสมอว่าช่วงนี้อ่านอะไร สนใจเรื่องอะไรอยู่

สำหรับผมแล้ว “ร้านหนังสือเดินทาง” มีบรรยากาศบางอย่างที่ทำให้เราต้องแวะเวียนกลับไปซ้ำๆ โดยที่เราไม่ต้องกังวลว่าจะต้องซื้อหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งออกมาหรือไม่ ในทางตรงกันข้าม การซื้อหนังสือติดไม้ติดมือออกมากลับกลายเป็นผลพลอยได้ของการไปร้านหนังสือด้วยซ้ำ สิ่งเหล่านี้ผมเรียกว่า ‘ประสบการณ์’ ในยุคที่โลกออนไลน์ให้ความสะดวกสบายกับทุกคน ก็ยังมีโลกแอนะล็อกที่สามารถให้ประสบการณ์ที่โลกออนไลน์ไม่อาจตอบสนองได้อย่างครบถ้วน

อย่างไรก็ตาม ผมไม่คิดว่ามันเป็นการตัดสินว่าอะไรดีกว่าอะไร เพราะทั้งร้านหนังสือออนไลน์และร้านหนังสือที่ให้เข้าไปหยิบจับเองได้ต่างก็มีหน้าที่ของตัวเอง เหมือนกับที่เรามีทั้งลิฟต์ บันไดเลื่อนและบันไดธรรมดา เราใช้มันในสถานการณ์ที่แตกต่างกันเสมอ

‘ประสบการณ์’ ของการเข้าร้านหนังสือกลายเป็นโภคภัณฑ์อย่างหนึ่งที่น่าสนใจมาก และในบางครั้งมันอาจมีมูลค่าสูงกว่าหนังสือในร้านเสียอีก ผมคิดว่านี่คือแนวทางในการทำร้านหนังสือของ “พี่หนุ่ม” ทำให้การเข้าร้านหนังสือกลายเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำในทุกๆ ครั้ง เขากล่าวว่า “ทำอย่างไรไม่ให้บรรยากาศร้านไม่ข่มคนอ่าน ในขณะเดียวกันคนอ่านก็ไม่รู้สึกว่าร้านมีความเป็นส่วนตัวจนไม่กล้าเข้าเพราะเกรงใจ เหล่านี้เกี่ยวข้องกับเพลงที่เปิด วิธีจัดวางหนังสือหลายๆ แบบ การมีที่ให้นั่ง … อย่างไรก็ตาม บรรยากาศดังกล่าวควรจะมาจากสิ่งที่เราเชื่อและเป็นเราจริงๆ เพราะเมื่อออกมาจากใจจริงนอกจากคนอ่านจะสัมผัสได้ถึงความใส่ใจ มันยังช่วยขับเน้นคอนเสปต์ของร้านให้ชัดเจนยิ่งขึ้น นี่ยังไม่นับว่าการเสแสร้งฝืนทำนั้นไม่น่าจะอยู่ได้นาน” (หน้า 78-188)

นอกจากนี้ ในฐานะที่เป็นร้านหนังสือ การคัดเลือกหนังสือเข้าร้านจะต้องมีความละเมียดและพิถีพิถันซึ่งจะต้องอยู่บนคอนเซปต์ของร้านอย่างชัดเจน นั่นหมายความว่า เจ้าของร้านต้องรู้ว่าหนังสือเล่มไหนเหมาะกับร้าน (ที่ว่าเหมาะนั้นหมายถึงขายได้)

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ “ร้านหนังสือเดินทาง” ​มักจะมีหนังสือที่ผมไม่สามารถหาได้ในร้านหนังสือทั่วๆ ไปตามห้างสรรพสินค้า เช่น กวีนิพนธ์ไทยบางเล่มที่ไม่ได้วางบนร้านหนังสือใหญ่ๆ หนังสือวิชาการบางเล่มที่อาจต้องรอถึงงานหนังสือเพื่อที่จะได้ซื้อ หรือผลงานของนักเขียนหน้าใหม่ที่พิมพ์กับสำนักพิมพ์เล็กๆ ซึ่งพิมพ์ไม่กี่เล่มต่อปก หรือแม้กระทั่งวรรณกรรมต่างประเทศทั้งมือหนึ่งมือสองที่มีราคาถูกกว่าการไปซื้อที่ร้านใหญ่ในห้างสรรพสินค้า

ในบางครั้งที่ผมได้รับมอบหมายให้อ่านวรรณกรรมต่างประเทศ ผมก็มักจะไปที่ร้านหนังสือเดินทางก่อนด้วยความมั่นใจว่ามีสิ่งที่ผมต้องการแน่ๆ และได้ในราคาถูกกว่าเกือบครึ่งอีกด้วย และสิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือผมไม่เคยผิดหวังเลยสักครั้งเดียว

ลูกค้าของร้านมีชาวต่างชาติมากกว่าชาวไทย ผมเคยอยู่ในเหตุการณ์ที่มีนักอ่านจากคนละซีกโลกแวะเวียนมาที่ร้าน ซึ่งเขามาทุกปี ปีละหลายๆ วัน และลูกค้าของร้านหนังสือเดินทางมีลักษณะเช่นนี้อยู่มาก ผมจึงไม่แปลกใจว่าทำไมหนังสือ “A great little place called Independent Bookshop” ต้องทำเป็นสองภาษาคือภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

ในแง่หนึ่ง มันคือการสร้างชุมชนนักอ่านข้ามชาติข้ามภาษา สร้างความผูกพันกับร้าน นอกจากลูกค้าชาวต่างชาติจะแวะเวียนมาทุกปีแล้ว พวกเขายังส่งโปสการ์ดมาที่ร้านอยู่เป็นประจำ ทุกๆ ครั้งเวลาผมอยู่ที่ร้านและมีความกังวลใจ ผมมักจะไปยืนอ่านโปสการ์ดเหล่านั้น มันทำให้ร้านหนังสือมี ‘เรื่องเล่า’ ที่น่าสนใจเอาไว้บริการลูกค้านอกเหนือจากบรรดาหนังสือทั้งหลายที่อยู่ตามชั้นต่างๆ

ทั้งหมดนี้ คือ วิธีการทำร้านหนังสือและ ‘ศรัทธา’ ของ “พี่หนุ่ม” จะว่าเป็นการเดิมพันชีวิตก็ไม่ใช่ มันคือความสุขที่หล่อเลี้ยงชีวิตทั้งร่างกายและจิตใจ หนังสือ “A great little place called Independent Bookshop” ได้ชี้ให้เราเห็นว่า “ร้านหนังสือเดินทาง” คือชีวิตและลมหายใจของพี่หนุ่ม และเป็นชีวิตที่จริงจังที่มอบความจริงใจให้กับผู้คนที่แวะเวียนมาที่ร้าน

ศรัทธาของพี่หนุ่มกินระยะเวลายาวนานหลายสิบปี และผมเชื่อว่ามันจะยังคงแข็งแรงและเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม หากไม่มีแรงสนับสนุนจากคนใกล้ตัว อย่างพี่หนุ่มเขียนเล่าเอาไว้ว่า “..จะเกิดอะไรขึ้น หากแต่ละวันคนที่เรารักคอยตัดพ้อทั้งด้วยพฤติกรรมและวาจา ด้วยไม่เชื่อว่าร้านหนังสือนั้นจะอยู่ได้ ตรงกันข้ามหากเขาเหล่านั้นส่งเสริมให้เราพิสูจน์ตัวเอง ยิ่งถ้ามีฝันร่วมกันด้วยจะดีแค่ไหน…” (หน้า 168) แม้ผมจะเขียนไว้ว่า “ร้านหนังสือเดินทาง” คือชีวิตและลมหายใจของพี่หนุ่ม แต่ภาพติดตาที่ผมและนักอ่านหลายคนซึ่งแวะไปเยี่ยมเยียนร้านแห่งนี้ ก็คือภาพของ “พี่หนุ่ม” และ “พี่โย” เมื่อพี่หนุ่มจัดหนังสือในร้าน พี่โยจะทำกาแฟ เสิร์ฟขนมและพูดคุยกับลูกค้าอยู่เป็นประจำ ดังนั้นพี่หนุ่มและพี่โยคือส่วนเติมเต็มซึ่งกันและกัน และทำให้ “ร้านหนังสือเดินทาง” กลายเป็นสถานที่ที่พิเศษสำหรับใครหลายคน

ในห้วงเวลาแห่งการกักกันตัวเองและการรักษาระยะห่างทางสังคม ร้านหนังสือดูจะเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยนัก แต่ดูเหมือนหนังสือเล่มนี้อาจเป็นสิ่งทดแทนการเข้าร้านหนังสือได้บ้าง  เรื่องราวของร้านหนังสือที่อบอุ่นร้านหนึ่งมอบประสบการณ์ที่ดี และยังมอบ “หุ้นส่วนทางความรู้สึก” ให้แก่ผู้อ่านทุกท่านโดยไม่มีค่าใช้จ่าย บางทีเราอาจต้องการประสบการณ์อะไรแบบนี้อยู่ไม่น้อยเพื่อความชุ่มชื่นของหัวใจ และเป็นความสำเริงสำราญอารมณ์อย่างท่ามกลางความโศกาอาดูรทั้งมวลที่อยู่ในประเทศของเรา

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save