fbpx
ไหนว่าไม่รักกัน : ความสัมพันธ์เศรษฐกิจจีน-เวียดนาม

ไหนว่าไม่รักกัน : ความสัมพันธ์เศรษฐกิจจีน-เวียดนาม

อักษรศรี พานิชสาส์น เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ความสัมพันธ์จีน-เวียดนามที่ดูผิวเผินอาจจะมีภาพของความขัดแย้ง จากกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิและไม่ยอมอ่อนข้อต่อกัน รวมทั้งมีกระแสชาตินิยมต่อต้านจีนของชาวเวียดนามบางกลุ่ม เนื่องจากสองประเทศนี้มีประวัติศาสตร์ร่วมกันมานาน เวียดนามมีความขมขื่นในอดีตที่เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์จีนเป็นเวลาหลายพันปี และทั้งสองประเทศมีพรมแดนติดต่อกันทั้งทางบกและทางทะเล ก็ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งกัน

อย่างไรก็ดี แม้ภาพใหญ่ภายนอกดูเสมือนว่า จีนกับเวียดนามไม่รักกัน แต่ผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า ประเทศไหนในอาเซียนที่ก้าวกระโดดขึ้นเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ค้าขายกับจีนมากที่สุด

คำตอบคือ เวียดนาม

จากตัวเลขปี 2017[1]   เวียดนามมีมูลค่าการค้ากับจีนทะลุ 121,992 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากจะเป็นประเทศอาเซียนที่ค้าขายกับจีนมากที่สุด การค้าระหว่างจีน-เวียดนามที่ขยายตัวมากขึ้นยังทำให้เวียดนามกลายเป็นคู่ค้าอันดับ 7 ของจีนเมื่อเทียบกับทุกประเทศในโลกนี้ด้วย

จากตารางเปรียบเทียบข้อมูลการค้าเวียดนาม-จีนในปี 2012 กับปี 2017[2]  จะเห็นว่า มูลค่าการค้าเวียดนามกับจีนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในรอบ 5 ปี จากที่มีมูลค่าการค้าเวียดนาม-จีนเพียงแค่ 50,441 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2012 ขยายพุ่งทะลุหลัก 121,992 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2017  ดังนั้น ในรอบ 5 ปีการค้าเวียดนามกับจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 141.85

 

ตารางเปรียบเทียบประเทศคู่ค้าสำคัญของจีน ปี 2012 และปี 2017

                                                                                              

ในขณะที่ประเทศไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 12 ของจีน และมูลค่าการค้าไทย-จีนไม่เคยทะลุหลัก 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากตัวเลขปี 2017 ไทยมีการค้าขายกับจีนมูลค่า 80,138 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเทียบอันดับด้วยกันเองในกลุ่มอาเซียน ไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของจีน เป็นรองทั้งเวียดนามและมาเลเซีย

แล้วเวียดนามค้าขายสินค้าอะไรกับจีนจนทำให้ยอดการค้าระหว่างกันพุ่งขึ้นมากเช่นนี้

หากเจาะลึกวิเคราะห์รายการสินค้าที่เวียดนามค้าขายกับจีนในปี 2017[3]  จะพบว่า สินค้าส่งออกของเวียดนามไปจีนมากที่สุด ได้แก่ สินค้าประเภทสมาร์ทโฟน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 24 ของการส่งออกทั้งหมด (ด้วยมูลค่ากว่า 9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) รองลงมาคือแผงวงจรรวม และอุปกรณ์ออกอากาศ โดยมีสัดส่วนร้อยละ 15 และ 7 ตามลำดับ

เช่นเดียวกับสินค้าส่งออก พบว่า สินค้านำเข้าที่เวียดนามนำเข้าจากจีนมากที่สุดในปี 2017[4]  ได้แก่ สินค้าประเภทสมาร์ทโฟน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.2 ของการนำเข้าทั้งหมด ด้วยมูลค่ากว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือแผงวงจรรวมและผ้าถักยางไลท์ โดยมีสัดส่วนร้อยละ 5.7 และ 3.7 ตามลำดับ

 

ตารางแสดงสินค้าส่งออก/นำเข้า Top 10 ระหว่างเวียดนาม-จีน ปี 2017

ที่มา: รวบรวมจาก The Observatory of Economic Complexity, OEC

 

จะเห็นได้ว่า เวียดนามประสบความสำเร็จในการใช้การค้าที่เพิ่มขึ้นกับจีนเป็นตัวช่วยและต่อยอดให้เวียดนามก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้ผลิตสมาร์ทโฟนที่สำคัญของโลกได้อีกทางหนึ่ง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และเป้าหมายของเวียดนามที่ประกาศว่า เวียดนามจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (ไม่ใช่เป็นแค่ประเทศเกษตรกรรม) รัฐบาลเวียดนามจึงมีทิศทางชัดในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสมัยใหม่ โดยเฉพาะการเป็นฐานผลิตสมาร์ทโฟนอันดับต้นของโลก

หลังจากที่บริษัทจากเกาหลีใต้ เช่น ซัมซุง ได้ตัดสินใจเลือกเวียดนามให้เป็นฐานผลิตสมาร์ทโฟนรุ่นต่างๆ ทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องกับสมาร์ทโฟนในเวียดนามขยายตัวตามไปด้วย ในขณะนี้ บรรดาบริษัทเครือรายใหญ่อื่นๆ ของเกาหลีใต้ เช่น LG, CJ, Doosan, Hyundai และ Posco ต่างมีสายการผลิตในเวียดนาม ด้วยปัจจัยเอื้อหลายด้านทำให้ตอนนี้เกาหลีใต้กลายเป็นนักลงทุนรายใหญ่ในเวียดนาม มีบริษัทเกาหลีใต้กว่า 7,000 แห่งเข้าไปใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิตและมีการจ้างคนงานเวียดนามมากกว่า 700,000 คน

ในแง่ดุลการค้าเวียดนาม-จีน พบว่า เวียดนามเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับจีน เนื่องจากเวียดนามต้องพึ่งพาการนำเข้าจากจีนด้วยสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 35 ของการนำเข้าทั้งหมดของเวียดนาม ทำให้จีนกลายเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของเวียดนามด้วย

นอกจากนี้ การค้าชายแดนระหว่างเวียดนาม-จีนเป็นอีกช่องทางการค้าที่สำคัญระหว่างกัน เนื่องจากเวียดนามมีพรมแดนทางบกติดต่อกับสองมณฑลสำคัญของจีน ได้แก่ มณฑลยูนนานและกวางสี  จึงมีส่วนเอื้อให้การค้าชายแดนเวียดนาม-จีนขยายตัวมากขึ้นด้วย  สำหรับด่านการค้าชายแดนเวียดนาม-จีน ที่สำคัญ ได้แก่ ด่านม่องก๋าย Mong Cai (เวียดนาม) ตงซิง Dongxing (จีนกวางสี) และด่านด่งด่าง Dong Dang (เวียดนาม) ผิงเสียง Pingxing (จีนกวางสี)

 

ภาพแสดงด่านการค้าชายแดนเวียดนาม-จีน

ที่มา:  http://economists-pick-research.hktdc.com/business-news/article/Research-Articles/Guangxi-An-Update-on-Cross-border-Economic-Co-operation/rp/en/1/1X000000/1X0AABDQ.htm

 

นอกจากปริมาณการค้าที่ขยายตัวมากขึ้นแล้ว ในแง่การลงทุน เวียดนามยังได้เริ่มต้อนรับและดึงดูดการลงทุนจากจีนมากขึ้น จนทำให้ในขณะนี้ จีนได้กลายเป็นผู้ลงทุนสำคัญในเวียดนามและมีมูลค่าการลงทุนของจีนในเวียดนามเพิ่มมากขึ้นดังแสดงในรูป

 

ที่มา: https://www.bbc.com/thai/international-48339719

 

คำถามตามมาคือ ไหนว่าไม่รักกัน แล้วทำไมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจจีน-เวียดนามถึงได้พุ่งทะยานขึ้นเช่นนี้

หากวิเคราะห์ปัจจัยอะไรที่ทำให้ความสัมพันธ์สองแผ่นดินนี้เปลี่ยนไป จะพบว่า ในรอบ 5 ปีที่ความสัมพันธ์เศรษฐกิจกับจีนของเวียดนามขยายตัวอย่างน่าทึ่งนี้เป็นยุคภายใต้การนำของสีจิ้นผิง โดยประธานาธิบดีสีจิ้นผิงขึ้นมากุมบังเหียนจีนแผ่นดินใหญ่ตั้งแต่มีนาคมปี 2013

สีจิ้นผิงยังเป็น Game Changer ในหลายเรื่องเมื่อเทียบกับผู้นำจีนในรุ่นก่อนหน้า รวมทั้งเรื่องความสัมพันธ์กับเวียดนาม สีจิ้นผิงเดินเกมได้ลุ่มลึกมากและเน้นใช้ไม้อ่อนในการสมานความสัมพันธ์กับเวียดนาม

ตั้งแต่ขึ้นเป็นผู้นำจีน สีจิ้นผิงได้เดินทางไปเยือนเวียดนามด้วยตัวเองถึง 2 ครั้ง ได้แก่ ปี 2015 และ ปี 2017 เพื่อให้ฝ่ายเวียดนามมั่นใจว่า การเยือนของผู้นำจีนระดับสูงสุดอย่างสีจิ้นผิงสะท้อนความสำคัญในการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และชูภาพความสัมพันธ์ของสองประเทศเพื่อนบ้านในฐานะเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ด้วยกัน เน้นการไปเยือนเวียดนามในฐานะที่สีจิ้นผิงเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน และหันมาให้ความสำคัญกับการขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ โดยพยายามเลี่ยงไม่หยิบยกประเด็นปัญหาข้อพิพาทดินแดนในทะเลจีนใต้มาวางบนโต๊ะเจรจาให้เสียบรรยากาศ

 

ที่มา: https://mgronline.com/indochina/detail/9600000114415

 

ในแต่ละครั้งที่เยือนเวียดนาม สีจิ้นผิงจะเน้นความเป็นกันเองอย่างใกล้ชิดกับผู้นำฝ่ายเวียดนาม ยกตัวอย่างเช่นการเยือนเวียดนามในปี 2017 สีจิ้นผิงในฐานะเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้พบปะพูดคุยพร้อมทานมื้อเช้า จิบชา และเดินเล่นร่วมกับเหวียน ฝู จ็อง (Nguyễn Phú Trọng) เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม

มีรายงานจากสื่อจีน China Xinhua ว่า[5] สีจิ้นผิงได้มอบของขวัญพิเศษให้กับเหวียน ฝู จ็อง คือ หนังสือพิมพ์พีเพิลส์เดลีฉบับเก่าสุดพิเศษที่มีคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ โดยบอกว่า “นี่คือหนังสือพิมพ์ที่รายงานข่าวประธานาธิบดีโฮจิมินห์แห่งเวียดนามเยือนจีนเมื่อปี 1955 พวกเราพยายามเสาะหาหนังสือพิมพ์นี้มา มีทั้งหมด 16 ฉบับ ” ทำให้ผู้นำเวียดนาม เหวียน ฝู จ็อง มีท่าทีตกใจและยินดีมาก พร้อมพินิจดูรูปภาพและบทความที่มีอายุราว 60 กว่าปีอย่างละเอียด

สื่อจีน China Xinhua ยังรายงานอีกว่า หลังจากมอบของขวัญเรียบร้อยทั้งคู่ก็ได้จิบชาร่วมกัน โดยทางผู้นำเวียดนามนำชาและกาแฟชั้นเลิศของเวียดนามมาใช้ต้อนรับประธานาธิบดีสีจิ้นผิง และขณะที่ทั้งคู่พูดคุยแลกเปลี่ยนกันอยู่นั้น บังเอิญทั้งคู่ยกแก้วชาขึ้นมาพร้อมกันและชนแก้วกันเบาๆ จน เหวียน ฝู จ็อง กล่าวด้วยรอยยิ้มว่า “ชนแก้วนี่น่าจะเป็นวัฒนธรรมตะวันตกนะครับ” จึงเป็นตัวอย่างของบรรยากาศที่เป็นมิตรและเป็นกันเองระหว่างสองผู้นำ หลังกล่าวอำลาและสวมกอดกันและกัน สีจิ้นผิงกล่าวว่า “ผมกับเลขาธิการฯ เหวียน ฝู จ็อง ได้เดินผ่านถนนต้นมะม่วงร่วมกัน ได้ชมที่พักเก่าของประธานาธิบดีโฮจิมินห์ และย้ำถึงมิตรภาพที่ลึกซึ้งยาวนานระหว่างผู้นำจีนและเวียดนามรุ่นเก่าอย่างเหมาเจ๋อตุง โจวเอินไหล และโฮจิมินห์ได้ร่วมกันสร้างขึ้น” พร้อมกล่าวว่า “เราทั้งสองฝ่ายควรสืบทอดมิตรภาพที่มีมายาวนานนี้ให้คงอยู่สืบไป เพื่อสร้างความสุขให้กับประชาชนของทั้งสองประเทศ” ดูจะหวานชื่นและสุดแสนโรแมนติกมั้ยคะ นี่คือลีลาสีจิ้นผิง ผู้นำที่สุดแสนลุ่มลึกของจีน

 

ที่มา:  https://www.facebook.com/XinhuaNewsAgency.th/posts/1999125976970081/

 

ที่สำคัญ จีนในยุคสีจิ้นผิงยังได้จัดให้เวียดนามเป็นอีกประเทศสำคัญภายใต้แนวระเบียงคาบสมุทรอินโดจีน China-Indochina Peninsula Economic Corridor : CICPEC ซึ่งเป็น 1 ใน 6  ระเบียงเศรษฐกิจภายใต้ยุทธศาสตร์  Belt and Road Initiative : BRI

การเมืองภายในประเทศเวียดนามเองก็มีส่วนสำคัญในการสมานความสัมพันธ์เวียดนาม-จีน จากผลการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามครั้งที่ 12 ในปี 2016 ซึ่งมีการเลือกผู้นำชุดใหม่และเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินนโยบายในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยมีกลุ่มการเมืองเวียดนามที่แบ่งเป็น 2 ฝ่ายระหว่างกลุ่มอนุรักษนิยมที่มีนโยบายใกล้ชิดกับจีน นำโดยเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เหวียน ฝู จ็อง และฝ่ายปฏิรูป นำโดย เหงียน เติน สุง (Nguyen Tan Dung) ที่มีนโยบายเอนเอียงไปทางสหรัฐฯ หากแต่ผลจากการลงคะแนนปรากฏว่า กลุ่มของ เหงียน ฝู จ็อง เป็นฝ่ายชนะ ทำให้หลังจากนั้น เวียดนามมีนโยบายที่ค่อนข้างผันไปใกล้ชิดกับจีนมากยิ่งขึ้น[6] ต้นปี 2017 เลขาธิการพรรค เหงียน ฝู จ็อง แห่งเวียดนามยังได้เดินทางเยือนจีนในเชิงสัญลักษณ์เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์เวียดนาม-จีน และเอื้อให้บรรยากาศความสัมพันธ์เวียดนาม-จีน มีท่าทีเป็นมิตรและผ่อนคลายมากขึ้น และส่งผลต่อเนื่องให้เวียดนามในยุคสมานฉันท์กับจีนมีการพึ่งพิงโยงใยในด้านเศรษฐกิจกับจีนมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้  สงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีน ยังเป็นอีกปัจจัยเร่งให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างเวียดนามกับจีนขยายตัวขึ้น โดยเฉพาะด้านการลงทุน มีรายงานว่า หลังจากที่สหรัฐฯ เริ่มใช้มาตรการภาษีกับจีนเมื่อปลายปี 2018 การลงทุนจากจีนในเวียดนามก็ได้พุ่งสูงขึ้น โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2019 การลงทุนของจีนในเวียดนามมีสัดส่วนราวร้อยละ 65 ของการลงทุนทั้งหมดในปี 2018[7]  และจากข้อมูลล่าสุดของกระทรวงวางแผนและการลงทุน (Ministry of Planning and Investment)[8] จีนกลายเป็นผู้ลงทุนอันดับที่ 3 ในเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.4 ของเงินลงทุนจากต่างชาติทั้งหมดในเวียดนาม ด้วยมูลค่าการลงทุนรวม 2,290 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ผู้ลงทุนอันดับ 1 ในเวียดนาม คือ ฮ่องกง และตามมาด้วยเกาหลีใต้

 

ตารางการลงทุนจากต่างประเทศในเวียดนาม ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2019

ที่มา : Ministry of Planning and Investment, Vietnam

 

โดยสรุป จากกรณีศึกษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างเวียดนามกับจีนที่เกี่ยวพันโยงใยกันมากขึ้น แม้ว่าจะดูภายนอกเสมือนจะไม่รักกัน เพราะยังคงมีประเด็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ และยังคงมีกลุ่มเวียดนามชาตินิยมที่ต่อต้านจีน หากแต่ในขณะนี้ ทั้งสองประเทศเลือกที่จะหันหน้าเข้าหากัน หันมาคบหาพูดคุยและเชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจมากขึ้นจนกลายเป็นคู่ค้าสำคัญของกันและกัน และเวียดนามในยุคสมานฉันท์กับจีนยังได้อ้าแขนต้อนรับการลงทุนจากจีนมากขึ้น และรู้จักฉกฉวยโอกาสจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนในการดึงดูดทุนจีนให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในเวียดนาม จนทำให้จีนขยับขึ้นมาเป็นนักลงทุนต่างชาติที่สำคัญอันดับต้นในเวียดนาม

ทั้งหมดนี้ สะท้อนถึงความซับซ้อนของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ต้องศึกษาวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งและต่อเนื่อง ในสมรภูมิระหว่างประเทศไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูถาวร ผู้นำที่ชาญฉลาดย่อมตระหนักดีว่า ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต้องมาก่อนและสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดนั่นเอง

 

อ้างอิง

[1] https://wits.worldbank.org/CountryProfile/en/Country/CHN/Year/2017/TradeFlow/EXPIMP/Partner/by-country#

[2] https://wits.worldbank.org/CountryProfile/en/Country/CHN/Year/2017/TradeFlow/EXPIMP/Partner/by-country#

[3] https://atlas.media.mit.edu/en/visualize/tree_map/hs92/import/chn/vnm/show/2017/

[4] https://oec.world/en/visualize/tree_map/hs92/export/chn/vnm/show/2017/

[5] https://www.facebook.com/XinhuaNewsAgency.th/posts/1999125976970081/

[6] https://workpointnews.com/2017/12/02/%E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B8%99-%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A1-%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99-2/

[7] https://www.bbc.com/thai/international-48339719

[8] http://www.mpi.gov.vn/en/Pages/tinbai.aspx?idTin=43637&idcm=122

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save