fbpx
ยุทธศาสตร์ BRI กับผลกระทบการค้าไทย-จีน ในยุคสีจิ้นผิง

ยุทธศาสตร์ BRI กับผลกระทบการค้าไทย-จีน ในยุคสีจิ้นผิง

อักษรศรี พานิชสาส์น เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ‘Belt and Road Initiative : BRI’ กลายเป็นยุทธศาสตร์แห่งศตวรรษในยุคสีจิ้นผิงที่หวังจะให้จีนผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลกอย่างยิ่งใหญ่ในมิติต่างๆ โดยเฉพาะด้านการค้า

ในขณะนี้ การค้าระหว่างจีนกับประเทศที่เข้าร่วม BRI ขยายตัวและมีสัดส่วนสูงขึ้น จีนกลายเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับหนึ่งของ 25 ประเทศที่เข้าร่วม  BRI และจีนยังได้ลงนามในความตกลงการค้าเสรี FTA กับหลายประเทศที่เข้าร่วม BRI รวมทั้งประเทศต่างๆ ในแนวเส้นทาง BRI ยังได้หันมาค้าขายกันมากขึ้น โดยมีมูลค่ารวมมากกว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากคิดเฉพาะการค้าของจีนกับประเทศ BRI มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 28.9 ของการค้ารวมของจีน

ในแง่ผลกระทบของ BRI ต่อการค้าอาเซียน พบว่าในรอบ 5 ปีหลังจากที่จีนใช้ยุทธศาสตร์ BRI การค้าเวียดนามกับจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นมากจนทำให้เวียดนามก้าวขึ้นมาเป็นประเทศอาเซียนที่ค้าขายกับจีนมากที่สุด และยังเป็นคู่ค้าอันดับ 7 ของจีนในระดับโลกด้วย (ดูรายละเอียดในบทความ ไหนว่าไม่รักกัน : ความสัมพันธ์เศรษฐกิจจีน-เวียดนาม)

คำถามที่ตามมาคือ แล้วในยุค BRI ภายใต้การนำของสีจิ้นผิง การค้าไทย-จีนขยายตัวมากขึ้นหรือไม่ อย่างไร  บทความนี้จะมาตอบคำถามเหล่านั้น โดยมีข้อสรุป 5 ประเด็นหลัก และข้อเสนอแนะในตอนท้าย ดังนี้

ประการแรก ความสัมพันธ์ทางการค้าไทย-จีนในยุค BRI ไม่ได้ขยายตัวมากนัก หลังจากที่จีนมีการผลักดันยุทธศาสตร์ BRI ในปี 2013 หากพิจารณาเปรียบเทียบข้อมูลการค้าจีน-ไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ระหว่างข้อมูลการค้าในปี 2012 ก่อนที่จีนจะประกาศยุทธศาสตร์ BRI กับข้อมูลการค้าปี 2017 จะพบว่า ในรอบ 5 ปีในยุค BRI มูลค่าการค้าไทยกับจีนเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 14.89 จากที่มีมูลค่าการค้า 69,747 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2012 ขยายตัวเพิ่มเป็น 80,138 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2017[1]  (ขณะที่ในรอบ 5 ปีหลังจากที่จีนใช้ยุทธศาสตร์ BRI การค้าเวียดนามกับจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 141.85)

นอกจากนี้ แม้ว่ามูลค่าการค้าไทย-จีนจะขยายตัวบ้าง แต่ในแง่อันดับการค้า ไทยได้ร่วงหล่นจากการเป็นคู่ค้าอันดับ 10 ของจีนในปี 2012 มาเป็นอันดับ 12 ในปี 2017 (เป็นรองทั้งเวียดนาม และมาเลเซีย)

 

ตารางเปรียบเทียบไทยกับประเทศคู่ค้าสำคัญของจีน ปี 2012 และปี 2017

ที่มา : รวบรวมจาก World Integrated Trade Solution (WITS), World Bank

                                                                                              

ประการที่สอง ในยุค BRI ไทยยังไม่ใช่คู่ค้าสำคัญของจีน  ในขณะที่จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย หากแต่ไทยเป็นเพียงคู่ค้าอันดับ 12 ของจีน และเมื่อเทียบอันดับด้วยกันเองในกลุ่มอาเซียน ไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของจีน (เป็นรองทั้งเวียดนาม และมาเลเซีย) และมูลค่าการค้าไทย-จีนไม่เคยทะลุหลัก 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากตัวเลขปี 2017 ไทยมีการค้าขายกับจีนมูลค่า 80,138 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ


ประการที่สาม
การค้าไทยกับมณฑลจีนยังกระจุกตัวอยู่ที่มณฑลหลัก คือ กวางตุ้ง  จากข้อมูลปี 2018 การค้าระหว่างไทยกับกวางตุ้ง  คิดเป็น 1 ใน 4 ของการค้ากับจีนทั้งหมด (ประมาณ 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เนื่องจากกวางตุ้งเป็นประตูการค้าที่สำคัญของจีน และไทยกับกวางตุ้งมีประวัติการติดต่อค้าขายกันมายาวนาน ชาวจีนโพ้นทะเลในไทยส่วนใหญ่ก็มาจากมณฑลกวางตุ้ง เช่น ชาวจีนแต้จิ๋วและชาวจีนแคะในไทย จึงมีบทบาทสำคัญในด้านการค้าขายระหว่างไทย-จีนมานาน ในขณะนี้ไทยและกวางตุ้งมีความร่วมมือในลักษณะ ‘บ้านพี่เมืองน้อง” กับ 3 คู่จังหวัด’

ประการที่สี่ การค้าชายแดนไทย-จีนตอนใต้ยังมีมูลค่าต่ำ  แม้ว่าไทยจะสามารถขนส่งสินค้าผ่านด่านชายแดนไปจีนโดยผ่านประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งจากด่านในภาคเหนือของไทยผ่านลาวหรือเมียนมา และด่านในภาคอีสานของไทยผ่านลาวและเวียดนาม อย่างไรก็ดี การค้าผ่านแดนระหว่างไทยกับจีนตอนใต้ยังไม่ได้เป็นช่องทางการค้าที่มีมูลค่ามากนัก คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 3.98 ของการค้ารวมกับจีน

สำหรับด่านการค้าที่ส่งออกไปจีนมากที่สุด ได้แก่ ด่านศุลกากรมุกดาหาร คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 53.95 ของการส่งออกผ่านด่านชายแดนไปจีนทั้งหมด โดยใช้เส้นทางขนส่งสินค้าทางบกจากด่านมุกดาหาร ข้ามไปตามเส้นทาง R9 ในแขวงสะหวันนะเขตของลาว แล้วเชื่อมต่อเข้าด่านลาวบาวในเวียดนาม เพื่อขนส่งต่อไปยังด่านผิงเสียงในกวางสีของจีนต่อไป

ส่วนด่านการค้าที่ใช้ส่งออกไปจีนรองลงมา ได้แก่ ด่านศุลกากรเชียงของ จังหวัดเชียงราย โดยใช้เส้นทางขนส่งทางถนนผ่านสะพานข้ามโขงแห่งที่ 4 ไปยังเมืองห้วยทรายของลาวตามเส้นทาง R3A ไปจนถึงชายแดนจีนยูนนาน โดยด่านนี้มีสัดส่วนร้อยละ 32.17 ของการส่งออกผ่านแดนไปจีนตอนใต้

อีกด่านชายแดนที่สำคัญ คือ ด่านศุลกากรนครพนม จะใช้เส้นทางขนส่งทางถนนข้ามสะพานแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 ผ่านเส้นทาง R12 ในแขวงคำม่วนของลาว แล้วเชื่อมต่อเข้าด่านจาลอในเวียดนาม เพื่อขนส่งต่อไปยังด่านผิงเสียงในกวางสีของจีนต่อไป โดยด่านนี้มีสัดส่วนร้อยละ 5.62 ของการส่งออกผ่านแดนไปจีนตอนใต้

 

มูลค่าการส่งออกผ่านแดนไทย–จีนตอนใต้ (รายด่าน) ปี 2017-2018 หน่วย : ล้านบาท

ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมการค้าต่างประเทศ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

 

นอกจากนี้ ด่านศุลกากรมุกดาหาร ยังเป็นด่านการค้านำเข้าสำคัญของการค้ากับจีนตอนใต้ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 81.01 ของการนำเข้าผ่านด่านชายแดนทั้งหมด รองลงมาคือด่านศุลกากรเชียงของ และด่านศุลกากรนครพนม โดยมีสัดส่วนร้อยละ 8.45 และ 9.21 ตามลำดับ

 

มูลค่าการนำเข้าผ่านแดนไทย–จีนตอนใต้ (รายด่าน) ปี 2017-2018 หน่วย : ล้านบาท 

ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมการค้าต่างประเทศ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

 

ประการสุดท้าย ด้านโครงสร้างการค้ากับจีน พบว่าในยุค BRI แม้ว่าจีนจะเป็นตลาดหลักสำคัญที่สุดของไทย แต่สินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงแค่กลุ่มวัตถุดิบ หรือกึ่งวัตถุดิบที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ในขณะนี้สินค้าส่งออกอันดับ 1 จากไทยไปจีนยังคงเป็นสินค้ากึ่งวัตถุดิบ คือ สินค้าประเภทเม็ดพลาสติก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.26 (มีมูลค่ากว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) รองลงมาได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง และเคมีภัณฑ์ โดยมีสัดส่วนร้อยละ 9.37 และ 9.06 ตามลำดับ

 

ตารางแสดงสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปจีน ปี 2017-2018

ที่มา : http://tradereport.moc.go.th/Report/Default.aspx?Report=MenucomTopNCountry&Option=| 1&Lang=Th&ImExType=1

 

ในขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าทุนและเครื่องมือเครื่องจักรมูลค่าสูงจากจีน ซึ่งสินค้านำเข้าจากจีนมากที่สุด ได้แก่ สินค้าประเภทเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.93 (มีมูลค่ากว่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมา) ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน โดยมีสัดส่วนร้อยละ 9.87 และ 8.69 ตามลำดับ ด้วยโครงสร้างการค้าเช่นนี้ จึงทำให้ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับจีนมาโดยตลอด

 

ตารางแสดงสินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีน ปี 2017-2018

ที่มา : http://tradereport.moc.go.th/Report/Default.aspx?Report=MenucomTopNCountry&Option= 2&Lang=Th&ImExType=0

 

โดยสรุป ภายใต้ยุทธศาสตร์ BRI แม้ว่าจีนกลายมาเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย และมีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้หลักด้านการส่งออกให้ไทย  แต่โครงสร้างการส่งออกสินค้าไทยไปจีนส่วนใหญ่ ยังเป็นสินค้าวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบที่มูลค่าเพิ่มต่ำ และจีนไม่ได้นำเข้าสินค้าเหล่านี้จากไทยไปเพื่อการบริโภค แต่กลับนำไปเป็นชิ้นส่วนหรือเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าส่งออกไปต่างประเทศ ไทยจึงเป็นเพียงแค่โซ่ข้อหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของจีน และเมื่อได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ยิ่งมีโอกาสที่จีนจะซื้อสินค้าในกลุ่มวัตถุดิบ/กึ่งวัตถุดิบเหล่านี้จากไทยลดลง

ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทยจะต้องให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างสินค้าส่งออกไปจีนอย่างจริงจัง โดยเน้นการส่งออกสินค้าสำเร็จรูปเพื่อการอุปโภคบริโภคไปป้อนผู้บริโภคจีนให้มากขึ้น เช่น อัญมณี เครื่องประดับตกแต่งบ้าน เป็นต้น  โดยเฉพาะในขณะนี้ ชนชั้นกลางจีนมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีกลุ่มผู้บริโภคจีนที่นิยมสั่งสินค้าออนไลน์ ทำให้จีนกลายเป็นตลาดออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีผู้บริโภคจีนกว่า 650 ล้านคนที่สั่งสินค้าออนไลน์ผ่านมือถือ ประเด็นเหล่านี้สะท้อนโอกาสในการหันมาปรับโครงสร้างการส่งออกสินค้าสำเร็จรูปจากไทยไปจีนอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ดี ด้วยความซับซ้อนของตลาดจีนที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีการแข่งขันอย่างรุนแรง ทำให้การส่งออกสินค้าสำเร็จรูปเพื่อไปรุกตลาดจีนไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นต้องทำการบ้านให้หนักและมีการเตรียมความพร้อมอย่างจริงจัง ต้องเรียนรู้ข้อมูลเชิงลึกและกฎระเบียบต่างๆ ของจีนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งต้องมีความตื่นตัว คอยติดตามวิเคราะห์ตรวจสอบข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว โดยเฉพาะการติดตามสื่อสังคมออนไลน์ในจีนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเข้าใจทิศทางแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคจีนผ่านอิทธิพลของสื่อโซเชียลในจีน และศึกษาแนวโน้มของผลิตภัณฑ์คู่แข่งที่กำลังอยู่ในกระแส อีกทั้งจำเป็นต้องมีพันธมิตรหรือคู่ค้าในจีนที่เชื่อถือได้ และมีกลยุทธ์การตลาดที่มุ่งเจาะผู้บริโภคจีนในระดับเมือง/มณฑล รวมทั้งต้องเลือกช่องทางการค้าที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ที่จะส่งออกไปจีน เช่น การค้าผ่านระบบออนไลน์ หรือการค้าผ่านโมเดลเทรดในจีน เป็นต้น

 

หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ดิฉันและทีมงานกำลังศึกษาให้กับสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา หรือ ITD


[1] https://wits.worldbank.org/CountryProfile/en/Country/CHN/Year/2017/TradeFlow/EXPIMP/Partner/by-country#

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save